เมื่อหุ้นยักษ์คอร์เนอร์แตก ตลาดหุ้นจะมีชีวิตใหม่

0
1352

โลกในมุมมองของ Value Investor    15 กุมภาพันธ์ 2568

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

สัปดาห์ที่แล้ว “หุ้นยักษ์” ตัวหนึ่งซึ่งเคยเป็น “เสาหลัก” สำคัญของตลาดหุ้นมีราคาตกลงมาประมาณ 14% หลังจากประกาศงบรายไตรมาสที่แสดงว่าบริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเลข 2 หลัก  และกำไรก็เพิ่มขึ้นมากกว่ารายได้และเป็นเลข 2 หลักเช่นเดียวกันเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า  อย่างไรก็ตาม  ตัวเลขทั้งสองนั้นต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้พอสมควรและดูเหมือนว่า “อนาคต”ของบริษัทอาจจะเติบโตไม่ได้ดีเท่ากับที่นักวิเคราะห์และนักลงทุนเคยประเมินหรือคาดการณ์ไว้

ราคาหุ้นที่ตกลงมานั้น  ทำให้ค่า PE ที่ “สูงลิ่ว” ในระดับ 40 เท่า  ซึ่งเป็นระดับที่น่าจะสูงเกินไปอานิสงค์จากการที่หุ้นน่าจะ “ถูกคอร์เนอร์” มานานเพราะปริมาณหุ้น Free Float ที่อยู่ในมือของนักลงทุนมีน้อยมาก  และทำให้หุ้นเคยมีค่า PE สูงถึงเกือบ 100 เท่า  ตกลงมาเหลือประมาณ 34 เท่า ซึ่งก็ยังไม่ได้ต่ำนักเมื่อเทียบกับธุรกิจเดียวกันของบริษัทที่อยู่ในตลาดหุ้นต่างประเทศอื่น ๆ  

การที่หุ้นตกลงมาสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ในวันเดียวโดยที่ไม่ได้มีเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งนี้  ถ้าจะเรียกว่า “คอร์เนอร์แตก”  ก็อาจจะยังไม่ชัดร้อยเปอร์เซ็นต์   อย่างไรก็ตาม  ถ้ามองย้อนหลังไป 3-4 ปี  หุ้นก็ถือว่าลดลงมามากในระดับ 40% ขึ้นไป  ตรงกับอาการคอร์เนอร์แตกได้  นั่นก็คือ  นักลงทุนเลิกเชื่อในสตอรี่และผลประกอบการของบริษัทที่เคยเป็นตอนที่หุ้นถูกคอร์เนอร์  และก็เริ่มขายหุ้นออกมามากกว่าคนที่อยากจะถือหุ้นลงทุนตามพื้นฐานที่ควรเป็นหลังจากมีข้อมูลผลประกอบการล่าสุดที่ไม่โดดเด่นออกมา

เรื่องของหุ้น “คอร์เนอร์แตก” ในตลาดหุ้นไทยนั้น  ดำเนินมานานอย่างน้อยน่าจะ 4-5 ปีแล้ว  เริ่มต้นก็เป็นหุ้นขนาดเล็กที่มีการทำคอร์เนอร์โดยนักลงทุนรายใหญ่และ/หรือเจ้าของที่พบว่าทำได้ง่ายและสามารถเพิ่มราคาและมูลค่าของกิจการได้มากมายหลาย ๆ เท่า  บางทีในวันเดียวโดยเฉพาะในวันที่หุ้นเข้าเทรดวันแรกหลังจาก IPO  ผลก็คือ  คนทำรวยขึ้นอย่างรวดเร็ว  อาจจะเป็นเศรษฐีพันล้านบาทได้ง่าย ๆ  โดยที่แทบจะไม่มีความเสี่ยงอะไรเลย  ตรงกันข้าม  มีแต่คนชื่นชมว่าเป็นคนที่มีความสามารถสูง  จากธุรกิจเล็ก ๆ  หรือพอร์ตเล็ก ๆ  ก็กลายเป็น “เสี่ย” หรือเป็น “เซียน” ในเวลาอันสั้น

ต่อมาหุ้นระดับกลางหลายตัวก็ถูกคอร์เนอร์  จากมูลค่าหุ้นระดับ “หมื่นล้านเศษ ๆ”  ก็กลายเป็นหลายหมื่นล้านบาท  และบางตัวก็กลายเป็น “แสนล้านบาท”  คนทำคอร์เนอร์กลายเป็นมหาเศรษฐีหรือสุดยอดเซียน  ผู้บริหารกลายเป็นเซเล็บนักธุรกิจระดับประเทศ  “อาณาจักร” ถูกขยายออกไป “ระดับโลก” ไม่มีใครสนใจว่าหุ้นแพงผิดปกติหรือเปล่าที่ PE บางทีระดับ 70-80 เท่าขึ้นไป  แม้แต่นักลงทุนสถาบันก็ต่างแย่งซื้อหุ้นล็อตใหญ่จากเจ้าของ  พวกเขาต้องทำตัวเหมือน “เซียนหุ้นรายใหญ่” ที่ร่ำรวยจากหุ้น  มิฉะนั้นจะดึงดูดคนที่เข้ามาซื้อหน่วยลงทุนอย่างไร?

และสุดท้าย  แม้แต่หุ้นขนาดใหญ่หรือกลางใหญ่บางตัวก็ถูกคอร์เนอร์  จากบริษัทระดับกลางในแง่ของตัวธุรกิจและ Market Cap. ก็กลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่หรือขนาดยักษ์ระดับ “Top Ten” ของตลาด  และแน่นอน  ด้วยสตอรี่ใหญ่ระดับ  “เปลี่ยนโลก”  บางบริษัทที่อยู่ในธุรกิจพลังงานก็ท้าทายบริษัทระดับ “เทสลา” ซึ่งเป็นหนึ่งในเจ็ดนางฟ้าของหุ้นโลก  บางบริษัทก็ประมาณว่าจะคล้าย ๆ  กับ “เอ็นวิเดีย” ซึ่งก็เป็นนางฟ้าแนวหุ้นเท็คอีกบริษัทหนึ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเทสลาด้วยซ้ำ

ถึงวันนี้  หุ้นที่อยู่ในคอร์เนอร์ทั้งเล็ก กลาง  และใหญ่  ต่างก็ทยอย “แตก” เป็นระยะมาหลายปีแล้ว  โดยที่หุ้นตัวเล็กนั้นแตกไปน่าจะใกล้หมดแล้ว  หุ้นระดับกลางเองก็แตกไปมากมายและทำให้คนเจ็บหนักกันทั่วหน้า  ส่วนหุ้นตัวใหญ่นั้น  เนื่องจากมีจำนวนน้อยกว่าและการคอร์เนอร์เองนั้นย่อมจะแข็งแรงกว่าหุ้นที่มีขนาดเล็กหรือกลาง  การแตกจึงยากกว่าและช้ากว่า

สิ่งที่ทำให้หุ้นคอร์เนอร์แตกนั้น  ที่มากที่สุดก็คือ  การประกาศผลประกอบการที่ “น่าผิดหวัง” ซึ่งบ่งบอกถึงแนวโน้มว่าอนาคตก็จะยังไม่สดใสต่อ  หรือในกรณีที่เลวร้ายก็คือ  ผลประกอบการจะแย่ลง  “อย่างถาวร” หรืออย่างน้อยอีก 2-3 ปี ข้างหน้า

สถานะของเศรษฐกิจและตลาดหลักทรัพย์เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้คอร์เนอร์แตก  เพราะในสภาวะแบบนั้น  นักเก็งกำไรที่เข้ามาเล่นหุ้นจะน้อยลง  เช่นเดียวกับธุรกิจที่ซบเซาลงซึ่งทำให้ยอดขายและกำไรของบริษัทด้อยหรือถดถอยลง  ทั้งหมดนั้นมีส่วนทำให้แม้แต่หุ้นยักษ์ที่อยู่ในคอร์เนอร์ก็ประสบกับภาวะหุ้นคอร์เนอร์แตกได้

และหุ้นที่ถูกคอร์เนอร์ไว้  ไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหน  ถึงวันก็จะต้อง “คอร์เนอร์แตก”  เป็น  “Moment of Truth” ที่จะต้องเผชิญสำหรับคนที่ถือหุ้นตัวนั้นไว้

