เก่าไป – ใหม่มา

0
1915

โลกในมุมมองของ Value Investor  4 กรกฎาคม 63

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

​ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาผมสังเกตเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเกิดขึ้นในโลกจำนวนมาก   สิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้น  เติบโตอย่างรวดเร็ว  และภายในเวลาไม่นานนักก็แซงหรือทดแทนสิ่งเก่าที่เคยยิ่งใหญ่หรือเป็นสิ่งที่เคยยึดถือกันมายาวนานเป็นสิบ ๆ หรือร้อยปี  นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ผู้คนต้องใช้กัน   แต่รวมถึงแนวความคิดและปรัชญาของผู้คนที่เปลี่ยนเร็วไม่แพ้กันหรือเร็วยิ่งกว่าสิ่งของที่จับต้องได้  การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้  ผมคิดว่ามาจากการ “ปฏิวัติ” ของเทคโนโลยีโดยเฉพาะทางด้านดิจิตอลที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว  จาก 1G กลายเป็น 5G ภายในเวลาแค่ประมาณ 20 ปี  ซึ่งทำให้ประชาชนรายเล็ก ๆ  ทั่วโลกที่ไม่เคยเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมกลายเป็นคนที่มีความสำคัญโดยเฉพาะเมื่อพวกเขาสามารถ “รวมพลัง” กันผ่านระบบ “สื่อสังคม” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่มนุษย์เคยรู้จักนั่นก็คือระบบอินเตอร์เน็ต  ในอดีตนั้น  คน ๆ  เดียวทำหรือมีบทบาทอะไรน้อยมากโดยเฉพาะถ้าเขาไม่ได้อยู่ในระบบของ “อำนาจเดิม” ที่เป็น “สถาบัน” ที่มีอยู่ในโลกมายาวนานเช่น  สถาบันการปกครองของรัฐต่าง ๆ  หรือสถาบันเศรษฐกิจที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ต่าง ๆ  ในโลก  เป็นต้น

​ในปัจจุบันนั้น  คนที่อาจจะไม่มีความหมายอะไรเลยหากเกิดในยุคก่อน เช่น  ไม่ได้อยู่ในครอบครัวที่มีอำนาจรัฐหรือไม่มีเงินและชื่อเสียง  อาจจะสามารถก่อตั้งบริษัทเล็ก ๆ  ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการสร้างผลิตภัณฑ์  ระดมเงินที่ต้องการผ่านกองทุนต่าง ๆ  แล้วก็นำเสนอและขายผลิตภัณฑ์นั้นแก่คนทั่วไปผ่านสื่อสังคมที่สามารถขยายไปอย่างรวดเร็วถึงคนเป็นล้าน ๆ  ทั่วโลก  ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี  สินค้าของเขาก็ได้รับการยอมรับและใช้กันทั่วไปมากกว่าบริษัทยุคเก่าที่อาจจะเปิดดำเนินการมาเป็นร้อยปีและเป็นผู้นำมาครึ่งศตวรรษ  ผู้ก่อตั้งบริษัทรุ่นใหม่ที่พลิกเปลี่ยนโลกในชั่วข้ามคืนเหล่านั้น จำนวนมาก  เริ่มต้นธุรกิจตั้งแต่เพิ่งจบหรือยังไม่จบวิทยาลัย  ในวันที่เขายิ่งใหญ่และเป็นมหาเศรษฐีนั้นก็มักจะยังหนุ่มมาก  อายุไม่เกิน 40 หรือที่มากหน่อยก็แค่ 50 ปี  ความแตกต่างของอายุของผู้นำในโลกยุคใหม่กับผู้นำในโลกยุคเก่าเห็นได้อย่างชัดเจน  ความคิดของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่าก็แตกต่างกันอย่างชัดเจน  โลกกำลังเกิด “Generation Gap” หรือ “ช่องว่างระหว่างวัย” ที่รุนแรง  ไม่ใช่แค่เรื่องของการใช้ของหรืออุปกรณ์  แต่เป็นเรื่องของความคิดที่อาจจะส่งผลรุนแรงทางการเมืองได้

