รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท

0
2182

โลกในมุมมองของ Value Investor       4 เมษายน 64

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

ผมเข้าใจว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เปลี่ยนเกณฑ์การเปิดเผยข้อมูล  “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” ของบริษัทจดทะเบียนตั้งแต่ต้นปี 2564 จากที่เคยรายงานชื่อผู้ถือหุ้นทุกคนที่ถือหุ้นตั้งแต่ 0.5% ขึ้นไป  เป็นการรายงานเฉพาะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดเพียง  10  อันดับ  ผมเองไม่รู้ว่าเหตุผลจริง ๆ คืออะไร  แต่ก็รู้สึกว่าข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นคงจะ “น้อยลง”  เพราะ “ผู้ถือหุ้นใหญ่” 10 อันดับแรกนั้น  ส่วนใหญ่จะมีหุ้นมากกว่า 0.5% ของบริษัท  ที่จะมีน้อยกว่า 0.5% ก็มักจะเป็นบริษัทที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนไม่นานและ/หรือเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่เจ้าของเดิมไม่ขายหุ้นออกมา เช่นหุ้น AOT OR หรือ BCPG เป็นต้น 

การ “ลด” การเปิดเผยข้อมูลชื่อผู้ถือหุ้นครั้งนี้  ซึ่งส่วนใหญ่ก็ปรากฏขึ้นหลังจากบริษัทปิดสมุดทะเบียนเพื่อกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จะมีสิทธิเข้าประชุมใหญ่ประจำปีผู้ถือหุ้นและการจ่ายปันผล  ได้ทำให้นักลงทุนจำนวนไม่น้อยรู้สึก “หงุดหงิด” และเห็นว่าตลาดไม่ควรเปลี่ยน  เพราะสำหรับนักลงทุนแล้ว  ข้อมูลรายชื่อ “ผู้ถือหุ้นใหญ่” มีความสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนอยู่ไม่น้อย  แม้แต่ในตลาดหุ้นที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐ  เวลาที่มีการรายงานว่าบัฟเฟตต์เข้าไปลงทุนในบริษัทไหน  หุ้นตัวนั้นก็มักจะวิ่งกระฉูด  เช่นเดียวกับเวลาที่กองทุนของอาร์คอินเวสเม้นต์เข้าไปลงทุนในหุ้นตัวไหน  หุ้นตัวนั้นก็ปรับตัวขึ้นแรงเหมือนกัน  เพราะคนที่  “เล่นหุ้นตามเซียน” นั้น  มีมากมายโดยเฉพาะในยามที่ตลาดหุ้นมีการเก็งกำไรสูงมากอย่างในช่วงเร็ว ๆ นี้

นอกจากคนที่ตั้งใจจะ“ลอกหุ้น” เพราะคิดว่าเป็นกลยุทธ์ที่จะทำกำไรได้ดีและเร็วมากแล้ว  ก็ยังมีคนอีกหลายกลุ่มและหลายคนที่อยากจะให้ตลาดนำข้อมูลเดิมกลับมาด้วย  เพราะเขาได้ใช้ข้อมูลนั้นในการศึกษาและตัดสินใจลงทุนโดยไม่ใช่เป็นการลอกหุ้น แต่เป็นเรื่องของการนำมาศึกษาต่อ  พวกเขาอาจจะคิดหาเหตุผลว่าทำไม “เซียน” ซึ่งรวมถึงนักลงทุนส่วนบุคคลรายใหญ่หรือผู้บริหารกองทุนรวมจึงสนใจและเข้ามาลงทุนในหุ้นตัวนั้น  นี่เป็นแค่จุดตั้งต้นให้พวกเขาได้ศึกษาต่อไปว่าเขาควรจะลงทุนตามไหม  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  พวกเขาเคยติดตาม “เซียน” เหล่านั้นมานานพอจะรู้ว่าแต่ละคนมีสไตล์การลงทุนอย่างไร  และถ้าเขามีความชื่นชอบหรือมีสไตล์แบบเดียวกัน  เขาก็สามารถตัดสินใจได้ว่าจะทำอย่างไรกับหุ้นตัวนั้น

คนที่เป็นสื่อทางด้านการเงินและการลงทุนเองนั้น  การเปลี่ยนแปลงเกณฑ์รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ครั้งนี้ก็อาจจะพบว่ารายงานและการศึกษาเกี่ยวกับ  “ความมั่งคั่งของนักลงทุน” ที่คิดจากการถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จะมีความถูกต้องน้อยลงไปอีกเนื่องจากคนที่ถือหุ้นเกิน 0.5% แต่ต่ำกว่า 10 อันดับแรกของผู้ถือหุ้นสูงสุดจะไม่ถูกรายงาน  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  บริษัทขนาดใหญ่ที่มีลักษณะ “มหาชน” จริง ๆ  นั้น  รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด 10 อันดับมักจะเป็นสถาบันหรือเป็นคัสโตเดียนหรือนอมินีที่ถือหุ้นแทนผู้ถือหุ้นอื่นจำนวนมากที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร

ส่วนตัวผมเองที่เป็นนักลงทุนแบบ VI ที่เน้นการลงทุนระยะยาวและไม่เคยคิดที่จะใช้ข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นตัวตัดสินว่าหุ้นดีหรือไม่ดีหรือควรซื้อหรือไม่นั้น  ผมเองก็สนใจ “รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่” หรือรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นอย่างมี “นัยสำคัญ” ซึ่งรวมถึงคนที่ถือหุ้นตั้งแต่ 0.5% อย่างที่เคยเป็นด้วย  ที่จริง  แนวทางที่ควรจะเป็นก็คือ  ให้รายงานแบบเดิมแต่ถ้าบริษัทไหนมีผู้ถือหุ้นที่ถือถึง 0.5% น้อยกว่า 10 รายก็ให้รายงานผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุด 10 ราย  ด้วยวิธีนี้ก็จะทำให้ไม่ต้องตัดรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่แบบเดิมออก  และการเปิดเผยข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ก็จะดูดีขึ้นเพราะมันเพิ่มขึ้นไม่ใช่ลดลง

เหตุผลที่ผมสนใจข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีนัยสำคัญก็คือ  ผมดูเพื่อเอาไว้  “อ่านหุ้น”  ตัวอย่างเช่น  ถ้าผู้ถือหุ้นหลัก ๆ  จำนวนมากก็คือสถาบันโดยเฉพาะจากต่างประเทศโดยที่มีนักลงทุนส่วนบุคคลที่เป็นคนไทยน้อย  แบบนี้ผมก็บอกได้ว่าหุ้นของบริษัทจะเป็นหุ้นที่ทุกอย่าง “อิงกับพื้นฐานที่แท้จริง” ราคาหุ้นจะถูกหรือแพงจะขึ้นอยู่กับพื้นฐานและผลประกอบการของบริษัทและสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม  เฉพาะอย่างยิ่งก็คือเรื่องภาวะดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อในท้องตลาด เป็นหลัก  เราจะสบายใจได้ว่าไม่มีใครไปเชียร์  สร้างสตอรี่หรือปั่นหุ้น  ราคาหุ้นโดยทั่วไปก็จะไม่หวือหวาขึ้นลงแรงโดยไม่มีเหตุผลพิเศษเช่นเดียวกับปริมาณการซื้อขายหุ้นที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ

หุ้นขนาดกลางและอาจจะรวมถึงหุ้นขนาดใหญ่บางตัวที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดเป็นบุคคลธรรมดาและผู้ถือหุ้นรอง ๆ  ลงมาส่วนใหญ่ก็เป็นบุคคลธรรมดา  โดยมีผู้ถือหุ้นที่เป็นสถาบันอยู่บ้างแต่มักจะไม่ใช่ที่เป็นคัสโตเดียนหลัก ๆ  ที่เป็นตัวแทนของนักลงทุนต่างประเทศ  ในกรณีแบบนี้ผมก็จะต้องระมัดระวังเวลาวิเคราะห์หุ้น  เนื่องจากเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่หรือแม้แต่นักลงทุนรายใหญ่อาจจะเป็นคน “เล่นหุ้น” และหุ้นอาจจะถูก “จัดการ” หรือ “ปั่น” ให้มีราคาที่สูงกว่าพื้นฐานที่ควรเป็น  เพราะนั่นคือผลประโยชน์ของเขา  โดยวิธีที่จะทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปสูงนั้น  ก็มักจะรวมถึงการทำให้กิจการดูดี  มีสตอรี่และการเติบโตทั้งปัจจุบันและอนาคตโดยที่ความเป็นจริงอาจจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นหรือน้อยกว่ามาก  นอกจากเรื่องของสตอรี่แล้ว  ราคาหุ้นก็มักจะเป็นสิ่งที่ถูกใช้ในการชี้นำให้คนมีความลำเอียงว่าบริษัทเป็นกิจการที่ดีเยี่ยมกว่าความเป็นจริงได้โดยเฉพาะกรณีที่หุ้นวิ่งขึ้นไปรุนแรงในเวลาอันสั้น  

ข้อมูลผู้ถือหุ้นใหญ่ยังบอกถึงระดับของการ “Corner” หุ้นว่ามีมากน้อยแค่ไหน  รายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นใครหรืออยู่กลุ่มเดียวกันหรือเปล่า  คนใหม่ที่เข้ามาน่าจะเป็นนักลงทุนแนวไหน  หลังจากนั้นราคาหุ้นมีพฤติกรรมอย่างไร  เช่นเดียวกับปริมาณการซื้อขายหุ้นที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปมากมายแค่ไหน  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้  ถึงจะไม่ได้นำมาใช้แต่ผมก็พยายามมองให้ออกว่าเกิดอะไรกับหุ้นและหุ้นมีพฤติกรรมอย่างไร  แน่นอนว่าบางครั้งผมก็เข้าไปวิเคราะห์พื้นฐานของบริษัทบ้างเพื่อจะอ่านว่าเกิดอะไรขึ้นและอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป  นี่เป็น “กระบวนการเรียนรู้” ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่ได้เอามาใช้  แต่ช่วยให้ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย  ทำนองอย่างที่ ชาร์ลี มังเกอร์ พูดว่า  “ผมอยากรู้ว่าผมอาจจะตายที่ไหนเพื่อที่ผมจะได้ไม่ไปที่นั่น”

