สัญญาณเก็งกำไรในตลาดหุ้น

0
1665

โลกในมุมมองของ Value Investor     11 กรกฎาคม 63

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

​ผมสังเกตมานานแล้วว่าตลาดหุ้นไทยนั้นเป็นตลาดที่มีการเก็งกำไรสูงมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นของประเทศอื่น ๆ  ที่ผมรู้จัก  การเก็งกำไรของนักลงทุนส่วนบุคคลของไทยนั้น  ว่าที่จริงแทบไม่เคยหายไปเลยยกเว้นก็แต่ในช่วงหลังวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ที่ เศรษฐกิจไทยแทบจะล่มสลายและคนที่บาดเจ็บหนักที่สุดก็คือผู้ประกอบการและนักธุรกิจที่มีเงินมากพอที่จะเล่นหุ้นหรือลงทุนได้ในช่วงเวลานั้น  ซึ่งก็ทำให้การ “เก็งกำไร” ในตลาดหุ้นหายไปอย่างสิ้นเชิงเป็นเวลาหลายปีก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวและเกิด  “นักลงทุนรุ่นใหม่” ที่มีความหลากหลายมากขึ้นและรวมถึง  คนชั้นกลางที่ “กินเงินเดือน” และเริ่มสะสมเงินหรือความมั่งคั่งเพื่อการเกษียณ  นักลงทุนรุ่นใหม่เหล่านั้นมีจำนวนมากขึ้นมากเมื่อเทียบกับนักลงทุนรุ่นเก่า  พวกเขานอกจากจะมีเงินแล้วก็ยังมี “ความรู้”ในการลงทุนมากขึ้นมาก  พวกเขารู้ว่าในการเลือกหุ้นลงทุน  เราจะต้องวิเคราะห์และประเมินหามูลค่าที่แท้จริงและเปรียบเทียบกับราคาหุ้น  ถ้าหุ้นราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากหรือที่เรียกว่ามี Margin Of Safety สูง  เขาก็จะซื้อ  ถ้าราคาหุ้นแพงกว่าก็ต้องขาย  นี่คือหลักการที่เรียกว่า “Value Investing” ที่กลายเป็น “กระแสหลัก” ของการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมาจนถึงทุกวันนี้

​แต่การเก็งกำไรในตลาดหุ้นเองนั้น  นอกจากจะไม่หายไปแล้ว  มันยังเฟื่องฟูมากและอาจจะมากกว่าการเก็งกำไรในอดีตด้วยซ้ำ  เหตุผลนั้นน่าจะมีหลายอย่าง  ประการแรกนั้น  การเก็งกำไรเป็นเรื่องที่อยู่ใน “ยีน” ของคนตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของมนุษย์ที่เรียกว่า “Homo Sapiens” โดยที่คนที่ไม่กล้าหรือไม่ชอบเสี่ยงนั้นมักจะเอาตัวรอดและเผยแพร่เผ่าพันธุ์ได้ยากและน้อยกว่าคนที่ชอบเสี่ยง  ประการต่อมาก็คือ  ระบบที่เอื้ออำนวยให้กับการเล่นเก็งกำไร  นั่นก็คือ  ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหุ้นที่ต่ำมากและการที่ไม่เสียภาษีกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์  ดังนั้น  การซื้อ ๆ ขาย ๆ หุ้นและ “ทำกำไร” ได้อย่างรวดเร็วจึงเป็นสิ่งที่คนอยากทำ  และสุดท้ายก็คือ  “ทางเลือก” ในการเก็งกำไรอย่างอื่นในประเทศไทยนั้นดูเหมือนว่าจะไม่ได้ผลตอบแทนดีเท่ากับการ “เล่นหุ้น” ในภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันโดยเฉพาะสำหรับคนที่มีเงินเหลือเก็บเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อการเกษียณ

​การเก็งกำไรที่สูงมากนั้น  ทำให้หุ้นที่ถูกเก็งกำไรมีราคาปรับตัวสูงกว่าปกติ  ยิ่งมีคนเข้ามาซื้อขายมากก็ยิ่งทำให้ราคาปรับตัวสูงเพิ่มขึ้น  และนั่นทำให้หุ้นมักจะมีราคาแพงกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก  ถ้าเราเข้าไปซื้อหุ้นเหล่านั้นและเก็บไว้ยาวนาน  โอกาสที่หุ้นจะปรับตัวลงมาตามพื้นฐานที่ควรจะเป็นก็จะสูง  เราก็อาจจะขาดทุนได้มาก  ดังนั้น  VI ที่มุ่งมั่นและระมัดระวังจึงควรจะรู้ว่าตลาดหุ้นหรือหุ้นกลุ่มไหนหรือหุ้นตัวไหนกำลังมีการเก็งกำไรสูงมากน้อยแค่ไหน  อะไรคือ “สัญญาณ” ที่แสดงว่ามีการเก็งกำไรที่ร้อนแรงอยู่ในตลาดหุ้นซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นบางกลุ่มหรือบางตัวแพงผิดปกติและเราควรที่จะหลีกเลี่ยง

