ตลาดหุ้นร้าว?

0
3106

โลกในมุมมองของ Value Investor     15 พฤษภาคม 64

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

            สัปดาห์ก่อน  ดัชนีหุ้นของสหรัฐนำโดยดาวโจนส์และแนสแดคตกลงมาแรงติดต่อกันประมาณ 3 วันและทำให้ดัชนีหุ้นตกลงไปประมาณ 4-5% ซึ่งถือว่าเป็นการปรับตัวที่รุนแรงมากในระยะเวลาอันสั้น  โดยเฉพาะในช่วงเร็ว ๆ  นี้ที่ดัชนีมักจะปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้นักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยต่างก็  “แห่” เข้ามาลงทุนและดันให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์และเครื่องมือการลงทุนอื่นโดยเฉพาะคริปโตเคอเรนซี่ปรับตัวขึ้นไปอย่างแรงและต่อเนื่องมายาวนาน  เหตุผลที่หุ้นตกลงมาแรงนั้น  นักวิเคราะห์ต่างก็ชี้ไปที่ภาวะเงินเฟ้อในเดือนเมษายน 2021 ที่ปรับขึ้นสูงถึง 4.2% ซึ่งเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังเติบโตขึ้นอย่างร้อนแรงและในที่สุดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารกลางจะต้องปรับขึ้น  นอกจากนั้น  เม็ดเงิน QE ที่ถูกอัดฉีดเข้าไปในระบบจำนวนมหาศาลก็อาจจะต้องลดลงหรือถูกดูดออก  และถ้าเป็นอย่างนั้น  ตลาดหุ้นก็จะตกลงมาอย่างแรง  เพราะว่าที่จริงแล้ว  ดัชนีหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาร้อนแรงยาวนานนั้นก็เป็นเพราะเม็ดเงินที่รัฐอัดเข้าไปในระบบก่อนหน้านั้นนั่นเอง  อย่างไรก็ตาม  ภายในสิ้นสัปดาห์  หุ้นก็ปรับตัวกลับขึ้นมาแรงประมาณครึ่งหนึ่งของที่ตกลงไป  ดูเหมือนว่านักลงทุนจะไม่ได้กลัวหรือกังวลมากนัก  คนส่วนใหญ่น่าจะยังคิดว่าหุ้นจะดีต่อไปอีกนาน

            การปรับตัวลงของหุ้นสหรัฐส่งผลไปยังตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลงมาแรงพอ ๆ กัน  และก็น่าจะปรับตัวกลับขึ้นไปตามหุ้นอเมริกาเหมือนกันโดยที่ไม่เว้นตลาดหุ้นไทยที่หุ้นตกลงมาแรงโดยเฉพาะวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ที่ช่วงหนึ่งดัชนีตกลงไปถึงประมาณ 70 จุดหรือ 4.5% ในเวลาสั้น  ก่อนที่จะปรับตัวกลับขึ้นมาเหลือเพียง -20 กว่าจุด  สำหรับผมแล้ว เหตุการณ์ในตลาดหุ้นสหรัฐและของไทยอาจจะเป็นสัญญาณ  “อันตราย” ว่าตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่องยาวนานและสามารถ “ฝ่า” วิกฤติโควิด-19 มาได้อย่างเหลือเชื่อนั้น  อาจจะใกล้ถึงเวลา “หยุด”  หรือตกลงมาอย่างยาวนานโดยเฉพาะถ้าปัจจัยเรื่องสภาพคล่องทางการเงินที่เอื้ออำนวยนั้นกำลังจะหยุดลงและเม็ดเงินถูกทยอย “ดูดออก” เพื่อนำพาให้เศรษฐกิจโลกกลับมาสู่ “สภาวะปกติ” หลังจากที่มีการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมโหฬารมานานกว่า 10 ปี

            การวิเคราะห์ของผมนั้น  ผมคงไม่ถกเถียงเรื่องของนโยบายหรือผลกระทบต่อตลาดหุ้นซึ่งก็มีคนพูดถึงกันมากแล้ว  ผมชอบดู  “ประวัติศาสตร์” และเชื่อว่าประวัติศาสตร์มี “พลัง”  และสำหรับเรื่องของตลาดหุ้นเองนั้น  ประวัติศาสตร์ของดัชนีตลาดหุ้นก็มักจะบอกหรือทำนายอะไรหลาย ๆ  อย่างได้  บางทีดีกว่าการที่จะมาวิเคราะห์และทำนายถึงเหตุการณ์อะไรต่าง ๆ  ที่อาจจะเกิดขึ้น  ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่เกิด  หรือเกิดขึ้นแล้วก็ไม่มีผลกระทบต่อดัชนีตามที่คาด  ตามที่ผมเห็นนั้น  ดูเหมือนว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์มักจะมี “รอบยาว ๆ” ของความรุ่งเรืองและเติบโตและก็ตามด้วยรอบยาว ๆ  ของความตกต่ำ  โดยที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับภาวะของเศรษฐกิจปีต่อปีอะไรมากนัก  บางทีตลาดหุ้นอาจจะขึ้นเพราะคนในประเทศส่วนใหญ่กำลังมีอายุมากขึ้นและเก็บเงินลงทุนเพื่อการเกษียณในตลาดหุ้นก็เป็นได้ 

