หุ้นโรงพยาบาลก็ติดโควิด19

0
1669

โลกในมุมมองของ Value Investor        29 สิงหาคม 63

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

​ผลประกอบการไตรมาศ 2 ที่ออกมานั้นได้สะท้อนผลกระทบของโควิด19 อย่างชัดเจนว่า  ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมไหนได้รับผลกระทบแรงแค่ไหน  ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเดินทางที่ถูกกระทบแรงที่สุดเพราะคนแทบจะเลิกเที่ยวและการเดินทางก็ทำเฉพาะที่จำเป็นจริง ๆ  หุ้นในกลุ่มโรงแรมและสันทนาการจำนวน 13 ตัวนั้น  มีกำไรแค่ 2 ตัวและกำไรเพียงไม่เกิน 4 ล้านบาท  ที่เป็นโรงแรมนั้นขาดทุนกันหมดและขาดทุนมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน  ส่วนหุ้นขนส่งนั้น   จากที่กำไรมาตลอดก็กลายเป็นกลุ่มที่ขาดทุนมากที่สุดในตลาดกว่าหมื่นล้านบาทในไตรมาศเดียว  อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่าจะมีหุ้นกลุ่มหนึ่งที่อาจจะทำให้หลายคนคาดผิดคิดว่าน่าจะเป็นกลุ่มที่อาจจะได้ประโยชน์ในตอนที่เริ่มเกิดโควิด19นั่นก็คือ  หุ้นโรงพยาบาล เพราะคนคิดว่าเมื่อเกิดโรคระบาดใหญ่  ธุรกิจที่ทำหน้าที่หลักในการรักษาโรคน่าจะมีลูกค้ามากขึ้นและทำกำไรมากขึ้น  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้นกลับตรงกันข้าม  หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลกลับกลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่ถูกกระทบแรงรอง ๆ จากกลุ่มโรงแรม  ผลประกอบการนั้นลดลงถึงเกือบ 80%  เทียบกับไตรมาศ 2 ของปีก่อน  และนั่นทำให้ผมนึกถึงคำพูดเก่าของนักลงทุนในยุคหนึ่งที่เกิดวิกฤติว่า  “อย่าเข้าโรงแรมหรือโรงพยาบาล”

​สิ่งที่ทำให้หุ้นโรงพยาบาลถูกกระทบหนักและทำให้หลายแห่งขาดทุน  และหุ้นที่เคยกำไรมากมายนั้น  กำไรหดหายไปมากอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อนมีอย่างน้อยสองเรื่องคือ  หนึ่ง  มีคนติดเชื้อโควิด19ในประเทศไทยน้อยมาก  และที่ติดเชื้อก็มักไปรักษาในโรงพยาบาลของรัฐ  แต่ในทางตรงกันข้าม  การระบาดของโควิดนั้นทำให้คนไม่อยากไปโรงพยาบาลถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ เพราะคนเชื่อว่าโรงพยาบาลเป็นแหล่งที่อาจจะมีเชื้อมากกว่าที่อื่น  ผลก็คือ  คนเข้าไปใช้บริการน้อยลงมาก  ข้อสอง  สำหรับโรงพยาบาลที่มีลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติมากซึ่งมักเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่และมีรายได้และทำกำไรได้มากนั้น  โควิด19ทำให้เราต้องปิดประเทศซึ่งส่งผลให้ลูกค้าในส่วนนี้ที่อาจจะทำรายได้หลายสิบเปอร์เซ็นต์หรือบางแห่งเกินครึ่งหายหมด  ผลก็คือ  หุ้นโรงพยาบาลระดับท็อปและเป็นหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” นั้น  กำไรแทบจะไม่มีในไตรมาศ 2

​ผลกระทบจากโควิด19 ต่อจากนี้ผมคิดว่ายังไม่ได้หมดไป  จริงอยู่  คนในประเทศไทยเองนั้นก็เริ่มไปโรงพยาบาลกันแล้วเนื่องจากการที่ไม่มีการระบาดในประเทศมานาน  แต่ดูเหมือนว่าโรงพยาบาลก็อาจจะกำลังประสบกับปัญหาที่ว่าเศรษฐกิจของไทยเองก็กำลังตกต่ำลงอย่างแรง  คนชั้นกลางโดยเฉพาะที่ทำงานทางด้านบริการเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวตกงานกันเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายย่อยที่เคยเป็นลูกค้าของโรงพยาบาลเอกชนต่างก็กำลังลำบากเพราะค้าขายได้น้อยลงมาก  ดังนั้น  สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นก็คือ  พวกเขาก็จะไปโรงพยาบาลน้อยลงและถ้าจำเป็นก็อาจจะไปใช้บริการของโรงพยาบาลรัฐแทน  นี่จะทำให้ธุรกิจของโรงพยาบาลที่เน้นผู้ป่วยที่เป็นคนไทยยังไม่สดใสต่อไป

