โลกในมุมมองของ Value Investor
17 ตุลาคม 63
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เมื่อคืนและจนถึงนาทีที่กำลังเขียนบทความนี้ คือเช้าวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ผมกำลังนั่ง “ร้องไห้” จากเหตุการณ์ “น่าเศร้า” ของการเมืองในประเทศไทยที่กำลังเกิดขึ้น ที่จริงผมเคยร้องไห้แบบนี้มาอย่างน้อยครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ที่เกิดเหตุการณ์ “มหาวิปโยค” ในวันนั้นผมกำลังนั่งอยู่บนรถเมล์เพื่อที่จะกลับบ้าน คนทั้งคันรถต่างก็ร้องไห้ ผมจำได้ว่าควักเงินที่มีอยู่น้อยนิดใส่ลงในกล่องที่มีคนเดินขอรับบริจาค นั่นเป็นเวลา 47 ปีมาแล้วและผมอายุ 20 ปี เรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 ในมหาวิทยาลัย ในช่วงนั้น เหตุการณ์ต้องบอกว่ารุนแรงกว่าครั้งนี้มาก มีคนตายและบาดเจ็บจำนวนมาก หลังจากเหตุการณ์ บ้านเมืองก็ “เปลี่ยน” กลายเป็นประเทศที่มีประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ก็เป็นแค่ช่วงสั้น ๆ หลังจากนั้น ประเทศไทยก็มีการปกครองแบบ “ลุ่ม ๆ ดอน ๆ” มาตลอดจนถึงทุกวันนี้ แต่ทางด้านสังคมนั้น คนไทยก็พัฒนามาเรื่อย ๆ ตามการเปลี่ยนแปลงของโลกและการพัฒนาการทางเศรษฐกิจของไทย
ทางด้านเศรษฐกิจนั้น ต้องบอกว่าเราทำได้ดีมากจนถึงวันนี้ เราใกล้จะถึงจุดที่มีรายได้สูงพอที่จะเป็นประเทศร่ำรวยแล้ว ทางด้านสังคมนั้น ก็ต้องบอกว่าสังคมไทยมีความก้าวหน้าขึ้นไม่น้อย เรามีแนวความคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพในการทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้ตามสถานะทางเศรษฐกิจ คนคิดว่าเพศสภาพนั้นเป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะเลือกได้และทุกคนต่างก็ยอมรับ การนับถือศาสนานั้นก็เปิดกว้าง และแม้ว่าเรายังมีกฎหมายที่ห้ามกิจกรรมหลายอย่างเช่น การขายบริการทางเพศ แต่ในทางปฏิบัติจริงทุกคนก็รับรู้ว่าสามารถทำได้ เพียงแต่อาจจะต้องมี “ต้นทุน” บางอย่างเพิ่มขึ้นเท่านั้น สรุปก็คือ เรื่องของเศรษฐกิจและสังคมนั้น ประเทศไทยมีการพัฒนาค่อนข้างจะสอดคล้องกับระดับการพัฒนาของประเทศ แต่ทางด้านของการเมืองนั้น ไทยยัง “ล้าหลัง” มาก ซึ่งในความคิดของผมแล้ว ภาวะแบบนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะจากการสังเกตของผม ในประเทศหรือสังคมนั้น โดยปกติแล้ว การพัฒนาทุกอย่างมักจะต้อง “ไปด้วยกัน” และเราแทบสังเกตได้เพียงแต่แค่ไปเยี่ยมเยือนประเทศเหล่านั้น เราก็พอจะมองออกว่าเขาพัฒนาไปไกลแค่ไหน
เริ่มตั้งแต่ถนนหนทางและตึกรามบ้านช่อง ความสะอาดของสถานที่ คุณภาพของบริการและการต้อนรับ อาหารที่ขาย คุณภาพของบริการสาธารณะเช่นรถเมล์ แท็กซี่ และรถไฟฟ้าบนดินและใต้ดิน ในด้านของสังคมก็ดูถึงผู้คนว่ามีความคิดและมุมมองอย่างไร เคารพสิทธิและความคิดของคนอื่นแค่ไหน และแน่นอนว่าระบบการเมืองการปกครองเองนั้นก็มักจะบอกถึง “ระดับ” ของการพัฒนาของประเทศ ซึ่งในปัจจุบันนั้น การเป็น “ประชาธิปไตย” ซึ่งก็มักจะส่งผลต่อระดับของการคอร์รัปชั่นว่าประเทศมีมากน้อยแค่ไหน ก็เป็นตัววัดที่สำคัญอย่างหนึ่ง เช่น ถ้าประเทศเป็นประเทศ “พัฒนาแล้ว” ประเทศนั้นก็มักจะต้องเป็นประเทศที่ใช้ระบบ “ประชาธิปไตยที่แท้จริง” ไม่มีประเทศไหนที่พัฒนาแล้วแต่ใช้ระบบ “เผด็จการ” และถ้าประเทศไหนที่เคยเป็นประเทศกำลังพัฒนาและเป็นเผด็จการมาก่อน เช่น เกาหลีใต้ เมื่อ 30 ปีก่อน แต่ตอนนี้กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เขาก็กลายเป็นประเทศประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอย่างทุกวันนี้
