แท็ก: ดร.นิเวศน์ #บทความ
ถึงคิวหุ้นอสังหาริมทรัพย์?
โลกในมุมมองของ Value Investor 22 ตุลาคม 64
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
การประกาศผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ของแบ้งค์ชาติให้คนสามารถกู้เงินเต็ม 100% ของราคาบ้านได้จากเดิมที่กู้ได้ตั้งแต่ 70-90% ทำให้หุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เน้นการสร้างบ้านหรือคอนโดขายปรับตัวขึ้นกันจำนวนมากโดยเฉพาะบริษัทที่เป็นผู้นำและมีขนาดใหญ่ ปรากฏการณ์ครั้งนี้เป็นสิ่งที่น่าจับตามองสำหรับนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่แทบจะเลิกสนใจในหุ้นกลุ่มนี้มานานมากแล้วเพราะมันเป็นหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ “อิ่มตัว” ยอดขายทั้งอุตสาหกรรมน่าจะไม่เพิ่มมาหลายปีและน่าจะลดลงไปเรื่อย ๆ อย่างช้า ๆ ในอนาคต บริษัทจดทะเบียนต่างก็มียอดขาย “เท่าเดิม” มาไม่น้อยกว่า...
เติบโตตลอดชีวิต
คนที่รับราชการหลายคนที่อายุครบ 60 ปี พอถึงวันที่ 30 กันยายน ก็จะต้องเกษียณอายุ และถ้าไม่ได้มีกิจการหรือกิจกรรมอื่น ๆ รองรับ เขาก็มักจะไม่ต้องทำอะไรเป็นเรื่องเป็นราวอีกต่อไป แต่ส่วนใหญ่ก็น่าจะสามารถมีชีวิตต่อไปอย่างสะดวกสบายไม่ได้ลำบากอะไรนักเพราะมีรายได้จากบำเหน็จบำนาญหรือเงินก้อนโตจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่น่าจะเพียงพอที่จะใช้จ่ายไปตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม “ชีวิต” ในมิติหลาย ๆ ด้านซึ่งรวมไปถึงความสุขหรือความก้าวหน้าที่ดำเนินมาตลอดหลายสิบปีก็อาจจะหยุดไปด้วย ถ้าเป็นในสมัยก่อนที่อายุขัยของคนไทยยังไม่สูง อายุ 60-70 ปีก็ตายแล้ว การเกษียณสำหรับหลายคนก็คือการ “นับถอยหลัง” นี่เป็นอะไรที่ผมคิดว่าเป็นเรื่องน่าเศร้า ...
2 พส. กับ Air War
โลกในมุมมองของ Value Investor 11 กันยายน 64
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ปรากฏการณ์พระ 2 รูปคือพระมหาไพรวัลย์กับพระมหาสมปอง ไลฟ์สดในเฟซบุค ที่มีผู้เข้าไปชมสดกว่า 2 แสนคนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วและก่อให้เกิด “แรงกระเพื่อม” ไปในแวดวงสังคมและการเมืองเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ การโต้แย้งถึงความเหมาะสมของการ “สนทนาธรรม” ของพระสงฆ์ที่สังคมและการเมืองของฝ่าย “อนุรักษ์นิยม” เห็นว่าอาจจะไม่สำรวมพอเพราะเป็นการสนทนาที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและความสนุกสนานแทนที่จะเป็นเรื่องของการสอนธรรมะที่จะต้องจริงจังและเคร่งเครียด ในขณะที่ฝ่ายคนที่เห็นด้วยนั้นมักเป็นคนรุ่นใหม่หรือฝ่าย “เสรีนิยม” ที่มองว่าวิธีการพูดคุยแบบนี้เป็นวิธีที่จะดึงคนในปัจจุบันที่อาจจะไม่สนใจฟังธรรมะแล้วโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่นับวันจะเลิกสนใจในเรื่องของคำสอนทางศาสนามากขึ้นทุกที ...
สายย่อ ไม่รอเก้อ
จากบทสัมภาษณ์ FM 96.5 รู้ใช้เข้าใจเงินวันนี้อ.ดร.นิเวศน์ให้มุมมองต่อหุ้นเวียดนามวันนี้ว่า
ถ้าดูภาพเล็กสถานการณ์อาจดูรุนแรง แต่ผมดูภาพใหญ่ ระยะยาว ภาพเล็กเหมือนกับคลื่นซัดเข้ามา แต่ว่าสุดท้ายมันจบที่ภาพใหญ่
ภาพใหญ่ของโควิดเป็นภาพระดับโลก ไม่สามารถแก้ได้ด้วยประเทศใดประเทศหนึ่ง
ตอนนี้ระดับโลกอาจไม่ Peak แต่ Peak ในไทย (ในเวียดนาม)
ประเด็นตอนนี้คนหลีกเลี่ยงกันว่าจะไม่เป็นที่โหล่ ยังไงก็จบ แต่ถ้าจบช้าสุดจะ suffer หนักสุด ขากลับจะยาก
วันนี้ผมดูตลาดเวียดนามตกใจ ลงไป 3% ช่วงนี้ลงหนักมากเลย
เหลือ 1,200 กว่า...
