ยุคหุ้นปันผลฉ่ำ ๆ

0
449

โลกในมุมมองของ Value Investor 30 มี.ค. 68

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์เล็ก ๆ  ที่น่าสนใจเกิดขึ้นในตลาดหุ้นที่กำลัง “เหี่ยวเฉา” ลงเรื่อย ๆ  นั่นก็คือ  หุ้นแบ้งค์ขนาดใหญ่ตัวหนึ่งประกาศจ่ายปันผลเพิ่มเป็นกรณีพิเศษนอกเหนือจากปันผลปกติประจำปีจำนวน 2.5 บาทต่อหุ้น

หลังจากประกาศ  ราคาหุ้นในตลาดก็ปรับตัวขึ้น 3.5 บาทในวันแรก  และหลังจากวันนั้นหุ้นก็ยังปรับตัวขึ้นไปอีก 4 วันที่ 3.5  1.5  3 และ 3.5 บาท ตามลำดับ  รวมแล้วหุ้นขึ้นไป 5 วัน  คิดเป็นราคาที่เพิ่มขึ้น 15 บาท หรือขึ้นไปจากปันผลที่ประกาศถึง 6 เท่า โดยที่ดัชนีตลาดหุ้นไม่ได้มีการเคลื่อนไหวอะไรผิดปกติ

หุ้นอีกตัวหนึ่งที่เงียบเหงามานานมากและราคาก็ไหลลงไปเรื่อย ๆ  ทั้ง ๆ  ที่กิจการก็ดำเนินงานไปตามปกติ  มีกำไรดีและมีความแข็งแกร่งช่วงหนึ่งอยู่ในระดับ “ซุปเปอร์สต็อก” ของหุ้นขายสินค้าและอุปกรณ์ปรับปรุงบ้าน  แต่เนื่องจากอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์อาจจะอยู่ในช่วงตกต่ำยาวนาน  รายได้และกำไรของบริษัทจึงเพิ่มขึ้นน้อย  ราคาหุ้นจึงแทบจะนิ่งตามภาวะตลาด

แต่แล้วบริษัทก็ประกาศว่าจะซื้อหุ้นคืนคิดเป็นเงินประมาณ 7,000 ล้านบาท หรือประมาณ 6-7% ของหุ้นทั้งหมดที่จดทะเบียนในตลาด  และทันทีที่ประกาศ  หุ้นก็ปรับตัวขึ้น 9% ในวันเดียว ด้วยปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นถึงประมาณ 4 เท่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าตลาดให้คุณค่าแก่การซื้อหุ้นคืนในครั้งนี้สูงมาก  ทั้ง ๆ ที่การซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้น  ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ได้ทำให้หุ้นขึ้น  บ่อยครั้งคนคิดว่าประกาศไปอย่างนั้น  ถึงเวลาก็ไม่ซื้อจริง  ที่ทำไปก็เพื่อจะพยุงราคาหุ้นที่ไหลลงมาเรื่อย ๆ  แต่พอหุ้นก็ยังลงต่อไป  พวกเขากลับไม่ซื้อ

แต่กรณีนี้คนคิดว่าคงจะซื้อจริงถ้าหุ้นยังลงต่อ  นักลงทุนคงจะเชื่อในตัวผู้ถือหุ้นใหญ่ที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นเหมือนกันที่มีประวัติในการจ่ายปันผลงดงามของบริษัทตนเอง  การประกาศซื้อหุ้นคืนในกรณีนี้จะเป็นเหมือนการ  “จ่ายเงินคืน” ให้กับ  “ผู้ถือหุ้นบางคน”  ที่ไม่ต้องการถือหุ้นต่อ  คล้าย ๆ  กับการจ่ายเงินปันผลปกติหรือ “จ่ายเงินคืน” ให้กับ “ผู้ถือหุ้นทุกคน”

การซื้อหุ้นคืนนั้นเป็นผลดีคือจะทำให้คนที่ถือหุ้นต่อ  จะได้ปันผลสูงขึ้นอย่างน้อย 6% ในปีถัดไป  เพราะจำนวนหุ้นของบริษัทจะน้อยลงเพราะถูกซื้อคืนไปประมาณ 6% ถ้ากำไรและอัตราการจ่ายปันผลยังเท่าเดิมที่ 60% หรือ 70% ของกำไรที่ทำได้

