เศรษฐกิจเวียดนามยังดี…ฝ่าปัจจัยบาทแข็งไหวไหม
ผ่านไปใกล้จะครึ่งปี นักลงทุนยังให้ความสนใจ DR ตัวแรกของไทยอย่างล้นหลามนะคะ โดย Market Cap ของ E1VFVN3001 โตมากกว่า 2 เท่าจากตอน IPO เมื่อปลายปี 61 มาอยู่ที่ราว 1.5 พันล้านบาท ณ ปลายเดือน พ.ค.62 …แม้ผลตอบแทนจากต้นปีจะยังไม่ดีนัก โดยติดลบไปราว 3% ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากราว 5% เมื่อเทียบกับเงินดองของเวียดนาม (ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นั้นแข็งค่าเพียง 0.5% เทียบกับค่าเงินดอง) ส่วนดัชนี VN30 ที่อ้างอิงหุ้นชั้นนำ 30 ตัวแรกของเวียดนามที่ DR ได้ไปอ้างอิงนั้น ยังบวกได้ราว 2% จากต้นปีค่ะ
เมื่อพิจารณาสัดส่วนของหุ้นในแต่ละกลุ่มในดัชนี VN30 จะพบว่ากลุ่มธนาคาร กลุ่มสินค้าบริโภคจำเป็น และกลุ่มอสังหาฯ มีสัดส่วนมากที่สุดคือ 30% 22% และ 19% ตามลำดับ ซึ่งกลุ่มธนาคารเป็นกลุ่มหลักที่กดดันดัชนี เนื่องจากมีน้ำหนักมากที่สุด และปรับตัวลดลงราว 2% จากต้นปี เพราะได้รับผลกระทบจากข้อกำหนดของธนาคารกลางเวียดนาม (SBV) ที่กำหนดให้ภายในต้นปี 63 ธนาคารพาณิชย์จะต้องตั้งเงินทุนสำรองให้ถึงขั้นต่ำตามเกณฑ์ Basel II กอปรกับเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่เข้มข้นขึ้นเพื่อควบคุมปัญหาหนี้เสีย อย่างไรก็ดี เรามองว่าการเข้มงวดดังกล่าวจะทำให้ธนาคารในเวียดนามมีเสถียรภาพในระยะยาวค่ะ (short term pain for long term gains) โดยทาง VFM ซึ่งเป็น บลจ. ชั้นนำของเวียดนามก็ยังเชื่อมั่นว่าธนาคารในเวียดนามจะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ ซึ่งมีมูลค่าปัจจุบันที่ PBV 1.4-1.5 เท่า ยังนับว่าไม่แพงค่ะ
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่ช่วยหนุนดัชนี VN30 จากต้นปีคือ กลุ่มสินค้าบริโภคจำเป็นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4% นำโดยหุ้น MSN (คล้าย CPF) ที่ปรับตัวขึ้นถึง 8.5% และกลุ่มบริโภคที่เกี่ยวกับสินค้าฟุ่มเฟือยที่บวกได้ 6% นำโดย MGW (คล้าย COM7+CPALL) ซึ่งจะเห็นได้ว่า ธุรกิจที่เกี่ยวกับค้าปลีก และการบริโภคของเวียดนามยังเติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมา จากกำลังการบริโภคของชาวเวียดนามที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาวที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดค้าปลีกภายในประเทศ โตขึ้นกว่า 25% ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา
ด้านเศรษฐกิจเวียดนามเองนั้น ปัจจัยต่างๆยังสะท้อนว่าเค้ายังสามารถเติบโตได้ดีนะคะ ไม่ว่าจะเป็นดัชนีภาคการผลิตอุตสาหกรรมในเดือนพ.ค. ที่ขยายตัวได้ 10% ประกอบกับภาคการส่งออกที่ยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง (ในขณะที่เพื่อนบ้านอย่างไทยส่งออกติดลบ) อีกทั้ง เวียดนามยังได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตจากประเทศต่างๆ ในประเด็นสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ หรือแม้แต่บริษัทต่างชาติต่างก็เดินหน้าขยายการลงทุนในเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของญี่ปุ่นอย่าง AEON ที่เตรียมลงทุนกว่า 6 พันล้านบาทสร้างห้างสรรพสินค้าใหม่ที่กรุงฮานอย หรือ Samsung จากเกาหลี ที่เตรียมสร้างศูนย์ R&D ขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่กรุงฮานอยเช่นกัน
ด้านตลาดทุนนั้น ทางการเวียดนามเองตั้งใจยกระดับกฎเกณฑ์หลายๆ อย่างเพื่อให้สามารถได้ปรับการ upgrade สถานะให้เป็น Emerging Market ได้เช่น การเตรียมยกเลิก Foreign Ownership Limit สำหรับนักลงทุนต่างชาติ การเตรียมออก NVDR หรือการเปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติจดทะเบียนในตลาดเวียดนามได้ รวมถึงการเพิ่มมาตรฐานของการออก IPO หุ้น ให้มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยล่าสุดทาง MSCI ได้ upgrade ประเทศคูเวตจากสถานะ Frontier Market สู่สถานะ Emerging Market ซึ่งทำให้ปัจจุบันเวียดนามเป็นประเทศที่มีสัดส่วนมากที่สุดในดัชนี MSCI Frontier ซึ่งอาจส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นเวียดนามได้เพิ่มขึ้นค่ะ
กล่าวโดยสรุป เวียดนามยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในระยะยาว โดยปัจจัยที่กดดันราคา DR E1VFVN3001 นั้นไม่ใช่เศรษฐกิจเวียดนามไม่ดี เพียงแต่เป็นประเด็นด้านค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งอาจกดดันต่อราคา DR ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้วเรายังเชื่อมั่นในเศรษฐกิจเวียดนาม โดยเชื่อว่าราคาหุ้นจะสะท้อนกำไรของบริษัทจดทะเบียน 30 ตัวแรกที่จะเติบโตได้ดีขึ้น หากภาพใหญ่ หรือเศรษฐกิจเวียดนามเติบโตได้ดีค่ะ
——————————————
สำหรับแอดมินมองบาทแข็งว่า อาจไม่เหมาะหากเราจะขายหุ้นที่ลงทุนในเวียดนามช่วงนี้ แต่น่าเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนในหุ้นเวียดนาม เพราะเราจะได้หุ้นมากขึ้นหากซื้อหุ้นช่วงบาทแข็งในวงเงินเท่ากัน แต่ใดๆในโลกล้วนอนิจจัง การลงทุนมีควมเสี่ยง ผู้สนใจลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน หากท่านสนใจศึกษาข้อมูลการลงทุนหุ้นเวียดนามคลิก https://forms.gle/BV3Ww6vJh7Kh3bDc9
เครดิต. Created June 26, 2019 Author Globalinvesting Team