แท็ก: ดร.นิเวศน์ #บทความ
20 มหาเศรษฐีหลังโควิด19
โลกในมุมมองของ Value Investor 25 เม.ย. 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
สัปดาห์ก่อนมีข่าวว่ารัฐบาลได้ส่งจดหมายถึง 20 เศรษฐีไทยที่รวยที่สุดในประเทศเพื่อขอคำแนะนำทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการแก้ไขวิกฤติโควิด19 รวมถึงความช่วยเหลือที่เศรษฐีเหล่านั้นจะมอบให้แก่ประชาชนที่ประสบปัญหาในทุก ๆ ด้าน รายชื่อเศรษฐีเหล่านั้น แน่นอนว่าเป็นที่น่าสนใจสำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศ แต่สำหรับผมแล้ว รายชื่อที่จะน่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ภายหลังวิกฤติแล้ว ใครจะเป็นคนที่รวยที่สุด 20 อันดับ เหตุผลก็คือ หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจทุกครั้ง มหาเศรษฐีเดิมจำนวนไม่น้อยมักจะเสียหายอย่างหนักจนตกอันดับหรือหายไปจากสาระบบของเศรษฐีใหญ่ รายชื่อมหาเศรษฐีใหม่จะปรากฏขึ้น รายชื่อใหม่เหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็อาจจะเป็นรายชื่อเศรษฐีธรรมดาในตลาดหุ้นอยู่แล้ว...
เลือกหุ้นในวิกฤติ Covid19
โลกในมุมมองของ Value Investor 28 มี.ค. 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
วิกฤติตลาดหุ้นนั้นเป็นทั้ง “วิกฤติ” และ “โอกาส” สำหรับนักลงทุนที่จะเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เป็นความจริงที่ว่าโอกาสนั้นมีมากและหลาย ๆ คนก็เคยลงทุนและร่ำรวยมาจากการลงทุนในยามวิกฤติที่ราคาหุ้นตกต่ำลงมาก ซื้อหุ้นและถือยาวจนกระทั่งตลาดฟื้นและราคาหุ้นขึ้นไปมากมายจนทำให้คนถือกลายเป็นเศรษฐี แต่ก็มีไม่น้อยที่ลงทุนซื้อหุ้นในยามวิกฤติแล้วก็ “เจ๊ง” ไปอย่างเงียบ ๆ...
ต้มยำกุ้ง-ซับไพร์ม-โควิด19
โลกในมุมมองของ Value Investor 14 มี.ค. 63
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ถึงวันนี้คือวันศุกร์ที่ 13 มีนาคม 2563 ก็ถือได้แล้วว่าเรากำลังอยู่ในวิกฤติตลาดหุ้นอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ว่างเว้นจากวิกฤติมา 12 ปีนับจากวิกฤติซับไพร์มในปี 2551 เหตุผลก็คือ ดัชนีตลาดหุ้นได้ตกลงมาอย่างแรงถึง 10% จนทำให้ตลาดหลักทรัพย์ต้องใช้ “Circuit Breaker” ถึง 2 ครั้งในสัปดาห์เดียว และถ้าคิดจากสิ้นปีที่แล้ว ดัชนีก็ตกลงมาแล้วเกือบ 30% ในเวลาไม่ถึง 3 เดือน ดัชนีตลาดตกลงมาจาก 1,580 จุดเหลือเพียง 1,129 จุด หรือลดลงมาถึง 451 จุด นอกจากนั้น ถ้าคิดว่าดัชนีตลาดในช่วงประมาณ 2 ปีมานี้เคยอยู่ที่ระดับสูงสุดกว่า 1,800 จุด ดัชนีตลาดก็ตกลงมาเกือบ 40% แล้ว ดังนั้น นี่คือภาวะวิกฤติตลาดหุ้นเต็มตัวซึ่งต่อไปนี้ผมจะเรียกว่าเป็น “วิกฤติโควิด19” ประเด็นก็คือ มันจะตกต่อไปหรือไม่ เป็นเวลาที่เราจะเข้าไปช้อนซื้อหุ้นหรือยัง?
