โลกในมุมมองของ Value Investor 11 มกราคม 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ในช่วงเร็ว ๆ นี้ดูเหมือนว่าดัชนีดาวโจนส์ของตลาดหุ้นนิวยอร์คจะทำสถิติสูงสุดตลอดกาลใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ จนล่าสุดคือเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2563 ดัชนีปิดที่ประมาณ 28,824 จุด ทั้ง ๆ ที่อเมริกากำลังมีปัญหาสงครามการค้ากับจีนรวมถึงการพิพาททางทหารครั้งรุนแรงกับอิหร่าน ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนอ้างว่าทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยถดถอยลง ดัชนีปีที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นไปแค่ 1% และน่าจะย่ำแย่ต่อไปในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ดัชนีตลาดหุ้นของโลกโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายต่างก็ปรับตัวขึ้นดีมากในช่วงหนึ่งปีที่ผ่าน ว่าที่จริงปีที่แล้วนั้นดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวขึ้นดีที่สุดปีหนึ่ง ดัชนีดาวโจนส์เองก็ปรับตัวขึ้นไปในระดับ 20% นี่ทำให้นักลงทุนส่วนบุคคลจำนวนมากในตลาดหุ้นไทยรู้สึกท้อแท้ผิดหวังกับการลงทุน หลายคนถอนตัวออกจากตลาด ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันลดลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย ว่าที่จริงความท้อแท้หมดหวังนั้นเริ่มก่อตัวมานานพอสมควรแล้วอย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 2561 ที่ดัชนีตลาดหุ้นก็ตกลงไปประมาณ 11% โดยที่ “หุ้นยอดนิยม” ที่เป็นหุ้นที่นักลงทุนส่วนบุคคลชอบเล่นกันมากนั้น บางตัวตกลงไปเกินครึ่ง อนาคตของตลาดหุ้นไทยสำหรับนักลงทุนหลายคนดู “มืดมน” ตลาดหุ้นอเมริกาดู “สดใส”
ว่าที่จริงตลาดหุ้นอเมริกาตั้งแต่ปี 2009 หลังจากวิกฤติซับไพร์มในปี 2008 นั้น ปรับตัวดีขึ้นมาตลอดแทบทุกปีเป็นเวลา11 ปีแล้ว สิ้นปี 2008 ดัชนีดาวโจนส์อยู่ที่ประมาณ 8,000 จุดเศษ ๆ ถึงปัจจุบันดัชนีเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 3.6 เท่า คิดแล้วเท่ากับผลตอบแทนที่ปีละ 12.3% แบบทบต้นไม่รวมปันผล นี่เป็นผลตอบแทนที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นอเมริกา คือเป็นตลาดกระทิงที่ยาวมากเกิน 10 ปีและให้ผลตอบแทนที่สูงมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะในอดีตนั้นตลาดกระทิงมักจะกินเวลาโดยเฉลี่ยแค่ 5-6 ปี ที่สูงเป็น 10 ปีนั้นมีน้อยมาก นี่เป็นยุคทองของตลาดหุ้นอเมริกาอย่างแท้จริง และเมื่อคำนึงถึงเศรษฐกิจและบริษัทจดทะเบียนของอเมริกาที่ดูเหมือนว่าจะยังดีมากเพราะเป็นเศรษฐกิจที่มีพลวัตรเป็นเศรษฐกิจดิจิตอลที่ก้าวหน้าและยังมีประชากรที่เพิ่มขึ้นและ “ไม่แก่” เมื่อเทียบกับประเทศที่ก้าวหน้าอื่น ๆ ในโลก
คนอาจจะคิดว่าตลาดหุ้นไทย “แย่มาก” อนาคตไม่รู้อยู่ที่ไหน? แต่ถ้ามองย้อนหลังไป 11 ปีหลังวิกฤติซับไพร์มเหมือนกันก็จะพบว่าตลาดหุ้นไทยเองนั้นก็ปรับตัวดีขึ้นมากเหมือนกัน ว่าที่จริงไม่แพ้ตลาดหุ้นอเมริกาหรือดัชนีดาวโจนส์เลย สิ้นปี 2008 ดัชนีตลาดอยู่ที่ประมาณ 450 จุด ถึงวันที่ 10 มกราคม 2563 ดัชนีอยู่ที่ 1,581 จุด หรือเพิ่มขึ้นเป็น 3.5 เท่าเกือบเท่ากับการเติบโตของดัชนีดาวโจนส์ในเวลาเดียวกัน ถ้าคิดรวมปันผลแล้ว ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยดีกว่าตลาดนิวยอร์กด้วยซ้ำ
