เผยแพร่โดย Tao Mien · 5 มกราคม 2018 ·
กองทุนสัญชาติไทยที่ลงทุนในเวียดนาม
————————
หลังจากที่คุณ Vietopia โพสต์บทความ “การลงทุนในเวียดนามผ่านกองทุนรวม: ถ้าทำเองไม่ได้ก็ให้คนอื่นทำให้(สิ)” โดยเน้นกองทุนต่างชาติที่เน้นการลงทุนในเวียดนามโดยเฉพาะ”
ก็มีนักลงทุนหลายท่านอยากให้เขียนถึงกองทุนไทยที่ลงหุ้นเวียดนามโดยเฉพาะบ้าง
วันนี้คุณ Vietopia ก็จัดให้ตามคำเรียกร้องแล้วค่ะ
นี่เป็นบทความที่จัดหนัก จัดเต็ม และครอบคลุมทุกกองของไทยที่ลงทุนหุ้นเวียดนาม มีแฟนเพจมาช่วยเขียนบทความดีๆ ต้อนรับปีใหม่ให้เพจ VVI เผยแพร่แบบนี้ น่าแฮปปี้สุดๆ เลยค่ะ
————————
กองทุนที่เน้นการลงทุนในเวียดนาม ที่บริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนไทย โดย Vietopia
ปี 2017 จบไปอย่างอลังการสำหรับตลาดเวียดนามที่เป็นผู้นำจ่าฝูงของตลาด Emerging Market ที่ให้ผลตอบแทนสูงปรี๊ด (แม้ว่าจริงๆแล้วเวียดนามยังถูกจัดให้เป็น Frontier Market อยู่) โดย VN Index เติบโตไปกว่า 46.9%! (อึ้งอยู่แต่เป็นเรื่องจริงไปแล้ว!)
สำหรับท่านผู้อ่านนักลงทุนที่ต้องการมีส่วนร่วมเติบโตไปกับประเทศและเศรษฐกิจของเวียดนามแม้จะมีข้อจำกัดต่างๆ เช่น ความรู้, เงินทุนเริ่มต้นและเวลา เป็นต้น นักลงทุนสามารถทำได้โดยผ่านกองทุนประเภทต่างๆ
โดยบทความนี้จะเกี่ยวเนื่องกับบทความที่แล้ว “การลงทุนในเวียดนามผ่านกองทุนรวม: ถ้าทำเองไม่ได้ก็ให้คนอื่นทำให้(สิ)” ซึ่งผมได้กล่าวถึงกองทุนต่างชาติที่เน้นการลงทุนในเวียดนามโดยเฉพาะ (link บทความก่อน: https://goo.gl/WtLyEZ)
สำหรับบทความนี้ผมจะเน้นไปที่ กองทุนที่บริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุนชาวไทยเป็นหลักหรือสามารถซื้อขายได้ผ่านบริษัทจัดการในไทยครับ
–
1.กองทุนปิดแบบกองทุนส่วนบุคคล หรือที่เรียกว่า Private Fund: ซึ่ง ณ ปัจจุบันจะมีผู้ที่ให้บริการในรูปแบบนี้อยู่ คือ กองทุนส่วนบุคคลที่เป็นกองทุนหุ้นต่างประเทศ(เวียดนาม)ของบริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป (Phillip Securities) โดยการลงทุนในรูปแบบของ Private Fund ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง คือ
a.จำนวนเงินขั้นต่ำสำหรับการเข้าเป็นลูกค้ากองทุนปิด: ซึ่งอาจจะสูงอยู่พอประมาณจนอาจทำให้เป็นสัดส่วนที่สูงของ Portfolio การลงทุนทั้งหมดของนักลงทุน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่านักลงทุนพร้อมหรือไม่ที่จะมี exposure กับประเทศเวียดนามสำหรับเงินก้อนนั้นๆ
b.ข้อจำกัดในเงื่อนเวลาเรื่องการเพิ่มเงินลงทุน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งระยะเวลาการไถ่ถอน (หรือขาย)กองทุน: ในกรณีที่นักลงทุนมีความต้องการนำเงินลงทุนก้อนนั้นกลับมา ซึ่ง ณ ปัจจุบันโดยส่วนใหญ่จะสามารถขายได้ “ปีละครั้ง”และต้องแจ้งล่วงหน้าก่อนเป็นหลัก “เดือน”
