โลกในมุมมองของ Value Investor
27 มิถุนายน 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ช่วงที่การระบาดของโควิด-19 กำลังหมดไปจากประเทศไทยหลังจากเรา “ปิดเมือง” มาหลายเดือนนั้น สิ่งที่ผมเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญมี 2 เรื่องก็คือ เรื่องแรก เกิด “Pent Up Demand” นั่นก็คือ มีความต้องการของสินค้าและบริการหลายอย่างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจาก “ความต้องการที่ถูกอั้นไว้” ของผู้บริโภคในสินค้าบางอย่าง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ การท่องเที่ยว โดยเฉพาะของคนที่มีเงินมากพอที่จะเที่ยวได้โดยไม่รู้สึกเดือดร้อนหรือต้องห่วงว่าเงินจะหมดไปมาก และเรื่องที่สองก็คือ “Wealth Effect” on demand ซึ่งก็คือ ความมั่งคั่งของผู้บริโภคที่มากขึ้นหรือในกรณีของโควิด-19 ก็คือความมั่งคั่งที่หดหายหรือลดลงไปที่จะมีผลต่อความต้องการซื้อสินค้าของคนในประเทศ
ในช่วงนี้ ในบางธุรกิจและในบางพื้นที่ เราก็มักจะได้รับ “ข่าวดี” ที่ว่า หลังจากมีการเปิดเมืองบางส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผลประกอบการหรือยอดขายก็ดีหรือกระเตื้องขึ้นมาก ยกตัวอย่างเช่น โรงแรมระดับหรูในเมืองท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางได้ด้วยรถยนต์ส่วนตัวจากกรุงเทพเช่น หัวหิน มียอดผู้เข้าพักเต็มหรือเกือบเต็มอย่างรวดเร็วหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดใหม่กลายเป็นศูนย์ติดต่อกันเกิน 14 วันหรือมากกว่านั้น และนั่นก็ทำให้ผม “ประหลาดใจ” และรู้สึกมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวเร็วกว่าที่คิดเมื่อผมเดินทางไปพักผ่อนที่นั่นเมื่อ 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ผมก็ได้ข่าวว่าร้านอาหารภัตตาคารที่เริ่มเปิดในห้างต่างก็มีลูกค้าเข้ามากินกันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแม้ว่ายังมีข้อกำหนดให้ต้องเว้นระยะห่างอยู่บ้าง ดูเหมือนว่าคนจะ “อั้น” กันมานาน คือไม่ได้ออกไปเดินห้างและแวะกินอาหารในห้าง เขาเหล่านั้น ส่วนใหญ่น่าจะเป็นคนชั้นกลางกินเงินเดือนและก็ไม่ได้ตกงานจนต้องกระเหม็ดกระแหม่ไม่สามารถมากินอาหารภัตตาคารได้ ดังนั้น พวกเขาก็มากินอาหารอร่อย ๆ ที่ไม่ได้กินมานาน มันเป็น Pent Up Demand หรือความต้องการที่อั้นไว้ในช่วงที่ออกนอกบ้านไม่ได้และร้านปิดเป็นเวลาหลายเดือน
สัปดาห์ที่แล้วผมได้ไปพักผ่อนอีกครั้งที่สวนผึ้งจังหวัดราชบุรี ในโรงแรมที่ค่อนข้างหรูซึ่งดูเหมือนจะมีไม่มากนักเมื่อเทียบกับหัวหิน สวนผึ้งน่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนไทยเป็นหลักมีต่างชาติน้อย วันที่เข้าพักนั้นก็เป็นแบบเดียวกับที่หัวหินนั่นคือ โรงแรมมีลูกค้าที่ค่อนข้างจะเต็มหรืออย่างน้อยก็พอใช้ได้ไม่เหงา อย่างไรก็ตาม เมื่อออกท่องเที่ยวในวันต่อมาผมก็เริ่มเห็นความแตกต่าง ร้านอาหารส่วนใหญ่แม้แต่ร้านดังก็ยัง “ไม่มีคน” หลายแห่งก็ยังไม่เปิด สภาวะแห่งความเงียบเหงานั้นสัมผัสได้ ผู้บริโภคระดับคนกินเงินเดือนที่ยังต้องระวังว่าเศรษฐกิจยังเลวร้ายอยู่นั้น อาจจะยังไม่พร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อการท่องเที่ยว ดังนั้น การท่องเที่ยวย่านสวนผึ้งที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของคนไทยเป็นหลักนั้นดูเหมือนว่าจะยังไม่กลับมาดี
