โลกในมุมมองของ Value Investor  16 พฤศจิกายน 67

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

การวิเคราะห์แบบหา “ผู้ชนะ” ในอุตสาหกรรมที่ “กำลังเติบโต” ซึ่งเป็นหลักการสำคัญอย่างหนึ่งของ VI โดยเฉพาะที่เน้นการลงทุนระยะยาวนั้น  ในธุรกิจที่เกี่ยวกับ “สินค้าผู้บริโภค” มักจะมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในหมู่นักวิเคราะห์จำนวนมาก

ประการแรกก็คือ  บริษัทที่กำลังวิเคราะห์นั้น  อยู่ใน “ธุรกิจ” อะไรกันแน่และใครคือ “คู่แข่งขัน” โดยตรง  ประเภทที่  “ซัดกันหมัดต่อหมัด” ผู้ชนะได้ตลาดเพิ่มและผู้แพ้มีลูกค้าหรือมีรายได้น้อยลง

ตัวอย่างเช่น  หุ้น A เป็นผู้นำโดดเด่นมานานในธุรกิจภัตตาคารอาหารสุกี้หม้อไฟ  มีร้านส่วนใหญ่ในห้างหรูสมัยใหม่  ลูกค้าหลักเป็นคนเดินห้างที่มีฐานะทางเศรษฐกิจระดับประมาณ  B+ ขึ้นไป  ในเวลาต่อมา  หุ้น ก. เปิดภัตตาคารสุกี้หม้อไฟเช่นเดียวกัน  แต่มีร้านส่วนใหญ่นอกห้างหรู  ลูกค้าหลักมีอายุน้อยกว่าและมีฐานะทางเศรษฐกิจประมาณ C+ หรือ B-  

เวลาผ่านไป  ยอดขายของภัตตาคารของ A ค่อย ๆ ลดลง  ในทางตรงกันข้าม  ภัตตาคารของ ก. เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและกลายเป็นผู้นำรายหนึ่งของภัตตาคารสุกี้หม้อไฟ  และด้วยอัตราเร่งของร้านและรายได้ที่เพิ่มขึ้น  นักวิเคราะห์หลายคนก็เริ่มคิดว่าบริษัท ก. จะกลายเป็นผู้นำอันดับหนึ่งแทน A ที่ดูเหมือนว่า “กำลังแพ้” ในธุรกิจ “ภัตตาคารสุกี้หม้อไฟ”

ความผิดพลาดของการวิเคราะห์อยู่ที่การกำหนดว่า 2 บริษัทนี้อยู่ในธุรกิจเดียวกัน  คือสุกี้หม้อไฟ  และคนชอบสุกี้ของ ก. มากกว่า A อาจจะเพราะว่า “มันอร่อยและถูกกว่ามาก” หรือมันดูทันสมัยอินเทรนด์เหมาะสำหรับ “คนรุ่นใหม่”

ความเป็นจริงก็คือ  ธุรกิจ “อาหารภัตตาคาร” นั้น  ไม่ได้แบ่งจาก “ประเภทของอาหาร”  แต่แบ่งจากคุณภาพและราคาของอาหารที่ขายในภัตตาคาร  ผู้ที่แข่งขันกันจริง ๆ คือภัตตาคารที่ขายอาหารที่มีระดับราคาและคุณภาพใกล้เคียงกัน  ซึ่งจะดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่มีระดับรายได้ใกล้เคียงกัน  เช่น  คนกลุ่มรายได้สูงระดับ A B หรือ C เป็นต้น

พูดง่าย ๆ  ก็คือภัตตาคาร A ไม่ได้แข่งขันขายสุกี้กับ ก. โดยตรง  ลูกค้าของทั้ง 2 บริษัทนั้นเป็นคนละกลุ่มกัน  มีน้อยที่ลูกค้าของ A ไปกินสุกี้ที่ร้าน ก. บางทีพวกเขาจะบอกว่า  “ไม่อร่อย” คุณภาพอาหารยังไม่ค่อยดี  บริการช้ารอนานเกินไป  เป็นต้น

