แท็ก: ดร.นิเวศน์
สงครามจริงกำลังจะเริ่ม
โลกในมุมมองของ Value Investor
16 พฤษภาคม 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
สงครามโลกครั้งที่สองนั้น นักประวัติศาสตร์ต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าเริ่มต้นเมื่อเยอรมันบุกโปแลนด์ในวันที่ 1 กันยายน 1939 และฝรั่งเศสกับอังกฤษประกาศสงครามกับเยอรมันเพราะได้ประกาศค้ำประกันความเป็นอิสระของโปแลนด์เอาไว้ แต่ในช่วงแรกของสงครามเป็นเวลาถึง 8 เดือนนั้น การรบเกิดขึ้นน้อยมาก ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องของการปิดน่านน้ำและยิงกันทางอากาศประปรายไม่เหมือนกับสงครามจริง ๆ จนถูกเรียกว่าเป็น “Phony War” หรือ“สงครามเก๊” แต่หลังจากที่เยอรมันเริ่มบุกเข้ายึดฝรั่งเศสในช่วงเดือนพฤษภาคม 1940 สงครามเต็มรูปแบบก็เริ่มขึ้นและยืดเยื้อต่อเนื่องไปอีกกว่า 5 ปีส่งผลให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงทั้งด้านของชีวิตคนและเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน
“สงครามกับโควิด19” นั้น ก็อาจจะคล้าย ๆ กับสงครามโลก ความสูญเสียก็น่าจะแรงคล้าย ๆ กัน มันเริ่มที่อู่ฮั่นช่วงปลายปี 2562 และก็ลามไปทั่วโลก ในช่วงแรกนั้น ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรมากเพราะอาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรง บางคนบอก “แค่ไข้หวัดธรรมดา” คนที่ตายก็มักเป็นคนสูงอายุ นั่นคือ “Phony War” แต่ “สงครามจริง ๆ” เกิดขึ้นอีก 3-4 เดือนต่อมาเมื่อประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเกิดการระบาดจนต้อง “ปิดเมือง” เช่นเดียวกับประเทศไทยที่เราต้องปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบทุกอย่างในเดือนมีนาคม 2563 และก็ไม่มีใครรู้ว่าสงครามโควิด19 จะจบเมื่อไร
สำหรับผมเองนั้น เรื่องเชื้อโรคหรือเรื่องของสุขภาพเป็นมิติสำคัญที่ทุกคนเห็นชัดเจนและเราก็ต่อสู้เพื่อเอาชนะมัน เรามองว่าถ้าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง จำนวนคนตายเพิ่มขึ้นน้อยลง เราก็ “กำลังชนะ” แต่ถ้ามองอีกมิติหนึ่ง เราก็คงต้องดูถึง “ความเสียหายทางเศรษฐกิจ” ด้วยว่ามีความรุนแรงแค่ไหน เท่าที่ดูตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าไทยเราอาจจะกำลังชนะในสงครามกับไวรัส แต่สงครามทางเศรษฐกิจนั้นดูเหมือนว่า “เพิ่งจะเริ่มต้น” และสัญญาณที่เห็นชัดเจนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วก็คือ การที่การบินไทยกำลังอาจจะต้องเริ่มเข้าแผนฟื้นฟูเพื่อที่จะเอาตัวรอดจากวิกฤติทางการเงินอานิสงค์จากวิกฤติโควิด19 ที่ทำให้ธุรกิจการบินทั้งหมดแทบจะหยุดอย่างสิ้นเชิง ผมไม่รู้ว่าในที่สุดการบินไทยจะประสบความสำเร็จไหม แต่กำลังวิตกว่าบริษัทโดยเฉพาะที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่อื่น ๆ จะประสบปัญหาตามมาหรือไม่และมากน้อยแค่ไหน ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่คิด เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ พวกเขาคิดว่าบริษัทใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในตลาดหุ้นต่างก็แข็งแรง มีกำไรที่ดีเยี่ยม ราคาหุ้นก็อยู่ในระดับสูงและ “กำลังกลับมา” จะไปเปรียบเทียบกับการบินไทยที่ “มีปัญหามานานแล้ว” ไม่ได้
ผมอยากจะเถียงว่ากรณีของการบินไทยเองนั้น ใครเคยคิดว่าอาจจะต้องเข้าแผนฟื้นฟูตามกฎหมายล้มละลาย? จริงอยู่ การบินไทยอาจจะขาดทุนมากกว่าคนอื่น มีหนี้มากกว่าคนอื่น แต่การบินไทยนั้นเป็น “สายการบินแห่งชาติ” ที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าของและผู้ถือหุ้นใหญ่ที่พร้อมจะเข้ามาสนับสนุนตลอดเวลาและก็ทำมาตลอด ความน่าเชื่อถือนี้ทำให้บริษัทสามารถกู้หนี้ยืมสินได้แทบไม่จำกัด นักลงทุนจำนวนมากโดยเฉพาะที่เป็น “นักออม” เช่น คนที่อยู่ในแวดวงสหกรณ์ออมทรัพย์ขนาดใหญ่ของหน่วยงานภาครัฐต่างก็ดูว่าหุ้นกู้หรือตราสารหนี้อื่นของการบินไทยนั้นให้ผลตอบแทนที่ดีและมีความปลอดภัยสูง ว่าที่จริงแม้แต่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเองก่อนเกิดวิกฤติก็ยังให้เรทติ้งบริษัทในระดับ A ซึ่งถือว่าเป็นระดับ “ดีมาก” ไม่แพ้บริษัทจดทะเบียน “ยักษ์ใหญ่” ทั้งหลายในตลาดหุ้นไทย ดังนั้น ความคิดที่ว่า บริษัทมีความมั่นคง มีเรทติ้งดี และมีโอกาสล้มน้อยมากนั้น อาจจะไม่จริงในช่วงที่เกิด “สงครามโควิด19”
วิกฤติโควิด19 นั้น มองในแง่ของตลาดหุ้นที่เมื่อเริ่มเกิดเหตุการณ์ราคาหรือดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาอย่างแรงประมาณ30-40% ในระยะเวลาอันสั้น แต่เมื่อผ่านไปเพียงแค่ 1-2 เดือนดัชนีกลับสามารถปรับตัวขึ้นมาได้จนติดลบไปเพียง 10-20% จากช่วงก่อนเกิดโควิด19 และในตลาดหุ้นอย่างตลาดนาสดักซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มไฮเทคนั้น ดัชนีหุ้นกลับปรับตัวขึ้นไปจนสูงกว่าตอนต้นปีแล้วนั้น ก็ต้องถือว่าตลาดหุ้นทั่วโลกฟื้นตัวแบบตัว V ซึ่งเป็นสัญญาณว่าวิกฤติกำลังผ่านไปอย่างรวดเร็วจนดูไม่เหมือนว่าโลกกำลังมีวิกฤติด้วยซ้ำ
แต่ในด้านของเศรษฐกิจนั้น ดูเหมือนว่าโลกกำลังเจอกับ “สงครามจริง” ที่เพิ่งจะเริ่ม การคาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทุกประเทศดูเหมือนว่าจะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ บริษัทที่ถูกกระทบอย่างแรงเช่น สายการบินหลายแห่งอยู่ในสภาวะ “ล้มละลาย” และหลายแห่งก็จะล้มจริงถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล การคาดการณ์ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจำนวนมากโดยเฉพาะที่อยู่ในธุรกิจ “เก่า” อย่างเช่นรถยนต์และน้ำมันก็ย่ำแย่มากไม่ต้องพูดถึงธุรกิจที่ถูกกระทบจากโควิดโดยตรงอย่างเรือสำราญหรือโรงแรม เป็นต้น โดยที่สงครามนี้ก็ดูเหมือนว่ายังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร
ความขัดแย้งในตรรกะที่ว่าเศรษฐกิจกำลัง “เน่า” แต่หุ้น “ดี” นี้ ได้รับการอธิบายโดยบางคนว่าเป็นเพราะโลกกำลังเปลี่ยนไป มีการแยกตัวระหว่างตลาดหุ้นหรือตลาดการเงินซึ่งเป็นตลาด “จำลองหรือตลาดเสมือนจริง” กับตลาดที่เป็นเศรษฐกิจ “จริง” พูดง่าย ๆ หุ้นจะขึ้นจะลงก็เป็นเพราะมีคนนำเงินมาซื้อหรือขายด้วยเหตุผลทางการเงินหรือเรื่องอื่นที่ไม่ค่อยเกี่ยวกับเศรษฐกิจอย่างที่เราเข้าใจและคุ้นเคยกันมานาน แต่นี่สำหรับผมแล้วก็ต้องบอกว่าผมไม่เข้าใจและก็ไม่เชื่อ ผมถูกสอนให้เชื่อมาตลอดว่า ราคาหุ้นในระยะยาวแล้วจะต้องสะท้อนถึงผลประกอบการระยะยาวของกิจการเสมอ ดังนั้น ถ้าหุ้นทั้งตลาดหรือดัชนีตลาดหุ้นขึ้นและดำรงอยู่ได้ในระยะยาว เศรษฐกิจและกิจการก็น่าจะต้องดีในระยะยาวด้วย ถ้ามองไปข้างหน้าแล้วเศรษฐกิจ “เน่า” แน่ ๆ หุ้นไม่น่าจะขึ้นไปแล้วอยู่ทน ในไม่ช้าก็จะต้องตกลงมา
ประเด็นที่จะต้องคิดก็คือ เศรษฐกิจจะเน่าไปนานแค่ไหนและจะฟื้นตัวเร็วแค่ไหน ถ้าคำตอบก็คือ “เร็วมาก” และบริษัทก็สามารถกลับมาสร้างรายได้และกำไร “เท่าเดิม” ในเวลาแค่ปีสองปี แบบนี้หุ้นก็จะมีเหตุผลที่จะขึ้นไปตั้งแต่ช่วงนี้แล้วก็เดินหน้าต่อ “มองข้าม” ปัญหา “ชั่วคราวสั้น ๆ” เช่นเรื่องโควิด19 ไป แต่ถ้าเศรษฐกิจมีปัญหาต่อเนื่องไปพอสมควร บริษัทขนาดใหญ่จำนวนมากยังต้องปรับโครงสร้างและแก้ปัญหาอันเนื่องจากโควิด19ไปอีกนาน แบบนี้หุ้นก็ไม่สามารถยืนอยู่ได้และอาจจะตกลงมาแรงได้อีก ซึ่งนี่ก็คือสถานการณ์อย่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปี 2540 ที่เกิดวิกฤติการเงินรุนแรงและกว่าที่เศรษฐกิจและบริษัทจะฟื้นตัวก็กินเวลาหลายปี
