รวยเร็ว VS รวยช้า

0
1779

โลกในมุมมองของ Value Investor       24 มกราคม 64

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

            คนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นอย่างจริงจังและมุ่งหวังที่จะ “รวย” จากตลาดหุ้นหรือมีอิสรภาพทางการเงินก่อนเกษียณจากการทำงานประจำนั้น  ควรที่จะมี “ยุทธศาสตร์” การลงทุนตั้งแต่เริ่มต้นมิฉะนั้นเวลาลงทุนก็จะเกิดความสับสนและไม่สามารถสร้างสไตล์การลงทุนที่จะเกิดความเชี่ยวชาญและนำไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้

            จุดเริ่มต้นก็คือ  เราควรที่จะต้องมี “ยุทธศาสตร์หลัก” ก่อนว่า  เราจะ “รวยเร็วแต่มีความเสี่ยงสูง”  หรือ “รวยช้าแต่มีความเสี่ยงต่ำ”  เราจะต้องเลือกว่าจะเอาแบบไหน?  อย่าบอกว่าเราอยาก “รวยเร็วและมีความเสี่ยงต่ำ”  เพราะในความเป็นจริงของการลงทุนนั้น  มันเป็นไปไม่ได้หรือเป็นไปได้ยากที่คนธรรมดาที่ไม่ได้มีความสามารถเป็นพิเศษจะสามารถสร้างผลตอบแทนดีเลิศมาก ๆ โดยที่ไม่ยอมรับความเสี่ยงที่สูงกว่าปกติ  วอเร็น บัฟเฟตต์ อาจจะเป็นนักลงทุนน้อยคนมากในโลกที่สามารถทำได้  คนที่ “รวยเร็วมาก” อาจจะเร็วกว่าบัฟเฟตต์หลายเท่าในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น คนที่รวยจากบิทคอย หรือคนที่รวยจากหุ้นดิจิตอลในช่วงเวลาหนึ่งนั้น  สุดท้ายมักจะไม่สามารถรักษาความมั่งคั่งในระดับที่ดีเลิศได้  เพราะในไม่ช้าก็อาจจะขาดทุนอย่างวอดวายเพราะสิ่งที่พวกเขาทำนั้นมีความเสี่ยงสูงเกินไป  หุ้นหรือตราสารที่ลงทุนอาจจะตกลงมาอย่างหนัก  ทำให้เกิดการขาดทุนแทบจะเป็น “หายนะ” ซึ่งผลก็คือ  ที่คิดว่าจะรวยเร็วก็กลายเป็นรวยช้าหรือ “เจ๊ง” ไปเลยก็เป็นได้

            ถ้าคิดจะ “รวยเร็วแต่ความเสี่ยงสูง” สิ่งที่จะต้องทำก็คือ  ลงทุนหุ้นแบบน้อยตัวหรือ “Focus Investment” มาก ๆ   การเล่นหุ้นน้อยตัวในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าถือหุ้นแค่ 2-3 ตัวหรือเป็นสิบ ๆ ตัว  แต่หมายถึงการถือหุ้นที่มี “นัยสำคัญ” จำนวนน้อยตัว  โดยเกณฑ์ของผมก็คือ  คนที่ถือหุ้นน้อยตัวที่สุดก็คือคนที่ถือหุ้นตัวใหญ่ที่สุดเพียงตัวเดียวมีมูลค่า 70% หรือมากกว่าของมูลค่าพอร์ตโฟลิโอการลงทุนทั้งหมด  หรือพูดหยาบ ๆ  ก็คือคนที่ “เล่นหุ้นตัวเดียว” หรือเล่นทีละตัว  ดังนั้น  ถ้าหุ้นขึ้นมาก ๆ  ก็รวยไปเลย  แต่ถ้าหุ้นตัวนั้นตกลงมามาก  ก็ “จน” เลย  นี่ก็คือความหมายที่ว่า  “รวยเร็วแต่เสี่ยงสูง” ว่าที่จริง  เจ้าของบริษัทที่นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แทบทั้งหมดก็คือคนที่เข้าข่ายนี้  หลายคนก็กลายเป็นเศรษฐีหุ้นระดับต้น ๆ ของประเทศ  แต่บ่อยครั้งที่เวลาผ่านไป  ความมั่งคั่งก็ตกลงไปมากเพราะหุ้นตกลงไปมาก