ก่อนที่จะตอบคำถาม ผมอยากจะเล่าเรื่องเพื่อที่จะให้เข้าใจธรรมชาติของวิกฤติตลาดหุ้นของไทยที่ผ่านมาเสียก่อน น่าแปลกที่ว่าวิกฤติตลาดหุ้นนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยพอสมควรและมักจะมาหลังจากเกิดวิกฤติครั้งก่อนไม่เกินประมาณทุก 10 ปี เริ่มตั้งแต่เปิดตลาดหุ้นในช่วงแรก ๆ ในปี 2522 เราก็เกิดวิกฤติ “ราชาเงินทุน” ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนที่เกิดปัญหาล้มละลายเนื่องจากปล่อยเงินกู้ให้นักลงทุนไปซื้อหุ้นชองบริษัทเองเพื่อ “ปั่นหุ้น” ซึ่งในช่วงเวลานั้นไทยยังไม่มีกฎหมายป้องกันหรือปราบปรามการปั่นหุ้น ราคาของหุ้นโดยเฉพาะของราชาเงินทุนปรับตัวขึ้นสูงลิ่วพร้อม ๆกับหุ้นอื่น ๆ โดยเฉพาะหุ้นของกลุ่มบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ดัชนีตลาดวิ่งขึ้นจากสิ้นปี 2519 ที่ 83 จุด เป็น 258 จุดเมื่อสิ้นปี 2521 หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 210% ในเวลาเพียง 2 ปี เมื่อวิกฤติเกิดขึ้น ดัชนีตกลงมาเหลือเพียง 149 จุดตอนสิ้นปี หรือตกลงมา 42% หลังจากนั้น ดัชนีก็ตกลงมาเรื่อย ๆ คนเลิกสนใจในตลาดหุ้นเพราะรู้สึกว่าตลาดหุ้นที่เพิ่งเปิดมาไม่นานนั้น เป็นแหล่งการเก็งกำไรหรือการพนัน จนกระทั่งถึงสิ้นปี 2528 หรือเป็นเวลาถึง 6 ปีที่ดัชนีก็ยังอยู่ที่ 135 จุด
ตลาดเริ่มฟื้นตัวอย่างแรงอานิสงค์จากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการเงินเศรษฐกิจและลดค่าเงินบาทซึ่งทำให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยเฟื่องฟู ดัชนีตลาดหุ้นพุ่งขึ้นแรง ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี ดัชนีตลาดก็ปรับตัวขึ้นจาก 135 จุดเป็น207 จุดเมื่อสิ้นปี 2529 หรือเพิ่มขึ้น 53% และพอถึงเดือนตุลาคมปี 2530 ดัชนีก็ขึ้นไปถึงประมาณ 430 จุดหรือขึ้นไปอีกกว่า 100% ในเวลาประมาณ 9 เดือน แต่แล้วในวันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ก็ถล่มทลายตกลงมาถึง 508 จุดหรือตกลงมาถึง 23% ในวันเดียว ซึ่งน่าจะถือเป็นการตกที่แรงที่สุดในประวัติศาสตร์จนถึงวันนี้ยังไม่มีวันที่ลบสถิติได้ อานิสงค์สำคัญส่วนหนึ่งจากการเทรดของคอมพิวเตอร์ที่เริ่มมีการใช้ในตลาดหุ้นนิวยอร์ค นั่นคือวิกฤติ “Black Monday”
ตลาดหุ้นไทยในวันอังคารที่ 20 ตุลาคม 2530 ก็ตกตามตลาดนิวยอร์คลงมาแบบ “วิกฤติ” จนถึงสิ้นปีดัชนีตกลงมาเหลือ 285 จุดหรือตกลงมา ประมาณ 33% ในเวลาไม่ถึง 3 เดือน อย่างไรก็ตามดัชนีก็ยังสูงกว่าตอนต้นปีที่ 207 จุด ถึง38% ดังนั้น สำหรับนักลงทุนระยะยาวที่ไม่ขวัญเสียตกใจและถือหุ้นต่อไปก็ไม่ถูกกระทบอะไรเลย มันเป็นวิกฤติที่ไม่ได้มาจากเรื่องของเศรษฐกิจแต่อาจจะมาจากการที่หุ้นขึ้นร้อนแรงเกินไปและมีการปรับตัวแรงเนื่องจากการเทรดด้วยคอมพิวเตอร์ที่สั่งการอย่างรวดเร็วจนทำให้เกิดการขายอย่างต่อเนื่องจนควบคุมไม่อยู่มากกว่า และมันก็ลามมาถึงตลาดหุ้นไทยซึ่งก่อให้เกิดวิกฤติตลาดหุ้นครั้งที่สองในระยะ 8-9 ปีหลังจากการเกิดวิกฤติครั้งแรก
วิกฤติตลาดหุ้นไทยครั้งที่ 3 นั้นดูเหมือนว่าจะคล้าย ๆ ครั้งที่สองและเกิดขึ้นเพียง 3 ปีนับจาก Black Monday นั่นก็คือวิกฤติสงครามอ่าวเปอร์เซียที่เกิดในช่วงกลางปี 2533 ที่ซัดดัม อุสเซนของอิรักบุกยึดครองคูเวตส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยที่กำลังร้อนแรงมากตกลงมาจากประมาณ 1,100 จุด เหลือเพียง 550 จุด หรือลดลง 50% ในเวลา 4-5 เดือน อย่างไรก็ตาม เมื่อสหรัฐบุกเข้าไปปลดปล่อยคูเวตได้สำเร็จ ดัชนีหุ้นก็ปรับตัวขึ้นไปแรง เหตุการณ์นี้แทบไม่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจเลยคล้าย ๆ กับเหตุการณ์ Black Monday ดังนั้น หุ้นจึงฟื้นตัวเร็วมากหลังเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดวิกฤติผ่านไป