ถ้ามองอีกมุมหนึ่งโดยเฉพาะในกรณีตลาดหุ้นของอเมริกา คำอธิบายว่าทำไมตลาดหุ้นดีทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจกำลังจะแย่ก็คือ หุ้นที่ดีได้นั้นเป็นเพราะมันเป็นหุ้นไฮเทคขนาดใหญ่ที่ไม่ถูกกระทบโดยเศรษฐกิจที่กำลังแย่ ดังนั้น หุ้นพวกนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นและเนื่องจากมีขนาดใหญ่ มันจึงช่วยพยุงให้ตลาดหุ้นโดยรวมไม่ตกลงมามากอย่างที่ควรจะเป็น ถ้าตัดหุ้นเหล่านี้ออกไป ดัชนีอาจจะแย่กว่านี้มากก็ได้ แต่นี่ก็ไม่ได้อธิบายว่าทำไมตลาดหุ้นไทยถึงตกลงมาไม่มากเช่นกัน เพราะว่าไทยไม่มีหุ้นไฮเทคขนาดใหญ่ที่มาช่วยค้ำยันตลาด ผมเองก็ไม่สามารถอธิบายได้ชัดเจน บางทีตลาดหุ้นไทยอาจจะถูกซื้อขายโดยคนไทยที่เข้ามา “เก็งกำไร” จำนวนมากซึ่งทำให้หุ้นไม่ตกลงมาอย่างที่ควรจะเป็นในระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นกรณีแบบนี้ ในระยะยาวแล้ว หุ้นและดัชนีหุ้นของเราก็จะอยู่ในระดับสูงไม่ไหวถ้าเศรษฐกิจแย่ต่อไปนานและไม่มีหุ้นที่จะได้ประโยชน์เช่น หุ้นไฮเทคของอเมริกา
ทั้งหมดนั้นก็เป็นเรื่องของการประเมินหรือคาดเดา ผมเองก็ไม่รู้ว่าอนาคตทั้งเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจะเป็นอย่างไร เราคงจะรู้เมื่อเวลาผ่านไปและอะไรเกิดขึ้นซึ่งก็จะเป็นบทเรียนให้เราต่อไปในอนาคต อย่างไรก็ตาม การลงทุนนั้นเราจะอิงกับการประเมินและคาดเดาที่เราไม่มีความมั่นใจสูงไม่ได้ ดังนั้น สิ่งที่ควรทำก็คือ ลงทุนในหุ้นที่แข็งแกร่งปลอดภัยและโอกาสถูกทำลายโดยเทคโนโลยีใหม่มีน้อยในราคาหุ้นที่ถูกหรือยุติธรรม มี Margin of Safety สูง เพราะนี่คือหุ้นที่จะ “ฝ่าพายุ” ได้ การลงทุนเพื่อให้มีอิสรภาพทางการเงินหรือร่ำรวยนั้นก็เหมือนกับการเดินเรือออกทะเลไปสู่ดินแดนอันมั่งคั่งที่อยู่ห่างไกล มันต้องใช้เวลามาก บางทีแทบจะตลอดชีวิต และจะต้องฝ่าคลื่นลมและพายุใหญ่ในบางครั้ง เราไม่รู้ว่าอุปสรรคเหล่านั้นจะมาเมื่อไร เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงมันได้ ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำก็คือ ต้องมั่นใจว่าเรามีเรือที่ดีและแข็งแรงพอที่จะไม่จมลงง่าย ๆ ไม่ว่าพายุจะรุนแรงแค่ไหน นอกจากนั้น เราก็จะต้องมีจิตใจที่มั่นคงไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคและละทิ้งเป้าหมายที่จะไปตราบที่เป้าหมายนั้นมันท้าทาย มีเหตุผล และเป็นไปได้
This (Covid19) too shall pass
This (Covid19) too shall pass
โลกในมุมมองของ Value Investor9 พฤษภาคม 63ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เวลาเกิดเหตุการณ์หรือมีสถานการณ์ที่รุนแรงโดยเฉพาะเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความยากลำบากอย่างใหญ่หลวงจน “แทบทนไม่ไหว” จงจำไว้ว่า เหตุการณ์แบบนั้นจะไม่อยู่ตลอดไป มันเป็นเรื่อง “ชั่วคราว” ถึงวันหนึ่งมันก็จะเปลี่ยนไป นี่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ดังนั้น เราจะต้องอดทนเพื่อที่จะ “ผ่านมันไปให้ได้” เพื่อที่จะไปสู่ความรุ่งเรืองและมั่งคั่งที่อาจจะตามมา และคำกล่าวคลาสสิกที่พูดโดย อับราฮัม...
โควิด19 : การปรับตัวครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ
โลกในมุมมองของ Value Investor
1 พฤษภาคม 63
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เมื่อ 2-3 วันก่อนนั้นมีข่าวเล็ก ๆ ที่ไม่รู้ว่าจะเป็น “Fake News” หรือ “ข่าวปลอม” หรือเปล่าว่า นักบินที่กำลังขับเครื่องบินอยู่บนท้องฟ้าคนหนึ่งได้พบ “UFO” รูปร่างคล้ายจานบินอยู่บนท้องฟ้า และภาพที่บันทึกไว้ได้นั้น ทางนาซาหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องยืนยันว่าเป็นวัตถุที่ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นอะไรหรือก็คือ เป็น UFOจริง ๆ ผมเองไม่ได้ตื่นเต้นอะไรและคิดว่าคนทั่วไปก็คงไม่ได้สนใจ เพราะเรื่องแบบนี้มีมานานอย่างน้อยก็หลายสิบปีแล้ว แต่ในยามที่กำลัง “ติด” อยู่ที่บ้านไม่ได้ไปไหนมานานเป็นเดือนเนื่องจากการระบาดของโควิด19 นี่ทำให้ผม “จินตนาการ” ไปว่า
ถ้ามีมนุษย์ต่างดาวที่ขับยานอวกาศวนเวียนมองดูความเป็นไปของโลกมาตลอดเวลาเป็นหลายสิบหรือร้อยปี ในช่วงนี้พวกเขาคงประหลาดใจมากที่อยู่ ๆ ถนนทั่วโลกที่เต็มไปด้วยรถยนต์ก็ว่างลงจนแทบร้าง ผู้คนที่เดินกันตามถนนเพื่อไปทำงานหรือท่องเที่ยวหายไปเกือบหมด...
20 มหาเศรษฐีหลังโควิด19
โลกในมุมมองของ Value Investor 25 เม.ย. 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
สัปดาห์ก่อนมีข่าวว่ารัฐบาลได้ส่งจดหมายถึง 20 เศรษฐีไทยที่รวยที่สุดในประเทศเพื่อขอคำแนะนำทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการแก้ไขวิกฤติโควิด19 รวมถึงความช่วยเหลือที่เศรษฐีเหล่านั้นจะมอบให้แก่ประชาชนที่ประสบปัญหาในทุก ๆ ด้าน รายชื่อเศรษฐีเหล่านั้น แน่นอนว่าเป็นที่น่าสนใจสำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศ แต่สำหรับผมแล้ว รายชื่อที่จะน่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ภายหลังวิกฤติแล้ว ใครจะเป็นคนที่รวยที่สุด 20 อันดับ เหตุผลก็คือ หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจทุกครั้ง มหาเศรษฐีเดิมจำนวนไม่น้อยมักจะเสียหายอย่างหนักจนตกอันดับหรือหายไปจากสาระบบของเศรษฐีใหญ่ รายชื่อมหาเศรษฐีใหม่จะปรากฏขึ้น รายชื่อใหม่เหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็อาจจะเป็นรายชื่อเศรษฐีธรรมดาในตลาดหุ้นอยู่แล้ว...
กองทุนพยุงหุ้น(กู้) BFS
โลกในมุมมองของ Value Investor 11 เม.ย. 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
แผนการจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นกู้เอกชน BFS หรือ “Corporate Bond Stabilization Fund” ของธนาคารแห่งประเทศไทยวงเงิน 400,000 ล้านบาทนั้น ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นอย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่กำลังวิกฤติเนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าซึ่งทำให้เศรษฐกิจเกือบทุกภาคส่วนโดยเฉพาะที่ขายสินค้าหรือบริการที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนแทบจะหยุดนิ่งและส่งผลให้คนจำนวนมากตกงานและบริษัทบางแห่งก็อาจจะต้องล้มละลายเพราะขายสินค้าไม่ได้ ชื่อของกองทุนถ้าฟังอย่างผิวเผินก็เหมือนกับว่าจะออกมาช่วยซื้อดันราคาหุ้นกู้เอกชนไม่ให้ตกต่ำลง เป็นการช่วยเหลือผู้ลงทุนไม่ให้ขาดทุนรุนแรงซึ่งไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์อะไรนัก เพราะการเป็นนักลงทุนนั้น เขาก็จะต้องรับความเสี่ยงที่จะขาดทุนอยู่แล้ว เหนือสิ่งอื่นใด ทำไมไม่ตั้งกองทุนพยุงหุ้นด้วยเล่า? เพราะนักเล่นหุ้นก็ขาดทุนเหมือนกัน
ความเป็นจริงก็คือ กองทุน BFS นี้คงไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยนักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้เอกชนซึ่งในปัจจุบันนั้นมีหุ้นกู้ที่ค้างอยู่ในตลาดถึง 3.6 ล้านล้านบาทแม้ว่าพวกเขาก็คงจะได้ประโยชน์จากการที่ราคาหุ้นกู้จำนวนมากไม่ตกต่ำลงมารุนแรงเพราะวิกฤติโควิดรอบนี้ สิ่งที่แบ้งค์ชาติต้องการจริง ๆ ก็คือการเพิ่ม “สภาพคล่อง” ในระบบการเงินให้แก่บริษัทขนาดใหญ่โดยเฉพาะที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นผู้ออกหุ้นกู้จำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา หุ้นกู้จำนวน 3.6...