c.ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องที่เฉพาะเจาะจงสำหรับรูปแบบการบริหารแบบกองทุนปิด: เช่น “ค่าบริหารจัดการ หรือ management fee” ซึ่งอาจสูงหรือน้อยกว่ากองทุนรวมอื่นๆทั่วไป, และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ส่วนแบ่งกำไรจากการบริหารงาน” หรือที่เรียกง่ายๆว่า Profit Sharing โดยนโยบายตรงส่วนนี้จะขึ้นอยู่กับบริษัทที่รับจัดการกองทุน โดยอาจจะมีนโยบายว่าจะคิด Profit Sharing ตั้งแต่บาทแรกหรือจะคิดก็ต่อเมื่อทำผลงานได้สูงกว่าค่าเปรียบเทียบค่าหนึ่ง หรือที่เรียกว่า hurdle rate เช่น จะคิด profit sharing เฉพาะกำไรในส่วนที่เกินกว่า 6% เป็นต้น
–
2.กองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนที่เน้นเวียดนามเป็นหลัก: โดยตอนนี้ CIMB Principal Vietnam Equity นับเป็นกองทุนแรกๆในไทยที่เน้นตลาดหุ้นเวียดนามโดยเฉพาะ และมีการบริหารจัดการแบบ active management โดยมีนักวิเคราะห์เจาะลึกหุ้นรายตัวเพื่อเลือกซื้อหุ้นเข้ามาใน portfolio การลงทุน และเร็วๆนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแอสเซท พลัส (Asset Plus) ก็จะมีการออกกองทุนที่เน้นเวียดนามเหมือนกัน อย่างไรก็ดีนักลงทุนควรที่จะพิจารณาเรื่อง
a.จำนวนเงินขั้นต่ำในการซื้อครั้งแรกและการซื้อครั้งถัดๆไป ซึ่งก็ไม่ได้สูงมากนักแต่ก็จะไม่ได้ต่ำเป็นหลักพันต้นๆเหมือนกองทุนรวมอื่นๆ
b.สภาพคล่องของกองทุนจากข้อจำกัดเรื่องวันที่สามารถซื้อ(Subscription)และขาย(Redemption)กองทุนได้ เนื่องจากตลาดเวียดนามไม่ได้มีความคล่องตัวมากนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนต่างชาติจึงเป็นการลำบากในการบริหารจัดการสำหรับผู้จัดการกองทุนหากมีการซื้อหรือขายทุกๆวัน เนื่องจากทางผู้จัดการกองทุนก็อาจจะไม่ได้ซื้อหรือขายได้ดังที่วางแผนไว้เช่นกัน แต่ข้อจำกัดนี้มองในด้านดีก็จะเป็นการที่นักลงทุนจะมีเวลาให้การลงทุน”เติบโต หรือ พัฒนา” ไปพร้อมกับการเติบโตของบริษัทเวียดนามได้
c.ข้อจำกัดของกองทุนเรื่อง FOL (Foreign Ownership Limit) เนื่องจากเป็นกองทุนต่างชาติ โดยผลที่จะตามมาคืออาจจะไม่สามารถลงทุนในหุ้นที่ต้องการได้เนื่องจาก FOL เต็มหรือไม่ก็ต้องมีการตกลงซื้อขายกันที่ราคาสูงกว่าในกระดาน หรือที่เรียกกันว่า “ซื้อของที่ราคา Premium” (ซึ่งโดยปรกติทางผู้ซื้อก็คาดหวังที่จะขายที่ราคา Premium ที่สูงกว่าในกระดานด้วยเช่นกัน) โดยสิ่งที่นักลงทุนควรจะทราบคือหุ้นที่ซื้อที่ Premium ถ้ามีการ Mark to market ก็จะทำให้แสดงผลการดำเนินการ “ติดลบ” ทันที ณ วันที่ซื้อ แต่อย่าพึ่งตกใจไปถ้าสุดท้ายบริษัทมีการเติบโตก็คาดหวังได้ว่าจะมีการเพิ่มในมูลค่าของบริษัทเช่นกันและเวลาขายก็จะขายที่ราคา Premium ด้วยเช่นกัน
–
