โลกในมุมมองของ Value Investor 11 มกราคม 68
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
สัปดาห์ที่แล้ว หุ้นตัวหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ตกลงมาถึง “ฟลอร์” ที่ 30% เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน และวันที่ 4 ก็ยังตกต่อจนราคาลดลงถึงกว่า 70% มูลค่าตลาดหรือ Market Cap.ของหุ้นลดลงจากระดับหมื่นล้านบาทเหลือเพียงประมาณ 3 พันล้านบาทในเวลาเพียง 3-4 วัน อาการแบบนี้ผมอยากจะเรียกว่า “Sudden Death” หรือ “การตายที่เกิดขึ้นทันทีหรือภายในไม่กี่นาทีจากสาเหตุอะไรก็ตามที่ไม่ได้เกิดจากความรุนแรง”
เพราะบริษัทหรือหุ้นที่กล่าวถึงนั้น ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ไม่มีข่าวที่กระทบทางด้านลบกับการดำเนินงานโดยตรงแม้ว่าตลาดหุ้นในช่วงนั้นอาจจะตกลงมาประมาณ 2-3% จากความกังวลในระดับโลกที่เข้ามากระทบกับตลาดไทย แต่ผลกระทบกับตัวบริษัทมีน้อยมาก อย่างไรก็ตาม คำชี้แจงของบริษัทหลังจากหุ้นตกลงมาแล้วก็คือ ผู้บริหารถูกบังคับขายหุ้นที่นำไปจำนำไว้กับสถาบันการเงินจำนวนมาก ดังนั้น สาเหตุที่หุ้นตกลงมาหนักมากระดับ “ตาย” ทันทีก็คือการที่หุ้นที่ถูกบังคับขายนั้น “ไม่มีคนรับ” ราคาหุ้นจึงตกลงมาแบบไม่มี “พื้น”
ปริมาณการซื้อ-ขายหุ้นในช่วงที่หุ้นตกลงมาถึงฟลอร์ 3 วันติดต่อกันนั้นมีเพียง 36 ล้านหุ้น คิดเป็นเม็ดเงินเพียง 113 ล้านบาท ในขณะที่เงินกู้ที่ใช้หุ้นจำนำและจะต้องขายหุ้นเพื่อเอาไปคืนเงินกู้นั้น ว่ากันว่าอาจจะเป็นหลัก “พันล้านบาท” ดังนั้น คนที่ “ขายหุ้นทัน” จึงมีน้อยมาก คนที่ถือหรือเล่นหุ้นตัวนี้ส่วนใหญ่จึงขาดทุนแบบ “หายนะ” คือขาดทุนถึง 70% ในเวลาเพียง 4 วันทำการ
ข้อสรุปของผมก็คือ หุ้นตัวนั้น ที่มีราคาหรือมูลค่าหุ้นสูงถึงหมื่นล้านบาท และถ้ามองย้อนหลังกลับไป 2-3 ปี มีมูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านบาท เป็นราคาที่ “ไม่อิงกับพื้นฐาน” ของกิจการ แต่เป็นราคาของหุ้นที่ “ถูก Corner” มานานหลายปีแล้ว เห็นได้จากราคาที่สูงมากจนทำให้ค่า PE สูงระดับเกิน 100 เท่าจากกำไรปกติของบริษัทต่อเนื่องมาหลายปี
การคอร์เนอร์หุ้น โดยเฉพาะที่สามารถ “ยันราคา” หุ้นไว้ได้นานหลายปีนั้น จำเป็นต้องมี “Story” หรือเรื่องราวและความสามารถของบริษัทที่จะเติบโตต่อเนื่องยาวนานในธุรกิจแห่งอนาคตที่จะไม่ถูกทำลายโดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ หรือไม่อย่างนั้นบริษัทก็จะต้องมีการขยายไปทำธุรกิจ “แห่งอนาคต” ผ่านการตั้งหรือซื้อกิจการต่าง ๆ ซึ่งทั้งหมดนั้นมักจะต้องอาศัยเม็ดเงินลงทุนจำนวนมาก
แต่การที่จะเพิ่มทุนในส่วนของเจ้าของหรือการออกหุ้นใหม่นั้นก็มักจะทำให้นักลงทุนไม่ยอมรับและอาจจะต้อง “ถอย” ตั้งแต่แรก ดังนั้น บริษัทจึงมักจะต้องกู้เงินหรือออกหุ้นกู้เพื่อระดมเงินมาลงทุนทำธุรกิจเพิ่ม ซึ่งการกู้เงินหรือออกหุ้นกู้นั้นมักจะมีเวลาต้องใช้คืนในเวลาเพียงไม่กี่ปี ส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่ที่ 3-5 ปี
ประเด็นต่อมาของการทำคอร์เนอร์หุ้นก็คือ การเข้าไปซื้อหุ้นหรือควรจะเรียกว่า “ไล่ซื้อหุ้น” ที่เป็น “Free Float” ที่เป็นของนักลงทุนในตลาดให้เหลือน้อยลงเรื่อย ๆ จน “หมด” ซึ่งก็จะทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ จนค่า PE อาจจะไปถึง “100 เท่า” จากกำไรปกติ
