This (Covid19) too shall pass

0
1877

This (Covid19) too shall pass

โลกในมุมมองของ Value Investor
9 พฤษภาคม 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

​เวลาเกิดเหตุการณ์หรือมีสถานการณ์ที่รุนแรงโดยเฉพาะเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความยากลำบากอย่างใหญ่หลวงจน “แทบทนไม่ไหว” จงจำไว้ว่า เหตุการณ์แบบนั้นจะไม่อยู่ตลอดไป มันเป็นเรื่อง “ชั่วคราว” ถึงวันหนึ่งมันก็จะเปลี่ยนไป นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ดังนั้น เราจะต้องอดทนเพื่อที่จะ “ผ่านมันไปให้ได้” เพื่อที่จะไปสู่ความรุ่งเรืองและมั่งคั่งที่อาจจะตามมา และคำกล่าวคลาสสิกที่พูดโดย อับราฮัม ลินคอล์น ในแวดวงของการเมือง และ เบน เกรแฮม ในด้านของการลงทุนที่เราควรจะจำไว้เสมอก็คือ “This too shall pass” หรือแปลว่า “สิ่งนี้ก็เหมือนกัน มันจะผ่านไป” ความหมายก็คือ นี่ก็จะเหมือนเหตุการณ์หนักหนาสาหัสครั้งก่อน ๆ ที่เคยเกิดขึ้นและในที่สุดมันก็จะผ่านไป และที่ผมยกคำกล่าวนี้ขึ้นมาพูดก็เพราะผมคิดว่า เรื่องของโควิด19 ที่ทำลายเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและก่อให้เกิดความยากลำบากแก่มนุษย์ทั่วโลกอยู่ในขณะนี้นั้น ในที่สุดก็จะผ่านไป และโลกก็จะกลับมา “เหมือนเดิม” หรือในกรณีนี้อาจจะมีอะไรบางอย่างเปลี่ยนแปลงไป “เล็กน้อย” ในแง่ที่ว่า โลกเปลี่ยนแปลงไป “เร็วขึ้น” เพราะการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า

​โควิด19 นั้น จริง ๆ แล้วไม่ได้ไปทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของมนุษย์โดยตรง เพราะพฤติกรรมของมนุษย์นั้นถูกกำหนดโดยยีนที่ฝังอยู่ในตัวของคนมานานเป็นหมื่นเป็นแสนปีแล้ว ยีนของมนุษย์ถูกออกแบบมาเพื่อที่จะสั่งให้คนทำอะไรก็ตามที่ได้ผลตอบแทนสูง ด้วยต้นทุนที่ต่ำ และมีความเสี่ยงน้อยหรือยอมรับได้ ผลตอบแทนนั้นก็คือสิ่งที่ตนเองจะได้รับทุกด้านที่จะเป็นประโยชน์เพื่อการอยู่รอดและเผยแพร่เผ่าพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินทอง ความพึงพอใจ ความสุขและชื่อเสียง เป็นต้น ส่วนต้นทุนนั้นก็คือ เงินทองที่ต้องจ่าย แรงงานที่ต้องใช้ ความยากลำบากและความทุกข์ที่ต้องทน เป็นต้น ในส่วนของความเสี่ยงก็คือ ผลตอบแทนนั้นอาจจะได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ และต้นทุนที่สูงกว่าที่คิด ทั้งในด้านของเงินทอง แรงงานและสุขภาพ ที่เมื่อทำไปแล้วอาจจะประสบกับการบาดเจ็บสาหัสหรือถึงตายด้วย มนุษย์ทุกคนนั้นถูกออกแบบมาให้มีความเชี่ยวชาญมากในการที่จะประเมินผลตอบแทน ต้นทุน และความเสี่ยงในการที่จะทำอะไรต่าง ๆ อย่างที่ทำอยู่ทุกวันจนกลายเป็นพฤติกรรมของมนุษย์ที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน

​อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงซัก 100-200 ปีมานี้ ได้เปลี่ยนพฤติกรรมจำนวนมากที่เราทำมาเป็นหมื่นปี ตัวอย่างเช่น ช่วงประมาณ 100 ปีก่อน การเดินทางด้วยรถม้าไปในที่ต่าง ๆ ของคนในโลกตะวันตกเป็นเรื่อง “ปกติ” แต่เมื่อโลกค้นพบวิธีผลิตรถยนต์ที่มีราคาไม่แพงมากและสามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็วโดยใช้พลังงานจากน้ำมัน นั่นได้เปลี่ยนแปลงเศรษฐศาสตร์ของการเดินทางไปอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ คนใช้รถนั้นได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นคือ “เดินทางเร็วขึ้นมาก” เทียบกับต้นทุนที่อาจจะเท่าเดิมหรือเพิ่มเพียงเล็กน้อย โดยที่ความเสี่ยงนั้น “ยอมรับได้” ผลก็คือ เกิดการ Disruption ในอุตสาหกรรมรถม้า ธุรกิจเกี่ยวกับรถม้า “ตายหมด” ในเวลาอันรวดเร็ว เกิด “New Normal” ที่ผู้คนใช้รถยนต์แทน

​ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม เราเห็นการ Disrupt และเกิด New Normal อยู่เนือง ๆ และมักใช้เวลาพอสมควรกว่าที่คนทั้งโลกจะเปลี่ยนพฤติกรรมไปหมด ตัวอย่างเช่น เรื่องของการบินที่ผมเองยังจำได้ว่ากว่าที่คนจะใช้การเดินทางโดยเครื่องบินเป็นหลักนั้นก็เป็นเวลาหลาย ๆ สิบปี ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะว่ากว่าที่ต้นทุนของการบินจะลดลงมาจนทำให้ผลตอบแทนที่ได้นั้นคุ้มค่าสำหรับคนทั่วๆ ไป ก็เป็นเวลานานเพราะการลดต้นทุนค่าผลิตเครื่องบินและการทำการบินนั้นทำได้ค่อนข้างยาก แต่ในยุคของการปฏิวัติทางด้านข้อมูลข่าวสารหรือโลกยุคดิจิตอลนั้น ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมากและเราก็ได้เห็นการเกิด Disruption และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนจนกลายเป็น New Normal จำนวนมาก

​ธุรกิจสื่อถูก Disrupt เพราะการส่งข้อมูลที่เป็นตัวอักษรหรือรูปภาพโดยคอมพิวเตอร์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตนั้นมีประสิทธิภาพสูงมาก ผลตอบแทนที่ได้นั้นดีกว่าการพิมพ์ลงบนกระดาษมาก การส่งทำได้ในเสี้ยววินาทีด้วยต้นทุนที่ต่ำจนแทบจะไม่มี ผลก็คือ ธุรกิจหนังสือพิมพ์ วารสารต้องปิดตัวกันเกือบหมด New Normal ที่เกิดขึ้นแทนก็คือ พวกเว็บไซ้ต์ต่าง ๆ เฟซบุค และทวิตเตอร์ เป็นต้น เช่นเดียวกัน ธุรกิจทีวีเองก็กำลังถูกทำลายโดยระบบ Streaming ที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่เหนือกว่าด้วยต้นทุนที่ต่ำและคุ้มค่าสำหรับคนดูมากกว่าโดยเฉพาะคนที่มีรายได้สูงพอสมควร และนี่ก็ทำให้คนหันมาดู Netflix มากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงระบบของ ดิสนีย์และอีกหลายแห่งที่กำลังตามมา

​ระบบ E-commerce ของสินค้าจำนวนมากกำลังทำลายร้านค้าปลีกดั้งเดิมเนื่องจากคนซื้อได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการซื้อจากร้านโดยที่ “ความเสี่ยง” ที่จะไม่ได้ของที่ถูกต้องลดน้อยลงมากจนคนส่วนใหญ่ยอมรับได้ ดังนั้น ห้างร้านจำนวนมากกำลังถูกแย่งธุรกิจไปมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ห้างบางประเภทก็ยังไม่ถูก Disrupt และอาจจะไม่ถูกทำลายเลย เพราะผลตอบแทนและต้นทุนของการค้าขายผ่านอินเตอร์เน็ตยังสู้ร้านค้าปกติไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ร้านสะดวกซื้อซึ่งลูกค้ามักจะสะดวกที่จะซื้อจากร้านมากกว่าการสั่งผ่านอินเตอร์เน็ตเพราะต้นทุนต่ำกว่าและสามารถได้รับสินค้าได้เร็วกว่าเนื่องจากร้านมักจะอยู่ไม่ไกลแค่เดินไม่กี่ก้าว หรือร้านขายสินค้าปรับปรุงและตกแต่งบ้านที่คนมักจะซื้อสินค้าหลายอย่าง ของมีความหลากหลายของรูปแบบที่คนซื้ออยากเห็นสินค้าจริง ๆ และมักจะซื้อจำนวนมากซึ่งทำให้คุ้มที่จะเดินทางไปซื้อเองที่ร้านมากกว่าซื้อผ่านอินเตอร์เน็ต เป็นต้น
​การเกิดโควิด19 นั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนทั่วโลกในช่วงเวลานี้ สิ่งที่เปลี่ยนชัดเจนก็คือการงดออกจากบ้านหรือออกน้อยลงจำนวนมาก การทำ Social Distancing หรืออยู่ห่างจากคนอื่น การสวมหน้ากากป้องกันการติดเชื้อ การรักษาความสะอาด ผลจากการนั้นทำให้คนซื้อสินค้าทาง E- commerce โดยเฉพาะการสั่งอาหารมากขึ้นมากในเวลาอันสั้น การทำงานที่บ้านผ่านระบบอินเตอร์เน็ตรวมถึงระบบซูมแทนที่จะไปทำงานที่สำนักงาน การงดสังสรรค์ งดดูกีฬาและคอนเสิร์ต เหตุผลก็คือ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ในภาพใหญ่นั้น โควิด19 ได้เพิ่ม “ความเสี่ยง” ของการทำกิจกรรมจำนวนมากและนี่ทำให้ภาพของผลตอบแทน ต้นทุน และความเสี่ยงของมนุษย์ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างที่กล่าว อย่างไรก็ตาม ถึงจุดนี้ดูเหมือนว่าการระบาดกำลังค่อย ๆ ลดลง จำนวนคนติดเชื้อต่อวันลดลงเกือบทุกแห่งทั่วโลกหลังจากคนตระหนักว่าการแพร่ระบาดของไวรัสมีกระบวนการอย่างไรและจะป้องกันได้อย่างไร