ถ้าให้ผมทำนาย  ผมคิดว่าภายในปีนี้  หรือบางทีก็อาจจะเร็ว ๆ  นี้  หุ้นตัวใหญ่ระดับยักษ์จะประสบกับการ  “คอร์เนอร์แตก” เกือบหมด  และนั่นน่าจะกระทบกับดัชนีตลาดหุ้นไม่น้อย  ซึ่งก็จะทำให้ตลาดหุ้นซบเซาลงมาก  แต่ตลาดก็คงจะ “ไม่วาย”  และถ้าโชคดีก็จะเป็นโอกาสที่การลงทุนในตลาดหุ้นไทยจะดีและยั่งยืนขึ้น  เข้าทำนอง  “ฟ้าหลังฝน”  ชีวิต “เริ่มต้นใหม่” หลังจากเหตุการณ์เลวร้ายต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาเป็นระลอก ๆ  

เหตุผลก็เพราะว่า  “สิ่งดี ๆ  เล็ก  ๆ”  กำลังกลับมาที่เราอาจจะยังไม่ตระหนัก  เริ่มตั้งแต่บริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่มีกำไรเพิ่มขึ้น  แม้ว่าจะยังไม่มาก  แต่ก็ค่อนข้างมั่นคง  บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าพวกเขาไม่ไปทำอะไรใหม่มากมายที่ต้อง “เสียเงิน” พวกเขาน่าจะเรียนรู้แล้วว่า  การมีสตอรี่มาก ๆ นั้น  สุดท้ายมักจะ “พัง” การ “สร้างอาณาจักร” นั้น  นักลงทุนในตลาดหุ้นไม่ต้องการ  การสร้างกำไรคือสิ่งที่จะดีต่อหุ้นมากที่สุดในยุคนี้

หน่วยงานที่ดูแลกำกับตลาดหุ้นนั้น  ในช่วงเวลานี้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารสูงสุดเกือบทั้งหมด  จากคนที่  “ไม่สนับสนุนตลาดหุ้น” หรือมองว่า “ตลาดหุ้นเป็นของคนรวยที่มีเงินและเห็นแก่ได้” และ “ตลาดหุ้นไม่ได้มีความสำคัญต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ” เป็นคนที่น่าจะเข้าใจตลาดหุ้นได้ดีกว่า  และที่สำคัญ  พร้อมที่จะพัฒนาตลาดหุ้นให้เป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญแทนที่จะพยายามดูดเงินนักลงทุนผ่านระบบภาษีที่อาจจะทำลายตลาดหุ้นได้

เรื่องสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าจะเกิดขึ้นก็คือ  การเปลี่ยนมุมมองและพฤติกรรมของนักลงทุนในตลาดหุ้น  จากการเป็น  “นักเก็งกำไร” เป็นหลัก  ที่เน้นการเทรดหุ้นเพื่อทำกำไรอย่างรวดเร็ว  กลายเป็น  นักลงทุนที่เน้นผลตอบแทนระยะยาว  ซึ่งมีปันผลเป็นผลตอบแทนที่สำคัญมากหรือมากที่สุดในการเลือกหุ้นลงทุน  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  หุ้นที่สามารถจ่ายปันผลในระดับ 5% ต่อปีและไม่ลดลงในอนาคตที่เห็นได้นั้นผมคิดว่ามีจำนวนไม่น้อยและมากพอที่จะถือเป็นกองทุนเพื่อกระจายความเสี่ยงสำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้หวังผลเลิศได้

พูดง่าย ๆ  นักลงทุนยุคหลังหุ้นยักษ์คอร์เนอร์แตกนั้น  จะเป็นการลงทุนในยุคที่ตลาดหุ้นตกต่ำลงไปมากจนมีราคาไม่แพงหรือถูก  และมีหุ้นที่มีคุณภาพดีพอใช้ที่มีผลประกอบการค่อนข้างยั่งยืน  มีกำไรที่ดีและโตไปช้า ๆ  ในระดับอาจจะแค่ 5-6% ต่อปี  บริหารโดยผู้บริหารที่ดีมีบรรษัท ภิบาลสูงและรักษาผลประโยชน์ผู้ถือหุ้นโดยเฉพาะรายย่อยทุกคนเท่าเทียมกัน  โดยที่ความคาดหวังก็คือ  สร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นหรือคนที่ลงทุนในหน่วยลงทุนได้ปีละประมาณ 7-8% โดยเฉลี่ย  โดยมีปีที่ขาดทุนน้อยมาก

