ผู้ได้ประโยชน์ตัวจริง
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนใหม่ๆ คนส่วนใหญ่บอกว่าน่าจะเป็นแค่เรื่องบลัฟกัน
เดี๋ยวก็เลิก เพราะต่างฝ่ายต่างบาดเจ็บทั้งคู่ ไม่น่าจะมีใครอยากทำสงครามการค้ากันหรอก
แต่เอาเข้าจริงๆ กลับยืดเยื้อมาถึงวันนี้
และสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือ หลายบริษัทกำลังหาทางหลบหลีกผลเสียหายอันเกิดจากสงครามนี้ด้วยการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น
และดูเหมือนว่าประเทศที่ได้ประโยชน์จากความเคลื่อนไหวนี้คือเวียดนาม
ทำไมจึงเป็นเวียดนาม?
เหตุผลที่สำคัญคือ
-เวียดนามได้เปรียบในจุดที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
-อีกทั้งค่าลงทุนต่ำและรัฐบาลทุ่มเทสนับสนุนอย่างเต็มพิกัด
-อีกประเด็นหนึ่งคือ เวียดนามไม่มีข้อขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐ ทำให้เชื่อว่าโดนัลด์ ทรัมป์ คงไม่ตามไล่ล่าไปถึงเวียดนาม
-ล่าสุดอีกประการหนึ่งคือ เวียดนามก็มีความคืบหน้าเรื่องการลงนามข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปเเละประเทศริมมหาสมุทรเเปซิฟิกอีก 10 ชาติ
—
จุดที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของเวียดนามเอื้อต่อการขนส่งสินค้าทางทะเลไปทางตะวันออก และการนำเข้าวัตถุดิบทางบกจากจีนแผ่นดินใหญ่ก็ค่อนข้างสะดวก
ตั้งเเต่สหรัฐประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนรอบใหญ่ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทที่ไปปักหลักที่จีนที่ไหวตัวทันต่างก็วิ่งหาข้อมูลเกี่ยวกับการขยับขยายไปเวียดนามกันอย่างคึกคัก
มีการประเมินกันว่าเวียดนามเป็นทางเลือกที่มีแรงจูงใจที่สุดสำหรับผู้ผลิตสินค้าในจีนที่ต้องการขยายกำลังการผลิตนอกประเทศ
เพราะศูนย์การผลิตอื่นๆ ในเอเชียสู้เวียดนามไม่ได้ เนื่องจากตั้งอยู่ห่างไกลจากจีน ทำให้เสียค่าลงทุนสูงกว่า
ที่สำคัญคือ เวียดนามตอบโจทย์เรื่อง supply chain สำหรับการผลิตและขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้มากกว่าประเทศอื่นๆ ในแถบนี้
อย่าได้แปลกใจหาก iPhone จะย้ายฐานการผลิตจากจีนบางส่วนมาเวียดนามในเร็ววันนี้
Foxconn ซึ่งเป็นผู้รับเหมารายหลักในการประกอบโทรศัพท์มือถือ iPhones ที่มีโรงงานในจีนหลายแห่ง กำลังเจรจากับผู้บริหารของเวียดนามที่กรุงฮานอย หรือคณะกรรมการที่มีอำนาจตัดสินใจอย่าง Hanoi People’s Committee โดยมีเป้าหมายตั้งโรงงานประกอบโทรศัทพ์ iPhone ขึ้นที่นั่น
ชัดเจนว่านี่คือยุทธศาสตร์ “หลบกระสุนสงคราม” ระหว่างจีนกับสหรัฐของ iPhone เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่ออนาคตของตนเองในภาวะที่การเมืองระหว่าง 2 ยักษ์ใหญ่มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นตลอดเวลา
ข่าวอีกกระแสหนึ่งบอกว่า แม้บริษัทจีนเองก็ยังไม่วายต้องคิดหาวิธีหลบลี้หนีภัย
บริษัทผลิตหูฟังไร้สาย GoerTek ของจีนก็กำลังพิจารณาย้ายโรงงานจากจีนไปเวียดนามด้วยเหตุผลเดียวกัน
แน่นอนว่าจะต้องเกิดคำถามว่า ทำไมบริษัทเหล่านี้ไม่มองไทยเป็นทางเลือกอีกทางหนึ่งนอกจากเวียดนาม
นี่เป็นคำถามที่คนไทยควรจะต้องใคร่ครวญพิจารณาประกอบการวางยุทธศาสตร์ชาติเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของไทยให้ได้ดีกว่าที่เป็นอยู่
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจเวียดนามที่เติบโตเร็วในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดการขยายตัวของโรงงานที่ต่างชาติลงทุนที่นี่นอกจากแหล่งเดิม เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้เเละไต้หวัน
ยิ่งปีที่ผ่านมาจะเห็นการก้าวกระโดดของเงินลงทุนจากต่างประเทศที่มาลงเวียดนามอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ แจ้งว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ หรือ Foreign Direct Investment (FDI) โดยเฉลี่ยต่อปีเพิ่มขึ้นจาก 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างในปี ค.ศ.2000-2005 เป็น 8,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ระหว่างปี ค.ศ.2008 ถึง 2014
สำหรับเวียดนาม “วิกฤติคือโอกาส” อย่างเห็นได้ชัด
และยิ่งต้องทำให้ไทยเราหันมามองตัวเองอย่างพินิจพิเคราะห์ว่าเวียดนามทำอะไรที่เรายังไม่ได้ทำ หรือทำสู้เขาไม่ได้.