​สัญญาณการเก็งกำไรข้อแรกก็คือ  ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันของตลาดหุ้น  นับเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีมาแล้วที่ปริมาณการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของไทยสูงลิ่วเทียบกับตลาดในประเทศเพื่อนบ้านที่มีระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน  ล่าสุดในช่วงไม่กี่เดือนมานี้ทั้ง ๆ  ที่มีปัญหาโควิด-19 ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ต่อวันก็ยังสูงถึง 6 ถึง 7 หมื่นล้านบาท สูงที่สุดในอาเซียนและสูงกว่าตลาดหุ้นอย่างเวียตนามถึง 10 เท่า  ดังนั้น ถ้าดูจากข้อมูลนี้ก็แสดงว่าตลาดหุ้นไทยโดยรวมมีการเก็งกำไรสูงมาก  ซึ่งนั่นมักจะนำไปสู่สัญญาณข้อสองก็คือ

​ค่า PE ของตลาดโดยรวมนั้นสูงเป็นประวัติการณ์ที่ประมาณเกือบ 20 เท่าและสูงกว่าของประเทศในอาเซียนที่ประมาณ 15-16 เท่าทั้ง ๆ  ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียนนั้นต่ำเกือบที่สุดที่ประมาณ 3% ต่อปีในระยะหลายปีที่ผ่านมาเทียบกับการเติบโตของประเทศรอบบ้านที่อยู่ที่ประมาณ 5-7% ต่อปี

​การเก็งกำไรนั้น  มักจะทำกับหุ้นขนาดเล็กหรือกลางที่มีหุ้น Free Float หรือหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดน้อย  เพราะนั่นมักจะทำให้หุ้นวิ่งขึ้นได้เร็วและมากในระยะเวลาอันสั้น  การเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นเหล่านี้มักจะสูง  บางทีเป็น 10% ในวันเดียวโดยไม่ได้มีข่าวดีเป็นพิเศษ  การเปลี่ยนแปลงในระดับวันละ 4-5%กลายเป็นเรื่องปกติ  ดังนั้น  การที่เราเห็นหุ้นขนาดเล็กและกลางที่มีหุ้นหมุนเวียนในตลาดน้อย  มีราคาหุ้นปรับตัวขึ้นแรง  นั่นก็เป็นสัญญาณว่าการเก็งกำไรของนักลงทุนรายย่อยนั้นสูงมาก  ราคาของหุ้นตัวเล็กจำนวนมากก็คงแพงกว่าปกติ 

​สัญญาณตัวที่สี่ที่จะชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีการเก็งกำไรในหุ้นตัวเล็กหรือกลางที่มี Free Float น้อยก็คือ  การที่ปริมาณการซื้อขายหุ้นสูงที่สุด 10 อันดับประจำวันนั้นประกอบไปด้วยหุ้นดังกล่าวหลายตัวทุกวัน  ลองคิดดูว่าคนเข้ามาเล่นเก็งกำไรในหุ้นเหล่านั้นมากน้อยแค่ไหนถ้าหุ้นเหล่านั้นมีมูลค่าหุ้นหมุนเวียนในตลาดเพียง 2-3 พันล้านบาท  แต่เพียงวันเดียวกลับมีคนซื้อขายหุ้น 2-3 พันล้านบาทไปแล้ว ซึ่งนั่นเท่ากับว่าหุ้นทุกหุ้นถูกซื้อและอาจจะขายทันทีภายในวันเดียวกัน  และปริมาณการซื้อขายนั้นมีมูลค่าเท่ากับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดหลายแสนล้านบาท  และนี่ก็คือหุ้นที่เก็งกำไรกันอย่างสุดเหวี่ยง  ถ้าเราไม่ใช่นักเก็งกำไรก็ควรหลีกเลี่ยงหุ้นเหล่านี้

​ช่วงที่ตลาดหุ้นมีการเก็งกำไรสูงมากนั้น  บางทีดัชนีตลาดโดยรวมก็ไม่ได้ปรับตัวขึ้นสูง  สาเหตุก็เพราะว่าพื้นฐานโดยรวมของเศรษฐกิจและบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะขนาดใหญ่นั้นอาจจะไม่ดีเลย  ในสถานการณ์แบบนี้  นักเก็งกำไรที่มีจำนวนมากในตลาดหุ้นไทยก็มักจะต้องมองหาหุ้นบางกลุ่มหรือบางตัวที่จะนำมาเล่นเก็งกำไร  หุ้นที่เขามักใช้เป็นเครื่องมือก็คือหุ้นที่ยังดูดีในแง่ผลประกอบการอยู่และมีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเก็งกำไรได้นั่นก็คือ  มันเป็นหุ้นขนาดเล็กหรือกลางที่มี Free Float ต่ำที่สามารถถูกลากหรือ “ต้อนเข้ามุม”  เพื่อดันราคาให้สูงขึ้นไปได้มากได้  ดังนั้น  เมื่อเราพบว่าในภาวะที่ตลาดหุ้นไม่ดีอย่างในปัจจุบันแต่กลับมีหุ้นบางกลุ่มหรือบางตัวที่ยังวิ่งเอาวิ่งเอา  เหตุผลหนึ่งก็น่าจะเป็นเพราะว่ามีนักเก็งกำไรกลุ่มใหญ่ที่ต้องหาหุ้นมาเล่นเก็งกำไรและเข้ามา “รุมเล่น”ในหุ้นตัวนั้นหรือกลุ่มนั้น