3.กองทุนรวมที่มีนโยบายไปลงทุนในเวียดนาม “บางส่วน”ของทั้งกองทุน: โดยกองทุนประเภทนี้น่าจะเหมาะสำหรับนักลงทุนที่อาจจะยัง “ไม่มั่นใจ” หรือยังไม่อยากมี exposure ในเวียดนามทั้งหมดแต่อีกใจก็อยากจะมีส่วนเติบโตไปกับประเทศเวียดนามนี้ โดยสิ่งที่อาจจะต้องพิจารณาคือ
a.สัดส่วนการลงทุนในเวียดนาม “มาก” หรือ “น้อย” แค่ไหน ใกล้เคียงกับความต้องการของนักลงทุนหรือไม่ โดยในส่วนนี้นักลงทุนสามารถเลือกดูได้จาก นโยบาย หรือ รายงานที่ทางกองทุนเปิดเผยแก่นักลงทุนว่ามีสัดส่วนถือครองเท่าไร (Portfolio Status)
b.นโยบายภาพใหญ่ของกองทุนนี้ตอบโจทย์ของนักลงทุนหรือไม่ เช่น กองทุนอาจเลือกลงทุนในตลาดต่างประเทศแค่บางส่วน เช่น ใน ASEAN หรือใหญ่กว่านั้นที่ระดับ Asia เป็นต้น หรือเลือกที่จะลงทุนแค่บางอุตสาหกรรมเท่านั้น เป็นต้น
c.กองทุนตัวอย่างในรูปแบบนี้ (ไม่ได้เป็นการชี้นำใดๆทั้งสิ้นนะครับ) เช่น KT-CLMVT หรือ B-ASEAN เป็นต้น
–
4.กองทุนที่ลงทุนโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือ ใช้”อัลกอริทึ่ม”ที่คำนวณเป็นแนวทางเฉพาะของกองทุนนั้นๆในการเลือกหุ้นที่จะลงทุน: จริงๆแล้วการลงทุนแบบนี้จัดเป็น “กองทุนปิด” ประเภทหนึ่งเพราะต้องมีจำนวนเงินขั้นต่ำในการเข้าเป็นลูกค้า โดย ณ ปัจจุบัน ทาง Jitta มีบริการในรูปแบบที่ชื่อว่า Jitta Wealth ซึ่งจะมีนโยบายการลงทุนให้เลือกเฉพาะในไทยและในตลาดอเมริกา แต่ได้ข่าวมาว่าสำหรับตลาดเวียดนามจะพยายามทำให้เกิดในช่วงปีนี้(ปี 2018)ครับ และสิ่งที่ทางนักลงทุนควรทำความเข้าใจ เช่น
a.หลักการและที่มาที่ไปของ “อัลกอริทึ่ม” ที่ใช้ในการเลือกหุ้น
b.นโยบายการลงทุน เช่น จำนวนหุ้นใน Port ว่าจะเป็นกี่ตัวๆละเป็นสัดส่วนเท่าไร, ระยะเวลาการถือครอง และการปรับพอร์ต เป็นต้น ซึ่งถ้าอิงจากปัจจุบันการปรับพอร์ตจะมีขึ้นปีละครั้งครับ
–
5.สุดท้ายขอแถม โดยขอเน้นย้ำกองทุนประเภท Passive Fund แบบ ETF อีกรอบ: ซึ่ง ณ ปัจจุบันจะมีให้เลือกคือ E1VFVN30 และ FUESSV50 ซึ่งจะเน้นการลงทุนที่ล้อกับดัชนี VN Index 30 และ 50 ตัวตามลำดับ ซึ่งการลงทุนแบบนี้จริงๆแล้วก็เหมือนเป็นการซื้อหน่วยลงทุนรูปแบบหนึ่ง แต่ขั้นตอนจะแตกต่างอยู่หน่อยโดยต้องทำการเปิดบัญขี Offshore กับบริษัทหลักทรัพย์ในไทยที่ให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ในเวียดนาม, จากนั้นก็ทำการโอนเงิน (มีค่าธรรมเนียม) และหลังจากนั้นก็สามารถเลือกซื้อกองทุนดังกล่าวเปรียบเสมือน “หัวตัวหนึ่ง” ในกระดานได้เลย โดยข้อดีข้อหนึ่งคือเป็นเหมือนการที่เรา “กวาดซื้อ” หุ้นขนาดใหญ่จำนวน 30 หรือ 50 ตัวและโตไปกับตลาดเวียดนามใน “ภาพรวม”และมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่ากองทุนประเภทอื่น กล่าวโดยสรุป คือกองทุน ETF แบบนี้อาจแค่ยุ่งยากนิดหน่อยตอนเปิดบัญชีแต่พอเข้าที่เข้าทางแล้วก็ไม่ลำบากจนเกินไปนัก และมีเพื่อนๆนักลงทุนถามกันเข้ามาว่ามีเจ้าไหนในไทยบ้างให้บริการ จริงๆก็มีอยู่หลายเจ้ามากๆ เช่น Finansia Syrus, KT ZMICO, Maybank Kim Eng, SCBS เป็นต้น (ไม่ได้ชี้นำใดๆทั้งสิ้นโดยเรียงตามตัวอักษร ^_^) โดยปัจจัยที่อาจคำนึงถึงเวลาเลือกบริษัทหลักทรัพย์ อาจรวมถึง
a. ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง: มีตั้งแต่ค่าธรรมเนียมในการโอนเงินเข้าและออก, ค่าธรรมเนียมที่เก็บที่เวียดนาม เช่น commission, และอาจมีค่าอื่นๆที่ไม่เหมือนในไทย เช่น ค่าดูแลหุ้น หรือ custodian fee ซึ่งค่าใช้จ่ายพวกนี้แต่ละค่ายจะมากน้อยไม่เท่ากันครับ
b. พันธมิตรท้องถิ่นที่มีความร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์ในไทย: ซึ่งโดยปรกติก็จะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ใหญ่ๆของเวียดนาม โดยข้อนี้ผมคิดว่ามีความสำคัญค่อนข้างมาก เพราะ จะเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญ ทั้งด้านข่าวของบริษัทที่เราสนใจ, บทวิเคราะห์ และกิจกรรมต่างๆที่จัดโดยบริษัทหลักทรัพย์ของไทย ซึ่งอาจจะจัดในไทยหรือที่เวียดนามก็เป็นได้
c. ความพร้อมของทีมงานในไทย: ข้อนี้ดูเผินๆนักลงทุนอาจจะไม่ค่อยให้ความสนใจ แต่จริงๆแล้วค่อนข้างสำคัญ เพราะทีมงานในไทยจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการอำนวยความสะดวกเรื่องต่างๆ ตั้งแต่ การส่งคำสั่ง, การขอข้อมูล เช่น บทวิเคราะห์, รวมไปถึงการติดต่อกับบริษัทในเวียดนามที่เราสนใจ เป็นต้น
————————
***Disclaimer***
– ส่วนจะเลือกกองทุนไหนก็เป็นวิจารณญาณของนักลงทุนแต่ละท่านที่ต้องพิจารณาให้เหมาะกับสถานภาพส่วนบุคคล เหมือนดั่ง slogan คุ้นหูจาก Money Talk “กำไรก็เป็นของท่าน ขาดทุนก็เป็นของท่าน….”
– ลองไปเปรียบเทียบผลดำเนินงาน ประกอบกับค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอย่าลืมเรื่องความยากง่ายของการซื้อขายดูครับ (บางกองมีเงินก็อาจซื้อไม่ได้ด้วยซ้ำ!)
————————
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์แก่เพื่อนๆนักลงทุนที่ไม่อยากวุ่นวายเปิดพอร์ตลงทุนต่างชาติให้วุ่นวายหรืออยากค่อยๆเป็นค่อยๆไปกับเวียดนามประเทศแห่งการเติบโตแห่งนี้ และสุดท้ายนี้ถ้าเพื่อนๆมีข้อมูลของกองทุนรวมอื่นๆที่ไม่ได้กล่าวถึง สามารถแบ่งปันความรู้กันได้เลยนะครับ
Vietopia – Best or Nothing
https://www.vietnamvi.com/board/viewtopic.php?f=3&t=1583
———————–
สำหรับผู้สนใจ “สัมมนาก้าวสู่การลงทุนหุ้นเวียดนาม 2561” วันที่อาทิตย์ที่ 21 มกราคม 2561 ที่โรงแรม Centra ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ กทม.
*** ดูรายละเอียดและกรอกใบสมัครได้ที่ http://goo.gl/M4VcWS ***
ตอนนี้เหลืออีกไม่กี่ที่นั่ง และใกล้จะปิดรับสมัครแล้วนะคะ