โลกในมุมมองของ Value Investor 4 กันยายน 64
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
การทำอะไรที่เลียนแบบกันในทางธุรกิจหรือแม้แต่เรื่องอื่น ๆ ในประเทศไทยนั้นดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่อง “ปกติ” อะไรก็ตามที่มีบางคนทำแล้วเกิดความรุ่งเรืองเฟื่องฟู ยอดขายโตเร็วกำไรดีและการผลิตขึ้นมาขายก็ทำได้ไม่ยาก ก็จะมีคนแห่กันมาทำ บ่อยครั้งทำกันจนล้นเกินและในที่สุดก็จะเจ๊งและต้องออกจากธุรกิจไป ตัวอย่างธุรกิจขนาดเล็กที่เห็นกันทั่วเมืองก็เช่น การขายชาไข่มุกหรือการเปิดร้านขายกาแฟ เป็นต้น ส่วนตัวอย่างธุรกิจขนาดใหญ่และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เองก็มีไม่น้อยและก็มีตลอดเวลาขึ้นอยู่กับว่าช่วงไหนธุรกิจอะไรกำลัง “มาแรง” กล่าวคือ มีบางบริษัทที่ทำธุรกิจบางอย่างแล้วยอดขายโตขึ้นเร็วและกำไรเติบโตดี ที่สำคัญราคาหุ้นวิ่งขึ้นต่อเนื่อง บางราย Market Cap. เพิ่มขึ้นหลายเท่า บริษัทขนาดเล็กกลายเป็นบริษัทหมื่นล้านบาท บริษัทขนาดกลางกลายเป็นบริษัทแสนล้านบาท ซึ่งก็ทำให้บริษัทอื่นอยากจะทำเลียนแบบ โดยหวังว่านักลงทุนจะหันมาสนใจหุ้นของตนเองซึ่งจะทำให้ราคาหุ้นขึ้นไปสูงแบบเดียวกับหุ้นเหล่านั้น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ พวกเขาเห็นว่า การผลิตหรือให้บริการหรือทำธุรกิจแบบเดียวกันนั้น “ทำได้ไม่ยาก” ในทางวิชาการหรือภาษาทางธุรกิจนั้น เราเรียกว่าเป็นธุรกิจ “Me-Too” คือ “ขอเล่นด้วยคน”
ธุรกิจแรกที่มีบริษัทจดทะเบียนรายใหม่เข้ามาทำหรือมาให้บริการค่อนข้างมากในช่วงเร็ว ๆ นี้ ผมยกให้เป็นธุรกิจปล่อยกู้ให้กับผู้บริโภคหรือเงินกู้ส่วนบุคคลซึ่งเป็นธุรกิจที่ “ร้อนแรง” มาน่าจะหลายปีแล้ว บริษัทที่ให้บริการหลายบริษัทมีรายได้และกำไรเติบโตเร็วและราคาหุ้นวิ่งขึ้นเป็นจรวด หลายบริษัทมี Market Cap. เป็นแสนล้านบาททั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นบริษัทขนาดใหญ่แต่มูลค่าหุ้นสูงยิ่งกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ของประเทศบางแห่ง หุ้น Consumer Finance ขนาดเล็กหลายแห่งก็กลายเป็นบริษัทหมื่นล้านบาทได้ง่าย ๆ เพราะการเติบโตของธุรกิจจะยิ่งเร็วกว่ากิจการขนาดกลางดังกล่าว ดังนั้น บริษัทจดทะเบียนอีกหลาย ๆ แห่งจึงขอเข้ามาเล่นบ้าง บางแห่งก็อาจจะร่วมกับผู้เล่นรายเดิมที่อาจจะมีกำลังเงินไม่พอ พวกเขาคิดว่าจะต้องเข้าเล่นอย่างรวดเร็วและรุนแรงโดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผู้บริโภคกำลังต้องการเงินกู้มากในยามที่เศรษฐกิจกำลังย่ำแย่และประชาชนกำลังต้องการเงินอย่างเร่งด่วนในช่วงโควิด-19 ระบาดรุนแรง ผลก็คือ หุ้นก็มักจะวิ่งขึ้นไปตามคาด ทั้ง ๆ ที่ยังแทบจะไม่ได้เปิดบริการจริง ๆ เลย
