New Normal กับการลงทุน

0
4512

โลกในมุมมองของ Value Investor       18 เมษายน 63

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

New Normal กับการลงทุน

​ท่ามกลางการตกต่ำลงของหุ้นและตลาดหุ้นทั่วโลกเนื่องจากวิกฤติไวรัสโคโรน่า  หุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกตัวหนึ่งคือหุ้นของอะมาซอนยักษ์ใหญ่ด้าน e-commerce ของอเมริกากลับดีดตัวขึ้นเป็น “All time high” คือสูงสุดในประวัติศาสตร์ที่ประมาณ 2,375 เหรียญหรือ 77,000 บาทต่อหุ้นในวันที่ 17 เมษายน 2563  เหตุผลคงเป็นเพราะนักลงทุนเห็นว่าอะมาซอนไม่ถูกกระทบจากวิกฤติครั้งนี้  ว่าที่จริงดูเหมือนว่าบริษัทจะมีลูกค้ามากขึ้นมากจน “ทำงานแทบไม่ทัน”  เพราะคนอเมริกันและทั่วโลกต่างก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อขายสินค้าจากการไปซื้อหน้าร้านมาซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ตผ่านอะมาซอนเป็นจำนวนมาก  และนักลงทุนก็เชื่อว่าเมื่อคนหันมาใช้ช่องทางนี้แล้ว  พวกเขาก็จะไม่หันกลับไปซื้อจากหน้าร้านเท่าเดิมแม้ว่าการระบาดของโควิด19 อาจจะผ่านไปแล้ว  เพราะการซื้อขายทางอินเตอร์เน็ตนั้นมันดีกว่าการไปซื้อที่หน้าร้านที่ต้องเสียเวลามากกว่าและราคาก็อาจจะแพงกว่าด้วย  “มาตรฐานใหม่” หรือ “New Normal” ของการซื้อขายสินค้าทางอินเตอร์เน็ตน่าจะกำลังเกิดขึ้นและมันส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนและหุ้นของบริษัทธุรกิจต่าง ๆ  อย่างลึกซึ้ง  มาดูกันว่าโควิด19 น่าจะกำลังสร้าง New Normal กับประเทศไทยทางไหนบ้าง

​สิ่งแรกก็คงเป็นเรื่องเดียวกันคือการซื้อขายผ่านทางอินเตอร์เน็ตที่ไทยเองนั้นยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับการซื้อขายผ่านหน้าร้านก่อนเกิดโควิด19   การแพร่ระบาดของไวรัสทำให้คนไทยจำนวนมากต้องสั่งสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตหรือช่องทางสื่อสารอื่น ๆ  เฉพาะอย่างยิ่งก็คืออาหารพร้อมกินที่ร้านและภัตตาคารต่างก็ปิดไม่ให้ไปนั่งกินที่ร้าน  นอกจากนั้น  การปิดห้างค้าขายสรรพสินค้าเกือบทั้งหมดก็บังคับให้คนที่ต้องการสินค้าต่างก็ต้องสั่งผ่านอินเตอร์เน็ต  นี่ทำให้คนเริ่มคุ้นชินกับการสั่งสินค้าโดยไม่ต้องไปดูที่ร้าน  และพวกเขาก็เริ่มรู้สึกว่านี่นอกจากจะเป็นการเลี่ยงการติดเชื้อไวรัสแล้ว  มันยังเป็นวิธีการที่ดี  สะดวก  และถูกกว่าการไปซื้อของที่หน้าร้าน  ผลก็คือ  หลังจากวิกฤติผ่านไป  พวกเขาก็จะยังคงสั่งซื้อของจำนวนมากผ่านอินเตอร์เน็ต  ธุรกิจการขายสินค้าผ่านหน้าร้านอาจจะไม่รุ่งเรืองเหมือนเดิมอีกต่อไป 