บทเรียนการลงทุนจากวิกฤติโควิด19
โลกในมุมมองของ Value Investor 4 เม.ย. 63
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
สำหรับนักลงทุน “รุ่นใหม่” ส่วนใหญ่ในตลาดหุ้นไทย “วิกฤติโควิด19” น่าจะเป็น “Wake Up Call” หรือการปลุกให้ตื่นขึ้นเพื่อเผชิญกับความเป็นจริงที่โหดร้ายของการลงทุนที่คนจำนวนมากไม่ได้ตระหนัก เพราะสำหรับนักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นไทยไม่เกิน 12 ปี คือเริ่มลงทุนหลังวิกฤติซับไพร์มในปี 2551 แล้ว พวกเขาไม่เคยประสบกับการตกลงมาอย่างรุนแรงของตลาดหุ้นจริง ๆ เลย ปีที่หุ้นลงแรง ที่สุดก็ไม่เกิน 15% ส่วนใหญ่หุ้นจะขึ้นและก็ขึ้นแรงเกินปีละ 10% ปีที่หุ้นขึ้นไปเกิน 30% มีถึง 3 ปี อย่างไรก็ตาม วิกฤติครั้งนี้นับถึงวันวันศุกร์ที่ 3 เมษายน 2563 ทำให้ดัชนีหุ้นตกลงมาต่ำที่สุดในรอบประมาณ 8 ปี ซึ่งก็แปลว่าคนที่เริ่มลงทุนมาน้อยกว่า 8 ปี และเป็นนักลงทุนระยะยาว ทั้งที่ลงทุนเองและลงทุนผ่านกองทุนรวมประเภทต่าง ๆ นั้น โดยส่วนใหญ่แล้วอาจจะไม่ได้ผลตอบแทนเลย เงินหรือความมั่งคั่งที่เก็บสะสมมาตลอดและเคยรู้สึกว่ามันเพิ่มขึ้นมากนั้น หายไปภายใน “พริบตา” และนี่ก็ยัง “ไม่จบ” ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อไป และนี่ก็คือบทเรียนที่หนึ่งของ “วิกฤติตลาดหุ้น” ที่ว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” โดยเฉพาะความเสี่ยงจาก “วิกฤติตลาดหุ้น”
บทเรียนที่สองก็คือ วิกฤติตลาดหุ้นนั้น ดูเหมือนว่ามันเป็นเรื่อง “ปกติ” ที่จะต้องเกิดภายในระยะเวลาประมาณไม่เกินทุก 10 ปี วิกฤติครั้งนี้อาจจะมาช้าหน่อยแต่สุดท้ายก็มา ผมเองผ่านวิกฤติมาหลายครั้ง แต่แล้วก็ไม่จำหรือพยายามหาเหตุผลว่าครั้งนี้มันคงไม่เกิดเพราะมันไม่มีสัญญาณทางการเงินที่มีเหตุผลชัดเจนว่ามันจะเกิด เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ เงินล้นโลกและดอกเบี้ยต่ำสุดในประวัติศาสตร์และราคาหุ้นก็ไม่ได้อยู่ในระดับสูงมากเป็นช่วง “กระทิง” ว่าที่จริงตลาดหุ้นไทยไม่ได้ไปไหนมาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปีแล้ว มันจะเกิดวิกฤติด้วยเรื่องใด อย่างมากก็น่าจะแค่ถูก “หางเลข” จากตลาดหุ้นโลกที่อาจเกิดวิกฤติ- ถ้ามี ดังนั้น วิกฤติครั้งนี้ผมจะต้องจำเป็นบทเรียนว่า วิกฤตินั้น เป็นสิ่งที่ “คาดไม่ได้” แต่มันมักจะต้องมาในวันใดวันหนึ่งในช่วงไม่เกินประมาณ 10 ปี นับจากวิกฤติครั้งที่แล้ว
บทเรียนที่สามก็คือ ในวิกฤตินั้น หุ้นกลุ่มที่จะตกลงมาแรงมากทุกครั้งก็คือ หุ้นของสถาบันการเงินโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ทั้งหลาย แม้แต่ครั้งนี้ที่สาเหตุของวิกฤติไม่ได้มาจากสถาบันการเงินแต่สุดท้ายมันก็มาลงที่สถาบันการเงินอยู่ดี เหตุผลคงเป็นว่าสถาบันการเงินนั้นผูกติดอยู่กับเศรษฐกิจอย่างแยกไม่ออก เศรษฐกิจทรุดเมื่อไร ธนาคารก็ไปเมื่อนั้น เหนือสิ่งอื่นใด สถาบันการเงินนั้นกู้ยืมเงินมหาศาล อย่างน้อย 4-5 เท่าหรือ 10 เท่าของทุนของตนเอง ความเสี่ยงจึงมีมหาศาล ยิ่งไปกว่านั้น หุ้นแบ้งค์เป็นหุ้นที่มีผู้ถือหุ้นที่เป็นนักลงทุนเกือบ 100% Free Float สูงมาก และถูกถือโดยนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนสถาบันเกือบทุกแห่ง ดังนั้น ในวันที่เกิดวิกฤติ ไม่มีใครจะมารับซื้อหุ้นได้พอไม่ว่าพื้นฐานของบริษัทจะเป็นอย่างไร
บทเรียนที่ตามมาจากข้อที่สามก็คือ หุ้นของกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลาย เฉพาะอย่างยิ่งก็คือผู้ขุดน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งหลายต่างก็จะตกลงมาอย่างหนัก เหตุผลก็คือ ราคาของสินค้าเหล่านี้มักจะตกลงมาแรงมากอานิสงค์จากการหดตัวของ GDP ที่ทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ลดลงในขณะที่ต้นทุนการผลิตยังเท่าเดิม ผลก็คือ บริษัทขาดทุนอย่างหนัก ทำให้หุ้นตกลงมาตาม
บทเรียนที่ 5 ก็คือ หุ้นกลุ่มที่จะพอเอาตัวรอดได้จากวิกฤติก็คือ ผู้ที่ผลิตหรือขายสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันและเป็นกิจการที่บริษัทมีการผูกขาดหรือมีอำนาจทางการตลาดสูง พูดง่าย ๆ ยังไงคนก็จะต้องกินต้องใช้ แม้จะลดลงบ้างแต่ก็ไม่ถึงกับทำให้บริษัทขาดทุนหรือมีปัญหาทางการเงิน ตัวอย่างเช่น กลุ่มโทรคมนาคมที่ให้บริการโทรศัพท์มือถือ สาธารณูปโภคเช่น ไฟฟ้าและน้ำประปา ค้าปลีกขนาดใหญ่ที่ขายอาหารและสินค้าจำเป็นประจำวันและร้านสะดวกซื้อเป็นต้น เหตุผลก็ชัดเจนว่าพวกเขาก็อาจจะมีรายได้และกำไรลดลง แต่มันไม่เป็นหายนะ และเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น มันก็มักจะกลับมาเหมือนเดิม
บทเรียนที่ 6 ก็คือ หุ้นที่อันตรายที่สุดในยามเกิดวิกฤติก็คือ หุ้นขนาดเล็กถึงกลางที่ “โตเร็ว” และมีราคาแพงหรือค่าPE ที่สูงมากจนแทบเป็นไปไม่ได้ เพราะหุ้นเหล่านี้มักจะถูกเข้ามาเล่นเก็งกำไรโดยนักลงทุนรายย่อยจำนวนมากผสมกับนักเก็งกำไรรายใหญ่ที่มักจะเข้ามา “ดูแล” หรือ “ปั่นหุ้น” จนทำให้ราคาหุ้นสูงเกินพื้นฐานไปมาก ในภาวะที่ตลาดหุ้นดีหรือยังเอื้ออำนวย ราคาก็มักจะดำรงอยู่ได้ ปริมาณการซื้อขายหุ้นก็ยังสูงพอที่จะทำให้นักเล่นหุ้นสบายใจว่าสามารถซื้อและขายได้ด้วยราคาที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก อย่างไรก็ตาม วิกฤติมักทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไป คนไม่เชื่อว่าบริษัทจะโตได้ในภาวะอย่างนี้จึงเริ่มขายหุ้นทิ้ง รายใหญ่อาจจะเริ่มขายเพื่อทำกำไรหรือหนีตายเนื่องจากอาจจะกังวลว่าหุ้นจะตกจนตนเองถูกเรียกให้วางเงินมาร์จินเพิ่มเติมจากโบรกเกอร์ ผลก็คือ ราคาหุ้นตกดิ่งลงมาโดยหาผู้ซื้อได้ยาก ปริมาณการซื้อขายลดลงอย่างรวดเร็วจนคนที่ถือหุ้นมากขายออกไปไม่ได้ หุ้นกลายเป็น “หายนะ”
บทเรียนที่ 7 ก็คือ หุ้นที่อยู่ใน “ศูนย์กลางของวิกฤติ” กล่าวคือเป็นหุ้นที่ถูกกระทบโดยตรงและ เต็ม ๆ มักจะตกลงมาแทบเป็น “หายนะ” เสมอ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นบริษัทที่มีฐานะทางการเงินไม่แข็งแรงเช่น มีหนี้สินมากกว่าที่ควรจะเป็นและ/หรือมีความไม่สอดคล้องในเรื่องของระยะเวลาถึงกำหนดของการชำระหนี้กับรายได้ที่จะเข้ามา เหตุผลก็คือ นอกจากผลประกอบการที่จะตกลงมาอย่างหนักแล้ว ยังมาจากความเสี่ยงที่บริษัทอาจจะล้มละลายหรือต้องเพิ่มทุนจำนวนมากพร้อมกับการลดทุนของผู้ถือหุ้นเดิมด้วย ในรอบวิกฤติปี 2540 ศูนย์กลางคือบริษัทเงินทุน ส่วนรอบนี้ก็คือธุรกิจท่องเที่ยวที่ถูกกระทบเต็ม ๆ และยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร
บทเรียนที่ 8 คือ สิ่งที่ผมอยากจะเตือนไว้สำหรับคนที่อยากจะ “ช้อนหุ้น” ที่ตกลงมาแรงมากเพราะเชื่อว่าเมื่อวิกฤติผ่านไปแล้วหุ้นก็จะฟื้นตัว หุ้นที่ตกลงไปมากก็จะขึ้นมากกว่าหุ้นที่ตกลงมาน้อย นี่เป็นเรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ ในช่วงที่พื้นฐานของกิจการยังไม่ปรากฏ คนยัง “เก็งกำไร” กันอยู่ ซึ่งช่วงนี้ก็อาจจะทำให้เกิด “การปรับตัวขึ้นทางเทคนิค” เป็นระยะ ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่ลงทุนระยะยาวแล้ว สิ่งที่ต้องดูก็คือ มูลค่าที่แท้จริงวัดจากผลประกอบการระยะยาวเทียบกับราคาหุ้น ดังนั้น สิ่งที่จะต้องมองก็คือ ผลประกอบการจะเป็นอย่างไรต่อไปทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ประเด็นก็คือ ในช่วงแรก ๆ ของวิกฤติตลาดหุ้น การประเมินผลกระทบยังเป็นเรื่องยาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราจะเห็นข้อมูลมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อย ๆ ในกรณีวิกฤติโควิดครั้งนี้ ตัวเลขที่จะต้องจับตามองก็คือ ผลประกอบการไตรมาศแรกและไตรมาศสองที่จะออกมาในระยะเวลาอีก 1 เดือนและ 4 เดือนข้างหน้า ตามลำดับ เพราะมันจะบอกว่าผลประกอบการทั้งปีจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงสถานะการระบาดของเชื้อไวรัสที่จะบอกว่ามันควรจะยุติได้เมื่อไร สำหรับผมแล้ว การลงทุนในวันนี้เองนั้น ส่วนใหญ่น่าจะเป็นเรื่องของการ “เก็งกำไร” ซึ่งมีความเสี่ยงไม่น้อย
บทเรียนสุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ ในทุกวิกฤติก็จะมี “ผู้แพ้” และ “ผู้ชนะ” เสมอ ก่อนวิกฤติบริษัทบางกลุ่ม เจ้าสัวบางตระกูล หรือนักลงทุนบางคน “ร่ำรวย” กว่าคนอื่น หลังวิกฤติก็จะมีบริษัทกลุ่มใหม่ เศรษฐีตระกูลใหม่ หรือนักลงทุนกลุ่มใหม่ร่ำรวยขึ้นมาแทน “คุณค่า” ของกิจการเปลี่ยนแปลงไปจากกลุ่มเดิมเป็นกลุ่มใหม่ บางครั้งก็เป็นธุรกิจ “New Economy” ในวิกฤติครั้งนี้ คงต้องดูกันต่อไปว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแบบที่เคยผ่านมาไหม นี่ก็คงขึ้นอยู่กับสถานภาพของเศรษฐกิจของประเทศไทยด้วย เพราะในอดีตนั้น ทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ หลังจากนั้นไทยก็กลับมาโตต่อไปได้อย่างแข็งแรง แต่ครั้งนี้ผมก็ไม่ค่อยแน่ใจนัก เหตุผลก็เพราะว่าตั้งแต่ก่อนวิกฤติหลายปีเราก็อ่อนแอลงมาโดยตลอดอยู่แล้ว ผมก็อยากจะหวังว่า หลังวิกฤติเราจะเกิด “ปาฏิหาริย์” ที่ทำให้ประเทศไทยกลับมาแข็งแกร่งและพร้อมต่อสู้กับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกได้อย่างที่เคยเป็นมาช้านาน และนั่นก็จะเป็นเวลาที่หุ้นไทยก็จะเติบโตขึ้นต่อไปอีกนานเช่นเดียวกัน
ลงทุนหุ้นท่ามกลางวิกฤติ
โลกในมุมมองของ Value Investor
21 มีนาคม 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มีนาคม 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับตัวขึ้นอย่างแรงจาก 1,044.19 จุดเป็น1,127.24 จุด ปรับเพิ่มขึ้นถึง 83 จุดหรือเพิ่มขึ้นถึงเกือบ 8% ในวันเดียว หุ้นขนาดใหญ่หลายตัวปรับขึ้นติดซิลลิ่งที่15% ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีข่าวสำคัญมากอะไรที่น่าจะเป็นสาเหตุ จริงอยู่ ราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นมาบ้างจากราคาที่ต่ำมากอาจจะเป็นจุดที่ทำให้หุ้นในกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันและปิโตรเคมีดูดีขึ้นแต่นั่นก็ไม่น่าที่จะทำให้ตลาดปรับตัวขึ้นแรงขนาดนั้น สถานการณ์ของไวรัสโควิท19 ของไทยและของโลกเองก็ไม่ได้ดูดีขึ้น ว่าที่จริงโดยเฉพาะในกรณีของประเทศไทยเองนั้น ดูเหมือนว่าเราจะ “แย่ลงมาก” โอกาสที่เราจะต้อง “ปิดเมือง” ดูเหมือนจะสูงขึ้นมาก ถ้าถามผมคิดว่า การปรับตัวขึ้นของดัชนีนั้น น่าจะมาจากแรง “เก็งกำไร” ของนักลงทุนไทยที่อาจจะเห็นว่าดัชนีตลาดหุ้นได้ตกลงมามากจนเป็นวิกฤติ เดี๋ยวก็จะ “เด้ง” ขึ้น ดังนั้น พวกเขาจึงเข้ามาช้อนซื้อหุ้นก่อน เมื่อหุ้นขึ้น คนที่รออยู่ก็รีบเข้ามาเก็บหุ้นตามทำให้ราคาหุ้นโดยเฉพาะหุ้นที่เป็น “หุ้นเก็งกำไร” ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นอย่างน้อย 10-15% ภายในวันเดียว คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ นี่เป็นเวลาที่หุ้นจะกลับตัวหรือยัง? หุ้นกำลังจะฟื้นจากวิกฤติหรือ? คนที่รอซื้อหุ้นกำลังจะ “ตกรถ” หรือเปล่า?
ผมเองคิดว่าไม่ นี่อาจจะเป็นสถานการณ์ชั่วคราวที่เรียกว่า “Technical Rebound” ที่หุ้นปรับตัวขึ้นแรงมากหลังจากตกลงมาแรงมาก แต่เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและพื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนเลวร้ายลงอีก หุ้นที่ขึ้นไปแรงก็จะตกลงมาและจะต่ำลงกว่าจุดต่ำเดิม คนที่เข้าไปซื้อหุ้นในราคาที่สูงก็จะขาดทุนหนัก ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2540 นั้น คนเรียกการตกของหุ้นในช่วงปีแรกว่าเป็น “ปีเผาหลอก” และการตกลงมาอีกในปีต่อไปว่าเป็นปี “เผาจริง” เหตุผลที่ให้ก็คือ ปีแรกที่เกิดวิกฤตินั้น อาการยังไม่หนักเท่าปีต่อมา หรือบางทีอาจจะเป็นว่า ปีแรกนั้นคนยังไม่ตระหนักว่าเศรษฐกิจมันจะเลวร้ายขนาดนั้น พอเวลาผ่านไปจึงรู้ว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้น หนักกว่าที่คิดไว้ ผลก็คือ ดัชนีหุ้นที่ดีดกลับขึ้นไปนั้น ตกกลับลงมาอย่างแรงจนคนหมดกำลังใจจริง ๆ และการตกลงมารอบหลังนี้ คนเลิกเล่นหุ้น ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันลดลงไปมาก และนั่นก็คือเวลาที่จะซื้อหุ้นอย่างจริงจังแบบ “ช้า ๆ ไม่ต้องรีบ”
ลองมาดูประวัติศาสตร์ดัชนีหุ้นของวิกฤติปี 2540 ดู ในวันสิ้นปี 2538 นั้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ 1,281 จุด ในช่วงเวลานั้น คนในแวดวงธุรกิจและวงการเงินต่างก็เริ่มจะรู้แล้วว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหา ค่าเงินเม็กซิโกตกต่ำลงอย่างหนักและมากเป็นประวัติการณ์ บริษัทหลักทรัพย์แบริ่งซึ่งเป็นบริษัทเก่าแก่และยิ่งใหญ่ระดับโลกล้มละลายก่อให้เกิดความปั่นป่วนในตลาดเงินโลก ที่สำคัญ การส่งออกของไทยกำลังถดถอยลงอานิสงค์จากค่าเงินบาทที่แข็งเกินไปและผูกติดกับเงินดอลลาร์สหรัฐซึ่งทำให้ไทยขาดดุลการค้ามหาศาลในระดับเกือบ 10% ของ GDP สถานะเงินสำรองของประเทศลดต่ำลงจนอยู่ในภาวะอันตราย สถาบันการเงินโดยเฉพาะบริษัทเงินทุนเริ่มมีปัญหา ผลก็คือในช่วงเวลาตลอดปี 2539 ดัชนีลดลงจากจุดสูงสุดที่ประมาณ 1,400 จุดในช่วงไตรมาศแรกของปี เหลือเพียง 832 จุดตอนสิ้นปีหรือลดลงประมาณ 40% กลายเป็นภาวะ “วิกฤติตลาดหุ้น” ในปี 2539
แต่นั่นยังไม่พอ ดัชนียังไหลลงต่อในปี 2540 จนถึงเดือนมิถุนายนก่อนที่จะมีการ “ลอยตัวค่าเงินบาท” ที่ดัชนีตกลงมาเหลือ 527 จุด แต่หลังจากประกาศ คนคงคิดว่าทุกอย่างคงจบแล้ว ราคาหุ้นลงมามากพอแล้ว ดัชนีตกลงมา 62% แล้ว ดังนั้นคนจึงเข้ามาซื้อหุ้นอย่างหนัก ดัชนีหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างแรงในเดือนกรกฎาคมเป็น 666 จุดหรือหุ้นขึ้นไปถึง26% ภายในเวลาเพียงเดือนเดียว และเมื่อมองย้อนหลัง นี่คือ “Technical Rebound” ในท่ามกลางภาวะวิกฤติ เพราะหลังจากการเด้งขึ้นไป 26% มันก็ตกลงมาต่อจนถึงสิ้นปีดัชนีก็ลดลงมาเหลือเพียง 373 จุด หรือตกลงมาจากจุดสูงสุดที่ 1,400 จุด ถึง 73% และนักลงทุนก็คงคิดว่านี่คงจะเป็น Bottom หรือพื้นจริง ๆ แล้ว ได้เวลาช้อนซื้อหุ้นอีกครั้งหนึ่ง ผลก็คือ หุ้นปรับตัวขึ้นไปอย่างแรง ภายในเวลา 2 เดือนของปี 2541 หุ้นก็ดีดตัวขึ้นไปถึง 528 จุด หรือขึ้นไปกว่า41% คนอาจจะคิดว่าเมื่อวิกฤติ “ผ่านไป” ทุกอย่างก็คงจะกลับมาเหมือนเดิมในเวลาอันรวดเร็ว อาจะไม่เกินปีสองปี ดังนั้น หุ้นก็ปรับตัวขึ้นไปก่อน เหนือสิ่งอื่นใด 528 จุดก็ต่ำมากและคิดแล้วก็ยังเป็นการตกลงมาจากยอดที่ 1,400 จุดถึง 62%
แต่แล้วนักลงทุนก็คาดผิด การปรับตัวขึ้นของหุ้นถึง 41% ไม่ใช่เพราะวิกฤติกำลังจะผ่านไป ที่จริงวิกฤติมันเพิ่งจะเริ่มส่งผลไปที่ตัวหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ทั้งหลายที่กำลัง “ปรับโครงสร้าง” กันอย่างยากลำบาก พวกเขากำลังหาผู้เข้ามาเพิ่มทุนกู้กิจการที่เรียกว่า “Technical Bankrupt” หรือ “เจ๊ง” ไปแล้ว ดังนั้น เมื่อข้อมูลข่าวสารเริ่มทยอยออกมา พื้นฐานที่แท้จริงของกิจการปรากฏออกมาเรื่อย ๆ ดัชนีหุ้นก็ตกลงมาต่อ ดัชนีไหลลงจาก 528 จุด เหลือเพียง 214 จุด เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม 2541 และเป็นจุดต่ำสุดจริง โดยรวมแล้ว วิกฤติรอบต้มยำกุ้งนั้นลดลงจาก 1,400 จุดช่วงไตรมาศแรกของปี 2539 จนถึงสิงหาคม 2541 เป็นเวลาประมาณ 2ปี 7 เดือน และดัชนีลดลงประมาณ 85% เป็น หายนะครั้งใหญ่ที่ทำให้ตลาดหุ้นเหงาหงอยและคน “สาบส่ง” การเล่นหุ้นและทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นเหลือวันละเพียง 2-3,000 ล้านบาท การเล่นหุ้นแบบเก็งกำไรและไม่สนใจพื้นฐานของหุ้นหายไป และการลงทุนแบบ VI ก่อตัวขึ้นอย่างเงียบ ๆ ยุคใหม่ของการลงทุนเริ่มขึ้นและต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลากว่า 20 ปี
