จุดจบของเซียนคอร์เนอร์หุ้นบันลือโลก

0
15408

โลกในมุมมองของ Value Investor       18 พ.ค. 67

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ในปี 1996-2001 เป็นเวลาประมาณ 5 ปี เป็นช่วง “เวลาทอง” และ “จุดจบ” ของกองทุน “Tiger Funds” หรือ “กองทุนเสือ” ที่ก่อตั้งและบริหารโดย Julian Robertson นักลงทุนเฮดจ์ฟันด์แนว VI กลุ่มแรก ๆ  ที่จัดตั้งและบริหารเงินทุนโดยใช้หลักการแบบ “VI” อย่างเข้มข้น  อย่างไรก็ตาม  เนื่องจากสถานการณ์และความผิดพลาดรุนแรงและการที่อาจจะไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงเพียงพอ  จึงทำให้กองทุน “ล่มสลาย” ในที่สุด

อย่างไรก็ตาม  หลังจากการล่มสลายของกองทุนไทเกอร์  ลูกน้องและผู้ช่วยของโรเบิร์ทสันหลาย ๆ คนก็ออกมาก่อตั้งกองทุนที่ถูกเรียกว่า “Tiger Cub” หรือกองทุน  “ลูกเสือ” ซึ่งก็คงเน้นการลงทุนแนว VI แบบเข้มข้นเหมือนเดิม  เพราะนั่นคือสัญลักษณ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับไทเกอร์ฟันด์มานานก่อนที่จะปิดตัวลง  คนที่ออกมาตั้งกองทุนลูกเสือก็คงมีชื่อเสียงว่าเป็น  “เซียน VI” ในสายตาของคนทั่วไปหรือลูกค้า

Bill Hwang ชาวเกาหลีที่อพยพมาอยู่ในอเมริกาและน่าจะเป็นลูกน้องและผู้บริหารที่โดดเด่นของโรเบิร์ตสัน  ได้ออกมาจัดตั้งบริษัทจัดการลงทุนชื่อ  “Tiger Asia Management” และตั้งกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่โรเบิร์ตสันร่วมลงทุนด้วย  การบริหารกองทุนประสบความสำเร็จอย่างสูงและทำให้หวังมีชื่อเสียงโดดเด่นเป็นเวลากว่า 10 ปี จนถึงปี 2012 ก็ต้องปิดตัวลง  เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการที่หวังถูกจับในคดี “Insider Trading” หรือใช้ข้อมูลภายในในการซื้อขายหุ้นแบ้งค์จีนและถูกปรับเป็นเงิน 44 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 1,600 ล้านบาท

ปีต่อมาหลังจากนั้นในปี 2013 หวังก็เปลี่ยนรูปแบบการลงทุนจากการบริหารเฮดจ์ฟันด์มาเป็นการลงทุนเงินของตนเองผ่าน “Family Office” หรือ “บริษัทลงทุนของครอบครัว” และเปลี่ยนบริษัทจัดการจาก  Tiger Asia เป็น “Archegos Capital Management” ซึ่งก็เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งว่าเขาประสบความสำเร็จสูงมาก  มีเงินส่วนตัวที่ได้รับจากการบริหารเงินคนอื่นเพียงพอแล้ว  และเริ่มบริหารเงินของตนเองเพียงอย่างเดียว

ถึงปี 2020 ในท่ามกลางกระแสโควิด-19 ระบาดอย่างรุนแรง  หวังเริ่มกวาดซื้อหุ้นหลาย ๆ  ตัวรวมถึงหุ้น ViacomCBS หุ้นสื่อชื่อดัง โดยการใช้อนุพันธ์ต่าง ๆ  ที่เขาเทรดกับบริษัทหลักทรัพย์ใหญ่ ๆ  ในวอลสตรีท  ซึ่งทำให้เขาสามารถ “กู้เงิน” หรือใช้เงินของบริษัทหลักทรัพย์หรือแบ้งค์เช่น เครดิตสวิส  UBS และ Morgan Stanley จำนวนมหาศาลโดยที่ไม่ต้องเปิดเผยตัวเองหรือไม่ต้องใช้ชื่อตัวเอง  ถ้าเทียบกับตลาดหุ้นไทยก็เช่น  การทำบล็อกเทรดที่สามารถเพิ่มเม็ดเงินลงทุนขึ้นไปเป็น 10 เท่า ได้  เป็นต้น

