Baby Boomer VS Gen Y

0
3077

โลกในมุมมองของ Value Investor      19 ธันวาคม 63

ดรนิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ในช่วง 2-3 ปีมานี้ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่รวดเร็วมากจนทำให้หลายคน  “งง” ไปหมด  นั่นคือการที่ “เด็ก” ที่มักจะไม่ได้มีบทบาทอะไรในสังคมไทย  ออกมาเป็น  “ผู้นำ” ในหลาย   ด้าน  ไม่ว่าจะเป็นพิธีกร  นักแสดงนักกีฬา  ผู้ประกอบการในธุรกิจรุ่นใหม่บางอย่างที่ท้าทายและหลายครั้งเอาชนะคนรุ่นเก่าที่ “สูงอายุ” และมีบทบาทนำในสังคมมาช้านาน  และสิ่งหนึ่งที่น่าทึ่งที่สุดก็คือการที่ “เด็ก” ออกมาเป็นผู้นำในการประท้วงทางการเมืองระดับชาติจนหลายคนเกรงว่าจะ “เปลี่ยนประเทศ” ไปในทางที่เด็กต้องการแต่คนรุ่นเก่าเห็นว่าเป็นภัยใหญ่หลวงและต้องป้องกันทุกวิถีทางซึ่งอาจจะเกิดการปะทะกันและกระทบต่อการปกครองและสถานะของประเทศในสายตาของประชาคมโลก

ผมเองคิดว่าปรากฏการนี้  เราไม่ควรเรียกว่าเป็นเรื่องของ  “เด็ก” เพราะที่จริงแล้วพวกเขาเป็นผู้ใหญ่แล้วทั้งทางร่างกายและจิตใจ  ส่วนใหญ่บรรลุนิติภาวะแล้ว  เพียงแต่พวกเขาอายุยังน้อยกว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศ  แต่นั่นก็อาจจะชดเชยได้ด้วยความรู้ที่ก้าวหน้าและแตกต่างจากคนรุ่นเก่าที่มักจะถูกจำกัดด้วยเทคโนโลยีและอำนาจของรัฐ   พวกเขาไม่ใช่เด็ก   แต่เป็นคนที่นักสังคมวิทยาเรียกว่าเป็นคน “Gen Y” ดังนั้น  เราควรมาวิเคราะห์ดูว่าปรากฏการครั้งนี้ในที่สุดจะดำเนินต่อไปอย่างไร  อนาคตของเศรษฐกิจ  สังคมและการเมืองของไทยจะไปทางไหน  แต่ก่อนอื่น เราจะต้องเข้าใจเรื่องและธรรมชาติของคนแต่ละกลุ่มหรือแต่ละเจนก่อน

Generation แรกก็คือ “Baby Boomer” นี่คือคนที่เกิดที่เกิดปี 1946-1964 หรืออายุตอนนี้ 56-74 ปี เป็นคนที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จำนวนคนในโลกเกิดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และนี่คือโลกในยุคอุตสาหกรรมที่มีการผลิตสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันเช่นเครื่องใช้ไฟฟ้าและรถยนต์เพิ่มขึ้นมาก  เช่นเดียวกับการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง  เช่น  ถนนหนทาง  ไฟฟ้าและน้ำประปาเป็นต้น  ในทางการเมืองเองนั้น  นี่คือยุคของ “สงครามเย็น” ที่มีการต่อสู้ทางความคิดระหว่างคอมมิวนิสต์กับทุนนิยมอย่างรุนแรง  ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหนึ่งก็คือ  มีการ “โฆษณาชวนเชื่อ” อย่างรุนแรงระดับ  “ล้างสมอง” ของคนทั้งประเทศเพื่อที่จะเอาชนะคอมมิวนิสต์  ผลก็คือ  ความคิดของคนที่เกิดในยุคนี้มีความคล้ายคลึงกันมากและมักจะเป็นคนที่มีความเป็น “อนุรักษ์นิยม” สูงมาก

ยุคที่สองก็คือคน  Gen X  นี่คือคนที่เกิดในปี 1965-1980 หรืออายุระหว่าง 40-55 ปีในวันนี้  นี่คือคนกลุ่มที่ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่เมื่อตอนเป็นเด็กเพราะพ่อแม่ต่างก็ไปทำงานกันทั้งคู่  อย่างไรก็ตาม  พวกเขาก็มีชีวิตอยู่ในครอบครัวที่เริ่มจะรวยและมักใช้ชีวิตสมดุลกว่าคนยุคเบบี้บูมที่ทำงานหนักกว่า   คนเจนนี้มักจะมีความคิดเป็นอิสระ  ไม่ค่อยยึดถือกรอบประเพณีแบบดั้งเดิม  เป็นกลุ่มคนที่มีความคิดแบบผู้ประกอบการ  แต่ถ้าจะพูดว่าคุณกลุ่มนี้มีแนวคิดที่เป็นจุดเด่นแบบไหนก็อาจจะบอกชัดเจนได้ยาก  ดังนั้น  พวกเขาจึงถูกตั้งชื่อว่าเป็น เจน “X”  คือยุคที่ไม่รู้ว่าควรจะเป็นอย่างไร  แต่มีความคิดที่แปลกและผิดเพี้ยนไปจากคนกลุ่มเบบี้บูม  บางคนบอกว่าพวกเจน X มีแนวคิด “ปฏิวัติ” อย่างเช่นในอังกฤษที่คนรุ่นนี้มักไม่สนใจหรือมองสถาบันกษัตริย์ในมุมที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อน เป็นต้น

