การเมืองไทยใครจะชนะ

0
1668

โลกในมุมมองของ Value Investor  1 สิงหาคม 63

ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

            การเมืองเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งประเทศและบางทีก็ทั้งโลก  เพราะฉะนั้น  นักลงทุนจำเป็นที่จะต้องรู้ว่าการเมืองของประเทศเป็นอย่างไรในปัจจุบันและจะเป็นอย่างไรในอนาคต  การเมืองเป็นเรื่องของการแข่งขันหรือการต่อสู้ของคนในสังคมเพื่อที่จะได้อำนาจในการทำสิ่งต่าง ๆ  รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรของประเทศในทางที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองหรือกลุ่มตนเองที่มีความคิดคล้าย ๆ  กัน  ความคิดทางการเมืองของคนโดยทั่วไปในโลกยุคปัจจุบันนั้นมักจะแบ่งออกเป็น 2 แนวทางใหญ่ ๆ  นั่นก็คือ  อนุรักษ์นิยมกับเสรีนิยม  คนในสังคมของประเทศอย่างในไทยและประเทศส่วนใหญ่ในโลกก็มักจะแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายและก็มักจะรวมกลุ่มกันเป็นพรรคการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมหรือเสรีนิยม  ตัวอย่างเช่น  ในอเมริกาก็จะมีพรรครีพับลิกันเป็นพรรคแนวอนุรักษ์ในขณะที่พรรคเดโมแครตเป็นฝ่ายเสรีนิยม  ในขณะที่อังกฤษก็จะมีพรรคอนุรักษ์นิยมกับพรรคแรงงานที่เป็นเสรีนิยม  ทั้งสองฝ่ายต่างก็แข่งขันทางการเมืองมายาวนานเป็นร้อยปีและก็ผลัดกันแพ้และชนะมาตลอด

            ในประเทศไทยนั้น  ตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 หรือ 88 ปีมาแล้ว  เราก็มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นและแข่งขันกันเป็นช่วง ๆ  ไม่ค่อยต่อเนื่องยาวนานในแต่ละครั้งเนื่องจากการรัฐประหารที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ  อย่างไรก็ตาม  ถ้าจะถามว่าแนวความคิดเรื่องอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยมนั้น  ฝ่ายไหนชนะและเกิดขึ้นในช่วงไหน  คำตอบก็คือ  การเมืองไทยตั้งแต่ปี 2475 นั้นแทบจะไม่เคยเป็นเสรีนิยมเลย  อาจจะมีช่วงสั้น ๆ  เช่นหลังวิกฤติการเมือง 14 ตุลาคม 2519 และในช่วงหลังปี 2540 ที่ไทยมีรัฐธรรมนูญ “ฉบับประชาชน” ที่เกิดขึ้นหลังการรัฐประหารปี 2534 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเนื่องจากการ “สืบทอดอำนาจ” ของผู้นำคณะรัฐประหารในปี 2535 

            แต่แนวความคิดด้านเสรีนิยมนั้นก็พัฒนามาเรื่อย ๆ  ตามความก้าวหน้าของประเทศในด้านเศรษฐกิจและการเกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่ที่ได้รับอิทธิพลจากต่างประเทศผ่านสื่อมวลชนต่าง ๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 10 ปีหลังนี้ที่เกิดสื่อสังคมรุ่นใหม่ผ่านอินเตอร์เน็ตแพร่หลายและการเข้าถึงนั้นแทบไม่มีต้นทุนและไม่มีใครสามารถป้องกันได้  นี่ทำให้ “คนรุ่นใหม่” จำนวนมากมีแนวความคิดแบบเสรีนิยม  และก็เช่นเดียวกัน  คนรุ่นเก่าบางส่วนก็เริ่มมีแนวความคิดเสรีนิยมมากขึ้น  ถ้ามองแบบ  “นิวนอร์มอล” แล้ว  สำหรับบางคน  นี่อาจจะเป็นการ “Disrupt” ทางการเมืองที่อาจจะเปลี่ยนแปลงการเมืองของประเทศไทยได้  เมืองไทยอาจจะไม่เป็น “รัฐอนุรักษ์นิยม” ที่ความคิดเรื่องอนุรักษ์นิยมครองประเทศอีกต่อไป  การแข่งขันหรือต่อสู้ทางการเมืองอาจจะกำลังรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบไปถึงเรื่องทางสังคมและเศรษฐกิจและกลายเป็น “ความเสี่ยงของประเทศ” ได้