ทั้งหมดที่พูดถึงเรื่องของการเปลี่ยนแปลงการเปิดเผยข้อมูลรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่นั้น  ผมเองก็ไม่รู้ว่ามีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของกฎหมาย “ความเป็นส่วนตัว” ของข้อมูลส่วนบุคคลที่กำลังออกมาใหม่หรือไม่  ซึ่งนั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ต้องปรับแก้เรื่องรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่  แต่อย่างไรก็ตาม  ถึงแม้จะมีกฎหมายแบบนั้น  ถ้าหากว่าตลาดต้องการที่จะคงการเปิดเผยข้อมูลแบบเดิมเอาไว้  ผมคิดว่าก็น่าจะมีทางแก้ได้  บางทีตลาดอาจจะต้องกำหนดเกณฑ์ของการจดทะเบียนซื้อขายหุ้นว่าบริษัทจะยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลผู้ถือหุ้นที่ถือเกิน 0.5% ของบริษัท  คนที่เข้ามาลงทุนซื้อขายหุ้นก็อาจจะต้องยอมตามนั้น  อะไรทำนองนี้  เหนือสิ่งอื่นใดสำหรับเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้สาธารณชนได้รับรู้เกี่ยวกับผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถือตั้งแต่ 0.5% ขึ้นไปก็คือ  ในขณะที่นักลงทุนทั่วไปไม่รู้  แต่ผมเข้าใจว่าบริษัทเองหรือผู้บริหารบริษัทกลับสามารถขอรายชื่อผู้ถือหุ้นได้ทุกเวลาจากศูนย์รับฝากหลักทรัพย์  ซึ่งนี่ก็ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมของคนภายในบริษัทกับบุคคลภายนอก  

ประเด็นสำคัญที่อาจจะต้องถกเถียงกันก็คือ  ข้อมูล “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” นั้น  เป็นสาระสำคัญเกี่ยวข้องกับพื้นฐานของกิจการที่จะมีผลต่อราคาหุ้นหรือไม่?  และแค่ไหนถึงจะถือว่าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่  ถือหุ้นแค่ 0.2% แต่อยู่ใน 10 อันดับผู้ถือหุ้นใหญ่สุดนั้นถือว่าเป็นรายใหญ่หรือไม่?  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ผมก็ไม่รู้ว่าเคยมีการพูดคุยถกเถียงกันหรือไม่  และส่วนตัวเองก็ไม่แน่ใจว่าอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องเป็นจริง  อย่างเช่นเรื่องของพื้นฐานของกิจการนั้น  ถ้าคิดเร็ว ๆ ผมเองก็คิดว่าไม่น่าจะเกี่ยวว่าใครเป็นผู้ถือหุ้น  แต่พอมาคิดอีกทีก็ไม่แน่ใจ  อย่างหุ้นเทสลานั้น  ถ้าผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ใช่ อีลอน มัสก์ หรือเขาขายหุ้นไปจนเหลือไม่ถึง 10% หรือ 5% แบบนี้ เราจะไม่คิดหรือว่าพื้นฐานของกิจการอาจจะเปลี่ยนไปแล้ว  เพราะถ้าไม่มี อีลอน มัสก์   เทสลาอาจจะไม่โดดเด่นอีกต่อไปก็เป็นได้

พูดถึงเรื่องของข้อมูลที่เปิดเผยของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยโดยรวมเองนั้น  ผมมีความรู้สึกว่าเราเคยเปิดเผยค่อนข้างมากและดีแม้ว่าข้อมูลบางอย่างอาจจะ “ช้า” บ้าง  แต่ในระยะหลัง ๆ  หลาย ๆ  ปีมาแล้วที่ไม่ค่อยมีอะไรเคลื่อนไหว   ข้อมูลบางอย่างคนใช้จะต้อง “ซื้อ” อาจจะเนื่องจากความต้องการที่จะสร้างรายได้ให้กับตลาดซึ่งมีแนวโน้มว่าในอนาคตก็อาจจะต้องปรับตัวเป็นบริษัท  “ธุรกิจ” และในที่สุดก็อาจจะต้องเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เหมือนกับอีกหลายแห่งในโลก  แต่ผมเองกลับคิดว่า  เรื่องของข้อมูลนั้น  ตลาดควรยอมจ่ายหรือให้ฟรี  เพื่อสร้างให้ตลาดมีประสิทธิภาพสูงขึ้นมากกว่า