อาณาจักรล่มสลาย

0
2456
ดร.นิเวศน์

โลกในมุมมองของ Value Investor

19 ตุลาคม 62
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

Disruption หรือการทำให้ธุรกิจดั้งเดิม “ล่มสลาย” โดยเทคโนโลยีใหม่อย่างรวดเร็วที่เราพูดกันอยู่บ่อย ๆ ในปัจจุบันนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตลอดมาในอดีตอันยาวนาน เพียงแต่ว่าความรวดเร็วของการเกิดขึ้นนั้น ในอดีตจะช้ากว่ามาก ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นสิบ ๆ ปีขึ้นไป “ธุรกิจเดิม” ที่ถูกทำลายนั้นบ่อยครั้งก็เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคมและเทคโนโลยีหรือแนวความคิดหรือวิธีการประกอบการแบบใหม่ ในช่วงเริ่มต้น บริษัทหรือกิจการที่ “ล่มสลาย” ก็จะเป็นผู้เล่นที่อ่อนแอ ต่อมาคนที่แข็งแรงกว่าก็ไปไม่ไหว และสุดท้าย แม้แต่ผู้นำอันดับหนึ่งที่เคย “ยิ่งใหญ่” ก็ปิดตัวลงหรือลดสถานะกลายเป็นธุรกิจ “ขนาดเล็ก” และเมื่อถึงวันนั้น “อาณาจักรก็ล่มสลายลง” เจ้าของธุรกิจที่เคยร่ำรวยและยิ่งใหญ่ในระดับประเทศเป็นที่รู้จักและนับถือของผู้คนรวมถึงผู้นำรัฐที่ปกครองประเทศก็มักจะต้องมาปรึกษาเวลามีประเด็นที่เกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจ ก็จะ “หมดวาสนาและบารมี” และค่อย ๆ เลือนหายไปจากวงสังคม “ไฮโซ” คนรุ่นใหม่ก็จะไม่รู้จักอีกต่อไปว่าครั้งหนึ่งเขาหรือครอบครัวนี้เคยร่ำรวยหรือยิ่งใหญ่ขนาดไหน
ด้วยเหตุผลที่อยู่มานาน ผมเองได้เห็นธุรกิจและกิจการจำนวนมากที่เคยยิ่งใหญ่แทบจะเป็น “อาณาจักร” ล่มสลายลง ในสมัยก่อนนั้นการล่มสลายก็มักจะเป็นไปอย่างช้า ๆ จนบางครั้งผมเองก็ลืมไปเลยว่าเมื่อหลายปีหรือหลายสิบปีก่อนบริษัทนี้และครอบครัวนี้เคยร่ำรวยและยิ่งใหญ่มาก มาตระหนักอีกทีก็พบว่า ตอนนี้พวกเขาไม่รวยและไม่ยิ่งใหญ่แล้ว ไม่มีข่าวคราวว่าพวกเขาไปทำอะไรที่ไหน บางทีพวกเขาก็อาจจะยังร่ำรวยอยู่ก็ได้จาก “บุญเก่า” เช่นมีเงินทองทรัพย์สินที่เก็บไว้ตั้งแต่ครั้งยังรุ่งเรือง หรือบางทีก็ยังมีที่ดินกลางเมืองที่มีค่ามากที่พวกเขามักซื้อเก็บไว้เพื่อทำธุรกิจหรือสะสมไว้เฉย ๆ ในยามที่ยังร่ำรวยมีเงินทองเป็นมหาเศรษฐีในระดับประเทศ
เริ่มตั้งแต่อาณาจักรของคน “ขายทอง” ซึ่งผมรับรู้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กที่เศรษฐกิจไทยเพิ่งจะ “เริ่มพัฒนา” ในยุคนั้นธนาคารพาณิชย์เองก็เพิ่งจะตั้งขึ้นได้ไม่นาน คนที่จะมีเงินเก็บในธนาคารยังมีน้อยมาก คนส่วนใหญ่ของประเทศเวลามีเงินเหลือก็มักจะไปซื้อทองมาเก็บไว้เป็น “เงินออม” ที่จะถูกนำมาใช้ในเวลาที่จำเป็นหรือขัดสนซึ่งรวมถึงการนำไปซื้อเครื่องแบบนักเรียนและหนังสือในยามเปิดเทอมของลูก ดังนั้น