โลกในมุมมองของ Value Investor 13 มกราคม 2567
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ในระยะหลัง ๆ ผมสนใจเรื่องของการ “เติบโต” หรือถ้าจะพูดให้ถูกก็คือ การ “ถดถอย”หรือการ “ลดลง” ของจำนวนประชากรของประเทศต่าง ๆ เฉพาะอย่างยิ่งของประเทศไทย เหตุผลก็เพราะผมพบว่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ นั้น ส่วนใหญ่แล้วก็มักจะอิงกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นของประเทศ จริงอยู่ว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น นอกจากเรื่องของจำนวนประชากรแล้ว ก็ยังขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของคนที่อาจจะสามารถผลิตได้มากขึ้นหรือการเพิ่ม “ผลิตภาพ” ของประชากรด้วย แต่ประเด็นก็คือ การเพิ่มผลิตภาพนั้น เป็นเรื่องที่ทำได้ยากกว่าการเพิ่มคนมากในทางปฏิบัติ
ย้อนหลังไปประมาณ 55 ปี คือปี 2511 เมื่อตอนผมอายุ 15 ปีและกำลังเข้าเรียนมัธยมปลายและเริ่มจะเข้าใจโลกมากขึ้นแล้ว ประเทศไทยในช่วงเวลานั้นกำลัง “เจริญ” ขึ้นอย่างรวดเร็ว ถนนหนทางเริ่มมีมากขึ้น ถนนเพชรบุรีเพิ่งจะ “ตัดใหม่” และเป็นแหล่ง “อาบอบนวด” ที่คนหนุ่มที่เริ่มทำงานที่มีมากขึ้นและเริ่มจะมีเงินมาเที่ยวในยามค่ำคืน ถนนสีลมเริ่มเป็นแหล่งที่มีธุรกิจมาสร้างอาคารสำนักงานเป็นย่านธุรกิจใหม่ “เซ็นทรัลสีลม” กลายเป็นห้างทันสมัยโดดเด่นและ “คนรวย” เริ่มมาซื้อของ อย่างไรก็ตาม ถนนสาธรก็ยังดูเป็นธรรมชาติ มีคลองดินอยู่กลางสาธรเหนือและใต้ ข้างคลองเรียงรายด้วยต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น เป็นเส้นทางที่ผม “โหนรถเมล์” ที่ “แน่นเป็นปลากระป๋อง” ไปเรียนทุกวัน
ในวันนั้น ประชากรคนไทยมีจำนวนประมาณ 33 ล้านคนและแต่ละปีน่าจะมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 1 ล้านคน กรุงเทพเริ่มจะมีรถติดและหนักมากในเวลาต่อมา ผมยังจำได้ว่า “บ็อบโฮป” ศิลปินตลกชื่อก้องโลกชาวอเมริกันมา “เอนเทอร์เทน” ทหารอเมริกันที่ตั้งฐานทัพใหญ่โตในไทยเพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในเวียตนาม บ็อบโฮปยิงมุขที่เป็นอมตะมากว่า ไม่ต้องกลัวว่าเวียตนามจะบุกยึดกรุงเทพ เหตุผลก็เพราะรถมันติดมาก รถถังเข้าไปไม่ได้
