ปั่นหุ้นด้วยธีมกัญชา

0
2642

โลกในมุมมองของ Value Investor     20 มีนาคม 64

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในตลาดหุ้นไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาและดูเหมือนว่าจะเข้มข้นขึ้นในช่วงเร็ว ๆ นี้ก็คือ  การเล่นหุ้นเก็งกำไรที่มีฟรีโฟลทต่ำโดยอาศัย “ธีม” หรือเรื่องราวที่คนพูดถึงกันทั่วไปว่าจะเป็น “แนวโน้มใหม่” ของธุรกิจที่จะเติบโตและทำเงินให้แก่บริษัทจดทะเบียนที่เข้าไปทำหรือเกี่ยวข้องด้วย  อย่างเช่นเรื่องของ “กัญชง-กัญชา” ที่เพิ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายให้เป็นพืชสมุนไพรที่สามารถนำมาผสมหรือสร้างผลิตภัณฑ์ขายให้แก่ผู้ใช้หรือผู้บริโภคได้จากการที่เคยเป็นพืชที่เป็น “ยาเสพติด” ต้องห้ามที่คนรุ่นเก่าหลายคนโดยเฉพาะที่เป็น “ศิลปิน” ชอบที่จะใช้เพื่อช่วยเสริม  “จินตนาการ” ในการทำงาน  ว่าที่จริงในอดีต  ช่วงที่เกิดปรากฏการณ์  “เสรีนิยม” ของคนรุ่นใหม่  ซึ่งนำไปสู่การต่อต้านสงครามเวียตนามของเหล่า  “ฮิปปี้” หรือ  “บุปผาชน” ที่ “ต่อต้านสังคม” โดยการไว้ผมยาวและทำตัวสกปรก “ไร้สาระ” ในช่วงทศวรรษ 1960-1970 หรือเมื่อประมาณ 50-60 ปีมาแล้วนั้น  กัญชาก็คือสิ่งที่พวกเขาใช้เป็น “ยากล่อมประสาท” หลัก

ประเทศไทยในช่วงนั้น  ถึงแม้ว่าจะเป็นประเทศ  “อนุรักษ์นิยม” สุด ๆ  แต่เราก็มีเด็กวัยรุ่นบางส่วนที่ทำตัวเป็น  “ฮิปปี้”  อยู่เหมือนกันแม้จะไม่ค่อยรู้ความหมายที่แท้จริงว่าฮิปปี้คืออะไร  ส่วนตัวผมเองนั้น  ช่วงที่กำลังเติบโตเป็นวัยรุ่นเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย  ปรากฏการณ์ของฮิปปี้ก็เริ่มซาลงแล้ว  ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะว่าสงครามเวียตนามกำลังจบลง  อย่างไรก็ตาม  กัญชาก็กลายเป็นสิ่งที่สังคมไทยเริ่มรับรู้ว่าเป็น  “ยาเสพติดแบบอ่อนที่ไม่ได้ติดง่าย ๆ” และไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายโดยเฉพาะถ้าเสพเป็นครั้งคราว  นอกจากนั้น  การหาก็ไม่ได้ยาก  ว่าที่จริงผมเองก็เคยลองสูบกัญชากับเพื่อน ๆ เป็นครั้งคราวโดยเฉพาะเวลาไปเที่ยวหรือทำกิจกรรมต่างจังหวัด   ถ้าจำไม่ผิด  ในสมัยนั้นการปลูกหรือใช้กัญชาน่าจะมีโทษน้อยมาก  ซึ่งต่อมาเมื่อประเทศไทยมีปัญหาเรื่องยาเสพติดรุนแรง  กัญชากลับกลายเป็นยาเสพติดร้ายแรงจนถึงเมื่อเร็ว ๆ นี้  แต่ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  กัญชาก็กลายเป็นพืชที่มีความ “คลาสสิก” และ “ท้าทาย” ให้คนอยากลองใช้  อย่างน้อยก็คนรุ่นผมในช่วงนั้น