แต่การที่จะซื้อหุ้นจำนวนมากระดับนั้นก็จะต้องใช้เงินมหาศาล คนที่ทำคอร์เนอร์มักจะไม่ได้มีเงินสดระดับนั้นแม้ว่ามองจากภายนอกเขาอาจจะเป็นคนรวยระดับ “มหาเศรษฐี” โดยเฉพาะหลังจากที่ราคาหุ้นขึ้นไปสูงลิ่วแล้ว เขาจึงมักจะต้องกู้เงินโดยใช้หุ้นที่มูลค่าสูงขึ้นมามากมาวางจำนำเป็นหลักประกัน ซึ่งในตลาดหุ้นไทยนั้น มีสถาบันที่รับจำนำหุ้นจำนวนมาก บางแห่งก็มาจากต่างประเทศ และบางทีก็ใช้เครื่องมืออื่น เช่น บล็อกเทรด เป็นตัวช่วยระดมเงิน
สรุปก็คือ ในกระบวนการคอร์เนอร์หุ้นนั้น จะมีการกู้เงินมาใช้จำนวนมาก ทั้งการกู้โดยบริษัทและการกู้เป็นการส่วนตัว ทั้งหมดนั้นโดยมีหุ้นของบริษัทเป็นหลักประกัน และการกู้เงินหรือการระดมเงินจากภายนอกนั้นก็มักจะได้รับการตอบรับจากผู้ให้กู้เป็นอย่างดี เพราะในช่วงเวลาปล่อยกู้ ทุกอย่างยังดูสดใส ภาพทางเศรษฐกิจและการเงินโดยทั่วไปยังดูดี ตลาดหุ้นยังดูดีมีความหวังแม้ว่าจะไม่ได้สดใสนัก
ที่สำคัญก็คือ ตัวบริษัทและผู้บริหารหรือเจ้าของหุ้นเองนั้น ช่วงก่อนหรือระหว่างการคอร์เนอร์หุ้นนั้น ต่างก็เป็น “ดารา” กิจการ “กำลังโต” กำไรดี “มีวิชชั่น” เป็นผู้นำในวงการธุรกิจและ “รวยเป็นบ้า” เป็นเศรษฐีหมื่นล้าน บางคนแทบจะเป็นเศรษฐีระดับ “แสนล้านบาท” เงินกู้ที่ปล่อยไปนั้นมี “ความเสี่ยงต่ำ” โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับราคาหุ้นหลักประกันที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับสภาพคล่องของหุ้นที่สูงมาก
แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป อาจจะซัก 3-4 ปี ภาวะเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของไทยก็เริ่มแย่ลง การเติบโตของบริษัทก็เริ่มถดถอยลง บางแห่งกำไรลดลงด้วยเพราะกิจการหรือธุรกิจที่ขยายไปทำหรือซื้อมาไม่โตอย่างที่คิดและบางแห่งก็ขาดทุนด้วย Story ที่สวยหรูไม่เป็นไปอย่างที่คิด ผลประกอบการของบริษัทที่ทยอยออกมาน่าผิดหวังไตรมาศแล้วไตรมาศเล่า นักลงทุนบางคนเริ่มขายหุ้นบ้าง ราคาหุ้นไม่ขึ้นอีกต่อไปแต่ค่อย ๆ ตกลงมาช้า ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าของและ/หรือ “สปอนเซอร์” ที่เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่ช่วยคอร์เนอร์หุ้นต่างก็ต้องเข้ามาช่วย “พยุง” ไม่ให้คอร์เนอร์ “แตก”
แต่ถึงจุดหนึ่งเมื่อทุกอย่าง “สุกงอม” ไม่ว่าจะเป็นที่ตัวบริษัทที่ผลประกอบการย่ำแย่จนทำให้คนภายนอก ซึ่งรวมถึงนักลงทุนและสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ทุกคนขาดความมั่นใจ หรือเจ้าของหรือสปอนเซอร์เองก็ไม่สามารถรับภาระในการจ่ายดอกเบี้ยหรือคืนเงินที่กู้มาจำนวนมากได้ วันนั้นก็จะเป็นวันประเภทที่เรียกในหนังสยองขวัญว่า “นรกแตก” และในวงการหุ้นเรียกว่า “คอร์เนอร์แตก” หุ้นตกลงมาจนแทบหมดค่า ชีวิตของคนที่ร่ำรวยจากหุ้นหรือได้กำไรมากมายจากหุ้นอาจจะเปลี่ยนไปในชั่วข้ามคืน
หุ้นบางตัวนั้น เหตุการณ์อาจจะเริ่มจากการที่บริษัท “ไปไม่ไหว” ทั้ง ๆ ที่เคยเป็น “บริษัทดี” บางตัวแทบจะเป็น “ดารา” แต่การลงทุนที่ผิดพลาดประกอบกับภาวะของอุตสาหกรรมที่ตกต่ำลง ประกอบกับการกู้เงินที่มากขึ้นมาก ทำให้สถานะการเงินของบริษัทมีปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งนั่นทำให้ทุกอย่างของบริษัทเปลี่ยนแปลงไป คนคิดว่าบริษัทคงใกล้จะล้มละลาย ดังนั้น ทุกคนก็เทขายหุ้น คอร์เนอร์แตกทันที
