Big VS Little Dragon

0
1299

โลกในมุมมองของ Value Investor 20 มกราคม 2567

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ในช่วงนี้ผมเริ่มมองหาการลงทุนแบบ “Semi-Active” ที่จะลงทุนแบบเลือกตลาดหุ้นและหุ้นหรือกลุ่มหุ้นที่จะลงทุนแล้วสามารถถือหุ้นไปได้ยาวนานเป็นปี ๆ  และจะปรับเปลี่ยนต่อเมื่อเห็นว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ในตอนนั้นที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากแนวคิดเดิมอย่างชัดเจนแล้ว

และประเทศหรือตลาดหุ้นที่ผมกำลังพิจารณาอยู่มี 2 แห่ง  นั่นก็คือ  จีนที่ตลาดหุ้นฮ่องกง  และตลาดหุ้นเวียดนาม  เหตุผลใหญ่อยู่ที่ขนาดของประเทศและเศรษฐกิจที่คึกคักและแข่งขันได้ในระดับโลกและอยู่ได้ในระยะยาว  เพราะคุณภาพของประชากรที่โดดเด่น

ตลาดหุ้นจีนนั้น  มีจุดเด่นมากก็คือ  ดัชนีหุ้นตกต่ำต่อเนื่องมานานและราคาหุ้นถูกมาก  ดัชนีฮั่งเส็งวันศุกร์ที่ 19 มกราคม 67 อยู่ที่ 15,309  จุด และต่ำกว่าจุดสูงสุดที่ 32,887 จุดที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2018 หรือ 6 ปีมาแล้วถึง 53%  นอกจากนั้น  ยังเป็นจุดที่ต่ำกว่าดัชนีเมื่อ 23 ปีมาแล้ว  พูดง่าย ๆ  คนที่เข้าไปลงทุนในตลาดหุ้นฮ่องกงในช่วงปลายปี 2000 และถือมาจนถึงวันนี้แทบจะไม่ได้ผลตอบแทนอะไรเลย  ยิ่งไปกว่านั้น  ปีที่แล้วดัชนีติดลบไป  “มากที่สุดในโลก” กว่า 20% และนับจากต้นปีนี้ก็ติดลบไปอีก 9% แล้ว

ตลาดหุ้นเวียดนามนั้น  จุดเด่นอยู่ที่การเติบโตของเศรษฐกิจที่สูงต่อเนื่องยาวนานและแม้แต่ปัญหาโควิด 19 ก็กระทบกับอัตราการเติบโตน้อยและสั้นมาก  และดัชนีตลาดหุ้นก็สะท้อนกับภาวะเศรษฐกิจแบบนั้นมาตลอด

เริ่มที่ปี 2019 ดัชนีหุ้นเวียดนามเพิ่มขึ้นในระดับประมาณ 6-7% ต่อปี  ปี 2020 ที่โควิดเริ่มระบาดไปทั่วโลกนั้น  ดัชนีที่ตกลงแรงในช่วงแรกกลับเพิ่มขึ้นประมาณ 14-15% และพอถึงปี 2021 ก็บูมเต็มที่ตามดัชนีโลกอานิสงค์จากการอัดฉีดเงินของประเทศต่าง ๆ  ทำให้ดัชนีเวียดนามปรับตัวขึ้นในระดับ 40%  แต่หลังจากนั้นก็ปรับตัวลงอย่างแรงตามตลาดโลกเช่นกันในปี 2022 ที่ติดลบในระดับ 30%  ถึงปี 2023 คือปีที่แล้วที่เป็นปีที่ดีมากของตลาดหุ้นอเมริกา  ก็ทำให้ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวขึ้นประมาณ 12%  และล่าสุดตั้งแต่ต้นปีเพียงไม่กี่วัน  ดัชนีเวียดนามบวกไปแล้วประมาณ 4-5%  และนั่นก็เป็น 5-6 ปีแห่งความคึกคักและมีชีวิตชีวาของตลาดหุ้นเวียดนาม

การวิเคราะห์ในระดับชาติหรือระดับประเทศว่า  ระหว่างจีนกับเวียดนามนั้น  ใครมี

ศักยภาพมากกว่ากันในด้านของเศรษฐกิจหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตซึ่งจะส่งผลไปถึงตลาดหุ้น  ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องพูดถึงปัจจัย 3 ประการของการเติบโตทางเศรษฐกิจคือ 1) การเพิ่มของประชากร  2) คุณภาพของประชากรที่อาจจะวัดจาก IQ และ EQ หรือวัฒนธรรมของสังคม  และ  3) คือระบบการปกครองที่เอื้อหรือไม่เอื้ออำนวยต่อการดำเนินการทางเศรษฐกิจ

