โลกในมุมมองของ Value Investor 7 กันยายน 62
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เล่นหุ้นกระจุก VS ลงทุนกระจาย
คำถามสำคัญข้อหนึ่งที่นักลงทุนทุกคนจะต้องตอบให้ได้ ก่อนที่จะเริ่มต้นเข้ามาลงทุนอย่างจริงจังก็คือ เราจะลงทุนในทรัพย์สินประเภทไหน และอย่างละประมาณเท่าไร? นี่คือคำถามสำคัญ ข้อแรกที่จะบอกว่าเราจะมีความเสี่ยงแค่ไหน
โดยหลักการแล้ว ถ้าเราลงทุนในทรัพย์สินเพียงอย่างเดียวหรือน้อยอย่าง เช่น ลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว ความเสี่ยงก็จะสูงกว่าการลงทุนในหุ้นบวกกับพันธบัตร เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกัน โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนก็อาจจะสูงกว่าด้วย สำหรับผมซึ่งเติบโตมาด้วยหุ้นและคิดว่าสามารถเลือกหุ้นลงทุนที่ปลอดภัยพอสมควร ผมเลือกที่จะลงทุนในหุ้นแทบจะอย่างเดียว ทรัพย์สินอื่นที่มีรวมทั้งหมดน่าจะไม่เกิน 5% ของความมั่งคั่งทั้งหมด นี่ไม่นับเงินสดที่บางครั้งก็มีมาก บางครั้งเป็นสิบหรือหลายสิบเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือเพื่อรอซื้อหุ้นเท่านั้น แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว การกระจายการถือทรัพย์สินหลาย ๆ อย่างซึ่งมักจะรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ด้วยนั้น จะช่วยลดความเสี่ยงได้ดี อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนการลงทุนโดยรวมก็จะไม่สูงมาก การที่จะหวัง “รวยจากการลงทุน” อย่างรวดเร็วก็เป็นไปได้ยาก เขาควรจะหวังว่าจะ “รวยจากการทำงาน” มากกว่า
สำหรับคนที่เลือกลงทุนในหุ้นอย่างมีนัยสำคัญนั้น คำถามสำคัญก็คือ เราจะเลือกลงทุนในหุ้นกี่ตัวในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง? ยิ่งลงทุนในหุ้นน้อยตัวเช่น ถือหุ้นตัวเดียวหรือบางทีเรียกว่าเล่นหุ้นทีละตัว เราก็มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงขึ้นและอาจจะรวยไปเลยถ้าเราเลือกหุ้นถูกตัว นี่ก็คล้ายกับเจ้าของบริษัท ที่เอาหุ้นเข้าตลาดที่เหมือนกับถือหุ้นเพียงตัวเดียวในพอร์ต ถ้ากิจการหรือหุ้นดีมาก เจ้าของก็รวยเป็น “เศรษฐีหุ้น” แต่ถ้ากิจการไม่ดีหรือเลือกหุ้นผิดตัว ก็อาจจะขาดทุนหรือเจ๊งได้เหมือนกัน ดังนั้น ความเสี่ยงก็จะสูง
ตรงกันข้าม ถ้าลงทุนแบบกระจายการถือหุ้นหลาย ๆ ตัวหรือซื้อหุ้นทั้งตลาดผ่านการถือกองทุนรวมอิงดัชนี โอกาสที่พอร์ตจะได้ผลตอบแทนสูงลิ่วก็มักจะลดลงและลดลงเรื่อย ๆ ตามจำนวนหุ้นที่ถือ อย่างไรก็ตาม โอกาสที่จะขาดทุนจากหุ้นมาก ๆ หรือเจ๊งเลยนั้นก็มักจะต่ำมาก เหตุผลก็เพราะเมื่อมีหุ้นมากขึ้น ผลตอบแทนของแต่ละตัวก็มักจะเฉลี่ยหรือหักกลบลบกันไป โอกาสที่ทุกตัวจะดีพร้อมกันหรือแย่พร้อมกันก็มีน้อย ผลลัพธ์ก็คือ เราก็มักจะได้ผลตอบแทนดีพอใช้ น่าจะประมาณ 10% ต่อปีในอดีตและ 6-7% ต่อปีในอนาคต ถ้าหวังรวยจากการลงทุนในหุ้นก็น่าจะยาก วิธีที่จะรวยก็จะต้องหาเงินมาเติมมากขึ้นและลงทุนให้นานมากขึ้น จะหวังรวยเร็วไม่ได้
