โลกในมุมมองของ Value Investor ตุลาคม 2566

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

การลงทุนแบบ “Passive” หรือลงทุนซื้อหุ้นโดยไม่ต้องเลือกหุ้นเป็นรายตัว  แต่อาศัยดัชนีหุ้นหรือเงื่อนไขบางอย่างเป็นตัวกำหนดในการซื้อหุ้น  ซื้อแล้วก็ถือพอร์ตการลงทุนนั้นไว้ยาวนานโดยที่อาจจะมีการปรับจำนวนหุ้นบ้างตามระยะเวลาและตามเกณฑ์ที่กำหนด  การทำแบบนี้มีข้อดีคือไม่ต้องใช้เวลาหรือความสามารถในการวิเคราะห์เลือกหุ้น  ทำให้ต้นทุนของการลงทุนลดลง  นอกจากนั้นก็มักจะช่วยลดความเสี่ยงเพราะมีการกระจายการลงทุนออกไปในหุ้นหลาย ๆ  ตัว  ตัวอย่างของการลงทุนแบบ Passive ชัดเจนก็เช่นการลงทุนในกองทุนรวมอิงดัชนีตลาด  เช่น  ลงทุนใน SET50 หรือดัชนีที่รวมหุ้นใหญ่ที่สุด 50 ตัวในตลาดหลักทรัพย์ไทย หรือลงทุนในดัชนี S&P500 ในตลาดหุ้นสหรัฐ  เป็นต้น

สถิติการลงทุนระยะยาวในดัชนีตลาดหุ้นหลัก ๆ ของประเทศนั้น  ดูเหมือนจะดีกว่าการลงทุนแบบที่มีคนหรือ “ผู้เชี่ยวชาญ” เป็นผู้เลือกซื้อ-ขายหุ้น  อานิสงค์ส่วนหนึ่งเพราะว่าต้นทุนในการจ้าง  “เซียนหุ้น” มาบริหารนั้นค่อนข้างจะแพง  เช่น  ปีละ 2-3% ของมูลค่าหุ้นในพอร์ตในแต่ละปี  เป็นต้น  นอกจากนั้นแล้วก็ยังดูเหมือนว่าคนเลือกหุ้นนั้น  ไม่ได้เป็นเซียนจริง  ทำผลการลงทุนแพ้ “ค่าเฉลี่ย” ซึ่งก็คือตัวดัชนีตลาดหุ้นนั่นเอง

VI และนักลงทุนส่วนบุคคลจำนวนมากนั้น  มีความเชื่อว่าตนเองมีความสามารถและมีความยืดหยุ่นและกล้าเสี่ยงกว่านักลงทุนสถาบันที่เป็นมืออาชีพ ดังนั้น  เราจึงมักลงทุนเลือกหุ้นเองเป็นรายตัว  เรากล้าที่จะลงทุนในหุ้นไม่กี่ตัว เช่น  ตัวหลัก ๆ  เพียง 5-6 ตัว  ที่เราคิดว่าทำให้พอร์ตมีการกระจายหุ้นเพียงพอและไม่เสี่ยงเกินไป  ในขณะที่ผลตอบแทนของเราก็จะเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญได้

ในกลุ่มของคนที่เป็นนักเลือกหุ้นลงทุนเองนั้น  ถ้าจะมีกลุ่มหนึ่งที่แตกต่างจากกลุ่มอื่นค่อนข้างมากนั้น  ผมคิดว่าคือคนที่  “ลงทุนระยะยาวมาก” อย่างวอเร็น บัฟเฟตต์  และตัวผมเองที่ยึดถือหลักการของเขา  ที่ซื้อหุ้นแล้วแทบจะไม่ขายหุ้นเลย  กล่าวคือ  เลือกหุ้นแนว “ซุปเปอร์สต็อก” ที่มีความเข้มแข็งทางธุรกิจเพราะมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนและเป็นธุรกิจที่จะเติบโตต่อเนื่องไปยาวนาน  ดังนั้น  พวกเขาจึงมีการเลือกหุ้นลงทุนจำนวนน้อยตัวมาก  พอร์ตของบัฟเฟตต์ที่มีมูลค่าเป็นหลายล้าน ๆ  บาทนั้น  มีหุ้นนับตัวได้  บัฟเฟตต์เองก็เคยบอกเป็นนัยว่า  นักลงทุนส่วนบุคคลนั้น  ในชั่วชีวิตเลือกหุ้นลงทุนแค่ 20-30 ตัว ก็พอที่จะเปลี่ยนชีวิตแล้ว

