โลกในมุมมองของ Value Investor 18 กรกฎาคม 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
มองย้อนหลังไปประมาณ 8 ปี ตลาดหุ้นไทยนั้นดูเหมือนจะไม่ไปไหน สิ้นปี 2555 ดัชนีตลาดหุ้นอยู่ที่ประมาณ 1,392 จุด ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ดัชนีอยู่ที่ 1,360 จุดหรือลดต่ำลงประมาณ 2.3% และในช่วง 8 ปีมานี้ ตลาดหุ้นไทยอยู่ในลักษณะ “Sideway” คือไม่ขึ้นหรือลงมาก ปีที่ดีที่สุดคือปี 2559 ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นประมาณ 20% ส่วนปีที่แย่ที่สุดก็คือปี 2558 ที่ดัชนีติดลบ 14% และปีนี้ที่ดัชนีดูผันผวนขึ้นตั้งแต่ต้นปีมาถึงวันนี้ที่ดัชนีตกลงไปแล้วประมาณ 13.9% ถ้านับจำนวนปีที่ขาดทุนหรือกำไร ใน 8 ปีนั้นก็มี 4 ปีที่ดัชนีเป็นบวกและอีก 4 ปีที่ดัชนีติดลบ ดูจากสถิติแล้ว นี่น่าจะเป็น 8 ปีแห่งความผิดหวังและตกต่ำของการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศไทย นักลงทุนโดยเฉลี่ยแล้วแทบจะไม่ได้อะไรจากการลงทุนระยะยาว นักลงทุนน่าจะ “ถอดใจ” และลดระดับการซื้อขายลงไปมาก
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานั้น การซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นกลับ “คึกคักเป็นประวัติการณ์” เหตุผลน่าจะเป็นเพราะว่านักลงทุนหันมาเล่นหุ้นระยะสั้นกันมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนส่วนบุคคลและรายย่อยที่เข้ามาเล่นหุ้นเก็งกำไรในหุ้นขนาดเล็กและกลางที่มี Free Float ต่ำ ซึ่งส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยดูเหมือนกับจะมีการแยกออกเป็น “2 ตลาด” โดยที่ “ตลาดหลัก” ก็คือหุ้นขนาดใหญ่และ “ตลาดเก็งกำไร” ซึ่งเป็นหุ้นขนาดเล็กและกลางที่มีการเก็งกำไรสูงมาก แน่นอนว่าไม่ได้มีการแยกกันอย่างชัดเจนทั้งตัวหุ้นและนักลงทุนที่เข้าไปเล่น ว่าที่จริงทั้งสองตลาดก็มีการสลับเปลี่ยนกันไปมา โดยที่กลุ่มนักลงทุนส่วนบุคคลในประเทศนั้นก็ชอบที่จะเล่น “หุ้นเก็งกำไร” ส่วนนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนสถาบันนั้นก็เน้นที่หุ้นหลักขนาดใหญ่มากกว่า
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมานั้น นักลงทุนต่างประเทศหรือที่นักเล่นหุ้นเรียกว่า “ฝรั่ง” เพราะส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากประเทศตะวันตก เป็นกลุ่มที่มีการขายหุ้นสุทธิมาตลอด จำนวนยอดขายสุทธิรวมกันถึง 8 แสนล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละแสนล้านบาท เหตุผลที่ฝรั่งขายหุ้นสุทธิมาตลอดหลายปีนั้น ถ้าจะวิเคราะห์ก็คงต้องดูเหตุผลว่าทำไมฝรั่งถึงซื้อหุ้นไทยมาตั้งแต่แรก เพราะนั่นจะทำให้เรารู้ว่าเขาจะขายต่อไหม เพราะถ้าเขายังขายต่อไปเรื่อย ๆ โอกาสที่หุ้นจะขึ้นไปมาก ๆ ก็น่าจะยาก อย่าลืมว่าฝรั่งถือหุ้นไทยโดยรวมประมาณ 36% เมื่อ 8 ปีก่อนและค่อย ๆ ลดลงมาเกือบทุกปี โดยที่ในช่วงหลัง ๆ ที่ขายออกมากนั้น ปริมาณหุ้นที่ถือก็ยังอยู่ในระดับเกือบ 30% หรือคิดเป็นเม็ดเงินถึงกว่า 5 ล้าน ๆ บาท พูดง่าย ๆ ถ้าจะขายก็มีหุ้นขายได้อีกมาก ไม่ต้องห่วงว่าจะขายจนเกือบหมดแล้ว