และนั่นก็ทำให้เกิดกระแส “กัญชง-กัญชา” ขึ้นในสังคมไทยเมื่อรัฐบาลบอกว่าบริษัทต่าง ๆ  สามารถผลิตและขายผลิตภัณฑ์ของมันได้แล้ว  ความ “กระตือรือร้น” เกิดขึ้นในช่วงข้ามคืน  คนคิดว่าบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะที่เป็นบริษัทขนาดเล็กที่มีความพร้อมที่จะผลิตและขายผลิตภัณฑ์ซึ่งสามารถที่จะนำไปผสมกับอาหารและเครื่องดื่มสารพัดนอกเหนือจาก “ยา” จำนวนมาก  จะสามารถสร้างรายได้และกำไรมหาศาล  พวกเขามองไกลออกไปถึงตลาดทั่วโลกที่  “น่าจะ”  มีความต้องการผลิตภัณฑ์กัญชง-กัญชาจำนวนมากจากประเทศไทยที่จะมีเหลือเฟือจากการปลูกในพื้นที่ประเทศไทยที่  “เหมาะสม” กับพืชชนิดนี้มากไม่แพ้ที่ใดในโลก  นักการเมืองเองก็  “ขายความฝัน” ให้กับคนไทยว่าอาจจะมีโอกาสปลูกกัญชากันบ้านละ 4-5 ต้นซึ่งจะทำให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำโดย “ไม่ต้องออกแรง”  ดังนั้น  “กัญชง-กัญชา จึงเป็น ยาวิเศษ แก้ปัญหาได้สารพัด”

ราคาหุ้นของบริษัทที่พร้อมและประกาศว่าจะทำผลิตภัณฑ์กัญชาขายต่างก็วิ่งกันเป็นว่าเล่น  และนั่นก็ทำให้บริษัทที่ไม่ได้มีความพร้อมอะไรเป็นเรื่องเป็นราว  เช่น  มีแค่ที่ดินว่างเปล่าเหลืออยู่และประกาศว่าจะเข้ามาปลูกและทำผลิตภัณฑ์กัญชาราคาหุ้นก็ขึ้นเช่นเดียวกัน  ไม่ต้องพูดถึงบริษัทผลิตเครื่องดื่มทั้งหลาย  ที่ต่างก็ออกมาประกาศว่าเตรียมออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมกัญชง-กัญชา  ซึ่งก็ทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปทันที  และก็แน่นอนว่าบริษัทผลิตอาหารจำนวนมากต่างก็ขอ “เกาะ” กระแสกัญชา  โดยการเตรียมออกผลิตภัณฑ์อาหารผสมกัญชา  ถึงจุดนี้ทุกบริษัทที่สามารถเกี่ยวข้องกับกัญชง-กัญชาได้  ต่างก็ประกาศว่าจะทำกัญชา  ซึ่งรวมถึงบริษัทขายเครื่องสำอาง  โรงพยาบาล  และแม้แต่คนทำซอสต่างก็บอกว่าจะทำผลิตภัณฑ์นี้  และ  สุดท้ายก็คือ  บริษัทที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับกัญชาเลยแต่เจ้าของเน้น “การเติบโต” โดยเฉพาะของราคาหุ้น  ก็ขอทำธุรกิจกัญชาด้วย โดยรวมแล้ว  น่าจะไม่ต่ำกว่า 20 บริษัท  ส่วนเหตุผลที่หุ้นวิ่งขึ้นไปแทบจะทุกตัวก็คือ  