ในมุมมองของหวัง  นี่คือหุ้นที่ “ดีสุดยอด” เขาค้นพบและพร้อมที่จะ  “ตีแตก” ด้วยความเชื่อมั่น “ร้อยเปอร์เซ็นต์” ในสายตาเขา  มันคงเป็นหุ้น  “ซุปเปอร์สต็อก” สร้างผลตอบแทนมหาศาลในระยะยาวที่เขาอาจจะเคยลงทุนในหุ้นที่อาจจะตัวเล็ก ๆ ในอดีตที่มีลักษณะคล้าย ๆ  กันและมันก็เติบโตขึ้นทำเงินให้เขาไม่น้อย  เขาเองเชื่อมั่นและมีแนวคิดคล้ายกับวอเร็นบัฟเฟตต์ที่ลงทุนหุ้นสุดยอดที่จะโตขึ้นไปนานโดยไม่ต้องขาย  อย่างไรก็ตาม  เขาบอกว่านี่เป็นแนว ฟิลิปส์ ฟิสเชอร์  บิดาของนักลงทุนสไตล์ Growth หรือเน้นหุ้นสุดยอดทางการแข่งขันและโตเร็ว

หวังซื้อหุ้นอย่างต่อเนื่องตลอดและก็อัดซื้อเพียงตัวสองตัว  ซึ่งก็ทำให้ราคาหุ้นในพอร์ตพุ่งขึ้นเรื่อย ๆ  พอร์ตหุ้นโตระเบิด Net Worth หรือความมั่งคั่งส่วนตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 35 พันล้านเหรียญหรือประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท  กลายเป็นมหาเศรษฐีนักลงทุน  และถ้าเป็นแบบนี้ไปเรื่อย ๆ  เขาก็จะอยู่ใน “ทำเนียบ” เซียนหุ้นในระนาบเดียวกับหลาย ๆ  คนรวมถึงบัฟเฟตต์  แต่สำหรับผมแล้ว  เขาอาจจะไม่รู้ตัวเองว่า  กำลัง  “คอร์เนอร์หุ้น” ตัวใหญ่ ๆ  บางตัวที่ทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปแบบไม่มีเหตุผลทางด้านพื้นฐานจริง ๆ  ทั้งหมดเป็นเรื่อง “ชั่วคราว” และความมั่งคั่งนั้นเป็น  “ภาพลวงตา” ของราคาหุ้น 

ถึงปี 2021 ViacomCBS ประกาศขายหุ้นซึ่งทำให้ราคาหุ้นดิ่งลงแรง  แบ้งค์ที่ปล่อยกู้หรือทำสว็อปหรือขายหรือซื้ออนุพันธ์ให้อาร์คีกอสต้อง “เรียกมาร์จินเพิ่ม” แต่หวังไม่มีทรัพย์สินหรือสภาพคล่องพอ  ซึ่งทำให้หุ้นต้องถูก “ฟอร์สเซล” หรือขายทิ้งในตลาด  ซึ่งก็ทำให้ราคาหุ้นตกลงไปอีก  และก็ตกต่อไปเป็นระลอกจน  “คอร์เนอร์แตก” ราคาหุ้นตกลงไปจนแทบไม่เหลือค่า  พอร์ตหุ้นของหวังเสียหายยับเยินเป็นศูนย์  อาร์คีกอส “ล่มสลาย” แบ้งค์ที่ปล่อยกู้เสียหายรวมกันไม่ต่ำกว่า 10 พันล้านเหรียญหรือ 360,000 ล้านบาทโดยที่ Credit Suisse แบ้งค์ที่ปล่อยกู้มากที่สุดก็ล่มสลายไปด้วย

