โลกในมุมมองของ Value Investor 18 มกราคม 2568
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ในช่วงเร็ว ๆ นี้ เกือบทุกสัปดาห์จะมีหุ้นที่บ่อยครั้งถูกคิดว่าเป็น “หุ้นดี” หรือ “หุ้นสุดยอดแห่งยุคสมัย” เกิดอาการ “คอร์เนอร์แตก” นั่นคือ ราคาหุ้นตกลงมาอย่างแรงโดยที่ไม่ได้มีเหตุการณ์ร้ายแรงหรือผิดปกติกับตัวบริษัท และหลังจากนั้นอีกหลายวัน ราคาหุ้นก็ยังคงตกลงมาต่อเนื่อง จนบางทีราคาตกลงไปเกินครึ่งก่อนที่ทางตลาดหลักทรัพย์และ/หรือบริษัทจะแถลงว่าเกิดอะไรขึ้น?
ส่วนใหญ่แล้ว คำตอบก็คือ ไม่มีอะไร! บริษัทยังดำเนินการตามปกติ ผลประกอบการก็ปกติ บางทีจะบอกว่าดีขึ้นด้วยซ้ำ เหตุการณ์หุ้นตกส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการขายหุ้นที่อาจจะถูกบังคับขายหรือ Force Sale โดยสถาบันการเงินที่รับจำนำหุ้นไว้จำนวนมากที่ต้องการเงินคืนและคนจำนำ ซึ่งบางครั้งก็คือผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัท ไม่มีเงินสดที่จะไปใช้คืนเงินที่กู้มามากมาย
และเงินที่กู้มาก็เพื่อที่จะไป “ไล่” ซื้อหุ้นจำนวนมากจนทำให้ราคาหุ้นวิ่งขึ้นสูงลิ่ว ซึ่งก็เป็นกระบวนการที่เรียกว่าการ “Corner หุ้น” ซึ่งทำให้หุ้นมีราคาหรือมูลค่าสูงเกินความเป็นจริงไปมาก และทำให้คนทำมีความมั่งคั่งสูงเกินความเป็นจริงไปมาก และก็เป็นอยู่อย่างนั้นมา บางทีหลายปี
มองในเชิงเศรษฐศาสตร์ก็อาจจะอธิบายได้ว่า ราคาหุ้นปกตินั้นถูกกำหนดโดยความต้องการซื้อหุ้นและปริมาณหุ้นที่คนต้องการขายที่เรียกว่า “หุ้น Free Float” ซึ่งโดยปกติแล้ว ราคาของหุ้นก็จะอยู่ที่การประเมินหรือคาดการณ์ตามพื้นฐานของกิจการเฉพาะอย่างยิ่งก็คือกำไรของบริษัทและมุมมองในอนาคตว่าจะเติบโตไปแค่ไหนอย่างไร
พูดง่าย ๆ ราคาหุ้นปกติจะขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อของคนที่ลงทุนที่เน้นพื้นฐานของกิจการ และ เช่นเดียวกับคนที่ต้องการขายหุ้นที่ประเมินมูลค่าพื้นฐานเช่นเดียวกัน เมื่อคนสองฝ่ายเจอกันในปริมาณหุ้นที่เท่ากัน ราคาจึงตกลงกันและเกิดเป็น “ราคาตลาด” ที่เหมาะสม เช่น ถ้าเป็นสถาบันการเงินระดับปานกลาง ค่า PE ก็ควรจะประมาณไม่เกิน 10 เท่า ที่โดดเด่นหน่อย อาจจะมีค่า PE “ถึง 12-13 เท่า” เป็นต้น