แต่ความแตกต่างของการเติบโตหรือผลตอบแทนจากตลาดทั้งสองในเวลา 11 ปีหลังวิกฤติก็คือ ดัชนีดาวโจนส์นั้นมีการเติบโตค่อนข้างสม่ำเสมอกว่าตลาดหุ้นไทยมาก ดัชนีตลาดหุ้นไทยเติบโตขึ้นแรงมากในช่วง 4 ปีหลังวิกฤติ โดยที่ปี 2552 ดัชนีเพิ่มขึ้นถึง 63% ปี 53 ขึ้นไปอีก 41% ปี 54 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยที่ -0.7% พอถึงปี 2555 ดัชนีขึ้นไปอีก 36% รวมแล้วในเวลา 4 ปี ดัชนีปรับตัวขึ้นไป 942 จุดหรือเพิ่มขึ้นกว่า 200% คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละ 33% และนี่คือ “ยุคทอง” ของนักลงทุนส่วนบุคคลโดยเฉพาะที่เป็น VI และนักเก็งกำไรที่มัก “ทุ่มสุดตัว” และทำให้เกิด “เศรษฐี” จากหุ้น และ “เซียนหุ้น” จำนวนมาก พวกเขามักจะ “ลงทุนในหุ้น 100%” หลายคนเกินร้อยโดยการใช้มาร์จินซื้อขายหุ้น นั่นน่าจะก่อให้เกิด “วัฒนธรรมการลงทุนในหุ้น” สำหรับคนไทยจำนวนมากโดยเฉพาะที่ยังเป็นหนุ่มสาว หุ้นไม่ใช่การเก็งกำไรหรือการพนันอีกต่อไป แต่หุ้นคือ ‘‘ชีวิต” แม้แต่นักธุรกิจหรือผู้ประกอบการก็ยังเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น บ่อยครั้งก็ผ่านลูกหลานที่ได้สร้างผลตอบแทนเป็นที่ประจักษ์ว่า ลงทุนในหุ้นดีกว่าการทำธุรกิจของตนเอง
หลังจาก “สี่ปีทอง” ของตลาดหุ้นจบลงที่ดัชนีประมาณ 1,400 จุดในปี 2555 แล้ว ดัชนีก็แกว่งตัวเป็น Sideway มาตลอดจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 7 ปี ที่ดัชนีปรับตัวขึ้นมาไม่ถึง 200 จุดคิดเป็นผลตอบแทนแบบทบต้นเพียง 2.8% ต่อปี ในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ในเวลาเดียวกันนั้นยังคงเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ยแบบทบต้นถึงปีละ 10% โดยที่ 4 ปีหลังนี้ในสมัยประธานาธิบดีทรั้มป์ดัชนีดาวโจนส์เติบโตขึ้นถึงปีละ12.8% โดยที่หุ้นที่นำให้ดัชนีเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วนั้นมาจากหุ้นดิจิตอลยุคใหม่ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและประกอบกับการลดภาษีนิติบุคคลที่ทำให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้ค่า PE ของหุ้นไม่ได้สูงเกินไปจนทำให้ราคาหุ้นเป็น “ฟองสบู่” และนี่คงเป็นเหตุผลที่ทำให้ดัชนีดาวโจนส์และดัชนีอื่น ๆ ในประเทศสหรัฐไม่ประสบกับปัญหา “วิกฤติตลาดหุ้น” อย่างที่นักวิเคราะห์หลายคนเกรงกลัวกัน
มองในฐานะของนักลงทุนระยะยาวที่ลงทุนกันเป็นสิบ ๆ ปีหรือตลอดชีวิต เราคงบอกไม่ได้ว่าตลาดไหนดีกว่าชัดเจนระหว่างตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นสหรัฐ เพราะตัวเลขผลตอบแทนโดยเฉลี่ยระยะยาวของทั้งสองตลาดนั้นใกล้เคียงกันมาก ไม่ใช่แค่ 11 ปีที่ผ่านมาแต่ย้อนหลังไปถึงช่วงเวลาเปิดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อ 45 ปีที่ผ่านมาที่ตลาดหลักทรัพย์สร้างผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนประมาณเกือบ 10% ต่อปีแบบทบต้นซึ่งก็ใกล้เคียงกับตลาดหุ้นสหรัฐ ประเด็นที่ว่าบางช่วงบางตอนตลาดหุ้นหนึ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าอีกตลาดหนึ่งนั้น จริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ในขณะนี้ตลาดหุ้นไทยอาจจะเป็นช่วงเวลาที่ “เลวร้าย” ตลาดอาจจะไม่ไปไหนเป็นทศวรรษ แต่ในตลาดหุ้นอเมริกาเองก็เคยมีช่วงเวลาแบบนี้เช่นเดียวกัน ดังนั้น ผมอยากสรุปว่านับจากวันเปิดตลาดหุ้นหรือนับจากช่วงเวลาที่เกิดวิกฤติซับไพร์มซึ่งเป็นปัญหาระดับโลก ตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นสหรัฐนั้น “ดีเสมอกัน”
คำถามที่สำคัญก็คือ เวลาต่อจากนี้ล่ะ ตลาดหุ้นไทยหรือตลาดนิวยอร์กหรือตลาดหุ้นอเมริกาจะดีกว่าในระยะยาว ซึ่งนี่ก็จะเป็นคำถามสำคัญโดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนรุ่นใหม่หรือนักลงทุนคนหนุ่มสาวที่จะต้องตัดสินใจลงทุนเพื่อชีวิตอีกหลายสิบปีข้างหน้า เพราะการตัดสินใจผิดก็จะทำให้ชีวิตทางการเงินแตกต่างไปมาก สำหรับผมเองนั้น ผมคิดว่าในระยะยาวแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นโดยรวมก็จะสะท้อนถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และเศรษฐกิจของประเทศเองนั้นก็มักจะถูกกำหนดโดยปัจจัยสำคัญ 3 ประการนั่นก็คือ 1) ระบบการปกครองและการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ 2) กำลังแรงงานของประเทศว่ามีมากขึ้นหรือน้อยลง และ 3) ก็คือ คุณภาพของคนหรือแรงงานว่ามีความสามารถหรือประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ซึ่งถ้ามองว่าคนไทยกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วและในไม่ช้ากำลังแรงงานก็จะน้อยลงเมื่อเทียบกับอเมริการวมถึงประเด็นอื่น ๆ ที่กล่าวถึงแล้ว ผมก็คิดว่าภาพรวมของเศรษฐกิจอเมริกาก็น่าจะดีกว่าไทยในอนาคต และนี่น่าจะเป็นเหตุผลว่าตลาดหุ้นในอนาคตของอเมริกาน่าจะดีกว่าตลาดหุ้นไทยในระยะยาวนับจากวันนี้
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นคนไทยและอาศัยอยู่ในประเทศไทย การลงทุนในประเทศไทยก็น่าจะมีความได้เปรียบอยู่พอสมควรในการที่จะรู้จักบริษัทหรือหุ้นรายตัวเป็นอย่างดี ดังนั้น คนที่เป็นนักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น VI ก็น่าจะสามารถเลือกหุ้นรายตัวได้ดีรวมถึงอาจจะเห็นโอกาสหรือจังหวะในการลงทุนในหุ้นรายตัวที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าค่าเฉลี่ย เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ถ้าเราลงทุนแบบ Focus หรือลงทุนที่เน้นการถือหุ้นไม่กี่ตัว โอกาสที่เราจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าปกติหรือดีกว่าผลตอบแทนเฉลี่ยของตลาดก็มีความเป็นไปได้ ดังนั้น กล่าวโดยสรุปก็คือ ถ้าจะลงทุนแบบอิงดัชนีในกองทุนรวมของประเทศ ผมคิดว่าลงทุนในอเมริกาน่าจะดีกว่า แต่ถ้าจะลงทุนแบบเลือกหุ้นเอง การลงทุนในประเทศไทยก็ยังมีโอกาสที่จะเอาชนะการลงทุนในตลาดหุ้นอเมริกาได้ทั้ง ๆ ที่ภาพรวมโดยเฉลี่ยในระยะยาวตลาดหุ้นไทยอาจจะไม่ดีเท่า โดยที่เหตุผลก็คือ เรารู้จักหุ้นในตลาดไทยดีกว่าโดยเฉพาะในหุ้นตัวเล็กลงมาที่บางตัวสามารถโตได้เร็วมากเทียบกับหุ้นตัวใหญ่ทั้งในตลาดหุ้นไทยและอเมริกา