การกำกับดูแลตลาดหุ้นนั้น  ผมคิดว่าจะต้อง “มีเหตุผล” และ “พอสมควร” ที่จะเป็นที่ยอมรับของนักลงทุน  เช่น  เรื่องของภาษีทุกชนิดที่เกี่ยวกับหุ้น   เช่นเดียวกัน  การลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศเองนั้น  ผมคิดว่าจะต้อง “เปิดกว้าง” การห้ามหรือสร้างอุปสรรคไม่ให้ลงทุนนั้น  ไม่มีประโยชน์

ต้องทำให้ตลาดหุ้นไทยเป็น  “ทางเลือก” ที่สำคัญของคนไทยทุกคน  และผมเองในฐานะนักลงทุนขอตอบเลยว่า  เราไม่มีทางทิ้งตลาดหุ้นไทยได้  และเราอยากเลือกลงทุนในตลาดหุ้นไทยถ้าโอกาสได้ผลตอบแทนมีพอสมควรด้วยความเสี่ยงโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการโกงต่ำ

หุ้นที่มีราคาร้อนแรงเกินไปและปรับตัวขึ้นลงแรงในลักษณะของการ “คอร์เนอร์หุ้น” ควรที่จะต้องถูกต่อต้านตั้งแต่เริ่มต้น  เพราะนั่นไม่ส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่ว่าตลาดหุ้นไทยมีประสิทธิภาพที่ดีในการกำหนดราคาหุ้นทุกตัวให้มีความเหมาะสม  การมี “หุ้นปั่น” เต็มไปหมดนั้นอาจจะดึงดูดให้คนเข้ามา “เล่นหุ้น” ในตลาดมาก ๆ  แต่มันไม่ยั่งยืน  เพราะในที่สุดคนที่เข้าไปเล่นจะเสียหายหนักและจะถอยหนีจากตลาดโดยเฉพาะสำหรับคนที่ต้องการลงทุนในทรัพย์สินที่เติบโตและปลอดภัยพอสมควรเพื่อเตรียมตัวสำหรับการเกษียณ

ข้อสรุปทั้งหมดก็คือ  เตรียมตัวรับกับการที่หุ้นขนาดยักษ์คอร์เนอร์แตกที่จะทำให้ดัชนีตลาดตกลงมาแรง  แต่ไม่ต้องหนีออกจากตลาดเพราะหุ้นขนาดใหญ่จำนวนมากราคาไม่แพงและสามารถลงทุนได้  โดยหุ้นที่ปันผลดีระดับ 5% ต่อปีและยั่งยืนจะช่วยให้หุ้นลงทุนของเราโดยเฉพาะถ้ามีการกระจายความเสี่ยงดีพอคือถือไว้หลายตัว  จะเป็นพอร์ตลงทุนในระยะยาวที่ให้ผลตอบแทนได้ปีละอาจจะ 6-7% แบบทบต้น  โดยแต่ละปีพอร์ตจะไม่ค่อยขาดทุน 

พฤติกรรมในตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวดีขึ้น  โดยภาพใหญ่ก็คือ  การเก็งกำไรจะน้อยลงและการลงทุนจะมากขึ้น  หุ้นปั่น  โดยเฉพาะการคอร์เนอร์หุ้นน่าจะลดน้อยลงถ้าหน่วยงานควบคุมสามารถป้องกันก่อนที่ฟองสบู่จะเกิดขึ้น


VVI Membership 1,990 บาท แบบทั่วไป
👉 https://class.vietnamvi.com/product/p1-membership-superstock/

👉 VVI Membership + Class 1-3
ราคา 2,980 บาทได้ 1 ปี (คุ้มกว่า)
https://class.vietnamvi.com/product/p4-triple-packs/