วันหนึ่ง หลายปีมาแล้ว ในตลาดหุ้นไทย อาจจะมีคนค้นพบว่า วิธีที่จะทำให้หุ้นมีราคาสูงขึ้นได้ก็คือการเปลี่ยนหรือ “ชุบตัว” ให้คนมองภาพของบริษัทหรือหุ้นเปลี่ยนไปจากธรรมชาติที่แท้จริงได้ เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ การสร้างเรื่องราวหรือ Story ให้กับบริษัท จากบริษัทธรรมดาหรือเก่งในระดับหนึ่งให้กลายเป็นบริษัทที่เก่งหรือโดดเด่น บางที “ระดับโลก” หรือจากบริษัทที่โตเท่า ๆ หรือดีกว่า GDP เล็กน้อย ให้กลายเป็นหุ้นโตเร็วมากแบบ “Super Growth” โตปีละ 30-40% เป็นต้น
แต่ลำพังการสร้างเรื่องนั้น มักจะไม่พอที่จะทำให้หุ้นขึ้นไปได้ไกลมากหรือเร็วมาก จำเป็นต้องมี “ความต้องการจริงของนักลงทุน” ที่ “ซื้อสตอรี่” นั้น ดังนั้น “ความต้องการเทียม” จึงเกิดขึ้น อาจจะโดยผู้บริหารหรือเจ้าของบริษัท หรือบางทีก็เป็นคนนอกที่มองเห็นโอกาสที่จะทำคอร์เนอร์ได้สำเร็จ แต่ในความเป็นจริงก็คือ มักจะเป็นการร่วมมือกันทั้งสองฝ่ายมากกว่า เพราะการร่วมมือจะทำให้เกิดพลังและโอกาสสำเร็จสูงขึ้นมาก
ความต้องการเทียมก็คือ การกวาดซื้อหุ้นทั้ง ๆ ที่ตนเองก็ไม่ได้มีความต้องการซื้อขนาดนั้นและ/หรือในราคาระดับนั้น ว่าที่จริง ในกรณีที่เป็นเจ้าของบริษัทอยู่แล้ว จะซื้อหรือเอาหุ้นมากขนาดนั้นไปทำอะไร? และที่เอาหุ้นเข้าตลาดนั้นก็ตั้งใจจะขายลดปริมาณหุ้นของตนให้นักลงทุนคนอื่นอยู่แล้ว ดังนั้น การซื้อหุ้นคืนจึงไม่มีเหตุผลอื่นนอกจากเพื่อที่จะทำให้หุ้นขึ้นมาแรงและสร้างความมั่งคั่งให้ตนเองและเพื่อที่จะขายออกไปในภายหลัง
Demand หรือความต้องการเทียม ไม่ว่าจะมาจากเจ้าของหรือนักลงทุนรายใหญ่ที่เข้ามาซื้อหุ้น ทำให้ราคาหุ้น “สูงลิ่ว” ผิดธรรมชาติมาก หุ้นจำนวนมากที่เกิดจากการทำคอร์เนอร์มีค่า PE สูงกว่าค่า PE ปกติบางทีหลายเท่า ทั้ง ๆ ที่คุณสมบัติหรือความสามารถในการแข่งขันไม่ได้เหนือกว่าหุ้นอื่น ๆ เลย อาจจะมีบ้างที่อาจจะ “โตเร็วกว่า” ซึ่งก็สามารถทำให้คนหลงเชื่อได้ว่าเป็นบริษัทที่ “ดีกว่า” อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งก็เป็นเรื่องของการ “สร้างการเติบโต” แต่เป็นการเติบโตที่ไม่มีคุณภาพ อาจจะโดยการซื้อกิจการหรือขยายไปทำกิจการที่มีความเสี่ยงสูงและอาจจะล้มเหลวในภายหลัง
