อดีต–ปัจจุบัน–อนาคต
โลกในมุมมองของ Value Investor 16 มีนาคม 62
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ในเรื่องของการวิเคราะห์หุ้นแบบพื้นฐานและระยะยาวนั้น บ่อยครั้งเรามักจะพูดถึงเรื่องของ S-Curve ซึ่งเป็นกราฟที่มีแกนนอนเป็นระยะเวลาและแกนตั้งเป็นยอดขายหรือการเติบโตของบริษัท กราฟนี้มีลักษณะคล้ายตัว S นั่นก็คือ ในช่วงแรก ๆ ของบริษัท ยอดขายหรือรายได้มักจะโตขึ้นอย่างช้า ๆ ความชันมีน้อยมาก จนถึงจุดหนึ่งที่เป็น “จุดเปลี่ยน” ที่สำคัญ ยอดขายก็จะปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปียอดขายก็โตขึ้นอย่าง “ก้าวกระโดด” เป็นเท่าตัวหรือมากกว่านั้น มองจากกราฟก็จะเห็นเป็นเส้นที่ชันมาก เราเรียกช่วงเวลานี้ว่าเป็นช่วง “โตเร็ว” แต่หลังจากที่กิจการโตมาจนถึงจุดหนึ่งและบริษัทอาจจะมีขนาดใหญ่แล้ว การเติบโตก็จะช้าลงและช้าลงเรื่อย ๆ จนถึงจุด “อิ่มตัว” และไม่โตอีกต่อไปหลังจากนั้น
นักลงทุนที่ชอบเล่นหุ้น Growth หรือหุ้นโตเร็วจะพยายามหาจุดที่บริษัทเริ่มมียอดขายเพิ่มขึ้นมากกว่าที่เคยเป็นในอดีตอย่างชัดเจน เช่น บริษัทเคยโตประมาณปีละ 5-6% โดยเฉลี่ยในระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่อยู่ ๆ มันก็โตขึ้น 20% ในปีนี้ อาจจะเพราะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในบริษัทเช่น บริษัทมีการเปิดตลาดใหม่ในต่างประเทศหรือมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูงและเขาเชื่อว่าบริษัทจะสามารถรักษาระดับการเติบโตนั้นได้ต่อเนื่องไปในอนาคต และนี่ก็คือจุดเริ่มของการโตอย่างก้าวกระโดด เขาจะต้องรีบเข้าไปซื้อหุ้นก่อนที่ราคาหุ้นจะวิ่งขึ้นไปสูงมากและพลาดโอกาสที่จะทำเงินมหาศาลในระยะเวลาอันสั้น
หุ้นที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องไปนานอย่างน้อย 3-5 ปีนั้นเรียกว่าเป็นหุ้น “โตเร็ว” คนที่เข้าไปซื้อหุ้นในช่วงนี้และถือไว้ก็มักจะได้ผลตอบแทนที่ดีโดยคนที่เข้าไปก่อนเป็นคนแรก ๆ ก็จะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำเพราะเขามักจะซื้อที่ราคาต่ำมาก กำไรอาจจะเป็นหลาย ๆ เท่าหรือ “หลาย ๆ เด้ง” ในภาษาชาวหุ้น คนที่เข้าไปซื้อเมื่อหุ้นขึ้นไปมากแล้วแต่ถ้ากิจการก็ยังเติบโตต่อไปกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็ยังมักจะได้กำไรแต่ก็ไม่มากนักเนื่องจากต้นทุนราคาหุ้นที่ค่อนข้างสูง ในขณะที่ถ้าเข้าไปซื้อแล้วหลังจากนั้นรายได้และกำไรของบริษัทเริ่มไม่โตหรือโตช้าลงมาก เขาก็อาจจะขาดทุนได้และก็อาจจะขาดทุนอย่างหนักถ้ากำไรของบริษัทถดถอยลงในขณะที่หุ้นที่ซื้อมีราคาแพงมากเช่นค่า PE สูงเกิน 50 เท่าเป็นต้น และนี่ก็คือ “ซีนาริโอ” หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับการเล่นหุ้น Growth หรือหุ้นโตเร็วที่อาจจะทำกำไรได้สุดยอด หรืออาจจะแค่พอใช้ได้ หรือไม่ก็ขาดทุนได้เช่นกันถ้ามอง S-Curve ไม่ออกว่าบริษัทกำลังอยู่ในจุดไหน