เหตุผลที่ว่าทำไมระดับการพัฒนาของประเทศจึงมาเกี่ยวกับระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้นน่าจะมีมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ผมคิดก็คือ เวลาที่คนรวยขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นแล้ว สิ่งที่เขาต้องการต่อไปก็คือ เขาอยากจะมี “ศักดิ์ศรีของความเป็นคน” มากขึ้นและเท่าเทียมกับคนอื่น ๆ ในทุกด้าน และถ้าสังคมไม่สามารถให้เขาได้ เขาก็จะเรียกร้องและต่อสู้เพื่อให้ได้มา ดังนั้น เมื่อมาถึงจุดหนึ่งที่ คนส่วนใหญ่มีรายได้สูงพอก็จะออกมาเรียกร้องและก็ “ชนะ” ในที่สุด และนั่นก็ส่งผลให้คนทุกคนในประเทศหรือในสังคมนั้นต่างก็ได้อานิสงค์ คือถึงยังมีรายได้ต่ำก็จะมีสิทธิมีเสียงเท่า ๆ กับคนอื่นทุกคน และนี่ก็คือระบอบประชาธิปไตยที่จะไม่มีใครมีสิทธิเหนือกว่าคนอื่น ทุกคนจะมี 1 เสียงเท่ากันเวลาจะตัดสินอะไรต่าง ๆ ของสังคมหรือของประเทศ
ข้อสรุปของผมก็คือ “อนาคตของประเทศไทย” นั้น ถ้าเราจะพัฒนาต่อไปได้จนกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว สิ่งหนึ่งที่จะต้องเกิดขึ้นก็น่าจะเป็นว่าเราต้องเป็นประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ถ้าเราไม่สามารถที่จะพัฒนาต่อไปได้แล้ว ประเด็นก็จะเป็นอย่างอื่น แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ผมเองก็คิดว่าด้วย “ระดับความเป็นประชาธิปไตย” ในปัจจุบันที่ยังต่ำกว่าระดับของการพัฒนาประเทศทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ก็มีความเป็นไปได้ว่า ประชาธิปไตยของไทยก็จะต้องมีการ “ยกระดับขึ้น” และด้วยอิทธิพลของ “สื่อยุคใหม่” ก็น่าจะช่วยให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงนี้เร่งตัวเร็วขึ้นมากอย่างที่ดูเหมือนว่ากำลังจะเกิดขึ้นในช่วงเร็ว ๆ นี้
การเป็นประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นตามการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่ในทางกลับกัน ผมก็คิดว่าการพัฒนาการทางเศรษฐกิจเองก็อาจจะดีขึ้นหรือเร่งตัวขึ้นได้จากการที่ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เหตุผลนั้นคงมีมากมาย แต่เหตุผลที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การเป็นประชาธิปไตยนั้น จะช่วย “ปลดปล่อยศักยภาพของคน” ออกมาได้เต็มที่ เพราะคนจะรู้สึกและมีแรงกระตุ้นที่จะทำงานและสร้างผลงานที่เป็นตัวตนของตนเอง ไม่ถูก “กดทับ” โดยกฎหมายหรือสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน นอกจากนั้น ค่าที่ว่าประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่ใช้ระบอบการปกครองแบบนี้ ดังนั้น การที่ใช้ระบบเดียวกันย่อมทำให้เป็นที่ต้อนรับมากว่าในด้านของการค้าและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