ยุคที่ผมเกิดและต่อมาจนถึงวัยรุ่นเป็นยุค “เบบี้บูม” แต่ละครอบครัวต่างก็มีลูกกันอย่างน้อย 5-6 คนขึ้นไป บางครอบครัวมีลูกเกือบ 10 คน การเลี้ยงดูเด็กไม่ได้มีต้นทุนสูงมาก ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องอาหารที่ไม่แพงและทำกินเองทุกบ้าน เลี้ยงแค่สิบกว่าปีก็ทำงานหาเงินได้แล้ว ดูเหมือนว่าเป็น “การลงทุน” ที่คุ้มค่ามาก คนที่ไม่มีลูกนั้นจะถูกมองว่าอนาคตจะกลายเป็นคน “อนาถา” ไม่มีคนเลี้ยงดู บ้านผมเองนั้นเนื่องจากยากจน จึงลงทุนมีลูกได้แค่ 3 คน อย่างไรก็ตาม พอคนเกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ตำแหน่งงานเพิ่มไม่ทัน คนว่างงานก็มากขึ้นกลายเป็นปัญหาสังคม รัฐบาลก็ต้องชะลอการเกิดโดยเน้นการคุมกำเนิดและเริ่มรณรงค์ด้วยสโลแกน “ลูกมากจะยากจน” และส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย “มีชัย” อย่างไรก็ตาม คนก็ยังคงเกิดมากอยู่ดี
ธุรกิจที่เฟื่องฟูมากที่สุดในยุคนั้นก็คือ “บ้านจัดสรร” ซึ่งเป็นวิวัฒนาการใหม่ในช่วงนั้น และทุกรายต่างก็จะเน้นโฆษณา “น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีตลาด” ทำเลที่มีโครงการมากที่สุดจุดหนึ่งก็คือ “ซอยอ่อนนุช” และอีกจุดหนึ่งก็คือ ถนนลาดพร้าว ที่มีการตัดถนนใหม่และมีพื้นที่ว่างจำนวนมาก เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ กรุงเทพในยุคนั้น “ยังเล็กมาก” ถนนหลัก ๆ มีไม่กี่สาย อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิก็ยัง “ว่าง ๆ” “สะพานควาย” เมื่อ 60 ปีก่อนยังแทบจะเป็น “นอกเมือง” แต่ก็ไม่มีควายให้เห็นแล้ว
ตัดภาพอย่างรวดเร็วมาถึงปัจจุบันที่คนไทยเพิ่มขึ้นมาจนเกือบถึง 70 ล้านคน และก็น่าจะกำลังเป็นจุดสูงสุด คนยุคเบบี้บูมก็เริ่มตายมากขึ้นเพราะส่วนใหญ่แล้วก็อายุประมาณ 60 ปี ขึ้นไปแล้ว บางคนใกล้ 80 ปีแล้ว ปี 2566 คนตายมากกว่าคนเกิดเป็นหมื่นคนแล้ว เหตุผลสำคัญก็คือ จำนวนคนเกิดแต่ละปีในช่วงหลังนั้นเหลือแค่ประมาณครึ่งหนึ่งคือประมาณ 5 แสนคนและดูเหมือนว่าจะลดลงเรื่อย ๆ เพราะ การเลี้ยงเด็กมีต้นทุนที่สูงมากและกลายเป็น “การลงทุนที่ไม่คุ้มค่า” สำหรับพ่อแม่ การมีลูกกลายเป็น “การบริโภคที่ฟุ่มเฟือย” และแม้แต่คนชั้นกลางจำนวนมากก็ “รับไม่ไหว”
การศึกษาที่เผยแพร่ออกมาเมื่อ 2-3 วันก่อนนำโดยอาจารย์เกื้อ วงศ์บุญสิน ศาสตราจารย์
ทางด้านประชากรศาสตร์ เพื่อนร่วมรุ่นของผมที่จุฬาให้ข้อมูลที่น่าตกใจมากว่า ภายใน 60 ปี คือปี 2083 ซึ่งหลานผมจะมีอายุประมาณ 66 ปี คนไทยจะเหลือเพียง 33 ล้านคนเท่ากับสมัยที่ผมเป็นวัยรุ่น และในจำนวนนั้นจะมีคนที่อยู่ในวัยทำงานเพียง 14 ล้านคน จากที่ไทยมีประมาณ 46 ล้านคนในวันนี้ หรือเหลือแค่ 30%