ช่วงที่หุ้น Growth กำลังโตนั้น ก็มักจะแบ่งเป็นช่วงแรกที่เริ่มโตจริง ๆ ซึ่งบริษัทโตเร็วมากส่วนหนึ่งเนื่องมาจากฐานของบริษัทที่ยังเล็กอยู่ แต่เมื่อบริษัทมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ การเติบโตก็มักจะช้าลงและช้าลงไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้บริษัทก็มักจะมีความ “แข็งแกร่ง” มากขึ้นและสามารถต่อสู้ป้องกันการแข่งขันจากคู่แข่งได้ดีขึ้น บางบริษัทอาจกลายเป็นผู้นำที่โดดเด่นและสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงแม้ว่าการเติบโตนั้นจะไม่ได้สูงพอที่จะเรียกว่าเป็น “หุ้นเติบโต” เช่น กำไรเพิ่มปีละแค่ 10-15% ในสถานการณ์แบบนี้ หุ้นก็อาจจะเรียกว่าเป็นหุ้นแข็งแกร่งหรือบางบริษัทที่โตมานานและกลายเป็นผู้นำในธุรกิจก็อาจจะกลายเป็นหุ้น “บลูชิพ” ที่มักจะให้ผลตอบแทนที่ดีใช้ได้ใกล้เคียงกับดัชนีตลาดและมีความเสี่ยงน้อยในการลงทุน
หุ้นบางตัวหรือบางบริษัทนั้น เมื่อโตถึงจุดหนึ่งแล้วก็ไม่สามารถโตต่อไปจนมีความสามารถในการแข่งขันเหนือคู่แข่งที่อาจจะใหญ่กว่า หรือบางทีก็โตไปจนมีขนาดใหญ่โตแต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้แก่บริษัทใหม่ ๆ ที่มีเทคโนโลยีที่เหนือกว่าเข้ามาทำลายหรือ Disrupt ทำให้บริษัทตกต่ำลงและต่ำลงเรื่อย ๆ หุ้นในช่วงนี้ก็จะเป็นช่วง Decline ซึ่งบางครั้งก็เร็วมาก แต่บางครั้งก็เกิดขึ้นช้า ๆ แต่แน่นอน เป็นหุ้น “ตะวันตกดิน” คนที่เข้าไปซื้อหุ้นลงทุนในช่วงเวลาแบบนี้นั้น แม้ว่าในบางครั้งอาจจะได้กำไรหรือมีผลตอบแทนบ้างแต่ก็มักจะไม่สูง บางทีก็อาจจะได้แต่ปันผลราคาหุ้นไม่ไปไหน แต่ถ้าถือยาวไปเรื่อย ๆ ก็มักจะพบว่าผลตอบแทนไม่ดีและบ่อยครั้งขาดทุนทั้ง ๆ ที่ราคาที่ซื้ออาจจะดูว่าถูกมาก และเนื่องจากว่าหุ้นแบบนี้บางตัวอาจจะเคยเป็นหุ้นเติบโตและมีคุณสมบัติดีเยี่ยม คนจึงมักจะคิดว่ามันเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่โดยลืมไปว่านั่นคือ “อดีต” ที่ผ่านไปแล้ว มันไม่สามารถหวนกลับมายิ่งใหญ่ได้อีก
การวิเคราะห์หุ้นโดยอาศัยโมเดล S-Curve นั้น ผมคิดว่าไม่ได้ยากสำหรับคนที่เรียนเศรษฐศาสตร์มาบ้าง แต่สำหรับคนทั่วไปโดยเฉพาะที่เป็นนักลงทุนนั้น การที่จะดูว่าบริษัทอยู่ในช่วงไหนของกราฟน่าจะไม่ง่ายนัก ผมเองชอบที่จะใช้แนวความคิดที่ง่ายกว่าแต่อธิบายเรื่องเดียวกันได้ และสิ่งที่ผมมักใช้ก็คือคำสามคำที่ว่า “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต” สำหรับเรื่องราวต่าง ๆ และไม่ใช่เฉพาะแต่ในเรื่องของหุ้นเท่านั้น
โมเดล อดีต– ปัจจุบัน – อนาคต นั้น ง่ายมากในแง่ที่ว่า เวลาที่เราคิดถึงอะไรก็ตาม เราต้องนึกถึงพัฒนาการของสิ่งนั้นหรือเรื่องนั้นหรือคนนั้นว่า “อดีต” น่าจะเป็นอย่างไรและนี่คือสิ่งที่เราน่าจะรู้แล้วด้วยการประเมินหรือวิเคราะห์ที่ “ไม่ลำเอียง” และถ้าเป็นไปได้ต้องมี “หลักฐาน” โดยเฉพาะ “ตัวเลข” เป็นสิ่งยืนยัน แต่การวิเคราะห์ด้านคุณภาพก็ยังจำเป็นอยู่และอาจจะสำคัญไม่แพ้กัน “ปัจจุบัน” นั้นก็คือสิ่งที่เป็นอยู่ นี่ก็เช่นเดียวกัน ต้องวิเคราะห์อย่าง “ไม่ลำเอียง” และใช้ข้อมูลทั้งทางด้านปริมาณและคุณภาพ สุดท้ายที่น่าจะสำคัญที่สุดถ้าเราจะประสบความสำเร็จในการทำสิ่งต่าง ๆ ก็คือ “อนาคต” ว่ามันจะเป็นอย่างไร นี่ก็เช่นกัน “อย่าลำเอียง” และสิ่งที่จะต้องเพิ่มเติมก็คือ เราต้องอาศัย “จินตนาการ” ที่มีเหตุมีผลและถ้าจะให้ดีนำ “ประวัติศาสตร์” หรือเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นที่อื่นมาประกอบด้วย เพราะประวัติศาสตร์นั้น มีโอกาส “ซ้ำรอย” ไม่น้อย
