วิวัฒนาการของชีวิตนักลงทุน

0
1971

โลกในมุมมองของ Value Investor  31 พ.ค. 63

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เวลาที่คนเรามีอายุมากขึ้นนั้น  เรามักจะมองกลับไปในอดีตรำลึกถึงความหลังมากขึ้นเรื่อย ๆ  เพราะนั่นเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่ไม่ต้องใช้เงินและพลังงาน  ผมเองก็เป็นอย่างนั้น  แต่ในฐานะที่เป็นนักลงทุนแบบ VI ผมก็อดที่จะเปรียบเทียบไม่ได้ว่าชีวิตในอดีตกับชีวิตในปัจจุบันของผมมีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปบ้าง  ปรัชญาและความคิดสมัยก่อนกับสมัยนี้ของผมเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน  ทั้งหมดนี้ผมก็ดูด้วยว่าสังคมไทยเองมีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหนด้วยเพื่อจะได้เปรียบเทียบกับชีวิตและความคิดของตนเอง  ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นโดยเฉพาะที่สนใจในการลงทุน  เพราะชีวิตผมเองนั้น  ถ้าจะนิยามในวันที่ผมไม่อยู่แล้วคงต้องบอกว่าเป็น  “ชีวิตของนักลงทุน VI” คนหนึ่ง

            และเรื่องแรกที่ผมคิดว่ามีความเปลี่ยนแปลงหรือเป็นวิวัฒนาการของผมจากช่วงเยาว์วัยมาเป็นคนสูงอายุก็คือ  เดิมผมจะมองเรื่องต่าง ๆ  ในโลกและในชีวิตแบบสัมบูรณ์หรือ Absolute  แต่เมื่ออายุมากขึ้นผมก็รู้สึกตัวหรือคิดว่าชีวิตหรือแทบทุกอย่างในโลกนี้นั้นเป็นเรื่องสัมพัทธ์หรือ Relative  พูดง่าย ๆ  เรื่องต่าง ๆ  ในโลกนี้เป็นเรื่องของการเปรียบเทียบ   ตัวอย่างเช่น  เมื่อเราพูดว่าใครเป็น “คนรวย”  ถ้าเราพูดว่าต้องมีเงินเป็นตัวเลขเท่านั้นเท่านี้  นี่คือการพูดแบบสัมบูรณ์  แต่ผมคิดว่าวิธีที่จะกำหนดว่าใครเป็นคนรวยควรจะเป็นเรื่องของการเปรียบเทียบว่าในสังคมนั้น  ใครคือคนที่มีเงินมากที่สุดและลดหลั่นกันลงไป  ถ้าเพื่อนของคุณส่วนใหญ่มีเงินมากกว่าคุณ  คุณเองก็อาจจะไม่ใช่ “คนรวย”  เมื่อ 50 ปีก่อนสมัยที่ผมยังเรียนมัธยม  คนที่มีเงิน 20 ล้านบาทถือว่าเป็น  “มหาเศรษฐี”  แต่ 20 ล้านบาทถ้านำมาลงทุนแบบทบต้นและได้ผลตอบแทนปีละ 5% จะเท่ากับเงิน 230 ล้านบาทในวันนี้  ซึ่งสำหรับผมแล้วน่าจะเป็นแค่เศรษฐีหรือคนรวยธรรมดา—เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่มีเงินมาก ๆ  ในวันนี้ของสังคมไทย  เพราะเรื่องของเงินทองนั้น  เป็นเรื่องของการเปรียบเทียบ

            การมองความเก่งหรือศักยภาพของคนเองนั้น  สมัยก่อนผมคิดแบบสัมบูรณ์  คนที่ทำ “คะแนนสอบ” รวมสูงก็คือคนเก่งและจะเป็นผู้ชนะในการทำงานและในความก้าวหน้าในวิชาชีพรวมถึงเรื่องของเงินทอง  แต่เมื่อผ่านชีวิตมามากและพบเห็นผู้คนในแวดวงต่าง ๆ  แล้วผมคิดว่า   “ชีวิตคือการแข่งขัน”  ธุรกิจคือการแข่งขัน  คุณจะเก่งแค่ไหนไม่สำคัญ  ที่สำคัญคือคุณเป็น   ผู้ชนะหรือผู้แพ้ “ในสนามที่คุณแข่ง”  ถ้าคุณเป็นคนที่ “เก่งมาก” ในเรื่องไฮเท็ค  แต่ต้องเข้าไปแข่งกับ “อัจฉริยะ” ในซิลิคอนวัลเลย์  คุณก็อาจจะเป็น  “หมู”  ดี ๆ  นั่นเอง  เช่นเดียวกับเรื่องของธุรกิจที่บริษัทอาจจะเป็นผู้นำอันดับต้น ๆ ของไทย  แต่เมื่อไปแข่งกับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ใน “สนาม” ต่างประเทศ  บริษัทก็อาจจะแพ้อย่างหมดรูปได้  เพราะ  โดยเปรียบเทียบแล้ว  เราอาจจะด้อยกว่าเขาในแทบทุกด้าน

            ความคิดอีกอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากเมื่อเป็นเด็กกลายเป็นคนสูงวัยก็คือการเป็น  “นักเลือก” จากที่เคยเป็น  “นักสู้”  มาครึ่งชีวิต   นักสู้นั้นเป็นนิสัยที่ติดมากับยีนของมนุษย์ทุกคน  ในอดีตอันยาวไกลของมนุษยชาตินั้น  มนุษย์ทุกคนต้อง “ต่อสู้” กับภัยธรรมชาติที่โหดร้าย  โรคภัยที่รุนแรง  และศัตรูที่เป็นสิ่งมีชีวิตอื่น  คนที่ “ไม่สู้” นั้นค่อย ๆ  ตายหรือสูญพันธุ์ไปหมด  คนที่เหลือในปัจจุบันต่างก็เป็น  “นักสู้”  แต่ในยุคสมัยของเรานั้น  คนสามารถเอาตัวรอดได้และบ่อยครั้งเป็นอย่างดีได้โดยไม่ต้องสู้กับอะไรมากมาย  เราแค่ “เลือก” ให้เป็นหรือเลือกให้ถูกว่าจะอยู่หรือทำอะไรและอย่างไรเราก็สามารถประสบความสำเร็จได้  และในแวดวงของ “นักลงทุน”  แล้ว  นี่คือปัจจัยสำคัญที่สุดในการประสบความสำเร็จ  และก็เช่นเดียวกัน  ในอีกหลายวงการและในชีวิต  การ “เลือก” ให้ดีว่าจะ “สู้” อย่างไร  ก็เป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะทำให้เรา “ชนะ”  ดังนั้น  หลังจากที่กลายเป็นนักลงทุนแบบ “VI” เต็มตัว  ผมก็ปรับการคิดและการใช้ชีวิตมาเป็น  “นักเลือก”  ผมจะไม่ยอมทำอะไรที่ผมจะไม่ชนะถ้าไม่จำเป็น

          นิสัยชอบคิดชอบสังเกตของผมนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงเลยตั้งแต่เด็กและนั่นก็ทำให้ผมเห็นคนที่ประสบความสำเร็จและโดดเด่นในทุกวงการ  เห็นการ “ล่มสลาย” ของชื่อเสียงและความมั่งคั่งของพวกเขา  ในสมัยที่ยังมีความคิดแบบเดิม  ผมคิดว่า  คนที่ประสบความสำเร็จเหล่านั้นเป็นคนที่เก่งและมีความสามารถสูงเหนือคนอื่นมาก  เป็นแนว “ซุปเปอร์แมน” ซึ่งดูเหมือนว่าตนเองจะไม่มีวันทำได้โดยเฉพาะถ้าคิดถึงความเสียเปรียบเนื่องจากฐาน  “ต้นทุนต่ำ”  ของตนเองด้วย   อย่างไรก็ตาม  ในที่สุด  ผมเองก็กลายเป็นคนที่น่าจะเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จคนหนึ่งในสังคม  แต่เมื่อวิเคราะห์ย้อนหลังโดยไม่ลำเอียงแล้วก็พบว่าความสำเร็จนั้น  แท้ที่จริงไม่ได้มาจากการเป็น  “ซุปเปอร์แมน”  อะไรเลย  แต่น่าจะเป็นเพราะมีโอกาสที่ “เอื้ออำนวย” เกิดขึ้นในช่วงปี 2540 ที่เกิดวิกฤติและเรา “ฉวยโอกาส” นั้นเข้าไปลงทุนและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนแบบ Value Investments ที่แพร่หลายอยู่แล้วในตลาดหุ้นอเมริกา  หลังจากนั้น  ผมก็เชื่อว่า  “วีรบุรุษ”  หรือซุปเปอร์แมนจำนวนไม่น้อยก็อาจจะเป็นแบบผม  คือ  เกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์และการเข้ามาในจังหวะที่ถูกต้องมากกว่าความสามารถที่ผมรู้สึกว่าคนเรานั้นมีไม่ต่างกันมาก