ส่วนลูกค้าของ ก. นั้น  มีน้อยที่ไปกินร้าน A  พวกเขามักจะบอกว่า  “แพง”  และมักจะขึ้นราคาไปเรื่อย ๆ  บางคนก็บอกว่า “เลิกไปนานแระ”  เพราะของ ก. คุ้มและดีกว่า  แล้วก็อาจจะเล่าด้วยภาพในโซเชียลว่าภัตตาคาร A เหงา  ส่วนของ ก. คนแน่นร้าน  เป็นการยืนยันด้วยว่า ก. ดีกว่า A และเป็น “ผู้ชนะ” 

ความจริงก็คือ  คู่แข่งที่แท้จริงของ A คือภัตตาคารที่อยู่ในห้างหรู  ไม่ว่าพวกเขาจะขายอาหารอะไร  อาจจะเป็นร้านสเต็กระดับปานกลางที่ราคาต่อหัวเฉลี่ยการกินต่อครั้งใกล้เคียงกับสุกี้ของ A  อาจจะเป็นร้านอาหารญี่ปุ่นซึ่งบางทีก็มีหุ้น A เป็นเจ้าของด้วยซ้ำ  และเหตุผลที่ A ตั้งภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นมาแข่งกับตนเองก็เพราะว่าลูกค้าหรือผู้บริโภคอาหารนั้น  ถึงจะชอบเมนูบางอย่างเป็นพิเศษมากกว่า  แต่ธรรมชาติของมนุษย์นั้นจะไม่ชอบกินอะไรที่ซ้ำกันบ่อย  แม้แต่ “คนรักสุกี้” เองนั้นก็อาจจะกินแค่  “เดือนละหน”

ยอดขายของภัตตาคารสุกี้ A อาจจะตกเพราะเหตุผลมากมายรวมถึงการเพิ่มขึ้นของภัตตาคารในห้างหรูอย่างมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  คนอาจจะเปลี่ยนรสนิยมไม่ชอบกินสุกี้มากดังแต่ก่อนเพราะมีอาหารแปลกใหม่มาขายมากมาย  เศรษฐกิจอาจจะไม่ค่อยดี  คนจึงใช้จ่ายน้อยลง  แต่ทั้งหมดนั้นไม่ได้เกี่ยวกับความสำเร็จในการขยายตัวของภัตตาคาร ก. เลย

เพราะภัตตาคาร ก. อาจจะชนะในตลาดของคนที่เคยกินหมูกระทะที่มีราคาพอ ๆ  กันแต่คุณภาพ “สู้ไม่ได้”  หรือตลาดของคนที่เพิ่งเริ่มทำงานใหม่หลังจบการศึกษาที่ยังมีเงินเดือนไม่มาก  และก็แข่งกับภัตตาคารสเต็กราคาถูกหรืออาหารจานด่วนเช่น แฮมเบอร์เกอร์ เป็นต้น 

ลองมาดูอีกกรณีหนึ่งที่อาจจะคล้ายกันก็คือ  หุ้นสะดวกซื้อ X ที่เป็นผู้นำที่โดดเด่นในอุตสาหกรรมขายความสะดวกในการซื้ออาหารและสินค้าที่อยากหรือจำเป็นต้องใช้เร่งด่วน  ในเวลาต่อมาก็เริ่มมีบริษัท Y มาเปิด “ร้านสะดวกซื้อ” เช่นเดียวกันแต่เน้นที่การขายสินค้าของชำมากกว่า “อาหารพร้อมกิน” แบบร้านสะดวกซื้อ X หรือถ้าจะเข้าใจง่ายก็คือ  คล้ายกับร้าน “มินิมาร์ท” หรือร้านขายของชำแบบเดิมแบบเดิมมากกว่า  อย่างไรก็ตาม  สินค้าของร้าน Y จำนวนหนึ่ง อาจจะซัก 40-50% จะซ้ำกับของ X

