โลกในมุมมองของ Value Investor 25 พฤษภาคม 67
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
หลังจากข้อมูลการเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปี 2567 ของประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศหลัก ๆ ในกลุ่มอาเซียนถูกประกาศออกมาเมื่อ 4-5 วันที่ผ่านมา รัฐบาลและนักวิชาการไทยต่างก็รู้สึกตกใจและผิดหวังกับตัวเลขการเติบโตของ GDP ไทยที่ 1.5% และต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่เติบโตสูงกว่ามาก นอกจากนั้น ตัวเลขนี้ก็เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าการเติบโตในปีก่อนทั้งปีที่ 1.9% ด้วย ในขณะที่ตัวเลขของประเทศอื่น ๆ นั้นดูเหมือนว่ากำลังฟื้นตัวและการเติบโตอยู่ในเกณฑ์ที่สูงกว่ามาก และก็สูงใกล้เคียงกับช่วงปีก่อน
การเติบโตของ GDP เวียดนามนั้น แม้ว่าจะลดลงจากระดับ 6% ปีที่แล้ว ก็บวก 5.7% ในไตรมาส 1 ปีนี้ และเป็นระดับที่ “สูงที่สุด” ในอาเซียนเท่า ๆ กับฟิลิปปินส์ ส่วนอินโดนีเซียนั้นเติบโตรองลงมาที่ 5.1% มาเลเซีย 4.2% และสิงคโปร์ก็ยังโต 2.7% ซึ่งก็เป็นตัวเลขที่ไม่เลวเมื่อคำนึงถึงว่าสิงคโปร์นั้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วและมีรายได้ต่อหัวสูงเกือบที่สุดในโลกอยู่แล้ว โดยที่ไทยอยู่ในอันดับสุดท้าย ซึ่งก็เป็นอันดับที่ไทยได้มาหลายปีที่ผ่านมา
ตัวเลขการเติบโตของสหรัฐซึ่งเป็นตัวแทนของ “เศรษฐกิจโลก” และเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่สำคัญที่สุดก็เติบโตถึง 3% ซึ่งก็ถือว่าเศรษฐกิจโลกนั้นไม่ได้ซบเซาหรือตกต่ำ ที่จริงอาจจะต้องถือว่าเศรษฐกิจโลกค่อนข้างดีในไตรมาส 1 นี้ ยิ่งดูที่เศรษฐกิจจีนซึ่งนักเศรษฐศาสตร์บอกว่ากำลังมีปัญหาเนื่องจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์และทำ “สงครามการค้า” กับอเมริกา แต่ก็ยังโตได้ 5.3% ซึ่งถึงแม้ว่าจะลดลงจากก่อนช่วงโควิด-19 แต่ก็ถือว่ามีการฟื้นตัวพอสมควรจากช่วงโควิดเช่นเดียวกับประเทศหลัก ๆ ของอาเซียน
ดังนั้น การที่เศรษฐกิจไทยโตน้อยมากจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจโลก แต่น่าจะเป็นเรื่องของประเทศไทยและเศรษฐกิจของไทยเองมากกว่า และปัญหาของไทยก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา “ชั่วคราว” ที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากสถานการณ์ในประเทศไทยในช่วงปีสองปีนี้ แต่อาจเป็นปัญหา “ถาวร” ที่จะดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงอะไร เพราะนั่นอาจจะเป็นปัญหาเชิง “โครงสร้างทางเศรษฐกิจ” ที่ทำให้เศรษฐกิจไม่สามารถเติบโตเร็วต่อไปได้ และในที่สุดอาจจะถดถอยลงไปด้วยซ้ำ ว่าที่จริงเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นก็เติบโตเฉลี่ยเพียงปีละ 1.92% เท่านั้น
ปัญหาสำคัญเชิงโครงสร้างที่ทำให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถเติบโตเร็วต่อไปได้นั้นน่าจะมีหลายอย่าง แต่ตัวหลักน่าจะอยู่ที่โครงสร้างของประชากรที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ประชากรเกิดใหม่น้อยลงมาก และระบบการศึกษาของไทยที่ไม่สามารถพัฒนาและตามทันการเปลี่ยนแปลงของโลก ลองมาดูว่ามีปัญหาอย่างไร