ประการแรก  ตลาดหุ้นในช่วงเร็ว ๆ  นี้เป็นตลาดหุ้นที่มีการเก็งกำไรร้อนแรงจากนักลงทุนส่วนบุคคล  แต่หุ้นขนาดใหญ่นั้นราคาปรับตัวน้อยมากเนื่องจากคนเล่นส่วนใหญ่คือต่างชาติ  ดังนั้น  นักลงทุนจึงมองหาหุ้นที่จะสามารถปรับตัวขึ้นได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น “ทุกวัน”  ซึ่งหุ้นที่จะเป็นแบบนั้นได้จะต้องมีความต้องการหรือแรงซื้อมากกว่าจำนวนที่จะขายมากในระยะเวลาสั้น ๆ  ซึ่งหุ้นที่เข้าข่ายนั้นควรจะต้องมีฟรีโฟลทน้อยในขณะเดียวกันจะต้องมีเรื่องราวน่าสนใจในแง่ผลประกอบที่จะต้องดีขึ้นในระยะเวลาอันสั้นในสายตาของนักเล่นหุ้น  และปรากฏการณ์ของธุรกิจกัญชง-กัญชา ก็คือคำตอบ  นั่นก็คือ  เป็นหุ้นที่มีธีมหรือมี “สตอรี่” ที่จะ “โตจากกัญชา”  และเป็นหุ้นตัวเล็กมีฟรีโฟลทน้อย   หุ้นที่ “เข้าข่าย” แม้ว่าจะมีจำนวนมากก็ไม่ได้มีปัญหา  เพราะคนที่ “เล่นหุ้นเก็งกำไร” มีเป็นหมื่นเป็นแสนคน  และแม้ว่าจะลงทุนกันคนละไม่มาก  แต่รวมกันแล้วปริมาณเม็ดเงินที่เข้ามาเล่นหุ้นเป้าหมายก็จะมากมหาศาล  ผลก็คือ  เกิดสภาวะการณ์การ “Corner” หุ้นแทบจะโดยอัตโนมัติ  ราคาหุ้นจึงมีแต่จะต้องวิ่งขึ้นอย่างแรง

เวลาที่หุ้นขึ้นไปแรงนั้น  โดยธรรมชาติของ “นักเก็งกำไร” พวกเขาก็จะเข้าไปซื้อหุ้นมากกว่าที่จะขาย  การประเมินมูลค่าพื้นฐานของกิจการว่าควรจะเป็นเท่าไรนั้น  เป็นประเด็นรอง  ดังนั้น  ราคาหุ้นก็มักจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก  การเพิ่มสูงขึ้นไปของราคาก็จะยิ่งดึงดูดให้นักเก็งกำไรกลุ่มต่อไปเข้ามาซื้อหุ้นทำให้หุ้นมีราคาวิ่งขึ้นไปอีก  อย่างไรก็ตาม  เมื่อราคาขึ้นไปถึงจุดหนึ่งก็จะมีคนที่ทำกำไรได้มากแล้วเริ่มขายหุ้นทำให้หุ้นปรับตัวลงมาบ้าง  เช่นเดียวกับคนที่วิเคราะห์พื้นฐานของหุ้นและลงทุนในหุ้นนั้นก็อาจจะขายหุ้นเมื่อ  “ราคาเกินพื้นฐานไปแล้ว”  อย่างไรก็ตาม  นี่เป็นคนกลุ่มน้อย  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  คนที่คิดถึงเรื่องมูลค่าพื้นฐานจำนวนมากนั้น  ก็มักจะมีความ “ลำเอียง” เมื่อตนเองถือหุ้นไว้แล้วและเมื่อราคาหุ้นปรับตัวขึ้นไปมากก็มักคิดว่าหุ้นขึ้นไปเพราะพื้นฐานของมัน “ดีขึ้นมาก” จนเหมาะสมกับราคาที่ขึ้นไปสูงมากนั้น  ผลก็คือ  เมื่อราคาหุ้นขึ้น  “Corner” ก็ไม่ “แตก” คนไม่ขายแม้ว่าหุ้นจะขึ้นไปเกินพื้นฐานมากและมากขึ้นเรื่อย ๆ  และอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานานตราบที่เรื่องราวหรือ Story “ยังไม่จบ”