ยุคที่สามคือคน Gen Y นี่คือคนที่เป็นลูกของคนยุคเบบี้บูมและพวกเจน X ตอนต้น พวกเขาเกิดในช่วงปี 1981-1996 ตอนนี้ก็อายุ 24-39 ปี นี่คือคนยุคแรกที่ใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ  ใช้กูเกิลค้นหาข้อมูล และติดต่อสื่อสารด้วยสื่อสังคมสมัยใหม่  พวกเขาถูกเรียกว่าเป็น  “Digital Native” คือ “เกิดในโลกยุคดิจิตอล”  ดังนั้น  จึงคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลมาก  อย่างไรก็ตาม  พวกเขาต้องเจอกับวิกฤติเศรษฐกิจหลายครั้งซึ่งก่อให้เกิดการตกงานหรือประสบความยากลำบากจากภาวะเศรษฐกิจ  เพราะเวลาเกิดปัญหา  คนหนุ่มสาวมักจะไม่มีงานทำหรือตกงานมากกว่าคนที่สูงอายุกว่า  อีกอย่างหนึ่งที่ไม่เหมือนคนยุคก่อนก็คือ  คนเจน Y นั้น  มักจะไม่สนใจทำงานกับสถาบันหรือบริษัทขนาดใหญ่และชอบที่จะทำงานเป็นอิสระอานิสงค์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิตอลที่ทำให้พวกเขาสามารถทำงานอิสระหรือทำธุรกิจเองได้ง่าย ในด้านของสังคมเองนั้น คนเจน Y มักจะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง  กล้ายืนยันในความคิดของตนเอง

ผมคงไม่พูดถึงคน Gen Z ที่มีอายุ 8-23 ปีในวันนี้ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังเป็นเด็กอยู่ เพราะพวกที่โตพอถึงอายุ 18 ปีแล้วก็จะมีแนวความคิดคล้ายคน Gen Y ในขณะนี้  เพียงแต่จะแรงกว่าเนื่องจากเกิดมาก็เจอกับโลกของดิจิตอลที่สมบูรณ์แล้ว

ในประเทศไทยเองนั้น  ตัวเลขประชากรบอกเราว่าในปัจจุบัน  เรามีคนรุ่นเบบี้บูมประมาณ 11.8 ล้านคน  โดยคนที่อายุน้อยที่สุดที่ 56 ปีมีประมาณ 9 แสนคน และคนอายุสูงที่สุดที่ 74 ปีมีประมาณ 3 แสนคน  และคนทั้งหมดนี้ผมตั้งสมมุติฐานว่ายังคง Active และทำงานในระดับหนึ่ง  ที่สำคัญยังมีบทบาทสูงมากในแทบทุกวงการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางการเมืองและสิ่งที่เกี่ยวข้องและการเป็นผู้นำสูงสุดทางด้านธุรกิจจำนวนมาก

คนรุ่น เจน X นั้นเป็นรุ่นที่เด็กเกิดในแต่ละปีสูงสุดถึงปีละประมาณ 1 ล้านคน ทำให้มีคนที่เป็นเจน X ถึง 16.4 ล้านคนและในช่วงเวลานี้น่าจะเป็นคนที่มีรายได้สูงสุดและใช้จ่ายมากที่สุด  อย่างไรก็ตาม  บทบาทของคนเจน X ที่โดดเด่นกลับดูเหมือนว่าจะเป็นรองคนยุคเบบี้บูมอยู่มาก  นอกจากนั้น  ความคิดของคนเจน X เองก็ดูไม่ชัดเจนว่าพวกเขามีแนวคิดแบบไหน  ดูเหมือนว่าน่าจะผสมผสานระหว่างการเป็นเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม  อานิสงค์สำคัญจากการที่สงครามเย็นสงบลงและแนวคิดแบบเสรีนิยมและกระแสของการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก

คนเจน Y ที่เกิดในแต่ละปีนั้น  ยังมีจำนวนสูงเกือบ 1 ล้านคนน้อยกว่าเจน X เล็กน้อย  ดังนั้น  พวกเขาก็มีจำนวนพอ กับเจน X คือประมาณ 15.2 ล้านคน  อย่างไรก็ตาม  คนเจน Z ตอนต้น  คือคนที่มีอายุตั้งแต่ 18 จนถึง 23 ปี นั้น ผมคิดว่าพวกเขาก็มีแนวความคิดและความเชื่อคล้ายกับคนเจน Y มาก  อานิสงค์จากอิทธิพลของอินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมรุ่นใหม่ที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้โลกอย่างเสรีอย่างเต็มที่  โดยที่คนในกลุ่มนี้มีรวมกันประมาณ 5.3 ล้านคน เมื่อรวมกับคนเจน Y ก็ทำให้คนกลุ่มนี้มีเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20.5 ล้านคน  กลายเป็นกลุ่มคนขนาดใหญ่ที่สุดและมากกว่ากลุ่มเบบี้บูมกว่า 73%  และนี่ก็อาจจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนเจน Y มีบทบาทที่เติบโตแบบก้าวกระโดดในช่วงเร็ว  นี้

ถ้าเรามองไปข้างหน้าและตั้งสมมุติฐานว่าคนในแต่ละเจนนั้น  มีมุมมองและความคิดแบบเดิมตามที่เป็นอยู่ในขณะนี้ แล้วปล่อยให้เวลาเดินไปอะไรจะเกิดขึ้น?  

ในเวลาอีก 2 ปีข้างหน้าประเทศไทยก็น่าจะมีการเลือกตั้งซึ่งจะบ่งชี้ว่ารัฐบาลจะมีแนวโน้มไปทางไหนถ้าสมมุติว่าผู้ชนะการเลือกตั้งสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ตามเสียงของผู้แทนราษฎร  เราก็จะพบว่าจำนวนของเบบี้บูมก็จะเหลือเพียง 11.1 ล้านคนเพราะคนรุ่นเบบี้บูมจะ “หายไป” เนื่องจากการตายหรือหมดความสามารถหรือไม่อยากที่จะไปเลือกตั้งแล้วประมาณ 6.5 แสนคน  ในทางตรงกันข้าม  คนเจน Y และ Z ที่มีอายุครบ 18 ปีขึ้นไป กลับมีมากขึ้นอีก 1.6 ล้านคนทำให้มีจำนวนคนที่มีสิทธิเลือกตั้งถึง 22.1 ล้านคน หรือประมาณ 2 เท่าของกลุ่มเบบี้บูม ซึ่งถ้าผู้แทนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ก็จะทำให้ประเทศเปลี่ยนแปลงไปตามแนวคิดของเจน Y เร็วขึ้น

มองไปข้างหน้าที่ไกลไปกว่านั้น  ในอีก 5 ปีข้างหน้า  คนรุ่นเบบี้บูมที่ยังมีกำลังวังชาพอที่จะมีบทบาทในด้านต่าง   ก็จะลดลงไปประมาณ 2.4 ล้านคนเหลือแค่ 9.4 ล้านคน  ในขณะที่คนเจน Y และ Z ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในวันนี้จะเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 4 ล้านคนกลายเป็น 24.5 ล้านคน  บทบาทในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของคนเจน Y+Z กลุ่มนี้ จะสูงกว่าคนรุ่นเบบี้บูมอย่างเทียบกันไม่ได้เลย

แต่ถ้าบอกว่าอนาคตระยะยาวของประเทศไทยอีก 10 ปีข้างหน้าล่ะ ประเทศไทยจะมีหน้าตาอย่างไร?  คนรุ่นเบบี้บูมในวันนี้จะลดลงไปถึง 5 ล้านคนหรือเกือบครึ่งหนึ่ง  เหลือเพียง 6.8 ล้านคน  ในทางตรงกันข้าม  คนเจน Y+Zที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในวันนี้จะมีคนเพิ่มขึ้นถึง 7.9 ล้านคน ทำให้คนกลุ่มนี้มีมากถึง 28.4 ล้านคน  หรือเป็น 4 เท่าของคนรุ่นเบบี้บูม ถึงวันนั้น  อิทธิพล  แนวความคิดและ “วัฒนธรรม” ที่เป็นของคนรุ่นเบบี้บูมในวันนี้ที่อยู่กับสังคมไทยมานานหลายสิบปีก็คงจะหมดไปถ้าเราตั้งสมมุติฐานว่าคนรุ่นเจน X นั้นไม่ได้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปจากการที่เป็นเจนที่มีจุดยืนกลาง  ที่ไม่ “ซ้ายหรือขวา” คือไม่ติดยึดอะไรมากและพร้อมที่จะปรับตัวไปกับกระแสใหม่   ของไทยและโลก ความรู้สึกลึก  ของผมก็คือ  ภายใน 10 ปีข้างหน้า  ประเทศไทยอาจจะเปลี่ยนไปแบบจำแทบไม่ได้