วิกฤติโควิด19 เกิดขึ้นเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในปี 2019 จากประเทศจีนและขยายไปทั่วโลกส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำลง ซึ่งส่งผลให้การส่งออกซึ่งเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของไทยลดต่ำลง ในอีกด้านหนึ่ง การท่องเที่ยวของไทยที่เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่ทำรายได้เพิ่มมากที่สุดของไทยและก่อให้เกิดผลิตผลไม่ต่ำกว่า 15% ของ GDP และการจ้างงานเป็นล้าน ๆ คนก็ลดต่ำลงในระดับ “หายนะ” อย่างน้อยน่าจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี ก่อนที่นักท่องเที่ยวจะกลับมา ทั้งสองอย่างนี้ทำให้ GDP ของไทยคงติดลบในปีนี้ โชคไม่ดี ในช่วงเวลาเดียวกัน สงครามราคาน้ำมันระหว่างซาอุดิอาระเบียกับรัสเซียทำให้ราคาน้ำมันตกต่ำลงมากถึงต่ำกว่า 20 เหรียญต่อบาร์เรล นี่ทำให้บริษัทน้ำมันและปิโตรเคมีที่เกี่ยวข้องที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมี Market Cap รวมกันถึงเกือบ 30% ในตลาดหุ้นจะมีกำไรที่ลดลงมากหรือขาดทุน ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดวิกฤติตลาดหุ้นที่รุนแรง ดัชนีหุ้นลดลงอย่างรวดเร็วในเวลาไม่กี่วัน โดยรวมแล้ว ดัชนีตกลงมาจากต้นปีถึงวันพฤหัสที่ 19 มีนาคม 63 ถึง 33.9% และคนอาจจะคิดว่ามันตกลงมาพอแล้ว วิกฤติโควิด19 กำลังผ่านไป ราคาน้ำมันก็คงไม่ต่ำอยู่อย่างนั้นตลอดไป เมื่อตกลงกันได้ราคาก็จะเพิ่มขึ้น ดังนั้น คนก็เข้ามาซื้อหุ้นดันราคาให้ขึ้นไป แต่นี่เป็นเรื่องจริงหรือ? วิกฤติครั้งนี้ทำให้หุ้นตกลงไปเพียง 33.9% เท่านั้นหรือ? ผมไม่แน่ใจ
ว่าที่จริงประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มมีมาตรการอย่างจริงจังในการแก้ปัญหาไวรัสหลังจากจำนวนคนป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในยุโรปและอเมริกาเองก็เพิ่งเริ่มตระหนักว่าไวรัสนี้เป็นเรื่องใหญ่ระดับชาติที่ต้องทุ่มเทสรรพกำลังในการต่อสู้ไม่น้อยกว่าวิกฤติอื่น ๆ แน่นอนว่าในที่สุดสาเหตุของวิกฤติก็จะต้องผ่านไปและเศรษฐกิจก็จะฟื้นและตลาดหุ้นก็จะปรับตัวขึ้นอย่างแรง แต่มันคือเวลานี้หรือผมยังสงสัย ผมคิดว่ามีโอกาสที่การปรับตัวในช่วงนี้น่าจะเป็น Technical Rebound คล้าย ๆ ช่วงวิกฤติปี 2540 จริงอยู่ ในวิกฤติซับไพร์มในปี 2551 ดูเหมือนว่าหุ้นจะลงมา 50% แบบ “ม้วนเดียวจบ”...
Property Grand Sale
โลกในมุมมองของ Value Investor
7 มีนาคม 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังถดถอยลงอย่างแรง สิ่งหนึ่งที่คนไม่อยากทำก็คือการกู้เงินเพื่อที่จะซื้อทรัพย์สินขนาดใหญ่เช่น อสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น ในช่วงเร็ว ๆ นี้ ยอดขายของบ้านและคอนโดมิเนียมจึงลดลงอย่างแรง คอนโดที่สร้างเสร็จเหลือขายและเป็นสต็อกก็ยังมีจำนวนมหาศาล การลดลงของราคาโดยเฉพาะคอนโดนั้นกลายเป็นเรื่องปกติและน่าจะลดลงต่อไป คนที่มีหรือซื้อคอนโด “เพื่อการลงทุน” คงจะเหนื่อยโดยเฉพาะที่กู้เงินมาซื้อ อย่างไรก็ตาม คนที่ดูเหมือนว่าจะเจ็บหนักกว่ามากก็คือคนที่ซื้อหุ้นของบริษัทที่ขายบ้านและคอนโด เพราะราคาหุ้นอสังหาฯกลุ่มนี้กำลังตกลงมาอย่างหนักทั้ง ๆ ที่กำไรของบริษัทก็ยังดีอยู่มาก ราคาหุ้นก็ถูกจนไม่น่าเชื่อ ที่สำคัญก็คือ หุ้นเหล่านี้จ่ายปันผลเป็นกอบเป็นกำ และทั้งหมดนั้นเป็นมานานหลายปีแล้วตั้งแต่ที่เศรษฐกิจยังไม่เลวร้ายแบบนี้และภาวะต่าง ๆ รวมทั้งตลาดหุ้นก็ยังปกติ แต่ราคาหุ้นก็แทบจะไม่เคยขึ้นไปเป็นเรื่องเป็นราวเลย หุ้น Property นั้นเป็นหุ้นที่เหมือนถูกสาป ตอนที่หุ้นอื่นดีก็ไม่ได้ดีด้วย แต่ตอนที่ตลาดหุ้นแย่ มันก็แย่เหมือนกันหรือยิ่งกว่า
ผมลองคัดหุ้นที่ขายคอนโดและบ้านที่เป็นหุ้นหลัก ๆ และเป็นหุ้นที่อยู่มานาน ส่วนใหญ่เคยผ่านวิกฤติมาแล้ว บริษัทมีขนาดใหญ่และมีจุดเด่นของตนเอง สามารถแข่งขันในตลาดได้และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค การขายคอนโดและบ้านมักเป็น “อาชีพหลัก” ที่บริษัททำมานานหลายสิบปี ผู้ก่อตั้งซึ่งมักจะเป็นผู้บริหารด้วยก็มักจะยังทำงานอยู่ในบริษัททั้ง ๆ ที่หลายคนอายุใกล้เคียงกับผมและเกินวัยเกษียณมาหลายปีแล้ว พูดง่าย ๆ ก็คือเป็นมืออาชีพที่ “เก๋า” และผมเชื่อว่าเอาตัวรอดได้ในรอบนี้ หุ้นจำนวน 8 ตัวที่ผมจะยกมาให้ดูว่าน่าสนใจแค่ไหนนั้นต้องบอกเสียก่อนว่าไม่ได้ต้องการเชียร์ให้ซื้อเลยจริง ๆ เพราะธุรกิจอสังหาฯแนวขายบ้านและคอนโดนั้น ไม่ใช่หุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมเติบโตแต่เป็นอุตสาหกรรมที่อิ่มตัวเนื่องจากอัตราการเกิดของคนไทยลดต่ำลงมาก ดังนั้น การที่จะหวังให้ได้กำไรจากการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นมาก ๆ อาจจะยาก ผลตอบแทนจากการลงทุนอาจจะมาจากปันผลเป็นหลัก ในอีกด้านหนึ่งความเสี่ยงจากการที่บริษัทจะเกิดปัญหาก็มีไม่น้อยโดยเฉพาะในแง่ของสภาพคล่องทางการเงิน อย่างไรก็ตาม นี่อาจจะลดลงได้เมื่อคำนึงถึงประสบการณ์ของผู้บริหารที่เคย “ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก” และผ่านวิกฤติมาแล้วหลายครั้ง
หุ้นตัวแรกก็คือหุ้นที่ใหญ่ที่สุดและน่าจะเป็น “Legend” หรือตำนานในวงการอสังหาริมทรัพย์ไปแล้วก็คือหุ้น LH จุดเด่นของหุ้นก็คือเป็นหุ้นที่อยู่ในรายชื่อของนักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ สินค้าโดยเฉพาะบ้านของบริษัทได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูงจากผู้บริโภคว่าคุณภาพดีและมีความรับผิดชอบต่อลูกบ้านสูง นอกจากบ้านแล้วบริษัทยังมีทรัพย์สินที่ทำรายได้และกำไรที่ดีต่อเนื่องแบบ “ครบเครื่อง” คือเป็นผู้ก่อตั้งและถือหุ้นใหญ่ถึง 30% ในหุ้น Hmpro และ22% ในหุ้น LHFG นอกจากนั้นยังมีอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ ที่สร้างรายได้ต่อเนื่องและค่อนข้างแน่นอนเช่นร้านค้าปลีกให้เช่าอีกมาก ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้และกำไรที่ดีและสม่ำเสมอแต่ก็แทบจะไม่โตเลย เช่นเดียวกับราคาหุ้นที่นิ่งมา 4-5 ปีเช่นเดียวกัน ราคาหุ้นของบริษัทก็ “ถูก” มาตลอด คือมีค่า PE อยู่ในช่วง 10 เท่าบวกลบน้อยมาก ค่า PB ล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 2 เท่า อย่างไรก็ตาม ปันผลตอบแทนของบริษัทนั้นสูงตั้งแต่ 6-8% ต่อปีทุกปี
ตัวที่สองก็คือบริษัทที่น่าจะเรียกว่า “ลูก” ของ LH แต่จริง ๆ แล้ว LH ถือหุ้นแค่ 24.98% จึงนับเป็นลูกจริง ๆ ไม่ได้นั่นก็คือหุ้น QH ซึ่งในทางปฏิบัตินั้นดูเหมือนว่าหลายสิ่งหลายอย่างรวมทั้งผู้บริหารก็คล้าย ๆ กับ LH นั่นคือ QH ถือหุ้นHmpro 20% ถือหุ้น LHFG 14% และก็ยังมีทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างรายได้และกำไรสม่ำเสมออื่น ๆ คล้าย LH เหมือนกัน ว่าที่จริง กำไรที่เกิดจากธุรกิจอื่นของ QH มากกว่ากำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์ด้วยซ้ำ และก็เช่นเดียวกัน รายได้และกำไรของ QH ก็ค่อนข้างสม่ำเสมอ โดยลดลงบ้างในช่วงเร็ว ๆ นี้จากปัญหาทางเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม ค่า PE ค่า PB และ Dividend Yield ของ QH นั้นถูกกว่าของ LH ที่ต่ำกว่า 10 เท่า 1 เท่า และกว่า 8% ในปีล่าสุด