​สำหรับโรงพยาบาลที่เน้นลูกค้าต่างประเทศนั้น  ก็ชัดเจนว่าลูกค้าคงไม่กลับมาเร็ว  พวกเขาคงกลับมาหลังจากที่ไทยเปิดประเทศเต็มที่แล้วซึ่งคงจะใช้เวลาอีกยาวนานเป็นปี ๆ  เหตุผลที่คนไข้ต่างประเทศไม่มาไทยนั้นไม่ใช่เพราะว่าเขากลัวจะติดเชื้อในประเทศไทย  แต่เป็นเพราะว่าคนไทยกลัวว่าถ้ามีชาวต่างประเทศเข้ามาโดยไม่ได้ถูกกักกันตัวยาวนานพอ  เราจะมีการระบาด “รอบสอง”  ดังนั้น  เราจึงตั้งเงื่อนไขที่เข้มงวดซึ่งทำให้คนไข้ไม่สามารถเข้ามาได้ในทางปฏิบัติ  ผลก็คือ  ลูกค้ากลุ่มสำคัญนี้หายไปแทบจะหมดและจะต้องรอจนกว่าโควิดจะหายไปจากโลกหรือมีการค้นพบวัคซีนหรือวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงพอ   นอกจากนั้น  ยังมีประเด็นว่าเมื่อโรคโควิด19 สงบแล้ว  คนไข้เดิมจะกลับมาทั้งหมดหรือไม่  เพราะโดยธรรมชาติแล้ว  ชาวต่างชาติที่เป็นโรคเหล่านั้นมักจะเป็นโรคที่ค่อนข้างร้ายแรง  พวกเขารอกลับมารักษาในไทยไม่ได้  ดังนั้น  เขาก็จะต้องหาหมอในประเทศหรือที่อื่น  และถ้าต้องรักษานาน  ก็น่าจะมีโอกาสว่าพวกเขาอาจจะไม่กลับมาเมืองไทยอีกแล้วก็เป็นได้

​หุ้นโรงพยาบาลที่เคยเป็นหุ้นที่ดี  มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ถาวรในแง่ที่ว่าลูกค้ามักจะ “ติด” และกลับมาใช้บริการต่อเนื่องกับ “หมอประจำ” และที่โรงพยาบาลที่สะดวกเพราะอยู่ใกล้บ้านหรือที่ทำงาน  และจะไม่ยอมเปลี่ยนถ้าต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายไม่ได้ต่างกันมากพอ   นอกจากนั้น  โรงพยาบาลยังอยู่ในอุตสาหกรรมที่น่าจะเติบโตเป็น  “เมกาเทรนด์” เนื่องจากสังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุซึ่งต้องการการรักษาดูแลสุขภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นเวลานาน  นี่ทำให้โรงพยาบาลที่ดำเนินงานมานานและมีกำไรแล้วจึงเป็นธุรกิจที่ดีมากในแง่ของความมั่นคง และโรงพยาบาลบางแห่งโดยเฉพาะที่เน้นลูกค้าต่างประเทศซึ่งทำให้สามารถเติบโตได้ในระยะยาวพร้อมกับการทำกำไรที่สูง  กลายเป็นหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” ในช่วงที่ผ่านมากว่า 10 ปี หุ้นเหล่านี้มีค่า PE ที่สูงลิ่ว  บางที 40-50 เท่า  ในขณะที่หุ้นโรงพยาบาล “ท้องถิ่น”  เองนั้น  ก็มักจะมีค่า PE ที่สูงไม่ต่างกันมากนัก

​คำถามสำคัญก็คือ  หลังจากโควิด19 แล้ว  หุ้นโรงพยาบาลจะกลับมาเหมือนเดิมไหม?  และถ้าใช่  จะใช้เวลายาวนานแค่ไหนก่อนที่รายได้และกำไรจะกลับมาเท่าเดิมก่อนการระบาดของโรคโควิด

​เรื่องแรกที่สำคัญก็คือ  การเติบโตของความต้องการโรงพยาบาลหรือการรักษา  แน่นอนว่าคนไทยแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและจำนวนคนที่ต้องการใช้บริการโรงพยาบาลนั้นจะต้องเพิ่มขึ้น  ค่าใช้จ่ายก็ต้องเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากคนแก่มักจะมีโรครุนแรงที่ต้องใช้การรักษาที่แพงกว่าเด็กและคนหนุ่มสาวมาก  ดังนั้น  การเติบโตของอุตสาหกรรมนั้นต้องสูงแน่   แต่ประเด็นก็คือ  Supply หรือจำนวนโรงพยาบาลหรือเตียงคนไข้เองนั้น  ก็มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน  และในสภาวะปัจจุบันเองนั้น  จำนวนโรงพยาบาลของรัฐมีมากกว่าโรงพยาบาลเอกชนมาก  โดยที่โรงพยาบาลเอกชนนั้นมีลูกค้าที่มีรายได้สูงเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งในภาวะที่เศรษฐกิจของไทยเติบโตดีในอดีตที่ผ่านมาทำให้มีคนรวยหรือมีฐานะดีมากขึ้น  และนั่นทำให้โรงพยาบาลเอกชนเติบโตเร็วและมีกำไรดี

