เพลงรักนักลงทุน

0
1249

โลกในมุมมองของ Value Investor 23 มีนาคม 67

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

เวลาไปงานชุมนุม  งานเลี้ยงหรืองานพิธีต่าง ๆ  ที่ประกอบไปด้วยเพื่อนที่อยู่หรือเคยอยู่ในสถาบันเดียวกัน  หรือเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน  หรือเป็นเพื่อนในวงสังคมเดียวกัน  หรืออยู่ในหมู่คนที่มีความสนใจหรือเป็นแฟนคลับอะไรบางอย่างเหมือนกัน  เรามักอยากจะได้ฟังหรือได้ร้องเพลงที่เราชอบที่ทำให้เรามีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน  มีความสุข  มีพลัง  มีความหวังและมองโลกในแง่ดี  เพลงนั้นหรือเพลงเหล่านั้นก็คือเพลงที่มีความหมายและคนที่อยู่ในกลุ่มก็คิดและเชื่อแบบเดียวกัน  ลองมาไล่ดูอย่างคร่าว ๆ  ว่ามีงานชุมนุมอะไรบ้างที่มักจะมีการร้องเพลงและเพลงอะไรบ้างที่เป็นที่นิยมกันกว้างขวางต่อเนื่องยาวนาน

เริ่มตั้งแต่งานเลี้ยงศิษย์เก่าโรงเรียนและวิทยาลัยซึ่งก็เป็นมาตรฐานที่ทำเหมือนกันหมด  นอกจากเพลงประจำสถาบันแล้ว  แต่ละแห่งก็อาจจะมีเพิ่มเพลง “ยอดนิยม” ที่มักจะมีและร้องกันเป็นประจำ  อย่างของผมก็คือเพลง  “ปราสาทแดง” ที่พูดถึงตึกสีแดงเก่าแก่ทรง “วินด์เซอร์” ที่ทุกคนรู้สึกว่าเป็นสัญลักษณ์ของคณะ  ทำเพลงและขับร้องโดยวงดนตรีสุนทราภรณ์ที่เด่นดังที่สุดสมัย 50 ปีก่อน

ตั้งแต่เด็ก  ผมถูกสอนให้ร้องเพลง  “สามัคคีชุมนุม” เวลาฝึกลูกเสือตั้งแต่ชั้นประถม  ซึ่งก็เป็นเพลงเวอร์ชั่นภาษาไทยของ “โอลด์แลงไซน์” เพลงเก่าอายุกว่าสองร้อยปีที่เล่นหรือร้องกันทั้งโลกจนถึงวันนี้  เพลงนี้เป็นเพลงที่มักจะร้องกันวันสิ้นปีของฝรั่ง  เป็นวันที่รำลึกถึงวันเก่า ๆ เพื่อนเก่า ๆ ที่ไม่ได้เจอกันนาน  เป็นเพลงแห่ง “มิตรภาพ” และการทำความดี

อย่างเช่นคนทั้งโลกมาร่วมกันทำสิ่งที่ดี ๆ การช่วยคนอดหยากหิวโหย  หรือช่วยกันรักษ์โลกอะไรแบบนั้นก็จะเปิดหรือร้องเพลง “Auld Lang Syne” นอกจากนั้น  งานจบการศึกษาและรับปริญญาของสถาบันการศึกษาก็มักจะเปิดเพลงนี้  เช่นเดียวกับงานศพที่จะเป็นการรำลึกถึงเวลายาวนานที่ผ่านไปของเพื่อนและคนที่ตายอะไรแบบนั้น  และก็ต้องถือว่าเพลงนี้น่าจะเป็นเพลงยอดนิยมตลอดกาลเพลงหนึ่ง

เพลงการชุมนุมที่มีการเปิดหรือร้องกันหลาย ๆ เพลงมากก็คือ  เพลงของการประท้วงต่อสู้โดยเฉพาะทางการเมืองและสังคม  ถ้าพูดถึงการประท้วงทางสังคม  เพลง “Imagine” ของจอนห์ เลนนอน วง The Beatles เป็นเพลงหนึ่งที่โด่งดัง  โดยเฉพาะการประท้วงการทำสงครามและความเท่าเทียมกันของมนุษย์ 

อีกเพลงหนึ่งที่ใช้กันพอสมควรในการประท้วงผู้เผด็จการทางการเมืองก็คือเพลงที่นักศึกษาคนรุ่นใหม่ประท้วงรัฐบาลเมื่อ 3-4 ปีก่อน ซึ่งเป็นเพลงในละครบอร์ดเวย์ที่โด่งดัง  “Les Miserables”  เพลงชื่อ  “Do You Hear The People Sing?” หรือ “คุณได้ยินเสียงร้องเพลงของประชาชนไหม?”