ยุคสมัยของนักลงทุนไทย
โลกในมุมมองของ Value Investor 12 มิถุนายน 64
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ตั้งแต่ปี 2518 ที่มีการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาจนถึงวันนี้เป็นเวลา 46 ปี Profile หรือคุณสมบัติโดยทั่วไปของนักลงทุนไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก ส่วนตัวผมเองนั้น แม้ว่าจะเพิ่งเริ่มลงทุนอย่างจริงจังประมาณปี 2538-39 หรือ 26 ปีมาแล้วแต่ก็ได้เห็นและรับรู้ถึงความเป็นไปของนักลงทุนในตลาดหุ้นมาโดยตลอด ส่วนหนึ่งเพราะเริ่มเข้าทำงานในแวดวงการเงินที่เกี่ยวกับ “ตลาดทุน” ตั้งแต่ปี...
Fair Company at Wonderful Price
โลกในมุมมองของ Value Investor 12 ก.ย. 63
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวว่าบัฟเฟตต์ได้เข้าซื้อหุ้นในตลาดหุ้นของญี่ปุ่นพร้อมกัน 5 ตัวคือ หุ้นอิโตชู มารูเบนนี มิตซูบิชิ มิตซุยและสุมิโตโม ทั้ง 5 บริษัทเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านการค้าของญี่ปุ่นที่ก่อตั้งมานานเฉลี่ยแล้วน่าจะเป็นหลัก100 ปีขึ้นไป ตั้งแต่ญี่ปุ่นเริ่มพัฒนาเป็นประเทศสมัยใหม่จนถึงปัจจุบันที่กลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วและเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ทั้งหมดนี้ แม้ว่าจะเป็นบริษัท “ยุคเก่า” แต่ก็ยังเป็นบริษัท “ยักษ์ใหญ่” ที่มียอดขายมากกว่าปีละ 1 ล้านล้านบาท และครอบคลุมการค้าขายระหว่างประเทศของญี่ปุ่นเกือบทั้งหมดและก็ยังน่าจะเป็นอย่างนั้นต่อไปตราบที่ญี่ปุ่นยังเป็นเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ของโลกอยู่โดยที่เทคโนโลยี่ดิจิตอลไม่สามารถที่จะทำลายมันได้
ลักษณะการซื้อของบัฟเฟตต์ในครั้งนี้ดูเหมือนว่าจะแตกต่างจากที่เคยทำมาตลอดในชีวิตการลงทุนของเขานั่นก็คือ เป็นการ “กวาดซื้อ” หุ้นหลาย ๆ ตัวที่มีคุณสมบัติเกือบจะเหมือนกันหมดนั่นก็คือมันเป็นหุ้นที่ “ถูกมาก” และเป็น “ตัวแทน” ของบริษัทหรือเศรษฐกิจญี่ปุ่น...
สัญญาณเศรษฐกิจถดถอย
โลกในมุมมองของ Value Investor 22 สิงหาคม 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เมื่อสองสามวันก่อนผมได้เริ่มขับรถส่วนตัวไปร่วมสังสรรค์กับเพื่อนกลุ่มนักลงทุน VI ในช่วงเย็นอีกครั้งหลังจากหยุดกิจกรรมที่เคยทำทุกไตรมาศมานานนับสิบปีหลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเมื่อ 5-6 เดือนก่อน ผมเองไม่ได้ขับรถช่วงเย็นที่เป็นช่วงเร่งด่วนแบบนี้มานานแต่ก็จำได้ว่าในอดีตนั้น เส้นทางที่ผมใช้คือทางด่วนที่ลงถนนพระราม 4 แถวคลองเตยแล้ววิ่งตรงไปทางกล้วยน้ำไทยนั้น เป็นช่วงที่รถติดหนักมาก แต่การขับรถครั้งนี้ปรากฏว่ารถกลับไม่ติดเลยแม้ว่าจำนวนรถอาจจะยังมากอยู่ ในความรู้สึกของผมก็คือ หลังจากโควิด19ในประเทศไทยสงบลงและเราเปิดธุรกิจในประเทศเกือบทั้งหมดแล้ว กิจกรรมของคนที่ต้องเดินทางประจำวันน้อยลงจนเห็นได้ชัดจากการจราจร จริงอยู่ บางคนอาจจะบ่นว่ารถกลับมา “ติดเหมือนเดิมแล้ว” แต่นั่นคงเป็นบางจุดหรือถนนบางสายและก็อาจจะเป็นบางช่วงเวลา ตัวอย่างเช่นในวันหยุดยาวที่คนเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในบางเส้นทาง หรือในถนนบางสายเช่นแถวศรีนครินทร์ที่มีการสร้างรถไฟฟ้า เป็นต้น แต่เส้นทางที่ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงเช่นเส้นทางในศูนย์กลางของกรุงเทพ ผมคิดว่ารถน้อยลงชัดเจน ตัวอย่างที่ผมเห็นทุกวันก็คือถนนรางน้ำหน้าบ้านผมที่เคยเป็นแหล่งพักของนักท่องเที่ยวชาวจีน ที่ตอนนี้ “โล่งตลอด” นี่ก็เป็นสัญญาณสำคัญที่บอกว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังถดถอยลง “อย่างแรง”
จำนวนคนเดินห้างก็เป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บอกว่าเศรษฐกิจกำลังซบเซา หลายคนอาจจะเถียงว่าห้างใหญ่หลาย ๆ แห่งโดยเฉพาะที่อยู่ที่ “ขอบของกรุงเทพ” ที่ตนเองเดินประจำนั้น คนก็กลับมา “เหมือนเดิม” แล้ว หาที่จอดรถไม่ได้และ “คนแน่นยังกับแจกฟรี” แต่นั่นก็อาจจะเป็น “ความรู้สึก” ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ห้างเหงามานานและก็อาจจะเป็นเฉพาะในวันหยุด วันธรรมดาที่เขาไม่ได้ไปนั้นคนอาจจะว่างมาก ผมเองเดินและจ่ายตลาดห้างหรูแถวสยามที่เป็นแหล่งสำคัญของนักท่องเที่ยวต่างประเทศแทบทุกสัปดาห์ ผมยืนยันว่าห้างยังเหงามีคนเดินน้อยกว่าเดิมมาก ซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ผมจ่ายสินค้าประจำวันนั้น ในอดีตจะมีคิวจ่ายเงินยาว เดี๋ยวนี้บางวันแทบไม่มีคิวเลย นี่ก็เป็นสัญญาณว่าคนไทยน่าจะใช้จ่ายน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะในสินค้าที่ไม่จำเป็นและ/หรือสินค้าที่ใช้จ่ายโดยนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ
ที่น่าประหลาดใจเล็กน้อยที่ผมเห็นก็คือ สินค้าหรูหราและมีราคาสูงมากอย่างเช่น ร้านที่ขายสินค้าเครื่องแต่งกาย“ซุปเปอร์แบรนด์” หลายร้านนั้นมีคน “เข้าคิว” รอเข้าไปชมและซื้อสินค้าอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงก่อนโควิด19 แล้ว ราคาสินค้าของร้านเหล่านี้ไม่ได้มีการ “ลดราคากระหน่ำ” เพื่อเรียกลูกค้า ว่าที่จริงบางร้าน “ขึ้นราคา” สินค้าที่เคยขายด้วยซ้ำ นี่ทำให้ผมสรุปว่า คนที่มีฐานะมั่งคั่งสูงในสังคมไทยนั้น ไม่ได้ถูกกระทบมากจนต้องลดการใช้จ่ายลงเลย พวกเขาใช้จ่ายเหมือนเดิม และตอนนี้เนื่องจากว่าไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ เขาจึงใช้จ่ายในประเทศไทยแทน และนี่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกันในต่างประเทศ ตัวอย่างเช่นในจีนที่ตอนนี้มีข่าวออกมาแล้วว่าสินค้าซุปเปอร์แบรนด์ขายดีขึ้นมากกว่าเดิมก่อนโควิด19 ด้วยซ้ำ
นอกจากเรื่องของสินค้าเครื่องแต่งกายหรูแล้ว บ้านหรูในช่วงหลังโควิดก็ดูเหมือนว่าจะขายดีขึ้นโดยเปรียบเทียบกับบ้านที่ขายคนส่วนใหญ่ทั่วไป ว่าที่จริงแม้แต่ในช่วงที่ยังปิดเมืองกันอยู่ก็มีสัญญาณแล้วว่าคนมาดูและซื้อบ้านหรูมากขึ้น นั่นแสดงว่าคน “ซุปเปอร์ริช” หรือคนรวยจัดนั้นไม่ได้ถูกระทบมากจากวิกฤติและยังซื้อสินค้าหรูและมีราคาแพงเหมือนเดิม นี่ก็พอจะเห็นได้จากการที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ขายบ้านหรูทำผลงานในไตรมาศ 2ได้ดีกว่าบริษัทที่เน้นบ้านราคาต่ำหรือระดับกลางที่ถูกกระทบอย่างแรง
บ้านมวลชนนั้นอาจจะขายได้น้อยลง แต่ธุรกิจพวกวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างหลายแห่งอาจจะคุยว่ายอดขายไม่ตกในช่วงปิดโควิด นี่อาจจะเป็นเรื่องจริง แต่ก็ต้องระวังว่าสินค้าเหล่านี้มี Lag Time หรือเป็นสินค้าที่เมื่อเศรษฐกิจวิกฤติทันทีนั้น ความต้องการของสินค้ายังมีอยู่เหมือนเดิมเนื่องจากบ้านที่เริ่มสร้างแล้วก็จะต้องสร้างต่อไปจนจบถ้าเจ้าของยังมีกำลังอยู่ ผมเองก็กำลังสร้างเหมือนกันและพบว่างานก่อสร้างนั้นไม่เคยหยุดเลยในช่วงโควิด19 ดูเหมือนว่ามันจะเร็วขึ้นด้วยซ้ำเพราะคนงานไม่ขาดเหมือนในช่วงปกติ สิ่งที่ต้องระวังก็คือ หลังจากนี้เมื่องานเริ่มเสร็จ และงานใหม่ก็ไม่เข้ามาเนื่องจากความต้องการบ้านหรืออาคารต่าง ๆ น้อยลง ธุรกิจก่อสร้างก็อาจจะเห็นยอดขายหดตัวอย่างแรงได้
การตกต่ำลงของเศรษฐกิจนั้น ผมคิดว่าสาเหตุหลักก็มาจากการที่ธุรกิจท่องเที่ยว การเดินทางและกิจกรรมที่คนต้องเข้ามาอยู่ใกล้ชิดกันต้องหยุดลงเกือบจะสิ้นเชิง นั่นทำให้คนจำนวนมากนับล้าน ๆ คนต้องตกงานทันที พวกเขาต้องลดการบริโภคลง ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วงไตรมาศ 2 และเราต่างก็คิดว่าหลังจากนั้นเศรษฐกิจก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็ว ไตรมาศ 2 น่าจะต่ำสุดและช่วงต่อจากนี้ความเจ็บปวดก็น่าจะน้อยลง อย่างไรก็ตาม ผมก็ค่อนข้างประหลาดใจเมื่อได้ข่าวว่าลูกสาวเพื่อนที่ทำงานเป็นแอร์โฮสเตทของสายการบินระดับท็อป ๆ ของโลกแห่งหนึ่งถูกปลดแบบ “ฟ้าผ่า” หลังจากที่หยุดไม่ได้ทำงานมาหลายเดือนแล้วและกำลังหวังว่าจะกลับไปทำงานเนื่องจากสายการบินเริ่มจะกลับมาบินใหม่ในบางเส้นทาง เหตุการณ์นี้ทำให้ผมคิดว่า ในช่วงไตรมาศ 2 นั้น บริษัทหรือธุรกิจบางแห่งก็ยังพยายามรักษาคนงานไว้ แต่พอถึงวันนี้เขาก็รับกับค่าใช้จ่ายไม่ไหวและต้องปลดคนออกไป ช่วงเวลาเดียวกันรัฐบาลก็ช่วยเรื่องค่าใช้จ่ายแก่คนจำนวนมากเดือนละ 5,000 บาทจนสิ้นเดือนสิงหาคม ในอีกด้านหนึ่งแบ้งค์ชาติก็ยอมให้ลูกหนี้จำนวนมากพักการชำระเงินจนถึงเดือนกันยายน ทั้งหมดนี้ถ้าไม่ได้รับการต่ออายุอะไรจะเกิดขึ้น? ผมเองคิดว่าเศรษฐกิจคงไม่เลวร้ายลงกว่าไตรมาศ 2 แต่จะดีขึ้นอย่างรวดเร็วผมก็ยังสงสัย
กลับมาเรื่องของการลงทุนบ้าง ในที่ประชุมสังสรรค์เพื่อน VI นั้น ทุกครั้งเราก็จะมีการ “เลือกหุ้น” ที่จะทำผลงานได้ดีใน 3 เดือนข้างหน้า โดยที่ทุกคนจะต้องเลือกหุ้นที่ตนเองชอบ ส่วนใหญ่ก็คนละ 2-3 ตัว พอพบกันอีกในไตรมาศหน้าก็จะมาดูว่าใครได้ผลตอบแทนเท่าไร นี่ก็เป็นกิจกรรมเล่น ๆ ที่ไม่ได้ซีเรียสหรือแข่งขันอะไรกันแต่ทุกคนก็มักจะเลือกในสิ่งที่ตนเองลงทุนจริง ๆ อยู่แล้ว ผลการเลือกในครั้งนี้มีการเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัดจากครั้งหลัง ๆ นั่นก็คือ ในช่วงน่าจะ 2-3 ปีมาแล้ว VI กลุ่มนี้มักจะเลือกหุ้นเวียตนามมากกว่าหุ้นไทย หุ้นไทยที่ถูกเลือกนั้นน้อยลงมาก ส่วนหนึ่งเพราะพวกเขาได้หันไปลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามมากขึ้น บางคนโดยเฉพาะที่เป็นชาวต่างชาตินั้นไม่ได้ลงทุนในตลาดหุ้นไทยอีกแล้ว แต่ในครั้งนี้ปรากฏว่าจำนวนหุ้นที่ถูกเลือกกลับกลายเป็นหุ้นไทยเป็นส่วนใหญ่ นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าโควิดน่าจะทำให้หุ้นไทยบางกลุ่มหรือบางตัวมีความน่าสนใจมากขึ้นจน VI บางคนที่เคยทิ้งตลาดไปนั้นหันกลับมาลงทุนมากขึ้น