วิกฤติตลาดหุ้นไทยครั้งที่ 4 นั้นคือวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ในปี 2540 นี่คือวิกฤติที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย ปัญหาที่ก่อให้เกิดวิกฤติมาจากภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของไทยมีการเติบโตขึ้นอย่างมหาศาลอานิสงค์จากการย้ายฐานการผลิตทางอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นและการเปิดเสรีทางการเงินของไทยที่อนุญาตให้นำเงินจากต่างประเทศมาลงทุนหรือปล่อยกู้ได้ และนั่นก็ก่อให้เกิดปัญหา เพราะธุรกิจขนาดใหญ่ต่างก็กู้เงินดอลลาร์ระยะสั้นที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเงินบาทมากเพราะเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบตายตัวมาลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องการเงินทุนระยะยาว ในระหว่างนั้นเอง ดูเหมือนว่าค่าเงินบาทจะแข็งตามดอลลาร์ซึ่งทำให้การส่งออกของไทยมีปัญหาทำให้เกิดการขาดดุลการค้าสูงมาก จนในที่สุดเงินดอลลาร์สำรองของประเทศก็หมดลงส่วนหนึ่งจากการเข้ามาเก็งกำไรของกองทุนเฮดจ์ฟันด์ระดับโลกอย่างของจอร์จโซรอส ทำให้แบ้งค์ชาติจำเป็นต้องปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยตัวซึ่งทำให้ค่าเงินบาทลดลงมาถึง 50% ในช่วงเวลาหนึ่งส่งผลให้บริษัทขนาดใหญ่เกือบทั้งประเทศเกือบล้มละลาย รวมถึงสถาบันการเงินเกือบทั้งหมดขาดสภาพคล่อง กลายเป็นวิกฤติเศรษฐกิจและตลาดหุ้น ดัชนีหุ้นไทยตกลงมาถึง 55% ในปี 2540 หลังจากที่ตกลงมาประมาณ 40% แล้วในปี 2539 “วิกฤติต้มยำกุ้ง” นั้น เกิดขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจที่ร้อนแรงและผสมกับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปสูงก่อนหน้านั้น เมื่อเกิดวิกฤติ ผลกระทบต่อดัชนีจึงสูงมาก ดัชนีเคยอยู่สูงถึง 1,754 จุดในต้นปี 2537 พอสิ้นปี 2540 ดัชนีลดลงมาเหลือเพียง 373 จุดหรือลดลงถึงเกือบ 80% และใช้เวลานานมากกว่าที่ดัชนีหุ้นจะกลับที่เดิม ว่าที่จริงในปี 2543 หรือปี คศ. 2000 ดัชนีตลาดหุ้นไทยก็วิกฤติอีกครั้งหนึ่งเป็นครั้งที่ 5 ดัชนีหุ้นตกลงมาถึง 44% จาก 482 จุดเหลือ 269 จุด ตามวิกฤติด็อตคอมของอเมริกา อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครสนใจอะไร เพราะตลาดหุ้นไทยในเวลานั้นเหงาหงอยมาก มีการซื้อขายหุ้นต่อวันเพียง 3-4,000 ล้านบาท ไม่มีใครสนใจว่าหุ้นจะขึ้นหรือตกหรือวิกฤติ
เวลาผ่านไปพร้อมกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจนถึงปี 2551 เราก็ประสบกับวิกฤติครั้งที่ 6 คือวิกฤติซับไพร์มที่เกิดขึ้นในอเมริกา ปัญหาคือเศรษฐกิจของอเมริกานั้นร้อนแรงมีการปล่อยกู้ให้แก่คนซื้อบ้านที่ไม่มีกำลังซื้อจริงหรือเป็น “ซับไพร์ม” เสร็จแล้วสถาบันก็เอาหนี้ไปขายต่อโดยทำวิศวกรรมการเงินให้เป็น “หนี้ดี” แต่ในที่สุดระบบก็ล่ม สถาบันการเงินที่ทำก็ล่ม เศรษฐกิจมีปัญหา หุ้นตกลงมาประมาณ 40% เป็นวิกฤติ ดัชนีตลาดหุ้นไทยตกลงมาประมาณ 50% จาก 800 จุดเป็น 400 จุด ในช่วงปี 2551 แต่หลังจากนั้นก็ปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 2 ปีดัชนีก็ขึ้นไปเกิน 1,000 จุดแล้ว เหตุผลก็เพราะเศรษฐกิจไทยถูกกระทบน้อยมาก ในขณะที่สหรัฐและประเทศที่ก้าวหน้าของโลกต่างก็ทำ QE อัดฉีดเงินเข้าระบบมากอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวมาจนถึงทุกวันนี้
วิกฤติโควิด19 นั้น ที่จริงมี “สัญญาณ” มาหลายปีแล้ว นั่นคือ เศรษฐกิจของอเมริการ้อนแรงมานานพร้อมกับดอกเบี้ยที่ตกต่ำสุด ๆ มานาน ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นร้อนแรงมากมานานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นอกจากนั้น เริ่มเกิด “Inverted Yield Curve” ซึ่งในอดีตบอกว่ามักจะตามมาด้วยวิกฤติ แต่คนก็ไม่รู้ว่าอะไรจะเป็นสาเหตุ ตอนนี้เรารู้แล้วว่าสาเหตุน่าจะมาจากสงครามการค้าระหว่างจีนกับอเมริกาเป็นตัวเริ่ม ตามมาด้วยไวรัสโควิดที่เริ่มที่จีน ต่อมามีสงครามราคาน้ำมันและโควิดที่ลามไปทั่วโลก
สำหรับประเทศไทยเอง เราเริ่มวิกฤติในยามที่ดัชนีตลาดเหงาหงอยมา 6-7 ปีแล้ว อานิสงค์จากเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงมาในเวลาเท่า ๆ กัน เรามีปัญหาสังคมสูงอายุที่กำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วอันดับต้น ๆ ของเอเชีย เรามีปัญหาการเมืองที่คนยังตกลงกันไม่ได้ว่าประเทศควรจะไปทางไหนโดยเฉพาะระหว่างคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า เรากำลังเข้าสู่วิกฤติในยามที่เราอ่อนแอที่สุดไม่เหมือนในอดีตที่เราแข็งแรงทุกครั้งที่มีวิกฤติ อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์บอกเราว่าเราฟื้นตัวมาได้เสมอ อะไรจะทำให้เราฟื้นตัวได้ผมไม่รู้ อาจจะเป็นเรื่องที่คนไทยที่ “รวย” ยังมีเงินสดอยู่มากที่ถูกเก็บสะสมมานาน เงินนี้ไม่มีที่ลงทุนที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีพอ ดังนั้น เมื่อเวลาผ่านไปและคนตระหนักว่าหุ้นถูก ๆ ของบริษัทที่ยังมั่นคง ทำกำไรได้ดีพอใช้และสามารถจ่ายปันผลปีละ 4-5% ได้ก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เมื่อนั้นหุ้นก็อาจจะปรับตัวขึ้นมา อาจจะไม่ได้โดดเด่นสูงมากอย่างที่เราเคยเป็นมาก่อน แต่ก็ดีพอ และในไม่ช้าโควิดก็จะจากไปเช่นเดียวกับราคาน้ำมันที่จะปรับตัวขึ้นและโลกก็ฟื้นตัวกลับขึ้นมา ดังนั้น สำหรับผมแล้ว นี่เป็นเวลาซื้อหุ้นครับ
หุ้น Holding Company
โลกในมุมมองของ
Value Investor 6
ตุลาคม 62
ดร. นิเวศน์
เหมวชิรวรากร
ในยามที่ตลาดหุ้นไม่ค่อยดีและเป็นตลาดหุ้น Sideway มานานนั้น หุ้นที่น่าสนใจกลุ่มหนึ่งก็คือหุ้น Holding Company หรือหุ้นที่ถือหุ้นของบริษัทอื่นเป็นหลักหรือถือหุ้นบริษัทอื่นคิดเป็นมูลค่าจำนวนมากเมื่อเทียบกับกิจการที่บริษัททำ ถ้าเป็น Pure Holding Company อย่างบริษัทเบิร์กไชร์ของ วอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น บริษัทจะไม่ทำกิจการอะไรเองเลยแต่จะเป็นแค่ผู้ถือหุ้นในบริษัทอื่น ๆ ในตลาดหุ้นไทยเองนั้นเท่าที่เห็นก็น่าจะมีหุ้นของ Intuch ที่ถือแต่หุ้นบริษัทอื่นเฉพาะอย่างยิ่งก็คือหุ้น...
ปัจจัยขับเคลื่อน ราคาหุ้น
โลกในมุมมองของValue Investor 24 สิงหาคม62
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ผมอยู่กับตลาดหุ้นและการลงทุนมานาน ศึกษาและพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการลงทุนโดยการอ่านหนังสือสารพัดและสังเกตเหตุการณ์และพฤติกรรมของผู้คนในสังคมรวมถึงตลาดหุ้นเพื่อที่จะหาวิธีการลงทุนที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีและมีความเสี่ยงต่ำ นอกจากนั้นก็ยังคอยติดตาม ราคาหุ้น จำนวนมากที่ซื้อขายกันในแต่ละวันถ้าว่างและสะดวกที่จะทำ ซึ่งทำให้คิดว่าราคาหุ้นในตลาดหุ้นไทยโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นขนาดเล็กถึงกลางนั้นมักจะมีการเคลื่อนไหวในแต่ละวันตามปัจจัยหรือเหตุการณ์หรือข่าวบางอย่างที่เกิดขึ้น ดังนั้น ถ้าใครรู้ข้อมูลเหล่านั้นก่อนหรือประเมินได้ว่ามันจะกระทบกับราคาหุ้นได้มากน้อยแค่ไหน เขาก็อาจจะสามารถเทรดหรือซื้อขายหุ้นทำกำไรได้ อย่างน้อยก็ในระยะเวลาสั้นๆ แต่นี่ก็ขอบอกเสียก่อนว่าไม่ใช่วิธีการหรือหลักการลงทุนของผมเองซึ่งเน้นการลงทุนระยะยาวแบบVI ซึ่งเน้นปัจจัยบางอย่างที่เป็นเรื่องระยะยาวซึ่งส่วนมากก็ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ผมกำลังจะพูด
ปัจจัยที่น่าจะมีผลขับเคลื่อนราคาหุ้นโดยเฉพาะในระยะสั้นนั้นคร่าวๆ ผมแบ่งเป็น3-4 กลุ่มคือ หนึ่งเรื่องของปัจจัยทางด้านภาพใหญ่ของเศรษฐกิจการเงิน การเมือง สังคมและอื่นๆ ของประเทศและของโลก สองคือผู้เล่นหรือลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ สามเป็นเรื่องของตัวบริษัทและกิจการ และสุดท้ายเป็นเรื่องของตัวหุ้นเอง