ในส่วนของเพลงไทยเองนั้น  เพลงเก่าที่ใช้ในขบวนการประท้วงสมัย 14 ตุลาคม 2516 ก็ถูกนำมาร้องใหม่เช่นเดียวกันนั่นก็คือเพลง  “สู้ไม่ถอย” แต่งโดยเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่เป็นผู้นำนักศึกษาฝ่ายซ้าย  แต่กลับมาถูกใช้อีกครั้งโดยกลุ่ม กปปส. ที่เป็นผู้ประท้วงฝ่ายขวาเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน  และเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ยังถูกนำมาใช้อีกโดย “นักต่อสู้” คนรุ่นใหม่  เหตุผลอาจจะเพราะว่ามันเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องและทำนองที่ปลุกใจให้ฮึกเหิมมาก  ไม่ว่าคุณจะเป็นซ้ายหรือขวา

เพลงเพื่อสรรเสริญคนโดยเฉพาะคู่ชีวิตที่ตายไปแล้วในงานศพ  ซึ่งก็เป็นที่นิยมมากในระยะหลัง ๆ  นี้ก็คือ  เพลง “Wind Beneath My Wings” หรืออีกชื่อหนึ่งคือ “Hero”  หรือแปลว่า  “ลมใต้ปีกของฉัน” หรือ “วีรบุรุษ” ขับร้องโดย “Bette Midler” นี่คือการบอกให้แขกรู้ว่า  คนที่ตายคือผู้ที่ช่วยเหลือและสนับสนุนตนเองทุกอย่างโดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนอะไรทั้งสิ้น  เป็นครั้งสุดท้าย..

งานแข่งขันกีฬาเป็นอีกการชุมนุมหนึ่งที่มักจะต้องมีการร้องเพลง  ผมคงไม่พูดถึงเพลงเชียร์ที่มีความหลากหลายและเป็นเรื่องที่ร้องกันเฉพาะสถาบันหรือฝ่ายที่มีเพลงเชียร์ประจำทีม  แต่เพลงที่เริ่มมีบทบาทขึ้นมาเป็น “เพลงชาติ” ของกีฬา  อย่างฟุตบอลทีมชาติอังกฤษ—อย่างไม่เป็นทางการ  ก็คือเพลงที่ดูเหมือนไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการกีฬาเลยก็คือเพลง  “Sweet Caroline” ขับร้องโดย “Neil Diamond”

หลังจากโด่งดังและเป็นที่ยอมรับในอังกฤษและยุโรป  Sweet Caroline ก็ข้ามไปดังในอเมริกา  กีฬาหลาย ๆ  ประเภทและหลาย ๆ ทีมเริ่มยอมรับเอามาเป็นเพลงที่จะเปิดและร้องกันเวลาแข่งขันและเมื่อทีมตนเองชนะ  เพราะเพลงนี้มีทำนองและเนื้อร้องที่จับใจและคนสามารถแสดงอาการเป็นมิตรและยินดีร่วมกันและเฉพาะอย่างยิ่งท่อนฮุคที่ร้องว่า  “Good times never seemed so good. I’ve been inclined. To believe they never would”

ซึ่งก็แปลเป็นภาษากีฬาว่า “มันช่างเป็นเวลาที่ดีเหลือเกิน  ชัยชนะช่างหอมหวานเหลือเกิน  ไม่น่าเชื่อว่ามันจะเป็นจริง”

