โลกในมุมมองของ Value Investor       12 ตุลาคม 62

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ดวงลงทุน

​จากประสบการณ์กว่า 20 ปีในตลาดหุ้น  ผมเองคิดว่าตนเองนั้น  “โชคดีมาก” ที่เข้าตลาดเริ่มลงทุนอย่างจริงจังและ  “เพื่อชีวิต”  นั่นคือทุ่มเทเงินทุกบาทลงทุนในหุ้น  ในเวลาที่ถูกต้องและด้วยกลยุทธ์ที่ถูกต้องนั่นคือ  ลงทุนแบบ “VI” ในยามที่ตลาดหุ้นเกิดวิกฤติ  ราคาหุ้นตกลงมาอย่างหนักและแทบไม่มีใครสนใจจะลงทุนหรือพูดถึงตลาดหุ้นเลย  ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันเพียงไม่เกิน 3-4 พันล้านบาท  ผลที่ได้รับหลังจากเวลาผ่านไปกว่า 2 ทศวรรษก็คือ  ชีวิตที่เปลี่ยนไปอย่างมาก  ผลตอบแทนการลงทุนที่สูงจนแทบไม่น่าเชื่อทำให้กลายเป็นคนที่มีความมั่งคั่งสูงจากคนชั้นกลางกินเงินเดือนที่กำลังตกงานและไม่รู้ว่าอนาคตจะต้องย้ายลูกจากโรงเรียนอินเตอร์ออกมาเรียนโรงเรียนไทยหรือไม่  ทั้งหมดนั้น  เป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิด  ไม่ได้เกิดจากการวางแผนรวยจากตลาดหุ้น  ว่าที่จริงในยุคนั้น  มีแต่ตัวอย่างของคน “จนจากตลาดหุ้น” จนคิดฆ่าตัวตาย  คนอาจจะคิดหลังจากที่ผมประสบความสำเร็จแล้วว่าผมน่าจะเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ยาวไกล  มองขาดว่าตลาดหุ้นจะฟื้นตัวและเติบโตขึ้นมากจนทำให้กล้าลงทุนและรวยไปเลย  

​ความเป็นจริงก็คือ  ผมไม่ได้คิดว่าจะรวย  ผมแค่คิดไปตามสถานการณ์ว่าหุ้นในขณะนั้นมีราคาถูกมาก  หุ้นระดับที่น่าจะเป็น “ซุปเปอร์สต็อก” ในความหมายปัจจุบันที่มีราคาแพงลิ่วค่า PE 30-40 เท่าขึ้นไปนั้น  ในตอนนั้นมีค่า PE แค่ 10 เท่า  บางตัวจ่ายปันผลเกือบ 10% ต่อปี  แต่ก็ไม่มีคนสนใจที่จะซื้อ  เหตุผลก็เพราะว่าคนส่วนใหญ่ที่ “กล้าเสี่ยง” มากกว่าการฝากเงินในธนาคารหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาลซึ่งจำนวนมากก็คือนักธุรกิจ  ต่างก็ไม่มีเงินสดและจำนวนมากติดหนี้สินรุงรัง  ส่วนคนกินเงินเดือนนั้น  ส่วนมากก็ยังต้องผ่อนบ้านและรถ  และคนที่มีเงินเก็บเป็นเงินสดนั้น  น้อยคนที่จะกล้า “เล่นหุ้น” ที่เป็นกิจกรรมที่เสี่ยงที่สุดอย่างหนึ่งรองจากการเล่นม้าหรือเล่นการพนันในบ่อน  และผมเองก็เป็นคนหนึ่งในนั้น  ผมโชคดีที่ไม่ได้ซื้อทรัพย์สินใหญ่โตที่ต้องทำให้ผ่อนจนไม่มีเงินเหลือเก็บ  ผมไม่เคยมีบ้านแต่อาศัยบ้านทางฝ่ายภรรยาอยู่  ผมไม่มีรถส่วนตัวแต่มีรถประจำตำแหน่งใช้  ผมทำงานในธุรกิจที่ให้เงินเดือนดีคือธุรกิจหลักทรัพย์  ผมเป็นคนประหยัดอดออมตั้งแต่เด็ก  ดังนั้น  แม้ว่าเงินเก็บจะไม่ได้มากเมื่อคำนึงถึงอายุที่สี่สิบกว่าปีแล้ว  ผมก็มีเงินเก็บในระดับที่ใช้ได้  และนี่ก็คือความโชคดีข้อที่สอง