            การศึกษาและเรื่องที่ชอบที่จะเรียนรู้นั้น  สำหรับผมก็คือ “วิวัฒนาการ’ ที่นึกไม่ถึง  ในช่วงที่เป็นเด็กและต่อมาอีกครึ่งชีวิตนั้น  ผมเป็นคนที่ชอบคำนวณ  ชอบวิชาวิทยาศาสตร์  ชอบพิสูจน์สิ่งที่เป็นจริงแท้แน่นอนอย่างวิชาเรขาคณิตที่ต้องเขียนตอนสุดท้ายว่า “ซ.ต.พ” ซึ่งน่าจะแปลว่า  “ซึ่งต้องพิสูจน์”  อะไรก็ตามที่ไม่รู้ว่าจริงแท้แน่นอนหรือไม่หรือแบบ “เบลอ ๆ” เช่นวิชาเกี่ยวกับศิลปศาสตร์ทั้งหลายและรวมทั้งวิชาที่ต้องท่องจำมาก ๆ  อย่างวิชาชีววิทยาผมก็จะไม่ชอบเลย  แต่แล้วหลังจากกลายมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวผมกลับสนใจและชอบอ่านเรื่องราวต่าง ๆ  เหล่านั้นมาก  ประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องที่ผมอ่านมากที่สุดในช่วงหลัง  ๆ  นี้  รองลงมาก็จะเป็นเรื่องของวิชาที่เกี่ยวกับมนุษย์และสังคมที่อิงกับชีววิทยาโดยเฉพาะเรื่องของยีนซึ่งเป็นสิ่งที่คุมพฤติกรรมทั้งหมดของมนุษย์  การอ่านทำให้ผมสามารถวิเคราะห์เรื่องราวต่าง ๆ ของมนุษย์และโลกได้ดีขึ้นมาก  และนั่นก็คือสิ่งที่จำเป็นสำหรับการลงทุนในระยะยาว

            วิวัฒนาการอีกเรื่องหนึ่งที่ตามมาก็คือ  ความคิดทางสังคมที่เคยเป็น  “อนุรักษ์นิยม” และทำอะไรตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีของสังคมไทยและไม่ “ออกนอกแถว” ก็ค่อย ๆ  เปลี่ยนแปลงไปเป็น  “เสรีนิยม” มากขึ้นเรื่อย ๆ  มีความคิดเรื่องของความ “เสมอภาค” ของคนและรวมถึงสัตว์ต่าง ๆ  ที่อยู่ในโลกนี้  เชื่อในความเป็น  “สากล” มากกว่าท้องถิ่นนิยม   แม้แต่เรื่องของศาสนาเองก็ดูเหมือนว่าจะเอนเอียงไปทางด้านที่ยอมรับ “แนวทางที่ดี” ของทุกศาสนามากกว่าที่จะยึดศาสนาใดศาสนาหนึ่ง  ผมเองไม่รู้ว่านี่คือแนวทางของพวก Atheist หรือไม่นับถือหรือไม่มีศาสนาหรือไม่

            ว่าที่จริงผมเองก็รู้สึกตัวว่าตนเองมีความคิดที่ “อิสระ” มากขึ้นเรื่อย ๆ  และกลายเป็นคนที่ชอบมอง  “สวนกระแส”  กับคนในสังคม  เป็นคนที่ขี้สงสัยในทุกเรื่อง  ทำอะไรหรืออย่างน้อยก็คิดแตกต่างจากคนอื่น  อย่างไรก็ตาม  ผมไม่ใช่คนที่แสดงออกแนวท้าทายหรือ “ปฎิวัติ” สังคม  ผมแค่ชอบสังเกตและคิด  ไม่ใช่นักปฎิบัติหรือนักปฎิวัติ  ผมคิดเพื่อนำมาใช้ในการ “เลือก”  ทั้งเลือกลงทุนและเลือกใช้ชีวิตที่จะทำให้มีความสุขและปลอดภัยในโลกที่ดูสับสนและเสี่ยงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน