Noise หรือ Information เล่นสั้นหรือยาว

0
1954

โลกในมุมมองของ Value Investor     10 กันยายน 2565

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการลงทุนในช่วงนี้ดูเหมือนว่าจะมีมากเป็นพิเศษเช่น  ดอกเบี้ยอ้างอิงของอเมริกา  ยุโรป และทั่วโลกกำลังปรับตัวขึ้น  เงินเฟ้อปรับตัวขึ้นแรงอย่างที่ไม่เคยประสบในรอบหลายสิบปี  ราคาพลังงานเช่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปรับตัวขึ้นเพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครน  (แต่ช่วงนี้ก็กำลังปรับตัวลงนะครับโดยเฉพาะน้ำมัน)  สงครามการค้าและสงครามเย็นอาจจะกำลังก่อตัวขึ้นระหว่างจีนและรัสเซียกับสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ในส่วนของบริษัทจดทะเบียนเองก็มีข่าวน่าตื่นเต้นทุกวัน  บางบริษัทมีข่าวแทบไม่เว้นวันว่าบริษัทจะโต โตและโตและผู้บริหารก็เข้าซื้อหุ้นตนเองเป็นระยะ ๆ  ทั้งหมดนั้นก็มักจะทำให้ดัชนีตลาดหุ้นและหุ้นหลาย ๆ  ตัวมีราคาปรับตัวขึ้นหรือลงคล้าย ๆ  กับคลื่นในทะเล  บางครั้งก็รุนแรง  บางครั้งก็เบา  แต่ทั้งหมดนี้มักจะไม่ได้เป็นสัญญาณที่จะบอกว่าวันรุ่งขึ้นมันจะลงหรือขึ้น  และที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ  มันไม่ได้บอกว่าในระยะยาวซัก 3-4 ขึ้นไปหุ้นจะไปทางไหน

ถ้าข่าวหรือเรื่องราวต่าง ๆ  ที่ออกมานั้น  มีธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปได้เร็วหรือมีความผันผวนสูงซึ่งบ่อยครั้งก็สามารถดูได้จากประวัติศาสตร์  ผลกระทบต่อราคาดัชนีหรือหุ้นในระยะยาวหรือแม้แต่ระยะกลางเช่น 1-2 ปี ก็จะมีไม่มาก  หุ้นขึ้นไปหรือตกลงมาไม่กี่วันก็หยุดและก็อาจจะกระเด้งกลับไปที่เดิม  แบบนี้ในทางเศรษฐศาสตร์และการเงินเราเรียกว่า “Noise” หรือ “เสียงรบกวน”  

คนที่ซื้อขายหรือลงทุนก็จะต้องรู้ว่า  เวลาที่จะเทรดหรือซื้อขายก็จะต้องทำอย่างรวดเร็วและในเวลาอันสั้น  อย่าไปลงทุนแบบ  “VI” ที่เน้นถือยาวหรือปล่อยให้ “Profit Run” คือไม่ขายทั้ง ๆ  ที่กำไรอยู่นานเกินไป  เพราะหุ้นที่ขึ้นลงเพราะ Noise นั้น  จะไม่ขึ้นหรือลงยาวแบบ Trend ซึ่งจะขึ้นอยู่กับ  “พื้นฐาน” ของตลาดหรือกิจการมากกว่า

คนที่เป็น VI แบบมุ่งมั่นและเน้นการลงทุนระยะยาวเป็นหลักนั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็จะไม่ทำอะไรกับหุ้นหรือการลงทุนเมื่อมีข่าวสารพัดที่น่าตื่นเต้นทุกวัน  เหตุก็เพราะว่าข่าวสารเหล่านั้นส่วนมากแล้วก็เป็นข่าวที่ไม่ได้มีผลกระทบ “ระยะยาว” ต่อหุ้นหรือเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ  เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งก็เพราะว่าข่าวเหล่านั้นเป็นเรื่องที่มักจะเกิดขึ้นชั่วคราว “ตามสถานการณ์” ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น  และเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน  ข่าวเหล่านั้นก็จะเปลี่ยนไปตาม  เช่นเดียวกับราคาหุ้นที่จะขึ้น-ลง ตามข่าวนั้น  ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไปหรืออีกอย่างน้อย 3-4  ปีขึ้นไป ซึ่งจะกลายเป็นเทรนด์

ตัวอย่างเช่นเรื่องของอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อนั้น  ตามประวัติศาสตร์ก็บอกว่าส่วนมากที่สุดนั้นมันขึ้นลงภายในเวลาไม่เกิน 2-3 ปี  ยกเว้นก็แต่ช่วงที่ผ่านมาน่าจะเป็น 10 ปีขึ้นไปที่มันตกต่ำมานานมากจนโลกแทบจะลืมไปว่าอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อมันอาจจะสูงขึ้นได้  แต่ถ้าเราเชื่อว่าเดี๋ยวมันก็จะกลับลงมาเหมือนเดิมหรือใกล้เคียงของเดิม  ปัจจัยเรื่องนี้ก็จะไม่มีผลต่อการลงทุนระยะยาวของเรา  เช่นเดียวกับราคาพลังงานที่ปรับตัวขึ้นไปสูงมากในช่วงก่อนหน้านี้เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน  ถ้าเราเชื่อว่าโลกนั้นไม่ได้ขาดแคลนน้ำมัน  เพียงแต่เกิดการสะดุดในเรื่องของการขนส่งหรือโลจิสติก  เมื่อโลกสามารถแก้ปัญหานี้ได้แล้ว-ซึ่งก็ได้อย่างแน่นอน  ราคาน้ำมันหรือพลังงานก็จะลดต่ำลงมาเป็นปกติ  เรื่องของราคาน้ำมันสูงก็จะไม่ได้เป็นประเด็นในการลงทุนมากนัก

การวิเคราะห์เหตุผลหรือตรรกะของข่าวสารว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจ  การเงินและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในระยะยาวนั้น  เราเรียกว่าเป็น  “Information” ซึ่งจะเป็นตัวชี้ว่าแนวโน้มหรือเทรนด์อย่างน้อยในระยะ 3-4 ปีขึ้นไปจะเป็นอย่างไร  ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศซึ่งถือว่าจะเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศนั้น 

ข่าวสารว่าเศรษฐกิจของประเทศโดยเฉพาะสหรัฐและยุโรปนั้นน่าจะตกต่ำลงในระยะ 1-2 ปีข้างหน้าและนั่นทำให้ตลาดหุ้นตกลงมาแรง  แต่นี่สำหรับผมแล้ว  มันเป็น  Noise ที่ผมจะไม่สนใจมากนัก  ถ้าใครจะถามว่าควรลงทุนในหุ้นอเมริกาหรือหุ้นไทยตอนนี้ไหมหรือควรขาย?  ผมก็คงไม่อยากตอบ  เพราะนี่คือคำถามสำหรับคนที่เทรดหุ้นระยะสั้น  ถ้าจะลงทุนระยะยาวแล้ว  เราคงต้องตอบให้ได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐหรือยุโรปในระยะยาวจะโตแค่ไหนอย่างไร  ซึ่งเป็นเรื่องของ Information  เช่น  ปัจจัยในการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนประชากรวัยทำงาน  ประสิทธิภาพของคนที่ขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและระบบการปกครองของรัฐที่เอื้ออำนวยต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจซึ่งนาทีนี้อาจจะรวมไปถึงเรื่องของสงครามการค้าหรือสงครามเย็นที่อาจจะกำลังเกิดด้วย  