ธุรกิจกลุ่มที่สองที่น่าจะ “กำลังมา” และบางส่วนก็เกี่ยวเนื่องกับเรื่องของการเงินเพื่อบริโภคส่วนบุคคลข้างต้น นี่คือเรื่องของธุรกิจ “ดิจิตอล” เช่นพวกที่ให้บริการซื้อขายและ/หรือลงทุนใน Crypto currency หรือเงินคริปโตที่กำลังปรับตัวขึ้นร้อนแรงทั่วโลก และการให้บริการกู้เงินและปล่อยกู้แบบไม่ผ่านตัวกลางที่เรียกว่า Decentralized Finance หรือ DeFi และการทำอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องหรือใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ในกรณีของธุรกิจดิจิตอลเหล่านี้ เราก็ยังไม่เห็นบริษัทจดทะเบียนที่สามารถให้บริการได้เป็นเรื่องเป็นราว ทุกบริษัทที่เข้ามาหรือกำลังจะเข้ามาดูเหมือนว่าจะ “กำลังทำ” แต่ราคาหุ้นก็เริ่มสะท้อนถึงอนาคตที่จะ “เติบโตระเบิด” บ้างแล้ว
ธุรกิจ “Me-Too” ที่ทำกันมาหลายปีแล้วแต่ก็ยังทำกันต่อมาจนถึงวันนี้ก็คือการทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดทั้งหลายตั้งแต่แสงแดด ลม พลังงานน้ำ และชีวมวล เป็นต้น เหตุผลที่ทำกันมากนั้น ที่สำคัญก็คือมันมีขนาดของอุตสาหกรรมที่ใหญ่มากและบริษัทสามารถที่จะซื้อโครงการได้ทันทีซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้และกำไรทันที และด้วยต้นทุนเงินคือดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำของประเทศไทย ทำให้นี่เป็นธุรกิจ Me-Too ที่มีคนทำมากที่สุด เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ นี่คือธุรกิจที่ไม่ต้องทำการตลาดและมีผู้รับซื้อไฟฟ้าที่แน่นอนมั่นคงในระยะยาว จริงอยู่อัตราทำกำไรอาจจะไม่ได้สูงนักแต่การลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนมากได้ ก็ทำให้หุ้นของบริษัทอาจจะได้รับการปรับให้มีมูลค่าสูงขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวได้โดยเฉพาะในช่วงที่ธุรกิจเดิมของบริษัทเริ่มอิ่มตัวแล้ว
การทำ Logistic หรือธุรกิจเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าถึงผู้บริโภค การส่งสินค้าระหว่างธุรกิจ และการขนส่งโดยทั่วไปแบบครบวงจร ก็น่าจะกำลังเป็นกระแสใหม่ที่จะมีคนพยายามเข้ามา “เล่นด้วยคน”แม้ว่าธุรกิจนี้จะทำยากพอสมควรเพราะต้องทำเองทุกอย่างและที่สำคัญต้องหาลูกค้า นอกจากนั้น คนที่ทำอยู่เองนั้น ถึงแม้รายได้จะโตเร็วมาก แต่กำไรก็ยังไม่มีหรือไม่ได้กำไรมากมายอะไรนัก ทุกรายต่างก็หวังว่ามูลค่าของกิจการที่จะได้จากนักลงทุนเมื่อบริษัทเข้าสู่ตลาดทุนจะมากเหมือนอย่างในต่างประเทศที่ก้าวหน้ากว่า ดังนั้น การเข้ามาเล่นในธุรกิจนี้จึงยังค่อนข้างจำกัดอยู่ในกลุ่มบริษัทที่ใหญ่พอสมควร และในบางกรณีก็จะเป็นการเข้าไปถือหุ้นบางส่วนในบริษัทที่ประสบความสำเร็จแล้วหรือไม่ก็เป็นบริษัท Startup ที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว
เรื่องของพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์เสพติดอ่อน ๆ เช่นกัญชง กัญชาและกระท่อม เองนั้น หลังจากที่ทางการอนุญาตให้ทำธุรกิจได้และก็มีหลายบริษัทเริ่มออกผลิตภัณฑ์มาขายโดยเฉพาะที่เป็นเครื่องดื่มหรืออาหารผสมกัญชา แต่ก็ดูเหมือนว่ากระแสตอบรับในเรื่องของรายได้และกำไรอันเนื่องมาจากผลิตภัณฑ์ก็ยังไม่ปรากฏ ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะเพิ่งจะเริ่ม ธุรกิจที่ใหญ่มากขึ้นเช่นการปลูกหรือสกัดกัญชาเองนั้นก็ต้องใช้เวลาและน่าจะยังไม่เห็นผลในช่วงนี้ แต่ที่เป็นสาเหตุจริง ๆ ที่ทำให้กระแสแผ่วลงไปน่าจะอยู่ที่ว่านี่อาจจะไม่ใช่ธุรกิจที่ใหญ่พอที่จะขับเคลื่อนรายได้หรือกำไรของบริษัทเมื่อเทียบกับธุรกิจหลักเดิมของบริษัท ดังนั้น นี่ก็น่าจะเป็นธุรกิจ Me-Too ของบริษัทขนาดเล็กมากกว่า
ธุรกิจ “ติดตามหนี้” ดูเหมือนว่าจะกำลังเติบโตเร็วโดยเฉพาะในด้านของกำไร ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากระบบบัญชีในการคิดต้นทุนของหนี้เสียที่ซื้อมาด้วย นี่ประกอบกับการที่เศรษฐกิจเลวร้ายลงและคนคาดว่าสถาบันการเงินจะมีหนี้เสียเพิ่มขึ้นมากให้ตามเก็บ ผลก็คือนักลงทุนต่างก็ดูว่านี่เป็นธุรกิจที่ดีมากและทำกำไรได้งดงามและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ราคาหุ้นจึงวิ่งขึ้นไปสูงมากจนแทบไม่น่าเชื่อ กิจกรรมทวงหนี้ลูกค้าของสถาบันการเงินซึ่งเดิมเป็นกิจกรรมย่อย ๆ ในระบบการปล่อยสินเชื่อนั้น กลายเป็นกิจกรรมที่ “มีมูลค่ามากที่สุด” ค่า PE ของบริษัทสูงถึง 40-50 เท่าในขณะที่สถาบันเจ้าของหนี้เสียเดิมมีค่า PE ไม่ถึง 10 เท่า บริษัทติดตามหนี้ที่เคยไปรับงานเก็บหนี้ให้กับสถาบันการเงินขนาดใหญ่นั้น กลายเป็นกิจการที่มีมูลค่ามากกว่าตัวสถาบันการเงินเอง และถ้าเป็นอย่างนั้นทำไมสถาบันการเงินไม่ทำงานนี้เอง? ดังนั้น บริษัทที่ไม่เคยทำธุรกิจติดตามหนี้แต่มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของเงิน เช่น ปล่อยกู้ให้กับลูกค้าทั้งธุรกิจและบุคคลธรรมดาอื่นก็เริ่มที่จะเข้ามาทำธุรกิจติดตามหนี้ เหนือสิ่งอื่นใด หลายแห่งก็ต้องตามหนี้ของบริษัทตนเองอยู่แล้ว การทำธุรกิจนี้เป็นเรื่องเป็นราวก็ไม่น่าจะยากอะไร