​ตัวอย่างเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ก็คือการที่หุ้นของเทสลา  ผู้ผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ใช้ไฟฟ้านำโดยอีลอนมัสก์  ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดรถยนต์มาแค่สิบกว่าปีและขายรถยนต์ล่าสุดปีละไม่กี่แสนคัน  แต่บริษัทกลับมีขนาดของบริษัทวัดจาก Market Cap. สูงกว่าบริษัทโตโยต้าที่เป็นบริษัทเก่าแก่อายุร้อยปีและเป็นผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบันและมียอดขายปีละกว่า 10 ล้านคัน  นี่ก็คือข้อพิสูจน์ที่ว่า  รถยนต์รุ่นเก่าที่ใช้น้ำมันกำลังถดถอยลง  อนาคตเป็นของรถยนต์ไฟฟ้า  บริษัทรถยนต์ที่ยังยิ่งใหญ่ในวันนี้  ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าจำนวนมากอาจจะ “ไม่ติดอันดับ” บริษัทรถยนต์ที่ยิ่งใหญ่อีกต่อไป  “เก่ากำลังจะไปและใหม่กำลังจะมา”

​เรื่องของความคิด  นามธรรม  และปรัชญาต่าง ๆ  ของคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก  ตัวอย่างเช่น  ในแวดวงของความบันเทิงนั้น  นักร้องนักแสดงรุ่นใหม่ที่เข้ามาสู่แวดวงนี้ต่างก็มักจะผ่านมาทางระบบของสื่อสังคมและบริษัทรุ่นใหม่ที่ไม่ได้อิงกับระบบเดิม ๆ  ที่ต้องอาศัยสถาบันและบริษัทใหญ่ ๆ อีกต่อไป  พวกเขาสร้างผลงานและความดังระดับโลกได้ด้วยความคิดและเครื่องมือที่คนตัวเล็ก ๆ  หรือบริษัทใหม่ ๆ  ก็สามารถทำได้  เหตุผลอีกอย่างหนึ่งก็คือ  ผู้บริโภคกลุ่มใหญ่เองก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดและความรู้สึกคล้าย ๆ  กัน  ดังนั้น  พวกเขาจึงสามารถตอบสนองลูกค้าได้ดีกว่าคนรุ่นก่อนที่มักจะมีความคิดแบบเดิม ๆ  ที่อาจจะ  “Out” ไปแล้ว  ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและในอดีตไม่นานมานี้เราอาจจะคิดว่าเป็นไปไม่ได้ก็คือการที่วงดนตรีของเกาหลี เช่น วงบีทีเอส  และแบล็คพิ้งค์สามารถก้าวขึ้นมาเป็นวงนำระดับต้น ๆ ของโลกได้ในเวลาไม่กี่ปีและเหนือกว่าวงของทางด้านอเมริกาที่มีชื่อเสียงมาเป็นเวลาเกือบร้อยปี

​ความคิดหลาย ๆ  อย่างในโลกนี้เช่น  การปกปักรักษาสิ่งแวดล้อมของโลกเองนั้น  ด้วยเทคโนโลยีดิจิตอลที่ทำให้โลกโดยเฉพาะคนหนุ่มสาวสามารถสื่อสารกันได้อย่างง่ายดาย  เราก็ได้เห็นการรณรงค์ที่ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพจนก่อให้เกิดเป็นพลังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนทั้งโลก  รูปธรรมที่ผมเองรู้สึกทึ่งมากก็คือการที่โลกซึ่งรวมถึงประเทศไทยเรา  “เลิกใช้ถุง” โดยเฉพาะถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้งซึ่งส่งผลให้บริษัทที่ผลิตสินค้าแทบจะ  “เจ๊ง” ภายในเวลาอันรวดเร็ว และคนที่ทำให้เกิดกระแสการอนุรักษ์มากมายขึ้นไม่ใช่หน่วยงานรัฐหรือผู้มีบารมีอย่างอดีตรองประธานาธิบดีอัลกอร์ของอเมริกาหรือเป็นดาราดังที่จะชักชวนให้คนทำอีกต่อไป  แต่เป็นเด็กมัธยมชื่อ เกรตา ธันเบิร์ก จากประเทศเล็ก ๆ คือสวีเดน ซึ่งกลายเป็นเซเลบที่ไปพูดที่ไหนก็เป็นข่าวดังไปทั่วโลก

