โลกในมุมมองของ Value Investor 6 พฤษภาคม 66
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ผมคิดว่า “เส้นทางสู่ความมั่งคั่งในชีวิต” ของผมนั้น มาโดยความ “บังเอิญ” เป็นสิ่งที่ “ไม่ได้คาดคิด” มาก่อน เป็น “โชคดี” ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์และการกระทำหลาย ๆ อย่างในชีวิตต่อเนื่องมายาวนาน ถ้าจะใช้คำภาษาอังกฤษก็คือ เป็น “Serendipipity” ซึ่งแปลอย่างง่าย ๆ ว่า “โชคหรือสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นหรือค้นพบโดยไม่ได้คาดฝัน” คำ ๆ นี้มีที่มาจากเทพนิยายเรื่อง “The Three Princes of Serendip” หรือเจ้าชาย 3 องค์แห่งเซอรันดิป ซึ่งก็คือประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน โดยในเนื้อเรื่องหลักก็คือเจ้าชาย 3 องค์ชอบเดินทางผจญภัยไปเรื่อย ๆ และมักจะค้นพบสิ่งดี ๆ ที่ไม่ได้แสวงหาโดยบังเอิญอยู่เสมอ
ผมเคยเล่าเรื่องชีวิตของตนเองมาพอสมควรว่าตอนที่เริ่มต้นลงทุนอย่างจริงจังแบบ VI เมื่อประมาณเกือบ 30 ปีก่อนนั้น ผมไม่ได้คิดว่าตนเองจะรวย ผมคิดเพียงแต่ว่าจะ เอาตัวเองให้รอดและรักษาคุณภาพชีวิตของคนในครอบครัวให้ได้แบบเดิมที่เป็นแบบคนชั้นกลางค่อนข้างดีได้อย่างไรเมื่อตนเอง “ตกงาน” และเศรษฐกิจของประเทศกำลังล่มสลายในวิกฤติครั้งใหญ่ปี 2540
ในตอนนั้น ผมคิดว่าผมคงเอาตัวรอดได้ และลึก ๆ ก็คือ ผมตั้งเป้าหมายที่จะเป็น “ผู้นำของ VI ในประเทศไทย” แต่เรื่องของความมั่งคั่งหรือร่ำรวยนั้น ไม่ได้คิด แม้ว่าเมื่อลงทุนไปซักระยะหนึ่งก็รู้สึกว่า บางทีเราอาจจะมีเงินในระดับที่เรียกว่ามี “อิสระภาพทางการเงิน” อย่างสมบูรณ์ก่อนเกษียณที่อายุ 60 ปี
และ ก่อนตายหรือหมดความสามารถที่อายุ 80 ปี ผม “อาจ” จะมีเงินเป็นพันล้านบาทได้ ด้วยพลังของ “ผลตอบแทนทบต้น” ของการลงทุน อย่างไรก็ตาม เงินพันล้านบาทในอนาคตอีกประมาณเกือบ 40 ปี จะเรียกว่าเป็นคนรวยจริง ๆ ก็อาจจะไม่ได้ เพราะเงินเฟ้อคงบั่นทอนอำนาจซื้อลงไปมากจนอาจจะไม่ใช่คนรวยจริง ๆ อีกต่อไป
เวลาผ่านมาจนถึงวันนี้ผมคิดว่าผมโชคดีที่ตลาดหุ้นและโดยเฉพาะหุ้นแบบ VI ได้เติบโตขึ้นมากและทำให้ VI จำนวนมากซึ่งแน่นอนว่ารวมถึงตัวผมเองด้วย สามารถสร้างผลตอบแทนสุดยอด “เหนือจินตนาการ” เหนือกว่าตัวเลขผลตอบแทนของนักลงทุนระดับ “เซียนของโลก” หลาย ๆ คนที่ผมเคยศึกษามาในช่วงเวลาเดียวกัน ความมั่งคั่งจากผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของ VI ไทยในช่วงเวลาดังกล่าวที่ผมเรียกว่าเป็น “ทศวรรษทองของ VI” นั้น เพิ่มขึ้นจนทำให้ VI จำนวนมากรวมถึงที่มีอายุไม่มากเหมือนผม “รวยไปเลย”
ผมพยายามหาว่าอะไรทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้น? VI ไทยมีความสามารถหรือเก่งขนาดนั้นเลยหรือ? คำตอบที่คิดจากตนเองเป็นหลักก็คือ แน่นอนว่าความสามารถก็คงมีส่วน แต่สิ่งที่ทำให้ผลตอบแทนดีสุดยอดจริง ๆ ก็คือ “โชค” ที่ผมเรียกว่า Serendipity และโอกาสที่จะเกิดอีกครั้งในอีก 20 ปีข้างหน้านั้นคงมีน้อยมาก นักลงทุนที่หวังจะได้ผลตอบแทนทบต้นแบบนั้นอีกในอีก 20 หรือ 30 ปีข้างหน้าในตลาดหุ้นไทยคงจะเป็นไปไม่ได้ เมื่อคำนึงถึงว่าทศวรรษทองของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของไทยในยามที่คนไทยแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วนั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้อีกแล้ว
ถ้าเช่นนั้น เส้นทางสู่ความมั่งคั่งในชีวิตของนักลงทุน “รุ่นใหม่” ในวันนี้จะไปทางไหน? และคำแนะนำของผมสำหรับคนที่อยากจะรวยหรือมีความมั่งคั่งสูงในชีวิตจะเป็นอย่างไร?
