โลกในมุมมองของ Value Investor 2 ธันวาคม 2566
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
คำพังเพย “ฟ้าหลังฝน” นั้น ผมคิดว่าน่าจะตรงกับสถานการณ์ตลาดหุ้นไทยปีหน้าที่ผมคิดว่าน่าจะดีงามขึ้นหลังจากที่ประสบกับปัญหาใหญ่ที่หุ้นตกแรง “ที่สุดในโลก” ในปีนี้ที่ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2566 หุ้นตกลงมาจากปลายปีที่แล้วจาก 1669 จุดเหลือเพียง 1380 จุด หรือลดลงถึงกว่า 17% หลังจากที่ปี 2565 ตลาดหุ้นไทยก็แทบไม่ขยับเลยจากปี 2564 หรือผลตอบแทนประมาณ 0%
ประสบการณ์ของผมกับตลาดหุ้นไทยในช่วงประมาณ 27 ปี ก็คือ ดัชนีตลาดหุ้นไทยมักจะขึ้นประมาณ 60% ของปี และลงประมาณ 40% ซึ่งทำให้การลงทุนในแต่ละปีมีความเสี่ยงค่อนข้างสูง ในขณะที่ตลาดหุ้นอย่างสหรัฐนั้น ผมคิดว่าปีที่หุ้นขึ้นน่าจะอย่างน้อย 70% ขึ้นไป ในขณะที่ปีที่หุ้นลงน่าจะไม่เกิน 30%
พฤติกรรมอีกอย่างหนึ่งของตลาดหุ้นไทยก็คือ ถ้าปีไหนตลาดหุ้นไทยขึ้นแรงมาก ปีต่อไปตลาดก็มักจะตกลงมาแรง ตัวอย่างก็เช่น ปี 2542 ดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นไป 36% แต่พอถึงปี 2543 ตลาดก็ตกลงไป 44% จริงอยู่คนอาจจะบอกว่าปี 2543 หรือปี 2000 เป็นปีที่เกิดวิกฤติหุ้นไฮเทคของสหรัฐ แต่หุ้นในดัชนีหลัก ๆ ที่ไม่ใช่ไฮเทคก็ไม่ได้ตกมากนัก ดังนั้น คงเป็นเรื่องทาง “เทคนิค” ที่ดัชนีต้องปรับตัวลงมาหลังจากที่ขึ้นไปแรงมากกว่า
เช่นเดียวกัน ปี 2546 ดัชนีตลาดหุ้นปรับขึ้นไปปีเดียวถึง 117% ซึ่งสูงที่สุดในยุคหลังวิกฤติปี 2540 จนถึงวันนี้ แต่แล้ว ปี 2547 ที่ตามมา ดัชนีก็ปรับตัวลง 14% ต่อมาในปี 2550 ดัชนีหุ้นก็ขึ้นไปแรงที่บวก 26% ซึ่งก็ตามมาด้วยการปรับตัวลงในปี 2551 ที่ 48% อานิสงค์จากวิกฤติซับไพร์มปี 2008
ในทางตรงกันข้าม หลังจากปีที่ตกไปแรง หรืออาจจะรวม 2 ปีที่ตกไปแรง ปีต่อไป ดัชนีก็มักจะปรับตัวขึ้นแรงที่เป็นเสมือนการ “ชดเชย” ดัชนีที่ตกลงมา ตัวอย่างเช่น ในปี 2540 และ2541 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่ดัชนีตกลงมา 53% และ 5% ตามลำดับ ปี 2542 ก็ได้เห็นดัชนีตลาดปรับตัวขึ้นถึง 36%
ปี 2543 ที่ดัชนีลดลง 44% ก็ตามมาด้วยปี 2544 ที่ดัชนีปรับเพิ่มขึ้น 13% และตามด้วย 17% และ 117% ในปี 2545 และ 2546 ตามลำดับ มาถึงปี 2551 ที่ดัชนีปรับลดลงถึง 48% เนื่องจากเกิดวิกฤติซับไพร์มก็ตามมาด้วยการปรับตัวขึ้นถึง 63% ในปี 2552
ตั้งแต่ปี 2556 หรือประมาณ 10 ปีมาแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทยก็เริ่ม “เปลี่ยนพฤติกรรม” จากตลาดหุ้นที่มีความผันผวนแรง เป็นตลาดที่มีความผันผวนต่ำ คือปีที่ขึ้นก็ไม่แรงและปีที่ลงก็ไม่มากเหมือนในอดีต คือขึ้นก็ประมาณไม่เกิน 15% ลงก็มักจะไม่เกิน 10% อะไรทำนองนั้น เมื่อเปรียบกับอดีตที่มักขึ้นลง 20-30% ถ้าจะเปรียบเทียบก็คงคล้ายๆ คนหนุ่มสาวที่เริ่มแก่ตัวลงมาอย่างกระทันหัน เวลาเต้นรำก็ไม่สวิงเหมือนเดิม
