โลกในมุมมองของ Value Investor 30 มี.ค. 67
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
วันที่ศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2567 ปริมาณการซื้อขายหุ้นของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลดลงมาเหลือเพียง 26,472 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ผมไม่เห็นมานานมาก น่าจะเป็นหลาย ๆ ปี และนั่นเป็นตัวเลขที่ “น่าตกใจ” แม้ว่าเราเพิ่งจะเพิ่มเวลาการซื้อขายหุ้นอีกวันละครึ่งชั่วโมงเมื่อไม่กี่วันมานี้ เพราะปริมาณการซื้อขายหุ้นของตลาดหุ้นไทยเมื่อไม่กี่ปีก่อนบางวันเคยขึ้นไปสูงถึงวันละแสนล้านบาท และถ้านับจากต้นปีนี้ ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันเฉลี่ยก็ยังอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาทเศษ
ตรงกันข้าม ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันของตลาดหุ้นเวียดนามตั้งแต่ต้นปีนั้นสูงถึงประมาณ 30,000 ล้านบาทไปแล้ว และเป็นการเพิ่มขึ้นกว่า 20% จากตัวเลขก่อนหน้านั้น ในขณะนี้ ตลาดหุ้นเวียดนามมีปริมาณการซื้อขายเป็นอันดับสองในอาเซียนรองจากประเทศไทยแล้ว และถ้าแนวโน้มยังเป็นแบบนี้ต่อไปอีกซักระยะหนึ่ง ผมคิดว่าตลาดหุ้นเวียดนามจะกลายเป็นอันดับหนึ่งในเร็ววัน ซึ่งก็สอดคล้องกับตัวเลขนักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยของเวียดนามที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาตลอด และขณะนี้น่าจะมากกว่านักลงทุนรายย่อยไทยไปแล้วที่ประมาณ 7.5 ล้านราย
ปีที่แล้ว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย “ย่ำแย่ที่สุด” และติดลบไปประมาณ 15.2% ในขณะที่ตลาดหุ้นเวียดนาม “ดีที่สุด” บวกไปประมาณ 12.2% และตั้งแต่ต้นปีนี้เพียงประมาณ 3 เดือน ดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามก็ ดีที่สุด “อันดับ 2 ของโลก” บวกไปแล้วประมาณ 13.6% ในขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นไทยยังติดลบประมาณ 2.7%
ผมคงพูดถึงตลาดหุ้นไทยเพียงแค่นี้ และก็ต้องบอกว่าไม่ได้มี “Bad Feeling” หรือความรู้สึกที่ไม่ดีอะไรกับตลาดหุ้นไทย ผมตระหนักตลอดมาว่า นี่คือประเทศและตลาดหุ้นที่เปิดโอกาสให้ผมเติบโตและก้าวหน้าอย่าง “เหนือจินตนาการ” ให้แก่ผม เป็นที่ ๆ มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เปิดโอกาสให้คนที่ยากไร้และด้อยโอกาสทางสังคมถีบตัวเองขึ้นมาในระดับที่ยอมรับได้ในระดับสากล แม้ว่าเราจะไม่ใช่ประเทศหรือตลาดหุ้นที่สมบูรณ์แบบ สำหรับผมแล้ว ผมรักประเทศไทยและตลาดหุ้นไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลง
แต่สำหรับการลงทุนแล้ว ในช่วงเวลานี้ผมคิดว่า เวียดนามน่าจะเป็นตลาดหุ้นที่ดีและมีโอกาสที่จะให้ผลตอบแทนที่ยอดเยี่ยม บางทีอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ “สุดยอด” อาจจะคล้าย ๆ กับช่วงเวลาที่ผมเรียกว่า “ยุคทอง” ของตลาดหุ้นไทยในช่วงปี 2529 ถึงกลางปี 2533 ที่ดัชนีตลาดหุ้นวิ่งขึ้นไปจาก 135 จุดเป็น 1,100 จุด หรือเพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่า หรือเท่ากับผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 60% ติดต่อกันเป็นเวลา 4 ปีครึ่ง
และนั่นก็คือช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นไทยเริ่ม “เปิดประเทศ” ให้กับนักลงทุนต่างประเทศโดยการจัดตั้งกระดานซื้อขายหุ้นต่างประเทศหรือ Alien Board และเริ่มจะใช้คอมพิวเตอร์ในการรายงานราคาและซื้อขายหลักทรัพย์ นอกจากนั้น ญี่ปุ่นก็เริ่มอนุญาตให้ผู้ลงทุนสถาบันสามารถซื้อขายหุ้นไทยได้อย่างไม่จำกัด
