โลกในมุมมองของ Value Investor 18 มกราคม 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
บางทีอาจจะเป็นเพราะผมแก่ตัวลงทำให้ชอบมองย้อนหลังและเปรียบเทียบอดีตกับปัจจุบันในทุกเรื่องทุกประเด็นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือเรื่องที่ผมคิดว่าเป็น “แนวโน้ม” ใหญ่ หรือเป็นกระแสที่เป็นการเปลี่ยนแปลงระยะยาวทางเดียว ไม่ใช่เรื่องที่เป็นการเปลี่ยนแปลงระยะสั้นกลับไปมาหรือขึ้นลงเป็นแฟชั่น ในบทความนี้ผมคงพูดเฉพาะเรื่องของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเป็นหลักและก็จะเป็นเรื่องที่มาจากความเข้าใจและความรู้สึกที่เก็บสะสมมาต่อเนื่องยาวนานโดยไม่ได้อ้างอิงตัวเลขแบบวิชาการ อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าตัวเลขจริงก็คงไม่ผิดไปมากจนทำให้ข้อสรุปนั้นมีความผิดพลาดอย่างมีนัยสำคัญ
เรื่องแรกก็คือการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งในอดีตนั้นเราเคยโตเร็วมาก ช่วงเวลาส่วนใหญ่เราเคยโตประมาณ 7% ต่อปี บางช่วงสั้น ๆ เราเคยโตเกิน 10% และช่วงที่เราประสบ “ปัญหา” ทางเศรษฐกิจ เราก็โตประมาณ 5% แต่เดี๋ยวนี้ดูเหมือนว่าเราจะโตแค่ 3% ต่อปี หรือน้อยกว่านั้น นั่นเป็นตัวเลขคร่าว ๆ ผมจำได้ว่าในช่วงที่เศรษฐกิจโตเร็วนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจมีความคึกคักมาก ในสมัยที่ผมยังเป็นเด็กนั้น แค่เห็นแสงไฟนีออนในยามค่ำคืนที่เยาวราชและต่อมาแถวถนนเพชรบุรีตัดใหม่ที่เป็นแหล่งของ “คนกลางคืน” มันก็บอกได้ถึงความเติบโตของเศรษฐกิจแล้ว ต่อมาก็เป็นเรื่องของรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นเต็มถนน การผุดขึ้นของคอนโดมิเนียม การเติบโตของห้างค้าปลีกสมัยใหม่ และแม้แต่ร้านอาหารจีนหรืออาหารทะเลที่แสนแพงต่าง ๆ เหล่านี้ ก็เป็นสัญญาณที่บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าคนรวยขึ้นและมีจำนวนมากขึ้น ตรงกันข้าม ในระยะหลังหรือวันนี้ ผมก็เริ่มเห็นสัญญาณที่บอกว่าเศรษฐกิจกำลังหงอยเหงาลง ภัตตาคารหรูหลาย ๆ แห่งที่ผมเคยไปกินต่อเนื่องมาเป็นสิบ ๆ ปี ค่อย ๆ ทยอยปิดตัวลง จริงอยู่ การเปลี่ยนพฤติกรรมของการกินก็คงมีส่วนบ้าง แต่ผลจากภาวะเศรษฐกิจน่าจะมากกว่า
ตลาดหุ้นเมื่อวันวานกับวันนี้นั้น ผมคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร สิ่งที่ชัดเจนก็คือการลดลงของนักลงทุนส่วนบุคคลที่ซื้อขายหุ้นลงทุนเองในตลาดนั้น หลังจากที่ Peak หรือขึ้นถึงจุดสูงสุดในช่วงประมาณ 6-7 ปีมาแล้ว บัดนี้ดูเหมือนว่าจะลดลงไปมาก จากตัวเลขปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันประมาณ 70-75% ในช่วงต้น ๆ ของการก่อตั้งตลาดหลักทรัพย์ และสูงเกิน 50% ของปริมาณการซื้อขายทั้งหมดมานานมาก เดี๋ยวนี้เหลือแค่ประมาณ 30-40% โดยที่นักลงทุนต่างประเทศยังคงซื้อขายกันประมาณ 25-35% ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงวันนี้ ผู้เล่นใหม่ที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือนักลงทุนสถาบันที่ซื้อขายอยู่ที่ประมาณ 15% จากที่มีบทบาทน้อยมากในอดีต
ปริมาณการซื้อขายของหุ้นตัวเล็กเทียบกับขนาดหรือ Market Cap. นั้นสูงมากในอดีตซึ่งเป็นสัญญาณว่านักลงทุนส่วนบุคคลในตลาดหุ้นที่มักเป็นรายย่อยนั้นเป็น “นักเก็งกำไร” ที่ซื้อขายหุ้นเพราะหวังส่วนต่างของราคาหุ้นในระยะสั้น ในช่วงที่การเก็งกำไรสูงสุดประมาณ 3-4 ปีที่ผ่านมานั้น การเห็นหุ้นตัวเล็กหรือกลาง–เล็ก ติดอันดับ 1 ใน 10 ของหุ้นที่มีการซื้อขายสูงสุดจำนวนหลายตัวเกือบทุกวันเป็นเรื่องปกติ แต่ในวันนี้หุ้นตัวเล็กหรือกลาง–เล็กแทบไม่เคยติดอันดับเลย นักเก็งกำไรเองนั้นก็ยังคงอยู่ แต่ก็มีน้อยลงอานิสงค์จากการที่หุ้นตัวเล็กมีราคาตกลงไปมากซึ่งทำให้นักเล่นหุ้นหายไปจากตลาดไม่น้อย นักลงทุนส่วนบุคคล “รายใหญ่” หลายคนผันตัวเองไปเล่นเก็งกำไรในหุ้นขนาดใหญ่โดยใช้เครื่องมือหรือตราสารทางการเงินที่สามารถ “ขยายผลของราคาโดยการกู้” เช่น บล็อกเทรด มาเล่นแทนการเล่นหุ้นขนาดเล็ก
ในอดีตนั้น หุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงมาก ราคาขึ้นไปเป็นหลายเท่าตัวในเวลาไม่นานมักจะมีแต่หุ้นขนาดเล็กหรือกลาง–เล็ก สาเหตุมักจะมาจากการที่บริษัทมีการเติบโตของผลประกอบการที่โดดเด่นซึ่งทำให้นักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรโดยการเข้ามาซื้อหุ้นจำนวนมากจนหุ้นถูก “Corner” ปริมาณ Free Float ที่มีน้อยทำให้หุ้นสามารถถูกกำหนดโดย “เจ้ามือ” ที่มักเป็นนักลงทุนรายใหญ่เมื่อเทียบกับนักลงทุนรายย่อยอื่น ๆ แต่เดี๋ยวนี้หุ้นขนาดใหญ่บางตัวที่มี Free Float คิดเป็นเปอร์เซ็นต์ของหุ้นทั้งหมดไม่มากก็สามารถถูกต้อนเข้ามุมเหมือนกัน เหตุผลก็คือ นักลงทุนสถาบันที่มีเม็ดเงินจำนวนมากได้เข้ามาเล่นในเกมนี้ด้วย ก่อนหน้านี้อาจจะเล่นในหุ้นขนาดกลางหรือกลาง–เล็ก เวลานี้หุ้นขนาดใหญ่ที่มีผลประกอบการเติบโตเร็วก็วิ่งเร็วได้จนไม่น่าเชื่อเหมือนกัน พูดง่าย ๆ ก็คือ นักลงทุนสถาบันบางแห่งเริ่มเข้ามาทำตัวเหมือนนักลงทุนส่วนบุคคลรายใหญ่ในตลาด
ตลาดหุ้นไทยตั้งแต่อดีตนั้น เราไม่เคยขาด “เซียนหุ้นรายใหญ่” ที่เป็นบุคคลธรรมดา ตั้งแต่จำความได้ เรามี “ขาใหญ่” ในตลาดหุ้นตั้งแต่เปิดตลาดใหม่ ๆ ในช่วงแรก ๆ ก็มีไม่กี่คน พวกเขามีบทบาทเข้าไปเกี่ยวข้องกับหุ้นบางตัวในบางเวลามาตลอดและมักจะเป็นที่รู้กันในวงการ บางครั้งมีถึงขนาดจะไปเทคโอเวอร์แบ้งค์ขนาดใหญ่ แน่นอน ในบางช่วงเวลาโดยเฉพาะในยามที่ตลาดประสบกับวิกฤติพวกเขาก็มักจะห่างหายไปบ้าง แต่เมื่อตลาดหุ้นคึกคักขึ้นก็จะกลับมาใหม่ ขาใหญ่นั้น หลายคนก็หายไปจากตลาดเมื่อเวลาผ่านไปแต่หลายคนก็ยังคงอยู่และใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามตลาดหลักทรัพย์ที่โตขึ้น ชื่อของพวกเขานั้นทุกคนในตลาดต่างก็รู้จักดีเพราะอยู่มานานเป็นสิบ ๆ ปี
แต่คนอาจจะไม่รู้ว่าในวันนี้ ขาใหญ่หรือเซียนหุ้นรายใหม่นั้นเกิดขึ้นไม่น้อยโดยที่หลายคนนั้นไม่เป็นที่รู้จักของคนในสังคม พวกเขาเพิ่งเติบโตขึ้นมา ส่วนใหญ่อาจจะไม่เกิน 10 ปีด้วยซ้ำ แต่ขนาดของเม็ดเงินและความสามารถที่จะขับเคลื่อนหุ้นนั้นมหาศาล ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะกล้าได้กล้าเสียกว่าในการที่จะ Leverage หรือกู้เงินขยายผลการลงทุนเป็นหลาย ๆ เท่าตัว อิทธิพลของนักลงทุนรายใหญ่รุ่นใหม่นั้นน่าจะแซงเซียนหุ้นรุ่นเก่าไปแล้ว ในขณะที่เซียนหุ้นรุ่นเก่านั้นก็กำลังเข้าสู่วัยสูงอายุและอาจจะค่อย ๆ ถอนตัวออกไปจากตลาดในไม่ช้า
