ต้มยำกุ้ง-ซับไพร์ม-โควิด19

0
10089

โลกในมุมมองของ Value Investor 14 มี.ค. 63

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ถึงวันนี้คือวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม 2563 ก็ถือได้แล้วว่าเรากำลังอยู่ในวิกฤติตลาดหุ้นอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ว่างเว้นจากวิกฤติมา 12 ปีนับจากวิกฤติซับไพร์มในปี 2551 เหตุผลก็คือ  ดัชนีตลาดหุ้นได้ตกลงมาอย่างแรงถึง 10% จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องใช้  “Circuit Breaker” ถึง 2 ครั้งในสัปดาห์เดียว และถ้าคิดจากสิ้นปีที่แล้ว  ดัชนีก็ตกลงมาแล้วเกือบ 30% ในเวลาไม่ถึง 3 เดือน  ดัชนีตลาดตกลงมาจาก 1,580 จุดเหลือเพียง 1,129 จุด หรือลดลงมาถึง 451 จุด นอกจากนั้น  ถ้าคิดว่าดัชนีตลาดในช่วงประมาณ 2 ปีมานี้เคยอยู่ที่ระดับสูงสุดกว่า 1,800 จุด  ดัชนีตลาดก็ตกลงมาเกือบ 40% แล้ว  ดังนั้น  นี่คือภาวะวิกฤติตลาดหุ้นเต็มตัวซึ่งต่อไปนี้ผมจะเรียกว่าเป็น “วิกฤติโควิด19”  ประเด็นก็คือ มันจะตกต่อไปหรือไม่  เป็นเวลาที่เราจะเข้าไปช้อนซื้อหุ้นหรือยัง?

ก่อนที่จะตอบคำถาม  ผมอยากจะเล่าเรื่องเพื่อที่จะให้เข้าใจธรรมชาติของวิกฤติตลาดหุ้นของไทยที่ผ่านมาเสียก่อน น่าแปลกที่ว่าวิกฤติตลาดหุ้นนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยพอสมควรและมักจะมาหลังจากเกิดวิกฤติครั้งก่อนไม่เกินประมาณทุก 10 ปี  เริ่มตั้งแต่เปิดตลาดหุ้นในช่วงแรก   ในปี 2522  เราก็เกิดวิกฤติ “ราชาเงินทุน” ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนที่เกิดปัญหาล้มละลายเนื่องจากปล่อยเงินกู้ให้นักลงทุนไปซื้อหุ้นชองบริษัทเองเพื่อ  “ปั่นหุ้น” ซึ่งในช่วงเวลานั้นไทยยังไม่มีกฎหมายป้องกันหรือปราบปรามการปั่นหุ้น  ราคาของหุ้นโดยเฉพาะของราชาเงินทุนปรับตัวขึ้นสูงลิ่วพร้อม กับหุ้นอื่น  โดยเฉพาะหุ้นของกลุ่มบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์  ดัชนีตลาดวิ่งขึ้นจากสิ้นปี 2519 ที่ 83 จุด เป็น 258 จุดเมื่อสิ้นปี 2521 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 210% ในเวลาเพียง 2 ปี   เมื่อวิกฤติเกิดขึ้น  ดัชนีตกลงมาเหลือเพียง 149 จุดตอนสิ้นปี  หรือตกลงมา 42%  หลังจากนั้น  ดัชนีก็ตกลงมาเรื่อย   คนเลิกสนใจในตลาดหุ้นเพราะรู้สึกว่าตลาดหุ้นที่เพิ่งเปิดมาไม่นานนั้น  เป็นแหล่งการเก็งกำไรหรือการพนัน  จนกระทั่งถึงสิ้นปี 2528 หรือเป็นเวลาถึง 6 ปีที่ดัชนีก็ยังอยู่ที่ 135 จุด

ตลาดเริ่มฟื้นตัวอย่างแรงอานิสงค์จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเงินเศรษฐกิจและลดค่าเงินบาทซึ่งทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยเฟื่องฟู  ดัชนีตลาดหุ้นพุ่งขึ้นแรง  ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี  ดัชนีตลาดก็ปรับตัวขึ้นจาก 135 จุดเป็น207 จุดเมื่อสิ้นปี 2529 หรือเพิ่มขึ้น 53% และพอถึงเดือนตุลาคมปี 2530 ดัชนีก็ขึ้นไปถึงประมาณ 430 จุดหรือขึ้นไปอีกกว่า 100% ในเวลาประมาณ 9 เดือน  แต่แล้วในวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ก็ถล่มทลายตกลงมาถึง 508 จุดหรือตกลงมาถึง 23% ในวันเดียว  ซึ่งน่าจะถือเป็นการตกที่แรงที่สุดในประวัติศาสตร์จนถึงวันนี้ยังไม่มีวันที่ลบสถิติได้  อานิสงค์สำคัญส่วนหนึ่งจากการเทรดของคอมพิวเตอร์ที่เริ่มมีการใช้ในตลาดหุ้นนิวยอร์ค  นั่นคือวิกฤติ  “Black Monday”