GDP หรือ Gross Domestic Products หรือผลผลิตมวลรวมในประเทศนั้น พูดอย่างหยาบ ๆ ก็คือ มูลค่าการทำงานแล้วมีรายได้ของประชากรทั้งประเทศรวมกันในแต่ละปี ถ้าประเทศมีประชากรทำงานมาก เงินรายได้ก็มากตาม วิธีที่จะทำให้รายได้เพิ่มที่สำคัญทางหนึ่งก็คือการเพิ่มขึ้นของคนทำงาน ซึ่งถ้าประเทศมีเด็กที่เติบโตขึ้นมาและเริ่มทำงานได้มากกว่าคนที่เลิกทำงานเพราะอาจจะเกษียณหรือตาย ก็จะทำให้รายได้ประชาชาติเพิ่ม มีการเติบโตของ GDP ในกรณีของไทยนั้นดูเหมือนว่าคนที่เกษียณและ/หรือตาย ตอนนี้จะมากกว่าคนที่เติบโตขึ้นมาและเริ่มทำงานในแต่ละปี ผลก็คือ GDP ก็จะลดลงและจะลดลงต่อไป
อีกทางหนึ่งที่จะทำให้รายได้เพิ่มก็คือ การที่คนในประเทศมีรายได้เช่นเงินเดือนหรือกำไรจากการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งนั่นก็คือมีประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้น GDP ก็จะเพิ่มขึ้น และวิธีที่จะทำให้คนทำงานที่ให้ผลผลิตมากขึ้นในระยะยาวได้นั้น ส่วนใหญ่ก็คือ ให้การศึกษาที่ดีกับประชากรซึ่งจะทำให้สามารถทำงานที่ยากขึ้น ใช้ทักษะที่สูงขึ้น เช่น เป็นหมอ เป็นวิศวกร เป็นนักการเงิน หรือเป็นนักบริหารและทำธุรกิจเป็นต้น
ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้นก็คือ ให้คนสามารถใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและ/หรือใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการทำงานแทนที่ของเดิมที่อาจจะใช้แรงงานมากหรือใช้เทคโนโลยีรุ่นเก่าที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่า เป็นต้น ด้วยวิธีนี้ ก็จะสามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้มากขึ้น ส่งผลให้ GDP เติบโตได้ แต่ทั้งการใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องจักรทันสมัยนั้น ก็ต้องอาศัยคนที่ได้รับการศึกษาที่ดีและทันสมัย
แต่ประเด็นที่ทำได้ยากก็คือ คนทำงานของไทยนั้น จำนวนมากเป็นคนรุ่นเก่าและมีการศึกษาที่ไม่สูงหรือไม่ดีนัก จึงปรับตัวให้หันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ได้ยาก เช่นเดียวกับการที่อาจจะไม่มีเงินเพียงพอที่จะซื้ออุปกรณ์เครื่องมือมาใช้ ดังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานจึงทำได้ยาก ผลก็คือการเติบโตของ GDP จากส่วนนี้ก็จะไม่มาก และอาจจะไม่สามารถชดเชยจำนวนคนที่น้อยลงได้
เมื่อดูประกอบกัน คือคนทำงานก็ไม่เพิ่มแถมจะลดลง และโอกาสที่จะเพิ่มประชากรก็น้อยมากเพราะคนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ค่อยยอมมีลูก คนที่มีอยู่ก็ไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้มากนักเพราะการศึกษาไม่ดีพอและการปรับตัวเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ก็ทำได้ยากเพราะอายุมาก การที่คนทั้งประเทศจะสร้างผลผลิตเพิ่มขึ้นหรือมีรายได้เพิ่มขึ้นก็จะยากขึ้น ดังนั้น GDP ของไทยนับจากนี้คงไม่สามารถเติบโตได้เร็วเหมือนเดิมที่ครั้งหนึ่งเราโตถึงกว่า 10% ต่อปีเป็นเวลาถึง 2-3 ปีติดต่อกัน และส่วนใหญ่ก็โตในระดับ 5-7% เป็นเวลายาวนาน
มองไปข้างหน้าอีก 10 ปี ผมคิดว่าการที่จะให้ GDP โตแม้ในระดับเพียงปีละ 3% ก็เป็นเรื่องที่ยาก ผมคิดว่าโอกาสที่จะโตปีละ 2% โดยเฉลี่ยน่าจะสูงกว่า
จริงอยู่ รัฐบาลอาจจะบอกว่าเรา “กำลังปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ” ที่จะสร้างรายได้ให้มากขึ้น เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ไทยมีความสามารถและมีความได้เปรียบประเทศอื่นในการดึงดูดนักท่องเที่ยวมากกว่า แต่ภาพใหญ่ก็คือ เราขาดแคลนแรงงานอยู่แล้ว การดึงคนจากอุตสาหกรรมอื่นมาทำงานต้อนรับนักท่องเที่ยวก็อาจจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้นไม่มากอย่างที่คิด หรือพูดง่าย ๆ GDP ที่เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวก็ไม่ได้มากอย่างต้องการ เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ รายได้จากการทำงานในภาคการท่องเที่ยวนั้นอาจจะไม่ได้สูงนัก