นักลงทุนที่สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นอย่างโดดเด่นมีชื่อเสียงระดับโลกอย่างวอเร็น บัฟเฟตต์และอีกหลาย ๆ คนนั้น ต่างก็ใช้กลยุทธ์ลงทุนในหุ้นน้อยตัวหรือเรียกว่าลงทุนแบบกระจุกตัวหรือ Focus Investment ทั้งนั้น ความหมายของมันก็คือ หุ้นใหญ่ที่สุดเพียงไม่กี่ตัวมีมูลค่าถึงกว่า 50% หรือ 70% ของพอร์ตทั้งหมด ในช่วงที่พอร์ตของบัฟเฟตต์ยังไม่ใหญ่และมีชื่อเสียงระดับประเทศนั้น ครั้งหนึ่งเขาเคยมีหุ้นตัวเดียวคิดเป็น 50% ของพอร์ต และในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นก็มักจะมีหุ้นไม่กี่ตัวเป็นหุ้นหลัก ๆ ที่รวมกันแล้วน่าจะเกิน 50% ของพอร์ต และนั่นก็มีส่วนทำให้ผลตอบแทนของเขาดีเยี่ยม ต่อมาเมื่อพอร์ตโตมากขึ้นจนมีมูลค่าติดหนึ่งในสิบบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา จำนวนหุ้นก็มากขึ้นเรื่อย ๆ และผลตอบแทนก็ต่ำลงเรื่อย ๆ ว่าที่จริงผลตอบแทนของบัฟเฟตต์ในช่วง 20 ปีหลังนี้น่าจะเหลือไม่เกินปีละ 10%โดยเฉลี่ยและไม่ต่างจากผลตอบแทนของดัชนีตลาดมากนัก อย่างไรก็ตาม อานิสงค์จากผลตอบแทนช่วงแรกที่ดีเยี่ยมทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยกว่า 50 ปีของบัฟเฟตต์ยังคงสูงมากถึง 20% ต่อปี กลายเป็นตำนานที่หาคนเทียบยาก
การลงทุนในหุ้นน้อยตัวเช่น “ตัวเดียว” หรือตัวเดียวก็มีค่ามากกว่า 80% ของพอร์ตนั้น ถ้าจะพูดในเชิงวิชาการก็อาจจะเรียกว่าเป็นเรื่องของการเล่นหุ้นหรือการเก็งกำไร ไม่ใช่เป็นการลงทุนในตลาดหุ้น ดังนั้น โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงลิ่วก็จะมี เช่นเดียวกับที่จะมีโอกาสขาดทุนและเจ๊งได้มากกว่า นักเก็งกำไรระดับโลกคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงมากว่าสามารถร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีระดับประเทศของอเมริกาจากเดิมที่เป็น “เด็กเคาะกระดาน” ก็คือ เจสซี่ ลิเวอร์มอร์นั้น น่าจะเล่นหลักทรัพย์ตัวเดียวหรือน้อยตัวในแต่ละช่วงเวลา สิ่งที่เขาเล่นในตอนนั้นก็มักจะเป็นการซื้อขายคอมโมดิตี้ที่สามารถใช้มาร์จินซื้อหลักทรัพย์ได้เป็นสิบเท่าของเงินที่มี โดยวิธีนี้เขาจึงสามารถเข้าไป “Corner” หรือซื้อโภคภัณฑ์บางอย่างเช่น โลหะเงิน หรือถั่วเหลือง หรืออาจจะเป็นหุ้นด้วย จนแทบจะ “หมดตลาด” ส่งผลให้ราคาขึ้นไปมากซึ่งทำให้เขาขายทิ้งและรวยมหาศาลในบางช่วงบางตอนของชีวิต อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งเขาก็ขาดทุนจนล้มละลาย โชคไม่ดีที่การล้มละลายครั้งสุดท้ายของเขาทำให้เขาตัดสินใจฆ่าตัวตาย
ผมเองคิดว่า ถ้าจะรวยจากหุ้น โดยที่ไม่ได้มีเงินตั้งต้นมากและไม่ได้มีเวลาในการลงทุนยาวพอ สิ่งที่ต้องทำก็คือ การลงทุนแบบ Focusหรือลงทุนอย่างกระจุกในหุ้นน้อยตัวเพื่อที่จะสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติ แต่นี่ก็ต้องรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น และวิธีที่จะลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ก็คือ การลงทุนแบบ Value Investment “พันธุ์แท้” แบบ วอเร็น บัฟเฟตต์ หรือ เบน เกรแฮม ที่เน้นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มี Margin Of Safety สูง ซึ่งความหมายก็คือ ซื้อหุ้นที่มีมูลค่าที่แท้จริงวัดจากผลประกอบการในระยะยาว เทียบกับราคาหุ้นที่จะต้องต่ำกว่ามากพอ ไม่ใช้มาร์จินหรือการกู้เงินเกินกว่าเงินลงทุนของตนเอง