และทั้งสองกรณีนั้นทำให้ผมคิดว่า  บางทีนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยอาจจะกำลัง

เปลี่ยนแปลงแนวความคิดของการลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไปจากเดิมที่เน้นการเก็งกำไรอย่างรวดเร็วผ่านการซื้อขายหรือการเทรดหุ้นที่มีราคาผันผวนในระยะสั้น ๆ  อาจจะวันต่อวัน  ไปเป็นการลงทุนในระยะยาวขึ้นที่เน้นการเติบโตของผลประกอบการที่ “มั่นคง” ของบริษัท  และเน้นการรับปันผลที่งดงามปีละครั้งหรือสองครั้ง

เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  การเทรดหุ้นที่ผ่านมานั้น  “มีแต่เจ๊ง” แต่ปันผลในบริษัทที่มั่นคงระดับที่เป็น “เสาหลักของประเทศ” นั้น  “ได้รับทุกปี” บางบริษัทปีละ “เกิน 5%” ของเงินลงทุน 

และนั่นก็เป็นสิ่งที่ผมคิดว่ามีเหตุผล  และการลงทุนโดยการซื้อหุ้นที่จะจ่ายปันผลงดงามมากนั้น  เป็นกลยุทธ์ที่ดีในยามที่เศรษฐกิจของไทยโตช้าลงไปมาก  เช่นเดียวกับบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจไฮเท็คหรือธุรกิจแห่งอนาคตอื่น ๆ  ที่จะไม่โตได้เร็วกว่าเศรษฐกิจมากนัก

แต่ผมคงไม่พูดถ้าไม่ได้ดูข้อมูลหรือทำการศึกษาว่าสิ่งที่พูดนั้นมีโอกาสเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน  วิธีที่ทำก็คือ  ดูว่าผลงานของ “หุ้นปันผลงดงาม”  ที่ผ่านมากว่า 4 ปี เป็นอย่างไรบ้าง  โดยที่ผมจะเลือกหุ้นที่มีปันผลดีสม่ำเสมอ  โดยที่ผู้บริหารของบริษัทก็เน้นที่จะจ่ายเมื่อมีกำไรและมีเงินสดพอที่จะทำได้โดยไม่ได้กระทบกับการขยายงานหรือการเติบโตของบริษัทที่วางแผนไว้  

เริ่มจากหุ้นแบ้งค์ใหญ่ที่กล่าวถึงในตอนต้นนั้น  มองย้อนหลังไป 4 ปี 3 เดือนคือเมื่อสิ้นปี  2563 มีราคาหุ้นละ 118 บาท  คนที่ถือไว้จะได้ปันผล 4 ปี เป็นเงินรวมกันประมาณ 15 บาท คิดเป็นผลตอบแทนจากปันผลประมาณ 3.2% ต่อปี  ในขณะที่ราคาหุ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เท่ากับ 164 บาท  ดังนั้น  รวมแล้วเท่ากับว่าคนที่ถือหุ้นแบ้งค์นี้จะได้รับเงินเท่ากับ 179 บาท  จากต้นทุนเดิม 118 บาทหรือกำไรประมาณ 52% ในเวลา 4 ปี 3 เดือน ซึ่งถือว่าดีพอสมควร  และดีมากเมื่อเทียบกับการลงทุนหุ้นในตลาดโดยรวม

เพราะผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงเดียวกันนั้นก็คือ  ดัชนีตลาดหุ้นเมื่อสิ้นปี 2563 เท่ากับ 1,499 จุด แต่เมื่อถึงวันที่ 28 มีนาคม 2568 ดัชนีเหลือเพียง 1,175 จุด  หรือติดลบประมาณ 21.6% ในเวลา 4 ปี 3 เดือน  และถ้าปรับเรื่องของปันผลที่เราจะได้รับปีละประมาณ 3% ก็จะได้ผลว่าการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงนี้ให้ผลตอบแทนเป็น  -9%

หุ้นแบ้งค์ตัวที่ 2 เป็นแบ้งค์เล็กที่มีประวัติจ่ายปันผลงดงามมานานและนักลงทุนในตลาดต่างก็รู้จักกันดี  ราคาล่าสุดคือ 100 บาทต่อหุ้น  ถ้าลงทุนตั้งแต่สิ้นปี 2563 จะได้ปันผล 4 ปี รวมกันประมาณ 29 บาทหรือคิดเป็นผลตอบแทนจากปันผลเฉลี่ยปีละ 8.2% เมื่อนำมารวมกับราคาหุ้นปัจจุบันก็จะเท่ากับ 129 บาท  คิดเป็นผลตอบแทนประมาณ 44.5% ในเวลา 4 ปี 3 เดือน คร่าว ๆ  ก็คือปีละ 10%

หุ้นที่เคยเป็นแบ้งค์เล็กคล้ายกับแบ้งค์ที่ 2 และปรับตัวเป็นโฮลดิ้ง  และปัจจุบันมีราคา 50.75 บาท ก็จ่ายปันผลงดงามรวมกัน 4 ปีเท่ากับ  12.2 บาท หรือคิดเป็นปันผลตอบแทนปีละ 8.7% ก็ให้ผลตอบแทนรวมงดงามที่ประมาณ 80% ในเวลา 4 ปี 3 เดือน  เนื่องจากราคาหุ้นขึ้นไปมากนอกเหนือจากปันผลที่ได้รับ

หุ้นตัวที่ 4 คือหุ้นเทเลคอมขนาดใหญ่ที่ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 273 บาท  โดยที่ 4 ปีที่ผ่านมาจ่ายปันผลรวมกันประมาณ 31 บาทหรือปีละ 4.3% ให้ผลตอบแทนรวมกำไรจากราคาเท่ากับ 70.7% งดงามเมื่อคำนึงถึงความมั่นคงของธุรกิจที่มีคู่แข่งน้อยราย

หุ้นตัวที่ 5 จะเป็นกลุ่มของหุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกมองว่าเป็นธุรกิจที่กำลังตกต่ำและอาจจะต่อเนื่องยาวนาน  แต่หุ้นตัวนี้เป็นผู้นำทางด้านอสังหาริมทรัพย์หรูที่สุด  ราคาหุ้นปัจจุบันอยู่ที่ 1.56 บาทต่อหุ้น  แต่เฉพาะปันผล 4 ปีที่ได้รับอยู่ที่ 0.45 บาท หรือเป็นปันผลตอบแทนเฉลี่ยปีละถึง 13.6% จากต้นทุนที่ซื้อเมื่อกว่า 4 ปีก่อน  ผลตอบแทนรวมกำไรที่ได้รับจากราคาหุ้นก็คือ 142% กลายเป็นสุดยอดหุ้นปันผล อานิสงค์จากราคาหุ้นที่ต่ำมากเมื่อตอนสิ้นปี 2563

หุ้นตัวที่ 6 ยังเป็นอสังหาริมทรัพย์แต่ถือหุ้นของกิจการอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอสังหาที่ใหญ่กว่าตัวเอง  ราคาหุ้นปัจจุบันอยู่ที่ 1.56 บาท  ปันผลที่ได้รับรวมกันเท่ากับ 0.51 บาทหรือได้ผลตอบแทนปันผลปีละ 5.4%  ดังนั้น มูลค่ารวมปัจจุบันคือ 2.07 บาท ในขณะที่ราคาเมื่อวันสิ้นปี 2563 เท่ากับ 2.35 บาท  ทำให้ผลตอบแทนติดลบ 11.9% ในช่วงเวลา 4 ปี 3 เดือน  และพอ ๆ กับผลตอบแทนของตลาด

หุ้นตัวที่ 7 คือหุ้นที่คนตั้งชื่อเล่นว่าเป็น “น้ำมันตราเต่า” เพราะเป็นหุ้นที่ “ไม่ค่อยวิ่ง” เหมือนคนอื่น  ราคาหุ้นปัจจุบันอยู่ที่ 37.75 บาท  แต่ในช่วง 4 ปีรับปันผลรวมประมาณ 6.6 บาทหรือเท่ากับปันผลตอบแทนปีละ 6.9%  อานิสงค์จากราคาหุ้นต้นทุนที่ต่ำในช่วงเริ่มต้น  ทำให้ผลตอบแทนของหุ้นตัวนี้อยู่ที่ 85% หรือเฉลี่ยปีละกว่า 20%  ถ้าเป็นเต่าก็คงเป็น “เต่าทะเล”