ตลาดหุ้นไทยในช่วงหลาย ๆ  ปีที่ผ่านมานั้น  มี “ธีม” มากมายเกิดขึ้นและก็ผ่านไปและก็มีธีมใหม่ขึ้นมารองรับกับนักเก็งกำไรที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  ไม่เคยหยุดแม้เกิดภาวะวิกฤติโควิด-19  อานิสงค์จากเม็ดเงินที่ไหลบ่าเข้าสู่ตลาดหุ้นเพราะอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากและคนไม่มีช่องทางลงทุนที่ดีให้เลือกนอกจากตลาดหุ้นที่ยังให้ผลตอบแทนที่ดีพอใช้อยู่และมีแรงดึงดูดจากการที่มีโอกาสทำผลตอบแทนสูงผิดปกติจากการเล่นหุ้นเก็งกำไรโดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็กหรือมีฟรีโฟลทต่ำ  ผลจากการนี้ก็คือ  หุ้นที่มีธีมและ “เข้าสเป็ค” ของหุ้นเก็งกำไรนั้น  มักจะมีราคาที่สูงหรือแพงผิดปกติ  กลายเป็น “หุ้นปั่น” และแม้ว่าในที่สุด  เมื่อธีมของหุ้นผ่านพ้นไปและ Corner อาจจะ “แตก” ไปแล้ว  ราคาหุ้นที่ตกลงลงมาอย่าง “หายนะ” ก็อาจจะยังสูงเกินกว่าพื้นฐานไปมากอยู่ดี  ลองย้อนหลังกลับไปดูราคาของหุ้นเหล่านั้นก็มักจะพบว่าค่า PE ก็ยังสูงระดับ 30-40 เท่าขึ้นไปเป็นเรื่องปกติ  นั่นอาจจะเป็นเรื่องของภาพพจน์และความทรงจำของนักลงทุนที่มีเกี่ยวกับตัวหุ้นและราคาหุ้นที่ยังไม่เปลี่ยนแปลงไปหมด  ตัวอย่างเช่น  ถ้าหุ้นเคยขึ้นไปที่ราคาเกือบ 100 บาท ราคาปัจจุบันที่ต่ำกว่า 20-30 บาทจึงไม่น่าจะแพงได้  ดังนั้น จึง “ขายไม่ลง” ราคาหุ้นจึงยังแพงอยู่ได้

มองในแง่ของคนที่คำนึงถึงพื้นฐานของกิจการเองนั้น  บ่อยครั้ง  ถ้าเขาเคย “เชื่อ” เสียแล้วว่าหุ้นนั้นเป็นบริษัทที่ “ดีเยี่ยม”  เป็นหุ้นที่เคยมีสตอรี่และราคาหุ้นขึ้นไปราวกับ “ซุปเปอร์สต็อก” ที่มีการเติบโตสูงมาก  แต่วันนี้ความจริงดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนแปลงไป  อย่างไรก็ตาม  สำหรับนักลงทุนที่เคยเข้าไปลงทุนแล้ว  นี่ก็ยังเป็นบริษัทที่ดีเมื่อเทียบกับหุ้นที่ไม่เคยปรับตัวโดดเด่นเป็น “ดารา” เลย  ดังนั้น  “คุณภาพ” ของบริษัทก็น่าจะยังโดดเด่นเมื่อเทียบกับบริษัทอื่น  วันดีคืนดีหุ้นก็มีโอกาส “กลับมาใหม่”  ราคาหุ้นที่ PE 30-40 เท่าก็อาจจะ “ไม่แพง” และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งว่า  หุ้นที่ “เคยวิ่ง” เป็นจรวดมักจะไม่เคยถูกเลยแม้ว่าเหตุผลต่าง ๆ  ที่ทำให้มันวิ่งนั้นผ่านไปนานแล้ว

ผมเองเชื่อว่าหุ้นที่เล่นกันด้วยธีม  “กัญชง-กัญชา”  ก็คล้าย ๆ  กับธีมในอดีตที่ผ่านมา  แล้วในที่สุดก็จะผ่านไป  คือหุ้นขึ้นไปมากแล้วสุดท้ายก็ตกลงมาแรงมากพอ ๆ กัน  คนที่ได้กำไรมหาศาลมีน้อยรายและเป็น “ผู้นำ” ในการ “ปั่น”  ส่วนผู้ที่ขาดทุนนั้นส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ได้ขาดทุนมากแต่มีจำนวนมาก  พวกเขาคือคนที่อาจจะ “หาหุ้นเล่นทุกวัน” และมีความสุขที่ได้เล่น  หมดจากธีมกัญชาก็จะหาธีมใหม่ไปเรื่อย ๆ  วัฎจักรของการลงทุนหรือเล่นหุ้นของตลาดหุ้นไทยก็เป็นแบบนี้