            คนที่ถือหุ้นใหญ่ที่สุด 5 ตัวแรก มีมูลค่ารวมกันเท่ากับ 70% หรือมากกว่าของพอร์ตโดยรวมผมถือว่าเป็นนักลงทุนที่หวัง “รวยเร็วแต่ความเสี่ยงสูง”  อย่างไรก็ตาม  ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นนั้นจะน้อยกว่าการถือหุ้นตัวเดียวมาก  น่าจะไม่ถึงครึ่งโดยเฉพาะถ้ากระจายการถือหุ้นในอุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกันในทั้ง 5 อุตสาหกรรม  และโดยส่วนตัวผมคิดว่าเป็นความเสี่ยงที่  “รับได้”  ถ้าคน ๆ  นั้น  เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ  และความทุ่มเทที่จะวิเคราะห์  ศึกษาและติดตามตัวกิจการและหุ้นอย่างใกล้ชิด  โดยที่การถือหุ้นแบบนี้พวกเขาจะต้องคิดเหมือนกับว่าเป็นการลงทุนทำ “ธุรกิจ” 5 อย่าง ที่ไม่เหมือนกัน  และต้องคอยเฝ้าดูและติดตามว่าแต่ละธุรกิจที่ทำนั้น “ยังดีอยู่”  หากเห็นว่าตัวไหนเริ่มจะแย่หรือตกต่ำลงในระยะยาวก็จะต้องเปลี่ยนตัวหุ้นไปเรื่อย ๆ  อย่างช้า  ๆ  โดยอัตราการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างน้อยก็จะต้องในระยะ 3-5 ปี ไม่ใช่เปลี่ยนทุกปี  ถ้าทำแบบนี้  ผมคิดว่าเราสามารถ  “รวยเร็ว” ได้โดยที่ความเสี่ยงไม่สูงเกินไป  และโอกาสที่จะไม่รวยหรือจนลงก่อนก่อนเกษียณก็น่าจะต่ำ  ว่าที่จริง  นี่ก็อาจจะเป็นกลยุทธ์ของ “VI ผู้มุ่งมั่น” ของไทยในช่วงไม่ต่ำกว่า 10 ปีที่ผ่านมาที่ทำให้หลาย ๆ  คน  “รวย” ไปแล้ว  และผมก็เชื่อว่าพวกเขาไม่น่าที่จะกลับมา “จน”  ลงในอนาคตแม้ว่าภาวะตลาดหุ้นต่อจากนี้อาจจะไม่เอื้ออำนวยนัก

            คนที่ถือหุ้นใหญ่ที่สุด 10-12 ตัว มีมูลค่ารวมกันเท่ากับ 70% หรือมากกว่าของพอร์ตนั้น  จะหวังให้รวยเร็วมาก ๆ  แบบคนที่ถือหุ้นตัวเดียวหรือ 5 ตัวดังกล่าวข้างต้นไม่ได้  แต่ความเสี่ยงของการลงทุนแบบนี้ก็ต่ำกว่ามาก  ว่าที่จริงผมคิดว่าความเสี่ยงแทบจะใกล้เคียงกับกับการถือกองทุนรวมหุ้นด้วยซ้ำถ้าเราถือหุ้นกระจายไปในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย  เหตุผลที่ผลตอบแทนต่อปีโดยเฉลี่ยจะไม่สูงมากจนทำให้ “รวยเร็ว” ก็คือ  โอกาสที่เราจะเลือกหุ้นได้ “สุดยอด” ในหุ้นทุกตัวหรือหลายตัวก็จะน้อยลง  และหุ้นตัวที่ดีเยี่ยมและอาจจะทำกำไรได้เป็นร้อย ๆ เปอร์เซ็นต์ในเวลา 3-4 ปี นั้นก็อาจจะมีแค่ไม่เกิน 2-3 ตัว ซึ่งเมื่อเฉลี่ยกับหุ้นอื่น ๆ  เป็น 10 ตัวก็จะทำให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยไม่สูงมากเหมือนคนที่ถือหุ้นตัวเดียวหรือไม่กี่ตัว  อย่างไรก็ตาม  ความเสี่ยงที่หุ้นจะตกหนัก ๆ  ทุกตัวก็มีน้อยเช่นเดียวกัน  ดังนั้น  คนที่ถือหุ้นแบบนี้ก็มักจะสบายใจกว่า  และนี่ก็อาจจะเหมาะสำหรับนักลงทุนที่มีความรู้และความสามารถในการเลือกหุ้นระดับหนึ่งและอาจจะไม่มีเวลามากนัก  อาจจะเนื่องจากมีภาระงานประจำค่อนข้างมาก  ตัวอย่างอาจจะรวมถึงหมอหรือผู้บริหารกิจการขนาดใหญ่  เป็นต้น

            คนที่มีความรู้ในการเลือกหุ้นน้อย  หรือมีความสนใจในการลงทุนต่ำ  ส่วนหนึ่งอาจจะไม่ได้เรียนหรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขหรือเงินทองแต่มีรายได้ดีและมีเงินออมสูง  ต้องการลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ  พวกเขาควรลงทุนในกองทุนรวมที่อิงดัชนีของประเทศหรือตลาดหุ้นที่ยังเติบโตสูงในระยะยาวต่อจากนี้  ซึ่งในช่วงปัจจุบันนี้ที่ผมเห็นก็คือ  ประเทศในย่านเอเชียที่เศรษฐกิจเติบโตเร็วและยังเติบโตต่อไปอีกนานเนื่องจากโครงสร้างประชากรที่ยังไม่แก่ตัวเร็ว  หรือเป็นประเทศที่ธุรกิจยังเติบโตได้มากเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างสหรัฐอเมริกาหรือจีน  นี่คือการลงทุนที่  “รวยช้าแต่ความเสี่ยงต่ำ” ซึ่งนับวันจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีกว่าเทียบกับกลยุทธ์ “รวยเร็วแต่มีความเสี่ยงสูง” โดยเฉพาะกับคนที่ไม่ได้มีความสามารถทางการลงทุนแต่คิดว่าตนเองมีหรือคนที่ “เล่นหุ้นตามเซียน” เพื่อหวังจะรวยเร็ว

            นอกจากจำนวนหุ้นที่ถือลงทุนแล้ว  การที่จะรวยเร็ว-เสี่ยงสูง  หรือ รวยช้า-เสี่ยงต่ำ ยังขึ้นอยู่กับลักษณะหรือคุณสมบัติของหุ้นที่เลือกด้วย  หุ้นวัฎจักร  หุ้นโภคภัณฑ์ หรือ “หุ้นปั่น” หรือหุ้นเก็งกำไร  หุ้นขนาดเล็กและหุ้นที่ถูก “Corner” ได้ง่าย  ก็เป็นหุ้นที่ทำให้รวยเร็วมากแต่ความเสี่ยงก็มักจะสูงมาก  ในทางตรงกันข้าม  หุ้นแข็งแกร่ง  หุ้นที่มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยังยืน  หุ้นที่มีขนาดใหญ่และเล่นกันในหมู่นักลงทุนสถาบัน  เหล่านี้  แม้ว่ามันมักจะไม่ให้ผลตอบแทนที่ดีมาก  โอกาสที่จะได้กำไรเป็น “เด้ง ๆ” มีน้อย  แต่ความเสี่ยงที่จะขาดทุนหรือ  “เจ๊ง” หนักก็จะมีน้อยโดยเฉพาะถ้าเราถือลงทุนระยะยาว 