​แต่การเกิดขึ้นของโควิด19 นั้นทำให้เศรษฐกิจถดถอยไปมาก  นี่ทำให้คนบางคนที่เคยใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนต้องเปลี่ยนมาใช้บริการโรงพยาบาลของรัฐมากขึ้น  และแม้ว่าในที่สุดโควิด19 จะหายไปแล้ว  กว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาเท่าเดิมได้ก็ต้องใช้เวลาหลายปี  ในช่วงเวลานั้นคนไทยก็แก่ตัวลงไปอีก  ซึ่งนั่นก็ทำให้ศักยภาพของคนไทยที่จะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจถดถอยลงไปอีก  ดังนั้น  ในวันที่ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม   คนไทยหรือประเทศไทยก็อาจจะ  “หมดแรง” แล้ว  การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจช้าลงจนแทบจะหยุด การเติบโตของ GDP อาจจะเหลือแค่ปีละ 2-3%โดยเฉลี่ย  ซึ่งก็จะทำให้มีคนที่รวยพอที่จะใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนเพิ่มน้อยลงมาก  นอกจากนั้น  ถ้ารัฐสามารถเพิ่มคุณภาพการให้บริการได้ดีขึ้นหรือให้บริการแบบ “พิเศษ” โดยคิดค่าบริการเพิ่มขึ้นบ้างเพื่อแข่งกับโรงพยาบาลเอกชน  นั่นก็จะทำให้การเติบโตและการทำกำไรของโรงพยาบาลเอกชนลดน้อยลง  ซึ่งก็จะส่งผลให้หุ้นมีความน่าสนใจน้อยลง  และค่า PE ของหุ้นโรงพยาบาลก็ไม่อาจจะสูงกว่าปกติอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้ได้

​หุ้นโรงพยาบาลชั้นนำที่เป็น “ซุปเปอร์สต็อก” นั้น  คนที่ใช้บริการจำนวนมากเป็นคนในประเทศที่มีความมั่งคั่งสูง  ชาวต่างประเทศโดยเฉพาะที่อยู่รอบบ้านเราที่เริ่มจะรวยขึ้นมากแต่ไม่มีโรงพยาบาลที่ดีพอในประเทศ  และชาวต่างประเทศของประเทศที่ร่ำรวยเช่นประเทศในตะวันออกกลางที่ยังไม่มีโรงพยาบาลที่ดีพอและได้รับสวัสดิการจากรัฐบาลให้ไปรักษาในต่างประเทศได้  ความสามารถในการแข่งขันของโรงพยาบาลไทยนั้นค่อนข้างสูงซึ่งทำให้เราสามารถเป็นศูนย์กลางในการรักษาพยาบาลแห่งหนึ่งของโลก  หลังจากโควิดแล้ว  คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่าที่ลูกค้าจะกลับมาเท่าเดิมก่อนโควิด  แต่หลังจากนั้นแล้วจำนวนคนไข้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะยาวหรือไม่?  ผมเองคิดว่าเราน่าจะยังมีโอกาสอยู่

​ผมคิดว่าประเทศไทยคงจะดำเนินต่อไปในฐานะของการเป็น  “ประเทศท่องเที่ยว” ของคนโดยเฉพาะในเอเซียและการบริการโดยเฉพาะทางด้านการรักษาและดูแลสุขภาพที่ดีเลิศคุ้มค่าสำหรับ “คนรวย” จากต่างประเทศที่ยังไม่มีโรงพยาบาลที่ดีพอเช่นประเทศกำลังพัฒนาในเอเซียที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว  ว่าที่จริง  ในระยะหลังนี้  เราได้เห็นคนกลุ่มนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ  และผมเชื่อว่าหลังจากโควิดแล้วพวกเขาก็จะกลับมาและจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ตามการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่จะยังคงสูงต่อไปอีกนานพอสมควร  ดังนั้น  โรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูง  มีชื่อเสียงและบุคลากรที่ยอดเยี่ยมในระดับโลก น่าจะยังคงสามารถเติบโตต่อไปได้  และค่า PE เองก็น่าจะยังคงต้องสูงต่อไปแม้ว่าอาจจะไม่เท่าเดิม