ภาพใหญ่ที่มักจะสามารถขับเคลื่อนราคาหุ้นได้แทบจะทุกครั้งที่เกิดขึ้นน่าจะมาจากเรื่องของอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของธนาคารกลางโดยเฉพาะสหรัฐและของไทยเอง ยิ่งถ้ามีการเปลี่ยนแปลงผิดจากที่ผู้คนคาด ผลกระทบก็มักจะแรงพอสมควร นอกจากอัตราดอกเบี้ยแล้ว อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สงครามการค้า สถานการณ์รุนแรงทางด้านการเมืองโดยเฉพาะของไทย และที่สำคัญวิกฤติทางการเงินของประเทศ สิ่งต่างๆ เหล่านี้มักจะสามารถขับเคลื่อนราคาหุ้นได้ บางครั้งอย่างมีนัยสำคัญในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์หรือการที่จะ “รู้ก่อน” ก็ทำได้ยากสำหรับคนทั่วไป แต่ถ้ารู้และเป็นเรื่องสำคัญ เช่น รู้ว่ากำลังจะมีการเก็บภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้นหรือมีมาตรการบางอย่างเช่น ควบคุมเงินลงทุนจากต่างประเทศ แบบนี้ สิ่งที่ต้องทำก็คือ ขายหุ้นทิ้ง เพราะราคาหุ้นทั้งตลาดอาจจะตกลงมาแบบ“แพนิก” ได้
กลุ่มที่สองก็คือผู้เล่นในตลาด นี่ก็มักจะเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนราคาหุ้นได้ไม่น้อยโดยเฉพาะในหุ้นขนาดเล็กหรือFree Float ต่ำ เช่น ถ้ามีผู้เล่นรายใหญ่เช่นกองทุนกำลังเข้าซื้อหุ้นขนาดเล็กหรือกลาง-เล็กบางตัว นี่ก็มักทำให้หุ้นตัวนั้นวิ่งขึ้นไป บางครั้งรุนแรงได้ เช่นเดียวกับที่ “นักลงทุนรายใหญ่” เข้าไปเก็บหุ้นขนาดเล็กจนกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีรายงานออกมาว่าถือหุ้นเกิน5 หรือ10% หรือปรากฏชื่อว่าถือหุ้นเกิน0.5% เวลาปิดสมุดทะเบียน แบบนี้บ่อยครั้งก็อาจจะทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นได้ ในอีกด้านหนึ่ง เวลานักวิเคราะห์ออกบทวิเคราะห์แนะนำให้ซื้อหุ้นจากที่ไม่เคยวิเคราะห์หรือเคยแนะนำให้ถือหรือขาย แบบนี้ก็อาจจะมีผลต่อราคาหุ้นให้ปรับตัวขึ้นได้เหมือนกัน เช่นเดียวกัน เวลานักวิเคราะห์บอกให้ขายหุ้นจากที่เคยให้ซื้อ แบบนี้ก็มักจะทำให้หุ้นลง
เจ้าของหุ้นก็มักจะมีบทบาทที่สามารถขับเคลื่อนราคาหุ้นได้ไม่น้อย บางทีแค่ออกมาให้ข่าวดีๆ ว่าผลประกอบการจะโดดเด่นหรือมีแผนขยายตัวอย่างแรงออกไปสู่ต่างประเทศ หรือออกมาบอกว่าบริษัทกำลัง “ฟื้นตัว” จากภาวะตกต่ำรุนแรง แบบนี้ก็สามารถขับเคลื่อนหุ้นไปได้แรงทั้งที่ทุกอย่างที่พูดนั้นยังไม่ได้เกิดขึ้นและจะเกิดได้มากน้อยแค่ไหนก็ยังไม่รู้
ปัจจัยกลุ่มที่สามก็คือตัวบริษัทหรือกิจการซึ่งจำนวนมากเป็นเรื่องของ “พื้นฐาน” แต่บางทีก็เป็นแค่“สถานการณ์” แต่ถ้าบริษัทประกาศผลประกอบการที่มีกำไรดีขึ้นหรือดีขึ้นมาก ส่วนใหญ่แล้วราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวขึ้น บางทีอย่างแรง แต่ถ้าประกาศกำไรลดลง แบบนี้หุ้นก็มักจะตกลงมา โดยที่คนไม่สนใจว่ากำไรที่เพิ่มหรือลดนั้นมาจากอะไร เป็นเรื่องของสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยหรือเกิดจากความสามารถในการทำกำไรเพราะทั้งสองอย่างนี้แตกต่างกันมากในด้านของพื้นฐาน และก็เช่นเดียวกัน คนก็ไม่สนใจว่าหุ้นมันแพงหรือถูกเกินไปหรือไม่
ข่าวของบริษัทบางอย่างเช่น เจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่กำลังจะเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลซึ่งคนมักจะเชื่อกันว่าจะทำให้บริษัทได้ประโยชน์ ได้งานหรือสามารถค้าขายได้มากขึ้น แบบนี้ก็สามารถทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปได้เหมือนกัน บางทีก็เป็นเรื่องว่าบริษัทในกลุ่มเช่น รับเหมาก่อสร้างงานสาธารณูปโภคจะได้ประโยชน์จากการที่จะมีงานมากขึ้นเมื่อได้รัฐบาลใหม่ แบบนี้ก็มักจะกระตุ้นให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้ เช่นเดียวกับหุ้นค้าปลีกสินค้าจำเป็นที่ราคาหุ้นดีขึ้นเนื่องจากจะมีการ“อัดฉีด” ให้คน“รากหญ้า” มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เป็นต้น
ข่าวของบริษัทยังมีอีกมาก เช่น การได้งานใหม่ที่เป็นโครงการ การได้รับการต่อสัญญาสัมปทานที่จะทำให้บริษัทจะได้ประโยชน์ไปอีกหลายสิบปี การทำM&A หรือซื้อโครงการเช่น โรงงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ทั้งหมดนั้นก็มักจะทำให้หุ้นขึ้นทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าที่ซื้อมานั้นคุ้มค่าหรือได้กำไรมากน้อยแค่ไหน
