โลกในมุมมองของ Value Investor 29 ม.ค. 65
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
สองปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดโรคระบาดโควิด-19 การ “เก็งกำไร” ในตลาดสินทรัพย์ที่ซื้อขายเปลี่ยนมือคล่องเช่น เหรียญคริปโตและหุ้นดูเหมือนว่าจะรุนแรงอย่างที่โลกไม่เคยพบเจอมาก่อน สาเหตุนั้นน่าจะเป็นเพราะปัจจัยสำคัญหลายอย่างดังต่อไปนี้คือ ข้อแรก มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้ามาในระบบมหาศาลเพิ่มจากที่มีมากอยู่แล้วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน นั่นคือ มีการทำ QE ที่ต่อเนื่องมายาวนานตั้งแต่วิกฤติซับไพร์มในปี 2008 ที่ยังค้างอยู่และมีการ “แจกเงิน” มหาศาลให้กับประชาชนโดยรัฐบาลเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปิดเมืองในช่วงโควิด
ข้อสอง เทคโนโลยีโดยเฉพาะทางด้านดิจิทัลถูกนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาของคนที่ต้องกักตัวอยู่กับบ้านเป็นเวลานานมีการเติบโตขึ้นมหาศาล ทำให้บริษัทที่เกี่ยวข้องมีรายได้และกำไรเติบโตเร็วขึ้นมาก และมีการคาดการณ์ว่าเมื่อคนใช้แล้วก็จะใช้ต่อไปเหมือนเดิมหลังจากโรคสงบลงแล้ว และ ข้อสามก็คือ การลงทุนในหลักทรัพย์ทางการเงิน โดยเฉพาะที่เป็นดิจิทัลและหุ้นนั้น ง่ายและมีต้นทุนต่ำลงมาก “ใกล้ศูนย์” พูดง่าย ๆ คนธรรมดาที่มีเงินเพียงหมื่นหรือสองหมื่นบาทก็สามารถลงทุนในเหรียญคริปโตและหุ้นทุกตัวได้โดยค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายต่ำมากผ่านระบบการซื้อขายที่เป็นดิจิทัลเช่นแพลทฟอร์มต่าง ๆ และผ่านเครื่องมือทางการเงินเช่นอ็อปชั่นของหุ้นเป็นต้น
นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น “รายย่อยรุ่นใหม่” ที่เข้ามาลงทุนในเหรียญคริปโตและตลาดหุ้นนั้นมีจำนวนมากมายอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และด้วย Demand หรือความต้องการซื้อเพิ่มขึ้นมากมายอย่าง “กระทันหัน” ในขณะที่ Supply ของสินทรัพย์ที่มีคุณภาพมีจำกัด ผลก็คือ ราคาของหลักทรัพย์ทั้งหลายรวมถึงคริปโตต่างก็วิ่งขึ้นกันทั่วหน้า สถานการณ์ของหุ้นและสินทรัพย์ดิจิทัลโดยเฉพาะที่ได้ประโยชน์จากโควิดหรือ “มีข่าวดี” หรือมี “Story” จำนวนมากถูก “กวาดซื้อ” จนเหมือนถูก “Corner” หรือ “ต้อนเข้ามุม” ซึ่งทำให้ราคา “ทะลุโลก” ขึ้นไปเป็นสิบเท่าหรือมากกว่านั้นในเวลาอันสั้นแค่หนึ่งหรือสองปีหรือแค่ไม่กี่เดือน สิ่งเหล่านี้ดึงดูดนักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาเพิ่มและทำให้หุ้นและสินทรัพย์ดิจิทัลโดยทั่วไปปรับตัวขึ้นไปอีกเป็น “วงจร” ต่อเนื่องกันจนทำให้ตลาดหุ้นและคริปโตเฟื่องฟูขึ้นจนอาจจะกลายเป็น “ฟองสบู่” ทั้ง ๆ ที่โลกต้องประสบกับภัยโควิด-19 ที่ร้ายแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่ง
แต่ “งานเลี้ยงนั้นต้องมีวันเลิกรา” ตั้งแต่ต้นปีมาจนถึงสิ้นเดือนมกราคมดูเหมือนว่าตลาดจะมีอาการและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจจะทำลายการ “เก็งกำไร” ที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นหลัก ๆ ของโลกโดยเฉพาะที่เป็นตลาดที่ราคาหรือดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นไปสูงมากต่างก็ลดลงอย่างรวดเร็ว ดัชนีดาวโจนส์ในวันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2565 ปรับตัวลดลงถึง 5.1% นับจากวันสิ้นปี 2564 ดัชนี S&P500 ลดลงจากสิ้นปี 7.6% ดัชนีแนสแดคซึ่งเป็นตัวแทนของหุ้นไฮเทคนั้นปรับตัวลดลงถึง 