Pent Up Demand นั้น มักจะเกิดหลังจากที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติ ในช่วงวิกฤตินั้น เศรษฐกิจตกต่ำคนก็มักจะเลี่ยงที่จะใช้เงินโดยเฉพาะกับสินค้าคงทนเช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า บ้านและเครื่องใช้ภายในบ้านที่มักจะสามารถเลื่อนการซื้อไปได้ เพราะของที่มีอยู่ก็ยังพอใช้ได้และมีอายุการใช้ยาว เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นและของที่มีอยู่ก็ใกล้ “หมดสภาพ” พวกเขาก็จะเริ่มซื้อกันอย่างรวดเร็วส่งผลให้ความต้องการและยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่หลังจากการซื้อรอบแรกแล้ว ยอดขายก็จะกลับมาสู่ภาวะปกติตามภาวะของเศรษฐกิจและความต้องการปกติของผู้บริโภค ถ้าเศรษฐกิจฟื้นตัวจริง ยอดขายของสินค้าทุกอย่างก็จะฟื้นตัวดีขึ้นตาม อย่างไรก็ตาม ถ้าเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวหรือกำลังถดถอยลงด้วยซ้ำ ยอดขายสินค้าต่าง ๆ รวมถึงยอดขายสินค้าที่เกิดจาก Pent Up Demand ก็จะทรุดตัวลงต่อไป
การที่ผู้บริโภคจะมีความต้องการซื้อสินค้าเพิ่มมากน้อยแค่ไหนนั้น สิ่งหนึ่งที่มีผลมากก็คือ ความรู้สึกว่าเขารวยหรือมีความมั่งคั่งมากน้อยแค่ไหน คนที่รู้สึกว่าตนเองมีเงินหรือความมั่งคั่งสูงและรู้สึกว่าในอนาคตเขาจะยังสามารถหาเงินได้อย่างมั่นคงก็จะกล้าใช้เงินกล้าซื้อของที่ต้องการมากกว่าคนที่คิดว่าตนเองจนและรายได้ในอนาคตไม่แน่นอนและจะลดลง โดยที่ความมั่งคั่งนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของเม็ดเงินอย่างเดียว ทรัพย์สมบัติเช่น บ้านและที่ดิน หลักทรัพย์เช่น หุ้นและพันธบัตร ทองและอื่น ๆ ก็ถือเป็นความมั่งคั่งทั้งสิ้น และถ้าสินทรัพย์เหล่านั้นมีราคาเพิ่มขึ้นซึ่งทำให้ความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น พวกเขาก็จะใช้เงินซื้อสินค้ามากขึ้นซึ่งทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู คำกล่าวที่ว่าในยามที่ตลาดหุ้นดี การขายคอนโดราคาแพงจะดีตามนั้นเป็นความจริง และในยามที่ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้นเร็วคนจะบริโภคสินค้าทั่วไปมากขึ้นก็เป็นความจริงเช่นกัน ตรงกันข้าม ในยามที่ทรัพย์สินหลัก ๆ ทั้งอสังหาฯและหุ้นตกหนัก สินค้าโดยเฉพาะที่มีราคาแพงและไม่ใช่สินค้าจำเป็นก็จะมียอดขายตกลงไปมาก ทั้งหมดนี้ก็คือเรื่องของ Wealth Effect
ภาวการณ์ของเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้ผมเองมีความรู้สึกว่าคนรวยหรือคนที่มีทรัพย์สินหรือความมั่งคั่งสูงนั้นดูเหมือนว่าจะไม่ถูกกระทบอะไรมากนัก เมื่อมีการเปิดเมือง พวกเขาก็กลับมาบริโภคสิ่งที่ถูกอั้นไว้ไม่สามารถทำได้อย่างสะดวกมานาน เช่น การท่องเที่ยวและการซื้อบ้านราคาแพงที่ดูเหมือนว่าจะดีขึ้นอย่างไม่คาดคิดเมื่อเทียบกับบ้านราคาถูก ในเวลาเดียวกัน คนชั้นกลางนั้น