โลกในมุมมองของ Value Investor
27 ตุลาคม 62
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ในช่วงเร็ว ๆ นี้ กลต. ได้ประกาศกล่าวโทษกลุ่มคนที่ทำผิดเกี่ยวกับการ “ปั่นหุ้น” ซึ่งผมดูแล้วมีความน่าสนใจแม้ว่ากรณีที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะไม่ใช่คดีใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับเงินและมีผู้เสียหายจำนวนมาก ว่าที่จริงนักลงทุนจำนวนมากรวมถึงผมเองก็น่าจะยังงง ๆ ว่าหุ้นตัวที่ถูกอ้างถึงเองนั้น “ถูกปั่น” ตอนไหน เพราะเท่าที่จำความได้ หุ้นสองตัวนั้นเงียบมานานและดูเหมือนคนจะไม่ได้สนใจเล่นเท่าไร ราคาก็ไม่หวือหวาไม่ต้องพูดถึงปริมาณการซื้อขายที่ไม่ร้อนแรงเหมือนที่เคยเป็น อย่างไรก็ตาม หลังจากที่อ่านประกาศ ผมก็รู้สึกว่า กลต. น่าจะเริ่ม “เอาจริง” กับการปั่นหุ้นมากขึ้น ใครที่มีพฤติกรรมชัดเจนว่าทำให้หุ้นมีราคาผิดธรรมชาติไม่เป็นไปตามภาวะการซื้อขายในตลาดโดยที่มีคนหรือกลุ่มคนที่ทำแบบนั้นจะต้องถูกลงโทษ สิ่งที่ทำให้ผมสนใจนั้นอยู่ที่ว่าในอนาคต กลต. จะเข้มขึ้นอีกไหมในการที่จะเล่นงานคนปั่นหุ้นที่ทำได้อย่าง “เนียนมาก” จนเอาผิดตามกฎหมายยากมากแต่สามารถกินเงินนักลงทุนจากตลาดหุ้นได้มโหฬาร
ความหมายของผมที่พูดแบบนั้นก็เพราะผมมีความคิดว่าในตลาดหุ้นไทยนั้น มีหุ้นที่มีราคา “ผิดธรรมชาติมาก” และผมรู้สึกว่าน่าจะมี “คนทำ” ซึ่งส่วนมากก็น่าจะหลาย ๆ คนซึ่งอาจจะรวมถึงเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ด้วย อาจจะเป็นแนว “Conspiracy Theory” หรือมีการสมคบคิดที่จะทำให้หุ้นมีราคาสูงไปมากมโหฬารในระดับที่ราคาหุ้นขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 3 เท่าและบางทีก็ขึ้นไปเป็น 10 เท่าหรือมากกว่านั้นในเวลาไม่นานซึ่งเข้าข่ายของหุ้นที่ “ถูกปั่น” และคนที่ทำนั้นก็มักจะได้ประโยชน์มหาศาลในขณะที่คนที่เสียหายขาดทุนก็มีมากมายหลังจากที่ราคาหุ้นตกกลับลงมาที่เดิมหรือต่ำกว่า ทั้งหมดนั้นผมรู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องของ “พื้นฐานของกิจการ” ที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะผมดูแล้วบริษัทก็มักจะทำเหมือนเดิม การเติบโตของธุรกิจในช่วงที่หุ้นขึ้นไปมากก็เป็นเรื่องของสถานการณ์ชั่วคราวหรือเป็นวัฏจักร์ หรืออาจจะเป็นเรื่องของการ “แต่งบัญชี” ให้ดูดีในช่วงเวลาหนึ่ง ดูเหมือนว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากก็คือ “Story” หรือเรื่องราวที่ถูกโปรโมตและประชาสัมพันธ์กันออกมาอย่างเข้มข้นโดยเฉพาะในช่วงที่หุ้นกำลังถูกผลักดันขึ้นอย่างต่อเนื่องเท่านั้น และนี่ก็คือสิ่งที่ทางการควรจะหันมาสนใจมากขึ้น