ประสบการณ์ของผมเองนั้นพบว่า  ถ้าลงทุนแล้วเลือกหุ้นแบบ “ซุปเปอร์สต็อก” ซัก 10 ตัวซื้อแล้วถือไว้ยาวนานเป็น 10 ปี และเลือกได้ “ถูกตัว” ซัก 2-3 ตัว  ผลตอบแทนก็ยอดเยี่ยมและอาจจะเปลี่ยนชีวิตได้เลยโดยที่เรา  “แทบจะไม่ต้องทำอะไรเลย” และอาจจะเรียกวิธีการลงทุนแบบนี้ว่าเป็นแนว  “กึ่ง Passive” ซึ่งมีการซื้อ-ขายหุ้นน้อยมาก  ส่วนตัวผมเองนั้นพบว่า  บางปีก็ไม่ได้ทำอะไรเลย  ส่วนใหญ่แล้วก็มีการซื้อขายหุ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับมูลค่ารวมของพอร์ต  จะมีการซื้อขายหุ้นมากหน่อยก็ในปีที่  “สร้างพอร์ตใหม่” โดยเฉพาะในตลาดหุ้นใหม่เช่น ที่ตลาดเวียตนาม  เป็นต้น

การถือหุ้นที่เลือกสรรไว้แล้ว  ถือยาวนานไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าสถานการณ์ตลาดจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา  เป็นแนว Passive หรือแนว  กึ่ง Passive ดังกล่าวนั้น ผมคิดว่าได้รับความสนใจมากขึ้นมาก   อาจจะเนื่องจากว่ามันให้ผลตอบแทนดีกว่าวิธีการลงทุนเลือกหุ้นเองแบบ “Active” หรือแบบซื้อ ๆ  ขาย ๆ  หุ้นบ่อยที่ต้องเสียค่าคอมมิชชั่นสูงสำหรับบุคคลธรรมดา

นอกจากนั้น  จังหะการเข้า-ออก ในการซื้อ-ขายหุ้นก็มีโอกาสที่จะผิดพลาด 50-50 ซึ่งทำให้ไม่มีประโยชน์ที่จะทำ  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ในตลาดหุ้นปัจจุบันนั้น  ดูเหมือนว่าจะมีการซื้อ-ขายหุ้นด้วยหุ่นยนต์หรือ “Robot Trade” มากขึ้นทุกที  ซึ่งพวกเขาก็จะได้เปรียบทั้งในเรื่องความเร็วและต้นทุนของการซื้อ-ขายที่สามารถเอาชนะคนเทรดได้มากกว่า

ผมคงไม่พูดถึงการลงทุนแบบ Passive เต็มที่เนื่องจากว่ามีการพูดถึงมากแล้ว  แต่เรื่องการลงทุนแนว  “กึ่ง Passive” นั้น  ผมคิดว่ากำลังมีมากขึ้น  ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ  กองทุนที่ลงทุนในหุ้นเท็คยักษ์ใหญ่ของโลก 10 ตัว “Mega Ten”  หรืออาจจะ 7 ตัวที่เรียกกันว่า  “Magnificent 7” ที่เน้นลงทุนใน “หุ้นสุดยอด 7 ตัว” ซึ่งรวมถึงหุ้นอย่างแอปเปิล กูเกิล และไมโครซอฟท์  เป็นต้น