ผมเองยังจำได้แม้ว่าเวลาจะผ่านมาประมาณ 55 ปีมาแล้ว  วันนั้นผมยังเป็นวัยรุ่นที่ชอบฟังเพลงที่สมัยนั้นยังหาฟังไม่ค่อยได้  ทีวีช่องหนึ่งออกอากาศรายการเพลงครึ่งชั่วโมงและนำเสนอวงดนตรีหน้าใหม่ที่เพิ่งชนะการประกวดแข่งขันเพลงสตริงประเทศไทยชื่อ  “ดิอิมพอสซิเบิล” เพลงที่ร้องคือเพลงที่กำลังดังในต่างประเทศชื่อ  “Sweet Caroline”

ผมได้ฟังเป็นครั้งแรกจนจบพร้อมกับความรู้สึกว่ามันเพราะมาก ๆ  และมันติดอยู่ในหัวตั้งแต่วันนั้น  ไม่นึกเลยว่าถึงวันนี้มันก็ยังดังในวงการกีฬาและเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะที่หวานดุจ  “คาโรไลน์” ซึ่งคนแต่งบอกว่าเป็นแรงบันดาลใจจากชื่อลูกสาวตัวน้อยของอดีตประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ในขณะนั้น 

กลับมาที่การลงทุน  ผมเองไม่รู้หรืออาจจะไม่ตระหนักว่ามีเพลงที่นักลงทุนชอบร้องกันเป็นพิเศษหรือบ่อย ๆ ไหมเวลามีอีเว้นท์เกี่ยวกับการลงทุน  หรือมีเพลงอะไรไหมที่นักลงทุนมักชอบเป็นพิเศษ  ผมคิดว่าไม่มี  แต่ผมเองคิดว่าเราควรมีเหมือนวงการอื่น เช่นในวงการกีฬา

เหตุผลก็เหมือนกับวงการกีฬา  การลงทุนนั้น  ผมคิดว่ามีเรื่องของการศึกษา ฝึกซ้อม  อาศัยโชคบ้างเล็กน้อย  เข้าแข่งขันหรือลงทุนเป็นเม็ดเงินและก็หวังทำกำไรได้งดงามหรือหวังที่จะ “ชนะ”  และแน่นอนว่านักลงทุนก็อยากจะ “ฉลองความสำเร็จ” ด้วยการร้องเพลงแสดงความยินดีให้กับตนเองและ “กลุ่มของเรา”  เช่น  “กลุ่ม VI”  กลุ่ม A หรือกลุ่ม B ที่เราเสมือนเป็นสมาชิก—โดยจิตวิญญาณ  หรือเป็นกลุ่มจริง ๆ ที่ช่วยเหลือแลกเปลี่ยนข้อมูลกันจริง  และวันหนึ่งเรามาเจอกัน  อาจจะเป็นงานเลี้ยงสังสรรค์  อาจจะเป็นงานสัมมนา  และเป็นวันที่เรา  “ชนะ” หรือได้รับผลตอบแทนอย่างงดงาม  แล้วเราก็จะร้องเพลงหรือเปิดเพลงที่ทุกคนอยากร้อง

Sweet Caroline. 

Good times never seemed so good

I’ve been inclined

To believe they never would

พูดง่าย ๆ  ผมกำลังมองว่านักลงทุนแต่ละคนนั้น  ก็คล้าย ๆ  กับจะเป็นทีมหรือแฟนคลับของกลุ่มหุ้นหรือตลาดหุ้นแต่ละแห่ง  เรามีสังคมและเข้าสังคม  เรารู้จักคนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันและเราเชื่อในสิ่งเดียวกันหรือหุ้นกลุ่มหรือตัวเดียวกัน  ดังนั้นเราก็จะแพ้หรือชนะเหมือน ๆ  กัน  และน่าจะมีความทุกข์หรือสุขคล้าย ๆ  กัน  และวันที่ชนะเราก็ควรจะต้องฉลองและฟังหรือร้องเพลงของเรา  Sweet Caroline..



🇻🇳 VVI Membership
ดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ https://class.vietnamvi.com
หรือ ติดตามเราได้ที่

– Line: @vietnamvi คลิ๊ก https://lin.ee/Jy9n680
– Website:  www.vietnamvi.com
– facebook:  https://www.facebook.com/vvinvestor
– Youtube: youtube.com/c/vietnamvi
– E-mail: info@vietnamvi.com