โดยสรุปแล้ว ธุรกิจหรือผลิตภัณฑ์ที่คนชอบทำเลียนแบบก็คือธุรกิจที่กำลังร้อนแรงในช่วงเวลานั้นที่จะต้องมีการเติบโตที่รวดเร็วหรือเป็นกระแสที่จะเติบโตไปในอนาคตตามเมกกะเทรนด์ของโลกหรือของไทย เป็นกิจการที่ทำกำไรดีและเมื่อสำเร็จก็จะมีความมั่นคงต่อเนื่องไม่ใช่สินค้าโภคภัณฑ์ที่มีราคาขึ้นลงตลอดเวลา ส่วนมากก็จะเป็นสินค้าในเศรษฐกิจใหม่หรือไม่ถูก Disrupt โดยเทคโนโลยีได้ง่าย และที่สำคัญก็คือ เป็นธุรกิจที่ “ทำได้ง่าย” ในแง่ที่ว่าการผลิตและการให้บริการไม่ซับซ้อนไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสูง การตลาดก็เปิดกว้าง ผู้ขายหรือหรือให้บริการรายใหม่สามารถขายแข่งกับผู้ให้บริการรายเก่าได้เท่าเทียมกันทั้ง ๆ ที่มาทีหลังหรือมีขนาดเล็กกว่ามาก ไม่มีใครได้เปรียบรายอื่นมากกว่ากันเท่าไรนัก หรือบ่อยครั้งก็ไม่จำเป็นต้องทำการตลาดเลยเพราะมีผู้ซื้อพร้อมอยู่แล้ว
ฟังอย่างผิวเผินก็อาจจะรู้สึกว่านั่นคือธุรกิจที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกอย่าง “ดีและง่ายไปหมด” และเมื่อประกาศทำ ราคาหุ้นก็อาจจะวิ่งขึ้นไปมากมาย และนั่นก็เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีบริษัทจดทะเบียนจำนวนไม่น้อยที่ทำธุรกิจ “Me-Too” และเจ้าของก็ “รวยไปเลย” แต่นั่นก็อาจจะไม่จริงโดยเฉพาะในระยะยาว เพราะธุรกิจที่ทำนั้น ในไม่ช้าก็อาจจะพบว่าไม่ได้ดีอย่างที่คิด และแม้แต่บริษัทที่เคยเติบโตและทำกำไรได้ดีก็เริ่มแย่หรือตกต่ำลง กำไรที่เคยดีนั้นอาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากระบบการคิดต้นทุนที่ไม่ได้สะท้อนความเสี่ยงเท่าที่ควรหรือคิดต้นทุนที่ผิดพลาด หรือสถานการณ์ทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปโดยที่ในช่วงต้นคนที่ทำธุรกิจนั้นอาจจะดีแต่เมื่อมีคนเข้ามาทำแข่งมากขึ้นในลักษณะ Me-Too การเติบโตและกำไรก็อาจจะหายไป หรือในกรณีที่เป็นสินค้าหรือบริการใหม่ในประเทศไทยที่เลียนแบบต่างประเทศก็อาจจะพบว่าคนส่วนใหญ่ที่เข้ามาในธุรกิจในที่สุดก็ล้มเหลว เป็นต้น และเมื่อถึงเวลานั้น หุ้นที่เคยขึ้นไปสูงก็จะตกลงมาอย่างแรง คนที่เข้าไปเล่นหุ้นหรือลงทุนในธุรกิจที่เข้าไปทำธุรกิจ Me-Too ก็จะขาดทุนอย่างหนัก ดังนั้น สำหรับผมแล้ว ผมมักจะไม่ชอบหรือไม่ก็หลีกเลี่ยงหุ้นเหล่านั้น
สนใจเรียนรู้ออนไลน์หุ้นเวียดนามฯ สามารถดูรายละเอียดและสมัครได้ที่: https://bit.ly/316AyPX
ติดตามข่าวสารจาก VietnamVI
Website: https://www.vietnamvi.com
Facebook: vvinvestor
Line: @vietnamvi
YouTube: https://youtube.com/c/Vietnamvi
ห้องคุยหุ้นเวียดนาม:https://www.facebook.com/groups/473890360486727/