น่าจะถูกกระทบมากจากวิกฤติโควิด-19 เพราะการปิดกิจการจำนวนมากโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวเดินทางทำให้คนจำนวนเป็นล้านต้องตกงานหรือทำงานน้อยลง พวกเขาต้องใช้เงินเก็บมาประทังชีวิตทำให้ความมั่งคั่งลดลงและในขณะเดียวกันรายได้ในอนาคตก็ดูไม่แน่นอน ดังนั้น พวกเขารู้สึกจนลง ว่าที่จริงหลายคนอาจต้องกู้หนี้ยืมสินเพิ่มขึ้น ดังนั้น พวกเขาก็จะใช้จ่ายน้อยลง โดยเฉพาะหลังจากที่ผ่านช่วงPent Up Demand ไปแล้ว
ผมไม่รู้ว่า Pent Up Demand จะหมดลงไปเมื่อไร แต่โดยธรรมชาติก็จะค่อย ๆ หมดไปตามเวลาที่ผ่านไป ประเด็นสำคัญต่อจากนี้ก็คือ ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำลงมากอานิสงค์จากการที่ภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากต่างประเทศยังถูกปิดอยู่และดูเหมือนว่าถึงจะเปิดก็เพียงเล็กน้อย กับเรื่องของการส่งออกที่ชะลอตัวลงอย่างแรงในปีนี้ไม่เอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้อย่างรวดเร็ว นี่ทำให้ผู้บริโภคโดยเฉพาะที่เป็นคนชั้นกลางลงมาจะใช้จ่ายน้อยลง เช่นเดียวกับเจ้าของธุรกิจ SME โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเองซึ่งคงจะถูกกระทบหนักจนรู้สึกได้ถึงความมั่งคั่งที่น้อยลง ทั้งสองกลุ่มนี้ก็คงบริโภคน้อยลง และดังนั้น สินค้าที่มีราคาปานกลางถึงแพงที่พวกเขาใช้ โดยเฉพาะ บ้านราคาถูก รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าน่าจะถูกกระทบหนักเป็นระยะเวลาค่อนข้างนาน และนี่ก็เป็นอาการที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติเช่น วิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 เช่นเดียวกัน ในขณะที่สินค้าราคาแพงที่ “คนรวย” ใช้เองนั้น ผมคิดว่าน่าจะถูกกระทบน้อยกว่า เหตุผลส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าทรัพย์สินที่มีค่ามากเช่น บ้านและที่ดินรวมถึงหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์มีราคาลดลงไม่มาก ทำให้ พวกเขาไม่รู้สึกว่าจนลงมากจนต้องลดการบริโภคลงอย่างมีนัยสำคัญ
สินค้าจำเป็นราคาถูกและคนต้องกินและใช้ประจำวันนั้น น่าจะฟื้นกลับขึ้นมาเกือบเท่าเดิมในเวลาไม่นานเพราะอุปสรรคต่าง ๆ ในการซื้อและบริโภคหมดไป คนไทยนั้นถึงจะรู้สึกว่าจนลง ยังไงก็ยังพอบริโภคสินค้าประจำวันได้ไม่ลดลง สินค้าบางอย่างนั้นอาจจะมีความต้องการมากขึ้นเมื่อคนจนลงเช่น บะหมี่สำเร็จรูปที่มีราคาถูกมากซึ่งทำให้คนที่จนลงหันมาบริโภคแทนอาหารที่แพงกว่า นักเศรษฐศาสตร์เรียกสินค้าแบบนี้ว่าเป็น “Inferior Goods”
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น นักลงทุนจะต้องตระหนักว่าความต้องการสินค้าของบริษัทที่เราลงทุนนั้นเป็นแบบไหนและอยู่ในสถานะใด อย่าเพิ่งดีใจว่ายอดขายฟื้นตัวแล้วและกำลังเติบโตต่อไปอย่างยั่งยืนเพราะมันอาจจะเป็นแค่ Pent Up Demand ก็ได้ สำหรับคนที่ลงทุนระยะยาวแล้ว การวิเคราะห์สถานการณ์ระยะยาวซึ่งก็คือการคาดการณ์ความต้องการที่อิงอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและความมั่งคั่งของลูกค้าจะเป็นเครื่องป้องกันความผิดพลาดของเราได้