โลกในมุมมองของ Value Investor 12 ก.ย. 63
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวว่าบัฟเฟตต์ได้เข้าซื้อหุ้นในตลาดหุ้นของญี่ปุ่นพร้อมกัน 5 ตัวคือ หุ้นอิโตชู มารูเบนนี มิตซูบิชิ มิตซุยและสุมิโตโม ทั้ง 5 บริษัทเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการค้าของญี่ปุ่นที่ก่อตั้งมานานเฉลี่ยแล้วน่าจะเป็นหลัก100 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ญี่ปุ่นเริ่มพัฒนาเป็นประเทศสมัยใหม่จนถึงปัจจุบันที่กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ทั้งหมดนี้ แม้ว่าจะเป็นบริษัท “ยุคเก่า” แต่ก็ยังเป็นบริษัท “ยักษ์ใหญ่” ที่มียอดขายมากกว่าปีละ 1 ล้านล้านบาท และครอบคลุมการค้าขายระหว่างประเทศของญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดและก็ยังน่าจะเป็นอย่างนั้นต่อไปตราบที่ญี่ปุ่นยังเป็นเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ของโลกอยู่โดยที่เทคโนโลยี่ดิจิตอลไม่สามารถที่จะทำลายมันได้
ลักษณะการซื้อของบัฟเฟตต์ในครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะแตกต่างจากที่เคยทำมาตลอดในชีวิตการลงทุนของเขานั่นก็คือ เป็นการ “กวาดซื้อ” หุ้นหลาย ๆ ตัวที่มีคุณสมบัติเกือบจะเหมือนกันหมดนั่นก็คือมันเป็นหุ้นที่ “ถูกมาก” และเป็น “ตัวแทน” ของบริษัทหรือเศรษฐกิจญี่ปุ่น คือเป็นบริษัท “การค้า” หลัก ๆ ของญี่ปุ่นทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่แนวทางเดิมของบัฟเฟตต์ที่เน้นเลือกลงทุนหุ้น “เฉพาะตัว” ที่มีคุณสมบัติเป็นเอกลักษณ์พิเศษและส่วนใหญ่แล้วเป็นแนว “ซุปเปอร์สต็อก” ตามคำพูดที่โด่งดังของเขาที่ว่า “It’s far better to buy a wonderful company at a fair price than a fair company at a wonderful price” ซึ่งแปลว่า “มันดีกว่ามากที่จะซื้อบริษัทที่ดีสุดยอดในราคาที่ยุติธรรมเทียบกับการซื้อบริษัทที่แค่ดีพอใช้ในราคาที่ถูกสุด ๆ”
ความคิดของบัฟเฟตต์ในเรื่องของการซื้อหุ้นนั้น ผมคิดว่าเขามีหลักการใหญ่ ๆ ชัดเจนที่เป็นระบบโดยที่น่าจะสามารถแยกแยะดังต่อไปนี้คือ หนึ่ง หุ้นของบริษัทที่ดีสุดยอดหรือที่เรียกว่า “Great Company” ซึ่งก็คือบริษัทที่มีความได้เปรียบที่ยั่งยืนและเติบโตระยะยาวนั้น เป็นกิจการที่น่าลงทุนที่สุด แต่เงื่อนไขที่เขาจะเข้าลงทุนก็คือ หุ้นจะต้องมีราคาถูกหรือไม่แพงหรืออาจจะเรียกว่า “ราคายุติธรรม” ถ้าหุ้นมีราคาแพงเกินไปเขาก็ไม่ซื้อ หุ้นประเภทที่สองที่เขาเคยลงทุนเป็นหลักโดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ ของชีวิตการลงทุนก็คือหุ้นที่มีราคา “ถูกมาก” โดยที่ไม่ได้สนใจมากนักว่ามันเป็นกิจการที่ดีหรือไม่ ซึ่งต่อมาเขาเรียกว่าเป็นหุ้น “ก้นบุหรี่” ที่เราสามารถหยิบมาสูบได้แทบจะฟรี นั่นก็คือ เป็นหุ้นที่ซื้อแล้วก็มักจะทำกำไรได้แต่ก็ไม่มากและก็จะถือไว้ยาวมากก็ไม่ได้ เพราะหุ้นก็จะไม่โตขึ้น โดยตัวอย่างที่ชัดเจนของหุ้นในกลุ่มนี้ก็คือหุ้นเบิร์กไชร์แฮทธาเวย์ที่ทำสิ่งทอที่บัฟเฟตต์เทคโอเวอร์มาเนื่องจากราคาที่ถูกมาก แต่ธุรกิจก็ไม่ไปไหนจนต้องปิดไปในที่สุด