​ในด้านของสังคมและความคิดทางการเมืองนั้น  ความแตกต่างระหว่างวัยยิ่งเห็นเด่นชัดขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  กระแสการประท้วงเพื่อเรียกร้องเสรีภาพในฮ่องกงนั้นมาจากคนหนุ่มสาวเป็นส่วนใหญ่  และผู้นำคนสำคัญคนหนึ่งก็คือ โจชัว หว่อง  ซึ่งขณะนำการประท้วงใน “ขบวนการร่ม”  ครั้งแรกนั้นเขายังเป็นเด็กมัธยม  ความคิดเรื่อง “เสรีภาพ” ของคนฮ่องกงโดยเฉพาะสำหรับคนหนุ่มสาวกับคนสูงอายุนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงและก่อให้เกิดปัญหาในฮ่องกงมากมาจนถึงทุกวันนี้  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  จีนซึ่งมีอำนาจรัฐเหนือฮ่องกงนั้นเป็นรัฐคอมมิวนิสต์ซึ่งมีความคิดเรื่องเสรีภาพต่างกับคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะในฮ่องกงอย่างสิ้นเชิง  และนี่ทำให้ฮ่องกงน่าจะยังห่างไกลจากการเป็นเมืองที่มีเสรีภาพอย่างที่คนรุ่นใหม่ต้องการ การเปลี่ยนแปลงยังไม่เกิดขึ้น

​ประเทศไทยเองนั้น  ถ้าพูดถึงการใช้ชีวิตทั่ว ๆ ไปแล้ว  คุณรุ่นใหม่ต่างก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  การใช้สินค้าและอุปกรณ์ไฮเท็คโดยเฉพาะด้านดิจิตอลของไทยนั้นเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นไปอย่างรวดเร็วและตาม “กระแสของโลก” อย่างใกล้ชิด  ซึ่งสิ่งที่ตามมานอกเหนือจากเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวันที่ผูกกับดิจิตอลไฮเท็ค ความบันเทิงและการเรียนรู้ในศิลปะและวิชาการต่าง ๆ  แล้ว  ก็คือ  เรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณี  พฤติกรรมทางสังคม  และแนวคิดและปรัชญาทางการเมืองที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่  ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น  คนรุ่นเก่าเอง  แม้ว่าบางคนอาจจะได้สัมผัสกับโลกใหม่ที่เปลี่ยนไปเช่นเดียวกันแต่จำนวนมากก็ไม่ได้เห็นคล้อยตามไปด้วย  ไม่ต้องพูดถึงคนรุ่นเก่าจำนวนมากที่ไม่พร้อมจะเปลี่ยนปรัชญา  แนวทางหรือความเชื่อของตนเองที่ถูก “หล่อหลอม”จากสังคมไทยมาตลอดชีวิต  ผลก็คือ  เกิดความแตกต่างทางความคิดระหว่างคุณรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่อย่างชัดเจนในช่วงเวลาอาจจะแค่ 10 ปีที่ผ่านมาที่สื่อสังคมเปิดขึ้นทั้งโลกและไม่มีใครสามารถปิดกั้นการเข้าถึงได้

​ในทางด้านของสังคมเองนั้น  คนรุ่นใหม่ของไทยต่างก็โหยหา  “เสรีภาพและความเสมอภาค” ในขณะที่ปฎิเสธขนบธรรมเนียมเดิมที่ถูกมองว่า  “กดขี่” คนที่ด้อยและอ่อนแอกว่าซึ่งรวมถึงเด็กและคนรุ่นใหม่อย่างพวกเขา  การต่อสู้โดยการประท้วงจาก  “เด็กเลว” ที่อยากมีสิทธิไว้ผมหรือแต่งตัวตามที่ตนเองต้องการเวลาไปโรงเรียนหรือเด็กที่ไม่ต้องการหมอบกราบต่อหน้าครูบาอาจารย์  แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่กำลังเกิดขึ้น  นักศึกษาในมหาวิทยาลัยเองต่างก็เริ่มประท้วงต่อต้านทั้งในเรื่องสังคมและการเมืองที่พวกเขาเห็นว่าไม่ถูกต้องและต้องเปลี่ยนแปลง  การเกิดขึ้นของพรรคการเมือง “ของคนรุ่นใหม่” ได้รับการต้อนรับและได้รับคะแนนเสียงอย่างล้นหลามโดยที่ไม่มีใครคาดคิด  ทั้งหมดนี้ยังไม่ถึงกับทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปจากสิ่งที่เป็นมานับร้อยปีแต่ก็เป็นสัญญาณเตือนว่า  ไทยอาจจะกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและในกระบวนการนั้นอาจจะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงต่อสังคม  เศรษฐกิจ  การปกครองและการเมือง  เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นทั่วโลกระหว่างคนหรือบริษัทรุ่นใหม่กับรุ่นเก่า เหมือนดังคำกล่าวที่ว่า “When the old power refuse to die and the new power struggle to be born, evil appear.”หรือแปลว่า  “เมื่ออำนาจเก่าไม่ยอมตายและอำนาจใหม่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อจะเกิด  ความชั่วร้ายก็ปรากฏขึ้น”