คนค้าทองจึงมีรายได้มากมาย เจ้าของร้านทองขนาดใหญ่ที่มักจะอยู่ย่านเยาวราชหรือสำเพ็งจึงร่ำรวยเป็น “มหาเศรษฐี” ของประเทศ และนอกจากค้าขายทองแล้ว ก็มักจะมี “ข่าวลือ” ว่าบางรายก็ทำตัวเป็นโพยก๊วนรับโอนเงินระหว่างประเทศ บางทีก็บอกว่าเป็น เจ้ามือหวยใต้ดินรายใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร นี่คืออาณาจักรแรกที่ผมรู้จัก ผมจำไม่ได้แล้วว่าพวกเขา “ล่มสลาย” ไปตอนไหน แต่ตอนนี้คนค้าทองจริง ๆ ก็ไม่น่าจะรวยมากแล้วแม้ว่าปริมาณการค้าทองคำของพวกเขาบางคนจะสูงกว่าอดีตมากมายและทำผ่านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตทั้งในตลาดสป็อตหรือตลาดฟิวเจอร์
เมื่อบ้านเมืองเริ่มพัฒนาและคนเริ่มมีเงิน อานิสงค์จากการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศไทย อาณาจักรของคนค้าข้าวและโรงสีใหญ่ของประเทศก็เกิดขึ้น ตระกูลค้าข้าวที่ยิ่งใหญ่กลายเป็น “เซเล็บ” ที่โดดเด่นที่สุด คนของรัฐที่ดูแลทางด้านเศรษฐกิจจะต้องขอปรึกษาเวลาเศรษฐกิจดูมีปัญหา ต่อมาก็ตามด้วยธุรกิจผู้ผลิตน้ำตาลซึ่งเป็นโภคภัณฑ์สำคัญที่มักเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะในยามที่น้ำตาลมีราคาแพงและขาดแคลน และตามด้วยเรื่องของไก่ที่นับวันจะกลายเป็นอาหารหลักของคนไทย ตระกูลนักธุรกิจที่เป็นผู้นำในวงการเหล่านี้ต่างก็ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีในยามนั้น ทั้งหมดนั้นเดี๋ยวนี้แทบจะหมดบทบาทหรือลดความเป็นเซเล็บไปมากจนคนรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้จัก ยกเว้นบางคนที่ปรับตัวหันมาทำธุรกิจอื่นและใหญ่โตขึ้น ซึ่งก็กลายเป็นมหาเศรษฐีในวงการใหม่ไปแล้ว
ต่อจากเรื่องของผู้ผลิตและค้าขายสินค้าทางการเกษตรก็คือเรื่องของผู้ค้าขายสินค้าอุปโภคที่เป็นสินค้าคงทนและมีราคาสูงในขณะนั้น เริ่มตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่คนไทยเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้นอานิสงค์จากการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วที่ทำให้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น ผู้นำและตัวแทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะยี่ห้อญี่ปุ่นเช่น พัดลม วิทยุ ทีวี และเครื่องเสียงยี่ห้อนำ กลายเป็นคนรวยและเซเล็บระดับประเทศ เช่นเดียวกับผู้ขายนาฬิกาข้อมือยี่ห้อดังทั้งจากยุโรปและญี่ปุ่นที่ร่ำรวยไม่น้อยถือเป็นมหาเศรษฐีเช่นเดียวกัน แต่ที่น่าจะรวยที่สุดก็คือผู้ขายรถจักรยานยนต์และรถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาแพงที่สุดและคนไทยแทบทุกคนต่างก็อยากเป็นเจ้าของ ตระกูลผู้ขายรถยนต์ญี่ปุ่นและบางคนก็ขายรถหรูจากยุโรปนั้น แทบทุกตระกูลกลายเป็นเซเล็บค่อนข้างยาวนานจวบจนถึงปี 2540 ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งซึ่งทำลายความมั่งคั่งของพวกเขาแทบทั้งหมด ความเป็นเจ้าของธุรกิจตกกลับไปสู่มือของบริษัทผู้ผลิตรถในต่างประเทศ