ตัวที่สามคือหุ้น AP ซึ่งน่าจะเรียกว่าเป็นหุ้น “น้องของ LH” เพราะผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นน้องของเจ้าของ LH แต่ดูเหมือนว่าจะมีการบริหารและอื่น ๆ แยกกันอย่างสิ้นเชิง ผลิตภัณฑ์และผลงานของ AP นั้นค่อนข้างมีความสม่ำเสมอ มีรายได้และกำไรดีและสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับราคาหุ้นที่นิ่งมานานและลดลงตามภาวะอุตสาหกรรมและตลาดหุ้นในช่วงนี้ เช่นเดียวกัน หุ้นมีราคาค่อนข้างถูกคือมีค่า PE PB และ D/P อยู่ที่ 6 0.7 เท่า และ 6.5% ต่อปีตามลำดับ
ตัวที่สี่คือหุ้น PSH หรือพฤกษาซึ่งเป็น “เจ้าแห่งบ้านราคาถูก” และน่าจะขายบ้านมากกว่าทุกบริษัทในประเทศไทยเพราะใช้วิธีสร้างบ้านแบบกึ่งอุตสาหกรรม รายได้และกำไรของบริษัทดีมาตลอดแต่ราคาหุ้นกลับไม่ไปไหนและลดลงมาจาก 2-3 ปีที่แล้วอย่างแรง อาจจะเป็นเพราะคนเริ่มตระหนักว่ากลุ่มบ้านราคาถูกอาจจะไม่โตต่อไปและบริษัทก็หันไปสนใจลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างรายได้สม่ำเสมออย่างโรงพยาบาลที่ต้องใช้เวลายาวนานกว่าจะมีกำไร ผลก็คือ ราคาหุ้นนั้นต่ำมากแต่จ่ายปันผลสูงมากคือมีค่า PE PB D/P ที่ 6 0.7 เท่าและ 10.6% ต่อปีตามลำดับ
ตัวที่ 5 คือหุ้น SPALI นี่คือหุ้นของ “เซียนอสังหาฯรุ่นเก๋า” อีกรายหนึ่งที่อยู่มายาวนานคล้าย ๆ LH ผลงานของบริษัทมีให้เห็น “ทั่วเมือง” มีรายได้และกำไรดีและสม่ำเสมอมากจนน่าทึ่งในขณะที่มีหนี้ค่อนข้างน้อยซึ่งอาจจะแสดงว่าสามารถสร้างและขายได้หมดเร็วไม่มีการสต็อกที่ดินมากหรือขายบ้านช้า ราคาหุ้นนั้นถูกแต่ค่อย ๆ ไหลลงอย่างช้า ๆ มาตลอด 4-5 ปีที่ผ่านมา ค่า PE PB D/P อยู่ที่ 6.4 0.94 เท่า และ 6.1% ต่อปีในปีล่าสุดซึ่งดูเหมือนว่าปันผลจะจ่ายในอัตราน้อยกว่ารายอื่นเมื่อเทียบกับกำไรและราคาหุ้น
ตัวที่ 6 คือหุ้น SIRI “เจ้าแห่งคอนโดหรู” ที่มีผู้ถือหุ้นกระจายมากจนแทบจะเรียกได้ว่า “ไม่มีเจ้าของ” บริษัทค่อนข้างประสบความสำเร็จในเรื่องของผลิตภัณฑ์แต่รายได้และโดยเฉพาะกำไรนั้นไม่ค่อยดีนัก คือกำไรต่อยอดขายดูเหมือนว่าจะต่ำกว่าบริษัทในระดับเดียวกันอานิสงค์จากต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าคู่แข่ง อาจจะเป็นเพราะขายให้คนรายได้สูงมากจึงต้องมีค่าการตลาดที่สูง แม้ว่ารายได้และกำไรอาจจะดูดีมาตลอดแต่ราคาหุ้นกลับถดถอยลงอย่างต่อเนื่องทำให้หุ้นมีราคาถูกสุด ๆ ในช่วงนี้โดยที่ค่า PE PB และ D/P อยู่ที่ 5 0.39 เท่า และ 9.4% ต่อปีตามลำดับ
ตัวที่ 7 คือหุ้น ANAN นี่คือหุ้นของ “คนรุ่นใหม่” ที่เน้นสร้างคอนโดติดรถไฟฟ้า เป็นแนวคอนโดที่มีห้องขนาดเล็กที่สะดวกและจับต้องได้สำหรับผู้บริหารหรือคนมีเงินที่เป็นคนรุ่นใหม่ บริษัทเองก็เพิ่งเข้ามาสู่วงการไม่นานแต่ก็สร้างปรากฏการณ์การขายได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม บริษัทก็เผชิญกับอุปสรรคอยู่เนือง ๆ และทำให้กำไรไม่ค่อยสม่ำเสมอเหมือนผู้เล่นที่อยู่มานานรายอื่น ผลก็คือ ราคาหุ้นไหลลงมาตลอด ภายในเวลา 2-3 ปีหุ้นตกลงมาถึง 70% กลายเป็น “หายนะ” ของผู้ถือหุ้น บริษัทเองนั้นคงเน้นการเติบโตมากจึงมีการก่อหนี้ค่อนข้างมากและนี่ก็อาจจะเป็นจุดที่เสี่ยงเมื่อคำนึงถึงภาวะที่เลวร้ายของอสังหาฯ อย่างไรก็ตาม หุ้นก็มีราคาถูกมาก ค่า PE PB และ D/P เท่ากับ 8 0.34 เท่า และ 6.9% ต่อปีตามลำดับ
ตัวสุดท้ายที่ผมพอมีเนื้อที่ที่จะพูดถึงก็คือหุ้น ORI นี่ก็คือหุ้นที่ใหม่ในวงการแต่โตเร็วมาแรงที่สุดในช่วงหลังนี้โดยอาศัยกลยุทธ์ คือ โตจากชานเมืองเข้ามาในเมือง ยอดขายโตขึ้นมาถึง 4-5 เท่าในเวลาเพียง 3-4 ปี เช่นเดียวกับกำไรที่โตในระดับเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ราคาหุ้นของบริษัทเองนั้น หลังจากที่ปรับตัวขึ้นแบบก้าวกระโดด คือปีเดียวเติบโตขึ้น 6 เท่า อาจจะเพราะคนตื่นเต้นกับการเติบโตในช่วงแรกจนทำให้ค่า PE สูงลิ่วกว่า 20 เท่า หลังจากนั้นหุ้นก็ตกลงมาเรื่อย ๆ จนล่าสุดเหลือเพียง 4.1 เท่า ค่า PB ก็เหลือเพียง 1.3 เท่าจากที่เคยสูงเป็น 10 เท่า และค่า D/P สูงถึงปีละ 9.8% จากที่ไม่ถึง 1% ต่อปี ทั้งหมดนี้ก็คือเมนูให้นักลงทุนได้เลือกซื้อได้อย่างสบายใจในช่วง “Property Grand Sale” ซึ่งเป็นมาหลายปีจนแทบจะเรียกว่า “Low Price...
เศร้า-มืดมน-สิ้นหวัง
โลกในมุมมองของ Value Investor 29 กุมภาพันธ์ 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยตกลงมาหนักมากและน่าจะมากที่สุดในโลกคือดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาจาก 1495 จุดในวันที่ 21 เป็น 1341 จุดในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 63 หรือตกลงมา 155 จุดคิดเป็น ประมาณ 10% และเมื่อคิดจากต้นปี ดัชนีตลาดหุ้นก็ตกลงมาถึง 15% แล้วและก็น่าจะเป็นตลาดหุ้นที่ตกลงมามากที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน ทั้งหมดนี้นักวิเคราะห์บอกว่าเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโลกไวรัสโควิด-19 ที่ดูเหมือนว่ากำลังจะกระจายไปทั่วโลก และเนื่องจากประเทศไทยนั้นอิงกับการท่องเที่ยวมากกว่าประเทศอื่น ตลาดหุ้นของไทยจึงตกมากกว่าประเทศอื่น แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะไม่ได้พูดถึงก็คือ หลายปีที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นหลัก ๆ ของโลกนั้นปรับตัวขึ้นดีกว่าดัชนีตลาดหุ้นของไทยมาก ในช่วงประมาณ 1 ปีที่ผ่านมานั้นดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นเป็น New High หรือจุดสูงสุดในประวัติศาสตร์เป็นว่าเล่น ในขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้นไม่ได้ไปไหนมา 6-7 ปีแล้ว คนที่เล่นหุ้นหรือลงทุนนั้นต่างก็ขาดทุนกันอย่างหนักและรู้สึกเศร้าใจที่เห็นพอร์ตของตนเองลดลงมากในเวลาอันสั้น
การที่ตลาดหุ้นตกลงมาอย่างต่อเนื่องและดูเหมือนว่ากำลังจะตกลงมาอย่างแรงในช่วงเวลานี้นั้น ผมคิดว่ามีเหตุผลมากกว่าเรื่องไวรัสที่แน่นอนว่ามีผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจในระยะเวลาอันสั้น แต่ในที่สุดไวรัสโควิดก็น่าจะผ่านไปเช่นเดียวกับไวรัสตัวอื่น ๆ ที่เคยเกิดขึ้น ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น การตกลงมาของหุ้นก็จะเป็นเรื่องชั่วคราว หลังจากที่โลกสามารถควบคุมมันได้แล้ว ราคาหุ้นของไทยก็จะดีดตัวกลับอย่างแรง การลงทุนซื้อหุ้นที่ตกลงมามากก็อาจจะทำกำไรได้มหาศาล แต่ถ้าการตกต่ำลงของหุ้นไทยมีเหตุผลมาจากเรื่องอื่น ๆ ด้วยและเรื่องเหล่านั้นอาจจะ “ไม่ผ่านไป” หุ้นไทยก็อาจจะไม่ได้ปรับตัวขึ้นโดดเด่นอย่างที่คิดแม้ว่าไวรัสจะสงบลงไปมากแล้วก็ได้
ผมเองได้เคยพูดไว้มากแล้วว่าประเทศไทยมีปัญหาหลายอย่างที่ทำให้เศรษฐกิจจะไม่เติบโตเร็วอีกต่อไปและเป็นเรื่องของโครงสร้างประชากรที่แก่ตัวลงอย่างรวดเร็วที่เรายังไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ ว่าที่จริงยังไม่มีใครคิดจะแก้ปัญหาด้วยซ้ำ ดังนั้น การที่จะหวังผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวที่สูงอย่างในอดีตในตลาดหุ้นไทยนั้นน่าจะยาก อย่างไรก็ตาม การได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมและดีกว่าการลงทุนในทรัพย์สินอื่นเช่น การฝากเงินหรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ก็ยังเป็นไปได้ ผมเองคิดว่าการที่จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยซักปีละ 6-7% แบบทบต้นในตลาดหุ้นไทยในระยะเวลาซัก 10 ปีข้างหน้าก็น่าจะพอใจแล้ว นี่ก็สิ่งที่ผมคิดโดยไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ นอกเหนือไปจากเรื่องของเศรษฐกิจ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีมานี้จนถึงปัจจุบันทำให้ผมรู้สึกว่าอนาคตของประเทศไทยนั้นอาจจะไม่ได้สดใสและรื่นรมย์อย่างที่เราเคยเป็นมา สภาวะแวดล้อมทางสังคมและการเมืองที่ค่อย ๆ เกิดขึ้นหรือเผยออกมานั้นหลายเรื่องรุนแรงและกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนไม่น้อยและดูเหมือนว่าการตระหนักหรือการแก้ไขอย่างจริงจังยังไม่เกิดขึ้น หลาย ๆ อย่างนั้นทำให้ชีวิตของคนจำนวนมากเปลี่ยนแปลงไปในทางที่มีความสุขน้อยลงและมีความเครียดมากขึ้น อนาคตสำหรับหลายคนดูมืดมน คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เราจะไปกันหรืออยู่กันอย่างไร? จิตวิทยาที่คนและสังคมนั้นมักจะต้อง “มีความหวัง” ผมคิดว่าตอนนี้น่าจะลดลง บางคนอาจจะ “สิ้นหวัง” เพราะไม่รู้ว่าเราจะเดินไปทางไหน
เรื่องของสังคมหรือความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันนั้น เริ่มที่เรื่องของฝุ่นละอองในอากาศที่ดูเลวร้ายลงเรื่อย ๆ และดูเหมือนว่าทุกปีก็จะต้องมีช่วงเวลาหนึ่งที่เราต้องหลีกเลี่ยงหรือป้องกันตัวเองจากฝุ่นที่กระจายกันทั่วเมืองและเกือบทั่วประเทศ ผมเองรู้สึกว่าชีวิตในช่วงที่ฝุ่นมาเป็นเวลาอย่างน้อยน่าจะ 2-3 เดือนต่อปีนั้น เป็นชีวิตที่มีความสุขน้อยลงมาก เงินทองที่มีก็อาจจะ “ซื้ออากาศที่สะอาด” ได้บ้าง เช่น เดินทางไปต่างประเทศหรือต่างจังหวัดแต่ก็ทำได้ค่อนข้างจำกัดเพราะทุกคนก็ยังมีภารกิจที่ต้องทำอยู่ บางครั้งผมก็ถามตัวเองว่าเมื่อไรจะมีคนแก้ปัญหาอย่างจริงจัง คำตอบดูเหมือนว่ารอจนถึงฤดูกาลเปลี่ยนเดี๋ยวมันก็หายไปเอง เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ นาน ๆ ไปเดี๋ยวเราก็จะ “ชิน” กันไปเอง
ผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนไม่น้อยผมคิดว่ากำลังกลุ้มใจว่าธุรกิจของตนเองกำลังตกต่ำลงและไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไรเพราะกำลังถูก Disrupt จากเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ตนเองไม่เชี่ยวชาญหรือยังไงก็ต้านธุรกิจขนาดใหญ่รุ่นใหม่ ๆ ไม่ไหว รายได้และกำไรหดหายและบางทีอาจจะใกล้ที่จะไม่สามารถคืนหนี้ได้ พวกเขาจะทำอย่างไร ข่าวการฆ่าตัวตายดูเหมือนจะมากขึ้น จริงอยู่คงมีคนส่วนน้อยที่ทำแบบนั้น แต่คนจำนวนมากที่มีปัญหาคงจะเครียดและก็อาจจะยังไม่เห็นทางออก บางทีเขาอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตที่เคยชินมานาน ที่พูดนี้รวมไปถึงชาวไร่ชาวนาซึ่งก็กำลังเผชิญกับภัยแล้วที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในปีนี้ พวกเขาคงกำลังเหนื่อยหนัก แต่คำปลอบก็คือ ปีหน้าคงไม่แล้งและชีวิตก็จะดีขึ้น นี่ก็เป็นอะไรที่ดูเหมือนว่าจะวนเวียนเป็นวัฎจักรเพราะชาวไร่ชาวนาไทยนั้นชีวิตขึ้นอยู่กับฝนฟ้าเป็นหลัก ความแน่นอนมีน้อยมาก
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เป็นหนุ่มสาวและหลายคนกำลังจะเข้าสู่การทำงานหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย ชีวิตในช่วงเวลานี้ดูเหมือนว่าจะไม่เอื้ออำนวยนัก ธุรกิจที่ต้องใช้คนที่มีการศึกษาสูงจำนวนมากเช่นสถาบันการเงินต่างก็ไม่รับคนเพิ่ม บางแห่งปลดคนออกเนื่องจากธุรกิจซบเซาหรือการทำงานเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากเทคโนโลยี ผลก็คือ หลายคนหางานไม่ได้หรือใช้เวลานานมาก เป็นไปได้ว่าในที่สุดบางคนก็อาจจะต้องทำงานที่ต่ำกว่าวุฒิการศึกษาตลอดกาลเพราะความรู้ที่เรียนมานั้น ไม่จำเป็นอีกต่อไป
ในด้านของการเมืองเองนั้น ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่าคนที่เกี่ยวข้องและสนใจการเมืองต่างก็“เครียด” ที่พบว่าการเมืองของไทยนั้นไม่ได้สร้างระบบที่คนส่วนใหญ่หรือทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์ซึ่งก็คือต่างก็ยอมรับกฎเกณฑ์ที่กำหนดร่วมกันโดยที่ไม่มีคนที่ได้เปรียบหรือเสียเปรียบตลอดกาล ความแตกต่างทางด้านความคิดทางการเมืองของผู้คนนั้นก็ดูเหมือนว่าจะมากขึ้น แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ มีความแตกต่างระหว่างคนหนุ่มสาวหรือคนรุ่นใหม่กับคนสูงอายุที่เป็นคนรุ่นเก่ามากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้เกิดการเรียกร้องที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางและปรัชญาการปกครองไปในทางที่แต่ละกลุ่มต้องการซึ่งไม่เหมือนกัน เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ คนรุ่นใหม่ต้องการสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคมากขึ้นในขณะที่คนรุ่นเก่าต้องการรักษาระเบียบประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิมรวมถึง“ความมั่นคง” ที่เคยเป็นเสาหลักในการปกครองของประเทศมาช้านาน “การต่อสู้ทางการเมือง” ในช่วงนี้สำหรับหลายคนแล้วก็ดูเหมือนว่าเป็น “ความมืดมน” ที่ไม่รู้ว่าจะไปทางไหน ผมเองก็ได้แต่คิดว่า ในที่สุดประเทศก็ต้องเป็นไปตามความคิดของคนรุ่นใหม่เพราะคนรุ่นเก่ายังไงก็จะต้องจากไปตามอายุ แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เราจะต้องประสบกับอะไรบ้างที่อาจจะเลวร้ายและเราไม่ต้องการให้เกิด
ผมยังไม่ได้พูดถึงปัญหาทางเศรษฐกิจเฉพาะหน้าที่คนจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและที่เกี่ยวข้องเป็นล้าน ๆ คนต้องตกงานหรือทำงานน้อยลงเนื่องจากภาวะโรคไวรัสระบาดและความซบเซาทางเศรษฐกิจที่ตามมา ผมคงไม่มีเนื้อที่ที่จะพูดถึง แต่คนเหล่านี้จะอยู่กันอย่างไรเพราะส่วนใหญ่ก็อาจจะมีหนี้เต็มอัตราไม่สามารถกูยืมเพิ่มขึ้นได้ ถ้าหากว่าเชื้อไวรัสไม่สงบลงภายในเวลาไม่กี่เดือน ปัญหาคงตามมาอีกมาก คนที่เศร้า มืดมน และสิ้นหวังอาจจะเพิ่มขึ้นมากจนรับไม่ไหว
ในฐานะของนักลงทุนที่มีชีวิตอยู่มายาวนานพอสมควรและผ่านเหตุการณ์สำคัญและสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปของไทยมาหลายครั้ง ผมคิดว่า เหตุการณ์และสถานการณ์ที่ใกล้เคียงกับครั้งนี้ก็คือช่วงหลังปี 2519 ที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม น่าจะเป็นช่วงที่ประเทศไทยประสบกับความเศร้าและไม่แน่นอนรวมถึงการไม่รู้ว่าอนาคตจะไปทางไหน อย่างไรก็ตาม เราก็ผ่านมาได้เป็นอย่างดีในเวลาที่เร็วกว่าที่คิดมาก ในครั้งนี้ผมเองก็คิดว่าเราก็คงจะต้องผ่านมันไปได้ ผมไม่เคยสิ้นหวังและยังคงถือหุ้นอยู่เต็มร้อยและอยู่ในประเทศไทยต่อไป-จนตาย และผมก็คิดว่าคนหนุ่มสาวทุกคนต่างก็ยังไม่สิ้นหวังที่จะเห็นประเทศไทยที่รุ่งเรือง งดงาม และทุกคนอยู่ได้อย่างมีความสุขอย่างที่เคยเป็นมาหลายสิบปีในยุคของคนรุ่นผม
ลงทุนหุ้นปันผล
โลกในมุมมองของ Value Investor 22 กุมภาพันธ์ 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เวลาที่ตลาดหุ้นตกต่ำลงต่อเนื่องยาวนานอย่างที่เป็นอยู่ในขณะนี้ การลงทุนหรือเล่นหุ้นที่มีลักษณะของการเก็งกำไรร้อนแรงเพื่อหวังจะทำกำไรจากการซื้อขายเร็ว ๆ ดูเหมือนจะยากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่แล้วคนที่เป็นรายย่อยและไม่มีข้อมูลพิเศษหรือไม่ได้เป็นรายใหญ่ที่ซื้อขายมากและมีพลังในการขับเคลื่อนราคาหุ้นมักจะขาดทุน แน่นอนว่าในช่วงสั้น ๆ ก็อาจจะกำไรบ้าง แต่หุ้นอาจจะขึ้นเพียงไม่กี่วันก็ตกกลับลงมาและมักจะต่ำกว่าที่นักลงทุนรายย่อยเข้าไปซื้อ ดังนั้น การเล่นหุ้นเก็งกำไรจึงเป็นกลยุทธ์ที่มักจะไม่ประสบความสำเร็จในช่วงเวลาแบบนี้