บัฟเฟตต์เองนั้น ผมคิดว่าเขายังคงลงทุนใน 2 ธีมนี้มาตลอด โดยที่ในช่วงแรกตอนเริ่ม “สร้างเนื้อสร้างตัว” นั้น เขาได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก เบน เกรแฮม บิดาแห่ง Value Investments ที่เน้นเรื่องความถูกของหุ้นเทียบกับพื้นฐานของกิจการ ทำให้บัฟเฟตต์ซื้อหุ้นที่มีราคาถูกมาก ๆ เป็นหลัก จนถึงจุดหนึ่งที่เขาเริ่มเปลี่ยนความคิดมาเป็นแบบของ ฟิลิป ฟิสเชอร์ ที่เน้นหุ้นคุณภาพดีสุดยอดเป็นหลัก หลังจากนั้น บัฟเฟตต์ได้หันมาลงทุนในหุ้นแนว “ซุปเปอร์สต็อก” ซึ่งทำให้เขาร่ำรวยจนกลายเป็นเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลก และบัฟเฟตต์กลายเป็นสัญลักษณ์ของการลงทุนในหุ้นที่ดีสุดยอด อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง ๆ โดยเฉพาะที่เบิร์กไชร์มีเงินสดในมือมหาศาลและต้องหาหุ้นที่มีขนาดใหญ่มากเพื่อรองรับกับเงินลงทุน เขาก็เริ่มกลับมาลงทุนในหุ้นที่ไม่ได้เป็นหุ้นสุดยอดแต่เป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงแข็งแกร่ง มีผลประกอบการที่ใช้ได้และมีราคา “ถูกมาก” ตัวอย่างเช่นหุ้นสาธารณูปโภคเช่นพลังงาน รถไฟ และหุ้นให้บริการด้านไอทีเช่นหุ้น IBM เป็นต้น โดยที่หุ้นแนวซุปเปอร์สต็อกที่เป็นสัญลักษณ์ของเขานั้นมีสัดส่วนน้อยลง เหตุผลน่าจะอยู่ที่ว่ามันกลายเป็นหุ้นกลุ่มที่มีราคา “แพงเกินไป” และมักเป็นหุ้น “ไฮเท็ค” ที่เขาไม่ค่อยเข้าใจ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าการลงทุนในหุ้นแอ็ปเปิลเมื่อเร็ว ๆ นี้น่าจะเป็นตัวที่ทำให้บัฟเฟตต์ยังคงความเป็นเซียนที่เน้นการลงทุนในหุ้นซุปเปอร์สต็อกไว้ได้
สำหรับตลาดหุ้นไทยนั้น ผมคิดว่าช่วงเวลาที่จะหาหุ้นซุปเปอร์สต็อกในราคาถูกนั้นแทบจะหมดไปนานแล้ว ในช่วงอย่างน้อย 10 ปีหลังนี้ดูเหมือนว่าเราแทบจะไม่มีหุ้นตัวใหม่ ๆ ที่โดดเด่นแบบซุปเปอร์สต็อกที่เป็นกิจการที่มีความได้เปรียบที่ยั่งยืน มีการเติบโตดี และมีราคาหุ้นที่ยุติธรรมเลย หุ้นที่แค่ดูดีหน่อยก็มักจะถูกกว้านซื้อเก็งกำไรจนราคาแพงมากเกินพื้นฐาน ตัวอย่างเช่นหุ้นในกลุ่มพลังงานบางตัวและกลุ่มที่ขายสินค้าผู้บริโภค ซึ่งไม่ได้มีศักยภาพที่จะเป็นซุปเปอร์สต็อกในช่วงเวลาแบบนี้ เป็นต้น ว่าที่จริงในตลาดหุ้นที่ก้าวหน้าอย่างตลาดหุ้นสหรัฐนั้นก็ดูเหมือนว่าหุ้นที่อยู่ใน “ธุรกิจยุคเก่า” นั้น แทบจะไม่มีศักยภาพที่จะเป็นซุปเปอร์สต็อกแล้ว ดูเหมือนว่ามีแต่หุ้นไฮเท็คและดิจิตอลเท่านั้นที่จะกลายเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกได้ในพศ.นี้ ซึ่งก็น่าเสียดายว่าในตลาดหุ้นไทย เรายังไม่มีแม้แต่หุ้นที่เป็น “ยูนิคอร์น” หรือหุ้นที่โตเร็วและมีมูลค่าตลาดอย่างน้อย 1,000 ล้านเหรียญ ซักตัวเดียว ดังนั้น โอกาสที่เราจะพบหุ้นซุปเปอร์สต็อกในอนาคตก็น่าจะยากยิ่ง
