ลงทุนหุ้นท่ามกลางวิกฤติ

0
11558

โลกในมุมมองของ Value Investor    

 21 มีนาคม 63

ดรนิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวขึ้นอย่างแรงจาก 1,044.19 จุดเป็น1,127.24 จุด ปรับเพิ่มขึ้นถึง 83 จุดหรือเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 8% ในวันเดียว  หุ้นขนาดใหญ่หลายตัวปรับขึ้นติดซิลลิ่งที่15% ทั้ง  ที่ไม่ได้มีข่าวสำคัญมากอะไรที่น่าจะเป็นสาเหตุ  จริงอยู่  ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นมาบ้างจากราคาที่ต่ำมากอาจจะเป็นจุดที่ทำให้หุ้นในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันและปิโตรเคมีดูดีขึ้นแต่นั่นก็ไม่น่าที่จะทำให้ตลาดปรับตัวขึ้นแรงขนาดนั้น สถานการณ์ของไวรัสโควิท19 ของไทยและของโลกเองก็ไม่ได้ดูดีขึ้น  ว่าที่จริงโดยเฉพาะในกรณีของประเทศไทยเองนั้น  ดูเหมือนว่าเราจะ “แย่ลงมาก” โอกาสที่เราจะต้อง  “ปิดเมือง” ดูเหมือนจะสูงขึ้นมาก  ถ้าถามผมคิดว่า  การปรับตัวขึ้นของดัชนีนั้น  น่าจะมาจากแรง  “เก็งกำไร” ของนักลงทุนไทยที่อาจจะเห็นว่าดัชนีตลาดหุ้นได้ตกลงมามากจนเป็นวิกฤติ  เดี๋ยวก็จะ  “เด้ง” ขึ้น  ดังนั้น  พวกเขาจึงเข้ามาช้อนซื้อหุ้นก่อน  เมื่อหุ้นขึ้น  คนที่รออยู่ก็รีบเข้ามาเก็บหุ้นตามทำให้ราคาหุ้นโดยเฉพาะหุ้นที่เป็น “หุ้นเก็งกำไร” ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นอย่างน้อย 10-15% ภายในวันเดียว คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ  นี่เป็นเวลาที่หุ้นจะกลับตัวหรือยัง?  หุ้นกำลังจะฟื้นจากวิกฤติหรือคนที่รอซื้อหุ้นกำลังจะ “ตกรถ”  หรือเปล่า?

ผมเองคิดว่าไม่  นี่อาจจะเป็นสถานการณ์ชั่วคราวที่เรียกว่า  “Technical Rebound” ที่หุ้นปรับตัวขึ้นแรงมากหลังจากตกลงมาแรงมาก  แต่เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนเลวร้ายลงอีก  หุ้นที่ขึ้นไปแรงก็จะตกลงมาและจะต่ำลงกว่าจุดต่ำเดิม  คนที่เข้าไปซื้อหุ้นในราคาที่สูงก็จะขาดทุนหนัก  ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 นั้น  คนเรียกการตกของหุ้นในช่วงปีแรกว่าเป็น “ปีเผาหลอก”  และการตกลงมาอีกในปีต่อไปว่าเป็นปี “เผาจริง”  เหตุผลที่ให้ก็คือ  ปีแรกที่เกิดวิกฤตินั้น  อาการยังไม่หนักเท่าปีต่อมา  หรือบางทีอาจจะเป็นว่า  ปีแรกนั้นคนยังไม่ตระหนักว่าเศรษฐกิจมันจะเลวร้ายขนาดนั้น  พอเวลาผ่านไปจึงรู้ว่า  ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้น  หนักกว่าที่คิดไว้ ผลก็คือ  ดัชนีหุ้นที่ดีดกลับขึ้นไปนั้น  ตกกลับลงมาอย่างแรงจนคนหมดกำลังใจจริง   และการตกลงมารอบหลังนี้ คนเลิกเล่นหุ้น  ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันลดลงไปมาก  และนั่นก็คือเวลาที่จะซื้อหุ้นอย่างจริงจังแบบ  “ช้า   ไม่ต้องรีบ

ลองมาดูประวัติศาสตร์ดัชนีหุ้นของวิกฤติปี 2540 ดู  ในวันสิ้นปี 2538 นั้น  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 1,281 จุด  ในช่วงเวลานั้น  คนในแวดวงธุรกิจและวงการเงินต่างก็เริ่มจะรู้แล้วว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหา  ค่าเงินเม็กซิโกตกต่ำลงอย่างหนักและมากเป็นประวัติการณ์  บริษัทหลักทรัพย์แบริ่งซึ่งเป็นบริษัทเก่าแก่และยิ่งใหญ่ระดับโลกล้มละลายก่อให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดเงินโลก  ที่สำคัญ  การส่งออกของไทยกำลังถดถอยลงอานิสงค์จากค่าเงินบาทที่แข็งเกินไปและผูกติดกับเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งทำให้ไทยขาดดุลการค้ามหาศาลในระดับเกือบ 10% ของ GDP สถานะเงินสำรองของประเทศลดต่ำลงจนอยู่ในภาวะอันตราย  สถาบันการเงินโดยเฉพาะบริษัทเงินทุนเริ่มมีปัญหา  ผลก็คือในช่วงเวลาตลอดปี 2539  ดัชนีลดลงจากจุดสูงสุดที่ประมาณ 1,400 จุดในช่วงไตรมาศแรกของปี เหลือเพียง 832 จุดตอนสิ้นปีหรือลดลงประมาณ 40% กลายเป็นภาวะ “วิกฤติตลาดหุ้น” ในปี 2539