การปั่นหุ้นนั้นมีเทคนิคและมี “ศิลปะ” หลายรูปแบบซึ่งคนที่อยู่ในวงการลงทุนทุกคนควรจะต้องรับรู้ไว้เพื่อจะได้ไม่หลงกลเข้าไปเล่นตามเกมที่คนปั่นทำกัน และต่อไปนี้คือวิธีการบางอย่างที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในการปั่นหุ้น
เทคนิคแรกก็คือสิ่งที่ กลต. เพิ่งลงโทษไปและผมเองก็จำไม่ได้ว่าเคยมีใครถูกลงโทษในกรณีแบบนี้มาก่อนหรือไม่ ภาษานักลงทุนเรียกว่าการทำ “High Close” หรือทำราคาปิดให้สูงขึ้น นี่คือผู้ทำจะใช้กับหุ้นที่มีสภาพคล่องไม่มากที่คนทำจะเคาะซื้อหุ้นในช่วงปิดตลาดทุกวันหรือเกือบทุกวันต่อเนื่องกันเพื่อทำให้ราคาปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะสร้างภาพว่าหุ้นตัวนั้นกำลังปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ โดยที่คนทำนั้นใช้เงินไม่มากแต่ทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปสูงซึ่งในจุดหนึ่งเขาก็อาจจะขายทิ้งทำกำไร หรือไม่อย่างนั้นคนทำก็อาจจะต้องการให้หุ้นขึ้นไปเป็นฐานราคาอ้างอิงในกรณีต่าง ๆ เช่น เขาอาจจะกู้เงินโดยมีหุ้นค้ำประกัน ถ้าหุ้นมีราคาต่ำเขาอาจจะถูกเรียกหลักประกันเพิ่ม เป็นต้น
การปั่นหุ้นแบบที่สองคือ “Wash Trading” นี่คือการซื้อและขายกันเองในเวลาเดียวกันแบบต่อเนื่องโดยที่เขาหรือพวกเขาจะค่อย ๆ เพิ่มราคาที่ซื้อขายขึ้นเรื่อย ๆ เขาจะส่งคำสั่งซื้อจากโบรกหนึ่งและคำสั่งขายจากอีกโบรกหนึ่งผ่านบัญชีโนมินีเพื่อไม่ให้ถูกจับได้ จำนวนโนมินีและจำนวนโบรกเกอร์ที่ใช้นั้นยิ่งมากก็ยิ่งปลอดภัย ที่สำคัญ การทำแบบนี้ไม่ต้องใช้เงินลงในหุ้น เสียแต่ค่าคอมมิสชั่นซึ่งก็เสียไม่มากเพราะเขาเป็นนักลงทุนที่มีปริมาณซื้อขายมากซึ่งทำให้สามารถต่อรองกับโบรกเกอร์ได้ เช่น เสียแบบเหมา ซื้อขายเท่าไรก็เสียเท่าเดิมตามที่ตกลงกัน เป็นต้น การซื้อขายกันเองหรือ Wash Sale นั้น น่าจะเป็นกรณีที่ถูกจับในเรื่องของการปั่นหุ้นมากที่สุด เพราะกลต. สามารถตรวจสอบเส้นทางการเงินของการซื้อขายหุ้นได้ตามกฎหมาย ดังนั้น ถ้าทำคนเดียวก็อาจจะยาก แต่ถ้าทำกันเป็นกลุ่มและแต่ละคนก็มีเงินลงทุนเล่นหุ้นอยู่แล้ว มันก็อาจจะเป็นเรื่องยากที่จะตรวจจับการปั่นหุ้นแบบนี้