ในอดีตที่ฝรั่งเข้ามาลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหุ้นไทยมากนั้น น่าจะเริ่มประมาณปี 2542-3 หลังจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยที่การเติบโตของ GDP หลังจากนั้นจนถึงปี 2551 ที่เกิดวิกฤติซับไพร์ม โตถึงประมาณ 5% ต่อปี ยิ่งไปกว่านั้น อัตราดอกเบี้ยก็ลดลงมามาก รวมถึงค่าเงินที่มีเสถียรภาพซึ่งทั้งหมดนั้นเอื้ออำนวยต่อการลงทุน ประชากรไทยเองก็กำลังเติบโตเป็นหนุ่มสาวและเข้าสู่แรงงานมากขึ้น การลงทุนสร้างกำลังผลิตในภาคอุตสาหกรรมมีสูง ทั้งหมดนั้นทำให้ความสามารถในการแข่งขันโดยเฉพาะในการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของไทยมีความโดดเด่นเหนือประเทศอื่น ๆ ในโลก และที่สำคัญตลาดหุ้นไทยเองนั้น ตกต่ำลงมากเพราะวิกฤติเศรษฐกิจและมีราคาไม่แพง ค่า PE ของตลาดแค่ประมาณไม่เกิน 10 เท่าเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น นักลงทุนจากประเทศพัฒนาแล้วจึง “แห่” กันเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทยจน “เพดาน” การลงทุนเช่นในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์เต็ม ตลาดหลักทรัพย์ต้องสร้างเครื่องมือให้ต่างชาติลงทุนเพิ่มขึ้นเช่นพวก NDVR เป็นต้น
หลังปีวิกฤติซับไพร์มปี 2008 และต่อถึงปี 2011 หรือปี 2554 ที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจหรือ GDP ก็ลุ่ม ๆ ดอน อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ 2-3 อย่างที่ทำให้ตลาดหุ้นยังดีอยู่ก็คือ ประการแรก กำไรของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดอานิสงค์ส่วนหนึ่งจากการเติบโตขึ้นของการบริโภคของคนชั้นกลางที่มีเงินเพิ่มขึ้นเร็วเนื่องจากการปรับขึ้นของค่าแรงที่เพิ่มขึ้นเร็วมากเพราะการขาดแคลนแรงงาน อีกส่วนหนึ่งมาจากการลดภาษีนิติบุคคลของรัฐบาล จาก 30% เป็น 20% และประการที่สองก็คือ ดัชนีหุ้นนั้นตกต่ำลงมาแรงเพราะวิกฤติ ทำให้ค่า PE ของตลาดตกลงมาอยู่ในระดับประมาณ 10 เท่าต้น ๆ ดังนั้น ตลาดจึงปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจนถึงปี 2555 หรือประมาณ 8 ปีมาแล้ว และนี่ก็คือช่วงที่ตลาดหุ้นไทยเติบโตให้กำไรดีที่สุดช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ ดัชนีปรับตัวขึ้นจาก 450 จุดเป็น 1,392 จุดหรือเป็น 3 เท่าในเวลา 4 ปี
หลังจากปี 2555 ประเทศไทยดูเหมือนว่าจะเข้าสู่ “โหมดใหม่” การเมืองที่เคยมีเสถียรภาพและพัฒนาก้าวหน้าตามโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ ตั้งแต่วิกฤติปี 2540 เริ่มจะเปลี่ยนแปลงไป การรัฐประหารซึ่งคนส่วนใหญ่คิดว่าจะไม่เกิดขึ้นแล้วก็เกิดขึ้นและบ่อยเหมือนที่เคยเป็นมานานในอดีต คนไทยที่เคยเป็นหนุ่มสาวอายุเฉลี่ย 30 กว่าปีเริ่มแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและคนรุ่นใหม่เกิดน้อยลงมากทำให้อายุเฉลี่ยในวันนี้สูงเกือบ 40 ปีเข้าไปแล้วกลายเป็นประเทศที่แก่ตัวที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชีย กำไรของบริษัทจดทะเบียนที่เคยเติบโตเร็วมากนั้นเติบโตช้าลงอย่างเห็นได้ชัดและโตเพียงเฉลี่ยปีละไม่เกิน 5% ตั้งแต่ปี 2555 ถึงสิ้นปี 2562 เศรษฐกิจไทยในช่วงเวลาเดียวกันก็เริ่มเปลี่ยนเป็นโหมดโตช้าและโตประมาณปีละ 3% และเป็นการโตโดยอาศัยการท่องเที่ยวจากชาวต่างประเทศโดยเฉพาะจีนเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้เน้นการลงทุนและการส่งออกอย่างที่เป็นมา และทั้งหมดนั้นก็ยังไม่เท่ากับการที่ประเทศในเอเซียโดยเฉพาะในอาเซียนที่เริ่ม “เปิดประเทศ” เต็มรูปแบบทุกประเทศที่เข้ามาแข่งขันทางการผลิตและการค้ากับประเทศไทยโดยตรง