วิเคราะห์หุ้นของกินทุกชนิดด้วยยีน

0
174

โลกในมุมมองของ Value Investor       8 กุมภาพันธ์ 2568

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 68 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวขึ้น 20 จุด และถือว่าเป็นการดีดตัวขึ้นแรงหลังจากที่ตกลงมาตั้งแต่ต้นปีถึงเกือบ 10% และเป็นตลาดหุ้นที่  “เลวร้ายที่สุดในโลก” อย่างไรก็ตาม  ในวันนั้น  หุ้น “ขนาดกลาง” ขนาด Market Cap. ระดับประมาณ 10,000 ล้านบาทตัวหนึ่งซึ่งอยู่ในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเกิดอาการ   “Corner แตก” คือราคาหุ้นตกลงมาถึงฟลอร์ 30% มูลค่าหายไปประมาณ 3,000 ล้านบาท  หุ้นมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกว่า 100 ล้านหุ้น คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 1,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 17% ของหุ้นทั้งหมดของบริษัท

เหตุผลที่เห็นได้ชัดน่าจะมาจากการประกาศงบการเงินที่แสดงให้เห็นว่ากำไรของบริษัทนั้น  “ต่ำกว่าคาดมาก”  แม้ว่ารายได้จะยังคงเติบโต  ธุรกิจมีการขยายตัวและขยายสาขา—อย่างต่อเนื่อง  ตั้งแต่อดีตที่ขยายตัวมาตลอด  เพราะร้านของบริษัทนั้น  มีความโดดเด่นและอยู่ใน “เมกาเทรนด์” ของคนที่รักสุขภาพ  เป็นสินค้า “ไฮเอนด์” ที่มี “ราคาแพงแต่คนกินแน่น” และมีภาพของการเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก” สำหรับนักลงทุนหลายคนโดยเฉพาะที่เข้าไปถือหุ้น  และนั่นคงเป็นเหตุผลที่ทำให้ราคาหุ้นแพงมาก  ค่า PE ก่อนหุ้นตกและการประกาศงบไตรมาศ 4 สูงถึงกว่า 50 เท่า

พูดง่าย ๆ  คอร์เนอร์ “แตก” เพราะคนเริ่มตระหนักว่าหุ้นไม่ได้ดีหรือโดดเด่นมากอย่างที่คิด  ซึ่งแสดงออกมาผ่านงบผลประกอบการที่น่าผิดหวัง  ซึ่งว่าที่จริงก็ไม่ได้ดีเท่าไรอยู่แล้วในช่วง 1-2 ไตรมาศที่ผ่านมา  แต่ในช่วงนั้นคนก็ยังไม่แน่ใจและอาจจะทำใจยอมรับได้  เหนือสิ่งอื่นใด  ยอดขายก็ยังโตดี  ชื่อเสียงของร้านก็ยังโดดเด่น  ที่สำคัญ  ราคาหุ้นก็ยังรักษาระดับสูงอยู่ได้ในช่วงที่ตลาดหุ้นย่ำแย่มาตลอด

ผมเองไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไร  เพราะช่วงนี้เป็น “เทศกาล” คอร์เนอร์ “แตก” อยู่แล้ว  เพราะสภาวะแวดล้อมของตลาดหุ้นและหุ้นโดยรวมค่อนข้าง  “เลวร้าย” หุ้นทุกตัวที่มีค่า PE ปกติระดับ 50 เท่านั้น  แทบทุกตัวมีโอกาสคอร์เนอร์แตกสูง  แม้แต่คนที่ทำคอร์เนอร์เอง  ซึ่งก็อาจจะมีหลายคน  ต่างก็อาจจะ “จ้อง” เตรียมทิ้งหุ้นเพื่อทำกำไรมหาศาลหรือหนีเอาตัวรอดกันอยู่แล้ว  ดังนั้น  มีอะไรมา “สะกิด” นิดเดียว  คอร์เนอร์ก็อาจจะแตกได้ทันที

กรณีของหุ้นตัวนี้นั้น  แน่นอนว่าเราไม่รู้ว่ามีคนตั้งใจเข้ามาทำคอร์เนอร์ตั้งแต่แรกหรือเปล่า  อาจจะเป็นไปได้ว่าหุ้นถูกคอร์เนอร์เพราะนักลงทุนเข้าใจผิดถึง  “คุณค่า” ของกิจการ  ว่าเป็นกิจการที่ดีเยี่ยม  เป็น “ผู้ชนะ”  ใน “เมกาเทรนด์” ที่คนรุ่นใหม่—และคนรุ่นเก่าที่มีเงิน  สนใจกินอาหารเพื่อสุขภาพและสะอาดปลอดสารพิษ  ซึ่งนี่ก็เป็นเงื่อนไขสำคัญของการเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก” ที่แท้จริง  “ตามตำรา” เพียงแต่ว่าการวิเคราะห์นั้นอาจจะยังไม่ครบถ้วนและอาจจะ “ผิด”  

แต่พวกเขาก็ไล่ซื้อหุ้นจนกลายเป็นคอร์เนอร์หุ้นไปแล้ว  และราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปก็ไปส่งสัญญาณว่าหุ้นดีจริงและจะเติบโตเป็นซุปเปอร์สต็อก  ดังนั้น  ค่า PE จึงสามารถสูงขึ้นไปถึงกว่า 50 เท่าและอยู่อย่างนั้นได้จนถึงเวลาที่ “ความจริงปรากฏออกมา”  ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า  “Moment of Truth” หรือช่วงเวลาที่น่าสะพรึงกลัว  เป็นช่วงเวลาแห่งชีวิต  อย่างเช่นที่เขาใช้ในช่วงเวลาที่มาทาดอร์ปักมีดฆ่าวัวกระทิงในสนามกีฬาสู้วัวกระทิงของสเปน

พูดถึงเรื่องการวิเคราะห์หุ้นอาหารและสิ่งที่คนกินนั้น  ผมคิดว่าถ้าจะทำได้ดีและถูกต้องมากขึ้น  เราควรจะนำเรื่องของ  “ยีน”  ของมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง  เพราะอาหารนั้น  เป็นสิ่งที่ยีนบอกให้เราเลือกกินเพื่อเอาตัวรอดซึ่งเป็นภารกิจสำคัญอันดับ 1 ของคนที่เป็นสิ่งมีชีวิต

วิเคราะห์จากยีน  ก็จะพบว่าคนส่วนใหญ่ชอบและเลือกกินอาหารที่จะให้พลังงานสูง  อันดับ 1 น่าจะเป็นน้ำตาลและแป้ง  บางคนอาจจะรวมถึงแอลกอฮอล์ด้วย  และเหล่านั้นก็คือ  “อาหารเพื่อสุขภาพ” เมื่อหมื่นปีที่แล้วที่การหาอาหารเป็นสิ่งที่ยากและบางทีหาอาหารได้ไม่พอกิน  อย่างไรก็ตาม  ในยุคนี้ที่อาหารมีเหลือเฟือและการกินอาหารที่มีคุณค่าสูงมากเกินไปก่อให้เกิดโรคสารพัดชนิด  อาหารที่ให้แคลอรี่ต่ำอย่างผักก็กลายเป็น  “อาหารเพื่อสุขภาพ”  และอาหารที่อุดมไปด้วยแป้งและน้ำตาลก็กลายเป็น  “อาหารขยะ” ไป

แต่นั่นเป็นเรื่องที่เกิดจากความคิดที่เกิดขึ้นจากความรู้เรื่องสุขภาพเมื่อไม่นานมานี้เอง  ยีนของมนุษย์นั้นไม่ได้เปลี่ยนไป  คนเราก็ยังชอบ “อาหารขยะ” มากกว่า “อาหารเพื่อสุขภาพอยู่ดี” ดังนั้น  ความต้องการหรือยอดขายของ “อาหารเพื่อสุขภาพ” จึงจำกัดมาก  บริษัทที่ขายอาหารเพื่อสุขภาพที่จะเติบโตเป็นบริษัทขนาดใหญ่นั้นแทบจะไม่มี  บริษัทขายอาหารที่มีขนาดใหญ่มากดูเหมือนจะขายอาหารขยะเป็นหลัก  เช่น  แม็คโดนัลด์เป็นต้น

ธุรกิจขายอาหารที่เป็น “ซุปเปอร์สต็อก” เองก็หาได้ยากมาก  เหตุผลก็เพราะยีนมนุษย์ไม่ชอบกินอะไรที่ซ้ำ ๆ  เหมือนเดิมตลอด  เพราะการกินแบบนั้นอาจจะทำให้มนุษย์กินสิ่งที่เป็นพิษในธรรมชาติเป็นปริมาณมากได้  ซึ่งอาจจะทำให้ป่วยหรือตาย  ดังนั้น  ยกเว้นอาหารแป้งเช่น  ข้าวและขนมปังแล้ว  มนุษย์ก็กินอาหารอย่างอื่นหลากหลายและเปลี่ยนไปในแต่ละวัน  นั่นทำให้บริษัทที่ขายอาหารรวมถึงน้ำและน้ำหวานที่จะมีขนาดใหญ่และเติบโตเป็นซุปเปอร์สต็อก  มีน้อยมาก  ยกเว้นก็แต่โค๊กที่คนกินกันได้ไม่เบื่อและกินได้ทุกวันวันละหลายกระป๋อง  ซึ่งนั่นก็เป็นเหตุผลที่บัฟเฟตต์ซื้อหุ้นโค๊กในฐานะที่เป็นซุปเปอร์สต็อก

แต่จริง ๆ แล้ว  เหตุผลที่กินโค๊กแล้วไม่เบื่อนั้น  เป็นเพราะมันมี “สารเสพติด” ธรรมชาติที่เรียกว่า  “คาเฟอีน” ที่ทำให้คนติดและอยากกินบ่อย ๆ  ผสมกับหัวเชื้อที่ไม่มีใครเหมือนที่จะสามารถเข้ามาแข่งขันได้

หุ้นอาหารที่เป็นน้ำ  ถ้าจะสามารถเติบโตมีคนนิยมจำนวนมากและมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืนจนกลายเป็นซุปเปอร์สต็อกนั้น  มักจะมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้คือ  มีสารให้คนติดคือ  คาเฟอีน  มีรสหวานที่เป็นน้ำตาลซึ่งเป็นอาหารที่มนุษย์ชอบตามยีน  มีรสชาติเฉพาะที่คนเลียนแบบไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของลิขสิทธิ์  ตัวอย่างนอกจากโค๊กแล้วก็รวมถึงเครื่องดื่มชูกำลังเช่น  เรดบูลหรือ “กระทิงแดง” ที่ขายในต่างประเทศ เป็นต้น

ส่วนหุ้นบริษัทขายน้ำผลไม้และน้ำหวานปรุงรสทั้งหลายนั้น  โอกาสที่จะเติบโตและมีขนาดตลาดที่ใหญ่นั้น  เป็นไปได้ยากมาก  เพราะน้ำผลไม้ไม่มีรสหรือกลิ่นเฉพาะตัวที่คนอื่นเลียนแบบไม่ได้  นอกจากนั้น  ถ้าไม่มีคาเฟอิน  คนก็ไม่ติด  ดังนั้น  ตลาดก็จะกระจายมาก  ไม่มีใครสามารถจะใหญ่และกีดกันคนอื่นเข้ามาแข่งขันได้  บริษัทที่อาจจะดูว่าโตเร็วและสินค้าได้รับความนิยมก็มักจะเป็นเรื่องของ “แฟชั่น” ทุกอย่างดูดีชั่วระยะหนึ่ง  หลังจากนั้นคนก็จะเลิกนิยมและสินค้าแทบจะขายไม่ได้เลย

กาแฟและชาที่มีคาเฟอีนสูงและทำให้คนติดและชอบกินนั้น  ก็มักจะมีปัญหาไม่สามารถเป็นซุปเปอร์สต็อกได้เพราะรสชาดแต่ละแห่งก็ใกล้เคียงกัน  บางช่วงบางบริษัทก็สามารถสร้างกระแสให้เป็น  “แฟชั่น” ตัวอย่างเช่น  ร้านขายชานมไข่มุกที่มีความเป็นแฟชั่นสูงมาก  แต่พอหลังหมดกระแส  ทุกอย่างก็แทบหายไป  ร้านกาแฟที่บางแห่งกลายเป็น  “ซุปเปอร์สต็อก” อย่างสตาร์บัคนั้น  ที่จริง “ไม่ได้ขายกาแฟ”  แต่ขายสถานที่นั่งชิว ๆ  ดูมีรสนิยม  อย่างไรก็ตาม  ร้านกาแฟดัง ๆ  เกิดใหม่ก็มีตลอดเวลา  แต่ทั้งหมดนั้นไม่สามารถเป็นซุปเปอร์สต็อกได้  เพราะรสชาดกาแฟนั้น  “เหมือน ๆ  กัน”