ดังนั้น  ดัชนีหรือราคาหุ้นที่ขึ้นลงในช่วงนี้สำหรับนักลงทุนระยะยาวอย่างผมนั้นจะ “ไม่มีความหมาย”  เราต้องวิเคราะห์ข่าวสารแบบ Information ซึ่งถ้าออกมาว่าประเทศหรือหุ้นน่าลงทุนและหุ้นกำลังตก  นี่ก็จะเป็นโอกาสที่ดี  ได้ซื้อของถูก  แต่ในทางตรงกันข้าม  ถ้า Noise ก็คือ  หุ้นขึ้นเพราะเป็นหุ้นบริษัทขุดน้ำมันที่กำลังมีราคาสูงขึ้นมาก   แต่เราเชื่อว่ามันจะขึ้นชั่วคราว  เดี๋ยวก็ลง  แบบนี้ก็คือ  เทรนด์ระยะยาวของน้ำมันน่าจะลง  เราก็ต้องขาย  อย่างไรก็ตาม  ทั้งหมดนั้นก็ต้องดูราคาของหุ้นด้วยว่าเป็นอย่างไร  เพราะเราเป็น VI ที่เน้นในเรื่องความถูกความแพงของหุ้นเหนือสิ่งใด

สำหรับคนที่เลือกหุ้นลงทุนเองนั้น  “ข่าวสารรายวัน” ของหุ้นรายตัวส่วนใหญ่  ผมคิดว่าเป็น Noise  ที่บ่อยครั้งถูก “สร้างขึ้น” เพื่อกระตุ้นราคาหุ้น  ตัวอย่างในระยะหลัง ๆ ที่เศรษฐกิจไทยโตช้าลงมากซึ่งทำให้บริษัทโตช้าลงทำให้บริษัทจดทะเบียนที่เจ้าของหรือผู้บริหารต้องการ “ปั้น”หรือ “ปั่น” ราคาหุ้นบางคนมักจะพยายาม “สร้างการเติบโต” โดยการขยายไปทำ “ธุรกิจใหม่” ที่นักเศรษฐศาสตร์หรือนักวิเคราะห์มองว่าจะเติบโตไปเร็วมาก

หลังจากคำประกาศ  ราคาหุ้นก็มักจะวิ่งขึ้นไปรุนแรง  ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะมีคนเตรียมจะไล่ราคาอยู่แล้ว  ราคาที่วิ่งขึ้นไปดึงดูด “นักเก็งกำไร” รายย่อยที่มีอยู่เต็มตลาดเข้ามาร่วมซื้อด้วย  ราคาก็วิ่งต่อไปได้อีก  หลายครั้งเกิดสถานการณ์ “Corner” หุ้น  มีคนต้องการซื้อมากกว่าคนที่จะขายมาก  หุ้นวิ่งขึ้นบางทีเป็นหลายเท่า  คนที่ซื้อและถือหุ้นไว้ต่างก็เชื่อมั่นว่าพื้นฐานของบริษัทเปลี่ยนและจะโตไปจน “เหนือจินตนาการ” บางทีอาจจะใหญ่ที่สุดในประเทศ  หุ้นเล็ก ๆ บางตัวที่ธุรกิจเดิมแทบไม่มีค่า  แต่พอไปทำ “ธุรกิจแห่งอนาคต” เช่นที่เกี่ยวกับเหรียญคริปโตอาจจะมีค่าเป็น “หลักหมื่นหรือแสนล้านบาท” ได้  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ “เซียนหุ้น” ระดับพระกาฬและ/หรือเจ้าของ  ต่างก็เข้ามากระหน่ำซื้อรัว ๆ สร้างความมั่นใจว่าหุ้นต้องไปแน่นอน

แต่สิ่งที่ต้องระวังก็คือ  การเติบโตที่คาดหวังนั้น  สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ  ข่าวสารเป็นแค่ Noise และแทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงธุรกิจหลักเดิมเลย  มันถูกทำหรือสร้างขึ้นเพื่อกระตุ้นราคาหุ้นเป็นหลัก  และเมื่อมันไม่เป็นจริงหรือไม่สำเร็จ  ราคาหุ้นก็ต้องกลับลงมาที่เดิม  ว่าที่จริงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับหุ้นแบบนี้เคยเกิดมาไม่นานแต่นักลงทุนก็ลืมไปแล้ว  และจากประสบการณ์ยาวนาน  ผมก็อยากจะบอกว่า  นักลงทุนนั้น  ความจำสั้นแต่ความโลภยาวนานและความเสียหายตลอดไป      


🇻🇳 สนใจสมัครคอร์ส / สัมมนา / VVI Membership คลิ๊กดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ https://class.vietnamvi.com/