​สำหรับประเทศไทยเองนั้น ผมเชื่อว่าด้วยอากาศที่ร้อนมากทำให้เรามี “ป้อมปราการ” ที่แข็งแกร่งในการป้องกันโรคที่ดีมาก และด้วยวัฒนธรรมและการป้องกันตัวที่ดี โควิด19 คงไม่กลับมาระบาดมากขึ้นอีกต่อไป นี่ก็คงคล้าย ๆ กับประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว กัมพูชา เมียนมาร์และเวียตนามที่ต่างก็มีการติดเชื้อน้อยมาก ผมเองคิดว่าเราน่าจะกำลังผ่านเรื่องของโรคไปได้แล้ว ในประเทศเขตหนาวโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วก็กำลังเข้าสู่ฤดูร้อนและด้วยการป้องกันที่ดีขึ้นผมก็คิดว่าในที่สุดพวกเขาก็จะสามารถ “เอาชนะ” โควิด19ได้แม้จะใช้เวลามากกว่า และถ้าภายใน 1-2 ปี โรคโควิด19 หมดไป “ความเสี่ยง” ที่คนจะติดโรคก็จะลดลงมาจนเกือบเท่าเดิมก่อนเกิดโควิด พฤติกรรมของคนก็จะกลับมาเหมือนเดิมหรือเกือบเหมือนเดิม

สิ่งที่แตกต่างก็คงมีบ้าง แต่เหตุผลมาจากการที่คนจะใช้ e-commerce มากขึ้นเพราะเขาเรียนรู้ว่า การสั่งสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ตนั้น ให้ผลตอบแทนที่ดี มีต้นทุนและความเสี่ยงที่ต่ำในการสั่งซื้อสินค้าหลาย ๆ อย่าง ดังนั้นเขาก็จะทำมันต่อไป นอกจากนั้น คนจำนวนหนึ่งก็พบว่าการทำงานที่บ้านนั้นได้ผลตอบแทนที่ดี ต้นทุนต่ำและไม่ได้มีปัญหาหรือความเสี่ยงดังที่เคยกลัวกัน ดังนั้นพวกเขาก็จะทำต่อไป ส่วนคนที่ต้องนั่งห่างกันหรือโต๊ะเว้นโต๊ะเวลานั่งกินอาหารหรือนั่งเครื่องบินในช่วงนี้นั้น หลังจากโควิดแล้วพวกเขาก็จะกลับมานั่งชิดกันเหมือนเดิมเพราะความเสี่ยงนั้น “หมดไปแล้ว” พฤติกรรมนั่งด้วยกันหรือใกล้ชิดกันนั้นให้ผลตอบแทนที่ดี มีต้นทุนที่ต่ำกว่า และความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่นเดียวกัน ในด้านของการท่องเที่ยว การไปดูกีฬาหรือคอนเสิร์ตที่พวกเขาหลีกเลี่ยงในช่วงโควิดระบาดเพราะความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ พวกเขาก็จะกลับมาเที่ยวและดูเหมือนเดิม เพราะมันอยู่ในยีน และการนั่งดูที่บ้านนั้นมันให้ผลตอบแทนหรือมีความพอใจหรือความสุขน้อยกว่า การดูกีฬา ดูคอนเสิร์ต หรือท่องเที่ยว “ที่บ้าน” นั้นไม่สามารถมาทดแทน “ของจริง” ได้