วิกฤติเศรษฐกิจยังทำลายเจ้าของธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศที่เป็นเอกชนไปแทบทั้งหมด ก่อนหน้านั้นและย้อนหลังไปอีกหลายสิบปีในช่วงที่ผมยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย เจ้าของธนาคารขนาดใหญ่คือสุดยอดมหาเศรษฐีตัวจริงที่มีบทบาทยิ่งใหญ่ตลอดมา แม้แต่ผู้บริหารของธนาคารเองนั้น บางคนก็ออกมาเป็นผู้นำทางการเมืองระดับ “ซาร์ทางเศรษฐกิจ” สมาคมธนาคารนั้นเป็นองค์กรที่คนในภาครัฐต้องขอคำแนะนำเวลาเศรษฐกิจมีปัญหา หลังจากวิกฤติ เจ้าของแบ้งค์ก็กลายเป็น “เจ้าสัวเยสเตอร์เดย์” เจ้าของธนาคารที่ยังรวยอยู่นั้นน่าจะนับคนได้ และพวกเขาก็ไม่ได้รวยจากแบ้งค์อีกต่อไปแล้ว
อาณาจักรของหนังสือพิมพ์และสื่ออื่นโดยเฉพาะทีวีที่เป็นผู้นำนั้น เคยรุ่งเรืองมากซึ่งทำให้เจ้าของนั้น นอกจากจะร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีระดับประเทศที่ทุกคนรู้จักและเจ้าของมี Power หรืออำนาจสูงมากในทางใดทางหนึ่งทั้งทางด้านการเมืองและสังคม เจ้าของหนังสือพิมพ์หรือแม้แต่คนเขียนและกองบรรณาธิการนั้น สามารถสร้างหรือทำลายใครต่อใครได้ง่าย ๆ รวมถึงผู้มีอำนาจทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ไม่ต้องพูดถึงดาราหนังที่จะต้องเอาอกเอาใจหรือไม่ไปขัดใจในสิ่งที่ถูกขอให้ทำ เจ้าของหรือผู้บริหารทีวีนั้นแทบจะเรียกว่าเป็น “จ้าวแม่” ของดาราและผู้จัดทำละครและคนที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย พูดอะไรหรือเตือนใครก็ต้องฟังและปฏิบัติตาม อาณาจักรของทั้งสองธุรกิจนี้ พูดได้ว่าล่มสลายไปแล้วจากเทคโนโลยีดิจิตอลและการเปิดเสรีทีวีที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความมั่งคั่งนั้นสูญไปเป็น “แสนล้านบาท” ไม่ต้องพูดถึงอำนาจที่หมดไปเกือบจะ “ชั่วข้ามคืน”
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของอาณาจักรที่โดดเด่นที่ “ล่มสลายลง” และเป็นอุทาหรณ์เตือนใจให้นักธุรกิจซึ่งสำหรับผมแล้วก็รวมถึงนักลงทุนในตลาดหุ้นที่ต่างก็มี “อาณาจักร” ของตนเองด้วยว่า อย่าหลงระเริงไปกับความสำเร็จไม่ว่ามันจะยิ่งใหญ่แค่ไหนในสายตาของเราหรือในสายตาของผู้คนในสังคม ความสำเร็จถ้าเกิดขึ้นแล้วและดำรงมาจนถึงจุดที่น่าพอใจนั้น สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือการปกป้องความมั่งคั่งและความยอมรับนับถือจากคนรอบข้างและสังคมมากกว่าการที่จะเร่งหรือเพิ่มความมั่งคั่งเพราะมั่นใจในความสำเร็จที่ผ่านมาในอดีต ความมั่นใจในตนเองมากเกินไปนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดความล้มเหลวที่รุนแรงและทำให้เกิดการ “ล่มสลาย” ได้ และไม่ว่าเราจะเป็นอย่างไรหรือทำอย่างไร วิกฤติหรือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่าง “สิ้นเชิง” โดยเฉพาะที่มาจากเทคโนโลยีนั้น ก็สามารถทำลายองค์กรของธุรกิจดั้งเดิมหรือคนลงทุนในตลาดหุ้นได้เสมอ ไม่มีใครสามารถป้องกันหรือทนทานได้ ดังนั้น นอกจากการคิดตระหนักถึงความเสี่ยงของตัวเราอย่างรอบคอบและหาทางป้องกันอย่างเต็มที่แล้ว สวดมนต์ไว้บ้างก็ดีครับ


ด้วยเหตุผลที่อยู่มานาน ผมเองได้เห็นธุรกิจและกิจการจำนวนมากที่เคยยิ่งใหญ่แทบจะเป็น “อาณาจักร” ล่มสลายลง ในสมัยก่อนนั้นการล่มสลายก็มักจะเป็นไปอย่างช้า ๆ จนบางครั้งผมเองก็ลืมไปเลยว่าเมื่อหลายปีหรือหลายสิบปีก่อนบริษัทนี้และครอบครัวนี้เคยร่ำรวยและยิ่งใหญ่มาก มาตระหนักอีกทีก็พบว่า ตอนนี้พวกเขาไม่รวยและไม่ยิ่งใหญ่แล้ว ไม่มีข่าวคราวว่าพวกเขาไปทำอะไรที่ไหน บางทีพวกเขาก็อาจจะยังร่ำรวยอยู่ก็ได้จาก “บุญเก่า” เช่นมีเงินทองทรัพย์สินที่เก็บไว้ตั้งแต่ครั้งยังรุ่งเรือง หรือบางทีก็ยังมีที่ดินกลางเมืองที่มีค่ามากที่พวกเขามักซื้อเก็บไว้เพื่อทำธุรกิจหรือสะสมไว้เฉย ๆ ในยามที่ยังร่ำรวยมีเงินทองเป็นมหาเศรษฐีในระดับประเทศ
เริ่มตั้งแต่อาณาจักรของคน “ขายทอง” ซึ่งผมรับรู้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กที่เศรษฐกิจไทยเพิ่งจะ “เริ่มพัฒนา” ในยุคนั้นธนาคารพาณิชย์เองก็เพิ่งจะตั้งขึ้นได้ไม่นาน คนที่จะมีเงินเก็บในธนาคารยังมีน้อยมาก คนส่วนใหญ่ของประเทศเวลามีเงินเหลือก็มักจะไปซื้อทองมาเก็บไว้เป็น “เงินออม” ที่จะถูกนำมาใช้ในเวลาที่จำเป็นหรือขัดสนซึ่งรวมถึงการนำไปซื้อเครื่องแบบนักเรียนและหนังสือในยามเปิดเทอมของลูก ดังนั้น คนค้าทองจึงมีรายได้มากมาย เจ้าของร้านทองขนาดใหญ่ที่มักจะอยู่ย่านเยาวราชหรือสำเพ็งจึงร่ำรวยเป็น “มหาเศรษฐี” ของประเทศ และนอกจากค้าขายทองแล้ว ก็มักจะมี “ข่าวลือ” ว่าบางรายก็ทำตัวเป็นโพยก๊วนรับโอนเงินระหว่างประเทศ บางทีก็บอกว่าเป็น เจ้ามือหวยใต้ดินรายใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร นี่คืออาณาจักรแรกที่ผมรู้จัก ผมจำไม่ได้แล้วว่าพวกเขา “ล่มสลาย” ไปตอนไหน แต่ตอนนี้คนค้าทองจริง ๆ ก็ไม่น่าจะรวยมากแล้วแม้ว่าปริมาณการค้าทองคำของพวกเขาบางคนจะสูงกว่าอดีตมากมายและทำผ่านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตทั้งในตลาดสป็อตหรือตลาดฟิวเจอร์