            ปัจจัยสำคัญสุดท้ายที่จะทำให้รวยเร็วแต่เสี่ยงสูงก็คือ   การลงทุนในหุ้น 100% หรือมากกว่านั้นโดยการกู้เงินแบบใช้มาร์จินหรือการซื้อหุ้นหุ้นโดยใช้บล็อกเทรดที่สามารถลงทุนในหุ้นได้  อาจจะ 1,000% หรือ 10 เท่าของเงินที่มี  นี่คือกลยุทธ์ “รวยเร็วสุดยอด” แต่ก็ “เสี่ยงสุดยอด” คล้าย ๆ  กับการเล่นการพนันหรือการแทงหวย  ที่ถ้าไม่รวยก็จนกันไปเลย  กลยุทธ์รวยช้าแต่เสี่ยงต่ำนั้น  ผมคิดว่าน่าจะยังต้องถือหุ้นเป็นสัดส่วนอย่างน้อย 50% ขึ้นไป  เหตุผลก็คือ  การถือหุ้นในระยะยาวนั้น  ไม่ได้เสี่ยงมากอย่างที่บางคนอาจจะเข้าใจ  โดยเฉพาะถ้าเราลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศที่ยังเติบโตและแข็งแรงอย่างชัดเจนในระยะยาว

            ข้อสรุปก็คือ  คนที่จะรวยเร็วที่สุดก็คือ  คนที่ลงทุนในหุ้นตัวเดียวหรือน้อยตัวมากที่สุด  ถือหุ้นขนาดเล็ก หรือหุ้นที่ผันผวนเป็นวัฏจักร หรือถือหุ้นปั่นหรือเก็งกำไรโดยเฉพาะหุ้นที่ถูก Corner และลงทุนโดยใช้การ Leverage หรือใช้เงินคนอื่นสูงมาก ๆ  เช่น  การเล่นแบบมาร์จินหรือใช้บล็อกเทรด  จะเป็นคนที่รวยเร็วที่สุดพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงมากที่สุด  โดยส่วนตัวผมเองนั้นใช้กลยุทธ์ถือหุ้น 5 ตัวเกิน 70% ของพอร์ต  ลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงต่ำเนื่องจากความได้เปรียบทางธุรกิจที่ยั่งยืน และมักจะลงทุนในหุ้น 100% มาแทบจะตลอดเวลาหลายสิบปี  ซึ่งก็ได้ผลตอบแทนที่ดีมากจนถึงเมื่อเร็ว ๆ  นี้  ในด้านของความเสี่ยงนั้นผมคิดว่าไม่สูงเห็นได้จากการขาดทุนของพอร์ตนั้นเกิดขึ้นน้อยและเกิดขึ้นไม่กี่ปี  อย่างไรก็ตาม  ผมคิดว่าผลตอบแทนที่ดีมากนั้น  น่าจะเกิดจาก “โชค” ที่ว่าในช่วงที่ผ่านมานั้น  หุ้นที่ถูกเรียกว่า “VI” นั้น  ให้ผลตอบแทนที่ดีมากอานิสงค์จากการที่นักลงทุนไทยหันมาลงทุนในหุ้นประเภทนี้กันมาก  ผมเองไม่คิดว่ามันจะต่อเนื่องไปในอนาคต

            สำหรับนักลงทุนส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่ไม่ได้มีความรู้  ความสามารถและเวลารวมถึงความสนใจในการลงทุน  ผมคิดว่า  กลยุทธ์การลงทุนในกองทุนรวมอิงดัชนีของประเทศที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและยั่งยืน  น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีและให้ผลตอบแทนที่จะทำให้รวยแบบช้า ๆ แต่ยาวนานจนสามารถบรรลุเป้าหมายของการมีอิสรภาพทางการเงินในยามเกษียณหรือภายในเวลาซัก 20-30 ปีได้