ความสนใจในหุ้นของคนไทยเองนั้น ผมคิดว่าเกิดขึ้นกับคนทั่วไปด้วยเห็นได้จากจำนวนนักลงทุนหน้าใหม่ที่เพิ่มขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัดในช่วงโควิด19 นี่ก็เป็นอะไรที่แปลกเหมือนกัน เหตุผลนั้นผมคิดว่า ประการแรก เป็นเพราะคนที่มีฐานะดีและมีเงินสดอยู่มากนั้นไม่ได้ถูกกระทบจากโควิด พวกเขาคิดว่าการลงทุนในตลาดหุ้นที่ตกลงมานั้นเป็นโอกาสงดงามที่จะทำกำไรอย่างง่าย ๆ เมื่อเทียบกับการฝากเงินที่ให้ผลตอบแทนต่ำมาก ประการต่อมาก็คือ พวกเขาคิดว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่จะถูกกระทบนั้น น่าจะเกิดขึ้นครั้งเดียว หลังวิกฤติแล้วทุกอย่างก็จะกลับมาภายใน 1-2 ปีหรืออย่างมากก็อาจจะ 3 ปี เรื่องที่บริษัทจะ “ล่มสลาย” หรือล้มละลายไปนั้นไม่น่าจะเกิดขึ้น เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ สภาพคล่องในระบบการเงินของไทยยังมีเหลือล้น ตราสารหนี้ที่ออกมาก็ยังมีคนต้องการอีกมาก เมื่อโควิดผ่านไปและลูกค้ากลับมา รายได้และกำไรของบริษัทก็จะกลับมา “เหมือนเดิม” และสุดท้ายก็คือ ตลาดหุ้นต่างประเทศเช่นในสหรัฐอเมริกานั้น ดัชนีหุ้นกลับมาที่เดิมและสูงกว่าแล้ว และผลประกอบการของบริษัทโดยเฉพาะในกลุ่มไฮเท็คนั้นก็เพิ่มขึ้นมาก ดังนั้น เขาเชื่อว่าในที่สุดบริษัทและหุ้นไทยก็จะต้องตามกันไป
ข้อสรุปทั้งหมดของผมก็คือ ภาวะเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนต่อจากนี้น่าจะยังลำบากอยู่มาก โอกาสฟื้นตัวน่าจะเป็นไปอย่างช้า ๆ แต่หุ้นที่ตกลงไปแรงมากกลับฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็วด้วยเม็ดเงินของคนไทยและนักลงทุนไทยซึ่งยังมีเงินมากและไม่ถูกกระทบจากภาวะเศรษฐกิจมากนัก อย่างไรก็ตาม เมื่อความจริงเริ่มจะปรากฏออกมาเรื่อย ๆ ก็อาจจะมีความเสี่ยงว่า นักลงทุนจะเริ่มตระหนักและถอนเงินออก และวันนั้นก็อาจจะเป็นวันที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงมาให้เหมาะสมกับพื้นฐานที่แท้จริงของตลาดหุ้นไทย
Corner หุ้น IPO
โลกในมุมมองของ Value Investor 8 สิงหาคม 63
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
“วัฏจักร์” ของตลาดหุ้นอย่างหนึ่งที่มักจะเกิดขึ้นบ่อย ๆ ในประวัติศาสตร์ก็คือ เมื่อตลาดหรือดัชนีตกต่ำลงมาถึงจุดหนึ่ง มันก็จะปรับตัวขึ้น ตอนเริ่มต้นก็จะไปอย่างช้า ๆ และนำด้วยหุ้นขนาดใหญ่ที่มีพื้นฐานดีและมีกำไรที่กำลังจะฟื้นตัวดีขึ้น ต่อมาเมื่อดัชนีปรับตัวขึ้นถึงจุดหนึ่ง หุ้นขนาดกลางก็จะเริ่มปรับตัวขึ้นและจะปรับตัวขึ้นแรงกว่าหุ้นขนาดใหญ่ที่มักจะ “อุ้ยอ้าย” และโตช้ากว่า และหลังจากที่หุ้นขนาดกลางปรับตัวขึ้นไปมากและกระจายตัวออกไปก็จะมาถึงคิวหุ้นตัวเล็กที่เริ่มเห็นว่ากิจการจะมีกำไรดีขึ้นเนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจที่น่าจะดูดีขึ้นอย่างมั่นคงแล้ว ในขณะนี้ นักลงทุนส่วนบุคคลรายย่อยก็จะเริ่มเข้ามาเก็งกำไรซื้อขายหุ้นกันเป็นจำนวนมากเนื่องจากได้รับข่าวสารที่ว่าตลาดหุ้นทำเงินให้นักลงทุนจำนวนมาก การลงทุนสามารถ “สร้างเศรษฐี” ให้กับนักเล่นหุ้นเป็นกอบเป็นกำ
