ลงทุนมาราธอนแบบวอเร็นบัฟเฟตต์

0
2344

โลกในมุมมองของ Value Investor 22 ต.ค. 63

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

​เวลาคนพูดถึงวอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น  ภาพแรกที่นึกถึงก็คือ  เขาเป็นนักลงทุนหมายเลขหนึ่งของโลกและทำผลงานการลงทุนที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล หุ้นตัวไหนที่บัฟเฟตต์เข้าซื้อ  หุ้นตัวนั้นก็มักจะวิ่งขึ้นแบบ “ติดจรวด”  ดังนั้น  พอร์ตการลงทุนของเขาแต่ละปีก็น่าจะดีเยี่ยม  และแน่นอน  จะต้องเอาชนะตลาดแบบ “ขาดลอย” บางคนอาจจะเคยได้ยินว่าปี ๆ หนึ่งผลตอบแทนที่ได้นั้นหลายสิบเปอร์เซ็นต์และแทบจะไม่ค่อยติดลบเลย  แต่ทั้งหมดนั้น  เป็นจริงหรือ?  เรามาดูกันว่าผลงานการลงทุนตลอดชีวิตของบัฟเฟตต์เป็นอย่างไร?

​วอเร็น บัฟเฟตต์ เกิดในปี 1930 ซึ่งภาวะเศรษฐกิจอเมริกันและโลกอยู่ในช่วง Great Depression หรือวิกฤติครั้งใหญ่ซึ่งเกิดขึ้นในปี 1929 ที่เมืองโอมาฮา รัฐเนบราสกา นับถึงวันนี้เขาก็มีอายุครบ 90 ปีแล้ว  ตามประวัตินั้น  ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเริ่มรู้ความเขาก็  “ลงทุน” แล้ว  เช่น  ลงทุนขายน้ำในงานรื่นเริงของท้องถิ่น  แต่หุ้นตัวแรกที่เขาซื้อนั้นเกิดขึ้นตอนเขาอายุแค่ 11 ขวบ  พอเรียนจบมหาวิทยาลัยตอนอายุประมาณ 21 ปี  เขาก็เริ่มทำงานทางด้านหลักทรัพย์ในฐานะที่เป็นนักวิเคราะห์และบริหารกองทุนรวมเป็นเวลาสั้น ๆ  หลังจากนั้นเมื่ออายุ 26 ปี เขาก็จัดตั้งและบริหารกองทุนที่เป็นห้างหุ้นส่วนเองโดยมีเงินที่มีคนมาลงทุนเริ่มต้นประมาณ 100,000 เหรียญ โดยที่เป็นเงินส่วนของเขาเองเพียงเล็กน้อย  แต่เขาจะได้รับส่วนแบ่งจากกำไรที่สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดด้วยทุกปี จากวันนั้น  เขาก็ลงทุนมาตลอดจนถึงวันนี้คิดเป็นเวลา 60-70 ปี และกลายเป็นตำนานของนักลงทุนที่ยังมีชีวิตอยู่

​สถิติการลงทุนของวอเร็น บัฟเฟตต์ ในแง่ของความมั่งคั่งส่วนตัวที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  เป็นระยะเวลายาวนานนั้น  มีการบันทึกไว้โดยผู้ที่ติดตามประวัติและผลงานย้อนหลังของเขาซึ่งพอจะ “ประมาณ” เป็นมูลค่าที่ผมจะกล่าวต่อไป  ซึ่งผมเองคิดว่า  ในช่วงแรก ๆ ก่อนที่เขาจะดังและมีเงินจำนวนมากนั้น  น่าจะเป็นตัวเลขที่อาจจะคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงได้มาก  นอกจากนั้น  ในช่วงที่ยังมีความมั่งคั่งไม่มาก  เงินที่เพิ่มขึ้นมาของเขายังมาจากเงินที่ได้จากการทำงานโดยเฉพาะเงินส่วนแบ่งกำไรจากการบริหารกองทุนของเขา หรือเปรียบง่าย ๆ  ก็คือ  มีเงินเติมเข้าไปในพอร์ตหุ้นส่วนตัวของเขาต่อเนื่องเป็นเวลาประมาณ 13 ปี  แต่หลังจากนั้นเมื่อเขาเปลี่ยนจากการบริหารกองทุนเป็นการใช้บริษัทเบิร์กไชร์เป็นบริษัทโฮลดิ้ง  เมื่อเขามีอายุประมาณ 40 ปี  ความมั่งคั่งทุกอย่างของเขาก็มาจากหุ้นเบิร์กไชร์เป็นหลัก  และสถิติการลงทุนและความมั่งคั่งของเขาหลังจากนั้นก็น่าจะถูกต้องเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