โดยส่วนตัวผมเองนั้น ผมมองว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มถดถอยลงคือเติบโตช้าลงอย่าง “ถาวร” เนื่องจากโครงสร้างประชากรที่แก่ตัวลงอย่าง “ถาวร” โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตเร็วและกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วก็ยากหรืออาจจะเป็นไปไม่ได้เลย ในสถานการณ์แบบนี้ บริษัทรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจไฮเท็คและดิจิตอลซึ่งจะเป็นสินค้าหรือบริการของคนรุ่นใหม่เป็นส่วนใหญ่นั้นก็จะเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็วได้ยากเพราะจำนวนคนใช้มีไม่พอ ดังนั้น คนไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ก็มักจะใช้สินค้าหรือบริการเหล่านั้นจากบริษัทที่มาจากต่างประเทศเป็นหลัก ผลก็คือ ซุปเปอร์คอมปานีและซุปเปอร์สต็อกก็จะไม่เกิดขึ้น บริษัทขนาดใหญ่ในอนาคตอีก 5-10 ปีเป็นอย่างน้อยก็จะยังคงเป็นบริษัทเดิมที่เคยเป็นซุปเปอร์สต็อก และนี่ก็น่าจะคล้าย ๆ กับเศรษฐกิจและบริษัทของญี่ปุ่นที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมานานแล้วเพราะสังคมที่แก่ตัวลงอย่างแรง
ในฐานะที่เป็นนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยเป็นหลักนั้น ผมยอมรับว่ายังไม่เห็นบริษัทหรือกลุ่มบริษัทที่จะกลายเป็นซุปเปอร์สต็อกในอีก 5-10 ปีข้างหน้าอย่างที่เคยพบในอดีตย้อนหลังไปกว่า 10 ปี ซึ่งมีการเกิดขึ้นของซุปเปอร์สต็อกอย่างน้อย 10 ตัว ตัวอย่างเช่นหุ้นในกลุ่ม “ค้าปลีกสมัยใหม่” กลุ่มโรงพยาบาล สื่อสาร การท่องเที่ยวเดินทาง และการพัฒนาช็อปปิงมอล เป็นต้น หุ้นทั้งหลายเหล่านั้นสร้างผลตอบแทนมหาศาลต่อเนื่องยาวนานจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็น่าจะถึงหรือใกล้จะถึงจุดอิ่มตัวและด้วยระดับราคาหุ้นที่สูงวัดจากค่า PE และตัวเลขอื่น ๆ ก็น่าจะหมดสภาพที่จะเป็นซุปเปอร์สต็อกไปแล้ว
สิ่งที่ผมทำอยู่ในปัจจุบันดูเหมือนว่าจะเป็นการพยายามหาหุ้นที่ “ดีพอใช้” นั่นก็คือมีความสามารถในการแข่งขันพอ ๆ กับคู่แข่งและยังสามารถโตได้เท่า ๆ กับอุตสาหกรรมหรืออย่างน้อยก็รักษารายได้และกำไรในระยะยาว และมีราคาหุ้นที่ถูกมากวัดจากค่า PE ปกติที่ไม่เกิน 10 เท่า มีความสามารถในการจ่ายปันผลที่ดีเช่นอย่างน้อย 3-4% ขึ้นไปได้อย่างต่อเนื่องยาวนานและไม่ถูก Disrupt โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่ พูดง่าย ๆ ก็คือ ผมกำลังมองหาหุ้นที่เป็น “Fair Company at Wonderful Price” คล้าย ๆ กับที่บัฟเฟตต์กลับมาทำในช่วงเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากหาหุ้นที่เป็น “Wonderful Company at Fair Price” ไม่ได้ ตัวอย่างของหุ้นถูกที่ยังน่าจะรักษารายได้และกำไรอยู่ได้ในภาวะปกติก็เช่น หุ้นบางตัวในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น