​เหตุผลที่ผมกล้าที่จะเข้าลงทุนในยามที่ตลาดเลวร้ายที่สุดนั้นเป็นเพราะว่ามัน  “จำเป็น”  และผมดูแล้วว่าความเสี่ยงยอมรับได้ถ้าทำแบบ “VI”  นั่นคือ  “ลงทุนในหุ้นให้คิดและทำเหมือนลงทุนในธุรกิจ”  เลือกธุรกิจที่ดี  นั่นคือมีความสามารถในการแข่งขันหรือมียี่ห้อที่แข็งแกร่ง  มีกำไรที่ดีและมั่นคง  มีการจ่ายปันผล  มีผู้บริหารที่ดีและไว้ใจได้ในความซื่อสัตย์  และสุดท้ายก่อนที่จะซื้อก็คือ  มีราคาหุ้นที่ถูกหรือไม่แพง  ซื้อแล้วถือยาวรอให้มันเติบโต  ในระหว่างนั้นก็เก็บปันผลมากินมาใช้ อย่าไปสนใจราคาหุ้นที่ขึ้น ๆ ลง ๆ  ทุกวันมากนัก   ผมจำเป็นต้องลงทุนเพื่อหาเงินมาเลี้ยงชีพ  ไม่ได้คิดว่าจะรวยเร็ว  แต่ลึก ๆ  แล้วก็คิดว่ามันเป็น “โอกาสทอง” ที่จะได้เป็นเจ้าของธุรกิจที่ดีเยี่ยมด้วยเงินเพียงน้อยนิด  และด้วย “มหัศจรรย์ของการทบต้น” ถ้าเราลงทุนไปเรื่อย ๆ  อีก 30-40 ปีก่อนตายก็น่าจะมีเงินเป็น “พันล้านบาท”  เป็นความโชคดีที่ผม  “จำเป็น”  ต้องลงทุนในหุ้น  ไม่อย่างนั้นเงินไม่พอใช้

​ดัชนีตลาดหุ้นช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 นั้น  ต่ำมาก  สิ้นปีดัชนีอยู่ที่ 373 จุด  ค่า PE เฉลี่ยของตลาดเท่ากับ 6.6 เท่า และนับจากวันนั้นต่อมาอีกประมาณ 10 ปีจนถึงปี 2551 ซึ่งเกิดวิกฤติซับไพร์ม  ค่า PE ส่วนใหญ่ก็ไม่เกิน 10 เท่า  ผลตอบแทนจากการลงทุนโดยเฉลี่ยของตลาดในช่วง 10 ปีนี้ดัชนีก็เติบโตขึ้นเป็น 858 จุดเมื่อสิ้นปี 2550 หรือให้ผลตอบแทนประมาณ 8.7% ซึ่งเมื่อรวมกับปันผลน่าจะได้ถึง 12% ต่อปีแบบทบต้น  ดังนั้น  จังหวะการเข้าลงทุนของผมจึงต้องถือว่า  “โชคดี”  แต่ที่ดียิ่งกว่านั้นก็คือการที่ผมเลือกลงทุนในหุ้นที่ถูกกว่าปกติของตลาดซึ่งก็มักเป็นหุ้นตัวเล็กที่นักลงทุนสถาบันหรือต่างประเทศไม่สนใจ  นั่นทำให้ผลตอบแทนสูงกว่าปกติมากโดยที่แทบไม่ได้อาศัยทักษะพิเศษอะไรมากนัก

​“นาทีทอง” ของการลงทุนในตลาดหุ้นไทยจริง ๆ  นั้นเกิดขึ้นหลังจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ที่ดัชนีตลาดตกลงมาจาก 800 กว่าจุดเหลือเพียง 450 จุดเมื่อสิ้นปี 2551 เพราะหลังจากนั้นต่อมาอีก 4 ปี  จนถึงสิ้นปี 2555 ดัชนีหุ้นก็ปรับตัวขึ้นมาถึง 1,392 จุด หรือโตขึ้นเป็นประมาณ 3 เท่าคิดเป็นผลตอบแทนแบบทบต้นปีละ 32.6% หากรวมปันผลก็คงเกิน 35%ต่อปี   การปรับตัวขึ้นของดัชนีนั้น  น่าจะเป็นผลมาจากการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของภาวะเศรษฐกิจเห็นได้จากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ปรับตัวขึ้นแรงมากจากปีละ 310,000 ล้านบาท ในปี 2551 เป็น 722,000 ล้านบาทในปี 2555 หรือโตปีละ 23.5% แบบทบต้น ซึ่งเป็นระดับที่สูงมากเมื่อเทียบกับระดับประมาณ 3-4% ต่อปีในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมานี้