​สัญญาณที่หกที่มักจะบอกว่าการเก็งกำไรกำลังขึ้นสู่จุดสูงสุดก็คือการที่เราพบว่ามีหุ้นที่มีราคาพุ่งไปสู่จุดที่เรียกว่าเป็นหุ้น  “Impossible” เพราะราคาหุ้นขึ้นไปสูงแบบ  “เป็นไปไม่ได้” ในระยะยาวต่อไปอีกซัก 2-3 ปี  ตัวอย่างเช่น  เป็นหุ้นที่ขายสินค้าโภคภัณฑ์เช่นสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกี่ยวข้อง หรือบริการที่เป็นโภคภัณฑ์เช่น การเดินเรือหรือแม้แต่การบิน หุ้นเหล่านี้  ในภาวะที่ตลาดดีสินค้ามีราคาแพงก็จะได้กำไรมาก  แต่ในยามตกต่ำ  ราคาก็จะร่วงลงมามากจนทำให้ขาดทุนได้  ประเด็นก็คือ  ในยามที่ดีนั้น  คนก็มักจะเข้ามา “เก็งกำไร” ซื้อหุ้นกันมากจนราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปสูงลิ่วซึ่งจะดึงดูดให้คนเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ  โดยไม่ได้สนใจความถูกแพงและไม่คิดว่าอนาคตกำไรจะต้องลดลงมาก  แต่ในไม่ช้าราคาโภคภัณฑ์นั้นจะต้องตกต่ำลงเพราะจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นมาก  คำว่า “Impossible” ของผมก็คือ  ราคาหุ้นอาจจะสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานที่ควรจะเป็นในภาวะปกติเกิน 4-5 เท่าขึ้นไป  

​สุดท้ายที่เป็นสัญญาณการเก็งกำไรในตลาดหุ้นก็คือเรื่องของปริมาณและจำนวนของหุ้น IPO หรือหุ้นเข้าตลาดใหม่  ถ้ามีจำนวนมากและราคาหุ้นที่เข้าไปซื้อขายในวันแรกวิ่งขึ้นไปสูงมาก  บวกไปหลายสิบหรือเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ขึ้นไปจากราคา IPO  นั่นก็แปลว่าการเก็งกำไรในช่วงนั้นของตลาดหรือกลุ่มหุ้นหรือตัวหุ้นนั้นสูง  ราคาของหุ้นก็มักจะแพงกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็น

​การวิเคราะห์ระดับของการเก็งกำไรในตลาดหุ้นหรือกลุ่มหุ้นหรือตัวหุ้นนั้น  นักลงทุนที่ระมัดระวังควรจะต้องสังเกตและติดตามเป็นระยะ  การดูปริมาณและโดยเฉพาะการปรับตัวขึ้นลงของราคาหุ้นเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่มักจะชี้ว่าหุ้นหรือกลุ่มหุ้นนั้นมีการเก็งกำไรสูงมากน้อยแค่ไหน  หลังจากนั้น  เราก็ต้องดูข้อมูลเชิงคุณภาพว่า  กิจการเป็นอย่างไร  เป็นสินค้าโภคภัณฑ์หรือเป็นสินค้าที่คนเลือกซื้อเพราะปัจจัยที่ไม่ใช่ราคามากน้อยแค่ไหน  บริษัทเป็นผู้นำหรือไม่และโดดเด่นแค่ไหน  สุดท้ายก็มาถึง Story หรือเรื่องราวการเติบโตในอนาคตที่ถูกนำมา  “ขาย” ให้กับนักลงทุน  เราต้องดูว่าสมเหตุผลและเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน  อย่าเชื่ออะไรง่าย ๆ  โดยเฉพาะที่คนพูดมีผลประโยชน์อยากให้หุ้นวิ่งขึ้นไปมาก ๆ   ในหลาย ๆ  กรณีผมเองก็มักจะเลี่ยงลงทุนในหุ้นที่ดูแล้วมีสัญญาณของการเก็งกำไรสูงผิดปกติซึ่งทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปสูงผิดปกติ  ผมอาจจะเป็น VI รุ่นเก่าที่ไม่ยอมซื้อหุ้นแพงหรือแพงจัดไม่ว่าบริษัทจะดูดีแค่ไหนซึ่งในบางครั้งก็ทำให้พลาดการลงทุนในหุ้นที่ทำกำไรได้เร็วและง่ายไปบ่อย ๆ  แต่นี่ก็เป็นเรื่องที่ผมเลือกที่จะเป็น