คำตอบของผมก็มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเอง นั่นก็คือการมองย้อนอดีตที่ผมรวยขึ้นมาว่าผมทำอะไรมาบ้างเริ่มตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรี ถึงตอนนี้ผมมองเห็นชัดขึ้น เพราะผมคิดย้อนหลังและมักจะเขียนมันออกมาผ่านบทความและการให้สัมภาษณ์ตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา
ประเด็นแรกก็คือ ถ้าเราอยากจะรวย เราจะต้องรู้ “กฎของความมั่งคั่ง” ถ้าเราไม่ได้ปฏิบัติตามกฎ โอกาสที่เราจะรวยหรือมีความมั่งคั่งสูงก็จะต่ำ แน่นอนว่ามีคนรวยได้เหมือนกันทั้ง ๆ ที่ปฏิบัติผิดกฎ ตัวอย่างเช่น คนที่ซื้อลอตเตอรี่แล้วถูกรางวัลใหญ่ อย่างไรก็ตาม ถ้าเราปฏิบัติถูกกฎ โอกาสที่จะรวยนั้นก็อาจจะสูงมาก บางคนถ้ามีปัจจัยแห่งความสำเร็จเพียงพอบางอย่าง เช่น เรียนเก่งและเรียนจบเป็นแพทย์เฉพาะทาง การที่เขาจะมีความมั่งคั่งระดับพันล้านบาทในชีวิตนั้น แทบจะการันตีถ้าเขาปฏิบัติตามกฎแห่งความมั่งคั่ง
กฎแห่งความมั่งคั่งก็คือ เรื่องที่ผมอุปมาเปรียบเทียบกับตะเกียงวิเศษ 3 ดวง ที่ถูกเปิดพร้อมกันและมีความสว่างไสวมากซึ่งก็คือมีความมั่งคั่งสูงมาก โดยที่ตะเกียงดวงแรกก็คือเงินที่เกิดจากน้ำพักน้ำแรงและถูกเก็บออมไว้หรือเงินที่ได้รับโดยเสน่หาหรือเงินมรดก วิธีที่จะเพิ่มเงินส่วนนี้ให้มากก็คือ ต้องเป็นคนประหยัดใช้จ่ายแต่จำเป็น นอกจากนั้น ถ้ายังรู้สึกว่าเงินก้อนนี้เพิ่มขึ้นไม่ทันใจเพราะรายได้หรือเงินเดือนไม่สูงอย่างอาชีพหมอหรือเป็นงานแบบผู้บริหารหรือผู้เชี่ยวชาญ เราก็อาจจะที่ต้องเลื่อนรายจ่ายใหญ่ที่ “จำเป็น” เช่น การซื้อบ้านและรถยนต์ออกไปด้วย และนั่นก็คือสิ่งที่ผมทำ ว่าที่จริงผมเองเพิ่งจะมีรถยนต์ของตนเองเมื่อเกษียณตอนอายุ 52 ปีไปแล้ว และมีบ้านของตนเองจริง ๆ หลังจากนั้นอีก 3-4 ปี
ผมเองคิดว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ผมรวยนั้น มาจากการเป็นคนประหยัดเก็บเงิน ถ้าผมไม่ได้ทำอย่างนั้น ผมไม่รวยแน่ และก็คงต้องทำงานไปจนเกษียณ อาจจะอายุ 65 ปี และผมคิดว่านี่คือเส้นทางที่คนส่วนใหญ่ที่อยากรวยแต่พ่อแม่ไม่รวยควรจะเลือกเดิน นั่นก็คือ ทำงานหนักทำงานฉลาดและเก็บออมสูง แม้แต่สิ่งสำคัญอย่างบ้านและรถยนต์ถ้าเลี่ยงได้ก็อย่าเพิ่งรีบซื้อ
ตะเกียงดวงที่ 2 คือ การลงทุนเงินที่เก็บออมได้ในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงโดยธรรมชาติ นั่นก็คือหุ้น อาจจะทั้งในตลาดหลักทรัพย์หรืออาจจะเป็นบริษัทธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นโดยที่ตนเองมีความสามารถที่จะบริหารได้โดยที่ความเสี่ยงที่จะล้มเหลวน้อย ตัวอย่างอาจจะเป็นการเปิดคลีนิคพิเศษที่ตนเองเป็นผู้เชี่ยวชาญในโรคบางอย่าง เป็นต้น