หุ้นบางตัวนั้น บริษัทก็ยังคงไปไหว แต่เจ้าของและคนที่ทำคอร์เนอร์หุ้นไปไม่ไหว ส่วนหนึ่งก็อาจจะเพราะว่าหุ้นมี Free Float มากเกินไป ต้องใช้เงินกู้จำนวนมากในการซื้อหุ้นจน “หมด” และอาจจะต้องคอยดูแลไม่ให้หุ้นตกลงมามากเกินไป พูดง่าย ๆ กำลังเงินไม่พอและอาจจะ “ประเมินผิด” คิดว่าบริษัทมีสตอรี่พอและนักลงทุนยังสนใจที่จะเล่นหุ้นคอร์เนอร์อยู่
แต่สถานการณ์แวดล้อมกลับเปลี่ยนแปลงไป ตลาดหุ้นเริ่มหงอยเหงาและนักลงทุนถอยออกจากตลาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้คนเลิกสนใจเล่นหุ้นคอร์เนอร์อย่างกะทันหัน ผลก็คือ หุ้นตกและทำให้คนกู้เงินและเล่นหุ้นด้วยมาร์จินถูกบังคับขายจำนวนมาก ทำให้หุ้นตกลงมาแบบถล่มทะลายกลายเป็น “คอร์เนอร์แตก” และเป็น “Sudden Death” ของหลาย ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตัวบริษัทเอง
ในหลาย ๆ กรณี และอาจจะเป็นส่วนมากด้วยซ้ำก็คือ มีทั้งการกู้เงินจำนวนมากโดยบริษัทและการกู้เงินเป็นส่วนตัวเพื่อที่จะทำคอร์เนอร์หุ้นให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งในอดีตก็มักจะเป็นอย่างนั้น คือถ้าประเมินดีแล้วและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเป็นใจ และบริษัทอยู่ในอุตสาหกรรมที่ดีและกำลังมีผลประกอบการที่น่าประทับใจ โอกาสคอร์เนอร์หุ้นได้สำเร็จก็เป็นไปได้สูง
แต่การกู้เงินจำนวนมาก “เกินกำลัง” ก็มักจะเป็น “ดาบสองคม” คือถ้าเกิดความผิดพลาด ไม่ว่าจะเกิดจากสิ่งใดหรือฝ่ายใด มันก็กลับมาทำร้ายตนเอง “ถึงตาย” ในชั่ว “ข้ามคืน”
ผมเองยังจำบทเรียนสมัยต้มยำกุ้งได้ดี ในตอนนั้น สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของไทยยังดีหรือคึกคักมาก อุตสาหกรรมต่าง ๆ เกือบทุกอุตสาหกรรมกำลังเติบโต แทบทุกบริษัทขยายธุรกิจโดยการกู้เงินมหาศาลเช่นเดียวกับเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารที่กู้เงินมาลงทุนรวมถึงการเล่นหุ้น โดยเฉพาะของตนเอง แต่แล้ว สภาพทุกอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป เริ่มต้นจากค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลงไปทันที “ชั่วข้ามคืน” จาก 25 บาทเป็น 50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน
ผลก็คือ คนที่กู้เงินจำนวนมาก ที่มักจะเป็นการกู้เงินดอลลาร์ล้มละลายเป็นใบไม้ร่วงในชั่วข้ามคืน เป็น “Sudden death” กันเกือบทั้งประเทศ และเป็นสิ่งที่ติดอยู่ในใจผมตลอดมา และตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาผมก็แทบจะไม่กู้เงินเลย มีเพียงครั้งเดียวที่ผมใช้เงินมาร์จินซื้อหุ้นตัวหนึ่งคิดเป็นไม่ถึง 10% ของพอร์ต และรีบขายทำกำไรไปเล็กน้อย หลังจากนั้นก็ไม่เคยกู้เงินเพื่อการลงทุนอีกเลย เพราะกู้แล้วผมมีความกังวลไม่สบายใจเลยแม้ว่ามันจะเป็นเพียงเล็กน้อยและไม่น่าจะเกิดปัญหา ผมเชื่ออย่างที่บัฟเฟตต์พูด “ถ้าคุณไม่เก่งจริง คุณไม่ควรจะกู้เงินมาเล่นหุ้น และถ้าคุณเก่งจริง คุณก็ไม่มีความจำเป็นต้องกู้เงินมาลงทุน” (เพราะคุณรวยได้อยู่แล้วด้วยฝีมือ)
VVI Membership แบบทั่วไป 1,990 บาท
https://class.vietnamvi.com/pro…/p1-membership-superstock/
VVI Membership + Class 1-3
ราคา 2,980 บาทได้ 1 ปี (คุ้มกว่า)