ที่แย่ยิ่งกว่านั้นก็คือ คนที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นจาก 8 ล้านคนในวันนี้เป็น 18 ล้านคน หรือเกินกว่า 50% ของคนไทยทั้งหมด ซึ่งถ้ามองว่าคนที่อายุเกิน 65 ปีนั้นจะไม่สามารถดูแลตัวเองได้ 100% ต้องมีคนช่วยทำมาหาเลี้ยงชีพ นั่นก็แปลว่าคนไทยที่ทำงาน 1 คนจะต้องดูแลเลี้ยงดูคนสูงอายุ 1.3 คน “ผ่านระบบภาษี” นั่นก็คือ รัฐบาลเก็บภาษีคนทำงาน อาจจะในอัตราอย่างน้อย 50% เพื่อนำเงินมาเป็นสวัสดิการเลี้ยงดูคนสูงอายุที่ทำงานไม่ไหวแล้ว
และนั่นก็ตั้งอยู่บนสมมุติฐานว่ารัฐไทยไม่ได้ทำอะไรที่จะแก้ไขก่อนจะถึงวันนั้น เช่น ให้มีการลงทุนในประเทศอื่นจำนวนมากอย่างที่ทำในประเทศสแกนดิเนเวียหลายประเทศที่นำเงินทั้งของรัฐและประชาชนไปลงทุนในต่างประเทศจำนวนมหาศาล ซึ่งก็จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และอาจจะเพียงพอที่จะนำผลตอบแทนกลับมาให้ประชาชนของตนเองมีกินมีใช้เพียงพอโดยไม่ต้องทำงานเมื่อเกษียณแล้ว เป็นต้น
ผมคงไม่พูดมากนักกับเรื่องว่าจะทำอย่างไรที่แก้ปัญหาที่จะต้องเกิดขึ้นแน่ในอีก 60 ปี นั่นควรเป็นเรื่องของรัฐบาลที่จะต้องมองการณ์ไกลและอาจจะต้องเริ่มแก้ไขก่อน เพราะวิธีแก้ไขนั้นต้องใช้ระยะเวลายาวพอ ๆ กับปัญหา แต่ผมอยากจะมองหรือจินตนาการว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจและธุรกิจในระยะยาว แต่เป็นเรื่องที่เราจะต้องตระหนัก เพราะระยะยาวก็คือ ระยะสั้นหลาย ๆ ช่วงที่ต่อกันไปเรื่อย ๆ ถ้าเราไม่มองระยะยาวเราจะไม่เข้าใจว่าทำไมระยะสั้นแต่ละช่วงเวลาหรือแต่ละปีจึงเกิดสิ่งที่เราเห็น
ประเด็นแรกก็คือการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะถดถอยหรือลดลงไปเรื่อย ๆ อย่างยาวนาน สุดท้ายเมื่อครบ 60 ปี ขนาดของเศรษฐกิจอาจจะลดลงจากปัจจุบันเหลือเพียงครึ่งเดียวหรือต่ำกว่านั้นขึ้นอยู่กับว่าเราจะสามารถเพิ่มผลิตภาพได้มากน้อยแค่ไหน เพราะว่าคนทำงานของเราอาจจะเหลือเพียง 1 ใน 3 หรือต่ำกว่านั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ปีต่อปีนั้น บางปีเศรษฐกิจก็อาจจะดีกว่าปกติได้ แต่ก็จะไม่ยั่งยืน ปีต่อไปก็อาจจะลดลงต่อ ดังนั้น การลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นที่จะให้ได้ผลตอบแทนที่ดีก็ทำได้ยาก
ธุรกิจที่ค่อนข้างที่จะอิงกับจำนวนคนโดยเฉพาะที่เป็นหนุ่มสาวหรือคนทำงานจะค่อย ๆ ถดถอยลงในระยะยาว โอกาสที่จะเติบโตน้อยมาก ตัวสำคัญก็คือ ที่อยู่อาศัยรวมถึงอาคารสำนักงานและห้างร้านค้าปลีกเกือบทุกประเภท
บ้านจัดสรรและคอนโดนั้นจะมียอดขายโดยรวมต่อปีลดลงไปเรื่อย ๆ และถึงจุดหนึ่งก็จะมีบ้านร้างแบบเดียวกับญี่ปุ่นที่ไม่มีคนอยู่และเจ้าของต้องยกให้คนอื่นเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีอสังหาริมทรัพย์ อาคารสำนักงานก็เช่นเดียวกันโดยเฉพาะเมื่อธุรกิจลดขนาดลงเพราะเศรษฐกิจไม่โตหรือลดลง ความต้องการพื้นที่สำนักงานก็จะลดลง และนี่ก็เช่นเดียวกัน บางปีก็อาจจะดีบ้างแต่ในระยะยาวก็จะกลับมาลดลงต่อ