ความร้อนแรงของตลาดหุ้นหรือดัชนีหุ้นเมื่อวิ่งขึ้นถึงจุดหนึ่ง หุ้นทั้งหมด เฉพาะอย่างยิ่งหุ้นตัวเล็กก็จะแพงจนเริ่มมีคนขายหุ้นทำให้หุ้นเริ่มหยุดวิ่ง ข่าวดี ๆ ที่จะขับเคลื่อนหุ้นเริ่มหมด ณ. เวลานี้ก็ถึงคิว หุ้น “IPO” หรือหุ้นที่เพิ่งเข้าตลาดหุ้นครั้งแรกโดยเฉพาะที่เป็นหุ้นขนาดเล็ก หุ้นเหล่านี้ถูกนำมาขายโดย “Underwriter” และที่ปรึกษาทางการเงินที่จะประเมินราคาหุ้นโดยอิงจากผลประกอบการของบริษัทที่มักจะมีตัวเลขที่น่าเชื่อถือเพียงไม่กี่ปีหรือบางทีแค่ปีหรือสองปี โดยที่ปีสุดท้ายก่อนเข้าตลาดก็จะเป็นปีที่มักจะดีกว่าปกติ บ่อยครั้งก็จะเป็นปีที่ผลประกอบการ “ก้าวกระโดด” วาณิชธนากรก็จะใช้ตัวเลขนี้และประมาณการต่อไปข้างหน้าที่มักจะเติบโตสูงกว่าอดีตมาก หลังจากนั้นพวกเขาก็จะ “ตีมูลค่า” โดยใช้ตัวเลขเช่น ค่า PE ที่มักจะอิงจากค่า PE ของอุตสาหกรรม คูณด้วยตัวเลขกำไรของบริษัท จากนั้นก็จะมีการ “Discount” หรือปรับลดราคาลงมาซัก 10-15% เพื่อที่จะแสดงให้นักลงทุนเห็นว่าจะได้ซื้อหุ้นถูกลงซึ่งจะทำให้“มีกำไร” เมื่อหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์
จากสถิติที่มีการศึกษาโดยเฉพาะหุ้นในตลาดของอเมริกานั้น ดูเหมือนว่าหุ้น IPO นั้นจะถูกตั้งราคาที่ “แพงเกินไป” เพราะหลังจากที่หุ้นเข้าซื้อขายในตลาดนานพอสมควรเช่น 1 ปีหลังจากซื้อขายวันแรก ราคาหุ้นมักจะต่ำกว่าราคาจองเป็นส่วนใหญ่ จนผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ในแวดวงของตลาดหุ้น ชอบพูดประชดหุ้น IPO ว่าไม่ใช่มาจากคำย่อว่า “Initial Public Offering” แต่เป็น “It’s Probably Overpriced” หรือแปลว่า “ราคาหุ้นคงจะแพงเกินไป” เหตุผลก็คงเป็นเพราะว่า IPO นั้นมักจะเกิดขึ้นมากตอนหุ้นในตลาดโดยรวมร้อนแรงและราคาหุ้นส่วนใหญ่ก็มักจะแพงเกินไปอยู่แล้ว ดังนั้นหุ้น IPO ก็มักจะต้องแพงตามและแพงกว่า เนื่องจากทุกคนต้องการมันและที่ปรึกษาและเจ้าของหุ้นต่างก็มักจะมองโลกในแง่ดีและเชื่อในผลประกอบการที่มักจะสดใสกว่าความเป็นจริง
ในตลาดหุ้นไทยเองนั้น IPO ยังเป็นหุ้นที่นักเล่นหุ้นส่วนบุคคลชอบมากเนื่องจากมันสามารถเป็นเครื่องมือของการ“เก็งกำไร” ที่ทรงประสิทธิภาพเพราะว่าราคาหุ้นจะมีความผันผวนสูงกว่าหุ้นที่อยู่ในตลาดมานานแล้วมาก ราคาที่เข้าซื้อขายหุ้นในวันแรกนั้นอาจจะแตกต่างจากราคาจองเป็นหลายสิบเปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องปกติ ในประวัติศาสตร์เองนั้น หุ้นบางตัวขึ้นไปถึง 200% หรือชนเพดานก็มีอยู่บ่อย ๆ ในทางตรงกันข้าม เวลาที่เกิดการขาดทุนนั้น กลับมีการขาดทุนไม่มาก แค่ 10-20% ก็ถือว่ามากแล้ว เหตุผลก็เพราะว่า “ไม่มีใครมีต้นทุนต่ำกว่าราคาจอง” ยกเว้นแต่ผู้ถือหุ้นเดิมหรือเจ้าของที่หุ้นมักจะถูก “ล็อก”เอาไว้ไม่ให้ขายในช่วงเวลาหนึ่งหลังหุ้นเข้าตลาด ดังนั้น การจองซื้อหุ้น IPO รวมถึงการเล่นหุ้นในช่วงวันแรก ๆ ที่เข้าตลาดหุ้นจึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนส่วนบุคคลชอบมาก หลายคนอาจจะไม่สนใจเรื่องของพื้นฐานและ “ราคาหุ้นที่เหมาะสม” เกือบทุกคนเข้ามาเล่น “เก็งกำไร” ซึ่งทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้น IPO ในช่วงแรก ๆ ของการเข้าตลาดหุ้นสูงแบบมโหฬาร และราคาหุ้นบ่อยครั้งก็ขึ้นแบบไม่น่าเชื่อ