และก็แน่นอนว่า  แบ้งค์ กลต. และผู้เกี่ยวข้อง ก็ต้องเข้าตรวจสอบ  เพราะมันเป็นคดี “ระดับชาติ” ที่ทำให้แบ้งค์เก่าแก่ระดับโลก “เจ๊ง” ไปแบ้งค์หนึ่ง  แม้ว่าจะไม่มีนักลงทุนอื่นรวมถึงรายย่อยที่เสียหายหนัก ๆ โดยตรง  อย่างไรก็ตาม  นักลงทุน  รวมถึง VI จำนวนมากอาจจะเจ็บตัวจากการที่หุ้นทิ้งดิ่งลงมาแรงจนทำให้ลงทุนแล้วขาดทุนไปมหาศาลเพราะไปคิดว่ามันเป็นหุ้นดีสุดยอดที่วิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ  มาเป็นปี ๆ แต่พอเข้าไปแล้วกลับตกลงมาเป็นหายนะ 

คดีที่กำลังดำเนินการในชั้นศาลในขณะนี้นั้น  เป็นของหวังถึง 11 คดีและเป็นของ CFO ของอาร์คีกอส 3 คดี  หลัก ๆ  ก็คือ  หนึ่ง  การโกหกหลอกลวงแบ้งค์เพื่อที่จะเพิ่มวงเงินเครดิตในการใช้ “ปั่นหุ้น” สองคือการหลอกลวงบริษัทหลักทรัพย์โดยการปั่นหุ้น  และสามคือการซื้อธุรกิจแบบผิดกฎหมายและการทำธุรกิจโดยใช้เงินที่ผิดกฎหมาย  การฉ้อโกงขู่เข็นกรรโชคทรัพย์  ทั้งหมดนั้นถ้าผิดจริง  หวังอาจจะถูกตัดสินให้ติดคุกสูงถึง 220 ปี แต่ก็น่าจะถูกลดให้เหลือเพียง 20 ปี  เมื่อเทียบกับแซมแบ๊งแมน  ที่โดนคดีโกงและหลอกลวงทางด้านทรัพย์สินดิจิทัลที่เพิ่งถูกตัดสินไปที่ต้องติดคุก 25 ปี เมื่อไม่นานมานี้  แต่ด้วยอายุ 60 ปีแล้ว  ดูเหมือนว่าอาการของหวังอาจจะหนักกว่า

ข้อต่อสู้ของหวังที่ผมคิดก็คือ  หวัง “ลงทุนแบบ VI” เขาแทบจะอ้างว่า “ลงทุนแบบ บัฟเฟตต์” มีการวิเคราะห์หุ้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน  และเมื่อพบว่าดีสุดยอด  มีมาร์จินออฟเซฟตี้สูงมาก  ก็เข้าซื้อ  และซื้อมากจนอยากจะซื้อหุ้นทั้งบริษัท  เสร็จแล้วก็ถือยาวไปเรื่อย ๆ  และ “ไม่ขาย”  ว่าที่จริงกรณีที่เกิดขึ้นนั้น  เขาก็ไม่เคยขายหุ้นเลย  แล้วจะบอกว่า  “ปั่นหุ้น”  ยังไง  การ “Corner หุ้น” อย่างที่ผมมักจะใช้  คือกวาดซื้อหุ้นจนหมดเพื่อดันและคุมราคาหุ้นนั้น  ในประเทศอื่นโดยเฉพาะในอเมริกานั้น  คนไม่รู้จัก  อาจจะเพราะส่วนใหญ่แล้วทำไม่ได้ด้วยระบบและ Free Float หุ้นที่สูงเกินไป  ดังนั้น  นี่จะเป็นการ “ปั่นหุ้น” ได้ยังไง

ข้อต่อสู้ต่อมาที่ผมคิดก็คือ  การหลอกลวงแบ้งค์หรือบริษัทหลักทรัพย์นั้น  เป็นไปไม่ได้  เพราะที่จริงสถาบันการเงินเหล่านั้นอยากทำธุรกิจกับเขามาก  ยอมให้ใช้บริการเต็มที่เพราะในสายตาของแบ้งค์  หวังเป็น “เซียนหุ้น” น่าจะ “แบบ VI” ที่รู้ดีอยู่แล้วว่าตนเองทำอะไร  แบ้งค์เองก็อยากได้รายได้ที่ “แทบไม่เสี่ยง” ผลงานและการเติบโตของอาร์คีกอสนั้นยอดเยี่ยมมากและอยู่มานาน  มีพอร์ตที่ใหญ่โตมหาศาล  จะเจ๊งได้อย่างไร?