การเล่นหุ้น “เติบโต” ซึ่งเป็นกระแสการเล่นหุ้นของนักลงทุนไทยต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงวันนี้เองก็ดูเหมือนว่าจะลำบากขึ้นเรื่อย ๆ ปัญหาก็คือ หาหุ้นเติบโตจริง ๆ ค่อนข้างยากในภาวะที่เศรษฐกิจไม่อำนวย นอกจากนั้น การเติบโตระยะยาวต่อจากนี้ก็น่าจะยากขึ้นอานิสงค์จากการที่ประชากรไทยกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็วเพราะคนเกิดน้อยลง ทำให้ความต้องการสินค้าผู้บริโภคที่ไม่ใช่สินค้าไฮเท็คยุคใหม่น่าจะไม่ค่อยโต ดังนั้น หุ้นเติบโตที่คนเล่นกันในช่วงเวลานี้ก็มักจะเป็นการเติบโตชั่วคราวหรือไม่โตจริง พอราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปซักพักตามผลประกอบการที่ดีขึ้นในช่วงสั้น ๆ ปีสองปีก็ตกลงมาอย่างหนักเมื่อผลประกอบการเริ่มแย่ลงตามภาวะของอุตสาหกรรมหรือปัญหาของบริษัทเอง ดังนั้น กลยุทธ์ลงทุนในหุ้นเติบโตเองก็มีความเสี่ยงและเป็นความเสี่ยงที่รุนแรงเนื่องจากราคาหรือค่า PE ของหุ้นที่สูงลิ่ว
การเล่นหุ้น Defensive หรือหุ้นที่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจน้อยนั้น ในช่วงเวลาแบบนี้ก็ดูเหมือนว่าจะไม่ Defensive จริง เหตุผลสำคัญก็คือ ราคาของหุ้นบางกลุ่มบางตัวเช่นหุ้นในกลุ่มไฟฟ้า พลังงาน หรือสาธารณูปโภคกลับแพงลิ่ว ค่า PE สูงถึงกว่า 50-60 เท่าขึ้นไปก็มี ดังนั้น ในแง่ของหุ้นแล้ว มันไม่ Defensive เลย
ในภาวะที่ทุกอย่างไม่สดใส การคาดหวังผลตอบแทนจากตลาดหุ้นแบบสูง ๆ เกินกว่าปีละ 10% ดูเหมือนว่าจะเป็นไปได้ยาก ประกอบกับผลตอบแทนจากการลงทุนทางเลือกอื่น ๆ โดยเฉพาะการฝากเงินหรือการซื้อหุ้นกู้หรือพันธบัตรตกต่ำลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ผมก็คิดว่านี่คือเวลาที่เราควรหันมามองการลงทุนใน “หุ้นปันผล” ที่พอจะหาได้ในตลาดหุ้นแม้ว่าอัตราการปันผลเทียบกับราคาหุ้นอาจจะไม่ได้สูงมากนัก หุ้นปันผลที่ให้อัตราผลตอบแทนปีละประมาณ4-5% ก็พอจะมีให้ลงทุนและมีจำนวนพอที่จะซื้อหลายตัวเพื่อกระจายความเสี่ยงได้
ก่อนที่จะพูดถึงคุณสมบัติของหุ้นปันผลที่จะลงทุนผมเองอยากจะย้อนประสบการณ์ช่วงตลาดหุ้นเหงาหงอยและไม่มีใครสนใจการลงทุนในหุ้นในช่วงหลังปีวิกฤติ 2540 ที่ผมเริ่มเข้าตลาดหุ้นเต็มตัวและได้เขียนบทความลงในคอลัมน์โลกในมุมมองของ Value Investor ชื่อ “ปันผลเป็นคำตอบสุดท้าย” ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2544 หรือเกือบ 20 ปีมาแล้ว ในบทความนั้นผมได้ยกตัวอย่างหุ้น 12 ตัวซึ่งทั้งหมดยังซื้อขายอยู่ในตลาดหุ้นทุกวันนี้ โดยผลตอบแทนจากปันผลหรือ Dividend Yield เฉลี่ยของ “หุ้นปันผล” 12 ตัว ในขณะนั้นก็คือ 8.23% ต่อปี ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารกำลังลดลงอย่างรวดเร็วเหลือเพียง 2-3 % ต่อปีซึ่งก็เป็นเหตุผลที่ผมแนะนำให้ลงทุนในหุ้นปันผลที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่ามาก ผมคงไม่ต้องบอกว่าถ้าใครลงทุนในหุ้นกลุ่มนั้นและถือยาวมาเรื่อย ๆ จะได้ผลตอบแทนรวมเท่าไร เพราะดัชนีตลาดหุ้นในขณะนั้นคือประมาณ 300 จุด และราคาหุ้นกลุ่มนั้นก็ปรับตัวขึ้นตามดัชนีที่ปรับตัวขึ้นเป็นประมาณ 1,500 จุด หรือ 5 เท่าของเดิม หุ้นยังจ่ายปันผลเกือบทุกตัว แต่ก็ไม่มีหุ้นตัวไหนกลายเป็นซุปเปอร์สต็อก
สำหรับคุณสมบัติของ “หุ้นปันผล” ที่ผมคิดว่าจะปลอดภัยและจะได้ผลตอบแทนที่ดีในวันนี้ก็คือ ข้อแรก มันจะต้องไม่ถูก Disrupt โดยเทคโนโลยีหรือการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีดิจิตอล หรือต้องสามารถอยู่ได้อย่างน้อยในช่วง 10 ปีข้างหน้า ข้อ 2 ) ต้องเป็นบริษัทที่ “สามารถแข่งขันได้” ในอุตสาหกรรมของตนเอง ถ้าเป็นผู้นำด้วยก็ยิ่งดี ข้อ 3) เป็นบริษัทที่อยู่มานานและพิสูจน์แล้วว่าสามารถฝ่าฟันปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ที่เลวร้ายมาหลายรอบแล้ว ข้อ 4) เป็นบริษัทที่มีกำไรที่ดีมา “ตลอด” นั่นคือกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอย่างน้อยเกือบ 8% ต่อปีขึ้นไปและในภาวะปกติก็จะได้กำไรและจ่ายปันผลอย่างสมเหตุผล อาจจะมีบางปีที่ขาดทุนได้แต่ก็ต้องไม่มากและเป็นข้อยกเว้น กำไรของบริษัทต้องค่อนข้างสม่ำเสมอ ความผันผวนไม่สูงเช่น บวกลบไม่เกิน 20% เป็นส่วนใหญ่ ข้อ 5) ฐานะการเงินของบริษัทต้องมั่นคง อัตราส่วนหนี้สินต้องไม่สูงเกินไปหรือเกินกว่าอัตราที่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมเดียวกัน ถ้าไม่มีหนี้ก็ยิ่งดี
ข้อสุดท้าย ราคาหุ้นต้องไม่แพงหรือถ้าจะดีก็คือถูก ถ้าวัดจากค่า PE ก็คือไม่เกินประมาณ 10-15 เท่า วัดจากค่า PB ไม่เกิน 1-3 เท่า วัดจากค่า Market Cap. ที่สมเหตุผลกับตัวธุรกิจและอุตสาหกรรม และที่สำคัญก็คือ ค่า Dividend Yield หรือปันผลเมื่อเทียบกับราคาหุ้นควรจะต้องสูงอย่างน้อย 3-4% ต่อปีขึ้นไป ถ้าสูงถึง 5-6% ขึ้นไปได้ก็ยิ่งดี อย่างไรก็ตาม ในประเด็นของข้อนี้ การพิจารณาอาจจะไม่ได้ดูเพียงปีเดียว แต่ควรจะดูย้อนหลังไป 4-5 ปี เพื่อที่จะเห็นว่าหุ้นมีคุณสมบัติแบบนี้จริง นอกจากนั้น ในกรณีที่ปีนี้บริษัทหรือหุ้นอาจจะมีปัญหาบางอย่างแต่ถ้าดูแล้วในที่สุดหรือปีหน้าบริษัทก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิม แบบนี้ก็อาจจะยังถือว่าบริษัทเป็น “หุ้นปันผล” ที่จะให้ผลตอบแทนที่เป็นปันผลที่ดีได้
เมื่อตัดสินใจลงทุนในหุ้นปันผลแล้ว สิ่งที่จะต้องทำก็คือการติดตามเรื่องของความแข็งแกร่งของบริษัทที่จะยังสามารถรักษากำไรในระดับที่เพียงพอที่จะจ่ายปันผลได้ตามที่คาดในระยะยาว แน่นอนว่าเราอยากเห็นผลประกอบการที่ดีขึ้นแต่ไม่ควรคาดหวังเพราะอาจจะทำให้เราเสียใจได้ เช่นเดียวกัน การติดตามเรื่องของเทคโนโลยีที่อาจจะ Disrupt กิจการของบริษัทก็ยังต้องทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะนี่คือสิ่งที่จะอยู่กับโลกเราตลอดไป และว่าที่จริงทุกธุรกิจในปัจจุบันนั้นมีความเสี่ยงทั้งสิ้นที่จะถูกทำลายโดยแนวคิดใหม่ ดังนั้น ทุกบริษัทและนักลงทุนก็ต้องระแวดระวังและปรับตนเองให้แข่งขันได้
การติดตามในเรื่องของราคาหุ้นนั้น น่าจะเป็นเรื่องปกติและเราสามารถติดตามได้ทุกวันหรือทุกนาที แต่สำหรับการลงทุนในหุ้นปันผลนั้น เรื่องราคาจะต้องไม่ใช่เรื่องที่เราควรจะจดจ่อกับมันมากนัก เพราะวัตถุประสงค์ตั้งแต่แรกของเราก็คือ เราหวังว่าจะได้ “ปันผลตอบแทน” ปีละครั้งหรือสองครั้งหรือมากกว่านั้น ดังนั้น สิ่งที่เราสนใจมากพอ ๆ กันก็คือ ปันผลเราจะได้ไหมเมื่อถึงเวลาและเราจะได้เพิ่มขึ้นไปอีกในปีต่อไปหรือไม่ ซึ่งสิ่งที่จะทำให้ได้ปันผลและได้เพิ่มไปเรื่อย ๆ ก็คือกำไรของบริษัทที่เพิ่มขึ้น หรือไม่ก็มีการซื้อหุ้นคืนเพื่อลดจำนวนหุ้นและทำให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มและปันผลต่อหุ้นเพิ่มตาม ดังนั้น ราคาหุ้นในระยะสั้นวันต่อวันที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงนั้น เราก็ไม่ควรจะสนใจมาก เพราะในที่สุดแล้วถ้าปันผลเพิ่มขึ้น ในระยะยาวราคาหุ้นก็มักจะเพิ่มขึ้น เราไม่ต้องกังวลหรือไปลุ้นกับราคาหุ้น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ปันผลที่มาเป็นกอบเป็นกำนั้น สามารถเพิ่มมูลค่าพอร์ตหรือความมั่งคั่งของเราเท่า ๆ กับราคาหุ้นที่ขึ้นไปเช่นเดียวกัน สำหรับหุ้นหลาย ๆ ตัวแล้ว ปันผลที่ได้รับนั้นคุ้มค่ามากจนไม่จำเป็นที่ราคาหุ้นจะต้องขึ้นเลย เพราะปันผลที่ได้รับอาจจะเกิน 7-8% ต่อปี ซึ่งถือว่าดีมากเมื่อเทียบกับผลตอบแทนของตลาดหุ้นหรือการลงทุนทางเลือกอื่น ๆ