            การวิเคราะห์ว่าใครหรือฝ่ายไหนจะ “ชนะ” ในการแข่งขันหรือต่อสู้ทางการเมืองของไทยนั้น  ความคิดของผมก็คือ  ฝ่ายนั้นจะต้องเป็น  “รัฏฐาธิปัตย์” หรือผู้มีอำนาจสูงสุดในการปกครองอย่างแท้จริง  ซึ่งนี่ก็อาจจะไม่ใช่แค่การชนะการเลือกตั้งได้เป็นรัฐบาล  เพราะการเป็นรัฐบาลนั้น  ในประเทศไทยอาจจะไม่ได้มีอำนาจสูงที่สุดจริง ๆ  ในทางพฤตินัย   นอกจากนั้น  กรอบระยะเวลาของการต่อสู้หรือแข่งขันก็จะกำหนดไม่ให้ยาวเกินไป  อาจจะประมาณ 5-10 ปี  เพราะถ้าเกินจากนั้นก็น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปมากจนไม่น่าจะคาดการณ์ได้  ส่วนวิธีการวิเคราะห์ก็จะเป็น “แนว VI” นั่นก็คือ  ในทุกการต่อสู้หรือการแข่งขันนั้น  ผมจะดูว่าอะไรคือปัจจัยในการแข่งขันที่แต่ละฝ่ายมี  ใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไร  และสุดท้ายที่สำคัญก็คือ  ผมไม่สามารถสรุปฟันธงว่าใครจะชนะแน่นอน  เพราะนี่คือ  “การเมืองไทย” ที่หาความแน่นอนไม่ค่อยได้มานาน

            ปัจจัยในการต่อสู้ทางการเมืองของไทยนั้น  ผมอยากจะอุปมาอุปไมยว่าแต่ละฝ่ายนั้นมี 3 กองทัพ คือ ทัพบก ทัพเรือ  และทัพอากาศ  โดยที่ไม่ได้เกี่ยวกับการมีทหารหรือมีอาวุธเช่น ปืน หรือเรือรบ  หรือเครื่องบิน  จริง ๆ  แม้ว่าการมีอาวุธดังกล่าวก็จะเป็นความได้เปรียบอย่างมากในการเมืองไทย  แต่ “ทัพบก” ในความหมายนี้ของผมก็คือคนในประเทศไทยทั้งหมดหรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือคนที่ Active หรือมีความตื่นตัวทางการเมืองและเข้าร่วมในกระบวนการทางการเมืองทั้งหมดในประเทศไทย  ซึ่งผมจะคิดว่ามีปัจจัยหรือทรัพยากรมากน้อยแค่ไหนเป็น  “คะแนน” โดยที่ถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดา  ผมจะคิดว่า 1 คนมี 1 คะแนน  แต่ถ้าเป็นคนที่มี “อิทธิพล”  มากกว่าคนทั่วไป  เช่น  เป็นคนที่ถืออาวุธได้ตามกฎหมาย  ก็อาจจะได้ 5 หรือ 10 คะแนนต่อคน  ข้าราชการที่มีอำนาจในการอนุมัติการกระทำหรือลงโทษคนก็อาจจะได้คนละ 2 คะแนน สส. สว. ปปช. ผู้พิพากษาทางการเมือง หรือคนที่มีอำนาจทางการเมืองอื่น ๆ  หนึ่งคนอาจจะมีคะแนนเป็น 10,000 เป็นต้น  ฝ่ายไหนมีคะแนนสูงกว่าก็จะได้เปรียบฝ่ายที่มีคะแนนน้อยกว่า

            มองแบบนี้แล้วก็จะเห็นว่า ณ.ขณะนี้  ฝ่ายอนุรักษ์นิยมน่าจะมีคะแนนเหนือฝ่ายเสรีนิยมอยู่พอสมควร  เพราะคนไทยจำนวนมากเป็นคนรุ่นเก่าที่ผมคิดว่าส่วนใหญ่แล้วก็ยังเป็นคนอนุรักษ์นิยมไม่ต้องพูดถึงคนที่ถืออาวุธ  ข้าราชการและคนที่เป็นนักการเมืองจำนวนมาก  ดังนั้น  สำหรับ  “กองทัพบก” แล้ว  ผมคิดว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมน่าจะยังเหนือกว่าพอสมควร  อย่างไรก็ตาม  อานิสงค์จากการแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วของคนไทยที่จะทำให้คนที่มักจะอนุรักษ์นิยมจำนวนมากต้องถอยออกจากการเมือง  ในขณะที่คนรุ่นใหม่ที่มักจะเป็นเสรีนิยมนั้นจะเข้าสู่การเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ   เช่นเดียวกัน  ในอีกด้านหนึ่ง  การเปลี่ยนแปลงของคนที่เคยอนุรักษ์นิยมมาเป็นเสรีนิยมก็มีแนวโน้มมากขึ้น  เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งก็คือ  พวกเขาได้รับข่าวสารข้อมูลใหม่ที่กว้างขึ้นจากสื่อที่เป็น  “เสรีนิยม” มากขึ้น  สื่อเหล่านั้นก็เปรียบเสมือน  “กองทัพอากาศ” ที่ส่งเครื่องบินเข้ามา “ถล่ม” ทัพบกจนสูญเสียกำลังไปมากอย่างที่ผมจะกล่าวถึงต่อไป