เวลาผมคิดถึงโมเดล อดีต–ปัจจุบัน–อนาคต นั้น ผมจะมองในแง่ของ “ความก้าวหน้า” หรือ ช่วงเวลาขององค์กร บริษัท คน ผลิตภัณฑ์ หรือแม้แต่ “แนวความคิด” ว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นเรื่องที่ ผ่านไปแล้วเป็นอดีตไปแล้ว หรือกำลังเป็นอยู่และยังคงดำรงอยู่อย่างมั่นคงในปัจจุบัน หรือสิ่งเหล่านั้นกำลังจะกลายเป็นสิ่งที่เป็นหรือสิ่งที่จะทำหรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันไม่ไกลนัก
บางสิ่งบางอย่างที่ยังเป็นอยู่หรือทำอยู่นั้น ถ้าผมคิดว่าในไม่ช้ามันก็จะค่อย ๆ หมดไป ผมก็สรุปว่ามันกำลังจะเป็นอดีต ตัวอย่างเช่น คนสูงอายุซึ่งรวมถึงผมและคนไทยอีกจำนวนมหาศาลนั้น ในไม่ช้าก็จะเป็น “อดีต” ถ้าเราเห็นว่าพวกเขาคิดอย่างไรหรือทำอะไรอยู่ในขณะนี้ เราก็ต้องยอมรับว่าสิ่งที่พวกเขาคิดและทำซึ่งแตกต่างจากคนรุ่นใหม่นั้น ในไม่ช้ามันก็จะเป็นอดีต มันจะไม่ต่อเนื่องไปนานเพราะในไม่ช้าพวกเขาก็จะค่อย ๆ “จากไป” ซึ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่คนรุ่นใหม่คิดและทำ เพราะความคิดและการกระทำแบบนั้นมันจะเป็น “อนาคต” ที่จะมีคนคิดและทำมากขึ้นวิเคราะห์จากจำนวนของคนรุ่นใหม่ที่จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในอีกหลายสิบปีข้างหน้า ด้วยวิธีคิดอิงกับโครงสร้างประชากรของไทยนี้ เราอาจจะนำไปใช้ในการวิเคราะห์สินค้า การมองหาเมกาเทรนด์ รวมไปถึงการวิเคราะห์ในด้านของการเมืองได้ เช่น เราสามารถลองตั้งคำถามเล่น ๆ ว่า พรรคไหนจะเป็นอดีต พรรคไหนคือปัจจุบัน และพรรคไหนคืออนาคต เป็นต้น
คำว่า “ปัจจุบัน” นั้น ผมหมายถึงสิ่งที่จะดำรงอยู่ต่อไปอีกนานพอสมควรและเราอาจจะไม่รู้ว่ามันจะเปลี่ยนไปเมื่อไร ถ้ากิจการนั้นยังยิ่งใหญ่และเข้มแข็งมาก ยังไม่เห็นว่าอะไรจะทำลายมันได้รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ เราก็จะสรุปว่ามันเป็น “กิจการที่ยิ่งใหญ่” ในปัจจุบัน เราจะให้คุณค่ากับมันเท่าไรก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง นี่ก็คือตัวอย่างของการวิเคราะห์ด้วยโมเดลนี้
การมองหาว่าอะไรหรือใครหรือบริษัทไหนจะเป็น “อนาคต” นั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในฐานะของการเป็นนักลงทุนหรือ “นักเลือก” เพราะการ“เลือกถูก” นั้นอาจจะทำให้เรารวยได้โดยเฉพาะในการเลือกหลักทรัพย์ลงทุน อย่างไรก็ตาม ยังมีการเลือกในชีวิตอีกมากมาย เช่น เลือกวิชาเรียน เลือกอาชีพ เลือกคู่ครองและอื่น ๆ ที่มีผลต่อชีวิตไม่น้อยไปกว่าการลงทุน หน้าที่ของเราก็คือ พยายามเลือกอะไรก็ตามที่จะเป็นอนาคต เลือกและรักษาปัจจุบันที่ดีเยี่ยมไว้ และหลีกเลี่ยงอะไรก็ตามที่กำลังจะกลายเป็นอดีต การวิเคราะห์ที่ถูกต้องจะทำให้เราสำเร็จและการวิเคราะห์ที่ผิดพลาดนั้นจะทำให้เราล้มเหลวทั้งในด้านของการลงทุนและชีวิต