            ช่วงประมาณ 12 ปีเศษ ๆ ที่ผ่านมาคือตั้งแต่ต้นปี 2009 ซึ่งตลาดหุ้นสหรัฐตกลงมาต่ำมากอานิสงค์จากวิกฤติซับไพร์มมาจนถึงวันนี้  ดัชนีหุ้นสหรัฐก็ปรับตัวขึ้นอย่างเร็วและแรงมาตลอด  การตกลงมาในบางช่วงรวมถึงเมื่อเกิดโควิด-19 ในช่วงแรกก็เป็นการตกลงมาเพื่อที่จะขึ้นต่ออย่างรวดเร็ว  ดัชนีดาวโจนส์ซึ่งเป็นตัวแทนกิจการขนาดใหญ่ในอเมริกานั้น  ในช่วงต้นปี 2009 อยู่ที่ประมาณ 7,223 จุด ปรับขึ้นมาเป็น 34,382 จุด เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2021 หรือเพิ่มขึ้น 4.8 เท่าในเวลาประมาณ 12 ปีเศษ คิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยทบต้นปีละ 13.68%  ดัชนีหุ้นแนสแดคซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้นเทคโนโลยีอยู่ที่ประมาณ 1,293 กลายมาเป็น 13,429 จุด หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าให้ผลตอบแทนถึงปีละ 21.2% ในช่วงเวลาเดียวกัน  ส่วนดัชนีหุ้น S&P 500  ซึ่งเป็นตัวแทนของอเมริกาโดยรวมนั้นเพิ่มขึ้นจากประมาณ  770 จุด เป็น 4,174 หรือเพิ่มขึ้น 5.42 เท่าและให้ผลตอบแทนปีละ 14.8% สรุปว่าช่วงประมาณ 1 ทศวรรษที่ผ่านมานั้นเป็น  “ทศวรรษทอง” ของการลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกา

            ทศวรรษ “ทอง” ของอเมริกาอีกช่วงหนึ่งก็คือตั้งแต่ปลายปี 1987 ถึงปลายปี 1999 และต้นปี 2000 ซึ่งตรงกับปีที่ “ฟองสบู่” หุ้นไฮเทคขึ้นสูงสุดและกำลังจะแตกคิดเป็นช่วงเวลาประมาณ  12 ปีเศษ ๆ  เหมือนกันนั้น  ดัชนีหุ้นดาวโจนส์เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1,910 จุด เป็น 11,224 จุด หรือเพิ่มขึ้นเป็น 5.8 เท่า ผลตอบแทนทบต้นต่อปีอยู่ที่ 15.7%  ดัชนีแนสแดคเพิ่มขึ้นจาก 316 จุดเป็น 4,915 จุดหรือเพิ่มขึ้นถึง 15.6 เท่าคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละถึง 24.9% ในช่วงเวลาเดียวกัน  และนั่นก็คือวันที่ฟองสบู่กำลังจะแตก  คนที่ซื้อหุ้นในวันนั้นต้องประสบกับวิกฤติที่ทำให้หุ้นอย่างอะมาซอนตกลงไปกว่า 90% ก่อนจะฟื้นตัวกลับมาเป็นหุ้นที่ยิ่งใหญ่ในวันนี้  ดัชนีหุ้น S&P ในปี 1987 ซึ่งเป็นช่วงที่ตกต่ำนั้นเริ่มที่ 230 จุด  กลายมาเป็น 1,527 จุด หรือเพิ่มขึ้นเป็น 6.6 เท่าคิดเป็นผลตอบแทนปีละ 16.6% ซึ่งทั้ง 3 ดัชนีปรับตัวดีกว่ารอบนี้