​เมื่อบัฟเฟตต์อายุครบ 30 ปีในปี 1960 นั้น  เขามีเงินหรือความมั่งคั่งถึงประมาณ 1 ล้านเหรียญหรือถ้าคิดเป็นเงินไทยวันนี้ก็ประมาณ 30 ล้านบาทแล้ว  อาจจะดูว่าไม่มาก  แต่ถ้ามองว่านั่นคือสภาวะเมื่อ 60 ปีก่อนที่เมืองไทยยังใช้สามล้อคนถีบเป็นหลัก  บ้านที่ผมอยู่เป็นบ้านไม้มุงหลังคาสังกะสี  และถนนในกรุงเทพมีไม่กี่สาย  การทำอาหารยังใช้ถ่านไม้เป็นหลัก น้ำที่ใช้ยังต้องไปหาบมาจากที่อื่น  บ้านยังไม่มีเครื่องใช้ไฟ้ฟ้าแม้แต่ชิ้นเดียว  ก็ต้องถือว่าบัฟเฟตต์รวยเป็น  “Millionaire” หรือ  “เศรษฐีเงินล้าน” แล้วตั้งแต่อายุ 30 ปี ซึ่งแม้แต่ในอเมริกาก็ถือว่า  “ไม่ธรรมดา” และผมจะตั้งต้นจากจุดนี้ที่จะดูหรือวัดผลงานการลงทุนของบัฟเฟตต์ว่าเป็นอย่างไร  เพราะถ้าวัดจากวันเริ่มต้นลงทุนของเขาตอนอายุ 26 ปีนั้น  เม็ดเงินที่ลงทุนมีน้อยมากและยังมีการ “เติมเงิน” จำนวนมากเข้ามาอย่างต่อเนื่อง  การวัดก็จะไม่ค่อยมีความหมาย  เหมือนกับบอกว่าซื้อหุ้นครั้งแรกด้วยเงิน 100,000 บาท แต่แค่ 3-4 ปีกลายเป็น 10 หรือ 100 ล้านบาทแล้ว

​อีก 10 ปีต่อมา ในปี 1970  และบัฟเฟตต์อายุครบ 40 ปี เงินหรือความมั่งคั่งของบัฟเฟตต์โตเร็วมาก  จาก 1 กลายเป็นประมาณ 34 ล้านเหรียญ หรือโตขึ้น 33 เท่าตัวในเวลา 10 ปี  คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นถึงปีละ 42%  นี่คือความ “สุดยอด” ผลงานการลงทุนของบัฟเฟตต์ และทำให้บัฟเฟตต์กลายเป็น  เศรษฐีหุ้น  “พันล้านบาท” แล้วในยามที่การลงทุนในตลาดหุ้นโดยทั่วไปอยู่ในภาวะที่ซบเซา  เพราะในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นจากประมาณ 616 จุดเป็น 839 จุด หรือโตขึ้นทบต้นปีละแค่ 3.1% เหตุผลอาจจะเป็นเพราะอเมริกากำลังอยู่ในช่วงของสงครามเวียตนามและสงครามเย็นกับโซเวียตรัสเซียที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น   อย่างไรก็ตาม  ผลงานสุดยอดนี้  ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งก็คือ  พอร์ตของบัฟเฟตต์ยังไม่ใหญ่เกินไปและเขายังสามารถลงทุนแบบ Focus หรือเน้นลงทุนในหุ้นน้อยตัวได้