แรกเริ่ม  Y จะเน้นเปิดตามหัวเมืองในย่านชุมชนที่มีรายได้ต่ำกว่า X  และก็ประสบความสำเร็จขยายตัวอย่างรวดเร็ว  เหตุผลน่าจะมาจากการสามารถเอาชนะร้านชำหรือโชห่วยดั้งเดิมที่หดตัวถดถอยลงไปเรื่อย ๆ  อยู่แล้วเนื่องจากธุรกิจเป็นแบบครอบครัวที่มีต้นทุนสูงและประสิทธิภาพต่ำ  สินค้าไม่มีคุณภาพพอ  

อีกเหตุผลหนึ่งก็อาจจะเป็นว่า  บริษัท Y มีความสามารถในการบริหารเหนือกว่าร้าน “มินิมาร์ท” ที่เคยรุ่งเรืองในยุคก่อนที่ร้านสะดวกซื้อ X จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำเด็ดขาด  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใด  สะดวกซื้อ Y น่าจะประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในการเข้าไปจับตลาด  “ระดับ C” ของสินค้าสะดวกซื้อ  แต่ไม่ได้เป็นคู่แข่งตรง ๆ กับร้านของ X แบบเดียวกับร้านสะดวกซื้อเครือข่ายอื่นโดยเฉพาะที่เป็นต่างชาติที่เน้นที่ลูกค้ากลุ่มระดับกลางคือ C+ ขึ้นไป  ที่ต้องแข่งทางด้านอาหารพร้อมกินด้วย

สินค้าผู้บริโภคในตลาดหุ้นนั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะยังเติบโตได้อยู่แม้ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตช้าลงมาก  เหตุผลก็เพราะว่าตลาดโดยรวมใหญ่มาก  และผู้เล่นหน้าใหม่สามารถเข้าไปแย่งส่วนแบ่งตลาดจากผู้เล่นเดิมได้

ตัวอย่างเช่นของกินเล่นจำพวก “ของหวาน” ซึ่งในความหมายผมนั้นรวมไปถึงน้ำซึ่งเติมหรือมีความหวานด้วย  และนี่ก็เหมือนกัน  การแบ่งตลาดนั้นขึ้นอยู่กับเรื่องของรายได้ของลูกค้า  ไม่ได้แบ่งตามตัวสินค้าว่าเป็นอะไร

ร้านขายขนมหวาน M เป็นร้านที่โดดเด่นมากจนกลายเป็นสัญลักษณ์ขนมอร่อยที่แม้แต่นักท่องเที่ยวต่างประเทศบางคนต้องมาชิมเมื่อมาเมืองไทย  ว่าที่จริง M ก็มีร้านอยู่ในประเทศที่คนมีรายได้สูงอย่างฮ่องกงหรือสิงคโปร์ด้วยและก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง  อย่างไรก็ตาม  การขยายตัวในต่างประเทศก็ยังจำกัด  อาจจะด้วยเหตุผลว่านั่นเป็น  “สินค้าไทย” ที่มีข้อด้อยที่จะพูดถึงต่อไปในกรณีอื่น

การขยายตัวของ M ในตลาดไทยเองนั้น  ผมก็คิดว่าน่าจะมีข้อจำกัดเช่นเดียวกัน  เหตุผลก็เพราะว่า  แม้ M ดูเหมือนว่าจะมีคู่แข่งน้อย  และคู่แข่งที่จะใหญ่พอเป็นเรื่องเป็นราวก็แทบจะไม่มี  แต่ “ตลาด” ของ M นั้น  น่าจะอยู่ในกลุ่มผู้บริโภคระดับ  A- หรือ B+ เป็นหลัก  ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีขนาดเล็กและมักกระจุกกันอยู่ในห้างหรูมากและในหัวเมืองขนาดใหญ่  ดังนั้น  การเติบโตของธุรกิจก็จะค่อนข้างจำกัด  เรียกว่าเป็นตลาด Niche ไม่ใช่ตลาด Mass ที่คนจำนวนมากมาใช้บริการ