สุดท้ายก็คือตัวหุ้นเอง นี่ก็เป็นเรื่องของจิตวิทยาที่มีอิทธิพลสูงต่อราคาหุ้น ถ้าราคาหุ้นตัวหนึ่งวิ่งขึ้นไปแรงเป็นระยะ โดยเฉพาะมาพร้อมกับปริมาณการซื้อขายหุ้นที่สูง แนวโน้มระยะสั้นๆ ก็คือ ราคาก็มักจะวิ่งขึ้นไปได้อีก นี่จริงๆ แล้วก็ออกแนวการเล่นหุ้นแบบ “เทคนิค” ที่บางคนบอกว่าไม่ต้องคิดถึงเหตุผล บางทีเหตุผลอาจจะมาทีหลัง บางครั้งหุ้นทั้งตลาดโดยเฉลี่ยหรือดัชนีหุ้นเองนั้นก็มักจะตกลงมาแรงตามดัชนีหุ้นต่างประเทศโดยเฉพาะอเมริกา ดังนั้น คนเล่นหุ้นระยะสั้นก็มักจะต้อง“ดูดาว” ตอนกลางคืนเพื่อที่จะรู้ว่าวันรุ่งขึ้นหุ้นจะขึ้นหรือตก
หุ้นบางตัวนั้น เวลาขึ้นลงมักจะมีบ่อยครั้งที่ขึ้นลงแรงมากทั้งๆที่ไม่ได้มีข่าวอะไรพิเศษ บางทีปริมาณการซื้อขายก็ไม่มาก แบบนี้ ถ้ามีข่าวอะไรเข้ามา ราคาหุ้น ก็อาจจะกระชากแรงกว่าปกติ ผมเองคิดว่าอาการแบบนี้อาจจะเป็นเรื่องหุ้นที่อาจจะถูกCorner หรือ“ต้อนเข้ามุม” หุ้นอยู่ในมือของคนจำนวนน้อยที่สามารถควบคุมราคาให้ไปในทิศทางที่ต้องการได้ หรือพวกเขาต่างก็มีมุมมองไปในทางเดียวกัน ผลก็คือ เวลามีการซื้อเข้ามาเพิ่มโดยใครก็ตาม ราคาก็วิ่งแรงกว่าปกติมาก หรือเวลาที่พวกเขาขาย ราคาก็ดิ่งได้ง่ายๆ
ทั้งหมดนั้นก็เป็นข้อสังเกตของผมที่เห็นและติดตามหุ้นมานาน แน่นอนว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงอาจจะ10 ปีที่ผ่านมา ในอดีตก่อนหน้านั้นหรือในอนาคตข้างหน้า มันก็อาจจะเปลี่ยนไป ทั้งหมดนั้นผมคิดว่าขึ้นอยู่กับลักษณะของตลาดหุ้นและนักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนส่วนบุคคลในตลาด การเล่นหุ้นหรือแม้แต่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยเองนั้น ผมคิดว่าการเข้าใจว่าอะไรหรือปัจจัยใดเป็นตัวขับเคลื่อนหุ้นน่าจะมีประโยชน์แม้ว่าเราในฐานะของVI อาจจะไม่ได้นำมาใช้เองก็ตาม
อ่านบทความ ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร คลิก https://www.vietnamvi.com/category/ดร-นิเวศน์/
วิกฤติกำลังจะมา?
โลกในมุมมองของValue Investor
ดร. นิเวศน์เหมวชิรวรากร
สัปดาห์ก่อนตลาดหุ้นโลกและไทยค่อนข้างผันผวน บางวันดัชนีดาวโจนส์ตกลงมาถึง3% เช่นเดียวกันตลาดหุ้นไทยบางวันก็ตกลงมาเกือบ2% ทั้งๆ ที่ในช่วงหลายปีหลังดัชนีตลาดหลักทรัพย์บ้านเราค่อนข้างมั่นคงไม่ค่อยผันผวนมากนัก ที่สำคัญ หุ้นแบ้งค์ใหญ่ซึ่งโดยปกติไม่ค่อยปรับตัวมากต่างก็ตกลงมาถึงประมาณ3% ในวันเดียว การตกลงมาอย่างหนักของหุ้นนั้นส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลจากการปรับตัวของตลาดเงินและพันธบัตรที่มีการปรับลดลงโดยธนาคารกลางของประเทศต่างๆรวมถึงไทยซึ่งก็ส่งผลไปถึงตลาดการเงินด้วย เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ทำให้อัตราผลตอบแทนหรือที่เรียกว่าYield ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐระยะสั้นอายุ2 ปีลดลงมาเหลือ1.63% ต่อปี แต่ที่ลดลงหนักยิ่งกว่าก็คือผลตอบแทนพันธบัตรอายุ10 ปีได้ตกลงมาเหลือเพียง1.62% ต่อปีซึ่งเป็นปรากฏการณ์ผิดปกติที่เรียกว่าInverted Yield Curve (IYC) ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก อาจจะ10 ปีหนอะไรทำนองนั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือเกือบทุกครั้งที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นประมาณ12 เดือน เศรษฐกิจก็เกิด “วิกฤติ” ในช่วง50 ปีที่ผ่านมา มีเพียงครั้งเดียวที่เวลาเกิดสถานการณ์ที่เรียกว่าInverted Yield Curve นี้แล้วเศรษฐกิจไม่วิกฤติ ส่วนอีก6 ครั้งนั้น เศรษฐกิจเกิดปัญหาหลังจากนั้นภายใน7-24 เดือน ดังนั้น การเกิดIYC ครั้งนี้จึงทำให้นักเศรษฐศาสตร์กังวลกันมาก และตลาดหุ้นจึงตกลงมาแรงคำถามก็คือ วิกฤติกำลังจะมาใช่ไหม? และเราในฐานะของนักลงทุนจะทำอย่างไร?