​ในปี 1980 หรืออีกหนึ่งทศวรรษถัดมาพอร์ตบัฟเฟตต์ยังคงเติบโตอย่างรวดเร็วมาก เป็น 376 ล้านเหรียญ หรือเป็นเศรษฐี  “หมื่นล้านบาท” โตขึ้นอีก 10 เท่าตัวในเวลา 10 ปีหรือโตปีละ 27% แบบทบต้นในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์กลับไม่ไปไหนเลย  เพิ่มขึ้นแค่ประมาณ 100 จุดเป็น 956 จุด ในเวลายาวนานถึง 10 ปี  หรือเพิ่มขึ้นเพียงปีละ 1.3% นี่คือช่วงเวลาที่เลวร้ายมากโดยเฉพาะในช่วง  วิกฤติตลาดหุ้นปี 1973-74 ซึ่งภาวะเงินเฟ้อของอเมริกันสูงมากเป็นเลข 2 หลักอานิสงค์จากวิกฤติน้ำมันครั้งแรกที่เป็นผลจากสงครามระหว่างอาหรับและอิสราเอลและต่อด้วยวิกฤติน้ำมันครั้งที่สองอีกในปี 1979

​อีก 10 ปีต่อมาเมื่อบัฟเฟตต์อายุ 60 ปี ในปี 1990 ผลตอบแทนการลงทุนของบัฟเฟตต์ก็  “ทะลุโลก” พอร์ตของบัฟเฟตต์โตขึ้นเป็น 16,500 ล้านเหรียญ หรือกว่า 500,000 ล้านบาทไทย ผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยปีละ 46% พอร์ตโตขึ้น 43 เท่า ในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ก็เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นเป็น 2,510 จุด คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยปีละประมาณ 10%  โดยเฉลี่ยแล้ว  ในช่วง 30 ปีแรกของบัฟเฟตต์นั้น  เขาทำผลตอบแทนทบต้นเฉลี่ยได้ถึงประมาณปีละ 38%ในขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกัน  ดาวโจนส์หรือตลาดนั้นเติบโตขึ้นเพียงปีละ 4.8%  บัฟเฟตต์สามารถชนะตลาดได้ถึงปีละ 33.4% ซึ่งน่าจะถือว่าเป็นผลงานที่ “ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก” ที่น่าจะหาคนทำไม่ได้โดยเฉพาะถ้าคิดว่ามันเป็นพอร์ตที่ใหญ่โตมากและอยู่มายาวนานถึง 30 ปี

​หลังจากปี 1990 แล้ว  ดูเหมือนว่าผลตอบแทนยอดเยี่ยมของบัฟเฟตต์จะถดถอยลงมาก  ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะพอร์ตที่ใหญ่โตจนทำให้แนวการลงทุนแบบเน้นหุ้นน้อยตัวจะทำไม่ได้อีกต่อไปและเขาต้องลงทุนในหุ้นตัวใหญ่และตัวยักษ์เป็นหลัก  สิบปีต่อมาในปี 2000 นั้น  ผลตอบทบต้นโดยเฉลี่ยของบัฟเฟตต์ทำได้เพียง 8% ต่อปี  อย่างไรก็ตาม  พอร์ตของเขาก็ยังโตขึ้นเป็น 35,700  ล้านเหรียญ หรือ 1 ล้านล้านบาทไทยไปแล้ว อย่างไรก็ตาม  ดาวโจนส์กลับโตขึ้นเป็น 10,590 จุด ให้ผลตอบแทนทบต้นถึงปีละ 15.5% โตเร็วเป็น 2 เท่าของพอร์ตบัฟเฟตต์ กลายเป็น “ทศวรรษทอง” ของตลาดหุ้นอเมริกา  หุ้น “ไฮเท็ค” กำลังบูมจนกลายเป็นฟองสบู่ในช่วงสิ้นทศวรรษและกำลังจะแตก