ทั้งหมดนั้นอยู่ภายใต้ฉากหลังที่เศรษฐกิจไทยเติบโตร้อนแรงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ที่ประมาณปีละ 10% ติดต่อกัน 3-4 ปี ในยุคที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ “มาจากการเลือกตั้ง” เป็นคนแรก ประเทศไทยในวันนั้นก็คือ “เสือตัวใหม่แห่งเอเชีย” นักลงทุนโดยเฉพาะจากญี่ปุ่นแห่กันมาลงทุนเพื่อหนีภาวะค่าเงินเย็นแข็งตัวมากอานิสงค์จากสนธิสัญญา “Plaza Accord” ในปี 2528 ซึ่งบีบให้ญี่ปุ่นต้องย้ายฐานการผลิตมาสู่ประเทศไทย
ช่วงเวลานี้ของเวียดนามนั้น ดูเหมือนว่าจะมีอะไรคล้าย ๆ กับประเทศไทยในยุคนั้นมาก ประการแรกก็คือ เวียดนามกำลังกลายเป็น “เสือตัวใหม่แห่งเอเซีย” เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 และคาดว่าจะเติบโตดีขึ้นเรื่อย ๆ และในระยะอย่างน้อย 4-5 ปีข้างหน้านั้นดูเหมือนว่าจะโตในระดับไม่น้อยกว่าปีละ 6-7% นำโดยการลงทุนจากต่างประเทศแทบจะทั่วโลก
เวียดนามมีศักยภาพในการรับการลงทุนทุกประเภทรวมถึงอุตสาหกรรมไฮเท็คที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วเพราะเวียดนามมีประชากรที่มีคุณภาพสูงที่สามารถเรียนรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่จำนวนมาก คนเหล่านี้ยังมีอายุน้อยและมีพลังแรงกล้าที่จะพัฒนาตนเองเพื่อประสบความสำเร็จและมีความมั่งคั่งหลังจากที่ประเทศเปิดต้อนรับชาวต่างประเทศเข้าไปลงทุนทางธุรกิจเมื่อ 30 ปีก่อน คนเวียดนามในตอนนี้ผมคิดว่ามี “ไฟ” แรงมากและอาจะคิดคล้าย ๆ กับที่ Steve Jobs เคยกล่าวว่า “Stay hungry, stay foolish” นั่นก็คือ “ไม่หยุดเรียนรู้ ไม่หยุดสำรวจค้นคว้า เปิดใจกว้าง และกล้าเสี่ยง”
ในด้านของตลาดหุ้นเวียดนามนั้น ช่วงเวลานี้น่าจะเป็นช่วงเวลาของการ “Upgrade” หรือพัฒนาตลาดหุ้นให้เข้าสู่มาตรฐานสากล เฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาลงทุนได้เต็มที่ เรื่องแรกก็คือ มีการเปลี่ยนระบบเทรดหุ้นเป็นระบบ KRX ซึ่งเป็นของเกาหลีที่มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมากแทนที่ของเดิมที่มาจากไทย ซึ่งจะทำให้สามารถรองรับธุรกรรมที่มากขึ้นมากและสามารถทำผลิตภัณฑ์ที่ซับซ้อนขึ้นรวมถึงการที่จะสามารถทำเซ็ทเทิลเม้นต์หรือกระบวนการหลังเทรดได้รวดเร็วขึ้น
เรื่องต่อมาก็คือการที่จะทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถซื้อขายหุ้นโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องการต้องวางเงินสดก่อนเทรดหุ้น และสัดส่วนการถือหุ้น ซึ่งจะทำให้ต่างชาติสามารถซื้อขายหุ้นได้สะดวกและในราคาเดียวกันหรือใกล้เคียงกับนักลงทุนในประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีหุ้นดี ๆ หลาย ๆ ตัวที่สัดส่วนการถือหุ้นต่างชาติเต็มและการซื้อจะต้องจ่ายค่าพรีเมียมประมาณ 7% เพิ่มจากราคาตลาด
ต่อมาก็คือเรื่องของการให้ข้อมูลต่าง ๆ ของบริษัทจดทะเบียนที่ปัจจุบันส่วนใหญ่ยังเป็นภาษาเวียดนามก็จะต้องมีภาษาอังกฤษด้วย ซึ่งจะทำให้นักลงทุนต่างชาติสามารถวิเคราะห์หุ้นได้ดีขึ้น
ทั้งหมดนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เวียดนามสามารถอัพเกรดจาก “ตลาดชายขอบ” เป็น “ตลาดหุ้นเกิดใหม่” เหมือนตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นอาเซียนทั้งหลาย “ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า” ซึ่งก็จะทำให้นักลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ทั่วโลกสามารถเข้ามาลงทุนได้แทนที่จะเป็นเฉพาะเฮดจ์ฟันด์ และนั่นก็จะทำให้มีเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนมากขึ้นแทนที่จะเป็นนักลงทุนส่วนบุคคลเป็นหลักอย่างในปัจจุบัน และนั่นก็จะทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างแรงได้