แต่นั่นยังไม่พอ  ดัชนียังไหลลงต่อในปี 2540 จนถึงเดือนมิถุนายนก่อนที่จะมีการ “ลอยตัวค่าเงินบาท” ที่ดัชนีตกลงมาเหลือ 527 จุด   แต่หลังจากประกาศ  คนคงคิดว่าทุกอย่างคงจบแล้ว  ราคาหุ้นลงมามากพอแล้ว ดัชนีตกลงมา 62% แล้ว  ดังนั้นคนจึงเข้ามาซื้อหุ้นอย่างหนัก  ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างแรงในเดือนกรกฎาคมเป็น 666 จุดหรือหุ้นขึ้นไปถึง26% ภายในเวลาเพียงเดือนเดียว  และเมื่อมองย้อนหลัง  นี่คือ  “Technical Rebound” ในท่ามกลางภาวะวิกฤติ เพราะหลังจากการเด้งขึ้นไป 26% มันก็ตกลงมาต่อจนถึงสิ้นปีดัชนีก็ลดลงมาเหลือเพียง 373 จุด หรือตกลงมาจากจุดสูงสุดที่ 1,400 จุด ถึง 73% และนักลงทุนก็คงคิดว่านี่คงจะเป็น Bottom หรือพื้นจริง   แล้ว  ได้เวลาช้อนซื้อหุ้นอีกครั้งหนึ่ง  ผลก็คือ  หุ้นปรับตัวขึ้นไปอย่างแรง  ภายในเวลา 2 เดือนของปี 2541 หุ้นก็ดีดตัวขึ้นไปถึง 528 จุด หรือขึ้นไปกว่า41%  คนอาจจะคิดว่าเมื่อวิกฤติ “ผ่านไป”  ทุกอย่างก็คงจะกลับมาเหมือนเดิมในเวลาอันรวดเร็ว  อาจะไม่เกินปีสองปี ดังนั้น  หุ้นก็ปรับตัวขึ้นไปก่อน  เหนือสิ่งอื่นใด  528 จุดก็ต่ำมากและคิดแล้วก็ยังเป็นการตกลงมาจากยอดที่ 1,400 จุดถึง 62%

แต่แล้วนักลงทุนก็คาดผิด  การปรับตัวขึ้นของหุ้นถึง 41% ไม่ใช่เพราะวิกฤติกำลังจะผ่านไป  ที่จริงวิกฤติมันเพิ่งจะเริ่มส่งผลไปที่ตัวหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ทั้งหลายที่กำลัง “ปรับโครงสร้าง” กันอย่างยากลำบาก  พวกเขากำลังหาผู้เข้ามาเพิ่มทุนกู้กิจการที่เรียกว่า  “Technical Bankrupt”  หรือ “เจ๊ง” ไปแล้ว  ดังนั้น  เมื่อข้อมูลข่าวสารเริ่มทยอยออกมา พื้นฐานที่แท้จริงของกิจการปรากฏออกมาเรื่อย     ดัชนีหุ้นก็ตกลงมาต่อ  ดัชนีไหลลงจาก 528 จุด เหลือเพียง 214 จุด เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม 2541 และเป็นจุดต่ำสุดจริง   โดยรวมแล้ว  วิกฤติรอบต้มยำกุ้งนั้นลดลงจาก 1,400 จุดช่วงไตรมาศแรกของปี 2539 จนถึงสิงหาคม 2541 เป็นเวลาประมาณ 2ปี 7 เดือน  และดัชนีลดลงประมาณ 85%  เป็น หายนะครั้งใหญ่ที่ทำให้ตลาดหุ้นเหงาหงอยและคน “สาบส่ง” การเล่นหุ้นและทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นเหลือวันละเพียง 2-3,000 ล้านบาท  การเล่นหุ้นแบบเก็งกำไรและไม่สนใจพื้นฐานของหุ้นหายไป  และการลงทุนแบบ VI ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบ   ยุคใหม่ของการลงทุนเริ่มขึ้นและต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปี

วิกฤติโควิด19 เกิดขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในปี 2019 จากประเทศจีนและขยายไปทั่วโลกส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำลง  ซึ่งส่งผลให้การส่งออกซึ่งเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของไทยลดต่ำลง  ในอีกด้านหนึ่ง  การท่องเที่ยวของไทยที่เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่ทำรายได้เพิ่มมากที่สุดของไทยและก่อให้เกิดผลิตผลไม่ต่ำกว่า 15% ของ GDP และการจ้างงานเป็นล้าน  คนก็ลดต่ำลงในระดับ  “หายนะ” อย่างน้อยน่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะกลับมา  ทั้งสองอย่างนี้ทำให้ GDP ของไทยคงติดลบในปีนี้  โชคไม่ดี  ในช่วงเวลาเดียวกัน  สงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิอาระเบียกับรัสเซียทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำลงมากถึงต่ำกว่า 20 เหรียญต่อบาร์เรล  นี่ทำให้บริษัทน้ำมันและปิโตรเคมีที่เกี่ยวข้องที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมี Market Cap รวมกันถึงเกือบ 30% ในตลาดหุ้นจะมีกำไรที่ลดลงมากหรือขาดทุน  ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดวิกฤติตลาดหุ้นที่รุนแรง  ดัชนีหุ้นลดลงอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่วัน  โดยรวมแล้ว ดัชนีตกลงมาจากต้นปีถึงวันพฤหัสที่ 19 มีนาคม 63 ถึง 33.9% และคนอาจจะคิดว่ามันตกลงมาพอแล้ว  วิกฤติโควิด19 กำลังผ่านไป  ราคาน้ำมันก็คงไม่ต่ำอยู่อย่างนั้นตลอดไป  เมื่อตกลงกันได้ราคาก็จะเพิ่มขึ้น  ดังนั้น  คนก็เข้ามาซื้อหุ้นดันราคาให้ขึ้นไป  แต่นี่เป็นเรื่องจริงหรือ?  วิกฤติครั้งนี้ทำให้หุ้นตกลงไปเพียง 33.9% เท่านั้นหรือ?  ผมไม่แน่ใจ

ว่าที่จริงประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มมีมาตรการอย่างจริงจังในการแก้ปัญหาไวรัสหลังจากจำนวนคนป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเร็ว  นี้  ในยุโรปและอเมริกาเองก็เพิ่งเริ่มตระหนักว่าไวรัสนี้เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติที่ต้องทุ่มเทสรรพกำลังในการต่อสู้ไม่น้อยกว่าวิกฤติอื่น   แน่นอนว่าในที่สุดสาเหตุของวิกฤติก็จะต้องผ่านไปและเศรษฐกิจก็จะฟื้นและตลาดหุ้นก็จะปรับตัวขึ้นอย่างแรง  แต่มันคือเวลานี้หรือผมยังสงสัย  ผมคิดว่ามีโอกาสที่การปรับตัวในช่วงนี้น่าจะเป็น Technical Rebound  คล้าย  ช่วงวิกฤติปี 2540   จริงอยู่  ในวิกฤติซับไพร์มในปี 2551  ดูเหมือนว่าหุ้นจะลงมา 50% แบบ “ม้วนเดียวจบ”  หลังจากนั้นหุ้นก็ค่อย  ปรับตัวขึ้นอย่างช้า   และเร่งตัวขึ้นทางเดียวใช้เวลาประมาณปีครึ่งก็ขึ้นมาถึงดัชนีเดิมที่ประมาณ 800 จุด ส่งผลให้คนที่ “กล้า” เข้าไปช้อนซื้อในยามที่ตลาดวิกฤติที่สุดร่ำรวยไปตาม   กัน

ผมเองคิดว่าวิกฤติโควิด19 นั้น  สำหรับประเทศไทยมีความรุนแรงกว่าวิกฤติซับไพร์มซึ่งไม่ค่อยเกี่ยวกับประเทศไทยโดยตรงมากนักยกเว้นการส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างแรงในระยะเวลาสั้น     ดังนั้น  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์รอบนี้น่าจะลงแรงกว่าและใช้เวลานานกว่าในการที่จะฟื้น  ด้วยเหตุผลดังกล่าวผมจึงรู้สึกว่า  ตลาดอาจจะยังไม่ตกลงถึงจุดต่ำสุด การที่หุ้นเด้งขึ้นแรงจึงอาจจะเป็นเรื่องของการเก็งกำไรและดัชนีหุ้นอาจจะไม่ไปต่อหรือตกกลับลงมาอีกและต่ำกว่าเดิมได้  ดังนั้นคนที่เข้าไปเล่นคงต้องระวังเป็นพิเศษ  การเก็งกำไรในยามวิกฤตินั้นผมคิดว่ามีความเสี่ยงมาก  การลงทุนในยามนี้โดยคำนึงถึงพื้นฐานและต้องมี Margin of Safety เหลือเฟือเท่านั้นจึงจะปลอดภัย