ที่อาร์คีกอสล่มสลายนั้น  ผมคิดว่าเขาคงต่อสู้ว่ามันเป็นเหตุ “สุดวิสัย” ที่ไม่สามารถคาดการณ์หรือคาดคิดได้  ดังนั้น  เขาไม่สมควรที่จะเป็น “แพะรับบาป” และถึงวันนี้ทางการก็ไม่มีหลักฐานว่าการซื้อขายหุ้นของอาร์คีกอสหรือการทำธุรกรรมต่าง ๆ  รวมถึงการสว็อปหรือการใช้อนุพันธ์หรือสัญญาอะไรต่าง ๆ  มีการหลอกลวงหรือผิดกฎหมายและที่จะไปกระทบกับราคาหุ้น

ผมคงไม่อยากเดาว่าคดีจะออกมาอย่างไร  ผมเพียงแต่คิดว่าในกรณีแบบนี้  ถ้าเกิดที่ประเทศอื่น  โดยเฉพาะที่ระบบกฎหมายและความยุติธรรมไม่เข้มแข็ง  โอกาสหลุดน่าจะสูง  หรือบางทีเรื่องอาจจะไม่ถึงศาลด้วยซ้ำ  แค่อาจจะโวยวายกันในสื่อ  ซักพักก็จะผ่านไป  เพราะเรื่องนี้อาจจะเป็นแค่เรื่องของ  “เซียน” ที่มาคอร์เนอร์หุ้นและเกิด  “ผิดพลาด” อย่างร้ายแรง  ไม่สามารถ “ออกของ” ได้จน “คอร์เนอร์แตก” และเจ๊งกันไปหมดทั้งคนทำและคนสนับสนุนที่เป็นสถาบันการเงิน  และรายย่อยจำนวนมหาศาลที่ขาดทุนกันคนละเล็กละน้อย  ที่ “ด่าคนทำ” แล้วก็แยกย้ายกันไปเล่นกับหุ้นคอร์เนอร์  “ตัวต่อไป”

บทเรียนการ “คอร์เนอร์หุ้น” ของหวังก็คือ  “อย่าคอร์เนอร์หุ้น” ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ  ต้องตระหนักเสมอว่าการซื้อหุ้นของเรา  ไม่ว่าเราจะคิดว่าเป็นการลงทุนในระดับที่ “มั่นใจมาก”  แค่ไหนว่าหุ้นจะถูกกว่าพื้นฐานมากน้อยแค่ไหน  เราก็ต้องระวังไม่ให้มากเกินไปในหุ้นตัวนั้นที่จะทำให้เกิดสถานการณ์  “คอร์เนอร์หุ้น”  เพราะนั่นมักจะทำให้หุ้นมีราคาผิดธรรมชาติมาก  และในที่สุดมันก็มักจะตกลงมาในระดับหายนะ  อย่าไปคิดว่าเรา “แน่มาก” ที่ซื้อหุ้นถูกตัวและซื้อหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  และราคาหุ้นก็วิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ  จนเรากลายเป็น  “เทพ” และทำให้เราต้องกู้เงินมาซื้อเพิ่มขึ้นไปอีก  กลายเป็นความโลภที่ทำลายตัวเราในที่สุด     

————–

VVI Membership 1,990 บาท

https://class.vietnamvi.com/pro…/p1-membership-superstock/

VVI Membership Class 1-3 ราคา 2,980 บาทได้ 1 ปี (คุ้มกว่า)

https://class.vietnamvi.com/product/p4-triple-packs