13% ในเวลาแค่ 1 เดือน ส่วนราคาของบิทคอยน์นั้นลดลงถึงประมาณ 20% ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนในตลาดหุ้นไทยนั้น ค่าที่ว่าหุ้นเก็งกำไรนั้น ส่วนมากเป็นกับหุ้นตัวเล็ก-กลาง ดังนั้น การขึ้นหรือลงของหุ้นที่เป็นหุ้นเก็งกำไรจึงอาจจะไม่ค่อยมีผลต่อดัชนีตลาดหุ้นโดยรวมมากนัก เห็นได้จากดัชนีตลาดหุ้นไทยไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากนักในปีก่อนอยู่ที่เพียง 14% และเมื่อเทียบกับเมื่อ 2 ปีก่อนแล้วก็ปรับตัวขึ้นแค่ประมาณ 5% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโควิด-19 และการเก็งกำไรในตลาดหุ้นไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานั้นไม่ได้มีผลกับหุ้นตัวใหญ่หรือหุ้นทั้งตลาด แต่มีผลกับ “หุ้นเก็งกำไร” ตัวเล็กหรือตัวกลางที่อาจจะเป็น “หุ้นเก็งกำไร” เห็นได้จากดัชนี MAI ที่ปรับตัวขึ้นถึง 70 กว่าเปอร์เซ็นต์ในปีที่แล้ว
การตกลงแรงของราคาหุ้นและสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น คนอาจจะบอกว่าเป็นเรื่องปกติของการ “เก็งกำไร” ที่จะมีขึ้นมีลงรุนแรงเป็นครั้งคราว แต่คราวนี้ผมคิดว่าเราจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะมันเกิดขึ้นเนื่องจากธนาคารกลางหรือ FED ของสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณชัดเจนว่าภายในเดือนมีนาคมจะเริ่มปรับดอกเบี้ยอ้างอิงขึ้นและอาจจะต้องขึ้นเร็วกว่าที่คาดเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่กำลังปรับตัวขึ้นแรงที่สุดในช่วงประมาณ 40 ปีที่ผ่านมาที่ประมาณ 7% นอกจากนั้น หลังจากการปรับอัตราดอกเบี้ยแล้ว FED ก็จะลดและดูดเงินออกจากระบบโดยลดการทำ QE ลง ซึ่งก็แน่นอนว่าไม่ได้บอกว่าอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มขึ้นถึงจุดไหนหรือ QE จะลดต่อเนื่องไปถึงขนาดไหน แต่ดูเหมือนว่าสหรัฐเห็นว่าความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นหมดไปแล้ว นี่คือช่วงเวลาที่จะควบคุมอัตราเงินเฟ้อและรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ และผลจากการทำแบบนั้นอาจจะทำให้ “การเก็งกำไร” ที่ดำเนินมายาวนานหมดไป
เพราะถ้ามองว่าตลาดหุ้นมีผลงานการลงทุนที่ดีต่อเนื่องมายาวนานเป็นกว่า 10 ปีและสูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตนั้นส่วนสำคัญมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยลดลงต่อเนื่องมายาวนานจนเหลือเกือบศูนย์เปอร์เซ็นต์ ความน่ากลัวก็คือ ถ้าอัตราดอกเบี้ยกำลัง “เปลี่ยนทิศ” เป็นขาขึ้นต่อเนื่องยาวนานหลายปีจนกลับไปอยู่ที่อัตราดอกเบี้ย “ปกติ” ซัก 4-5% ต่อปี อะไรจะเกิดขึ้น? ผมเองคิดว่า FED อาจจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-4 ปีที่จะทยอยปรับดอกเบี้ยขึ้นไปเรื่อย ๆ ซึ่งในช่วงเวลาที่ดอกเบี้ยขึ้นไปแบบนั้นก็อาจจะเป็นการยากที่ตลาดหุ้นจะดีขึ้นไปมาก ๆ จริงอยู่ ถ้าเศรษฐกิจดีและกำไรของบริษัทจดทะเบียนโตขึ้นเร็ว ดัชนีหุ้นก็อาจจะไม่ถึงกับเลวร้ายหรือมีปัญหา แต่หุ้นจะไปต่อได้ก็หมายความว่าราคาของหุ้นนั้นต้อง “ไม่แพง” ซึ่งจะทำให้ราคาสามารถขึ้นไปตาม “พื้นฐาน” ของบริษัท แต่ถ้าหุ้นโดยรวมมีราคาแพงหรือแพงมากอย่างที่เป็นอยู่ โอกาสก็เป็นไปได้ว่าหุ้นอาจจะไม่ไปไหน เพียงแต่ค่า PE จะลดลงและกลายเป็นหุ้นที่ “ไม่แพง” อีกต่อไป เนื่องจาก “การเก็งกำไรที่หายไป”