            ปัจจัยที่สองก็คือ  “กองทัพเรือ”  นี่คือรัฐธรรมนูญ กฎหมาย  และกฎเกณฑ์การบริหารและปกครองประเทศรวมถึงบุคคลากรที่ทำหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎเหล่านั้น  หน้าที่ของทัพเรือก็คล้าย ๆ กับทัพเรือในสงครามจริง  นั่นคือ  การปิดล้อมและตัดกำลังเสริม  ตัดทรัพยากรหรือเสบียงต่าง ๆ  ที่ฝ่ายตรงกันข้ามจะนำเข้ามาสู่สนามรบ  ซึ่งจะทำให้ฝ่ายตรงข้ามอ่อนแรงลง  ในกรณีของการเมืองก็คือการยุบพรรคหรือทำให้หมดสิทธิในการทำงานการเมืองต่าง ๆ  ในการต่อสู้หรือแข่งขันทางการเมือง  ฝ่ายที่คุมทัพเรือได้มากกว่าก็จะได้เปรียบ  และในหลาย ๆ  ครั้งเป็นเครื่องมือที่ทำให้ชนะสงครามได้และนี่ก็คล้าย ๆ กับอังกฤษในสงครามโลกครั้งที่สองที่อาศัยกองทัพเรือในการป้องกันเยอรมันบุกก่อนที่จะเอาชนะได้ในที่สุด  ในกรณีของการเมืองไทยเองนั้นก็ชัดเจนว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมแทบจะคุมกำลังทางเรือได้เด็ดขาด

            ปัจจัยสุดท้ายคือ “กองทัพอากาศ” ความหมายก็คือ  การต่อสู้กันด้วยข่าวสาร “ทางอากาศ” ผ่านสื่อต่าง ๆ   ในอดีตนั้น  กองทัพอากาศประกอบไปด้วยหนังสือพิมพ์  วิทยุ  ทีวี ซึ่งส่วนใหญ่ถูกควบคุมโดยรัฐซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม  การเกิดขึ้นของสื่อสังคมสมัยใหม่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้นทำให้ฝ่ายเสรีนิยมสามารถสร้างกองทัพอากาศที่ทรงอิทธิพลและเหนือกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมอานิสงค์จากการที่คนรุ่นใหม่มีความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีดิจิตอลมากกว่าคนรุ่นเก่าที่มักจะอนุรักษ์นิยมกว่ามาก  หน้าที่ของกองทัพอากาศนั้นก็คือการ “ทำลายเป้าหมายบนพื้นดิน”  แต่ในทางการเมืองก็คือการส่งข่าวสารที่จะเปลี่ยนความคิดของคนที่มีความคิดอนุรักษ์ให้มีความคิดเป็นเสรีนิยมมากที่สุด  กองทัพอากาศไม่สามารถที่จะยึดครองพื้นที่หรือเอาชนะในสงครามจริงหรือสงครามทางการเมืองได้  แต่มันสามารถที่จะเปลี่ยนดุลยภาพของกำลังและทรัพยากรทางภาคพื้นดินรวมถึงพื้นน้ำให้ฝ่ายของตนได้เปรียบและเอาชนะได้ในที่สุด

            ประเด็นที่จะต้องจับตามองและประเมินว่าฝ่ายไหนจะชนะนั้น  ก็จะต้องดูพัฒนาการของกองทัพและการรบในแต่ละด้านของแต่ละฝ่ายว่าเป็นอย่างไร  กำลังแต่ละทัพนั้นเปลี่ยนแปลงไปทางด้านไหน  หลายสิ่งหลายอย่างในอดีตนั้น  เคยอยู่อย่างเดิมหรือเปลี่ยนแปลงน้อยมากเป็นเวลาสิบหรือหลายสิบปี  แต่ในโลกยุคปัจจุบัน  การเปลี่ยนแปลงบางทีเกิดขึ้นในชั่ว “ข้ามคืน” อย่างที่เรา  “คาดไม่ถึง”  นี่เป็น  “New Normal”  การเมืองเองนั้นผมคิดว่าไม่ใช่ข้อยกเว้น  ผมเพียงแต่หวังว่า  การเปลี่ยนแปลงนั้นจะเป็นไปอย่าง “ค่อนข้างสงบ”  โดยที่การ “ต่อสู้” นั้น  ก็จะเป็นการ “ต่อสู้กันทางการเมือง”  ด้วย  “3 เหล่าทัพ” ที่ไม่ได้ใช้อาวุธจริงเหมือนการต่อสู้ในสงครามจริง  แต่เป็นการ “ต่อสู้กันทางความคิด” โดยที่ฝ่ายที่แพ้ก็ต้องยอมรับและฝ่ายที่ชนะก็จะต้องเปิดโอกาสให้มีการต่อสู้หรือแข่งขันกันใหม่อย่างที่คนในประเทศพัฒนาแล้วทำกันมานานแล้วโดยที่ไม่มีปัญหาอะไรเลย  ประเทศไม่ได้ล่มสลาย  เศรษฐกิจก้าวหน้า  และผู้คนก็มีความสุขได้อย่างที่ตนเองต้องการ