สมัยก่อน คือช่วงตั้งแต่เปิดตลาดหุ้นถึงปีวิกฤติเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 เป็นเวลา 22 ปี นั้น คนที่ “ลงทุนในตลาดหุ้น” นั้น แทบจะเรียกว่าไม่มี มีแต่คน “เล่นหุ้น” ที่เป็น “รายใหญ่” หน่อยก็มักเป็นคนทำธุรกิจที่ชอบเก็งกำไรและมีเงินมากหน่อยก็จะเข้ามาเล่นหาเงินจากตลาดหุ้น นักลงทุนที่เหลือก็คือนักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยที่มักจะเป็นแม่บ้านหรือคนที่ชอบเก็งกำไรหรือเล่นการพนัน คนที่เป็นพนักงานบริษัทที่จะเล่นหุ้นนั้นจะมีก็แต่คนที่อยู่ในวงการการเงินและหลักทรัพย์ การเล่นหุ้นนั้นมักจะอาศัยข่าวสารข้อมูลที่เป็นเรื่องของภาพใหญ่และเหตุการณ์และกลยุทธ์การดำเนินงานของบริษัท แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเรื่องของ “ข้อมูลภายใน” เกี่ยวกับผลประกอบการและการเข้ามาเล่นของนักลงทุนรายใหญ่ที่มีอิทธิพลขับเคลื่อนราคาหุ้นได้
หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจและการเกิดขึ้นของแนวความคิดการลงทุนแบบ VI มาจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลาประมาณ 20 ปี กลุ่มของนักลงทุนเปลี่ยนแปลงไปมาก นักลงทุนส่วนบุคคลกลายเป็นคนกินเงินเดือนหรือคนทำงานส่วนตัวที่มีรายได้และการศึกษาสูง นักลงทุนสถาบันเกิดขึ้นมากมายอานิสงค์จากการส่งเสริมของภาครัฐที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนหุ้นระยะยาว กองทุนบำเหน็จบำนาญ กองทุนประกันสังคม และกองทุนต่าง ๆ สารพัดนอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรศาสตร์และสังคมที่คนไทยต่างก็มีลูกน้อยลงมากหรือไม่มีเลยทำให้ต้องลงทุนเพื่อการเกษียณของตนเองแทนที่จะหวังพึ่งพาลูก ทั้งหมดนี้ทำให้มีเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ได้คิดว่าหุ้นเป็นเรื่องของการพนันแต่เป็นการลงทุน “เพื่อชีวิต” การลงทุนในตลาดหุ้นเองนั้นไม่ได้แตกต่างจากการลงทุนในธุรกิจ และดังนั้น การวิเคราะห์และศึกษาข้อมูลของบริษัทเพื่อที่จะใช้เลือกหุ้นจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งหมดนี้ทำให้การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นกิจกรรมที่สำคัญระดับชาติ ตลาดหลักทรัพย์กลายเป็น “เสาหลัก” ที่สำคัญไม่แพ้สถาบันหลักอื่น ๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
กล่าวโดยสรุปทั้งหมดก็คือ เศรษฐกิจในอดีตของเราก้าวหน้าเร็วมากแต่กำลังชะลอลงอย่างแรงในวันนี้ ส่วนตลาดหุ้นของเราก็เช่นกัน มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและแข็งแรงมั่นคงมีมาตรฐานดีขึ้นมากมานาน แต่การเติบโตของหุ้นที่ค่อนข้างนิ่งมานานถึง 6-7 ปี รวมถึงการลดลงของการสนับสนุนจากภาครัฐในช่วงเร็ว ๆ นี้ก็อาจจะทำให้ตลาดหงอยลงได้เช่นกัน