ในตลาดหุ้นเวียตนามเอง  ก็มีกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นที่ต่างชาติซื้อได้ยากหรือแพงและมี “Foreign Premium” คือต้องซื้อด้วยราคาที่สูงกว่าราคาตลาดจำนวนประมาณสิบกว่าตัวที่เรียกว่า “กองทุนไดมอนด์” ซึ่งทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถซื้อหุ้นเหล่านั้นได้ด้วยราคาปกติ  และก็ซื้อทุกตัว  ซึ่งก็คล้าย ๆ  กับการลงทุนในหุ้นที่ดีในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศที่เน้นการลงทุนใน “หุ้นพื้นฐาน” ที่ยังมีราคาถูกของเวียตนามก่อนที่ตลาดเวียตนามจะปรับขึ้นเป็น “ตลาดเกิดใหม่” จากที่เป็น “ตลาดชายขอบ” ในปัจจุบัน

ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด  กองทุนกึ่ง Passive ดังกล่าวทำผลตอบแทนได้ดีมากเมื่อเทียบกับการลงทุนอื่นในช่วงเวลาเดียวกันแม้ว่าช่วงเวลาจะยังไม่ยาวนัก  และก็อาจจะยังไม่ใช่เป็นข้อพิสูจน์ว่านี่คือกลยุทธ์ที่ดีจริง ๆ  อย่างไรก็ตาม  ผมเชื่อว่าคนที่ “ซื้อไอเดีย” เรื่องการลงทุนแบบนี้น่าจะยังเติบโตต่อไป  คนที่ลงทุนเองก็อาจจะรู้สึกสนุกและตื่นเต้นกว่าการลงทุนในกองทุนอิงดัชนีที่มักจะให้ผลตอบแทนดีเช่นเดียวกัน  แต่มักจะไม่ค่อยมี  “แจ็คพ็อต” หรือช่วงเวลาที่ดีเยี่ยม  แม้ว่าบางครั้งก็อาจจะเจ็บหนักกว่าเหมือนกัน

ถ้าสมมุติว่าเมื่อ 20 ปีก่อน คือเมื่อสิ้นสุดปี 2545 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยฟื้นจาก “วิกฤติต้มยำกุ้ง” อย่างสมบูรณ์แล้ว  เศรษฐกิจกลับมาโตถึง 6% ต่อปี และดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น 17% ค่า PE ของตลาดอยู่ที่ 7-8 เท่า และเราตัดสินใจลงทุนในตลาดหุ้นเพราะเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะยังเติบโตขึ้นอีกมาก  อย่างไรก็ตาม  เราแทบไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเลือกหุ้นเลย  แต่เราก็เห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศมีความแข็งแกร่งและมั่นคงมาก  พวกเขาจะต้องเป็นผู้นำและเติบโตตามการเติบโตของประเทศ  ซึ่งจะใหญ่ขึ้นอีกมาก

เราตัดสินใจซื้อหุ้นใหญ่ที่สุด 10 ตัวในวันนั้นและก็ถือยาวมาจนถึงวันนี้โดยไม่ขายเลย  และเมื่อได้ปันผลมาก็ซื้อหุ้นตัวเดิมเพิ่มมาตลอด  เริ่มต้นโดยการซื้อหุ้นตัวละ 1 ล้านบาทคิดเป็นพอร์ตหุ้น 10 ล้านบาท

หุ้นตัวใหญ่ที่สุดในตลาดในวันนั้นคือหุ้นปูนซีเมนต์ไทยหรือ SCC มีมูลค่าเพียง 144,640 ล้านบาท ถึงวันนี้ตกลงไปเป็นอันดับ 9 มีมูลค่าประมาณ 360,000 ล้านบาท  มูลค่าหุ้น SCC จาก 1 ล้านบาทของเรา  จะเพิ่มขึ้นมาเป็นประมาณ  4.48 ล้านบาท