สินค้าผู้บริโภคที่เป็นขนมขบเคี้ยว R และเครื่องดื่มผสมน้ำหวานอีกหลายยี่ห้อที่มีความโดดเด่นในตลาดไทย  และขยายตลาดไปต่างประเทศโดยเฉพาะในจีนที่เป็นตลาดที่ “ใหญ่มาก” เพราะมีประชากรกว่าพันล้านคน  ในช่วงเร็ว ๆ นี้ ก็ประสบกับปัญหายอดขายโตช้าลงหรือเริ่มหดตัว  เหตุผลที่มีการพูดกันอาจจะมาจากการที่เศรษฐกิจโดยเฉพาะที่จีน “ถดถอย” ลง  นั่นก็เป็นสิ่งที่ต้องระวังว่าอาจจะไม่ใช่  เพราะที่จริงเศรษฐกิจจีนก็ยังโตระดับ 3-4%   โดยเฉพาะการบริโภคอาหารหรือขนมผมคิดว่าไม่ลดแน่  แต่สิ่งที่ผมหวั่นเกรงว่าสินค้าผู้บริโภคไทยจะขายในต่างประเทศได้ยากขึ้นนั้นอยู่ที่พฤติกรรม  “มองขึ้น” ที่ติดอยู่ในยีนของมนุษย์  ซึ่งบอกว่า

คนนั้น  มักจะชอบใช้สินค้าจากประเทศที่ก้าวหน้ากว่าตนเองนั่นคือ  “มองขึ้น” ตัวอย่างง่าย ๆ  ก็คือคนไทย  ชอบใช้สินค้าจากอเมริกา  ญี่ปุ่น  เกาหลี  หรือประเทศยุโรป  ที่ก้าวหน้ากว่าไทย  แต่ไม่ชอบสินค้าจากเวียตนามหรืออินโดนีเซียที่ด้อยกว่าไทย  ว่าที่จริงถ้ามองย้อนหลังไปซัก 20-30 ปี เราก็ไม่ชอบสินค้าเกาหลีด้วยเพราะตอนนั้นเกาหลีก็ไม่ได้เจริญกว่าไทยซักเท่าไร

ประเด็นก็คือ  คนจีนนั้น  เมื่อ 20-30 ปีก่อนก็อาจจะชอบใช้สินค้าไทยเพราะจีนยังไม่เจริญมาก  นั่นก็ทำให้สินค้าไทยขายคนจีนได้ดี   อย่างไรก็ตาม  ตอนนี้จีนเจริญกว่าไทยไปแล้ว  เป็นไปได้ว่าคนจีนจะชอบสินค้าผู้บริโภคไทยน้อยลง  และตรงกันข้าม  คนไทยที่ไม่เคยชอบสินค้าผู้บริโภคจีนเลย  กลับเริ่มชอบสินค้าจีนแล้ว  เห็นได้จากการที่คนไทยแห่กันกินเครื่องดื่มน้ำหวานราคาไม่แพงจากจีนที่กำลังเพิ่มขึ้นเป็นดอกเห็ด  รวมถึงซื้อรถไฟฟ้าจากจีนมากที่สุด

ที่จริงยังมีประเด็นของการวิเคราะห์สินค้าผู้บริโภคอีกมากที่นักวิเคราะห์ควรจะต้องทำความเข้าใจ  เพราะในระยะหลัง ๆ  หุ้นกลุ่มนี้เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหุ้นมากขึ้นเรื่อย ๆ  การเข้าไปลงทุนมีทั้งความเสี่ยงและโอกาส  วิธีที่จะทำกำไรหรือเอาตัวรอดได้ก็คือ  รู้วิธีการวิเคราะห์ที่ถูกต้อง


VVI Membership 1,990 บาท แบบทั่วไป
👉 https://class.vietnamvi.com/product/p1-membership-superstock/

👉 VVI Membership + Class 1-3
ราคา 2,980 บาทได้ 1 ปี (คุ้มกว่า)
https://class.vietnamvi.com/product/p4-triple-packs/