​ถึงปี 2010 หรืออีก 10 ปีต่อมา  ดัชนีดาวโจนส์ไม่ได้ไปไหนเลย ปิดที่ 11,060 จุด  เป็น  “ทศวรรษที่หายไป” อีกครั้งหนึ่ง อานิสงค์จากวิกฤติซับไพร์มในปี 2008  ผลตอบแทนทบต้นเท่ากับแค่ปีละ 0.44% พอร์ตบัฟเฟตต์เองก็ไม่ได้ดีกว่ากันมาก  เติบโตขึ้นเพียงปีละ 2.8% โดยเฉลี่ยและมีมูลค่า 47,000 ล้านเหรียญ  อย่างไรก็ตาม  ในช่วงปี 2008 น่าจะก่อนวิกฤติ  เขาได้กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของโลกด้วยเม็ดเงินประมาณ 62,000 ล้านเหรียญ  อาจจะเป็นเพราะว่าเขาทำได้ไม่ดี  แต่คนอื่นแย่ยิ่งกว่า

​ถึงปัจจุบัน  หรือประมาณอีก 10 ปีต่อมา  พอร์ตของบัฟเฟตต์ก็ยังทำผลงานที่ไม่ดีนัก  ทำได้เพียง 5.3% แบบทบต้นต่อปี  พอร์ตปรับขึ้นเป็น 78,900 ล้านเหรียญ ในขณะที่ดาวโจนส์โตขึ้นมากเป็นประมาณ 28,600 จุด ให้ผลตอบแทนทบต้นต่อปีถึง 10% ในช่วง 10 ปี  อานิสงค์จากหุ้นที่เป็น “เศรษฐกิจใหม่”  ในขณะที่หุ้นส่วนใหญ่ของบัฟเฟตต์นั้นเป็นหุ้นในเศรษฐกิจเก่าและเขาแทบจะไม่ค่อยได้ขายหุ้นที่บางทีถือมาหลายสิบปี  และแม้ว่าเขาจะเริ่มเข้ามาซื้อหุ้นอย่างแอ็ปเปิลเป็นจำนวนมาก  แต่ก็ยังไม่พอที่จะแข่งขันกับหุ้นเศรษฐกิจใหม่ขนาดยักษ์จำนวนมากที่อยู่ในตลาด และนี่ทำให้อันดับความมั่งคั่งของเขาค่อย ๆ ลดลงจนกลายเป็นอันดับ 4 หรือ 5 ของโลก เพราะถูกแทนที่จากเศรษฐีหุ้นรุ่นใหม่ที่เป็นเจ้าของธุรกิจไฮเท็ค

​ถ้านับช่วง 30 ปีหลังของบัฟเฟตต์จากอายุ 60 ถึง 90 ปีแล้ว  ผลตอบแทนการลงทุนทบต้นโดยเฉลี่ยของบัฟเฟตต์ตกอยู่ที่ประมาณแค่ 5.4% ในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์กลับให้ผลตอบแทน 8.5%  แต่ถ้านับตลอด 60 ปี  บัฟเฟตต์ทำได้ถึงประมาณ 20.7%  ในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์หรือตลาดทำได้แค่ 6.6% ก็ต้องถือว่าบัฟเฟตต์นั้นน่าจะเป็นสุดยอดนักลงทุนเอกของโลกในศตวรรษที่ 20 อย่างแน่นอน  และนี่ก็คือผลงานการลงทุนแบบ  “มาราธอน” ของบัฟเฟตต์ที่ไม่เหมือนใครเลย