หุ้นอันดับ 2 คือ PTT ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นหุ้นใหญ่อันดับ 3 ในตลาดหุ้นจะเติบโตขึ้นจาก 1  ล้านบาทเป็นประมาณ 14.16 ล้านบาท  หุ้นอันดับ 3 คือ AIS จาก 1 ล้านบาทเป็น  11.23 ล้านบาท  หุ้น PTTEP จาก 1 เป็น 12.71 ล้านบาท 

หุ้นธนาคารกรุงไทยหรือ KTB ซึ่งปัจจุบันไม่อยู่ใน 10 อันดับแล้ว  จาก 1 ล้านบาทเป็น  6.54 ล้านบาท  หุ้นธนาคารกรุงเทพหรือ BBL จาก 1 ล้านเป็น 7.9 ล้านบาท หุ้น ธนาคารกสิกรไทยหรือ KBANK จาก 1 เป็น 8.75 ล้านบาท 

หุ้นปูนกลาง SCCC จาก 1 ล้านบาทก็คงเท่าเดิมที่ 1 ล้านบาท  หุ้นแลนด์แอนด์เฮ้าส์  LH จาก 1 เป็น 4.1 ล้านบาท  และสุดท้ายก็คืออันดับ 10 หุ้นการบินไทย THAI ที่น่าจะกลายเป็น 0 บาท

รวมแล้วพอร์ตหุ้น 10 ล้านบาทที่ถือหุ้นใหญ่ที่สุด 10 ตัวในตลาดหุ้นไทยเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้วมีค่าประมาณ 70.87 หรือประมาณ 70 ล้านบาท  คิดเป็นผลตอบแทนแบบทบต้น 9.9% ต่อปี โดยที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นจาก 356.5 จุดเป็น  1,451 จุด คิดเป็นผลตอบแทน 7% เมื่อรวมปันผลประมาณเกือบ 3% ก็เท่ากับเกือบ 10% ต่อปี แบบทบต้น  เท่า ๆ  กับผลตอบแทนของพอร์ตพอดี อย่างไรก็ตาม  ถ้าลงทุนในกองทุนอิงดัชนีก็ยังต้องเสียค่าบริหารและการจัดการซึ่งทำให้ผลตอบแทนลดลง  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ในช่วงปี 2545 ผมคิดว่าเรายังไม่มีกองทุนรวมอิงดัชนีด้วยซ้ำ

ข้อสรุปของผมก็คือ  การลงทุนด้วยตนเองแบบ “กึ่ง Passive” หรือจะเรียกว่า  “กึ่ง Active” ก็ได้ นั้น  มีความน่าสนใจ  สิ่งสำคัญก็คือ  คงต้องเลือกว่าจะทำแบบไหน  การลงทุนในหุ้น “ตัวใหญ่ที่สุด 10 ตัว” ในตลาดหุ้นที่ “กำลังโต” เป็นเพียงแนวทางหนึ่ง  ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร  การเลือกให้ถูกต้องเป็นสิ่งที่สำคัญมาก  ในกรณีของตลาดหุ้นไทยนั้น  ภายในเวลา 20 ปี  หุ้นก็ยังอยู่ใน “Top Ten” ถึง 4 ตัว แสดงให้เห็นว่าหุ้นยักษ์ของไทยนั้นมีความสามารถและอยู่ได้ยาวมาก  อย่างไรก็ตาม  อนาคตก็จะต้องดูว่าจะเป็นอย่างไร บางทีการเข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามที่  “กำลังโต” อาจจะให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าก็ได้


VVI Membership

ดูรายละเอียดและสมัครได้ที่https://class.vietnamvi.com/

หรือ ติดตามเราได้ที่

– Line :@vietnamvi คลิกhttps://lin.ee/Jy9n680

– website: https://www.vietnamvi.com

– facebook:  https://www.facebook.com/vvinvestor

– Youtube:http://youtube.com/c/vietnamvi

– E-mail:info@vietnamvi.com


———

🇻🇳 VVI Membership ดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ https://class.vietnamvi.com