แต่ไม่ใช่หุ้น IPO ทุกตัวจะประสบความสำเร็จ การคาดการณ์ว่าหุ้นตัวไหนจะ “วิ่งระเบิด” นั้นผมคิดว่าน่าจะต้องมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเก็งกำไรมากกว่าพื้นฐานที่แท้จริงของกิจการและความถูกแพงของราคาหุ้น ซึ่งผมจะลองเสนอเป็นข้อ ๆ ดังต่อไปนี้
ข้อแรกก็คือ หุ้น IPO ที่จะประสบความสำเร็จมักจะอยู่ในอุตสาหกรรม “แห่งอนาคต” เฉพาะอย่างยิ่งเป็นอุตสาหกรรม“ไฮเท็ค” หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับ “ดิจิตอล” หรืออุตสาหกรรมที่เป็น “เมกาเทรนด์” อื่น ๆ ที่คนเชื่อว่าจะเติบโตได้อย่างรวดเร็วและต่อไปได้อีกนาน และโดยที่นักเล่นหุ้นทั่วไปนั้นมักจะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องของเทคโนโลยีมากนัก ดังนั้น หุ้น IPO ที่จะเข้าตลาดก็จะต้องมีชื่อที่คนฟังแล้วจะเกิดความมั่นใจว่านี่คือบริษัทที่ “ใช่เลย” เพราะมีคำที่เกี่ยวกับ“เทคโลยีใหม่ระดับโลก” หรือมาจากแหล่งที่เป็น “ศูนย์กลางของเทคโนโลยีระดับโลก” และที่สำคัญก็คือ บริษัทมีการซื้อขายสินค้ากับบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก และในกรณีที่เป็นสินค้าหรือบริการในประเทศก็จะต้องมีชื่อที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตหรืออะไรก็ตามที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันมาก เช่น คำว่าคลาวด์หรือแพลทฟอร์ม เป็นต้น
ข้อสอง เป็นบริษัทที่กำลังได้ประโยชน์จากสถานการณ์ปัจจุบันอย่างมาก เช่น เป็นบริษัทที่ผลิตสินค้าที่ใช้ในการป้องกันโควิด19 หรือเป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคเลยและยอดขายก็ไม่ได้ตกลงมา บางทีอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ กำไรของบริษัทกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วจน “น่าทึ่ง” ซึ่งทำให้เกิดภาพว่าบริษัทมีความโดดเด่นมากในยามที่บริษัทอื่น ๆ ส่วนใหญ่กำลังย่ำแย่จนแทบเอาตัวไม่รอด เรื่องราวของบริษัทที่อยู่ในภาพพจน์ของนักลงทุนก็คือเป็นหุ้นเล็กที่ “เติบโตเร็ว” ซึ่งหาได้ยากในตลาดหุ้นไทยในภาวะปัจจุบันที่เศรษฐกิจเติบโตช้าลงอย่างมาก
ข้อสามซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะทำให้หุ้น IPO สำเร็จในช่วงเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นในช่วงแรกก็คือ ขนาดหรือจำนวนของหุ้นที่ขายให้กับประชาชนหรือนักลงทุนทั่วไปจะต้องไม่สูงมาก ซึ่งก็หมายความว่า Free Float หรือหุ้นที่หมุนเวียนในตลาดจะมีไม่มาก เช่น แค่ไม่กี่ร้อยล้านบาทหรืออย่างมากก็ไม่เกิน 1,000 ล้านบาท เพราะถ้าเป็นหุ้นที่มีFree Float สูง การที่จะมีเม็ดเงินมาไล่ซื้อดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นไปก็ทำได้ยาก หุ้นที่มีหุ้นกระจายในตลาดน้อยและเป็นหุ้นที่มีคุณสมบัติโดดเด่นสำหรับการเก็งกำไร เช่น อยู่ในอุตสาหกรรมไฮเท็คและเติบโตเร็ว นั้น จะมีโอกาสที่จะถูก “Corner” หรือถูกซื้อโดยนักเก็งกำไรหรือนักปั่นหุ้นจน “เกือบหมด” ซึ่งจะส่งผลให้ราคาหุ้น “วิ่งระเบิด” โดยที่พื้นฐานของกิจการอาจจะไม่รองรับ ตัวอย่างก็เช่น หุ้นตัวเล็กหลายตัวที่วิ่งขึ้น 200% ในการซื้อขายวันแรกในสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นต้น