เหรียญคริปโตที่มีราคาปรับตัวขึ้นไปสูงมากนั้นผมคิดว่าไม่ได้มาจาก “พื้นฐาน” โดยเฉพาะของบิทคอยน์ที่ว่าจะกลายเป็น “เงินของโลก” ที่คนทั้งโลกจะใช้ในการซื้อ-ขายสินค้าหรือเก็บเป็นเงินสำรอง เพราะดูไปแล้วมันมีคุณสมบัติที่ไม่ดีพอที่จะทำอย่างนั้น อย่างมากที่จะเป็นก็คือ “ทองเสมือน” ที่ไม่รู้ว่าราคาที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไร อย่างไรก็ตาม ในยามที่มีการเก็งกำไรสูงมากในช่วงโควิด-19 มันก็กลายเป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรสุดยอด เหตุผลก็เพราะว่าบิทคอยน์มีจำนวนจำกัดและไม่สามารถเพิ่มขึ้นได้ การเข้ามาซื้อของผู้คนจำนวนมหาศาลเพราะเชื่อสตอรี่ที่ว่ามันจะกลายเป็นเงินของโลกทำให้เกิดสถานการณ์ที่บิทคอยน์ถูก “Corner” ซึ่งทำให้ราคาขึ้นไปสูงสุดยอดอย่างรวดเร็ว
แต่ถึงวันนี้ รัฐบาลจำนวนมากและเป็นส่วนใหญ่ของโลกต่างก็ยังไม่รับรองหรือสนับสนุนบิทคอยน์ ในการทำธุรกรรมต่าง ๆ หลายประเทศรวมถึงไทยเริ่ม “แบน” บิทคอยน์ในระดับใดระดับหนึ่งเช่น ไม่อนุญาตให้ใช้ในการซื้อ-ขายสินค้าหรือไม่ให้ลงทุนเลยก็มี นั่นส่งผลให้สตอรี่ของบิทคอยน์อ่อนลงไปเรื่อย คนที่อาจจะเคยเชื่อว่าบิทคอยน์คือ “อนาคต” ของเงินดิจิทัลเริ่มหวั่นไหวก็เริ่มขาย ราคาที่ลงก็ส่งผลให้คนที่ไม่มั่นใจมากพอเริ่มขายต่อ การตกลงมาอย่างหนักก็ชักจูงให้คนขายเพิ่มขึ้น จริงอยู่ ในอดีตบิทคอยน์ก็เคยลงมาอย่างหนักพอ ๆ กันแต่มันก็ปรับตัวขึ้นมาใหม่ แต่คราวนี้ก็อาจจะไม่แน่ เพราะ “แรงต้าน” จากรัฐบาลทั่วโลกมากขึ้นทุกทีซึ่งรวมถึงจีนและอินเดียที่มีประชากรมหาศาล ดังนั้น อนาคตบิทคอยน์จะไปต่อได้อย่างไร? แม้แต่ประเทศที่รับรองบิทคอยน์อย่างแข็งขันเช่น เอลซานวาดอร์ เองนั้นก็กำลังโดนเตือนจาก IMF ให้เลิกทำเพราะเกรงว่าจะก่อให้เกิดอันตรายต่อเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น เมื่อถึงวันที่การเก็งกำไรระดับโลกในหุ้นและเหรียญดิจิทัลต่าง ๆ ลดลงอย่างแรง บิทคอยน์ก็อาจจะมีโอกาสตกลงไปมากจนถึงจุดก่อนเกิดโควิด-19 ที่ต่ำกว่า 10,000 เหรียญสหรัฐได้ง่าย ๆ
มุมมองของผมสำหรับนักลงทุนไทยก็คือ ในช่วงนี้มีโอกาสที่จะใกล้ถึงวัน “อวสานของการเก็งกำไร” ที่หลักทรัพย์เช่นหุ้นหรือสินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ ที่เป็นเครื่องมือในการเก็งกำไรหรือโดยคุณสมบัติเป็นหุ้นหรือเหรียญที่ “เก็งกำไร” กล่าวคือมีพื้นฐานต่ำกว่าราคามาก เช่น มีค่า PE หรือ Market Cap.สูงผิดปกติมาก หรือบางตัวแทบจะไม่มีพื้นฐานเลย อาจจะถูกขายจนราคาตกลงไปมากมายเกินครึ่งหรืออาจจะถึง 80-90% ได้ง่าย ๆ ทางที่ดีก็ควรจะหลีกเลี่ยงที่จะถือหรือเข้าไปเล่น “เก็งกำไร” ในหุ้นหรือสินทรัพย์เหล่านั้น อย่าไปเชื่อว่ามันจะเปลี่ยนโลกหรือมันจะเติบโตและทำกำไรจากเทรนด์ในอนาคต เพราะโอกาสที่จะเกิดนั้นน้อยมาก หรือถ้าตัวไหนเกิดทำได้จริง ๆ บางทีราคาของมันในช่วงนี้ก็ได้ปรับขึ้นมาเหมาะสมกับความสำเร็จนั้นอยู่แล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นผมจึงไม่เห็นเหตุผลที่จะลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์เก็งกำไรเหล่านั้น ถ้าอยากที่จะ “ร่วมขบวน” ไปกับเทคโนโลยีของโลกใหม่ รอก่อนก็น่าจะได้
เรียนออนไลน์ สัมมนา สามารถดูรายละเอียดและสมัครได้ที่: https://www.vietnamvi.com/onlinecourse/
ติดตามข่าวสารจาก VietnamVI
Website: https://www.vietnamvi.com
Facebook: vvinvestor
Line: @vietnamvi
YouTube: https://youtube.com/c/Vietnamvi
ห้องคุยหุ้นเวียดนาม:https://www.facebook.com/groups/473890360486727