ในส่วนของจำนวนประชากรนั้น  เวียดนามได้เปรียบจีนมาก  เพราะมีคนถึงเกือบ 100 ล้านคนและยังเพิ่มขึ้น  คนทำงานยังเพิ่มขึ้นเร็วและยังไม่แก่  อายุเฉลี่ยอยู่ในวัย 30 กว่าในขณะที่คนจีนนั้นกำลังเริ่มลดลงและแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วเพราะเด็กเกิดใหม่น้อยลงมาก  อายุเฉลี่ยของประชากรกว่า 40 ปีขึ้นไปแล้ว  และอย่างที่เราพบเห็นบ่อยมากในสังคมที่คนแก่ตัวลงมากนั้น  ยากที่เศรษฐกิจจะเติบโตเร็วหรือเร็วแบบเดิมอีกต่อไป

ในเรื่องของคุณภาพของคนนั้น  ถ้าพูดถึงระดับ IQ จีนสูงกว่าเวียดนามพอสมควร  แต่ในด้านของวัฒนธรรมและเรื่องของคุณค่าที่คนในสังคมยึดถือ  ซึ่งก็เป็นสิ่งสำคัญมากในด้านของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ  ก็พบว่าวัฒนธรรมของเวียดนามนั้นใกล้เคียงกับจีนมาก  ดูเหมือนว่าคนเวียดนามจะยึดถือแนวความคิดแบบขงจื้อเหมือนกันที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา นับถือดูแลบรรพบุรุษ ขยันขันแข็งในการทำงาน  ว่าที่จริงประเพณีความเชื่อหลาย ๆ  อย่างของเวียดนามนั้นแทบจะมาจากจีน

ภาษาเขียนเก่าของเวียดนามนั้นเป็นแนวแบบจีนชัดเจน  ศาสนาพุทธแบบเวียดนามก็เป็นแบบเดียวกับจีน  เวียดนามใช้ตะเกียบเหมือนจีน  และแม้แต่วันปีใหม่เวียดนามก็เป็นวันเดียวกับตรุษจีน  ผมไม่รู้ว่าเป็นเพราะในอดีตอันไกลโพ้นที่เวียดนามเคยอยู่ในอาณัติของจีนเป็นระยะ ๆ แต่ละช่วงอาจยาวนานนั้นจะมีส่วนทำให้คนเวียดนามต้องรับอารยธรรมจีนมากน้อยแค่ไหน  แต่นั่นก็น่าจะทำให้คุณภาพและความเชื่อของคนเวียดนามไม่ได้แตกต่างจากจีนมาก  ซึ่งนั่นก็หมายความว่า  เวียดนามอาจจะไม่ได้แพ้จีนมากนักในปัจจัยนี้

ในส่วนของระบบการปกครองนั้น  ทั้ง 2 ประเทศต่างก็เป็นคอมมิวนิสต์แต่ต่างก็เปลี่ยนแนวทางการบริหารทางเศรษฐกิจให้เป็นเสรีและใช้ระบบ “ตลาด” โดยที่รัฐบาลไม่เข้าไปแทรกแซงมากนัก  อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่าจีนจะเริ่มกลับมาจำกัด “เสรีภาพ” ทางเศรษฐกิจของเอกชนมากขึ้นในขณะที่เวียดนามกลับเปิดกว้างทางเศรษฐกิจมากขึ้น  ดังนั้น  ปัจจัยในส่วนนี้ของเวียดนามจึงน่าจะดีกว่าจีน

มองโดยภาพรวมแล้ว การเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามต่อจากนี้น่าจะดีกว่าจีนและจะดีกว่าไปเรื่อย ๆ  อย่างน้อยในระยะอาจจะ 10-20 ปีข้างหน้าที่โครงสร้างประชากรของเวียดนามยังไม่เป็นสังคมคนแก่  ในเวลาเดียวกัน  ด้วยคุณภาพของคนเวียดนามที่ต้องถือว่าอยู่ในระดับสูงเพราะมี IQ ในระดับพอใช้ได้และมีวัฒนธรรมและยึดถือหลักคำสอนแบบขงจื้อที่เน้นด้านการศึกษาและความรับผิดชอบต่อบรรพบุรุษและการทำงานหนัก  และนั่นก็จะทำให้เวียดนามสามารถ “ตามรอยเท้าของจีน” จนถึงจุดที่ทำให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้โดยไม่ติด “กับดัก” คนชั้นกลางอย่างที่ประเทศจำนวนมากเจอ

และนั่นทำให้ผมนึกถึงสัญลักษณ์ของประเทศเวียดนามที่ใช้กันมานานว่าเป็น  “Little Dragon” หรือ “มังกรน้อย” คล้ายกับสัญลักษณ์ของจีนที่เป็น  “Dragon” หรือ “มังกร” ที่ทรงพลังอำนาจพอ ๆ  กับ “อินทรี” ที่เป็นสัญลักษณ์ของอเมริกา  และ“หมี” ของรัสเซียในอดีต

ทั้งหมดที่พูดมาของเวียดนามนั้น  ที่เกี่ยวข้องกับหุ้นก็เพิ่งจะเริ่มเมื่อปี 2000 ที่มีการเปิดตลาดหุ้นหลังจากที่มีการ “เปิดประเทศ” ด้วยการประกาศนโยบายปฏิรูป “Doi Moi” ในปี 1986 ที่ทำให้เศรษฐกิจเริ่มเติบโตแบบก้าวกระโดด

ตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 100 จุด เป็น 1,182 จุด ในเวลา 23 ปี หรือคิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 11% ไม่รวมปันผลซึ่งถือว่าสูงมาก  และเป็นสัญลักษณ์ของตลาดในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีเยี่ยมที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง  และถ้าเศรษฐกิจของเวียดนามรวมถึงระบบต่าง ๆ  เช่นการปกครองและการบริหารเศรษฐกิจยังเป็นแบบนี้ต่อไป  โอกาสที่ตลาดหุ้นจะยังทำผลงานได้ดีในระดับปีละ 10% ทบต้นก็จะสูง

ในกรณีของตลาดหุ้นจีนหรือฮ่องกงนั้น  ดูเหมือนว่าการเติบโตของเศรษฐกิจแบบยอดเยี่ยมต่อไปนั้นน่าจะเริ่มมีเครื่องหมายคำถาม  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  สังคมจีนแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว  นอกจากนั้นระบบการปกครองและการบริหารงานด้านเศรษฐกิจก็ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยเอื้ออำนวยโดยเฉพาะการประกาศนโยบายใหม่ของผู้นำคือ “Common Prosperity” หรือการพยายามลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยการลดความมั่งคั่งของคนรวยลง  ซึ่งน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลงไปมาก

อย่างไรก็ตาม  การที่ดัชนีตกต่ำต่อเนื่องมายาวนานและยิ่งตกมากขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ จนทำให้ค่า PE เหลือไม่เกิน 10 เท่า ก็ทำให้หุ้นในตลาดฮ่องกงต่ำมากทั้ง ๆ  ที่เป็นตลาดของหุ้นขนาดใหญ่ชั้นดีรวมถึงหุ้นเทคโนโลยีระดับโลก  ซึ่งหุ้นเหล่านี้มีความสามารถแข่งขันได้ไม่แพ้บริษัทเทคโนโลยีของอเมริกาโดยเฉพาะในตลาดจีนที่มีผู้ใช้มากพอที่จะทำให้มี Economies of Scale และไม่ล้มหายตายจากไปอย่างแน่นอน  ดังนั้น  โอกาสก็เป็นไปได้ว่า  ราคาหุ้นจะปรับตัวดีขึ้นอย่างรวดเร็วเพื่อให้

มีราคาสมกับพื้นฐานของกิจการไม่ยาก  โดยเฉพาะถ้ารัฐจีนเริ่มปรับหรือปฏิรูปการดำเนินงานใหม่เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะชงักงันในช่วงเร็ว  ๆ  นี้

ข้อสรุปของผมสำหรับ 2 ตลาดนี้ก็คือ  ตลาดเวียดนามนั้นเป็น  “ดารา” และโอกาสที่จะเป็นต่อไปนั้นสูงมาก  เรียกว่ามี  “โมเมนตัม” ที่จะเดินหน้าต่อไป  “เต็มร้อย”  หรือมากกว่า  ราคาหุ้นก็ไม่ได้สูงแต่ก็ไม่ได้ถูกสุด ๆ  แต่ในระยะยาวแล้วก็น่าจะไปต่อได้อีกมาก  เหตุผลชัดเจนว่าคนยังหนุ่ม  มีจำนวนมากใช้ได้  และทุกคนยัง “หิว” ที่จะลิ้มรสของความก้าวหน้าและความมั่งคั่งของประเทศที่เพิ่งจะเปิดขึ้นไม่นาน

สำหรับหุ้นจีนนั้น  มีความท้าทายมากในแง่ที่ว่า  จีนเองถึงจะมีปัญหามากในช่วงนี้  แต่ศักยภาพของคนสูงมาก  และก็คงสามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปได้  เหนือสิ่งอื่นใด  เทคโนโลยีของจีนไม่แพ้ใครในโลก  ถึงจุดหนึ่งก็อาจจะสามารถชดเชยจำนวนคนที่ลดลง  ชดเชยอุปสรรคจากระบบการเมืองที่ไม่เอื้ออำนวย  หรือไม่ระบบก็อาจจะเปลี่ยนกลับไปได้เสมอ  และเมื่อทุกอย่างคลี่คลายลง  แม้ว่าจะชั่วคราว  ดัชนีหุ้นจีนก็อาจจะวิ่งขึ้นไปอย่างรวดเร็ว  ทำกำไรให้กับนักลงทุน “ผู้กล้า” ได้อย่างงดงามได้ 


สนใจสมัคร VVI Membership 🇻🇳

ดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ https://class.vietnamvi.com

หรือ ติดตามเราได้ที่

– Line :@vietnamvi คลิก https://lin.ee/Jy9n680

– website: www.vietnamvi.com

– facebook: https://www.facebook.com/vvinvestor

– Youtube: youtube.com/c/vietnamvi

– E-mail: info@vietnamvi.com