​ผลกระทบที่เห็นได้ชัดก็คือ  ตัวร้านค้าอาจจะขายของได้น้อยลง  ทำเลของร้านอาจจะมีค่าน้อยลง  บางแห่งอาจจะไม่คุ้มที่จะมีร้าน  ชอปปิ้งมอลอาจจะขายของได้น้อยลงซึ่งจะทำให้ธุรกิจนี้ไม่เป็นธุรกิจที่ดีสุดยอดในประเทศไทยอีกต่อไป  ว่าที่จริงในสหรัฐเองนั้น  ร้านค้าจำนวนมากรวมถึงร้านระดับครีมจริง ๆ  ต่างก็ปิดตัวไปแล้วจำนวนมากจนแทบจะเป็นธุรกิจที่ “กำลังจะตาย”  ในประเทศไทยเองนั้น  ธุรกิจนี้ยังดีอยู่และมีราคาหุ้นที่แพงมากจนถึงวิกฤติโควิด19   หลังจากวิกฤติครั้งนี้ผมคิดว่าคนไทยก็น่าจะยังเดินห้างอยู่เนื่องจากห้างเป็นที่ ๆ  ติดเครื่องปรับอากาศและเป็นแหล่งรวมของความบันเทิงและกิจกรรมที่เราต้องทำหลาย ๆ  อย่างโดยเฉพาะในวันหยุด  อย่างไรก็ตาม  พวกเขาน่าจะซื้อสินค้าน้อยลงและทำให้ช็อปปิ้งมอลมีมูลค่าน้อยลง

​New Normal ที่เห็นได้ชัดอีกอย่างหนึ่งน่าจะเป็นเรื่องของสื่อทางอิเล็คโทรนิกส์ที่มาแทนการพบกันต่อหน้า  อานิสงค์จากนโยบาย  “Social Distance” ที่ทำให้คนไม่มาอยู่ใกล้กันเพื่อเลี่ยงการติดและแพร่เชื้อไวรัส  เรื่องที่สำคัญและน่าจะมีผลต่อไปหลังโควิดก็คือ  “การทำงานที่บ้าน” ซึ่งแทบทุกบริษัทต่างก็ทำกันในช่วงนี้   การทำงานที่บ้านนั้น  ก่อนหน้านี้ก็มักจะพูดกันว่าไม่ได้ผลดีเนื่องจากเหตุผลร้อยแปดซึ่งรวมถึงการที่ไม่สามารถตรวจสอบได้จริงว่าทำงานจริงหรือไม่  ทำเต็มเวลาหรือไม่  รวมถึงความคิดที่ว่าเวลาอยู่ด้วยกันที่ออฟฟิสจะมีการประสานงานหรือระดมสมองได้ดีกว่า  ดังนั้น  ระบบการทำงานที่บ้านก็เป็นได้แค่งานบางอย่างหรือบางบริษัท  แต่เมื่อถูกบังคับว่าแทบทุกฝ่ายงานจะต้องทำงานที่บ้านเป็นการชั่วคราว  พวกเขาก็ทำได้  และในระหว่างนั้นก็อาจจะค้นพบความจริงว่า  การทำงานที่บ้านนั้นไม่ได้ลดประสิทธิภาพอย่างที่กลัวกัน  การประชุมกลุ่มเพื่อระดมสมองก็ทำได้เหมือนเดิมผ่านระบบ Conference ที่มีประสิทธิภาพสูงและใช้งานง่ายมาก  โดยรวมแล้วประสิทธิภาพการทำงานไม่ได้ด้อยลง  ว่าที่จริงทุกอย่างอาจจะดูดีขึ้นด้วยซ้ำจนอาจจะสามารถลดคนทำงานลงได้  เช่นเดียวกัน  พื้นที่  ต้นทุนและค่าใช้จ่ายในสำนักงานก็สามารถลดลงได้มาก  ดังนั้น  หลังจากวิกฤติผ่านไป  บริษัทก็อาจให้พนักงานทำงานที่บ้านต่อไปในหลาย ๆ ส่วนงานก็เป็นไปได้

​ผลกระทบก็คือ  อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นตึกสำนักงานก็คงมีการเติบโตน้อยลง  การเดินทางประจำวันก็อาจจะไม่มากเหมือนก่อนวิกฤติโควิด19  อาจจะเป็นไปได้ที่รถยนต์ที่วิ่งตามท้องถนนในช่วงเร่งด่วนอาจจะไม่ติดเท่าเดิมเช่นเดียวกับระบบขนส่งมวลชนเช่นรถลอยฟ้าหรือรถใต้ดินอาจจะไม่โตเหมือนเดิมอีกต่อไป  หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นไปไม่ได้เพราะคุ้นเคยกับสภาพที่รถติดและการเดินทางที่เบียดเสียดมากในเมืองหลวงในช่วงเวลาเร่งด่วนในช่วงก่อนวิกฤติ  แต่ครั้งนี้มันอาจจะไม่เหมือนเดิม  โดยเฉพาะถ้าจำนวนคนที่ต้องเดินทางไปทำงานในสำนักงานลดลงไปซัก 10% หลังวิกฤติโควิด19  เป็นต้น