แบบที่สามเรียกว่า “Pump & Dump” แปลตามตัวก็คือ “ดันหุ้นให้ขึ้นไปสูงแล้วก็ทุบ” โดยวิธีที่จะลากหุ้นก็คือการปล่อยข่าวลวงหรือข่าวที่ดีเกินความเป็นจริงให้กระจายออกไปสู่นักลงทุนโดยเฉพาะรายย่อยในวงกว้างที่ชอบเล่นหุ้นเก็งกำไร พร้อม ๆ กันนั้นก็ทุ่มซื้อหุ้นอย่างเร็วและมากซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปอย่างแรง สิ่งนี้ประกอบกับข่าวดีที่ออกมา ทำให้นักเล่นหุ้นโดยเฉพาะรายย่อยแห่กันเข้าซื้อหุ้นดันให้ราคาวิ่งสูงขึ้นไปอีก จนถึงจุดหนึ่งที่คนปั่นเห็นว่าแรงซื้อใกล้หมดแล้ว เขาก็เทขายหุ้นออกไปจนหมด ทำกำไรมหาศาลในเวลาอันสั้น และก็เช่นเดียวกับการปั่นหุ้นแบบอื่น หุ้นที่จะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องมี Free Float ไม่สูงมาก ซึ่งจะทำให้สามารถดันหุ้นขึ้นไปได้โดยไม่ต้องใช้เงินมากนัก
แบบที่สี่คือ “Bear Raiding” หรือการ “ล่าหมี” นี่คือวิธีที่ตรงกันข้ามกับ Pump & Dump คนที่ทำมักจะขาย Short Sale หุ้นไว้ เสร็จแล้วก็ออกข่าวร้ายและตามด้วยการทุบหรือขายหุ้นอย่างหนักทำให้หุ้นตกลงมาแรงซึ่งทำให้เขาสามารถซื้อหุ้นกลับในราคาต่ำและทำกำไรจากช๊อตเซลเป็นกอบเป็นกำ
แบบสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือการทำ “Market Cornering” หรือการ “ต้อนหุ้นเข้ามุม”นี่คือสุดยอดของการปั่นหุ้นที่จะทำให้หุ้นสามารถวิ่งขึ้นไปได้สูงมากและอยู่ยาวพอที่จะขายหุ้นทิ้งทำกำไรได้มหาศาล เหตุผลก็เพราะว่าเมื่อหุ้นถูกซื้อจนเหลือหุ้นที่อยู่ในมือนักลงทุนน้อยมากหรือ “ติดมุม” แล้ว การควบคุมราคาก็ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ราคาหุ้นจะถูกกำหนดให้ปรับตัวในทิศทางที่คนปั่นต้องการนั่นก็คือ ขึ้น ขึ้น และขึ้นทุกครั้งที่มี “ข่าวดี” ซึ่งอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้ ตรงกันข้าม เวลามีข่าวร้ายและหุ้นตก การตกก็จะน้อยกว่าความเป็นจริงมากเพราะเขาสามารถรับหุ้นที่จะถูกขายจำนวนน้อยนั้นได้ หลังจากที่หุ้นถูกปั่นขึ้นไปสูงมากจน “เหลือเชื่อ” เนื่องจากคนทั้งตลาดเชื่อในคุณภาพและการเติบโตของหุ้นแล้วและต่างก็เข้าซื้อและไม่ยอมขาย คนปั่นก็จะเริ่ม “ปล่อยของ” คือทยอยขายหุ้นออกไปจนหมด ทำกำไรมหาศาลจากการปั่นที่เต็มไปด้วยศิลปะในการโน้มน้าวจิตใจคน
ยังมีเทคนิคและวิธีในการปั่นหุ้นอีกหลายแบบแต่ทั้งหมดนั้นก็อิงอยู่กับเรื่องของจิตวิทยาของคนที่ลงทุนในตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักเก็งกำไรที่ต้องการทำเงินอย่างรวดเร็วในตลาดหุ้น คนที่ปั่นหุ้นจะต้องเป็นคนที่เข้าใจจิตวิทยาเหล่านี้ นอกจากนั้น พวกเขาจะต้องเข้าใจสภาวะตลาดหุ้นและอุตสาหกรรมรวมถึงต้องเข้าถึงผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นใหญ่ หรือเจ้าของและรู้ว่าพวกเขาคิดอย่างไรและพร้อมที่จะ “ร่วมมือ” ในการ “ปั่น” หรือ “ดูแล” ราคาหุ้นแค่ไหน เหตุผลก็เพราะว่าถ้าเจ้าของ “ไม่เล่นด้วย” ก็จะมีความเสี่ยงที่เวลาหุ้นขึ้นไปสูงก็จะถูกทุบและคนที่จะปั่นก็มักจะรับซื้อหุ้นไม่ไหว