ตลาดหุ้นไทยในวันอังคารที่ 20 ตุลาคม 2530 ก็ตกตามตลาดนิวยอร์คลงมาแบบ “วิกฤติ”  จนถึงสิ้นปีดัชนีตกลงมาเหลือ 285 จุดหรือตกลงมา ประมาณ 33% ในเวลาไม่ถึง 3 เดือน  อย่างไรก็ตามดัชนีก็ยังสูงกว่าตอนต้นปีที่ 207 จุด  ถึง38% ดังนั้น  สำหรับนักลงทุนระยะยาวที่ไม่ขวัญเสียตกใจและถือหุ้นต่อไปก็ไม่ถูกกระทบอะไรเลย  มันเป็นวิกฤติที่ไม่ได้มาจากเรื่องของเศรษฐกิจแต่อาจจะมาจากการที่หุ้นขึ้นร้อนแรงเกินไปและมีการปรับตัวแรงเนื่องจากการเทรดด้วยคอมพิวเตอร์ที่สั่งการอย่างรวดเร็วจนทำให้เกิดการขายอย่างต่อเนื่องจนควบคุมไม่อยู่มากกว่า  และมันก็ลามมาถึงตลาดหุ้นไทยซึ่งก่อให้เกิดวิกฤติตลาดหุ้นครั้งที่สองในระยะ 8-9 ปีหลังจากการเกิดวิกฤติครั้งแรก

วิกฤติตลาดหุ้นไทยครั้งที่ 3 นั้นดูเหมือนว่าจะคล้าย   ครั้งที่สองและเกิดขึ้นเพียง 3 ปีนับจาก Black Monday นั่นก็คือวิกฤติสงครามอ่าวเปอร์เซียที่เกิดในช่วงกลางปี 2533 ที่ซัดดัม อุสเซนของอิรักบุกยึดครองคูเวตส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยที่กำลังร้อนแรงมากตกลงมาจากประมาณ 1,100 จุด เหลือเพียง 550 จุด หรือลดลง 50% ในเวลา 4-5 เดือน  อย่างไรก็ตาม  เมื่อสหรัฐบุกเข้าไปปลดปล่อยคูเวตได้สำเร็จ  ดัชนีหุ้นก็ปรับตัวขึ้นไปแรง  เหตุการณ์นี้แทบไม่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจเลยคล้าย   กับเหตุการณ์ Black Monday  ดังนั้น  หุ้นจึงฟื้นตัวเร็วมากหลังเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดวิกฤติผ่านไป

วิกฤติตลาดหุ้นไทยครั้งที่ 4 นั้นคือวิกฤติ  “ต้มยำกุ้ง”  ในปี 2540 นี่คือวิกฤติที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย  ปัญหาที่ก่อให้เกิดวิกฤติมาจากภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของไทยมีการเติบโตขึ้นอย่างมหาศาลอานิสงค์จากการย้ายฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นและการเปิดเสรีทางการเงินของไทยที่อนุญาตให้นำเงินจากต่างประเทศมาลงทุนหรือปล่อยกู้ได้  และนั่นก็ก่อให้เกิดปัญหา  เพราะธุรกิจขนาดใหญ่ต่างก็กู้เงินดอลลาร์ระยะสั้นที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินบาทมากเพราะเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบตายตัวมาลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการเงินทุนระยะยาว  ในระหว่างนั้นเอง  ดูเหมือนว่าค่าเงินบาทจะแข็งตามดอลลาร์ซึ่งทำให้การส่งออกของไทยมีปัญหาทำให้เกิดการขาดดุลการค้าสูงมาก  จนในที่สุดเงินดอลลาร์สำรองของประเทศก็หมดลงส่วนหนึ่งจากการเข้ามาเก็งกำไรของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ระดับโลกอย่างของจอร์จโซรอส ทำให้แบ้งค์ชาติจำเป็นต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวซึ่งทำให้ค่าเงินบาทลดลงมาถึง 50% ในช่วงเวลาหนึ่งส่งผลให้บริษัทขนาดใหญ่เกือบทั้งประเทศเกือบล้มละลาย  รวมถึงสถาบันการเงินเกือบทั้งหมดขาดสภาพคล่อง  กลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจและตลาดหุ้น  ดัชนีหุ้นไทยตกลงมาถึง 55% ในปี 2540 หลังจากที่ตกลงมาประมาณ 40% แล้วในปี 2539 “วิกฤติต้มยำกุ้ง” นั้น  เกิดขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจที่ร้อนแรงและผสมกับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปสูงก่อนหน้านั้น  เมื่อเกิดวิกฤติ  ผลกระทบต่อดัชนีจึงสูงมาก ดัชนีเคยอยู่สูงถึง 1,754 จุดในต้นปี 2537 พอสิ้นปี 2540 ดัชนีลดลงมาเหลือเพียง 373 จุดหรือลดลงถึงเกือบ 80%  และใช้เวลานานมากกว่าที่ดัชนีหุ้นจะกลับที่เดิม  ว่าที่จริงในปี 2543 หรือปี คศ. 2000 ดัชนีตลาดหุ้นไทยก็วิกฤติอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่ 5 ดัชนีหุ้นตกลงมาถึง 44% จาก 482 จุดเหลือ 269 จุด ตามวิกฤติด็อตคอมของอเมริกา  อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครสนใจอะไร  เพราะตลาดหุ้นไทยในเวลานั้นเหงาหงอยมาก  มีการซื้อขายหุ้นต่อวันเพียง 3-4,000 ล้านบาท  ไม่มีใครสนใจว่าหุ้นจะขึ้นหรือตกหรือวิกฤติ