แต่นั่นก็ยังไม่ใช่ประเด็นเดียวที่จะขับดันราคาหุ้น เพราะดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามนั้น ปรับตัวขึ้นมาเรื่อย ๆ อยู่แล้วแม้แต่ในช่วงเร็ว ๆ นี้ที่ต่างชาติเป็นฝ่ายขายหุ้นมาซักระยะหนึ่งแต่อาจจะเนื่องจากคนเวียดนามเองในช่วงนี้ต่างก็เข้ามาเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ ราคาหุ้นจึงไม่ลงและกลับเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น
เหตุผลอาจจะเป็นว่ารายได้และกำไรของบริษัทจดทะเบียนโตเร็วมาก แม้แต่บริษัทใหญ่ ๆ ในอุตสาหกรรมเก่าอย่างแบ้งค์และผู้ผลิตสินค้าผู้บริโภคก็มีกำไรโตในระดับสองหลักซึ่งทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นในขณะเดียวกันค่า PE ก็ยังค่อนข้างต่ำ ว่าที่จริงน่าจะต่ำที่สุดในตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศอาเซียน ดังนั้น นี่ก็คือตลาดหุ้นที่โตเร็วแต่ราคาหุ้นยังถูก รวมถึงหุ้นที่อาจจะเป็นซุปเปอร์สต็อก
อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ ก็คือ อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาด เช่น เงินฝากแบ้งค์และเงินกู้ทั่ว ๆ ไปลดลงมาอย่างมีนัยสำคัญจากที่เคยอยู่ที่ 7-8% ขึ้นไป ลงมาอยู่ที่ 4-5% สำหรับเงินฝากเป็นต้น นอกจากนั้น ไม่ช้าก็เร็ว อัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของแบ้งค์ชาติก็คงจะต้องลดลงตามอัตราดอกเบี้ยของอเมริกา นั่นก็จะส่งเสริมให้ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นไปได้อีก
ด้วยเหตุผลทั้งหมดดังกล่าว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของนักลงทุนสถาบันจากต่างประเทศคงจะเข้ามาลงทุนขนานใหญ่ในช่วงอีกไม่เกิน 3-4 ปีข้างหน้า ผมจึงคิดว่าดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามมีโอกาสที่จะเติบโตขึ้นไปต่อเนื่องและสูงมากในอนาคตอย่างน้อย 3-4 ปีต่อจากนี้ และอาจจะเป็น “ยุคทอง” ที่อาจจะเป็น “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ของการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนามได้
ว่าที่จริง เวลานี้ก็อาจจะถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของยุคทองที่ดัชนีเวียดนามจะโตแบบก้าวกระโดดแล้วก็ได้ เห็นได้จากกองทุนหุ้นเวียดนามหลัก ๆ เช่น VN 30 ที่โตขึ้นถึง 15% และ ETF ไดมอนด์ที่เน้นหุ้นที่มี Foreign Premium บวกขึ้นถึง 20% ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันเป็นเวลาเพียง 3 เดือน คงต้องมาดูกันว่าผ่านไปอีก 3-4 ปีข้างหน้าดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามจะโตไปถึงเท่าไร แน่นอนว่าไม่มีอะไรการันตีว่าประวัติศาสตร์จากตลาดหุ้นไทยจะซ้ำรอยที่ตลาดหุ้นเวียดนาม แต่ผมคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรเสียหายถ้าจะลอง
ในระหว่างนี้ผมก็เริ่มฟังเพลง “Sweet Caroline” และนึกถึงเนื้อร้องท่อนฮุค “Good times never seemed so good” กับพอร์ตเวียดนามที่โตวันโตคืน มันช่างเป็นเวลาที่แสนสุขสำหรับการลงทุน
พรุ่งนี้ 31 มี.ค. สมัครทริป VVI ไปเวียดนาม ลดสูงสุด! 🇻🇳
โฮจิมินห์ซิตี้ 2-4 มิ.ย. 2024 , ดานัง 7-9 มิ.ย. 2024
ดูรายละเอียด: https://www.vietnamvi.com/2024/03/28/vvi2024/