เมื่อบ้านเมืองเริ่มพัฒนาและคนเริ่มมีเงิน อานิสงค์จากการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศไทย อาณาจักรของคนค้าข้าวและโรงสีใหญ่ของประเทศก็เกิดขึ้น ตระกูลค้าข้าวที่ยิ่งใหญ่กลายเป็น “เซเล็บ” ที่โดดเด่นที่สุด คนของรัฐที่ดูแลทางด้านเศรษฐกิจจะต้องขอปรึกษาเวลาเศรษฐกิจดูมีปัญหา ต่อมาก็ตามด้วยธุรกิจผู้ผลิตน้ำตาลซึ่งเป็นโภคภัณฑ์สำคัญที่มักเป็นข่าวใหญ่ในหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะในยามที่น้ำตาลมีราคาแพงและขาดแคลน และตามด้วยเรื่องของไก่ที่นับวันจะกลายเป็นอาหารหลักของคนไทย ตระกูลนักธุรกิจที่เป็นผู้นำในวงการเหล่านี้ต่างก็ร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีในยามนั้น ทั้งหมดนั้นเดี๋ยวนี้แทบจะหมดบทบาทหรือลดความเป็นเซเล็บไปมากจนคนรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้จัก ยกเว้นบางคนที่ปรับตัวหันมาทำธุรกิจอื่นและใหญ่โตขึ้น ซึ่งก็กลายเป็นมหาเศรษฐีในวงการใหม่ไปแล้ว
ต่อจากเรื่องของผู้ผลิตและค้าขายสินค้าทางการเกษตรก็คือเรื่องของผู้ค้าขายสินค้าอุปโภคที่เป็นสินค้าคงทนและมีราคาสูงในขณะนั้น เริ่มตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้าที่คนไทยเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้นอานิสงค์จากการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วที่ทำให้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น ผู้นำและตัวแทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะยี่ห้อญี่ปุ่นเช่น พัดลม วิทยุ ทีวี และเครื่องเสียงยี่ห้อนำ กลายเป็นคนรวยและเซเล็บระดับประเทศ เช่นเดียวกับผู้ขายนาฬิกาข้อมือยี่ห้อดังทั้งจากยุโรปและญี่ปุ่นที่ร่ำรวยไม่น้อยถือเป็นมหาเศรษฐีเช่นเดียวกัน แต่ที่น่าจะรวยที่สุดก็คือผู้ขายรถจักรยานยนต์และรถยนต์ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาแพงที่สุดและคนไทยแทบทุกคนต่างก็อยากเป็นเจ้าของ ตระกูลผู้ขายรถยนต์ญี่ปุ่นและบางคนก็ขายรถหรูจากยุโรปนั้น แทบทุกตระกูลกลายเป็นเซเล็บค่อนข้างยาวนานจวบจนถึงปี 2540 ที่เกิดวิกฤติต้มยำกุ้งซึ่งทำลายความมั่งคั่งของพวกเขาแทบทั้งหมด ความเป็นเจ้าของธุรกิจตกกลับไปสู่มือของบริษัทผู้ผลิตรถในต่างประเทศ
วิกฤติเศรษฐกิจยังทำลายเจ้าของธนาคารขนาดใหญ่ของประเทศที่เป็นเอกชนไปแทบทั้งหมด ก่อนหน้านั้นและย้อนหลังไปอีกหลายสิบปีในช่วงที่ผมยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย เจ้าของธนาคารขนาดใหญ่คือสุดยอดมหาเศรษฐีตัวจริงที่มีบทบาทยิ่งใหญ่ตลอดมา แม้แต่ผู้บริหารของธนาคารเองนั้น บางคนก็ออกมาเป็นผู้นำทางการเมืองระดับ “ซาร์ทางเศรษฐกิจ” สมาคมธนาคารนั้นเป็นองค์กรที่คนในภาครัฐต้องขอคำแนะนำเวลาเศรษฐกิจมีปัญหา หลังจากวิกฤติ เจ้าของแบ้งค์ก็กลายเป็น “เจ้าสัวเยสเตอร์เดย์” เจ้าของธนาคารที่ยังรวยอยู่นั้นน่าจะนับคนได้ และพวกเขาก็ไม่ได้รวยจากแบ้งค์อีกต่อไปแล้ว