หุ้นตัวที่ 8 เป็นหุ้นขนาดเล็กที่เป็นผู้นำด้านของเสื้อผ้าแฟชั่น  ราคาหุ้นอยู่ที่ 9.95  บาท แต่ปันผลที่จ่ายในช่วง 4 ปีรวมกันประมาณ 2.85 บาทหรือเป็นปันผลตอบแทนปีละ 7.2%  เมื่อรวมกับราคาหุ้นที่แทบไม่ขึ้นเลยในช่วง 4 ปี 3 เดือน ให้ผลตอบแทนรวม 29.3% หรือปีละ 7.3% ก็อาจจะพูดได้ว่าไม่เสียหายอะไรกับการถือหุ้นตัวนี้เมื่อเทียบกับการลงทุนในตลาดหรือลงทุนแบบอื่น

หุ้นตัวที่ 9 เป็นหุ้นที่ผมรู้จักตั้งแต่สมัยลงทุนในตลาดหุ้นใหม่ ๆ  เพราะเป็นหุ้นที่ผลิตถังเหล็ก 200 ลิตรใช้บรรจุพวกสารเคมีอะไรทำนองนั้น  ดูน่าเบื่อสุด ๆ  แม้จะย้อนหลังไปเกือบ 30 ปี  แต่ถึงวันนี้มันก็ยังคงอยู่และก็ทำกำไรและจ่ายปันผลได้ “เหมือนเดิม” เพราะคงไม่มีใครอยากเข้ามาแข่งทำถังในสมัยนี้  หุ้นที่มีการเทรดน้อยมากตัวนี้  ราคาหุ้นอยู่ที่ 24.5 บาท แต่ปันผลที่จ่าย 4 ปี รวมกันเท่ากับ 6.4 บาท หรือเท่ากับให้ปันผลปีละ 7% ผลตอบแทนรวม 4 ปี 3 เดือนเท่ากับ 34.9% 

สุดท้ายคือหุ้นผู้นำทางด้านกระเบื้องปูพื้นต่าง ๆ  ที่ดูเหมือนว่ากำลังอิ่มตัวตามธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  นี่ก็เป็นหุ้นที่ไม่โต  แต่ยังมีผลประกอบการที่ดีและจ่ายปันผลดี  ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาจ่ายปันผลรวมกัน 0.52 บาทคิดเป็นปันผลตอบแทน 5.9% ต่อปี  อย่างไรก็ตาม  ราคาหุ้นปัจจุบันเท่ากับ 1.44 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นราคาที่ตกลงมาแรงเนื่องจากรายได้และกำไรในช่วง 2 ปีหลังลดลงมากอานิสงค์จากอุตสาหกรรมที่ตกต่ำลง  และอาจจะมาจากการแข่งขันโดยเฉพาะจากต่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่า  ทำให้ผลตอบแทนรวม 4 ปี 3 เดือนติดลบประมาณ 11% พอ ๆ  กับผลตอบแทนตลาด

ข้อสรุปทั้งหมดก็คือ  หุ้นที่จ่ายปันผลดีเทียบกับราคาหุ้น  เช่น  ในระดับ 5% ต่อปีโดยเฉลี่ยในระยะ 3-4 ปีขึ้นไป  และไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมที่ตกต่ำลงแม้ว่าจะอิ่มตัว  และบริษัทเป็นผู้นำในอุตสาหกรรม  หรือเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่มีผู้นำแต่บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันพอ ๆ  กับคู่แข่งเช่นสถาบันการเงิน  จะเป็นหุ้นปันผลที่ลงทุนได้และให้ผลตอบแทนที่ดีโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหุ้นกลุ่มอื่นโดยเฉพาะในยามที่เศรษฐกิจไม่ดีนักอย่างเช่นในปัจจุบัน


VVI Membership 1,990 บาท แบบทั่วไป
👉 https://class.vietnamvi.com/product/p1-membership-superstock/

👉 VVI Membership + Class 1-3
ราคา 2,980 บาทได้ 1 ปี (คุ้มกว่า)
https://class.vietnamvi.com/product/p4-triple-packs/