ปี 2558 ดัชนีตลาดหุ้นตกลงมา “แรง” ที่ 14% ก็ตามมาด้วยการปรับตัวขึ้น 20% ในปี 2559 ปี 2563 หุ้นตกลงมา “แรง” ที่ 8% ก็ตามมาด้วยการปรับตัวขึ้นในปี 2564 ที่ 14%
และถ้าปี 2566 ดัชนีหุ้นตกลงมาแรง เช่น 17% ถ้าหุ้นไม่ตกต่อไปนับจากวันนี้ หุ้นในปีหน้าคือปี 2567 ก็มีโอกาสที่จะดีขึ้นหลังจากที่หุ้น “แย่มานาน” เพราะในปี 2565 เองนั้น หุ้นก็แทบไม่ได้ให้ผลตอบแทนเลย หรือพูดง่ายๆ หุ้นแย่มา 2 ปีแล้ว ถึงเวลาที่หุ้นจะดีขึ้นหรือเปรียบเป็น“ฟ้าหลังฝน”
ทั้งหมดนั้นก็เป็นการทำนายหุ้น “แนวเทคนิค” ที่แทบไม่มีวิชาการรองรับอะไรเลย ดังนั้น ผมจึงต้องหันมาดูว่าปัจจัยทางด้านพื้นฐานอะไรที่จะทำให้ดัชนีปีหน้าดีขึ้น ซึ่งก็จะเป็นตัวขับดันราคาหุ้นให้ขึ้นไปได้แรงพอ
ตัวแรกก็คือ ภาวะเศรษฐกิจ ที่มีการคาดการณ์ว่าจะดีขึ้น อานิสงค์จากการท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น การส่งออกที่จะดีขึ้น ซึ่งทั้งสองเรื่องก็ดูเหมือนมีแนวโน้มดีขึ้นเร็ว ๆ นี้แล้ว ในส่วนของการบริโภคเองนั้น เงินกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนกว่า 500,000 ล้านบาท ก็มีโอกาสผ่านสภาในช่วงกลางปีหน้า และถ้าไม่สำเร็จ รัฐบาลก็คงต้องหาทางใหม่ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่ดี เพราะได้หาเสียงไว้แล้ว ถ้าไม่ทำก็จะเสียความนิยม ดังนั้น ปัจจัยตัวนี้มีโอกาสเกิดขึ้นมากพอสมควร
ตัวที่สองก็คือเรื่องดอกเบี้ย ซึ่งที่ค่อนข้างแน่ก็คือ คงไม่เพิ่มขึ้นอีก แม้ว่าโอกาสที่จะปรับลดลงยังไม่แน่นอน อย่างไรก็ตาม ก็อาจจะมีโอกาสบ้างเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนจนไม่น่าจะมีปัญหาสำหรับประเทศไทย ประเด็นนี้ผมคิดว่าถ้าอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของอเมริกาลดลง ของไทยก็จะต้องลดลงตามแน่
กำไรของบริษัทจดทะเบียนในปี 2566 มีการปรับตัวลดลงจากปี 2565 แต่การคาดการณ์ส่วนใหญ่ก็ดูว่า กำไรของบริษัทจดทะเบียนในปี 2567 น่าจะดีขึ้นพอสมควร อย่างน้อยก็น่าจะกลับไปเท่ากับปี 2565 ซึ่งนี่ก็จะช่วยทำให้ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นได้
ค่า PE ของตลาดหลักทรัพย์ในวันนี้ที่ประมาณ 17-18 เท่าเองนั้น ถึงจะไม่ต่ำหรือแสดงว่าหุ้นถูก แต่ก็ไม่ได้สูงกว่าปกติ ดังนั้น นี่คือปัจจัยที่เป็นกลาง ไม่ได้ส่งเสริมหรือเป็นอุปสรรคที่จะช่วยขับดันตลาดหุ้น