ก่อนอื่นคงต้องดูว่าIYC หรือการที่ผลตอบแทนพันธบัตรหรือการลงทุนระยะสั้นให้ผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรหรือการลงทุนระยะยาวนั้นมีความหมายอย่างไร?
โดยปกติถ้าเราลงทุนระยะยาว เราต้องการที่จะได้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น ถ้าฝากเงินออมทรัพย์หรือฝากแค่3 เดือน ผลตอบแทนก็อาจจะได้แค่1-2% ต่อปี แต่ถ้าเราฝากประจำหรือลงทุนในพันธบัตรอายุ3 ปีที่ไม่มีความเสี่ยงเหมือนกันนั้น เราก็มักจะได้ผลตอบแทนสูงกว่าเช่นอาจจะ3% ถ้ายาวกว่านั้นเช่น10 ปี เราก็มักจะได้ผลตอบแทนสูงขึ้นเช่น5% ต่อปี นี่เป็นเรื่องปกติ แต่สถานการณ์IYC ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ในอเมริกานั้นกลับกลายเป็นว่าถ้าเราลงทุนแค่2 ปีกลับได้ผลตอบแทนสูงกว่าลงทุน10 ปี ซึ่งเป็นเหมือนกับสัญญาณว่าในอนาคตอัตราดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนระยะสั้นจะลดลงและจะลดลงอยู่ในระดับต่ำไปอีกนานเป็น10 ปี นักลงทุนจึงยอมที่จะ“ล็อก” อัตราผลตอบแทนไว้ก่อน ว่าที่จริงผลตอบแทนพันธบัตรอายุ30 ปีของอเมริกาในช่วงนี้อยู่ที่เพียง2.015% ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์และเป็นการส่งสัญญาณโดยตลาดเงินว่าผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยในอีก30 ปีข้างหน้านั้นจะต่ำมากอย่างน่าตกใจคือเฉลี่ยปีละประมาณ2%
เหตุที่ผลตอบแทนในอนาคตจะต่ำมากนั้นเป็นสัญญาณว่าคนที่จะกู้เงินเพื่อลงทุนซึ่งต้องอาศัยเงินระยะยาวนั้นมีน้อยและคนที่จะปล่อยกู้หรือลงทุนมีมาก ซึ่งก็เป็นสัญญาณต่อไปว่าเศรษฐกิจกำลังถดถอย ธุรกิจจะไม่ค่อยลงทุน บริษัทไม่โต กำไรไม่โตหรืออาจจะตกลง ธุรกิจบางส่วนจะล้มละลายและอาจจะก่อปัญหาให้กับสถาบันการเงิน และในที่สุดก็อาจจะกลายเป็น “วิกฤติ” ว่าที่จริงเราก็เริ่มเห็นแล้วว่าเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ รวมถึงไทยกำลังเติบโตน้อยลง มีการปรับเป้าหมายการเติบโตลดลงกันทั่วโลก การส่งออกติดลบ การลงทุนภาคเอกชนน้อยลง ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากประเด็นเรื่องของสงครามการค้าระหว่างอเมริกากับจีนและโลก และไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นชัดเจนว่าเศรษฐกิจโลกและไทยกำลังชะลอลงและการแก้ไขไม่ใช่เรื่องง่าย เหตุผลก็อาจจะเป็นเพราะว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างก็ใช้“เครื่องมือ” และทรัพยากรต่างๆ ที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจเช่น การลดดอกเบี้ยและการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยรัฐกันเกือบหมดแล้วตั้งแต่ปี2008 ในช่วงวิกฤติรอบก่อน ดังนั้น การป้องกันปัญหาในรอบนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย
ว่าที่จริงคนที่มีชื่อเสียงทางด้านเศรษฐศาสตร์บางคนทำนายมานานพอสมควรแล้วว่าอเมริกาจะเกิดวิกฤติในปี2020 คือปีหน้าตั้งแต่เศรษฐกิจอเมริกันยังไม่มีปัญหา ยังไม่มีเรื่องสงครามการค้าและปรากฎการณ์IYC เหตุผลผมจำไม่ได้ชัดแต่น่าจะมาจากการที่เศรษฐกิจอเมริกาไม่สมดุลเช่นการขาดดุลการค้าและอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำต่อเนื่องกันยาวนานเป็นต้น แต่อีกส่วนหนึ่งนั้นอาจจะมาจากการที่เศรษฐกิจดีต่อเนื่องมายาวนานจนเกินไปคือเกิน10 ปีซึ่งตามประวัติศาสตร์ไม่ค่อยเกิดขึ้นและมักจะจบลงด้วยการถดถอยหรือวิกฤติ ในตอนนั้นก็แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่ก็คงไม่ได้ให้น้ำหนักมากเพราะว่าเรื่องการทำนายทายทักเรื่อง“โลกาวินาศ” นั้น มีอยู่ตลอดเวลา คนที่ได้ชื่อว่าเป็น“Doomsayer” หรือคนที่ได้รับการยอมรับว่าสามารถทำนายเรื่องร้ายแรงที่กำลังจะเกิดขึ้นได้แม่นยำนั้นมีอยู่มากมายและพวกเขาก็“ทำนายอยู่เรื่อยๆ” จนคนไม่ค่อยสนใจแล้ว อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์หลายๆ เรื่องที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ก็น่าจะทำให้คนหลายเริ่มสนใจและอาจจะเชื่อมากขึ้นว่า “วิกฤติกำลังจะมา” และนั่นน่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ตลาดหุ้นผันผวนอย่างแรงในสัปดาห์ก่อน
ในฐานะของVI เราคงไม่สรุปว่าวิกฤติจะมาแน่ ความเชื่อที่ว่า “วิกฤติมักจะมาโดยที่เรามักจะไม่คาดคิดหรือไม่รู้ตัว ถ้าทุกคนคาดว่าจะเกิดมันก็คงไม่เกิดเพราะเราจะแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงก่อน” นั้น ดูเหมือนว่าจะฝังอยู่ในความคิดของนักคิดจำนวนไม่น้อย คนมักจะพูดกันว่าในอดีตที่เกิดวิกฤติแต่ละครั้ง ก็ดูเหมือนว่าจะเกิดขึ้นโดยไม่มี“เซียน” คนไหนบอกก่อน สำหรับประเด็นนี้ผมเองก็มีข้อถกเถียงอยู่เหมือนกัน เพราะผมเองก็เคยผ่านมาหลายวิกฤติ ผมยอมรับว่าวิกฤติซับไพร์มในปี2008 นั้น เกิดขึ้นโดยผมแทบไม่รู้ตัวเลย เหตุผลอาจจะเป็นเพราะมันอยู่ไกลตัวมาก แต่วิกฤติของไทยในปี2540 ซึ่งผมเองอยู่ใน“ศูนย์กลาง” ของปัญหานั้น ผมรู้ดีมากว่ามันจะต้องเกิดก่อนที่มันจะเกิดจริงไม่น้อยกว่า1 ปี เพียงแต่ว่าเราทำอะไรไม่ได้ แก้ไขอะไรไม่ได้ และ “พูดไม่ได้”
ในตอนนี้ที่เราไม่ได้เป็นศูนย์กลางของปัญหาและไม่มีข้อมูลที่ดีพอ เราก็ไม่รู้จริงๆ ว่าในที่สุดจะเกิดวิกฤติหรือไม่ แต่ด้วยปรากฎการณ์และสัญญาณที่เราเห็นอยู่หลายเรื่อง โอกาสที่จะเกิดปัญหากับเศรษฐกิจและตลาดหุ้นก็น่าจะมีอยู่ไม่น้อย อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจกำหนดกลยุทธ์ในการลงทุนนั้น เราคงไม่ได้ให้น้ำหนักว่าวิกฤติจะต้องเกิดแน่นอน เพราะถ้าคิดอย่างนั้น เราอาจจะตัดสินใจขายหุ้นทิ้งทั้งหมดซึ่งไม่ใช่กลยุทธ์ที่ดีเลย สิ่งที่ควรจะทำก็คือ เตรียมปรับพอร์ตการลงทุนในลักษณะDefensive หรือแนวอนุรักษ์นิยมที่อาจจะไม่ได้ถือหุ้น100% และหุ้นที่ถืออยู่นั้นจะไม่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากเกินไป ราคาหุ้นก็ไม่ควรแพง เพราะถ้าเกิดวิกฤติจริง ราคาอาจจะตกลงมาได้มาก ที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือ วิกฤติอาจจะส่งผลต่อตลาดหุ้นยาวนาน ดังนั้น ควรเลือกหุ้นที่สามารถจ่ายปันผลได้ดีพอสมควรแม้ว่าเศรษฐกิจจะย่ำแย่ การได้รับปันผลในยามที่หุ้นตกลงมาหรือภาวะตลาดซบเซานั้นผมคิดว่าจะทำให้เรารู้สึกดีขึ้น อีกประการหนึ่งก็คือ หุ้นที่ยังสามารถจ่ายปันผลได้ดีนั้นก็คือกิจการที่แข็งแกร่งและไม่ล้มหายตายจากไปง่ายๆ และพร้อมกลับมาเติบโตต่อไปได้อย่างรวดเร็วเมื่อวิกฤติผ่านไป
คำถามสุดท้ายก็คือ ถ้าเราค่อนข้างมั่นใจว่าปัญหาคงจะมีแน่แม้ว่าเศรษฐกิจอาจจะไม่วิกฤติ ทำไมเราไม่ถือเงินสด? คำตอบของผมก็คือ เงินสดนั้นก็คือการลงทุนอีกอย่างหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนน้อยมากน่าจะแค่ไม่เกิน1-2% ต่อปีและจะน้อยต่อไปอีกน่าจะเป็น10 ปีขึ้นไป ดังนั้น ถ้าเราสามารถเลือกหุ้นที่ให้ปันผลได้ซัก3-4% ต่อปีขึ้นไปในระยะยาวแม้ในยามที่เศรษฐกิจยากลำบาก การถือเป็นหุ้นก็น่าจะดีกว่า และในกรณีแบบนี้ เราคงต้องลืมเรื่องของราคาหุ้นไปก่อน