​ช่วงเวลานาทีทองหลังวิกฤติปี 2551 นี้  ต้องถือว่าเป็น “โชคดี” ของ “VI รุ่นใหม่” ที่มักจะเป็นคนหนุ่มสาวที่กินเงินเดือนและพอมีเงินเก็บเข้ามาลงทุนในหุ้นอย่างจริงจัง  คนกลุ่มนี้แตกต่างจากนักเล่นหุ้นยุคก่อนอย่างเห็นได้ชัด  พวกเขามักมีการศึกษาสูง  อ่านงบการเงินเป็นและสามารถวิเคราะห์หุ้นได้ดี  ที่สำคัญ  พวกเขาไม่ได้มองดูหุ้นเป็นเรื่องของการพนันอีกต่อไป  แต่เป็นสิ่งที่สามารถทำให้มีชีวิตที่ดีและรวยได้  เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป  นักลงทุนหนุ่มสาวหลายคนก็มีพ่อแม่ที่ร่ำรวยและทำธุรกิจที่สามารถนำเงินเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นได้โดยที่ไม่ต้องเก็บออมเงินเอง  ว่าที่จริงนักธุรกิจหลายคนเองนั้น  ก็เริ่มเข้ามาสนใจลงทุนในตลาดหุ้นเนื่องจากเห็นว่าหุ้นให้ผลตอบแทนที่ดีไม่แพ้หรือดีกว่าธุรกิจของตนเอง  พวกเขาเชื่อว่า  “ลงทุนในหุ้นก็เหมือนกับทำธุรกิจ” และนี่ก็เป็นสัญญาณอีกอย่างหนึ่งว่าแนวความคิด VI นั้นได้หยั่งรากลงมาในสังคมของนักธุรกิจไทยแล้ว  และนี่ก็คือกลุ่ม VI  ผู้ “โชคดี” ที่สามารถทำเงินจนร่ำรวยหรือเป็นเศรษฐีได้ทั้ง ๆ  ที่หลายคนยังมีอายุน้อย

​ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา  ตลาดหลักทรัพย์โดยภาพรวมดูเหมือนว่าจะเริ่มเปลี่ยนแปลง  เกือบ 7 ปีที่ผ่านมา  ดัชนีหุ้นจากประมาณ 1392 จุดปรับตัวขึ้นมาเพียง 200 กว่าจุดเป็น 1626 ในวันที่ 11 ตุลาคม 2562  หรือให้ผลตอบแทนแบบทบต้นแค่ปีละ 2.3% ถ้ารวมปันผลก็แค่ประมาณ 5.3% ต่อปี ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ประมาณ 10% ค่อนข้างมาก  และเหตุผลที่ทำให้ตลาดให้ผลตอบแทนที่ไม่ดีนั้นก็น่าจะมาจากหลาย ๆ  ประเด็น เช่น ภาวะเศรษฐกิจที่ลดต่ำลง-อย่างถาวร เนื่องจากคนไทยแก่ตัวขึ้น  การเติบโตของ GDP ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมานั้นเหลือแค่เฉลี่ยเพียง 3% ต่อปีเทียบกับที่เคยเป็น 4-5% และ 7-8% ในช่วงเวลาก่อนหน้านั้น กำไรของบริษัทจดทะเบียนก็โตน้อยมากเฉลี่ยประมาณ 3-4% ต่อปีแบบทบต้น  ที่สำคัญที่สุดก็คือ  หุ้นมีราคาแพงวัดจากค่า PE เฉลี่ยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมาที่ 18 เท่า  มีสิ่งเดียวที่เอื้ออำนวยนั่นก็คือ  อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่ลดต่ำลงมาเป็นประวัติการณ์ที่ 1.7% ต่อปีโดยเฉลี่ย ซึ่งนี่อาจจะทำให้ค่า PE ของตลาดที่ 18 เท่ายังพอมีเหตุผลอยู่บ้าง

​คนที่เข้ามาในตลาดหุ้นในช่วงน้อยกว่า 7 ปีนั้น  น่าจะเป็นคนที่ “โชคไม่ค่อยดี” ไม่มี “ดวง” ในการลงทุน  ดังนั้น  เซียนหรือคนที่รวยจากการเข้าตลาดในช่วงเวลานี้ก็คงจะมีน้อยมาก  ส่วนใหญ่แล้วก็จะขาดทุน  คนที่ยังร่ำรวยจากตลาดหุ้นและยังเป็นสัญลักษณ์ของความร่ำรวยในการลงทุนในหุ้นและช่วยประชาสัมพันธ์ให้นักลงทุนใหม่ ๆ ยังเข้ามาลงทุนอยู่ ก็เพราะเขาสามารถ “เอาตัวรอด” และประคองตัวจากภาวะตลาดที่ไม่เอื้ออำนวยมายาวนาน  และนี่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่  “วัดฝีมือ”  จริง  ๆ ของ VI  ไม่ใช่เรื่องของ  “ดวง” ของการลงทุนที่เข้ามาถูกที่ ถูกเวลา  มีเงินเริ่มต้น และกล้าเสี่ยงมากกว่าปกติ