ประเด็นว่าเราควรถือหุ้นหลัก ๆ กี่ตัวและในจำนวนเท่าไรนั้น คงไม่มีสูตรที่ตายตัวและอาจจะขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคน โดยส่วนตัวผมเองนั้น ในช่วงเวลากว่า 20 ปีของการลงทุนเต็มร้อยแบบ VI นั้น หุ้นที่ใหญ่ที่สุด 5 ตัวของผมนั้นคิดเป็นประมาณ 70% ของพอร์ตทั้งหมดเกือบตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม มีช่วงเวลาน้อยมากที่หุ้นใหญ่ที่สุดจะมีขนาดถึง 50% ของพอร์ตโดยรวม ผมเองคิดว่าผมลงทุนแบบค่อนข้างกระจุกแบบนี้มานานมากโดยที่ไม่ได้วางแผนมาก่อน มันเกิดขึ้นหลังจากผมลงทุนไปแล้วและมันก็น่าจะดีโดยเฉพาะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นก็ดูเหมือนว่าจะไม่สูงเพราะผลตอบแทนของพอร์ตโดยรวมนั้นติดลบเพียง 3 ปี ใน 22 ปีและก็ขาดทุนไม่มาก อย่างไรก็ตาม นี่อาจจะเป็นเรื่อง “บังเอิญ” เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมานั้นมันอาจจะเป็น “ยุคทองของหุ้น VI” ที่ทำให้หุ้น VI ที่ผมลงนั้นให้ผลตอบแทนดีผิดปกติและไม่ค่อยตกลงมาแรงเลย สถานการณ์แบบนี้อาจจะกำลังเปลี่ยนไป หุ้นหลัก 5 ตัว อาจจะเสี่ยงเกินไป อาจจะต้องเป็น 10 ตัวหรือ 12 ตัว ซึ่งมีการศึกษาพบว่าสามารถกระจายความเสี่ยงได้ดีมากเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่จะได้รับ ส่วนเรื่องหุ้นตัวใหญ่สุดเองนั้น 50% ก็คงเป็นตัวเลขที่สูงเกินไปแน่นอน ผมเองคิดว่าหุ้นตัวเดียวไม่ควรเกิน 30% ของพอร์ต อย่างไรก็ตาม นี่คงขึ้นอยู่กับตัวหุ้นเองด้วยว่าเป็นหุ้นที่ปลอดภัยแค่ไหน
การลงทุนแบบกระจายหุ้นไปมาก ๆ รวมถึงการซื้อกองทุนอิงดัชนีนั้น ผมคิดว่าเป็นวิธีที่น่าสนใจขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดหรือในหุ้นที่เราไม่รู้จักมากนักเช่นในต่างประเทศ ผมเองช่วงที่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามนั้น ทางเลือกที่จะถือกองทุนรวมยังไม่ค่อยมีและผมเองก็ไม่ค่อยตระหนักนัก การลงทุนของผมจึงเป็นการกระจายหุ้นมากเกินไปและในหุ้นขนาดเล็กที่ผมพบภายหลังว่าไม่ค่อยมีอนาคต นั่นทำให้ผลการลงทุนไม่น่าประทับใจ ในตอนนี้ถ้าผมเลือกได้ผมคงไม่ทำอย่างนั้น ผมคงเลือกที่จะ Focus ซื้อหุ้นน้อยตัวแบบที่ทำในตลาดหุ้นไทย หรือไม่ก็ลงทุนในกองทุนรวมที่เริ่มมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ผมยังคงไปลงทุนในเวียตนามแน่นอน มันไม่ใช่แค่เรื่องของผลตอบแทนแต่รวมถึงการกระจายการลงทุนจากตลาดหุ้นไทยที่จะช่วยลดความเสี่ยงของพอร์ตด้วย
สนใจเรียนรู้เรื่องหุ้นเวียดนามเพิ่มเติม สมัคร สัมมนารวมพลคนลงทุนหุ้นเวียดนาม คลิ๊ก http://bit.ly/32fIaOn
…….
5 เหตุผลที่คุณควรสนใจลงทุนหุ้นเวียดนามตอนนี้