อาณาจักรของหนังสือพิมพ์และสื่ออื่นโดยเฉพาะทีวีที่เป็นผู้นำนั้น เคยรุ่งเรืองมากซึ่งทำให้เจ้าของนั้น นอกจากจะร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีระดับประเทศที่ทุกคนรู้จักและเจ้าของมี Power หรืออำนาจสูงมากในทางใดทางหนึ่งทั้งทางด้านการเมืองและสังคม เจ้าของหนังสือพิมพ์หรือแม้แต่คนเขียนและกองบรรณาธิการนั้น สามารถสร้างหรือทำลายใครต่อใครได้ง่าย ๆ รวมถึงผู้มีอำนาจทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ไม่ต้องพูดถึงดาราหนังที่จะต้องเอาอกเอาใจหรือไม่ไปขัดใจในสิ่งที่ถูกขอให้ทำ เจ้าของหรือผู้บริหารทีวีนั้นแทบจะเรียกว่าเป็น “จ้าวแม่” ของดาราและผู้จัดทำละครและคนที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย พูดอะไรหรือเตือนใครก็ต้องฟังและปฏิบัติตาม อาณาจักรของทั้งสองธุรกิจนี้ พูดได้ว่าล่มสลายไปแล้วจากเทคโนโลยีดิจิตอลและการเปิดเสรีทีวีที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความมั่งคั่งนั้นสูญไปเป็น “แสนล้านบาท” ไม่ต้องพูดถึงอำนาจที่หมดไปเกือบจะ “ชั่วข้ามคืน”
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของอาณาจักรที่โดดเด่นที่ “ล่มสลายลง” และเป็นอุทาหรณ์เตือนใจให้นักธุรกิจซึ่งสำหรับผมแล้วก็รวมถึงนักลงทุนในตลาดหุ้นที่ต่างก็มี “อาณาจักร” ของตนเองด้วยว่า อย่าหลงระเริงไปกับความสำเร็จไม่ว่ามันจะยิ่งใหญ่แค่ไหนในสายตาของเราหรือในสายตาของผู้คนในสังคม ความสำเร็จถ้าเกิดขึ้นแล้วและดำรงมาจนถึงจุดที่น่าพอใจนั้น สิ่งที่จะต้องทำต่อไปก็คือการปกป้องความมั่งคั่งและความยอมรับนับถือจากคนรอบข้างและสังคมมากกว่าการที่จะเร่งหรือเพิ่มความมั่งคั่งเพราะมั่นใจในความสำเร็จที่ผ่านมาในอดีต ความมั่นใจในตนเองมากเกินไปนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่ก่อให้เกิดความล้มเหลวที่รุนแรงและทำให้เกิดการ “ล่มสลาย” ได้ และไม่ว่าเราจะเป็นอย่างไรหรือทำอย่างไร วิกฤติหรือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่าง “สิ้นเชิง” โดยเฉพาะที่มาจากเทคโนโลยีนั้น ก็สามารถทำลายองค์กรของธุรกิจดั้งเดิมหรือคนลงทุนในตลาดหุ้นได้เสมอ ไม่มีใครสามารถป้องกันหรือทนทานได้ ดังนั้น นอกจากการคิดตระหนักถึงความเสี่ยงของตัวเราอย่างรอบคอบและหาทางป้องกันอย่างเต็มที่แล้ว สวดมนต์ไว้บ้างก็ดีครับ


พบกับ ดร.นิเวศน์ฯ และกูรู ในสัมมนารวมพลคนลงทุนหุ้นเวียดนาม 62 คลิ๊ก: http://bit.ly/32fIaOn