​การเรียนของนักเรียนและนักศึกษาในช่วงวิกฤติที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัยต่างก็ต้องปิดนั้น  ถูกทำผ่านระบบ Conference เช่น ระบบ ซูม และระบบอื่น ๆ นั้น  ดูเหมือนว่าจะมีประสิทธิภาพดีมาก  นักศึกษาที่เรียนนั้น  สามารถทำกิจกรรมแทบทุกอย่างซึ่งรวมถึงการนั่งเรียน  สอบถามอาจารย์  ถกเถียงและสัมมนากันสด ๆ ระหว่างคนใน “ห้อง” และเข้า “สอบ” ได้โดยไม่ต้องมาที่มหาวิทยาลัยเลย  หลังจากโควิด19 แล้ว  ผมคิดว่าความ “เคยชิน” ที่รู้สึกว่าการนั่งเรียนที่บ้านหรือที่อื่นโดยไม่ต้องไปที่มหาวิทยาลัยนั้นสบายและประหยัดกว่ามากทำให้ผมคิดว่าระบบนี้จะอยู่ต่อไปซึ่งจะทำให้ความจำเป็นที่จะต้องมี“สถานที่” เพื่อทำการเรียนและสอนโดยเฉพาะของมหาวิทยาลัยนั้นน้อยลงมาก  การปิดตัวหรือลดขนาดลงของมหาวิทยาลัยไทยโดยเฉพาะของเอกชนหลาย ๆ  แห่งจะเร็วขึ้นไปอีก

​สุดท้ายที่ดูเหมือนว่าจะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการลงทุนก็คือเรื่องของสังคมและการเมืองที่พัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาตลอดในยุคของการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ตและไร้พรมแดน  โควิด19 ได้ทำให้ความคิด  ความเชื่อ  ค่านิยมและอุดมการณ์ต่าง ๆ  ของคนเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  การตอบสนองของรัฐ  สังคม  และประชาชนทำให้เกิดการ “ต่อสู้” ของคนในสังคมและการเมืองอย่างรุนแรงผ่านโลก  “ไซเบอร์”  ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน  ในช่วงเวลานี้และต่อไปจะเกิด “New Normal” ในแง่ที่ว่า  “สนามรบหรือสนามของการแข่งขันอยู่ในอินเตอร์เน็ต” และคนที่ต่อสู้หรือแข่งขันนั้นมีอินเตอร์เน็ตแอ็คเค้าท์เป็นอาวุธ

นักการเมืองที่จะมีชื่อเสียงได้รับการยอมรับและเด่นดังในปัจจุบันและในอนาคตก็คือคนที่มีผู้ติดตามและได้รับความเชื่อถือในอินเตอร์เน็ตมากที่สุด  ทั้ง ๆ  ที่บางทีก็ไม่ได้อยู่ในประเทศด้วยซ้ำ  นักแสดงหรือดาราที่จะมีชื่อเสียงสามารถทำเงินได้สูงก็คือคนที่เป็นเน็ตไอดอลที่มีคนติดตามมากและได้รับการยอมรับจากสังคมของคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตแทบจะตลอดเวลา  ตรงกันข้าม  ดาราคนไหนที่ถูก “แซงชั่น” ก็อาจจะ “ดับ” ได้ง่าย ๆ    รัฐบาลหรือคนที่มีหน้าที่ในการบริหารงานสาธารณะนั้น  ถึงที่สุดแล้วก็จะถูกสังคมไซเบอร์ “ควบคุม” ให้ต้องปฏิบัติตามแทนที่จะเป็นฝ่ายค้าน  และในสังคมของอินเตอร์เน็ตนั้น  บ่อยครั้งคนที่มีอิทธิพลบางทีก็ไม่จำเป็นต้องมีตัวตน แต่มีอำนาจสูงมากถ้ามีความรู้และข้อมูลนำเสนอให้คนในสังคมเห็นชอบได้    การเข้ามาของ “อำนาจใหม่” ที่ยิ่งใหญ่ของคนในอินเตอร์เน็ตนั้น  อาจจะทำให้เกิดการประทะกับ Establishment หรืออำนาจเดิมซึ่งยังอยู่ใน “โลกเก่า”  และนี่ก็อาจจะก่อให้เกิดความรุนแรงที่กระทบกับการพัฒนาของประเทศหรือเป็น “Country Risk”  หรือ “ความเสี่ยงของประเทศ” ซึ่งจะส่งผลต่อการลงทุนอย่างรุนแรงได้  นี่เป็นสิ่งที่นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องรู้  และสถานที่ที่ดีที่สุดในการติดตามพัฒนาการต่าง ๆ  ก็คือในทวิตเตอร์ที่เป็นแหล่งที่มี  “เสรีภาพ” ในการแสดงความคิดเห็นสูง