และสุดท้ายก็คือ เรื่องของการขายหุ้นสุทธิของนักลงทุนต่างชาติซึ่งก็เป็นประเด็นที่กดดันดัชนีหุ้นไทยมาตลอด และปี 2566 ก็เป็นปีที่มีการหุ้นจากต่างชาติสูงมาก อาจจะเป็นระดับสองแสนล้านบาท ซึ่งก็คงมีส่วนสำคัญที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยตกลงมารุนแรง อย่างไรก็ตาม ปี 2567 ก็อาจจะเป็นช่วงที่เพลาการขายลงได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น หุ้นไทยก็อาจจะมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้แม้ว่ายังมีการขายสุทธิอยู่
โดยรวมแล้ว ถ้าหุ้นจะปรับตัวขึ้นในปีหน้าก็มีความเป็นไปได้มองจากปัจจัยทางด้านพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม หลายปัจจัยที่กล่าวถึงก็ยังมีความไม่แน่นอนพอสมควร เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ในยามที่ประเทศ “แก่ตัวลง” อย่างรวดเร็ว การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจบ่อยครั้งก็มักจะพลาดเป้าในทางที่ลดลง ซึ่งสิ่งนี้เราก็พบเห็นบ่อย ๆ ในระยะหลัง ผมเองยังจำได้ว่าในช่วงที่ประเทศไทยมีพลเมืองที่เติบโตเป็นกำลังแรงงานเพิ่มขึ้นและอายุของประชากรยังไม่สูงอย่างทุกวันนี้ เรามักจะพบว่าการเติบโตของ GDP และตัวเลขอื่น ๆ ทางเศรษฐกิจ “สูงกว่าเป้าหมาย” และนี่ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเวียตนามในช่วงนี้เช่นกัน ที่ตัวเลขจริงมักจะสูงกว่าเป้าหมาย
ไม่มีใครบอกได้แน่นอนว่าหุ้นในปี 2567 จะต้องดีขึ้น แต่ผมเองก็ยังคงไม่ถอนหุ้นออกไปในยามนี้แน่นอน ในยามที่ฝนยังกระหน่ำอย่างรุนแรงและฟ้ามืดมิดจนแทบไม่เห็นแสงตะวัน แต่สิ่งที่เรารู้ก็คือ ยังไงฝนก็จะต้องหยุด และฟ้าก็จะกลับมาสดใสแน่นอน
ผมมีความหวัง และก็เชื่อว่านักลงทุนส่วนใหญ่ก็ยังมีความหวัง ว่าประเทศกำลังจะเปลี่ยนไปสู่บทใหม่หลังจากที่เรา “ติดหล่ม” มาไม่น้อยกว่า 10 ปีแล้ว แต่นอกจากความหวังแล้ว เราคงต้องอาศัย “โชค” โดยเฉพาะในยามที่ประเทศกำลังจะเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่ที่เราเองก็อาจจะไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร คำว่า “โชคดี” สำหรับผมแล้ว เป็นเรื่องที่สำคัญมากไม่แพ้ความพยายามทั้งหมดที่ลงไป พูดตามจริง ผมได้ดีมาทุกวันนี้ก็อาศัยคำว่า “โชคดี” มาตลอด ความพยายามทั้งหมดของผมนั้น ดูเหมือนว่าจะทำเพื่อเตรียมพร้อมเมื่อ “โชค” หรือ “โอกาส” ผ่านเข้ามาเท่านั้น ช่วยกันภาวนาให้ประเทศไทยและตลาดหุ้นครับ
VVI Membership
ดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ https://class.vietnamvi.com/
หรือ ติดตามเราได้ที่
– Line :@vietnamvi คลิ๊ก https://lin.ee/Jy9n680
– Website: https://www.vietnamvi.com
– Facebook: https://www.facebook.com/vvinvestor
– Youtube:http://youtube.com/c/vietnamvi
– E-mail: info@vietnamvi.com