เวลาผ่านไปหลายปี หุ้นที่ถูกคอร์เนอร์จำนวนไม่น้อยทยอย “คอร์เนอร์แตก” ราคาหุ้นล่มสลาย อย่างไรก็ตาม ยังมีหุ้นจำนวนไม่น้อยที่ยังอยู่ในคอร์เนอร์ได้แม้ว่าราคาจะทยอยลดลงเรื่อย ๆ แต่ค่า PE ก็ยังสูงกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งก็เพราะกำไรของบริษัทไม่เพิ่มขึ้น บางแห่งกลับลดลง และนั่นสร้างความกังวลให้กับคนที่ยังถือหุ้นอยู่และทำให้เขาอยากขาย โดยเฉพาะในยามที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซาและตลาดหุ้นซึมและตกต่ำลงไปเรื่อย ๆ
ถึงตอนนี้ดูเหมือนว่า แม้แต่หุ้นที่มีศักยภาพ และช่วงหนึ่งแทบจะเป็น “หุ้นแห่งอนาคต” ก็ไม่สามารถชักจูงให้คนเชื่อว่าพื้นฐานของกิจการสามารถรองรับ “ราคาหุ้นในคอร์เนอร์” ที่อยู่มานานได้ ความต้องการเทียมที่เข้าไปซื้อหุ้นในช่วงการทำคอร์เนอร์กำลังถูกดึงกลับโดยสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้ไปทำคอร์เนอร์ และนั่นทำให้ราคาหุ้นควรจะกลับไปสู่พื้นฐานที่แท้จริงของบริษัท
และพื้นฐานที่แท้จริงของบริษัทมักจะต้องเกิดจากนักลงทุนจำนวนมากที่วิเคราะห์หุ้นและประเมินราคาที่ตนเองต้องการซื้อหรือขายเพื่อหวังผลตอบแทนระยะยาวที่เหมาะสม ไม่ใช่เกิดจากความเห็นหรือความต้องการซื้อหรือขายของคนเพียงไม่กี่คนที่ใช้เม็ดเงินก้อนใหญ่เข้าไปซื้อ-ขายในหุ้น Free Float ที่มีจำนวนน้อย ซึ่งทำให้สามารถชี้นำราคาได้อย่างแทบจะไม่จำกัด
คำถามสำคัญมากก็คือ หุ้นที่ “คอร์เนอร์แตก” ราคาตกลงมาหนักมาก บ่อยครั้งเกิน 50% และบางตัวถึง 80% นั้น เราควรเข้าไปซื้อลงทุนหรือไม่? เหนือสิ่งอื่นใด บางบริษัทก็บอกว่าบริษัทไม่ได้มีปัญหาอะไรและยังดีอยู่ “ตามปกติ” ทุกอย่างเป็นไปตามแผน ดังนั้น นั่นหมายถึงว่าราคาหุ้นควรกลับไปที่เดิมก่อนคอร์เนอร์แตกหรือไม่?
คำตอบเบื้องต้นของผมก็คือ การที่จะหวังว่าราคาจะกลับไปที่เดิมได้นั้น ผมคิดว่ามีโอกาสน้อยมาก เนื่องจากหุ้นที่อยู่ในคอร์เนอร์นั้น มี Demand หรือความต้องการถือหุ้นเทียมอยู่ไม่มากก็น้อย ถ้าความต้องการนั้นลดลง คือมีการขายหุ้นออกไปโดยเฉพาะที่ถูก Force Sale ราคาหุ้นก็ต้องตกลงมาค่อนข้างแน่ เราต้องเลิกคิดถึงราคาเก่าไปอย่างสิ้นเชิง
ราคาใหม่ที่หุ้นตกลงมาและเราอาจจะเข้าไปลงทุนได้นั้น ต้องเป็นราคาที่เหมาะสมตามพื้นฐานของธุรกิจ และตัวที่ใช้มากที่สุดก็คือ กำไรและค่า PE ของหุ้นตัวนั้น และนั่นก็กลับมาสู่วิธีวิเคราะห์การลงทุนแบบ VI พันธุ์แท้ดั้งเดิมที่เน้นว่า ราคาหุ้นต้องไม่แพง และการวิเคราะห์ต้องไม่ลำเอียง อย่าตื่นเต้นกับสตอรี่ที่คนสร้างขึ้นเพื่อ “หลอกกินเงิน” เรา เช่นบอกว่าบริษัทนั้นมีผลิตภัณฑ์โดดเด่นเก่งกว่าคู่แข่ง ตลาดเติบโตมหาศาล บริษัทมีกำไรเหนือคู่แข่งเพราะเหตุผลต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนั้น ก็ไม่ต้องเชื่อ “เซียนหุ้น” ที่ถือหุ้นจำนวนมากและนักวิเคราะห์ที่ส่วนใหญ่ก็ฟัง “สิ่งดี ๆ” มาจากผู้บริหารเป็นหลัก
หุ้นคอร์เนอร์แตกบางตัวอาจจะตกลงมา 50% แล้ว แต่เนื่องจากค่า PE ก่อนแตกอยู่ที่ 50 เท่า ดังนั้น PE ใหม่ก็ยังคงสูงถึง 25 เท่า แต่ธุรกิจที่บริษัททำนั้น เป็นอะไรที่มีคนทำกันมาก คู่แข่งสูงมากและบริษัทก็ไม่ได้มีอะไรที่โดดเด่นหรือได้เปรียบคนอื่น ธุรกิจลักษณะนี้เราหาหุ้นที่มีค่า PE 10 เท่า แถมให้ปันผลปีละ 4-5% ได้ไม่ยาก ถ้านึกหุ้นตัวไหนไม่ออกก็ซื้อหุ้นแบ้งค์ขนาดใหญ่ก็ได้ ดังนั้น การที่หุ้นตกลงมา 50% จึงไม่ใช่เหตุผลที่ควรจะซื้อ ตรงกันข้าม ถ้าถืออยู่ก็ควรจะขาย
หุ้นคอร์เนอร์แตกบางตัว ซึ่งอาจจะเป็นส่วนมากของหุ้นที่หุ้นตกถล่มทลายด้วยซ้ำนั้น มีปัญหาที่ตัวบริษัทด้วย บางบริษัทก็ชัดเจนตั้งแต่แรก เพราะเหตุผลที่หุ้นตกนั้นเป็นเพราะบริษัทเจ๊งไม่สามารถชำระหนี้ได้ หรือบริษัทมีการฉ้อฉลที่ถูกจับได้ หรือผลประกอบที่ออกมาขาดทุนหนักมาก เป็นต้น ทั้งหมดนั้นมักทำให้หุ้นตกในระดับหายนะและต้องใช้เวลาฟื้นฟูยาวมาก การเข้าไปซื้อหุ้นเป็นความเสี่ยงที่ประเมินได้ยากมาก ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องเลย
โดยสรุปก็คือ โอกาสที่จะพบกับหุ้นคอร์เนอร์แตกที่ราคาลงมาจนถึงจุดที่จะเข้าซื้อเพื่อลงทุนแบบ VI ในช่วงนี้ดูเหมือนว่าจะยากพอสมควร เหตุผลก็คือ หุ้นส่วนใหญ่ที่อยู่ในคอร์เนอร์ของตลาดหุ้นไทยนั้น มีราคาที่วิ่งขึ้นไปสูงมาก หุ้นจำนวนมากราคาขึ้นไปหลาย ๆ เท่าในเวลาเพียงไม่กี่ปี และทำให้ค่า PE สูงสุดกู่ระดับเดียวกับ “หุ้น 7 นางฟ้า” ของอเมริกา ดังนั้น เวลา “แตก” ลงมา คนก็อยากเข้าไปช้อนซื้อ เพราะคิดว่าลงมามากเกินไป ซึ่งทำให้ค่า PE ลงมาไม่ถึงจุดที่น่าสนใจลงทุนซักที
VVI Membership แบบทั่วไป 1,990 บาท
https://class.vietnamvi.com/pro…/p1-membership-superstock/
VVI Membership + Class 1-3
ราคา 2,980 บาทได้ 1 ปี (คุ้มกว่า)
https://class.vietnamvi.com/product/p4-triple-packs/