ผมเชื่อว่าปรากฏการณ์ของ “ภาวะกระทิง” ของหุ้น IPO โดยเฉพาะที่เป็นหุ้นขนาดเล็กซึ่งผมคิดว่ามาจากการที่หุ้นถูกCorner นั้น อาจจะดำเนินต่อไปได้อีกระยะหนึ่งแต่ก็คงไม่นานนัก เหตุผลก็เป็นเพราะภาวะการเก็งกำไรของตลาดหุ้นไทยส่วนที่เป็นหุ้นขนาดเล็กที่กำลังเกิดขึ้นนี้ คงไปต่อไม่ได้นาน เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ ความร้อนแรงของหุ้น IPO นั้น มักจะเป็นสัญญาณว่าภาวะกระทิงใกล้จะจบ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ราคาหุ้นที่ขึ้นไปสูงมากก็จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ นักลงทุนจะต้องเข้าใจว่า บริษัทที่เราคิดว่าเป็น “ไฮเท็ค” นั้น อาจจะไม่ใช่บริษัทไฮเท็คที่มีเทคโนโลยีระดับสูงจริง ๆ และบริษัทอื่นจำนวนมากก็สามารถทำได้ ไม่มีทางที่บริษัทจะสามารถเติบโตและทำกำไรมากมายได้ในระยะเวลาอันสั้น และสิ่งที่จะยืนยันก็คืองบการเงินที่จะทยอยออกมาทุกไตรมาศ
นักเล่นหุ้นเก็งกำไรในหุ้น IPO บางคนอาจจะคิดว่านี่คือการเก็งกำไรและจะซื้อขายหุ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ถ้าดูว่าหุ้นอาจจะไม่ขึ้นต่อแล้วก็จะขายออกไปก่อน แต่ในความเป็นจริงนั้น แทบทุกคนที่เข้ามาซื้อหุ้นก็จะคิดแบบเดียวกัน ดังนั้น ในวันที่เราคิดจะขาย คนอื่นก็อาจจะคิดแบบเดียวกัน คนที่จะซื้อมีน้อยมาก หุ้นก็อาจจะตกลงมาได้มากจนเราไม่อยากขายและในที่สุดก็จะ “ติดหุ้น” เพราะราคาหุ้นต่ำกว่าต้นทุนของเรามาก และถ้าขายก็จะขาดทุนอย่างหนัก ผมคิดว่าคนที่จะมีโอกาสกำไรได้มากในการเล่นหุ้น IPO ก็คือคนที่ “คุมเกม” คือคนที่มีเม็ดเงินมากพอที่จะ Corner หุ้น ซึ่งจะดันราคาหุ้นให้สูงขึ้นไปได้มากตามที่ต้องการ จากนั้นก็จะค่อย ๆ ทยอยขายหุ้นออกในเวลาที่เหมาะสมเป็นระยะจนหมดก่อนที่ “ความจริง” ในพื้นฐานของหุ้นจะปรากฏ
วิวัฒนาการของชีวิตนักลงทุน
โลกในมุมมองของ Value Investor 31 พ.ค. 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เวลาที่คนเรามีอายุมากขึ้นนั้น เรามักจะมองกลับไปในอดีตรำลึกถึงความหลังมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะนั่นเป็นความสุขอย่างหนึ่งที่ไม่ต้องใช้เงินและพลังงาน ผมเองก็เป็นอย่างนั้น แต่ในฐานะที่เป็นนักลงทุนแบบ...
20 มหาเศรษฐีหลังโควิด19
โลกในมุมมองของ Value Investor 25 เม.ย. 63
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
สัปดาห์ก่อนมีข่าวว่ารัฐบาลได้ส่งจดหมายถึง 20 เศรษฐีไทยที่รวยที่สุดในประเทศเพื่อขอคำแนะนำทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับการแก้ไขวิกฤติโควิด19 รวมถึงความช่วยเหลือที่เศรษฐีเหล่านั้นจะมอบให้แก่ประชาชนที่ประสบปัญหาในทุก ๆ ด้าน รายชื่อเศรษฐีเหล่านั้น แน่นอนว่าเป็นที่น่าสนใจสำหรับคนส่วนใหญ่ในประเทศ แต่สำหรับผมแล้ว รายชื่อที่จะน่าสนใจยิ่งกว่าก็คือ ภายหลังวิกฤติแล้ว ใครจะเป็นคนที่รวยที่สุด 20 อันดับ เหตุผลก็คือ หลังจากเกิดวิกฤติเศรษฐกิจทุกครั้ง มหาเศรษฐีเดิมจำนวนไม่น้อยมักจะเสียหายอย่างหนักจนตกอันดับหรือหายไปจากสาระบบของเศรษฐีใหญ่ รายชื่อมหาเศรษฐีใหม่จะปรากฏขึ้น รายชื่อใหม่เหล่านี้ ส่วนใหญ่ก็อาจจะเป็นรายชื่อเศรษฐีธรรมดาในตลาดหุ้นอยู่แล้ว...