เวลาผ่านไปพร้อมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจนถึงปี 2551 เราก็ประสบกับวิกฤติครั้งที่ 6 คือวิกฤติซับไพร์มที่เกิดขึ้นในอเมริกา  ปัญหาคือเศรษฐกิจของอเมริกานั้นร้อนแรงมีการปล่อยกู้ให้แก่คนซื้อบ้านที่ไม่มีกำลังซื้อจริงหรือเป็น “ซับไพร์ม” เสร็จแล้วสถาบันก็เอาหนี้ไปขายต่อโดยทำวิศวกรรมการเงินให้เป็น  “หนี้ดี” แต่ในที่สุดระบบก็ล่ม  สถาบันการเงินที่ทำก็ล่ม  เศรษฐกิจมีปัญหา  หุ้นตกลงมาประมาณ 40% เป็นวิกฤติ  ดัชนีตลาดหุ้นไทยตกลงมาประมาณ  50% จาก 800 จุดเป็น 400 จุด ในช่วงปี 2551 แต่หลังจากนั้นก็ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 2 ปีดัชนีก็ขึ้นไปเกิน 1,000 จุดแล้ว   เหตุผลก็เพราะเศรษฐกิจไทยถูกกระทบน้อยมาก  ในขณะที่สหรัฐและประเทศที่ก้าวหน้าของโลกต่างก็ทำ QE อัดฉีดเงินเข้าระบบมากอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน  ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวมาจนถึงทุกวันนี้

วิกฤติโควิด19 นั้น  ที่จริงมี “สัญญาณ” มาหลายปีแล้ว  นั่นคือ เศรษฐกิจของอเมริการ้อนแรงมานานพร้อมกับดอกเบี้ยที่ตกต่ำสุด  มานาน  ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นร้อนแรงมากมานานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน  นอกจากนั้น  เริ่มเกิด “Inverted Yield Curve” ซึ่งในอดีตบอกว่ามักจะตามมาด้วยวิกฤติ  แต่คนก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเป็นสาเหตุ  ตอนนี้เรารู้แล้วว่าสาเหตุน่าจะมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกาเป็นตัวเริ่ม  ตามมาด้วยไวรัสโควิดที่เริ่มที่จีน  ต่อมามีสงครามราคาน้ำมันและโควิดที่ลามไปทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยเอง  เราเริ่มวิกฤติในยามที่ดัชนีตลาดเหงาหงอยมา 6-7 ปีแล้ว อานิสงค์จากเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงมาในเวลาเท่า  กัน  เรามีปัญหาสังคมสูงอายุที่กำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วอันดับต้น   ของเอเชีย  เรามีปัญหาการเมืองที่คนยังตกลงกันไม่ได้ว่าประเทศควรจะไปทางไหนโดยเฉพาะระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า  เรากำลังเข้าสู่วิกฤติในยามที่เราอ่อนแอที่สุดไม่เหมือนในอดีตที่เราแข็งแรงทุกครั้งที่มีวิกฤติ  อย่างไรก็ตาม  ประวัติศาสตร์บอกเราว่าเราฟื้นตัวมาได้เสมอ  อะไรจะทำให้เราฟื้นตัวได้ผมไม่รู้  อาจจะเป็นเรื่องที่คนไทยที่ “รวย”  ยังมีเงินสดอยู่มากที่ถูกเก็บสะสมมานาน  เงินนี้ไม่มีที่ลงทุนที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีพอ  ดังนั้น  เมื่อเวลาผ่านไปและคนตระหนักว่าหุ้นถูก   ของบริษัทที่ยังมั่นคง  ทำกำไรได้ดีพอใช้และสามารถจ่ายปันผลปีละ 4-5% ได้ก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด  เมื่อนั้นหุ้นก็อาจจะปรับตัวขึ้นมา  อาจจะไม่ได้โดดเด่นสูงมากอย่างที่เราเคยเป็นมาก่อน  แต่ก็ดีพอ  และในไม่ช้าโควิดก็จะจากไปเช่นเดียวกับราคาน้ำมันที่จะปรับตัวขึ้นและโลกก็ฟื้นตัวกลับขึ้นมา  ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  นี่เป็นเวลาซื้อหุ้นครับ