การร่วมกันเป็นกลุ่มแบบที่มีการตกลงกันเป็นกิจจะลักษณะที่จะปั่นหุ้นนั้น บางทีหรือบ่อยครั้งก็ไม่จำเป็นและอาจจะไม่เป็นผลดี การทำกันแบบต่างคนต่างทำแต่สอดคล้องกันและสอดคล้องกับผู้บริหารหรือเจ้าของที่จะต้องเข้ามาร่วมดำเนินการโดยเฉพาะในเรื่องของการโปรโมตและออกข่าวประชาสัมพันธ์กิจการและตัวหุ้นนั้นน่าจะให้ผลที่ดีกว่าและปลอดภัยที่จะถูกจับโดยคนหรือพนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ว่าที่จริงการปั่นหุ้นที่โดดเด่นมากนั้น มักจะสามารถดึงเอาคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปั่นและด้อยประสบการณ์เข้ามาสนับสนุนโดยไม่รู้ตัว คนเหล่านี้รวมไปถึงนักวิเคราะห์หุ้นและคนที่เป็นที่ยอมรับในวงการการลงทุนด้วย เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะการปรับตัวขึ้นของราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นที่โดดเด่นและต่อเนื่องซึ่งทำให้ทุกคนรู้สึกดีและได้ประโยชน์ แต่ทั้งหมดนั้นจะสลายไปเมื่อหุ้นตกถล่มทลายและความจริงต่าง ๆ เริ่มปรากฏขึ้น
อาจจะมีคนเถียงว่าหุ้นที่ขึ้นไปมาก ๆ นั้น เป็นเพราะพื้นฐานของกิจการดีขึ้นมาก ดังนั้น คนก็เข้ามาเก็งกำไรจนราคาหุ้นขึ้นไปสูง จะขึ้นไป 10 เท่าและค่า PE เป็น 100 เท่าก็เป็นเรื่องของ Demand-Supply ไม่มีใครปั่น และที่หุ้นตกกลับลงมา 9 เท่าหรือ 10 เท่าก็เป็นเรื่องของภาวะแวดล้อมที่แย่ลงและความผิดพลาดของกิจการซึ่งทำให้คนเทขายหุ้น ประเด็นแบบนี้คงไม่สามารถพิสูจน์ได้ตราบที่ไม่มีการกล่าวโทษโดยกลต. สำหรับนักลงทุน “มืออาชีพ” แล้ว เราไม่สนใจที่จะพิสูจน์ เราเพียงแต่จะต้องเข้าใจผลที่เกิดขึ้นกับราคาและปริมาณการซื้อขายหุ้นว่ามัน “ผิดธรรมชาติ” และหน้าที่ของเราก็คือการหลีกเลี่ยงที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “หุ้นปั่น” ไม่ว่ามันจะมีคนตั้งใจทำจริง ๆ หรือไม่
———————-
แต่ถ้าใครสนใจอยากกระจายความเสี่ยงและเรียนรู้เรื่องหุ้นเวียดนามเพิ่มเติม เพราะ 1 ปีเราจัดให้มีเพียง 1 ครั้ง พลาดครั้งนี้ต้องรอไปอีก 1 ปี สมัคร สัมมนารวมพลคนลงทุนหุ้นเวียดนาม คลิ๊ก http://bit.ly/32fIaOn