ไม่ว่าจะปรับทิศทางเศรษฐกิจไปทางไหน สุดท้ายแล้วมันก็ต้องทำให้คนทำแล้วมีรายได้มากขึ้น ซึ่งก็คือจะต้องเป็นงานที่มีคุณภาพสูงขึ้นและใช้ทักษะสูงขึ้นซึ่งก็หนีไม่พ้นต้องมีการศึกษาและมีทักษะที่สูงกว่าเดิม นอกจากนั้น ก็ต้องส่งเสริมให้คนมีลูกมากขึ้น
กลับมาดูที่ประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศที่มีคนเพิ่มมากขึ้นนั้น รวมถึงฟิลิปปินส์ที่อาจจะไม่ค่อยคุมกำเนิดอาจจะเนื่องจากเป็นผู้นับถือศาสนาคริสต์คาทอลิค อินโดนีเซียและมาเลเซียที่นับถือศาสนาอิสลาม ดังนั้น การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในส่วนของการเพิ่มคนน่าจะมากพอสมควร บวกกับการเพิ่มของประสิทธิภาพของคนที่ยังมีอายุเฉลี่ยค่อนข้างน้อย ก็น่าจะทำให้ 3 ประเทศนี้สามารถเติบโตทางเศรษฐกิจได้ในอัตราล่าสุดต่อไปได้อีก 10 ปี
เวียตนาดนั้น การเพิ่มของคนทำงานก็ยังมีมากพอสมควร แต่การเพิ่มขึ้นของประสิทธิภาพนั้นน่าจะค่อนข้างสูงอานิสงค์จากคุณภาพและการศึกษาของประชากรที่โดดเด่นเห็นได้จากผลการทดสอบ PISA Test ซึ่งเวียดนามทำได้เหนือกว่าทุกประเทศในอาเซียนยกเว้นสิงคโปร์ และการที่ประเทศสามารถดึงดูดบริษัทระดับโลกที่เข้าไปลงทุนทำอุตสาหกรรมที่ต้องการเทคโนโลยีสูงขึ้นต่างก็เข้าไปลงทุนในเวียดนามเพื่อการส่งออกไปในตลาดโลกได้มากกว่าประเทศอื่น ๆ
ทั้งหมดนั้นทำให้ประเทศหลัก ๆ ในอาเซียนยกเว้นไทยที่กล่าวถึงทั้งหมดนั้นน่าจะสามารถรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจระดับสูงเท่าเดิมต่อไปได้อีกอย่างน้อย 10 ปี ซึ่งผลก็คือ GDP ของเพื่อนบ้านของไทยก็จะโตอย่างรวดเร็วไล่กวดและทิ้งห่างไทยออกไปเรื่อย โดยตัวเลขที่ผมลองคำนวณดูว่าถ้าเศรษฐกิจไทยยังโตต่อในระดับ 2% ต่อปี ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ทุกประเทศโตต่อไปในระดับตั้งแต่ 2.7% ของสิงคโปร์ และสูงสุดของเวียดนามและฟิลิบปินส์ที่ 5.7% อะไรจะเกิดขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า?
แน่นอนว่าอินโดนีเซียจะยังคงเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนและมีขนาด GDP ถึง 2.33ล้าน ๆ เหรียญสหรัฐ แต่ที่น่าตกใจที่สุดก็คือ ประเทศไทยที่เป็นประเทศ “ใหญ่ที่สุดอันดับสองในปัจจุบัน” ด้วยตัวเลข GDP ที่ 512,190 ล้านเหรียญสหรัฐ จะกลายเป็นประเทศที่มีขนาด GDP “เล็กที่สุด” ที่ 624,356 ล้านเหรียญ รองจากสิงคโปร์และมาเลเซียที่ประมาณ 650,000 ล้านเหรียญที่ถือว่าเป็นประเทศขนาดเล็กในกลุ่มในแง่ของจำนวนประชากร ส่วนฟิลิบปินส์กับเวียดนามจะแข่งกันเป็นอันดับสองที่ใกล้เคียงกันมากโดยมี GDP ในระดับ 750,000 ล้านเหรียญขึ้นไป
ในด้านของตลาดหุ้นนั้น อีก 10 ปีข้างหน้าคงพูดยากว่าประเทศไหนจะให้ผลตอบแทนการลงทุนดีกว่ากัน เนื่องจากผลตอบแทนของตลาดหุ้นนั้น ส่วนใหญ่แล้วขึ้นกับขนาดและคุณภาพของบริษัทที่จะต้องเติบโตและมีขนาดใหญ่ด้วย ซึ่งในอีก 10 ปีก็มักจะต้องเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีใหม่ที่แข่งขันได้ ซึ่งในกรณีนี้ผมคิดว่าคู่แข่งที่จะชิงความเป็นหนึ่งก็น่าจะเป็นเวียดนามกับอินโดนีเซีย
VVI Membership 1,990 บาท แบบทั่วไป
👉 https://class.vietnamvi.com/product/p1-membership-superstock/
👉 VVI Membership + Class 1-3
ราคา 2,980 บาทได้ 1 ปี (คุ้มกว่า)
https://class.vietnamvi.com/product/p4-triple-packs/