อาจจะมีข้อถกเถียงว่าทำไมประเทศอย่างจีน และอาจจะรวมถึงเวียตนามที่ใช้ระบอบการปกครองอื่นจึงเจริญเติบโตเร็วมากได้ ประเด็นนี้ผมขอเถียงว่าที่เขาเติบโตเร็วทางเศรษฐกิจนั้นเป็นเพราะปัจจัยทางด้านอื่น โดยเฉพาะในด้านคุณภาพและกำลังแรงงานของคนมากกว่า ที่จริงถ้าเขาเป็นประชาธิปไตยอาจจะยิ่งโตเร็วกว่านี้ และไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ผมเองคิดว่า ในที่สุดเมื่อรายได้ต่อหัวของคนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ผมคิดว่าจีนและเวียตนามก็จะต้องเป็นประชาธิปไตย แม้แต่พรรคคอมมิวนิสต์ที่แข็งแกร่งแค่ไหนก็ไม่สามารถคุมประเทศได้เมื่อคนทั้งประเทศไม่ต้องการ
การที่ผม “ร้องไห้” นั้น ไม่ใช่เพราะผมรู้สึกว่าผู้ประท้วงเป็นฝ่าย “พ่ายแพ้” การเมืองเป็นเรื่องระยะยาวที่ต้องใช้เวลาและผมก็ผ่านเวลามามาก ผมรู้ว่าการเมืองก็คล้าย ๆ กับสงคราม มี “ศึก” หรือ “สนามรบ” นับไม่ถ้วน บางทีการพ่ายแพ้ในศึกหนึ่งอาจจะนำไปสู่ชัยชนะได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการเมืองนั้น สนามรบที่แท้จริงกลับอยู่ในหัวหรือจิตใจของคน การพ่ายแพ้หรือชนะทางการเมืองนั้น ที่แท้จริงก็คือต้องดูว่า “คนจะเปลี่ยนไปอยู่ฝ่ายไหนมากขึ้น” ไม่ใช่สงครามที่จะต้องทำลายศัตรูให้ย่อยยับหรือจับเป็นเชลยได้มากกว่า แต่ที่ผมร้องไห้นั้นคงเป็นเพราะสื่อที่นำเสนอที่ทำให้เราเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นและมันประทับเข้าไปอยู่ในใจ ผมเองคิดว่าไม่ใช่ผมคนเดียวที่ร้องไห้ แม้แต่คนที่เป็นอนุรักษ์นิยมหลาย ๆ คนรุ่นราวคราวเดียวกับผมก็ร้องไห้เมื่อเห็นเด็กที่ยังแต่งเครื่องแบบนักเรียนที่ไม่ได้มีหรือสร้างความรุนแรงใด ๆ ถูกกระทำโดยไม่มีเหตุผลและไม่มีความปราณี ผมไม่รู้ว่าจะต้องร้องไห้ไปอีกกี่ครั้งก่อนที่ศึกครั้งนี้จะจบ
สภาวะการเมืองในช่วงเร็ว ๆ นี้ อาจจะกลายเป็น “Country Risk” หรือ “ความเสี่ยงของประเทศ” ในเรื่องของการลงทุนถ้ามันยังลุกลามต่อไป สื่อหลัก ๆ ของต่างประเทศต่างก็รายงานข่าวเป็นข่าวใหญ่และ “ข่าวด่วน” บางทีอาจจะมากกว่าข่าวจาก “สื่อรุ่นเก่า” ของประเทศไทยด้วยซ้ำ ข่าวที่กระจายไปทั่วโลกนั้นย่อมทำให้นักลงทุนจากต่างประเทศชะลอหรือขายเงินลงทุนในประเทศไทยออกไปซึ่งจะกระทบทั้งตลาดหุ้นและพันธบัตรรวมถึงการลงทุนโดยตรง ส่งผลให้ราคาหลักทรัพย์ตกลงมาและเศรษฐกิจตกต่ำลงซ้ำเติมจากที่เป็นอยู่แล้วเนื่องจากวิกฤติโควิด-19
แต่โดยส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้ทำอะไรกับพอร์ตของตนเอง ผมคิดว่าราคาหุ้นมันลงมามากแล้ว “ขายไม่ลง” เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ขายไปก็ต้องเก็บเป็นเงินสดที่ไม่ได้ผลตอบแทนอะไรและมีความเสี่ยงเหมือนกันถ้าประเทศเป็นอะไรไป เงินสดก็อาจจะหมดค่าเหมือนกันเพราะแท้จริงมันเป็นแค่กระดาษ เทียบกับหุ้นที่เป็นกิจการและโรงงานการผลิตต่าง ๆ ที่ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นของสังคม นอกจากนั้นแล้ว ลึก ๆ ผมเองก็ยังมีความหวังหรือความฝันว่าเรา “แย่ที่สุด” แล้ว รอไปอีกสักพัก สิ่งต่าง ๆ ก็อาจจะดีขึ้นได้ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ผมเห็นพลังและความมุ่งมั่นของคนรุ่นใหม่ที่พร้อมที่จะนำพาสังคมไทยไปสู่โลกที่ดีกว่า และผมจะรอ เวลาอยู่ข้างพวกเขา หน้าที่ผมก็คือ มีชีวิตให้ยาวพอที่จะเห็นสังคมที่ก้าวหน้า เสมอภาคและ ภราดรภาพ ในประเทศไทย