ช็อปปิงมอลที่กำลังมีการเปิดเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็น่าห่วงมากว่าเปิดแล้วจะมีคนเข้าไปใช้บริการเพียงพอหรือไม่ เพราะคนจะเริ่มน้อยลง แน่นอนว่าอาจจะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น แต่ในระยะยาวก็ไม่พอที่จะเติมเต็มห้างที่อาจจะมากเกินไปแล้วตั้งแต่วันนี้
รถไฟฟ้าสาธารณะที่เพิ่งเปิดหลายสายรวมถึงที่กำลังสร้างและที่อยู่ในแผน ถนนหนทางต่าง ๆ ที่สร้างเพิ่มขึ้นมาตลอดทั้งในเมืองและต่างจังหวัด สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผมไม่แน่ใจว่ารัฐเคยคำนึงถึงแนวโน้มด้านประชากรศาสตร์ของไทยที่กำลังลดลงหรือไม่ แผนและงบประมาณอาจจะล้าสมัยหมดแล้ว สร้างเสร็จแล้วผมก็ห่วงว่าอนาคตอาจจะไม่ค่อยมีคนใช้และกลายเป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองก็ได้
ระบบโรงเรียนที่ทำไว้เพื่อรองรับจำนวนเด็กเป็นล้านคนต่อปี ถึงวันนี้ผมไม่รู้ว่ามีคนคิดหรือไม่ว่าจะต้องเริ่มทำอะไรที่จะรับกับจำนวนนักเรียนที่เหลือเพียงครึ่งเดียว งบประมาณที่มีจำนวนสูงแทบจะที่สุดนั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ที่จะทำให้คนไทยมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจไม่ถดถอยลงและคนไทยมีรายได้สูงกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้
สุดท้ายก็คือ คนสูงอายุที่ทำงานไม่ได้และจำนวนมากไม่ได้มีเงินออมและเงินลงทุนเพียงพอที่จะใช้ชีวิตอย่างเพียงพอตามอัตภาพจะทำอย่างไร และนี่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นที่สุด อาจจะแค่ภายใน 10 ปีนี้เท่านั้น
ยังมีประเด็นปัญหาอื่น ๆ อีกมากที่กำลังจะเกิดขึ้นตามการแก่ตัวของคนที่ยังไม่มีใครคิดไม่ต้องพูดถึงการแก้ไข ถ้าจะมีผมคิดว่าก็อาจจะเป็นนักลงทุนแบบ VI รวมถึงตัวผมเองที่เริ่มไปลงทุนในตลาดของประเทศที่ยังไม่แก่ตัวแล้ว เหตุเพราะเราเป็นนักลงทุนระยะยาวที่จะต้องตัดสินใจวันนี้
VVI Membership 🇻🇳
ดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ https://class.vietnamvi.com
หรือ ติดตามเราได้ที่
– Line :@vietnamvi คลิก https://lin.ee/Jy9n680
– website: www.vietnamvi.com
– facebook: https://www.facebook.com/vvinvestor
– Youtube: youtube.com/c/vietnamvi
– E-mail: info@vietnamvi.com