แต่ถ้าไม่มีจุดแข็งอะไรเป็นพิเศษ การเลือกลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะเรายังสามารถทำเงินเพิ่มความสว่างของตะเกียงดวงที่ 1 ที่จะไม่ริบหรี่ลง แต่มักจะสว่างขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามอายุงานและความเชี่ยวชาญที่เพิ่มขึ้น
สิ่งสำคัญถ้าจะเลือกเป็นนักลงทุนในตลาดหุ้นก็คือการเลือกว่าเราจะลงทุนในตลาดไหนและด้วยกลยุทธ์อย่างไร? เพราะในระยะยาวแล้ว ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มักจะขึ้นอยู่กับว่าประเทศที่ตลาดตั้งอยู่จะเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น ตลาดหุ้นอเมริกานั้น เนื่องจากเศรษฐกิจเติบโตมาตลอดและมีขนาดใหญ่มาก การลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐที่ผ่านมาเป็นร้อยปีจึงให้ผลตอบแทนที่ “ดีสุดยอด” ญี่ปุ่นเองก็เคยเจริญเติบโตเร็วมากตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงประมาณ ปี 1989 แต่ถ้าใครเข้าไปลงทุนตั้งแต่ปี 1990 เขาอาจจะไม่ได้ผลตอบแทนอะไรเลยจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 30 ปี เพราะเศรษฐกิจแทบจะหยุดโตไปแล้ว
ถ้าคิดว่าเรามีความรู้และความสามารถในการเลือกหุ้นลงทุนเอง อาจจะเป็นแบบ VI และไม่ต้องการความเสี่ยงสูงเกินไปโดยการกระจายความเสี่ยงในหุ้นอย่างน้อยซัก 10 ตัวขึ้นไป ผลตอบแทนที่ได้ก็อาจจะเพิ่มขึ้นจากประมาณปีละ 9% จากการลงทุนในกองทุนรวม เป็นปีละ 12% แบบทบต้น นี่ก็จะทำให้เส้นทางแห่งความมั่งคั่งของเราสูงขึ้นแบบทวีคูณในระยะยาว เช่น แทนที่จะมีเงิน 100 ล้านก็อาจจะเป็น 1,000 ล้านบาทในวันที่เราตาย แต่การได้ผลตอบแทนปีละ 12% นั้นก็ไม่ใช่เรื่องงาน เพราะนั่นก็เป็นผลตอบแทนใน “ระดับโลก” เหมือนกัน
สุดท้ายก็คือตะเกียงดวงที่ 3 เรื่องระยะเวลาในการลงทุนต่อเนื่อง ยิ่งยาวก็จะยิ่งรวย ว่าที่จริง ความมั่งคั่งส่วนใหญ่ที่สุดนั้น มักไม่ใช่เรื่องของเงินต้นหรือผลตอบแทนการลงทุน แต่เป็นระยะเวลาการลงทุน ถ้าเรามีความมุ่งมั่นและศรัทธา ไม่รีบถอนเงินมาใช้และมีสุขภาพที่ดีอายุยืน ความมั่งคั่งก็จะมาเองแทบจะอัตโนมัติ คนอาจจะตกใจว่าวอเร็น บัฟเฟตต์ ตอนอายุ 60 ปีนั้น มีเงินแค่ไม่เกิน 5% ของความมั่งคั่งของเขาในวันนี้ที่เขามีอายุถึง 92 ปี
แผนหรือกลยุทธ์สู่ความมั่งคั่งดังกล่าวนั้น ถ้านำไปคำนวณตามโปรแกรมของนักบริหารการเงิน ก็แทบจะบอกได้เลยว่าสุดท้ายแล้วเราจะมีความมั่งคั่งเป็นเท่าไร โดยที่ความผิดพลาดก็อาจจะไม่สูงมาก โอกาสที่อย่างไรเราก็เอาตัวรอดได้นั้นน่าจะค่อนข้างสูง ในอีกด้านหนึ่ง ถ้าเราโชคดี เกิด “Serendipity” ในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิตอย่างที่ VI จำนวนมากได้ประสบในช่วงกว่า 10-20 ปีที่ผ่านมา เราก็อาจจะรวยไปเลย