            ช่วงระหว่างปี 1999 จนถึงปี 2008 เป็นเวลา 9 ปี ดัชนีดาวโจนส์แทบจะไม่ขยับไปไหนเลย  หุ้นเป็นไซ้ต์เวย์ตลอดและตกหนักในปีวิกฤติซับไพร์ม 2009 เหลือเพียง 7,223 จุด จากจุดเริ่มต้นที่ 11,000 จุดหรือลดลง ประมาณ 34% คิดเป็นติดลบปีละ 4.5% แบบทบต้น  กลายเป็น  “Lost Decade” หรือ “ทศวรรษที่หายไป” โดยที่ทุกอย่างของอเมริกาก็ดูเหมือนว่าจะ “ปกติดี” ดัชนีแนสแดคเองนั้น  หลังจาก “ฟองสบู่ไฮเท็ค” ปี 2000 แตก  ดัชนีก็ตกลงไปแรงจาก 4,915 จุด เหลือเพียง  1,221 จุดหรือลดลงถึง 75% ในเวลา  2 ปีครึ่ง  หลังจากนั้นก็ปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ  แต่ก็ไม่เคยขึ้นไปเกิน 3,000 จุดก่อนที่จะเจอวิกฤติซับไพร์มซ้ำในปี 2008 ที่ทำให้ดัชนีตกลงไปอีกเหลือเพียง 1,293 จุด ในต้นปี 2009  กลายเป็น  “Lost Decade” แม้ว่าการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี่ของอเมริกาจะก้าวหน้าไปมากมาย  โดยเฉลี่ยแล้ว  ดัชนีหุ้นแนสแดคติดลบไปประมาณปีละ 13.8%  ในเวลาติดต่อกัน 9 ปี และนี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่เข้าไปซื้อหุ้นเทคในยามที่เป็นฟองสบู่และขายไปในช่วงที่ตลาดหุ้นตกต่ำต่อเนื่องยาวนานเป็นทศวรรษ

            ดัชนีหุ้น S&P ซึ่งเป็นตัวแทนของเศรษฐกิจอเมริกาโดยรวมก็ไม่ได้ดีไปกว่าดัชนีหุ้นอื่นมากนัก ในช่วงเกือบ 10 ปี  จากดัชนี 1,527 จุดในปี 2000  หุ้นก็ค่อย ๆ ไหลลงไปเรื่อย ๆ  ประมาณ 2 ปีแล้วก็ค่อย ๆ ปรับตัวขึ้นไปเรื่อยในเวลาประมาณ 4 ปี จึงกลับไปที่เดิมในช่วงปี 2007 ก่อนที่จะตกลงมาเนื่องจากวิกฤติซับไพร์มในต้นปี 2009 เหลือเพียง 770 จุด  คิดเป็นการตกลงมาถึง  50% ในเวลา 8.5 ปี  หรือลดลงแบบทบต้นเฉลี่ยปีละ 7.7%  และกลายเป็น “ทศวรรษที่หายไป” ของตลาดหุ้นทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจก็เป็นปกติ  เพียงแต่ว่าเป็นช่วงที่ตามมาจาก “ทศวรรษทอง” ที่หุ้นให้ผลตอบแทนสูงติดต่อกันมาปีละถึง 16.6% เป็นเวลากว่า 10 ปี

            ผมไม่รู้ว่า “ทศวรรษทอง” ของหุ้นอเมริกาใกล้จบหรือยัง  การตกลงมาของหุ้นรอบนี้อาจจะเป็นสัญญาณเตือนก็ได้เพราะมันดำเนินมานานมากพอ ๆ  กับ “ประวัติศาสตร์” ที่เคยเกิดขึ้นในปี 1988 ถึงปี 2000  และการปรับตัวขึ้นของหุ้นในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมาก็สูงมากและหุ้นแทบจะไม่เคยเหงาเลย  นอกจากนั้น  ระดับของการ “เก็งกำไร” วัดจากปริมาณการซื้อขายหุ้นโดยเฉพาะของนักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยก็สูงมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในรอบน่าจะไม่ต่ำกว่า 50 ปี  ดังนั้น  ถ้ามันเป็นจุดจบจริงก็น่าจะกระทบกับดัชนีหุ้นแรงและน่าจะยาวนาน  บางทีอาจจะกลายเป็น  “ทศวรรษที่หายไป” ใหม่ก็เป็นได้  แน่นอน  คนจำนวนมากในวันนี้คงจะบอกว่าตลาดหลักทรัพย์เดี๋ยวนี้ไม่เหมือนเดิม  มันเป็น  “New Normal” แล้ว  ที่หุ้นจะโตไปเรื่อย ๆ  ด้วยเหตุผลร้อยแปด  ส่วนตัวผมเองก็คิดว่ามันก็เป็นไปได้  แต่ถ้าไม่ใช่ล่ะ  ความเจ็บปวดก็คงจะรุนแรงมาก  ดังนั้น  ระวังตัวให้มากขึ้นก็คงจะดี  ตลาดเขาเตือนแล้วนะ