ขนมและอาหารมื้อหลักนั้น  มีความหลากหลายมาก  คนกินที่ภัตตาคารหรือซื้อขนมไปกินที่บ้านนั้น  มักจะไม่ค่อยกินซ้ำติดต่อกัน  คนจะเปลี่ยนอาหารและขนมไปเรื่อย  รสที่ยีนชอบก็คือ  หวาน  มัน  เค็ม  สินค้าที่คนชอบกินและขายดีเมื่อ “อิ่มตัว” ก็จะโตต่อยาก  เพราะคนที่ชอบก็จะไม่เพิ่มอัตราที่จะกิน  เขาจะไปกินอาหารหรือขนมอื่นแทน  

นาน ๆ  ก็จะมีสินค้าอาหารที่ขายดีระเบิดและกลายเป็น  “แฟชั่น” เช่นครั้งหนึ่งก็จะมีโดนัทคริสปี้ครีมที่ “หวานมาก” และคนแห่ไปเข้าคิวจองซื้อกลับบ้านหรือไปฝากเพื่อน  แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จะกลับมาขายได้ตามปกติระดับหนึ่ง  เช่นเดียวกับอาหารที่บางครั้งก็จะมีประเภท  “ไก่ทอดยอดฮิตเกาหลี” เข้ามาเปิดตลาดแล้วก็ “ขายระเบิด” แต่หลังจากนั้นไม่นานคนก็แทบจะเลิกกิน  เช่นเดียวกัน  ในช่วงหนึ่งร้าน “หมูกระทะ” บูม  คนก็เข้าไปกินกันแน่น  พอผ่านมาซักพักก็ต้องปิดตัวลง  ส่วนหนึ่งเพราะคนอื่นเลียนแบบได้ใกล้เคียงมาก

ข้อสรุปก็คือ  เวลาวิเคราะห์หุ้นของกินไม่ว่าจะเป็นอาหาร  ขนม  หรือน้ำ  ก็จะต้องดูว่ายีนเราคิดอย่างไรกับมัน  หุ้นตัวนั้นขายสินค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแค่ไหน  คู่แข่งเข้ามาแข่งขันได้มากน้อยแค่ไหน  อาหารมีสารที่ทำให้เสพติดหรือไม่   ช่องทางการขายมีส่วนในการแข่งขันแค่ไหน  ปัจจัยอื่น ๆ เช่นเรื่องของความเป็นแฟชั่นมีผลอย่างไร  และสุดท้ายแล้ว  ราคาของหุ้นสมเหตุผลไหม 

โดยทั่วไป  หุ้นของกินนั้นจะมีอำนาจทางการตลาดไม่มากยกเว้นว่าคนเสพติดสารในอาหารบวกกับภาพลักษณ์ที่สินค้าได้สร้างไว้ยาวนาน  ดังนั้น  หุ้นอาหารและเครื่องดื่มในตลาดหุ้นไทยจึงมีโอกาสที่จะเป็นหุ้นระดับซุปเปอร์สต็อกน้อย  หุ้นที่เติบโตและมีกำไรดีส่วนมากเป็น  “แฟชั่น” หรือเป็นสถานการณ์ “ชั่วคราว” และจะกลับมาสู่สภาพที่เป็นจริงในที่สุด  ดังนั้น  ราคาหุ้นก็ไม่ควรจะแพง  ผมคิดว่าระดับ 20 เท่าก็สูงแล้ว  


VVI Membership 1,990 บาท แบบทั่วไป
 https://class.vietnamvi.com/product/p1-membership-superstock/

 VVI Membership + Class 1-3
ราคา 2,980 บาทได้ 1 ปี (คุ้มกว่า)
https://class.vietnamvi.com/product/p4-triple-packs/