พวกเขามีกำลังแรงงานจำนวนมากที่มีราคาถูกซึ่งเป็นทั้งผู้ผลิตเพื่อการส่งออกและบริโภคภายในประเทศ มีระบบการเมืองและการปกครองที่มีเสถียรภาพซึ่งดึงดูดการลงทุนไปจากประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตช้าเพราะคนกำลังแก่ตัวลง บริษัทจดทะเบียนที่เติบโตช้าเพราะเศรษฐกิจเติบโตช้าและเป็นบริษัท “รุ่นเก่า” ที่ไม่ได้เน้นนวัตกรรมใหม่ แต่ราคาหุ้นนั้นตั้งแต่สิ้นปี 2555 ไม่เคยถูกเลย ค่า PE ส่วนใหญ่เกิน 15 เท่าและใกล้มาทาง 20 เท่า ฝรั่งที่ไหนอยากจะลงทุนระยะยาว? และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลที่ฝรั่งขายหุ้นติดต่อกันมาเป็นเวลา 8 ปี แต่ทั้งหมดก็ไม่ทำให้ดัชนีหุ้นตก มันแค่ทรง ๆ หรือ Sideway มานานมาก เหตุผลที่หุ้นไม่ตกนั้นผมคิดว่าเป็นเพราะเม็ดเงินของคนไทยที่มีเพิ่มขึ้นทุกปีเนื่องจากคนไทยกำลังแก่ตัวลงและเก็บเงินเพื่อการเกษียณ ทางเลือกในการลงทุนมีจำกัดและทางเลือกอื่นเช่นการฝากเงิน ลงทุนพันธบัตร การซื้อที่และลงทุนทางเลือกเช่น ทองนั้น ก็ไม่ได้ดีไปกว่าหุ้น ดังนั้น คนไทยจึงลงทุนในหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รับกับการขายหุ้นของฝรั่งมาแปดปีแล้ว นักลงทุนไทย ไม่ท้อและไม่เบื่อหรือถอดใจ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ยังมีหุ้นตัวเล็กตัวกลางจำนวนพอสมควรที่สร้างผลตอบแทนหรือทำกำไรให้มหาศาลที่อาจจะทำให้รวยได้แม้ว่าตลาดหุ้นโดยรวมจะไม่ไปไหนและคนส่วนใหญ่ก็ยังขาดทุน ดูไปแล้วผมก็คิดถึงหวยที่โดยเฉลี่ยแล้วคนเล่นก็ขาดทุนและขาดทุนมาเป็นหลาย ๆ สิบปีแต่ก็ไม่เห็นมีใครเลิกเล่น เพราะคนยังมีความหวังว่าจะรวยหรือถูกรางวัลทุกงวด
วิธีที่จะแก้ปัญหาให้หุ้นเติบโตขึ้นก็คือต้องเปลี่ยนโหมดของประเทศและของบริษัทจดทะเบียนซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากในสถานการณ์และภาวะปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ง่ายกว่ามากสำหรับนักลงทุนที่จะย้ายเงินลงทุนไปสู่ตลาดใหม่ที่มีอนาคตที่สดใสกว่า ผมคิดว่าผมมองออกว่าประเทศหรือตลาดไหนจะดีในระยะยาวต่อจากนี้ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนที่เป็นนักลงทุนที่มุ่งมั่นแต่ไม่มีแรงอย่างผมที่จะทำ และถึงจะพร้อมทุกอย่างก็ยังมีปัญหาบางอย่างที่สำคัญเช่นเรื่องของค่าเงินที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้มากซึ่งทำให้การลงทุนในต่างประเทศยังไม่สามารถมาแทนการลงทุนในประเทศได้มากพอ
สำหรับคนธรรมดาที่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจหรือความสามารถพอที่จะไปลงทุนต่างประเทศเองนั้น ผมคิดว่าการลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศน่าจะเป็นทางออกที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่วิถีที่จะทำให้รวยได้เร็วเหมือนการลงทุนแบบ “Focus” หรือเลือกลงทุนเป็นรายตัวไม่กี่ตัวอย่างที่นักลงทุนส่วนบุคคลในไทยทำ ผมเองอยากแนะนำว่า เราควรจะต้องเปลี่ยน “โหมด” การลงทุนของเราใหม่ จากการเล่นหุ้นแบบเก็งกำไรเป็นการลงทุนระยะยาวที่เน้นผลตอบแทนระยะยาวที่สมเหตุผลในอัตราปีละเฉลี่ยไม่เกิน 10% โดยที่หากได้ผลตอบแทนปีละ 5-7% แบบทบต้นก็ถือว่าน่าพอใจแล้ว การตั้งเป้าแบบนี้ผมเชื่อว่าจะทำให้เรามีชีวิตที่ดีขึ้นและไม่เครียดกับการลงทุน-เกือบทุกวันอย่างที่อาจจะเคยเป็นในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมาน